ตอบโต้แคมเปญ สสส. นักวิชาการชี้ “เห็ดถอบ” ไม่ใช่เห็ดนรก อดีตคนโฆษณาแนะอย่ามองคนดูโง่

แคมเปญ “หยุดเผา = หยุด PM2.5” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา กำลังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในออนไลน์อย่างรุนแรง หลังเผยแพร่แคมเปญรณรงค์ที่ตั้งเป้าไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์จากการเผาป่า เช่น ผักหวาน และเห็ดเผาะ หรือที่คนเหนือรู้จักในชื่อ “เห็ดถอบ”

แม้เจตนาจะสื่อถึงการลดฝุ่น PM2.5 เพื่อสุขภาพของประชาชน แต่ผลที่ตามมากลับกลายเป็นกระแสต่อต้าน โดยเฉพาะจากคนในพื้นที่และผู้ใช้สื่อออนไลน์จำนวนมากที่มองว่า แคมเปญโฆษณานี้กำลัง “โยนความผิด” ไปให้ชาวบ้านและเกษตรกรที่อาศัยป่าในการดำรงชีพ แต่กลับหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงหนึ่งในต้นตอของมลพิษอย่างภาคอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ “ข้าวโพด” ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อปัญหาฝุ่น PM2.5

‘เห็ดถอบไม่ใช่เห็ดนรก’ นักวิชาการชี้เห็ดถอบสร้างแร่ธาตุในธรรมชาติ-ยับยั้งเซลล์มะเร็ง

ทั้งนี้จากการทำแคมเปญโฆษณาที่กล่าวโทษว่าเห็ดถอบกับปัญหาฝุ่นควันและไฟป่า รวมไปถึงการสร้าง PM2.5  บทความ “เห็ดเผาะ” เป็นเห็ดนรกจริงหรือ? เผยแพร่ในสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย โดย ดร.ธารรัตน์ แก้วกระจ่าง นักวิชาการจากภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ชี้ว่า “เห็ดถอบไม่ใช่เห็ดนรก” อย่างที่ถูกกล่าวหาในกระแสสังคม

ในบทความอธิบายว่า เห็ดถอบเป็นเห็ดป่าชนิดพิเศษที่มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกับรากของพืชไม้ยืนต้น เรียกว่าระบบ “เอคโตไมคอร์ไรซา” (ectomycorrhiza) ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการดูดซับน้ำและธาตุอาหารของพืช และยังเสริมให้พืชทนทานต่อความแห้งแล้งและโรคจากระบบรากได้ดีขึ้น เห็ดชนิดนี้พบได้ทั้งในป่าเต็งรังและป่าสนเขาของไทย โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม

ในประเทศไทยมีการค้นพบเห็ดถอบใหม่ของโลกถึง 3 ชนิด คือ เห็ดถอบหนัง, เห็ดถอบฝ้าย และเห็ดถอบสิรินธร ซึ่งล้วนแต่มีคุณค่าเชิงนิเวศและเศรษฐกิจสูง อีกทั้งยังมีรายงานว่ามีสารสำคัญที่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งและเชื้อวัณโรคได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ ธารรัตน์ เน้นย้ำคือการเผาป่าไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เห็ดถอบงอกขึ้นมา โดยอธิบายว่า ความเชื่อที่ว่าไฟป่าทำให้เกิดเห็ดถอบนั้น ไม่ได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยในระดับสากล เช่น งานของ Kennedy K.H. ที่ชี้ว่า ไฟไม่ใช่ปัจจัยกระตุ้นการเจริญของเห็ด แต่เป็นเพียงเหตุให้เศษพืชคลุมดินถูกเผา ทำให้มองเห็นเห็ดได้ง่ายขึ้นมากกว่า

เนื้อหาในบทความยังบอกอีกว่า เห็ดถอบยังมีคุณสมบัติพิเศษในการสร้างโครงสร้างที่เรียกว่า “สเคอโรเตียม” (sclerotium) ซึ่งเป็นเส้นใยที่รวมตัวกันอย่างแน่นหนา สามารถทนสภาพแห้งแล้งหรือไม่เหมาะสมได้นาน และอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เห็ดสามารถปรากฏหลังเหตุไฟป่าได้บ้าง แต่ไม่ใช่เพราะไฟคือสิ่งจำเป็นในการเกิดเห็ดถอบ

ทั้งนี้ในช่วงท้ายของบทความยังกล่าวอีกว่า เห็ดถอบไม่ใช่เห็ดนรก แต่เป็นเห็ดที่มีคุณค่าต่อป่าและมนุษย์ การเผาป่าไม่ช่วยให้เห็ดถอบงอก แต่การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต่างหากที่ทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากเห็ดถอบได้อย่างยั่งยืน

“มักง่าย โยนผิดให้ชาวบ้าน” ความเห็นอดีตคนทำงานโฆษณาถึงแคมเปญ สสส.

“โลกทุกวันนี้ คนไม่ได้โง่แล้วนะครับ” 

ศักดิ์รพี รินสาร อดีตคนทำงานในแวดวงโฆษณาและเอเจนซี่ได้วิพากษ์วิจารณ์แคมเปญ “หยุดเผา = หยุด PM2.5” ของสสส. ผ่านรายงานของ Lanner ศักดิ์รพีมองว่าโฆษณาชุดนี้สะท้อนมุมมองแบบ “คนกรุงเทพฯ” ที่พยายามทำให้ปัญหาฝุ่นควันดูง่ายและตรงไปตรงมามากจนเกินจริง โดยมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมของชาวบ้าน เช่น การเผาป่าเพื่อหาเห็ดถอบและผักหวาน มากกว่าจะชี้ให้เห็นสาเหตุเชิงโครงสร้างอย่างอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่หรือทุนผูกขาด

“เขา Simplify ทุกอย่างให้เข้าใจง่าย ซึ่งเข้าใจได้ในแง่ของการทำโฆษณาที่มีเวลาจำกัด 15 วินาที 30 วินาที แต่มันง่ายเกินไป จนลดทอนความซับซ้อนของปัญหา เหมือนจะบอกว่าคนจนคือปัญหา ทั้งที่ฝุ่นควันไม่ได้มาจากตรงนั้นทั้งหมด”

เขายกตัวอย่างการใช้ภาพ “ฮีโร่อากาศสะอาด” ว่าเป็นการสื่อสารแบบสั่งสอน ไม่เข้าใจรากเหง้าของวิถีชุมชน และยิ่งตอกย้ำภาพเหมารวมของคนชายขอบว่าเป็นต้นตอของปัญหา

“โฆษณาแบบนี้มีท่าทีสั่งสอน เหมือนละครไทยที่คนกรุงเทพฯ ต้องมาสั่งสอนชาวบ้านว่าอะไรถูกอะไรผิด ทั้งที่คนในพื้นที่เขารู้ดีอยู่แล้วว่าปัญหาฝุ่นมาจากไหน”

ในฐานะอดีตคนเคยทำงานในเอเจนซี่โฆษณา ศักดิ์รพี ตั้งคำถามถึง “สิ่งที่ไม่ถูกพูดถึง” ในแคมเปญนี้ เขาตั้งข้อสังเกตว่าโฆษณาหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงบริษัทใหญ่หรือทุนผูกขาดที่มีบทบาทสำคัญต่อปัญหา PM2.5 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเกษตรและพลังงาน

“ถามว่าทำไมไม่พูดถึงทุนใหญ่ ก็เพราะกลัวไงครับ สื่อกับเอเจนซี่เดี๋ยวนี้ต้องขอเงินจากทุนใหญ่กันหมด ไม่กล้าแตะ กลัวโดนฟ้อง กลัวงบหาย”

ทั้งนี้ศักดิ์รพียังยกตัวอย่างแคมเปญของบริษัทเอกชนบางรายที่สนับสนุนการตัดอ้อยสดเพื่อลดการเผา ว่าอย่างน้อยก็ยังเห็นความพยายามปรับตัวในเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่โยนความผิดไปยังชาวไร่หรือผู้บริโภคอย่างเดียว

“คนยุคนี้เข้าใจมากกว่าที่คิดทุกคนรู้ว่าต้นเหตุของปัญหาไม่ใช่เห็ดถอบ แต่คือทุนผูกขาด เราไม่ได้ต้องการโฆษณาที่สวยงาม เราต้องการโฆษณาที่ซื่อตรงกับความจริง”

เมื่อถามถึงสิ่งที่ควรเปลี่ยน ศักดิ์รพีบอกว่า คนทำสื่อควรกล้าตั้งคำถามกับทุน และไม่ควรมองคนดูว่า “โง่”

“สุดท้ายมันไม่ใช่แค่เรื่องฝุ่น แต่มันคือการจัดลำดับความสำคัญของสื่อและโฆษณาไทย ว่าจะยืนอยู่ข้างทุน หรือยืนอยู่ข้างประชาชน” ศักดิ์รพี ทิ้งท้าย

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa slot mahjong