Wherever Project คืนสู่เหย้าชาวละคร ที่ไม่ใช่แค่ Reunion แต่จะสร้าง Union ต่างหากเล่า!

เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม, ปรัชญา ไชยแก้ว

ภาพถ่าย: ปรัชญา ไชยแก้ว

ช่วงเรียนมหา’ลัย อาจจะเป็นช่วงเวลา 4 ปี(หรือมากกว่านั้น) ที่ให้เราได้ทดลองทำหลายสิ่งอย่าง หรือกล้าได้กล้าเสี่ยงในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แน่นอนว่าการสุมหัวรวมตัวก่อการทำอะไรสักอย่างก็เป็นเรื่องที่พร้อมจะทุ่มเทแรงกายทั้งหมดไปกับมันแบบไม่คิดชีวิต ชมรมการแสดง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เป็นหนึ่งในนั้น

Wherever Project การรวมตัวกันอีกครั้งของเหล่าสมาชิกชมรมการแสดงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ต่างคนต่างระหกระเหินเดินทางไปยังเส้นทางของตน และกลับมารวมตัวกันอีกครั้งด้วยความหวังใหม่ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับวงการละครและศิลปะในเชียงใหม่อีกด้วย(เขาว่างั้น)

รามิล-ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ นักกิจกรรมทางการเมืองที่โคตรจะเกรี้ยวกราด นักการละครที่กระทำการ Performance ทีไรรัฐไทยมีอันสะดุ้ง มาในครั้งนี้รามิลมาในฐานะ Producer ใน Wherever Project ที่บอกเลยว่าเดาทางยากมาก เพราะไม่รู้ว่าจะเล่นท่ายากขนาดไหน

อยากบอกว่าการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการมาเจอเพื่อนนั่นแหละ เชื่อสิ

การกลับมารวมตัวกันของสมาชิกชมรมการแสดงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครั้งนี้เกิดได้ไง?

ชมรมการแสดงในช่วงนั้นก็ไม่ได้หายไปไหนนะ ด้วยความที่โปรดักชั่นละครหรือการผลิตละครมันใช้เงินสูง ทีนี้ในเรื่องการซัพพอร์ตของมหาลัยในเงินกิจกรรมนักศึกษาเองมันจะต้องไปจัดสรรงบประมาณกับชมรมอื่นๆ มันก็คงไม่ได้มีเงินซัพพอร์ตมากพอที่จะทำให้เราผลิตละครขึ้นมา 1 โปรดักชั่นได้จริงๆ เพราะมันก็มีค่าใช้จ่ายเยอะ 

แต่ถามว่าเราหายไปไหนไหมกับการทำงานละคร งาน Performance หรือว่าอะไรต่างๆ ในช่วงปี 2563 ที่มีการชุมนุมทางการเมืองชมรมการแสดงเองก็มีละครในม็อบในหลายครั้ง สำหรับเราเราก็คิดว่าในชมรมการแสดงเองก็ผลิตละครแต่ว่าก็คงไม่ได้อยู่ในโรงละครแบบที่อาจจะเห็นกัน แต่เป็นละครที่อยู่กับ Street อยู่กับเหตุการณ์ทางการเมือง ซัพพอร์ตการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย หรือแม้กระทั่งตอนที่ศิลปิน Performance ในเชียงใหม่ทำงาน performance กันไม่ว่าจะเป็นลานยิ้ม หรือ Chiangmai Performance Art ตัวชมรมการแสดงเองก็มีสมาชิกที่ไปร่วมทำการ Performance ต่างๆ อยู่

จริงๆ แต่ละคนก็มีทั้งคนที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ แล้วก็คนที่ค่อยๆ จบกันไปแล้ว คือการกลับมามันก็เหมือนการรื้อฟื้นการทำงานละครอะครับ หนึ่งก็คือได้กลับมาทำละคร ได้กลับมาทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ มันเหมือนชมรมเองในอนาคตอาจจะไม่ได้อยู่ต่อ แล้วการทำงานละครในครั้งนี้เราก็ค่อนข้างที่จะใส่เต็ม ใส่สุดกับมันพอสมควร ใส่สุดกับมันมากทั้งในแง่ของบท ในแง่ของการกำกับละคร การทำงานโปรดักชั่น หรือแม้แต่การกำกับศิลป์คืออย่างหนึ่งที่สำคัญมัน โอเคแหละส่วนหนึ่งก็คงทำเอามันส์ เพราะว่ามันก็เรียกร้องภาวะภายในของคนทำงานว่าตัวเองทำงานออกมาแล้วมันก็ควรสุดในจิตวิญญาณของตัวเอง แต่อีกอันหนึ่งก็คือเราต้องการที่อยากจะทำให้เห็นการทำงานละครที่มากกว่าที่เคยเห็น มีรูปแบบอื่นๆ บ้าง เพราะว่าตัวงานทั้ง 2 งานเองเนี่ย งานชึ้นหนึ่งมัน Based Performance เลย

Wherever Project คืออะไร

จริงๆ อันนี้ต้องขอบคุณยอร์ช (สหัสวรรษ ทาติ๊บ ผู้กำกับและนักแสดง)  เพราะว่ายอร์ชเป็นคนเริ่มต้นไอเดียแล้วก็เป็นคนชวนผมกับน้ำ (สุวรรณา อ่อนน้อม ผู้กำกับ)มานั่งคุยกัน คือเราทั้งสามคนผ่านช่วงเวลาในชมรม การทำละคร การทำค่ายชมรมการแสดง การฝึกฝน การเป็นนักแสดง ฝึกฝนการทำงานละครด้วยกันมา แล้ววันหนึ่งเราก็แยกย้ายกันเพื่อที่จะต้องไปทำงานเติบโตเป็นของตัวเอง แล้วก็อยู่ๆ วันหนึ่งยอร์ชก็เรียกมาคุยเพื่อที่อยากจะกลับมาทำงานในบรรยากาศที่เราเคยสนุกกับมัน ซึ่งมันก็เหมือนการ Reunion กันของชมรม

ในแง่ของรายละเอียดว่าทำไมถึงต้องเป็น Wherever ทำไมถึงต้องเป็น Project ทำไมถึงมี Wherever Project แล้วมีละครโผล่ขึ้นมา 2 โปรดักชั่น คือ Wherever Project มัน ด้วยคำว่า Wherever ที่ไหนก็ได้ ก็มีต้นไอเดียแหละคือตัวยอร์ชเองก็มีไอเดียของการที่แบบ จริงๆ เราทำละครที่ไหนก็ได้ ก็หมายความแบบนั้นก็ได้ และจริงๆ แล้วการที่เราอยู่ที่ไหนเราก็ทำงานละครงานแสดง แต่ในความหมายของยอร์ชมันคือแม้ว่าเราจะแยกย้ายกันไปทำงานละครแต่มันทำบางอย่างไม่ได้ มันต้องทำด้วยกันถึงจะทำได้ มันก็จะมีเซ้นแบบนี้อยู่มันถึงเกิดโปรเจคนี้ขึ้นมา

ภาพ: Wherever Project

ไอเดียของ Dreamland กับ มานุช Ma la la มาจากไหน?

ในการทำโปรดักชั่นละครทั้งตัว Dream land แล้วก็ในตัว Ma la la มันก็จะ Based On การทำงานละครของ 2 ผู้กำกับก็คือ ยอร์ช-สหัสวรรษ ทาติ๊บ แล้วก็ น้ำ-สุวรรณา อ่อนน้อม ทั้งสองคนนี้มี Methodology วิธีการทำงานละคร หรือวิธีการทำงานของตัวเองก็จะต่างกัน แต่ละคนก็ทำงานละครบนพื้นฐานที่ตัวเองทำ วิธีการของตัวเอง แล้วทำงานออกมา คือสิ่งที่เราคุยเราเป็นโปรดิวเซอร์เราก็บอกว่าสิ่งที่เราคุยก็คือ ฝึกอย่างเดียวไม่ได้ต้องทำมันออกมา มันต้องจบ Process การจบ Process หมายความว่าคุณก็จะได้ Material มาเพื่อที่จะนำตัวการทำงานละคร การทำ Process ของการจัดการโปรดักชั่นออกมาเป็น Workshop เพื่อที่จะทำงานกับนักศึกษาในขั้นตอนต่อไป 

เพื่อที่จะเป็นหลักสูตรในการทำงานละคร ที่ไม่ใช่แค่นักแสดงซ้อม หาเวที มีไฟมีเสียงอะไรแบบนี้ เพราะว่าตัว Process ที่เราทำคือจริงๆ มันก็ค่อนข้างที่จะเข้มข้นในทุก Process ผู้กำกับเองก็ทำงานทั้งค้นหาเรื่องของตัวเอง ไอพวกนี้จะถูกเก็บถูกถอดออกมาเป็นแบบฝึกหัดให้นักศึกษา เก็บเป็นหลักสูตรไว้ให้กับชมรมว่ามันมีโครงวิธีแบบนี้อยู่นะ เพื่อที่จะมีคนใหม่ๆ ที่สนใจเข้ามาเขาก็จะได้เรียนรู้วิธีการทำงานไว้ด้วย มันก็จะจบใน Phase 2 ก็คือตัวนักศึกษาที่ทำงานกับเราที่เข้ามาเป็นสมาชิกชมรมหรือสนใจมาทำงานละครก็ต้องผลิตโปรดักชั่นละครออกมาหลังจาก Dream land และ Ma la la แต่มันเป็นงานในอนาคตครับพูดไปก็เหมือนบีบคอตัวเองว่าจะต้องมีฮ่าๆ

อีกอันหนึ่งคือ Phase ที่ 3 ก็คือหยิบอันแรกแล้วก็อันที่ 2 ซึ่งเราทั้งค้นหา Material จากการทำงานละครของ Based ผู้กำกับคือยอร์ชกับน้ำ แล้วก็อีกอันหนึ่งคือการทำงานกับนักศึกษาหรือว่าคนที่สนใจ คือนักศึกษาในที่นี้อาจจะไม่ใช่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเดียว คือเรารู้สึกว่า Community มันควรจะกว้างขวาง เปิดกว้าง แล้วก็พร้อมที่จะให้คนที่อยากจะรู้เข้ามาได้รู้ มันก็เป็นที่ในการทดลองในการทำงานด้วย เพื่อที่จะไปพัฒน้าเป็นโปรดักชั่นสุดท้ายขึ้นมา อาจจะชื่อเดียวกันกับโปรเจคก็คือ Wherever โปรดักชั่นขึ้นมาเพื่อที่จะทำงานแล้วก็เป็นเหมือนบทสรุปของการเดินทาง

ภาพ: Wherever Project

แล้วมันต่างกันหรือคล้ายกันยังไงบ้าง

คือทั้ง 2 งานนี้มัน Based ไอเดียกันคนละแบบ คือผู้กำกับทั้ง 2 คนเลือกที่จะเริ่มต้นจากเรื่องราวของตัวเอง แต่ว่าเรื่องราวของตัวเองนั้นมันไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์อะไรกับโลก สังคม หรือแม้กระทั่งตัวเองที่มองโลก ตัวเองที่เผชิญกับบรรยากาศทางสังคมอะไรอย่างนี้ด้วย แล้ววิธีการทำงานของ Dream land ก็จะต่างกับ Ma la la ตรงที่ว่า Dream land เองใช้ Based Performance เข้ามา แทบจะยากมากกับการจัดคิว แล้วก็ไปเล่นกับการ Perform ไปกับเสียง ซึ่งเป็นทั้ง Sound Experimental กับ Music ซึ่งเป็นไวโอลินเข้ามาด้วย ซึ่งนักดนตรีที่มา Collab กัน ทั้ง 2 คนก็อยู่ในฐานะของ Performer เหมือนกันแค่เขาไม่ได้ไปอยู่บนเวทีแบบเดียวกับตัว Performer ซึ่งเขาก็จะมี Space ของเขาอะไรของเขา ซึ่งเราก็ทำงานด้วยกันมา ค้นหาเสียง คุณเห็นเรา Movement แบบนี้มันเป็นเสียงแบบไหน แล้วพอได้ยินเสียงแบบนี้เรา Movement กับมันอย่างไร มันไม่ใช่แค่ดนตรีประกอบการ Perform แต่ว่าทั้งคู่มันทั้งไปด้วยกัน ขัดแย้งกันด้วยในแง่ของ Dream land

แล้วก็ตัว Ma la la ก็เป็น Based เรื่องส่วนตัวของผู้กำกับเหมือนกัน แต่ว่ามันถูกเก็บหมดเลย ถูกเก็บในความหมายคือก็ไม่ได้บอกว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างไร คือคุณไม่ต้องรู้เรื่องส่วนตัว คุณก็จะดูมันได้ในอีกอรรถรสหนึ่งด้วย อย่างตัว Dream land มันก็จะไปหนักกับ Media Arts งาน Visual Art งาน Sound อะไรพวกนี้ แม้กระทั่ง Lighting เองก็จะถูกเซ็ตให้มันเป็นฉากด้วยในบาง Mood&Tone ของเรื่อง ซึ่ง Ma la la เองก็เป็นอีกแบบหนึ่งคือทำงานกับ Object Arts ถ้าเป็นโรงละครคือการทำให้โรงละครเป็น Exhibition ถ้าไม่มีงานละครเดินเข้าไปดูในนั้นมันก็คือนิทรรศการๆ หนึ่งเลย ก็ให้ความสำคัญกับในแง่ที่ว่าพร็อพฉากที่มันถูกเซ็ตมันไม่ใช่แค่พร็อพฉากแต่มันคืองานชิ้นหนึ่ง งานที่มีสถานะของมันเท่าๆ กับละครที่ไม่ใช่แค่ส่วนประกอบของงานละครที่จะซัพพอร์ตงานละครอย่างเดียว แต่ว่าสถานะของมันก็ถูกทรีตให้เท่าๆ กัน

แล้วเราก็เลือกทำงานกับศิลปินเยอะมาก ก็เป็นเพื่อนฝูงชักชวนกัน จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่ Reunion ของชาวชมรมการแสดงหรือชาวละครหรอก แต่แทบจะ Reunion เพื่อนฝูงศิลปินมาทำงานกันด้วยเลยทั้งศิลปินที่ทำงาน Collage Art เอย มีงาน Installation Art เข้ามาด้วยอะไรแบบนี้ 

เห็นว่า Dreamland เคยแสดงที่ thapae east ไปแล้วหนิ

จริงๆ อันนี้ก็เป็นวิธีการทำงานของผู้กำกับเหมือนกัน คืออันหนึ่งผู้กำกับอยากเก็บ Research อยากเก็บ Material กับการที่ได้ทำงานในพื้นที่ ที่ๆ มีผู้ชม มีคนที่คอยดู มีคนที่คอย Reaction บางอย่างเพื่อที่จะนำกลับไปพัฒนางาน งานชิ้นนั้นก็จะเป็น Experimental ในแง่ที่เรียกว่าทำงานออกมาเป็นเหมือน draft1 draft2 อะไรแบบนี้เพื่อที่จะพัฒนางานเข้ามาในชิ้นที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 – 5 กรกฎาคมนี้ ซึ่งก็ต่างกันเยอะอยู่พอสมควร

ภาพ: Wherever Project

ในฐานะโปรดิวเซอร์ความท้าทายหรือความยากในการทำงานชิ้นนี้คืออะไร?

จริงๆ ผมรับบทหลายอย่างเป็นทั้ง Producer ด้วยเป็นทั้ง Art Director ด้วย คือพอเป็น Art Director ใดๆ งาน Arts ก็เป็นภาระของกูทั้งหมด เราก็ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับซึ่งเวลาที่เราทำงานบน Based ผู้กำกับหมายความว่าผู้กำกับมีไอเดียมาประมาณนี้ เห็นอะไรประมาณนี้ ในฐานะ Art Director ของเรามันก็ต้องเห็นให้ได้แบบผู้กำกับแล้วก็ต้องคิดในแง่ของการใช้เทคนิคด้วย สมมติว่าผู้กำกับเห็นสีดำเราจะเห็นสีดำอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าสมมติเราคุยกันใน Sense ที่แบบว่าแสงไฟในละครอะไรแบบนี้ ผู้กำกับเห็นสีดำเราทำอย่างไร ปิดไฟมืดในโรงละครก็ไม่ใช่ มันก็ต้องมีเทคนิคของการคิดงานด้วย แล้วก็การเห็นว่าเพื่อนของเรามีความถนัดหรือทักษะในการทำงานอะไรเราก็ชักชวนกันมาพูดคุยกันว่ามันมีโปรเจคแบบนี้นะคุณมาทำงานนี้ด้วยกันไหมอะไรแบบนี้ ก็รวมเพื่อนๆ มาอย่าง ไอ่เท็น ตาล้วน น้ำว้า อะไรแบบนี้มาทำงานด้วยกัน แล้วก็ในแง่ของ Producer ที่เราต้องทำทั้งการจัดการติดต่อนู่นนี่ การมองว่าตัวงานมันถูกวางเค้าโครงเรื่องราวมาแบบนี้สถานที่แบบไหนเหมาะกับการที่งานชิ้นนี้จะไปอยู่ที่นั่น แล้วก็ในแง่ของการควบคุมคุณภาพในการทำงานก็จะเข้าไปดูเช่นแบบว่าข้อมันยังไม่ลุยนะ มันลุยได้กว่านี้อีกนะอะไรแบบนี้ เช่นแบบว่ามันจะมีช่วงที่มันควรจะบ้าคลั่ง มันยังไม่บ้านะ มันกระจอกนะ มันต้องบ้ากว่านี้อะไรแบบนี้ มันก็จะมีการพูดคุยกันทำงานกัน แต่ว่าสำหรับผมก็ยากไหมมันก็ตอบยากง่ายไม่ได้ คือมันก็สนุกแต่มันก็เหนื่อยด้วยมากกว่า

การเป็นโปรดิวเซอร์หรือคนที่ดูภาพรวมใหญ่ขนาดนี้มันต่างจากประสบการที่ผ่านมาตอนเป็นนักแสดงอย่างไร?

ตอนเป็นนักแสดงเรารู้สึกว่าเราสบายเพราะว่าเราไม่ต้องทำงานอะไร ต้องแสดง เราก็แค่ทำงานในวงจำกัดมากๆ คือเป็นนักแสดงทำงานกับบท ทำงานกับคาแร็คเตอร์ แสดงมันให้เต็มความสามารถ แต่ในขณะที่เราเป็นโปรดิเซอร์เราต้องรู้ทุกซอกทุกมุมของมัน ผู้กำกับไม่อยากคุยกับเราเราก็คะยั้นคะยอที่จะคุยกับผู้กำกับให้ได้ คือผู้กำกับพอมันทำงาน Based ตัวเองแล้วพอบางทีมันค้นหากับตัวเองแล้วมันจมดิ่งไปกับเนื้อหาข้อมูลของตัวเองแล้วมันก็ไม่อยากจะคุยกับชาวบ้านเขาก็ไม่ได้ไงเราต้องคุยกันไม่งั้นจะทำงานต่ออย่างไรอะไรแบบนี้ก็มี สนุกดี ผมอยากให้ไปดูนะ

ภาพ: Wherever Project

ไอ้ความทะเยอทะยานที่บอกว่าจะสร้างกลุ่มคนทำงานละครต่อไปในอนาคต รวมไปถึงแรงงานศิลปะในเชียงใหม่ให้เข้มแข็ง เลยอยากรู้ว่าตอนนี้มันไม่เข้มแข็งใช่ไหม? หรือมันเป็นอย่างไร?

สำหรับผมคือเรามีโลกหลายใบแม้ว่าเราจะอยู่บนดาวโลกเดียวกันนี้ก็ตาม โอ้โหพูดคำใหญ่แต่ว่าไปต่อไม่ได้ฮ่าๆ คือถ้าเรากลับไปดูอะไรแบบนี้จริงๆ กลุ่มละครในเชียงใหม่ก็เยอะแต่ว่าสำหรับเรา เราไม่สามารถเป็น Community ละครที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ เราไม่สามารถที่จะอยู่กับการดูงานกันเองได้อย่างเดียว งานของเรามันก็ต้องมีคนอื่นที่เข้ามาเสพแล้วการทำงานร่วมกันกับ Collective อื่นๆ กลุ่มอื่นๆ 

ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่เห็นภาพรวมของบรรยากาศทางโครงสร้างทางการเมือง นโยบายที่เข้ามาซัพพอร์ตงานทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมซึ่งผมคิดว่าความเข้มแข็งของเชียงใหม่เข้มแข็งไหม ความเยอะของเชียงใหม่คือมันเป็นที่อยู่ของคนที่พร้อมจะเป็นศิลปินและเป็นศิลปินอยู่เยอะแยะมากมายแต่ว่าการซัพพอร์ตมันไม่มี พอมันไม่เกิดการรวบรวมกันเพื่อที่จะทำงานการค้นหาว่าจริงๆ แล้วงานแบบนี้กับงานแบบนี้ งานละครหรืองานที่ไม่ใช่ละครมัน Collab อย่างไรด้วยกันบ้าง สำหรับผมแล้วมันไม่ใช่แค่ Community ของคนทำงานละครแต่มันคือ Community ของคนที่ทำงานศิลปะอื่นๆ ด้วย คือถ้ามันเข้มแข็งเราก็มีกำลังมากพอที่จะต่อรองเพราะในท้ายที่สุดเราจะอยู่อย่างไรถ้าเราทำละครด้วยโปรดักชั่นที่ราคาถูก ได้เงินมา 2-3 หมื่น ก็ไม่ Cover ค่าแรง หรือว่าเราเราจะต้องทรีตกับคนที่อยากมาฝึกประสบการณ์แล้วเดินเข้ามาในกลุ่มก้อนของเราแล้วเราก็ต้องตบบ่า กราบไหว้ ให้ความเห็นใจว่าเราไม่มีเงินที่จะซัพพอร์ตค่าแรงอะไรแบบนี้ คือคนอาจจะเดินเข้ามาแล้วบอกว่าอยากได้ประสบการณ์ไม่ต้องมี Budget ให้ก็ได้แต่ว่าคุณไม่มีประสบการณ์คุณอาจจะไม่มีค่าแรงสำหรับประสบการณ์แต่ไม่จริงที่คุณทำงานแล้วไม่เป็นค่าแรง แล้วอะไรพวกนี้มันถูกคิดอยู่ในไหนในโปรดักชั่น ซึ่งทำงานละครมันใช้คนเยอะมันไม่ใช่แค่นักแสดงที่อยู่บนเวที ทีมทั้งหมดอย่างน้อยๆ สมมติว่า 20 คนทุกคนก็ควรที่จะได้รับการ Respect เท่าๆ กันในแงที่ถ้าคุณเป็นนักแสดงละครคุณก็แสดงไม่ได้หรอกถ้ามันไม่มีทีมที่เป็นสวัสดิการ คนที่ทำงานอื่นๆ ซึ่งอะไรพวกนี้มันก็เป็นบททดสอบและบทเรียนรู้ของคนทำงานเหมือนกันว่าเราจะต้องทรีตกันอย่างไร Respect กันอย่างไร ค่าแรงของเราอยู่ตรงไหนในการทำงานโปรดักชั่น 1 โปรดักชั่น

จริงๆ ศิลปินในเชียงใหม่ก็ทำงานอย่างบ้าคลั่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาแต่ว่าถ้าเรากลับไปดู ณ ตอนนี้เขาเติบโตหรือไม่เติบโต เขายังอยู่และเติบโตอย่างไรกับสภาวะในเชียงใหม่หรอ ซึ่งการที่คนหนึ่งคนจะต้องทำงานอย่างอื่นเพื่อที่จะทำงานศิลปะ ทำงานอย่างอื่นเพื่อที่จะเอา Income บางอย่างมาทำงานของตัวเองอะไรแบบนี้ หรือการที่ต้องพยายาม Collab ไอเดียของตัวเองเข้ากับแหล่งทุนที่จะซัพพอร์ต เรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องโศกเศร้าอย่างหนึ่ง ท้าทายหัวใจคนทำงานอย่างหนึ่ง ซึ่งมันก็มีคนที่ยังคงเคลื่อนไหวแล้วก็ทำงานของตัวเองอยู่แต่มันก็ ‘เหนื่อย’

แทนที่ว่าเราจะทำงานหนึ่งอย่างก็กลับต้องทำงานหลายๆ อย่าง เพื่อที่จะทำงานหนึ่งอย่างอะไรแบบนี้ หรือแม้กระทั่งระยะเวลายาวนานทำงาน 1 โปรเจคที่ต้องใช้เวลาครึ่งเดือนถึงจะได้เงินมาหลังจบโปรเจค แล้วไอ่พวกค่าใช่จ่ายในชีวิตครึ่งเดือนก่อนหน้านี้มัน Cover อะไรกับเงินที่ได้ ผมก็คงตอบไม่ถูกมากนักอาจจะต้องไปไล่ถามชาวบ้านศิลปินต่างๆ ดูว่าคุณใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไรในประเทศเฮงซวยนี้ กูใช้ไม่ได้กูเหนื่อยมาก 

จริงๆ การกลับมารวมตัวกันในครั้งนี้มันอาจจะไม่ใช่การ Reunion แต่มันควรจะตั้ง Union ที่ไม่ใช่แค่ Collevtive ของคนทำงานสร้างสรรค์หรือ Collevtive ของศิลปินแต่มันควรเป็น สหภาพแรงงานศิลปะ

มาขนาดนี้ละเชิญชวนคนมาร่วมชมหน่อยสิ

อยากให้ไปดูไหม? ก็แล้วแต่ละกัน อยากไปดูก็ไปดู แต่ว่ามันคลั่งจริงนะ เป็นงานที่ทุกคนใส่ Energy ไปกับมันแบบล้นค่าแรงมากเพราะว่าเราก็ไม่ได้มีค่าแรงที่มันสมเหตุสมผลกับแรงงานที่เขาเสียไปจริงๆ หรอก แต่สิ่งหนึ่งคือเหมือนมันเกาะเกี่ยวอยู่กับไอเดีย หรือว่าอุดมการณ์ หรือว่าการทำงานทางด้านศิลปะและการอยากเห็นการพัฒนาของเมืองในแง่ของงานศิลปะ หรือการพยายามที่จะทำให้ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มคนที่ทำงานศิลปะสามารถมี Collective ที่เข้มแข็งได้อะไรแบบนี้ แล้วทุกคนก็ใส่จิตวิญญาณ ใส่ความบ้าคลั่งห่าเหวอะไรของตัวเองเข้าไปในงานใน Position ที่ตัวเองทำทั้ง 2 โปรดักชั่นเลยทั้ง Dream land แล้วก็ Ma la la ก็ไปดูงาน 2 งานนี้นะครับ 

ราคาบัตรที่ถือว่าแพงนะในเชียงใหม่ ท้าทายคนดูไหมนั่น

มันถูกนะ คิดดูนะถ้าเกิดว่าค่าโปรดักชั่น 2 โปรดักชั่น โปรดักชั่นละ 1 แสนบาท สมมตินะครับ ค่าแรงที่สมเหตุสมผลบวกเข้าไปอีก ค่าสวัสดิการค่าทุกสิ่งทุกอย่างบวกเข้าไปอีก แล้วเราก็เอาจำนวนที่นั่งเต็มหารออกมาเป็นค่าบัตรจริงๆ ทั้งสองโปรดักชั่นจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท ถ้าค่าบัตรจะ Cover การจัดการทั้งหมด ค่าแรงทั้งหมดอยู่ที่ 5,000 บาท จริงๆ แล้ว 420 บาทก็จะถูกมาก แต่ถ้าเราเอา 420 บาทไปเปรียนเทียบกับค่าบัตรที่อาจจะเกิดขึ้นอื่นๆ มันก็อาจจะกระโดดขึ้นมาเยอะคนก็อาจจะคิดว่ามันแพง ก็คิดว่าสนับสนุนศิลปินให้มีข้าวกินครับ ให้ได้ใช้ชีวิตและสร้างสรรค์งานศิลปะต่อไป จริงๆ 420 บาทแพงไหมนะ แต่ผมรู้สึกว่ามันคุ้มค่ากับการได้ไปเจอมันจริงๆ ครับ

ภาพ: Wherever Project

Wherever Project โปรเจคละครเวทีจาก ชมรมการแสดง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภาพ: Wherever Project

DREAMLAND : ร่องรอย

เรื่องย่อ:

ในความฝันแสนหวาน

ของ ‘หนุ่มน้อย’ ที่ค้นพบว่ากำลังอยู่บนโลกใบหนึ่ง

เขามีความฝันที่เรียบง่ายและพยายามจะทำให้มันเป็นจริง

แต่สุดท้ายเหตุการณ์กลับตละปัตจนตัวเขาและความฝันต้องพังทลายไม่เหลือชิ้นดี

ในความฝันแตกสลายบนโลกแห่งความเป็นจริง

เขาต้องเลือกที่จะอยู่ในความฝันตลอดกาล

หรือจะออกมาใช้ชีวิตในโลกแห่งความจริงเพื่อรับใช้ความฝันของเขาต่อไป

เขาเหนื่อยจนหลับไป

นี่คือเรื่องราวความฝันของเขา, เมื่อเขาตื่นขึ้น

และหวังแต่เพียงว่าร่องรอยของความฝันจะยังคงหลงเหลือจากเมื่อตอนตื่น.

.

สถานที่จัดแสดง: เง็กเน้ยสตูดิโอ (Ngeg Nei Studio 玉莲)

https://goo.gl/maps/AJPxxvTgdXdvuqGKA

วันที่จัดแสดง 1-5 กรกฎาคม(July) 2023 | เวลา 19.00 น.

*กรุณามาก่อนเวลา ประมาณ 20-30 นาที เพื่อลงทะเบียน*

ราคาตั๋ว 420.- บาท

สามารถสำรองที่นั่งได้ที่: https://forms.gle/zcE9MUgMJE6HRjgQ7

.

Artist

Performing Artist: Sahatsawat Thatip

Violinist: Anna Maria Olsson

Sound Experimental Artist: Sirasin Pangprasertkun

.

Director: Sahatsawat Thatip

Producer: ShiVa Vitthaya

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม :

In Box: ชมรมการแสดง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Wherever Project | ชมรมการแสดง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภาพ: Wherever Project

Ma La La | Wherever Project

ละครที่นำจะพาทุกคนมาฟุ้งฝัน

และอบอุ่นหัวใจ ผ่านเฉดขาวดำ ที่ไม่มีวันซีดจาง

.

ในสถานที่ที่เราจะได้พบกันอีกครั้ง… ที่เมืองมาลา

เมืองที่เต็มไปด้วยดอกไม้ และงานเต้นรำ

ดินแดนที่สวยงามราวกับฝัน จนมิอาจตื่น

.

เราอยากเชิญชวนผู้ชมทุกท่านเข้ามาฟังนิทานก่อนนอนจากเด็กหญิงช่างฝัน

.

มานุช Ma La La ละครเรื่องใหม่จาก สุวรรณา อ่อนน้อม หรือ น้ำ

ที่ลงมือเขียนบทและเป็นผู้กำกับด้วยตนเอง —ซึ่งได้นำเรื่องเล่าและความทรงจำในอดีตออกมาถ่ายทอดในละครเรื่องนี้

.

นอกเหนือจากใช้ละครพูด ละครเรื่องนี้ยังได้ศิลปินหน้าเก่าและหน้าใหม่ ร่วมรังสรรค์ความงดงามบนเวทีและเติมเต็มเรื่องราวให้ เมืองมาลา ด้วยผลงาน Collage Art ที่จะถูกติดตั้งภายในโรงละคร พร้อมทั้ง Sound Art และ Visual Art ที่จะเข้ามาแต่งเติมให้ละครเรื่องนี้

.

Ma La La | Wherever Project

Director : Suwanna Onnom

Producer : ShiVa Vitthaya

.

Actors : Wiratchadaporn Subinmarattanachai

Watcharaphol Parameetong

.

สถานที่จัดแสดง (Venue): Alliance Française de Chiang Maï สมาคมฝรั่งเศสเชียงใหม่

https://goo.gl/maps/HWb7XZAkFMgKgipNA

วันที่จัดแสดง 12-16 กรกฎาคม(July) 2023 | เวลา 19.00 น.

*กรุณามาก่อนเวลา ประมาณ 20-30 นาที เพื่อลงทะเบียน*

ราคาตั๋ว 420.- บาท

สามารถสำรองที่นั่งได้ที่: https://forms.gle/iGzjax3Bw9RvrTAq7

บรรณาธิการสำนักข่าว Lanner สนใจหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องชาวบ้าน : )

ข่าวที่เกี่ยวข้อง