ระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เพียงพอในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประเด็นปัญหาที่ถูกพูดถึงอยู่ทุกวาระ ในสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งต้องให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากจำนวนของประชากร นักท่องเที่ยวและนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตามมาด้วยผลกระทบด้านการจราจรติดขัด มลภาวะทางอากาศ รวมไปถึงอุบัติเหตุ ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่มนุษย์พึงได้รับ ดังนั้นการพัฒนาระบบรถสาธารณะเป็นสิ่งที่สำคัญที่มองข้ามไม่ได้
วิชญ์รัตน์ สร้อยฉวี นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทย มีประชากรราว 1.76 ล้านคน มากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ แต่ในแง่ของระบบขนส่งสาธารณะนั้น กลับไม่มีขนส่งมวลชน รถประจำทาง ต้องใช้บริการเรียกรถจากแอปพลิเคชั่นในราคาที่ค่อนข้างสูง ซึ่งสวนทางกับค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายทั่วไป
ทั้งนี้ นักศึกษาดังกล่าวยังเสนอมุมมองเพิ่มเติมอีกว่า นักศึกษาที่มาจากต่างจังหวัดส่วนใหญ่ มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้รถสาธารณะ เพราะสภาวะตอนนี้ การเดินทางในจังหวัดเชียงใหม่ในชีวิตประจำวัน ส่งกระทบต่อค่าใช้จ่ายรายเดือนของนักศึกษา จึงอยากให้พัฒนาขนส่งมวลชน ถ้ามีขนส่งมวลชน ก็จะทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นมาก
อย่างไรก็ตาม การให้บริการขนส่งสาธารณะ เป็นหน้าที่หลักของรัฐที่จำเป็นต้องให้บริการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหมวดที่ 4 มาตรา 56 ว่าด้วย รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง
ขนส่ง ขนสุขสาธารณะ
สิตานันท์ กันทะกาศ ตัวแทนจากกลุ่มขนสุขสาธารณะ กลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ขับเคลื่อนประเด็นปัญหาขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการมาทำงานตรงนี้ เนื่องจากเธอขับรถไม่เป็น เหมือนทุกคนจะมีปัญหาร่วมกัน การขับขี่บนท้องถนนที่เชียงใหม่พอสมควร อีกทั้งยังมีปัญหาด้านการขับขี่และไม่มีระบบขนส่งที่สนับสนุน จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้กลุ่มนี้จัดตั้งกลุ่มขนส่งสาธารณะขึ้นมา “ความจำเป็นจึงถูกบังคับ ให้เราต้องขับรถเป็นให้ได้”
“สังคมเชียงใหม่เสมือนบีบบังคับ ผลักให้เราต้องขับรถเป็นเท่านั้น ไม่ว่าจะรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ หรือต้องเรียกรถจากแอปพลิเคชันในราคาสูง เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ยกตัวอย่างเมืองใหญ่ ๆ อย่างกรุงเทพ ฯ ถึงแม้จะมีขนส่งมวลชนที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ แต่อย่างน้อยเขาก็ยังมีตัวเลือกสำรองในการเดินทาง อีกเหตุผลหนึ่งคือ มีเพื่อน ๆ บางคนมาเที่ยวหรือใช้ชีวิตที่เชียงใหม่ เมื่อก่อนยังมีรถเมล์ล RTC CITY BUS และรถเมล์ขาว ที่จะเป็นอีกทางให้ใช้บริการได้ แต่รถเมล์เหล่านี้ก็ได้หายไป จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ที่อาจจะทำให้หลาย ๆ คน ฉุดคิดประเด็นขึ้นมาอีกรอบได้” สิตานันท์กล่าว
ขนส่งสาธารณะในความทรงจำ
ทางด้านอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ประสงค์ระบุตัวตน กล่าวว่า รถเมล์เชียงใหม่มีมาตั้งแต่สมัยเขายังเป็นนักเรียน เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ปัจจัยที่ทำให้ขนส่งมวลชนหายไป ประเด็นแรกคือ บริษัทขาดทุน ถึงแม้คนจะนั่งเยอะ แต่ก็ไม่ได้เดินทางเส้นตัวเมืองหลัก อีกทั้งถนนเส้นหลักยังมีการถูกผูกขาดโดยกลุ่มรถรับจ้าง โดยตอนนั้นก็เริ่มต้นมีแต่รถแดง รถตุ๊ก ๆ จากนั้นรถเมล์ก็เริ่มหายไปจากจังหวัดเชียงใหม่ไปหลายสิบปี จึงเริ่มมีรถเมล์กลับมาวิ่ง แต่สุดท้ายก็เหมือนเดิม เพราะรถเมล์ไม่ได้อยู่ในเส้นทางคมนาคมหลักที่ผู้คนจะใช้บริการ ทำให้คนขึ้นค่อนข้างน้อย
ประเด็นที่สอง ในมุมมองที่ว่า “ทำไมผู้ประกอบการถึงไม่มาลงทุนต่อ” ซึ่งจากพฤติกรรมของคนเชียงใหม่ ชอบความสะดวกสบาย เช่น รถที่สามารถไปส่งถึงที่หมายหรือบ้านได้เลย ดังนั้นจึงเป็นปัญหาทั้งสองฝ่าย คือเรื่องของเส้นทางระบบมวลชนไม่ได้อยู่ในเส้นทางหลักซึ่งประชาชน หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใช้เดินทาง อีกเรื่องคือ พฤติกรรมการใช้งานของคนในพื้นที่ด้วยในแง่ของคนท้องถิ่นหรือคนที่มาอยู่อาศัย เช่น คนที่มาทำงานที่นี่ มีครอบครัว หรือคนที่มาเรียน อาจจะรู้สึกว่าทำไมระบบขนส่งมวลชนมันไม่ค่อยตอบโจทย์มากนัก จริง ๆ รถเมล์ในช่วงก่อนมันก็มีอยู่ แต่ก็หายไปในช่วงก่อนโควิตอยู่ประมาณ 2-3 ปี เราก็จะเห็นกันอยู่บ้างอย่างพวกป้ายรถเมล์ หรือเป็นที่รอรถ เป็นต้น
ข้อมูลจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลการกลับมาของรถเมล์เอกชน อย่าง RTC CITY BUS เชียงใหม่ เตรียมนำรถเมล์ RTC City Bus กลับมาให้บริการอีกครั้ง เริ่มนำร่อง 2 เส้นทาง ช่วงปีใหม่นี้
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายฐาปนา บุณยประวิตร กรรมการผู้จัดการบริษัท รีเจียนนอลทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด ได้ร่วมกันแถลงข่าวเตรียมเปิดให้บริการเมล์เชียงใหม่ “RTC Chiangmai City Bus” อีกครั้ง เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวในเขตเมืองเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันในเดือนมกราคมรถเมล์ได้ให้บริการต่อประชาชนเป็นที่เรียบร้อย ทางด้านเพจเฟซบุ๊ก RTC CITY BUS ได้ออกมาเคลื่อนไหวให้ข้อมูลเส้นทาง พร้อมแก้ไขปัญหาจากเสียงของผู้ใช้บริการ ซึ่งจะต้องมีการติดตามว่าระบบขนส่ง RTC Chiangmai City Bus จะรองรับ และแก้ไขปัญหาระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ได้หรือไม่
ขนส่งของเด็กมช.มีจริงหรือ
ทางด้าน ภัทรรพินท์ พงศ์ธนะลีลา นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงความคิดเห็นการเดินทางในรั้วมหาวิทยาลัยว่า ส่วนตัวคิดว่าดีในระดับหนึ่ง พอจะรองรับนักศึกษาได้ แต่หากช่วงเวลาที่เร่งด่วน หรือช่วงเวลาเรียนที่คนใช้บริการจำนวนมาก อาจไม่ได้ตอบโจทย์มากนัก แต่ทางมหาวิทยาลัยก็มีการปรับปรุงในเรื่องของสายให้บริการย่อยออกไป เพราะตอนที่อยู่ปี 1 มีเพียงไม่กี่สายเท่านั้น แต่ตอนนี้ก็แยกย้อยออกไปสิบกว่าเส้น ทำให้เอื้อต่อนักศึกษาทุกคณะ
ก่อนหน้าหน้าที่รถขนส่งมวลชนได้หายไปในพื้นที่ ก็รู้สึกถึงปัญหา เพราะมาจากต่างจังหวัด ไม่มีรถอเตอร์ไซค์ การจะนั่งรถแดง รถรับจ้าง รถที่เรียกจากแอปพลิเคชัน แน่นอนว่ามีราคาค่อนข้างสูง ตอนนี้รถเมล์ในตอนนั้น ถือว่าตอบโจทย์ในแง่ของอัตราให้บริการ ประหยัดค่าใช้จ่าย อีกเรื่องคือปัญหาเรื่องโครงสร้าง เมื่อขนส่งสาธารณะที่ยังไม่ดี คนก็ทยอยซื้อรถส่วนตัวกัน ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และปัญหารถติดตามมา อีกทั้งยังเป็นปัญหาต่อนักศึกษา ถูกบริบททางสังคมบังคับให้ต้องซื้อรถขับเอง เพื่อความสะดวกรวดเร็ว
อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า ช่วงที่ผ่านที่ไม่มีขนส่งมวลชน แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อเด็กมช. อย่างยิ่ง ต้องยอมรับว่านักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของเรา มีจำนวนถึง 30,000 กว่าคน มีทั้งนักศึกษาที่มาจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัด หรือคนที่มีมอเตอร์ไซค์แต่อยู่หอนอก เนื่องด้วยปัจจัยต่างกันไป เขากล่าวอีกว่าผลกระทบที่ใกล้ตัวที่สุดคือ มหาวิทยาลัยทำเลไม่ได้อยู่ในเขตเมืองชั้นใน ทำให้ไม่เป็นทางผ่านของกลุ่มผู้ให้บริการรถรับจ้างทั่วไป อาจจะพูดได้ว่านักศึกษาไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของผู้ให้บริการ
แนวทางที่จะทำให้ขนส่งมวลชนพัฒนามี 2 แนวทาง ได้แก่ ประการแรก คือ การพัฒนาขนส่งภาครัฐอาจจะไม่ต้องลงทุนเองทั้งหมด อาจจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ประการต่อมา คือ สำรวจเส้นทางหรืออาจจะเป็นการเก็บข้อมูลก็ได้ อย่างเช่น โซนไหนที่ต้องใช้งานจริง ๆ เพราะจะมีปัญหาตรงที่ไม่ผ่านเส้นทางตรงที่มีการใช้คมนาคมหลักก็เป็นปัญหาอีก ต้องมีการจัดระเบียบใหม่และสำรวจเส้นทางว่าควรจะจัดเส้นทางไหนที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของผู้โดยสาร และผู้ที่ลงทุน
ขนส่ง ในความหวัง ความฝัน ความคิด
“แต่ว่ากลุ่มเราก็ยังมีความฝันอยู่ ก็อยากให้ผู้ใหญ่สนใจด้วยในด้านประเด็นต่าง ๆ”
สิตานันท์ กันทะกาศ ตัวแทนจากกลุ่มขนสุขสาธารณะ กล่าวว่า ในอนาคตอยากให้ขนส่งเชียงใหม่ทำเพื่อคนในท้องถิ่นก่อนเป็นเบื้องต้น และอยากเห็นการสนับสนุนทางเดินเท้า และสำหรับการเดินทางระยะสั้นและระยะยาวควรที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน เราอยากให้การเดินทางระยะสั้น ๆ ก่อนด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนเชียงใหม่ เราเชื่อว่าเมืองจะเปลี่ยนแปลงได้ ก็ต่อเมื่อคนในเมืองพร้อมและร่วมมือกันที่จะเปลี่ยน
ตัวแทนจากกลุ่มขนสุขสาธารณะ เธอกล่าวเพิ่มเติมว่าอยากให้ผู้นำกระตือรือร้นกับเรื่องนี้มากขึ้น และมองเกินกว่ากรอบของระบบราชการ องค์กร ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และภาคเยาวชนควรที่จะทำงานร่วมกันได้แล้ว จึงอยากฝากไปถึงหน่วยงานราชการ ควรสนใจการทำงานของภาคเยาวชนมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเป็นกลุ่มที่มีไฟในการทำงาน และมีไฟในการพัฒนาเมือง อีกด้านคือภาคผู้ใช้บริการ อยากให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ฉุกคิดเรื่องประเด็นความเป็นเมืองมากขึ้น ถ้าลงมือทำได้ก็เป็นสิ่งที่ดี
ภัทรรพินท์ พงศ์ธนะลีลา นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในอนาคตอยากเห็นเชียงใหม่เรามีระบบขนส่งมวลชนที่มีรถไฟฟ้า มีทางเลือกที่หลากหลาย เช่น เมืองใหญ่ ๆ แบบกรุงเทพมหานครเลย สามารถเชื่อมต่อพื้นที่ในการเดินทางได้ จากประสบการณ์การพูดคุยเสวนาปัญหาขนส่งสาธารณะที่ผ่านมา ตัวเขาเองได้ตั้งคำถามว่า มหาวิทยาลัยเคยถามปัญหาจากนักศึกษาบ้างหรือไม่ และนำปัญหาของนักศึกษาไปแก้ไข อยากให้ฟังเสียงของนักศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจคนที่ไม่มีทางเลือกจริง ๆ เช่น คนจน รายได้น้อย ความจำเป็นที่ต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นอย่างมาก
บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)