เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย
หลังการเลือกตั้ง นายก อบจ. ทั่วประเทศ สำนักข่าว นักวิเคราะห์การเมือง รวมนักวิชาการต่างพยายามประเมินผลการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยอาศัยคำอธิบาย “การเมืองสามสี” เป็นชุดคำอธิบายหลัก
การเมืองสามสี คือ คำอธิบายความสัมพันธ์ทางการเมืองไทยที่กำลังเป็นที่ฮอตฮิตในปัจจุบัน จุดเริ่มต้นน่าจะมาจาก “การเมืองฉบับสามก๊ก” ของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อันหมายถึง ชุดคำอธิบายความสัมพันธ์ทางการเมือง ที่ประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ ก๊กที่ 1 นำโดยพรรคเพื่อไทย ที่ใช้สีแดงเป็นสีประจำก๊ก ก๊กที่ 2 พรรคภูมิใจไทย ใช้สีน้ำเงินเข้มเป็นสีประจำก๊ก ขณะที่ก๊กที่ 3 พรรคประชาชน มีสีส้มเป็นสีประจำก๊ก การเมืองไทยขณะนี้จึงเปรียบเสมือนสนามประลองพลังระหว่างพรรคการเมือง 3 สีนี้
คำอธิบายที่เดิมเป็นคำอธิบายภาพการเมืองระดับชาติ กลายมาเป็นคำอธิบายการเมืองท้องถิ่นระดับจังหวัด หลัง ทักษิณ ชินวัตร เริ่มเดินหน้าเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้แก่บรรดาผู้สมัครชิงตำแหน่งนายก อบจ. ในนาม พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโค้งสุดของการหาเสียง ทักษิณเร่งขึ้นเวทีภาคเหนือ 3 จังหวัดรวด (เชียงราย, เชียงใหม่ และลำพูน) สร้างสีสันบนหน้าสื่อไม่เว้นวัน เร่งให้คำอธิบายการเมืองสามสีฝั่งรากลึกบนสนามการเมืองท้องถิ่น
ขณะเดียวกัน พรรคประชาชน ที่ฟูมฟักมุ่งจะเข้าสู่ประตูการบริหารระดับท้องถิ่นมาตั้งสมัยคณะก้าวหน้า ในสนาม อบจ. รอบนี้พรรคส้มจึงเริ่มเดินหน้าเปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ. และ ส.อบจ. กลายเป็นว่าสีส้มก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองท้องถิ่นเช่นเดียวกับสีแดง
พรรคภูมิใจไทย อันเป็นพรรคขึ้นชื่อเรื่อง “บ้านใหญ่” ถูกสื่อมวลชนจับจ้องและสอบถามบรรดาผู้บริหารพรรคภูมิใจอย่างต่อเนื่อง ด้วยจำนวน สส. ที่มากขึ้นเมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมาและมีสมาชิกพรรคที่อุดมไปด้วยบ้านใหญ่หลากหลายจังหวัด เช่นนี้มีหรือที่เครือข่ายการเมืองท้องถิ่นของสมาชิกพรรคภูมิใจไทยจะไม่เข้าสู่สนามการเมืองท้องถิ่นอย่าง อบจ. สีน้ำเงินเข้มจึงไม่พ้นต้องถูงลากเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองท้องถิ่นบนหน้าสื่อไปด้วย
องค์ประกอบทั้งหมด ที่กล่าวมาได้วางรากฐานให้การเมืองสามสีเป็นคำอธิบายการเมืองท้องถิ่นในวาระการเลือกตั้ง อบจ. ไปเสีย หากแต่ เราพินิจผลการเลือกตั้ง ส.อบจ. 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมกับผลการเลือกตั้ง นายก อบจ. เราจะเห็นความซับซ้อนของการเมืองท้องถิ่นแต่ละจังหวัด ที่เราไม่สามารถระบายสีพรรคการเมืองลงบนแผนที่ 17 จังหวัดภาคเหนือได้ง่ายๆ
จากการสำรวจผลการเลือกตั้ง ส.อบจ. ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ พบว่า จังหวัดเชียงใหม่ น่าน แพร่ และ ลำพูน เป็นกลุ่มจังหวัดที่พรรคการเมืองบทบาทในสนาม ส.อบจ. มากที่สุด ผู้สมัคร ส.อบจ. ทุกคนประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าตนสังกัดพรรคใด กล่าวคือ การแข่งขันในสนาม อบจ. ทั้ง 4 จังหวัดนี้มีลักษณะเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง โดยอาศัย “กลไกท้องถิ่น” เพื่อช่วยหนุนเสริมคะแนนความนิยมของผู้สมัครทั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ.
จังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดที่กลไกท้องถิ่นเข้ามามีบทบาท รวมกับความนิยมของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพึ่งพา ส.อบจ.แชมป์เก่าที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ให้เข้ามาสังกัดพรรคประชาชนในการเลือกตั้งรอบนี้ หรือ อาศัยหัวคะแนนระดับย่อยในการขอคะแนนเสียง อาทิ การดึงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาลงสมัครในสนาม ส.อบจ.
กลไกท้องถิ่นเหล่านี้เมื่อประกอบเข้ากับความนิยมของพรรคประชาชน ที่มีสูงอยู่แล้วในจังหวัดลำพูน สามารถผลักดันจนพรรคประชาชนสามารถชนะการเลือกตั้งนายก อบจ.ลำพูน และเป็นเสียงข้างมากในสภา อบจ.
ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็อาศัยเครือข่าย ส.อบจ. เพื่อช่วยเสริมความนิยมของผู้สมัครนายก อบจ. โดย จังหวัดน่าน นพรัตน์ ถาวงศ์ ว่าที่นายก อบจ.น่าน ก็เคยดำรงเป็น ส.อบจ.อำเภอท่าวังผา และประธานสภา อบจ.น่าน ขณะที่ในการเลือกตั้งใน จังหวัดแพร่ อนุวัธ วงศ์วรรณ ว่าที่นายก อบจ.แพร่ เองมีเครือข่าย ส.อบจ. ในมือและสามารถจับมือกันชนะทั้งนายก อบจ. และยึดเสียงข้างมากในสภา อบจ.แพร่
จังหวัดเชียงใหม่ แลดูเป็นจังหวัดที่พรรคการเมืองมีบทในการเลือกตั้ง อบจ. มากที่สุด แต่ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ว่าที่นายก อบจ.เชียงใหม่ ก็ยังจำเป็นต้องพึ่งเครือข่าย ส.อบจ. เพื่อลุยศึกกับพรรคประชาชน แม้พิชัยจะสามารถรักษาตำแหน่งนายก อบจ. เอาไว้ได้ แต่ก็ต้องแบ่งที่นั่งในสภา อบจ. ให้กับพรรคประชาชนถึง 15 ที่นั่ง ขณะเดียวกัน ผู้สมัคร ส.อบจ. พรรคเพื่อไทยก็แทบไม่สามารถชนะการเลือกตั้งในเขตอำเภอเมืองและอำเภอรอบข้างได้เลย (ส.อบจ.พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งในอำเภอเมืองแค่ เขต 1 เท่านั้น)
แต่พรรคเพื่อไทยก็สามารถอาศัยกลไกท้องถิ่นในเขตอำเภอรอบนอก ร่วมกับความนิยมของพรรคที่ยังมีอยู่ในหลายอำเภอจนสามารถจูงมือกันเป็นเสียงข้างมากในสภา อบจ.เชียงใหม่
ในขณะที่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย ตาก นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี กลับมีลักษณะการแข่งขันที่แบ่งเป็น สนามการเลือกตั้ง 2 ระดับชัดเจน คือ 1) สนาม นายก อบจ. เป็นการแข่งขันระหว่างชนชั้นนำของแต่ละจังหวัดใน และ 2) สนาม ส.อบจ. จะเป็นการแข่งขันระหว่างมดงานหรือเครือข่ายของชนชั้นนำประจำพื้นที่ กระทั่ง สนาม ส.อบจ. อาจเป็นการแข่งขันกับตัวเองด้วยซ้ำ เนื่องจากหลายพื้นที่ไม่ได้มีคู่แข่งหรือคู่แข่งไม่อาจเทียบบารมีได้
หากเจาะลึกลงไปเฉพาะสนามการเลือกตั้ง ส.อบจ. รายจังหวัด จะพบว่า แต่ละจังหวัดต่างก็มีลักษณะการแข่งขันที่แตกต่างกันไป โดยความแตกต่างดังกล่าวถูกกำหนดโดยเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ คือ เงื่อนไขที่ 1 ความเข้มแข็งของผู้สมัครนายก อบจ. แต่ละกลุ่ม และ เงื่อนไขที่ 2 บารมีของผู้สมัครนายก อบจ ที่มีต่อบรรดาผู้สมัคร ส.อบจ.
เมื่อจำแนกรูปแบบการแข่งขันของการเลือกตั้ง ส.อบจ. ทั้ง 13 จังหวัดนี้ ตามเงื่อนไขดังกล่าว เราจะสามารถจำแนกได้ ดังนี้
1) จังหวัดที่นายก อบจ. คนเก่าและผู้ท้าชิงตำแหน่งมีความเข้มแข็งใกล้เคียงกัน และผู้สมัครนายก อบจ. ไม่ได้มีบารมีอยู่ผู้สมัคร ส.อบจ. มากนัก ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย ลำปาง และพิจิตร จึงทำให้การเลือกตั้งสนาม ส.อบจ. ผู้สมัคร ส.อบจ. และผู้สมัครนายก อบจ. จำเป็นต้องประกาศตัวเป็นทีมเดียวกัน ส่งผลให้การเลือกตั้ง ส.อบจ. ทั้ง 3 จังหวัดนี้มีความเข้มข้นอย่างมาก โดยเฉพาะสนาม ส.อบจ. พิจิตรและเชียงราย ซึ่งเป็นการแข่งขันระหว่างผู้สมัครนายก อบจ. ที่มีความเข้มแข็งใกล้เดียงกัน
จังหวัดเชียงราย ในสนามนายกฯ เป็นการแข่งขันระหว่าง อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ กับ สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ตัวแทนจาก 2 ตระกูลที่มีฐานคะแนนในจังหวัดไม่แตกต่างกันมากนัก ขณะที่บารมีของผู้สมัครนายกฯ ทั้งสองเมื่อเปรียบเทียบกับผู้สมัคร ส.อบจ. แต่ละอำเภอก็มิได้มีบารมีเหนือกว่ามากนัก เนื่องจาก ผู้สมัคร ส.อบจ. แต่ละคนก็มีฐานคะแนนในเขตการเลือกตั้งของตนเอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบารมีของผู้สมัครมากมาย
ผู้สมัครนายก อบจ. จึงจำเป็นต้องสร้างทีมการเลือกตั้ง ขึ้นเพื่อรวมพลังกับผู้สมัคร ส.อบจ. ที่มีฐานคะแนนในอำเภอต่าง ๆ เราจึงได้เห็นผู้สมัคร ส.อบจ. รวมกับผู้สมัครนายกฯ หาเสียงใต้สังกัด ทีมนก อทิตาธร และ ทีมพรรคเพื่อไทย
ขณะที่ สนามการเลือกตั้ง จังหวัดพิจิตร เป็นการแข่งขันระหว่าง ผู้กองกบ (กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์) อดีตนายกฯ กับ กฤษฏ์ เพ็ญสุภา ผู้สมัครหน้าใหม่ โดยในการแข่งขันชิงตำแหน่งนายกฯรอบนี้ ทั้งคู่มิได้มีความแข็งแกร่งแตกต่างกันมากนัก
ฝ่ายผู้กองกบ แม้จะอยู่ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมานานกว่า แต่ก็สูญเสียกำลังทางการเมืองไปแยะ หลังแตกหักกับบ้านสีเขียว ทำให้จำเป็นต้องพึ่งพา ส.อบจ. แชมป์เก่าที่คุ้นเคยกับตนเอง มาเป็นพลังทางการเมืองแทน ขณะที่นายกฤษฏ์ ยังเป็นหน้าใหม่ทางการเมือง แม้จะได้แรงสนับสนุนจากบ้านสีเขียว แต่ยังจำเป็นต้องสะสมคะแนนทางการเมือง โดยอาศัยทั้งเวลา กลไกท้องถิ่น และเครือข่าย ส.อบจ. ที่ยังสังกัดบ้านสีเขียวอยู่
ทั้ง ผู้กองกบและนายกฤษณ์ จึงมีความแข็งแกร่งที่มิได้ทิ้งห่างกันมากนัก และต่างก็ต้องพึ่งพาทีม ส.อบจ. ทั้งคู่ ส่งผลให้ผู้สมัครนายกฯ ทั้งสอง และผู้สมัคร ส.อบจ. จำเป็นร่วมกันหาเสียงในนาม ทีมผู้กำกับกบ และกลุ่มบ้านสีเขียว
จังหวัดลำปาง ในสนามนายก อบจ. เป็นการแข่งขันระหว่าง ตวงรัตน์ โล่สุนทรดา กับ ดาชัย เอกปฐพี ซึ่งฝ่ายแรกลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย ขณะที่ฝ่ายหลังลงสมัครในนาม ทีมพลังลำปาง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พรรคกล้าธรรม
แม้ตวงรัตน์จะดูได้เปรียบอยู่บ้าง เนื่องจากอยู่ในสนามการเมืองจังหวัดลำปางมานานกว่า แต่ดาชัยเองก็ทวีบารมีมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะฝ่ายแพ้ในการเลือกตั้งรอบที่แล้ว ดาชัยก็มิได้หายไปไหน แต่ยังเดินหน้าสร้างบารมีทางการเมืองในจังหวัดลำปางอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น หากเปรียบเทียบกันแล้ว ทั้งคู่ก็มีความแข็งแกร่งไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
ส่วนใน สนาม ส.อบจ.ลำปาง แม้ความเข้มข้นในการแข่งขันระหว่างผู้สมัคร ส.อบจ. จะไม่เท่าจังหวัดพิจิตรและเชียงราย แต่ความเข้มข้นจริง ๆ คือ การแย่งชิง ส.อบจ. เข้าสู่สังกัด ระหว่างตวงรัตน์กับดาชัย
โดยตวงรัตน์ตั้งก่อตั้ง ทีมลำปางทั้งหัวใจ ส่วนดาชัยใช้ชื่อ ทีมพลังลำปาง แม้ในการหาเสียงผู้สมัคร ส.อบจ. จำนวนมากว่า 13 เขตจะร่วมหาเสียงกับตวงรัตน์ในนามทีมลำปางทั้งหัวใจ แต่ในความเป็นจริง ผู้สมัครบางคนก็มีสายสัมพันธ์เหนียวแน่กับดาชัย อาทิ ส.อบจ.เบิร์ด – พิเชษ ทินอยู่ ผู้ชนะการเลือกตั้ง ส.อบจ.เกาะคา เขต 2 ที่หาเสียงร่วมกับทั้งตวงรัตน์และดาชัย หรือ กรณีของ ธีรพล ศรีวงษ์ และสมคิด จิตปลื้ม ส.อบจ.งาว เขต 1-2 ตามลำดับ ทั้งคู่มิได้ประกาศตัวในนามทีมใด แต่ก็ปรากฏภาพร่วมลงพื้นที่หาเสียงกับทั้งดาชัยและตวงรัตน์
2) จังหวัดที่นายก อบจ. คนเก่าลาออกในช่วงเวลาที่มีความเข้มแข็งทางการเมืองเหนือกว่าผู้ท้าชิง หรือผู้ท้าชิงยังไม่ทันจัดทัพลงแข่งขัน ขณะเดียวกันนายกฯ คนเก่าก็มีบารมีเหนือกว่าบรรดา ส.อบจ. จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการจัดตั้งทีมเลือกตั้งแบบเข้มข้นเหมือน 3 จังหวัดก่อนหน้า
จังหวัดที่ลักษณะการเลือกตั้ง ส.อบจ. ในรูปแบบนี้ คือ จังหวัดกำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พะเยา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
เริ่มต้นจาก สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ ที่ชิงลาออกตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภา เพียง 1 เดือนต่อมา มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก ก็ประกาศลาออกในวันที่ 20 มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กระแสการเมืองระดับชาติเริ่มเข้มข้นขึ้น จากเหตุศาลรัฐธรรมนูญประทับรับฟ้องคดียุบพรรคก้าวไกล
โดยจังหวัดนครสวรรค์และพิษณุโลกที่ในการเลือกตั้งรอบที่ผ่าน พรรคส้มสามารถกวาดคะแนนไปอย่างถล่มทลาย คงเป็นการดีหากนายก อบจ. ทั้งสองจะรีบชิงจังหวะลาออกก่อนกระแสพรรคส้มจะกลับมา
หลังชนะการเลือกตั้ง นายกฯ ทั้งสองค่อยกลับมาจัดทัพเลือกตั้ง ส.อบจ. อีกครั้ง โดยในสนามการเลือกตั้ง ส.อบจ. ครั้งนี้ นายกฯ ไม่จำเป็นต้องลงทุนลงแรงมาก ปล่อยให้กลไกในท้องถิ่นเข้ามาเป็นเงื่อนไขกำกับความนิยมแทน โดยอาจยังคงการหาเสียงในลักษณะทีมไว้เช่นเดิมแต่ลดความเข้มข้นลง หรือ ผู้สมัคร ส.อบจ. อาจมีความอิสระไม่จำเป็นต้องหาเสียงเป็นทีม เพราะแทบไม่มีการแข่งขันใด ๆ
อัครา พรหมเผ่า อดีตนายก อบจ.พะเยา ก็ประกาศลาออก เพื่อไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ แทนพี่ชาย นอกจากนั้น ยังเป็นการลาออกในช่วงเวลาที่กลุ่มฮักพะเยา เครือข่าย ธรรมนัส พรหมเผ่า มีความเข้มแข็งที่สุดในจังหวัดพะเยา จึงทำให้การเลือกตั้ง ส.อบจ.พะเยา ครั้งนี้ไม่มีความเข้มข้นใด ๆ
เผด็จ นุ้ยปรี นายก อบจ.อุทัยธานี ก็ชิงประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม หลัง มนัญญา ไทยเศรษฐ์ น้องสาวชาดา ไทยเศรษฐ์ เริ่มลงพื้นที่หาเสียงเตรียมประกาศลงชิงตำแหน่ง นายก อบจ. โดยสวมเสื้อคลุมสีน้ำเงินเข้มลงพื้นที่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม
กระทั่งชิงลาออกแล้ว มนัญญาก็มิได้ถอย จนพี่ชายต้องเข้ามาเคลียร์ใจ จนยอมถอนตัวจากการสมัครนายก อบจ. ไป สุดท้าย นายเผด็จก็ได้กลับมาเป็นนายก อบจ. อีกครั้ง ในขณะที่สนาม ส.อบจ. ผู้สมัครส่วนใหญ่ไม่มีคู่แข่ง ทำให้แชมป์เก่าสามารถรักษาเก้าอี้ ส.อบจ. ได้มากกว่าร้อยละ 62.5 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด
เดือนกันยายน มนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย ประกาศลาออกไปอีกราย โดยอาจอาศัยความได้เปรียบในช่วงที่เครือข่ายของตนแข็งแรงที่สุด และยังไม่มีคู่แข่ง จากนั้นจึงค่อยกลับมาจัดทัพลงสนาม ส.อบจ. เหมือนกับนายก อบจ. คนที่เหลือ
อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกตบางประการหนึ่ง ว่า มนู ประกาศลาออกจากตำแหน่งเพียง 3 วัน หลังจาก สมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ อดีต สส. จังหวัดสุโขทัย ได้รับการแตงตั้งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ มหาดไทย
เดือนตุลาคม คือ เดือนที่นายก อบจ. ภาคเหนือลาออกมาที่สุด เริ่มต้นตั้งแต่นายก อบจ.กำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ ตามลำดับ โดยทั้งหมดลาออกในช่วงที่คู่แข่งทางการเมืองของกลุ่มตนยังไม่ทันได้จัดทัพ หรืออยู่ในช่วงเวลาที่กลุ่มตนเองแข็งแกร่งที่สุดในจังหวัด
เริ่มต้นที่ สุนทร รัตนากร นายก อบจ.กำแพงเพชร ตัวแทนบ้านใต้ ประกาศลาออก เพื่อชิงความได้เปรียบจากบ้านเหนือหรือเครือข่ายไผ่ ลิกค์ รวมถึงเป็นเครือข่ายของธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ส่งทั้งน้องชายและคนในเครือข่ายลงสมัครนายก อบจ.พะเยา ไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน
บ้านใต้ที่นำโดย วรเทพ รัตนากร ผอ.พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีข่าวอยากขน สส.กำแพงเพชร สังกัดบ้านใต้กลับพรรคเพื่อไทย แต่ถูกนายธรรมนัสขัดขวางไว้ จึงต้องรีบชิงความได้เปรียบกลุ่มบ้านเหนือ ประกาศลาออกและเรียกรวมทัพกลุ่มกำแพงสามัคคี เพื่อสนับสนุนให้สุนทรรักษาเก้าอี้นายก อบจ. ต่อไป จากนั้นจึงค่อยกับมาจัดทัพ ส.อบจ. ซึ่งในสนามการเลือกตั้ง ส.อบจ. วรเทพจะยิ่งมีบารมีเหนือกว่าผู้สมัคร ส.อบจ. เนื่องจากมีสถานะเป็นนายก อบจ. แล้ว ทำให้ผู้สมัครหลายต้องเข้ามาผูกสัมพันธ์ด้วย
จังหวัดเพชรบูรณ์ มีลักษณะใกล้เคียงกับสนามการเลือกตั้ง ส.อบจ.กำแพงเพชร เนื่องจาก สันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็มีกระแสข่าวอยากยกทัพ สส. เพชรบูรณ์ กลับพรรคเพื่อไทย แต่ก็ติดปัญหาว่า ทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ แกนนำเพื่อไทยเพชรบูรณ์ก็เตรียมจัดทัพลงแข่งขันในสนาม อบจ.เพชรบูรณ์ ซึ่งต้องแข่งขันกับนายก อบจ.เพชรบูรณ์ คนปัจจุบันอย่าง อัครเดช ทองใจสด ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลเครือข่ายการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบูรณ์ทั้งหมด อันเป็นฐานคะแนนที่สำคัญของนายสันติ
ท้ายที่สุด อัครเดชจึงรีบประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อชิงความได้เปรียบจากเครือข่ายของทวีศักดิ์ที่ซุ่มจัดทัพ อบจ. ในนามพรรคเพื่อไทย
จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นจังหวัดสุดท้ายในภาคเหนือที่นายก อบจ. ประกาศลาออกก่อนครบวาระ โดย ชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา นายก อบจ.อุตรดิตถ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลัง สหวิช อภิชัยวิศรุตกุล อดีตรองผู้ว่าฯ อุตรดิตถ์เตรียมจัดทัพลงแข่งขัน
ด้วยเหตุที่อยู่ในการเมืองท้องถิ่นอุตรดิตถ์มาเป็นเวลานาน ประกอบกับเป็นหนึ่งในเครือข่ายของพรรคเพื่อไทยจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงทำให้ชัยศิริมีบารมีอยู่เหนือ ส.อบจ. และผู้สมัคร ส.อบจ. หลายคน สามารถเรียกรวม ส.อบจ. ในนามกลุ่มรักอุตรดิตถ์เพื่อสนับสนุนตนกลับมาเป็นนายกฯ ได้อีกรอบ
3) จังหวัดที่ผู้สมัครนายก อบจ. มีความเข้มแข็งทางการเมืองเหนือกว่าทั้งคู่แข่งและ ส.อบจ. เห็นจะมีเพียง อัครเดช วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.แม่ฮ่องสอน ที่อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ แม้จะต้องแข่งขันกับ ดนุภัทน์ เชียงชุม อดีตผู้สมัครสอบตกในการเลือกตั้ง สส.แม่ฮ่องสอน ปี 2566
ด้วยเหตุที่คู่แข่งมีบารมีที่ห่างชั้นกันอย่างมาก ทำให้อัครเดชไม่จำเป็นต้องเร่งลาออกก่อนหมดวาระแต่อย่างใด ขณะเดียวกันอัครเดชก็มีบารมีเหนือ ส.อบจ. ทุกคน ยิ่งเป็นเหตุให้ อัครเดช ไม่จำเป็นต้องเร่งลาออกหรือจัดทัพ ส.อบจ. ลงหาเสียง
สนามท้องถิ่น ไม่ใช่กล่องปิด
เมื่อเราลองวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. 17 จังหวัดภาคเหนือร่วมกับผลการเลือกตั้ง ส.อบจ. เราจะพบว่า ในความเป็นจริงแล้วคำอธิบายการเมืองสามสี ไม่อาจนำมาใช้ในการวิเคราะห์หรืออธิบายผลการเลือกตั้ง อบจ. ของจังหวัดภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัดได้
โดยเฉพาะจังหวัดที่ถูกระบายเป็นสีแดงและสีน้ำเงินเข้ม ยกตัวอย่าง จังหวัดพะเยาที่ถูกระบายสีเป็นสีแดง ทั้งที่ในสนามการเลือกตั้ง ส.อบจ. ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นเครือข่ายของ ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พรรคกล้าธรรม ที่เพียงส่งคนในเครือข่ายสมัครนายก อบจ. ในสังกัด พรรคเพื่อไทย เพียงเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ส่งคนสนิทของตนเองไปลงสมัครแข่งขันกับผู้สมัครสังกัดพรรคเพื่อไทยในสนามนายก อบจ.ลำปาง ไปพร้อมกัน
หรือกรณี จังหวัดอุทัยธานี ที่ถูกระบายสีน้ำเงินเข้ม ในการเลือกตั้ง อบจ. ตัวแทนที่เสมือนสายตรงพรรคภูมิใจไทยกลับต้องยอมถอนตัวออก เพื่อเปิดทางให้ผู้นำเครือข่ายการเมืองท้องถิ่นอุทัยธานีตัวจริง
ส่วน จังหวัดเพชรบูรณ์และกำแพงเพชร ที่ถูกระบายสีพรรคพลังประชารัฐ กลับปรากฏข่าวว่า แกนนำเครือข่ายนายก อบจ. และ ส.อบจ. ทั้ง 2 จังหวัดต่างประสงค์อยากกลับพรรคเพื่อไทย แต่ติดเงื่อนไขในระดับท้องถิ่น ทำให้ไม่สามารถย้ายกลับพรรคเพื่อไทยได้ โดยเฉพาะ จังหวัดเพชรบบูรณ์ ที่นายสันติ แกนนำประสงค์จะขนเครือข่ายกลับพรรคเพื่อไทย แต่ก็ติดปัญหาว่าพรรคเพื่อไทยกลับเริ่มจัดทัพมาแข่งกับนายอัครเดช ซึ่งดูแลเครือข่ายการเมืองในเพชรบูรณ์แทนนายสันติอยู่
ในขณะที่ การอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระของนายก อบจ. จังหวัดภาคเหนือ อาจเป็นผลมามาจากกระบวนการสร้างฐานคะแนนและขยายเครือข่ายไปยังอำเภอต่าง ๆ ผ่านทีมผู้สมัคร ส.อบจ. ที่หาเสียงร่วมกับผู้สมัครนายก อบจ.
การเลือกตั้ง ส.อบจ. ลำปาง เป็นภาพสะท้อนชั้นเยี่ยม ที่ทำให้เราเห็นความซับซ้อนของการเมืองท้องถิ่น โดยในการเลือกตั้ง อบจ.ลำปาง รอบนี้ แม้ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งนายก อบจ. แต่ในสนาม ส.อบจ. ที่อยู่ในทีมของผู้สมัครนายก กลับหาเสียงในนามกลุ่มการเมืองอิสระ ซึ่ง ส.อบจ. หลายจังหวัดก็มีลักษณะเหมือนเป็น “ตัวแปรอิสระ” ที่สามารถอยู่ได้ในหลายสังกัดไม่ได้จำกัดแค่ในพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือสังกัดใดสังกัดหนึ่ง
พร้อมกันนี้ พรรคการเมืองก็ยังคงมีบทบาทในการเมืองระดับท้องถิ่นอยู่ โดยเฉพาะในสนามการเลือกตั้ง ส.อบจ.เชียงใหม่ น่าน แพร่ และลำพูน แต่พรรคการเมืองที่ลงหาเสียงในจังหวัดเหล่านี้ก็ยังต้องอาศัยกลไกท้องถิ่นบางอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งความนิยมและคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ทั้งในสนาม นายก อบจ. และ ส.อบจ.
ฉะนั้น การเมืองท้องถิ่นจึงมีความซับซ้อนมากกว่า ที่จะถูกอธิบายด้วยแนวคิดการเมืองสามสี ราวกับว่าการเมืองท้องถิ่นมีลักษณะเหมือนการปกครอง ที่มีส่วนกลางคือ พรรคการเมือง และมีส่วนท้องถิ่น คือ ผู้สมัครนายก อบจ. และ ส.อบจ.
สนามการเมืองท้องถิ่น ไม่ได้มีลักษณะเหมือนกล่องปิด ที่ถูกกำกับด้วยเส้นแบ่งจังหวัดและพรรคการเมือง เงื่อนไขที่เป็นตัวกำกับการเมืองท้องถิ่นจริงๆ คือ ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ในท้องถิ่น ต่างหาก
อ้างอิง
- https://resolution.soc.go.th/PDF_UPLOAD/2566/P_409411_2.pdf
- https://www.lannernews.com/16122567-03/
- https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000106963
- https://kppnews.net/2020/12/17/97685
- https://www.bangkokbiznews.com/politics/1151275
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/343938
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/310020
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/344723
- https://www.matichon.co.th/politics/news_923103
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/347469
- https://siamrath.co.th/n/582381
- https://www.thairath.co.th/news/local/877876
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/346405
- https://www.matichon.co.th/politics/news_3951144
- https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2540/A/062/1.PDF
- https://www.matichon.co.th/politics/news_4758325
- https://www.matichon.co.th/columnists/news_4903552
- https://www.matichon.co.th/columnists/news_4967622
- https://www.youtube.com/watch?v=eIBjac9i6OY
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...