ผู้ประกอบอาชีพให้ความสนุกสนาน (เอ็นเตอร์เทรน) หรือ “เด็กเอ็น” หลายคนคงเคยได้ยินชื่ออาชีพที่ว่านี้ เราอาจจินตนาการถึงผู้ที่ทำหน้าที่ให้บริการลูกค้า ทำตั้งแต่ชงเหล้า พูดคุย และสังสรรค์เพื่อให้ความสนุกลูกค้า แต่อาชีพเด็กเอ็นเป็นอาชีพที่ให้คำจำกัดความได้ยาก เนื่องจากขอบเขตของการทำงานในอาชีพนี้ไม่ความชัดเจนนัก เราพูดได้ลำบากว่าการให้บริการนั้นมีลักษณะแบบใดกันแน่หรือมีขอบเขตการให้บริการอย่างไร กระทั่งความหลากหลายของรูปสถานที่ให้บริการตั้งแต่ร้านอาหารไปจนถึงร้าน PR (สถานบริการที่มีผู้ให้บริการคล้ายเด็กเอ็นเป็นจุดขายหลัก)
อย่างไรก็ตาม เราก็สามารถพบเห็นความพยายามในการทำความเข้าใจอาชีพเด็กเอ็นและเงื่อนไขชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ของผู้ที่ทำงานเด็กเอ็น อาทิ ไทยพีบีเอช ที่พาเราไปสำรวจความเสี่ยงของอาชีพเด็กเอ็นในบทความชื่อ เปิดชีวิตในมุมมืดสาวเอ็นเตอร์เทน รายได้ดีแต่เสี่ยงถึงตาย หรือ งานวิจัยในหัวข้อ การศึกษาปรากฏการณ์งานเอ็นเตอร์เทน ในกรุงเทพมหานคร ที่ศึกษาโดยกลุ่ม INNO4ENT กระทั่งยูทูปเบอร์หลายคนก็ได้มีการสัมภาษณ์งานเด็กเอ็นอยู่หลายคลิป แต่ในส่วนของการทำความเข้าใจ “ผู้ใช้บริการเด็กเอ็น” กลับไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก ซึ่งเป็นหัวข้อน่าสนใจที่เราอาจลองมาทำความเข้าใจเบื้องต้นกันว่า ผู้ใช้บริการเด็กเอ็นใช้บริการด้วยเหตุผลอะไร ไปจนถึงการพยายามทำความเข้าใจเศรษฐกิจของอาชีพเด็กเอ็น
“การที่เน้นการให้บริการเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อเป็นการปลอบประโลมจิตใจของผู้มาใช้บริการที่รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว”
ข้อความข้างต้นคือข้อความที่ปรากฏอยู่ในบทความรู้จักงานเอ็นท์ EP.1: ทำได้แค่ไหน ที่ไม่มากกว่าการเอ็นท์ ต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น โดย The Standard Team ซึ่งเป็นข้อความที่อาจเป็นความพยายามในการทำความเข้าใจผู้ใช้บริการเด็กเอ็น เราจะเห็นว่ามีคำว่าเหงาและโดดเดี่ยวปรากฏขึ้นในข้อความดังกล่าว นี่จึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจผู้ใช้บริการเด็กเอ็น
สำหรับความเหงาดูจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ยิ่งกว่านั้นความแลจะเป็นปรากฎการณ์ที่เราอาจพบเจอได้ทั่วไปในสังคมสมัยใหม่ กระทั่งองก์การอนามัยโลก (WHO) ยังออกมาเตือนว่าความเหงากำลังกลายมาเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพ
คงพล แวววรวิทย์ นักจิตวิทยาประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จำแนกความเหงาออกเป็น 3 ประเภทดังนี้ 1) ความเหงาแบบชั่วคราว เป็นความเหงาที่เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ ในชีวิตประจำวัน 2) ความเหงาจากสถานการณ์ อันเกิดจากการต้องเผชิญกับเหตุการณ์บางอย่างที่กระทบต่อความรู้สึกของเรา และ 3) ความเหงาแบบเรื้อรัง เป็นความเหงาที่เกิดขึ้นเมื่อเราต้องเผชิญกับความรู้สึกไม่พึงพอใจในความสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นเวลานาน หรืออาจเกิดจากการไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมหรือกลุ่มคนบางกลุ่มได้ เราอาจทดความเหงาทั้ง 3 รูปแบบนี้ไว้ในใจกันก่อน เพื่อจะนำไปใช้ทำความเข้าใจผู้ใช้บริการเด็กเอ็นกันต่อไป
ต่อไปเราลองมาพูดคุยกับผู้ใช้บริการเด็กเอ็น เพื่อจะลองสำรวจถึงเหตุผลและความคาดหวังของการใช้บริการเด็กเอ็น
เคน เฟิร์ส จ็อบเบอร์ กับความเหงา
เคน (นามสมมติ) ผู้เคยใช้บริการเด็กเอ็นและยังใช้บริการอยู่จนถึงปัจจุบัน เคนเป็นผู้ที่เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยได้เพียง 1 ปี และเพิ่งเริ่มทำงานแรกในชีวิตได้ไม่ครบ 1 ปี เคนเราให้ฟังว่า ใช้บริการเด็กเอ็นตั้งช่วงที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยจากการชักชวนและคำแนะนำของรุ่นพี่ในคณะเดียวกัน สำหรับเคนการใช้บริการเด็กเอ็นเป็นเรื่องปกติมาก เนื่องจากกลุ่มเพื่อนและพ่อของเคนก็ใช้บริการเด็กเอ็นอยู่เป็นประจำ โดยช่วงแรกเคนติดต่อเด็กเอ็นผ่านรุ่นพี่ของเคน กระทั่งมีช่องทางการติดต่อส่วนตัวกับเด็กเอ็น และต่อมาเคนได้รู้จักเด็กเอ็นคนอื่น ๆ ผ่านการแนะนำของเด็กเอ็นที่ตนรู้จัก
เมื่อถามถึงสาเหตุของการใช้บริการเด็กเอ็นครั้งแรก เคนให้คำตอบว่า “ตอนนั้นก็รู้จักอาชีพเด็กเอ็นอยู่แล้ว พอรุ่นพี่แนะนำก็ไม่ปฏิเสธเลย เราก็อยากลองเปล่าวะ พี่แนะนำขนาดนี้” จะเห็นว่าเคนรู้จักอาชีพเด็กเอ็นมาตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อถามต่อไปว่าการใช้บริการเด็กเอ็นเกี่ยวกับความเหงาไหม เคนให้คำตอบว่า “ก็คงเกี่ยว คนแก่ ๆ อ่ะ” เคนยังกล่าวเสริมไปอีกว่า “มันก็ปกติป่ะ จะให้มานั่งเหงา ๆ ในร้านเหล้ามันก็ไม่ใช่อยู่แล้ว”
“แล้วเคนเหงาไหม” เป็นคำถามต่อมาที่ผมถามเคน เคนนิ่งสักครู่ก่อนตอบออกมาว่า “ตอนนี้ก็เหงานะ” ต้องขอเล่าเพิ่มเติมว่าปัจจุบันเคนมีแฟนคนหนึ่งที่คบกันอยู่ตั้งแต่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 แต่ปัจจุบันแฟนของเคนทำงานคนละจังหวัดกับเคน
“ตอนคบแฟนก็ไม่ค่อยได้เรียกเด็กนะ กลัวแฟนจับได้ (เคนหัวเราะ) มีบ้าง เพื่อนเรียกบ้าง ไม่ก็ไปนั่งตามร้าน PR” ข้อความนี้คือคำพูดต่อมาของเคน ผมจึงถามต่อไปว่านอกจากกลัวแฟนจับได้แล้ว มีอะไรอีกไหมที่ทำให้เรียกใช้บริการเด็กเอ็นน้อยลง? เคนคิดอยู่สักครู่ก่อนตอบว่า
“กลัวแฟนจับได้อ่ะเรื่องใหญ่สุด แต่ก็คงเพราะว่าเรามีแฟนแล้วด้วยแหละ มันก็ต้องอยู่กับแฟน ไม่ได้อยากไปเที่ยวแบบเดิม ๆ แล้ว ก็มีแฟนแล้วนี่หว่า มีบ้างที่เพื่อนชวนไปเที่ยวแล้วเรียกเด็กมา ไม่ก็นั่งร้าน PR อย่างที่บอกนั่นแหละ”
สำหรับคำพูดของเคนข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าเพื่อนเป็นเงื่อนไขสำคัญของเคนที่จะใช้บริการเด็กเอ็นในตอนที่เคนคบกับแฟน ผมจึงอยากรู้มุมมองของเคนต่อเพื่อนของเขาที่ใช้บริการเด็กเอ็น ทำให้ผมถามต่อไปอีกว่า คิดว่าทำไมเพื่อนถึงใช้บริการเด็กเอ็น? เคนให้คำตอบทันที่ว่า “มันคงเหงามั้ง”
ด้วยเหตุที่เคนเป็นผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงานแรกได้ไม่ถึง 1 ปี ผมจึงถามคำถามชุดสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตที่เปลี่ยนไปของเคนจากนักศึกษาสู่คนวัยทำงานว่าได้มีส่วนผลักดันให้เคนยังคงใช้บริการเด็กเอ็นในปัจจุบันหรือไม่ ประกอบกับเคนทำงานคนล่ะจังหวัดกับแฟนที่กำลังคบอยู่ จะยิ่งส่งผลให้เคนใช้บริการเด็กเอ็นด้วยความถี่ที่มากขึ้นกว่าช่วงที่คบกับแฟนที่มหาวิทยาลัยหรือไม่
“เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเรียกเด็กมานั่งที่ร้านเมื่อก่อน ไปร้าน PR มากกว่า มีคนเลี้ยงด้วย ส่วนเกี่ยวกับว่าห่างกับแฟนมั้ย ก็คงเกี่ยว มันไม่ได้อยู่กับเราแล้วนี่ (เคนหัวเราะ) อยู่บ้านเบื่อ ๆ ก็ออกไปเที่ยวไปกินเหล้าดีกว่า ก็ยอมรับนะว่าไปบ่อยกว่าตอนที่อยู่กับแฟนที่มหาลัย”
เคนกล่าวพร้อมกับยิ้มและหัวเราะไปด้วยระหว่างตอบคำถามที่ถามถึงการเริ่มทำงานและอยู่ห่างแฟน เคนเล่าให้ฟังว่า คนที่พาไปร้าน PR มีทั้งพี่ที่ทำงานหรือพ่อของเคนเองที่พาไป เคนเล่าต่อไปอีกว่า เป็นปกติที่พี่ที่ทำงานของเคนและพ่อของเคนจะไปใช้บริการร้าน PR เคนพูดประโยคหนึ่งออกมาระหว่างบทสนทนาว่า
“ทุกคนก็เบื่อก็เหงาทั้งนั้น”
เคนพูดถึงความเหงาโดยไม่ต้องถามเพิ่ม เมื่อกล่าวถึงการใช้บริการเด็กเอ็นและร้าน PR ของผู้คนรอบตัวเคน ทั้งรุ่นพี่ที่ทำงานและพ่อของตน ราวกับว่าเป็นความเหงาเป็น “ความรู้สึกพื้นฐาน” ของผู้ใช้บริการเด็กเอ็นและร้าน PR ในความเข้าใจของเคน
เมื่อฟังเรื่องราวและคำตอบของเคน เราจะเห็นว่าเคนรู้จักอาชีพเด็กเอ็นตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยแล้วและก่อนเรียกใช้บริการเสียอีก ในช่วงแรกเคนใช้บริการเพราะรุ่นพี่แนะนำและปรารถนาจะลองใช้บริการ แต่หลังจากนั้นเคนก็รู้วิธีการเข้าถึงการบริการนี้และเรียกใช้บริการด้วยตัวเอง สำหรับเคนเพื่อนกับความเหงาคือเงื่อนไขสำคัญที่ผลักดันให้เคนใช้บริการเด็กเอ็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความเหงา” ในมุมมองของเคนคือเงื่อนไขสำคัญที่ผลักดันให้เพื่อนและคนรอบตัวของเคนเรียกใช้บริการเด็กเอ็นและร้าน PR
สำหรับความเหงาที่เคนกล่าวถึง ผมอาจอนุมานได้ว่าบางส่วนสอดคล้องความเหงาในประเภทความเหงาชั่วคราว หรือความเหงาในชีวิตประจำวัน เนื่องจากการกล่างถึงความเหงาของเคนไม่ใช่ความเหงาที่แฝงไปด้วยความพิเศษหรือความเจ็บปวดใด หากเป็นความเหงาทั่วไปที่ราวกับว่าเป็นความปกติที่ทุกคนจะมี ความเหงาในประเภทที่เคนและหลายคนที่เคยรู้จักจะใช้บริการเด็กเอ็นเพื่อเป็นเครื่องมือในการเยียวยาความเหงาประเภทนี้ ความเหงาประเภทที่แม้เคนจะคบกับแฟนอยู่เคนก็ยังใช้บริการเด็กเอ็น ถึงเคนจะกล่าวว่าเป็นเพราะเพื่อนและคนรอบตัวเคนชวนไปใช้บริการ แต่เคนก็มิได้ปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าจะไม่ใช้บริการเด็กเอ็นเนื่องจากมีแฟนแล้ว ยิ่งเมื่ออยู่ห่างกับแฟน ความเหงาประเภทนี้ก็ยังอาจจะยิ่งผลักดันเคนให้ใช้บริการเด็กเอ็นถี่ขึ้นกว่าตอนที่อยู่กับแฟนที่มหาวิทยาลัยเสียอีก
อย่างไรก็ตาม ผมได้กล่าวไปแล้วเช่นกันว่าความเหงาชั่วคราวสามารถอธิบายได้เพียงบางส่วน เพราะในช่วงเวลาที่เคนอยู่กับแฟนที่มหาวิทยาลัย เคนก็ยังคงใช้บริการเด็กเอ็น และเมื่อนำความเหงาชั่วคราวนี้ไปทำความเข้าใจเพื่อนและคนรอบตัวของเคนก็อาจเป็นคำอธิบายที่ไม่มีน้ำหนักมากนัก ผมจึงอยากลองเปลี่ยนจากความเหงาประเภทชั่วคราวเป็นความเหงาในชีวิตประจำวัน (everyday loneliness) ซึ่งอาจสอดคล้องไปกับคำตอบและมุมมองของเคนต่อความเหงามากกว่าที่จะเป็นความเหงาชั่วคราว ที่ปรากฎเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเราและดับหายไปเมื่อเราปรับตัวได้ และยังอาจช่วยให้เราทำความเข้าใจเศรษฐกิจแห่งความเหงานี้ได้มากขึ้นไปอีก
ความเหงากับสังคมสมัยใหม่ ปรากฏเป็นหัวข้อการศึกษาและหัวข้อบทความมากมายในปัจจุบัน ในบทความชุด ทำไมเราถึง ‘หว่อง’ กันนักนะ จากเว็บไซด์ The101.World ช่วยให้เราเห็นถึงภาวะความเหงาที่เป็นผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่ของสังคม กล่าวโดยสรุปคือความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงเทคโนโลยีได้สร้างความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวตามมาเป็นเงาตามตัว อีกประเด็นสำคัญคือเราทุกคนเผชิญกับความเหงาอยู่ทุกคน และเผชิญความเหงาเกือบทุกวัน ผมจึงอยากใช้คำว่าความเหงาในชีวิตประจำวันมากกว่า
ความเหงาในชีวิตประจำวันอาจไม่ใช่ความรู้สึกที่เจ็บปวดเหมือนความโดดเดี่ยว เพราะอย่างน้อยความเหงาก็อาจเป็นความรู้สึกที่ชั่วคราว ชีวิตประจำวันของเราหลายคนในปัจจุบันนี้ไม่อาจปฏิเสธความเหงาได้ แม้จะมีเทคโนโลยีสุดล้ำมากมายแต่เราก็ยังเหงาอยู่ (และดูเหมือนจะทำให้เราเหงากว่าเดิมด้วยซ้ำ) อย่างไรก็ตามความเหงาสำหรับเราหลายคนก็เป็นความรู้สึกที่มีเครื่องมือมากมายในการบำบัดความเหงา เด็กเอ็นอาจเป็นเครื่องมือหนึ่ง อาจเป็นเครื่องมือหลักหรือเป็นเพียงเครื่องมือเสริม แต่ก็เป็นสิ่งที่เคนและคนรอบข้างเคนหลายคนเลือกใช้บำบัดความเหงาในชีวิตประจำวันของพวกเขา
พี่น็อตตัวพ่อกับเศรษฐกิจแห่งความเหงา
เมื่อความเหงาในชีวิตประจำวันผลักดันให้เคนและหลายใช้บริการเด็กเอ็น ต่อมาเราอาจลองมาทำความเข้าใจเศรษฐกิจที่เกิดจากความเหงากันบ้าง เพื่อเราจะได้มองเห็นอาชีพเด็กเอ็นให้กว้างไปกว่าการบริการบำบัดความเหงา ผมขอเรียกเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนี้ว่า “เศรษฐกิจแห่งความเหงา”
ราคาการใช้บริการเด็กเอ็นนั้นเลื่อนไหลมากกว่าจะมีราคากลางที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย อาทิ บุคคลผู้ให้บริการ สถานที่ให้บริการ ระยะเวลาให้บริการ หรือความพอใจของผู้ใช้บริการ เป็นต้น เคนเคยจ่ายค่าบริการตั้งแต่ 800 จนถึง 1,800 บาท ต่อการใช้บริการหนึ่งครั้ง หรือตัวอย่างของไทยพีบีเอสที่นำเสนอว่าค่าใช้บริการมีเริ่มต้นตั้งแต่ 500 บาท ไปจนถึงหลักหมื่น ซึ่งถือเป็นมูลค่าการใช้จ่ายที่สูงพอตัว หลายคนที่ไทยพีบีเอสนำเสนอสามารถทำรายได้ต่อเดือนได้ถึง 4 หมื่นบาท ซึ่งสูงกว่ารายได้ขั้นต่ำอยู่กว่า 4 เท่าตัว แต่ค่าบริการไม่ใช่ทั้งหมดของเศรษฐกิจแห่งความเหงา เป็นเพียงภาพที่เราเห็นชัดที่สุด ยังมีมูลค่าอื่นที่ผู้ใช้บริการเด็กเอ็นและเด็กเอ็นได้สร้างขึ้นบนเศรษฐกิจแห่งความเหงานี้
พี่น็อต (นามสมมุติ) ชายผู้อายุปลาย 30 ผู้ใช้บริการเด็กเอ็นมามากมายตามที่เขาเล่าให้ฟัง น็อตเป็นบุคคลที่ทำงานมานานจนมีรายได้สูงประมาณหนึ่ง เขาอ้างว่าเข้าใช้บริการเด็กเอ็นมานานมากและพอจะเข้าใจวงการนี้พอสมควร เพื่อนของน็อตมักให้ฉายาน็อตว่า “ตัวพ่อ”
“มันไม่ใช่แค่ค่าเด็กนะจะบอกให้ ลองคิดดูสิเราเรียกน้องเขามานั่ง เราจะปล่อยให้เขาอดอยากปากแห้งหรอ เราก็ต้องสั่งอาหารเลี้ยงน้องเขา บางที่ร้านเหล้าที่เราไปนั่งเขาก็มีเด็กประจำของเขาที่จะแนะนำให้ เราสั่งอะไรน้องเขาสั่งอะไร ร้านก็แบ่งเปอร์เซ็นให้น้องเขา หรือถ้าเราไม่ได้รู้จักในร้าน เรารู้จักทางออนไลน์ น้องเขาก็อาจแนะนำร้านให้เราไปนั่ง ซึ่งแม่งก็ได้เปอร์เซ็นเหมือนกัน
ต่อมาเรากินเสร็จ น้องเขาก็อาจอ้อนให้ไปต่อร้านอื่นอีก ร้านเหล้าหรือร้านข้าวต้ม ก็เหมือนเดิม ได้เปอร์เซ็นเหมือนเดิม มันไม่ใช่แค่ค่าเด็ก จะมาเก็บเงินไว้จ่ายค่าตัวอย่างเดียวไม่ได้ อย่าคิดว่าตัวเองแน่ ไปถึงเจอลูกอ้อนขึ้นมา แน่แค่ไหนก็จอด”
พี่น็อตฉายภาพค่าใช้จ่ายอื่นนอกเหนือจากค่าบริการของเด็กเอ็นที่เราต้องจ่าย ซึ่งนับเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่อยู่เบื้องหลังการใช้บริการเด็กเอ็นในแต่ละครั้ง พี่น็อตกล่าวเสริมว่าเขาไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเด็กเอ็นเหล่านี้ได้ส่วนต่างค่าอาหารที่เขาต้องจ่ายให้ร้านอาหารหรือสถานบริการแต่ละแห่งเท่าไหร่ เนื่องจากมีความยืดหยุ่นสูงมาก อาทิ ร้านหรือสถานบริการเปิดใหม่ อาจให้ส่วนต่างกับเด็กเอ็นที่นำแขกมาที่ร้านของตนสูงกว่าร้านที่เปิดมาก่อน หรือบางร้านโดยเฉพาะร้าน PR ที่ต้องการดึงดูดลูกค้าจึงจัดโปรโมชั่น เป็นการแถมเครื่องดื่มเมื่อลูกค้าใช้บริการเด็กเอ็นในร้านนั้น ๆ
“อีกอย่างคือหลายที่ก็เรียกต่างกัน เด็กเอ็นบ้าง PR บ้าง เด็กดริ้งบ้าง ซึ่งการบริการของน้องก็จะคล้ายกัน ก็คือนั่งคุยนั่งเอ็นเตอร์เทรนเรานั่นแหละ แต่ละที่ก็เรียกต่างกันไป น่าจะขึ้นอยู่กับกับว่าที่นั้นมีภาพลักษณ์แบบไหน”
“ร้านอาหารร้านเหล้าทั่วไปก็เรียกเด็กเอ็น หรือเรียกไปที่ส่วนตัวก็เด็กเอ็น แต่ถ้าไปร้านที่เป็นร้าน PR หรือคาราโอเกะส่วนใหญ่ก็เรียกเด็กดริ้ง”
พี่น็อตเล่าอย่างคล่องปาก จนผมแทบไม่ต้องถามคำถามใด ๆ แทรกเลยระหว่างบทสนทนา สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจในการใช้บริการเด็กเอ็นอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม ผมถามพี่น็อตเพิ่มเติมว่าเด็กเอ็น (ผู้ให้บริการ) กับสถานที่ให้บริการเด็กเอ็นนี่มีทุกจังหวัดไหม? พี่น็อตให้คำตอบว่า
“มีเกือบทุกจังหวัดที่ไปนะ ที่แน่ ๆ คือจังหวัดใหญ่ ๆ อ่ะมีหมด กรุงเทพฯ นครสวรรค์ พิดโลก (พิษณุโลก) เชียงใหม่ อะไรมีหมด หมายถึงร้านนะ เด็กนี่ไม่ต้องพูดถึง เปิดเฟสบุ๊คมานี่มีกลุ่มให้เลือกเลย หรือไม่ก็ติดต่อนายหน้าที่รู้จักผ่านไลน์ บางคนนี่รับงานข้ามจังหวัดก็มี แต่ก็จ่ายแพงหน่อยนะบอกไว้ก่อน”
พี่น็อตกล่าวถึง “เมืองใหญ่” กับร้านที่ให้บริการเด็กเอ็น ซึ่งเมื่อขอให้พี่น็อตอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเมืองใหญ่กับร้านที่ให้บริการเด็ก พี่น็อตให้คำตอบว่า “ที่ ๆ จะมีร้านพวกนี้มันก็ต้องเป็นเมืองประมาณนึง คือต้องมีร้านอื่นอ่ะ ร้านพวกนี้ก็จะมี ตามชนบทตามหมู่บ้านเขาก็คงไปดูโคโยตี้ตามงานวัดกันมั้ง (พี่น็อตหัวเราะเสียงดัง)”
จากคำตอบของพี่น็อตข้างต้น เราจะเห็นว่าความเป็นเมืองเองก็เป็นกลไกลขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งความเหงานี้ ผ่านร้านอาหารและสถานบริการเด็กเอ็นที่เกิดขึ้น ในส่วนของเด็กเอ็นที่ทำงานอิสระหรือผ่านนายหน้าอาจมีความยืดหยุ่นกว่าเด็กเอ็นที่ทำงานประจำที่ร้าน เนื่องจากสามารถรับงานนอกสถานที่ได้ แต่อาจแลกมากับส่วนต่างที่จะไม่ได้จากร้านอาหารหรือสถานบริการ แม้เป็นเช่นนั้น พี่น็อตก็ได้กล่าวไปแล้วว่าเด็กเอ็นที่รับงานข้ามจังหวัดอาจต้องจ่ายค่าบริการแพงกว่าปกติ ผมจึงถามรายละเอียดเพิ่มเติม
“ถ้าเราไปที่ที่เราไม่รู้จักร้าน เราก็เปิดดูในเฟสบุ๊คได้ มันจะมีกลุ่มเด็กเอ็นประจำจังหวัดอยู่ หรือไม่เราก็เรียกน้องที่เรารู้จักแล้วเขารับงานข้ามจังหวัด แต่ก็ต้องบวกค่าเดินทางอะไรให้น้องเขานะ”
เราจะเห็นว่าพี่น็อตพูดถึงกลุ่มเฟสบุ๊คที่เป็นเหมือน “ตลาด” ของบริการเด็กเอ็น ซึ่งนับเป็นกลไกลที่ช่วยขยายเศรษฐกิจแห่งความเหงาให้กระจายตัวออกไปจากสถานบริการและตัดข้ามพื้นที่
นอกจากนี้ มิใช่เพียงค่าใช้จ่ายของผู้ใช้บริการเด็กเอ็นแต่เพียงเท่านั้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งความเหงา ผู้ให้บริการหรือเด็กเอ็นเองก็ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งความเหงาด้วยเช่นกัน และยังขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจแห่งความเหงานี้ขยายตัวออกไปอีกด้วย
บทความ รู้จักงานเอ็นท์ EP.2: ได้มากก็เสียมาก เด็กเอ็นท์รายได้เยอะก็จริง แต่รายจ่ายก็เยอะไม่แพ้กัน เปิดเผยว่าเด็กเอ็นเหล่านี้ต้องลงทุนในใบหน้าและรูปร่างของตนเองอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากใบหน้าและรูปร่างเป็นต้นทุนสำคัญของงานเอ็นเตอร์เท็น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การเสริมความงาม การดูแลผิว หรือการเลือกซื้อผ้า เหล่านี้ต่างเป็นต้นทุนของเด็กเอ็น และยังเป็นการขยายเศรษกิจแห่งความเหงานี้ให้ครอบคลุมภาคการผลิตและบริการอื่น ๆ อีกมากมาย
พี่น็อตช่วยเผยให้เราเห็นว่าเศรษฐกิจแห่งความเหงาที่ขับเคลื่อนด้วยบริการของเด็กเอ็นนี้มิได้มีมิติด้านค่าบริการเพียงอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมภาคการบริการอื่น ๆ อย่างร้านอาหารหรือสถานที่บริการ ไปจนถึงเศรษฐกิจแห่งความเหงานี้ยังตัดข้ามพื้นที่ไปมาระหว่างจังหวัดต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งเศรษฐกิจแห่งความเหงานี้มีเด็กเอ็นและผู้ใช้บริการเป็นตัวละครสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนี้อยู่
บทความนี้เป็นเพียงความพยายามในการทำความเข้าใจผู้ใช้บริการเด็กเอ็นและระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น มิใช่การอธิบายที่จะยึดกุมความเข้าใจเกี่ยวกับพวกเขาและระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงการชวนตั้งคำถาม และหวังว่าเราจะมองเด็กเอ็นไปให้ไกลกว่าค่าบริการ แน่นอนในบทความนี้ยังมิได้มีการกล่าวถึงมิติอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพศภาวะ ช่องว่างทางกฎหมาย ความคลุมเครือของการทำงานบริการ หรือกระทั่งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวเลขชัดเจน อย่างไรก็ตามผมหวังว่าบทความจะช่วยสร้างคำถามที่พวกเราพยายามหาคำตอบกันต่อไป เราจะได้ไม่เข้าใจอะไรแบบเหมารวม หรือกระทั่งไม่มองว่าการทำงานเด็กเอ็นเป็นปัญหาหรือเป็นมลทินใด ๆ อย่างที่มีบางกลุ่มบุคคลพยายามสวมใส่ภาพเด็กเอ็นใส่บุคคลอื่น เพื่อให้บุคคลผู้นั้นกลายเป็น “คนไม่ดี” เพราะอย่างที่บอกเราทุกคนเหงา การแก้เหงาไม่ควรเป็นเรื่องไม่ดี หากมันไม่ได้ไปกระทบกระเทือนต่อสิทธิ์หรือล่วงละเมิดผู้ใด
รายการอ้างอิง
- Thai PBS. (2562). เปิดชีวิตในมุมมืด “สาวเอ็นเตอร์เทน” รายได้ดีแต่เสี่ยงถึงตาย. เว็บไซด์ www.thaipbs.or.th
- The Standard Team. (2556). รู้จักงานเอ็นท์ EP.1: ทำได้แค่ไหน ที่ไม่มากกว่าการเอ็นท์ ต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น. เว็บไซด์ thestandard.co
- The Standard Team. (2556). รู้จักงานเอ็นท์ EP.2: ได้มากก็เสียมาก เด็กเอ็นท์รายได้เยอะก็จริง แต่รายจ่ายก็เยอะไม่แพ้กัน. เว็บไซด์ thestandard.co
- คงพล แวววรวิทย์. (2566). ความเหงากำลังระบาด?. เว็บไซด์ www.psy.chula.ac.th
- วชิรวิทย์ คงคาลัย. (2560). ทำไมเราถึง ‘หว่อง’ กันนักนะ (2) : ทำความเข้าใจกับความโดดเดี่ยวในโลกสมัยใหม่. เว็บไซด์ www.the101.world
เกิดและโตในภาคเหนือตอนล่าง เรียนตรีจิตวิทยา กำลังเรียนโทสังคมศาสตร์ สนใจอ่านสังคมจากการมองประเด็นเล็ก ๆ