เรื่อง : จิรายุธ รวมสุข
“ชาวกะเหรี่ยง” หากได้ยินคํานี้หลายคนก็คงจะมีภาพจําว่าหมายถึงชาติพันธุ์ชาวเขากลุ่มหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ระแวกเขตชายแดนไทย-พม่า แถบตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย หาเลี้ยง ชีพด้วยการ ปลูกพืชไร่หมุนเวียน และเลี้ยงสัตว์นิยมปลูกบ้านที่สร้างจากไม้ พื้นบ้านยกสูง มุงหลังคาหน้าจั่ว ด้วยหญ้าคา ภาพจําเช่นนี้ไม่ได้ผิดแต่อย่างใด เพียงแต่สังคมภายในชุมชนชาวกะเหรี่ยงนั้นเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งในแง่วัฒนธรรมและวิถีชีวิต ชาวกะเหรี่ยงเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนภายนอกมากขึ้น ทั้งการแลกเปลี่ยนสินค้าจากภายในชุมชนสู่ภายนอก และการรับจ้างทําไร่ทําสวนให้กับเกษตรกรเพื่อนําค่าจ้างที่ได้กลับมาเลี้ยงครอบครัวภายในชุมชน เฉกเช่นเดียวกับ “บุตรสาวชาวกะเหรี่ยง”
ในปีนี้ สตรีชาวกะเหรี่ยงในวัยก่อนเบญจเพสทั้ง 2 คนกําลังจะก้าวขาออกจากรั้วมหาวิทยาลัยที่ตนได้ สําเร็จการศึกษามา คนหนึ่งได้ตั้งเป้าหมายชีวิตและหน้าที่การงานของตนไว้เป็นขั้นเป็นตอน หลังจากก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัยได้เพียงไม่กี่ก้าวเท่านั้น และกําลังเดินตามแผนของตนเองที่ได้วางเอาไว้ ส่วนอีกคนหนึ่ง กําลังสับสนและกังวลกับชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัยในระหว่างการศึกษาปีสุดท้ายก่อนจะจบการศึกษา ทั้งคู่ล้วนมีสิ่งที่เหมือนและต่างกัน แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้เบื้องหลังชีวิตของพวกเธอ2คนนี้เป็นอย่างไร เหตุใดพวกเธอจึงตัดสินออกจากชุมชนชาวกะเหรี่ยงเพื่อมาใช้ชีวิตเพียงลําพังท่ามกลางตัวเมือง ที่ในทุกวันต้องเผชิญกับการแข่งขัน ความไม่มั่นคง ความไม่ปลอดภัย แล้วพวกเธอทั้งคู่จะรับมือกับสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างไปอย่างไร พวกเราจะร่วมไขข้อสงสัยคําถามเหล่านี้ไปด้วยกันผ่านเรื่องราวชีวิตของพวกเธอทั้งคู่ในส่วนต่อไป
เรื่องของแสงแก้ว
แสงแก้ว คงวิลัยวรรณ หรือแสงแก้ว ได้ลืมตาดูโลก ณ หมู่บ้านกะเหรี่ยงแห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ครอบครัวของเธอเป็นครอบครัวเดี่ยว ประกอบด้วย พ่อ แม่ และพี่สาว2คน อาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านที่ประกอบสร้างจากไม้ไผ่ ซึ่งภายหลังผู้เป็นแม่ของแสงแก้วก็ได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับด้วยโรคร้าย ชีวิตในวัยเด็กของเธอค่อนข้างยากลำบาก ด้วยความห่างไกลความเจริญของหมู่บ้าน ที่ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนเกือบ200กิโลเมตร หนทางบางส่วนต้องเดินเท้าเข้าไปภายในหมู่บ้าน จากความยากต่อการเข้าถึงนี้ ทำให้ไม่มีไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้าน ไร้ซึ่งแสงไฟในยามพรบค่ำ กลางคืนสามารถพึ่งความสว่างได้จากแสงเทียนเท่านั้น เธอในวัยเด็กไม่รู้จักแม้กระทั่งโทรทัศน์คืออะไร รู้เพียงตื่นเช้ามาจะไปเล่นกับเพื่อนที่ไหน แล้วพอตกเย็นก็ต้องกลับบ้าน และเข้านอนตั้งแต่ดาวยังขึ้นไม่เต็มฟ้า เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆตลอดชีวิตในวัยเด็กของเธอ
แต่ในความลําบากนั้นเธอก็ยังมีโอกาสได้เรียนหนังสือ ในทุกๆเช้า แสงแก้วต้องเดินเท้าหลายกิโลเพื่อไปเรียนที่โรงเรียนบ้านเลโคะ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมต้น โดยมีครูประมาณ 10 คนในขณะที่นักเรียน 100 คน ครู 1 คนต้องสอนนักเรียนในทุกชั้นเรียน แสงแก้วเล่าว่าการเรียนที่โรงเรียนเลโคะนั้น ครูมีทัศคติที่ค่อนข้างแย่ มักดูถูกและล้อนักเรียน เช่น มักดูถูกนักเรียนที่ไม่เรียบร้อยไม่สงบ เสงี่ยม มักล้อเลียนนักเรียนที่พูดภาษาไทยไม่ชัดทั้งที่รู้ว่ากําลังสอนนักเรียนที่เป็นชาวกะเหรี่ยง ไม่ค่อยสนับสนุนนักเรียนที่มีความโดดเด่น เช่นแสงแก้วเอง เธอก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่มีความกล้าแสดงออก ชอบร้องเล่น เต้นรํา แต่ในสายตาครูกลับมองว่าเธอทําตัวไม่ไม่เรียบร้อยไม่สมกับเป็นกุลสตรี
“พวกเขาด่าเพื่อนของเราในตอนเด็กที่ชอบเต้นว่าแรดอะเธอ!”
ประโยคที่เปล่งออกมาจากความรู้สึกโกรธของแสงแก้วเมื่อพูดถึงคุณครูในวัยเด็ก ซึ่งต่างจากความคิดที่ผู้เขียน เคยคิดว่าครูที่สอนเด็กชาวเขาเป็นครูที่ใจดีกับนักเรียน อีกทั้งมาตรฐานการเรียนของบนดอยกับในเมืองก็ค่อนข้างต่างกันมาก ถ้าเทียบโรงเรียนในเมืองจะสอนเป็นขั้นเป็นตอน แต่บนดอย บทไหนไม่ได้ก็จะข้ามไปบทอื่นเรื่อยๆ จึงทําให้ขาดความต่อเนื่องในการเรียนรู้
“พอจะนิยามชีวิตในโรงเรียนตอนนั้นได้มั้ย”
“คือมันแย่จนเรามองไม่เห็นว่าเราจะได้อะไรจากการไปเรียนหนังสือเลย”
คําพูดของแสงแก้วเมื่อพูดถึงชีวิตภายในรั้วโรงเรียนสมัยยังเยาว์วัยที่เต็มไปด้วยความหดหู่และสิ้นหวัง อาจเป็นเพราะวิชาชีพครูควรเป็นวิชาชีพที่ให้พลังด้านบวกแก่เด็ก สนับสนุนเด็กในทุกๆด้าน แต่ในความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ครูผู้แสนใจดีเป็นเพียงภาพความฝันที่ไม่มีทางเป็นจริงในชีวิตวัยเด็กของแสงแก้ว
นอกจากชีวิตในรั้วโรงเรียนแล้ว แสงแก้วยังได้เล่าถึงวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้าน วัฒนธรรม ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเป็นสังคมแบบชายเป็นใหญ่ สตรีชาวกะเหรี่ยงจะได้รับหน้าที่งานบ้านงานเรือนและงาน เกษตร ส่วนชายชาวกะเหรี่ยงจะทําเพียงงานเกษตรเท่านั้น สตรีชาวกะเหรี่ยงไม่สามารถขึ้นเสียงใส่ฝ่ายชายได้ มากไปกว่านั้น ทุกคืนก่อนเข้านอน พวกเธอต้องกราบผู้เป็นพ่อ หรือผู้เป็นสามีก่อนจึงจะเข้านอนได้ เฉกเช่นเดียวกับครอบครัวแสงแก้วที่เธอได้รับหน้าที่งานบ้านทั้งหมด เพราะพี่สาวทั้ง2คนของเธอได้ออกจาก หมู่บ้านไปทํางานในเมือง อีกทั้งผู้เป็นแม่ก็ยังจากไปด้วยโรคร้าย จึงเป็นหน้าที่ของแสงแก้วที่จะทํางานในส่วนของพี่สาว
“ในมุมมองผู้หญิงอย่างแสงแก้ว คิดว่าเป็นไปได้มั้ยที่สังคมชาวกะเหรี่ยงจะเกิดความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น”
“เป็นไปได้ยากนะถ้าเป็นตอนนี้ แต่เราคิดว่าพวกคนรุ่นใหม่ ๆ ก็เริ่มยอมรับความเท่าเทียมกันแล้วนะ คงขึ้นอยู่
กับเวลาละแหละ”
สตรีชาวกะเหรี่ยงเช่นแสงแก้วเองก็เริ่มเห็นแสงสว่างจากปลายอุโมงค์ ที่จะได้เห็นทั้งชายและหญิงเท่าเทียมกันในสังคมกะเหรี่ยง แต่เธอเองก็คิดว่าไม่มีทางเปลี่ยนความคิดของผู้ใหญ่ชาวกะเหรี่ยงได้ เพียงแต่ต้องรอเวลาให้คนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาแทนคนรุ่นเก่าก็เท่านั้นเอง มากไปกว่านั้นแสงแก้วยังได้พูดถึงพฤติกรรมการเหยียดเชื้อชาติที่ค่อนข้างเข้มข้นภายในชุมชนกะเหรี่ยง เนื่องจากหมู่บ้านของเธอตั้งอยู่ใกล้เขตชายแดนไทย-พม่า บริเวณลุ่มแม่น้ําสาละวิน ห่างออกไปจากหมู่บ้านไม่ไกลจึงเป็นศูนย์อพยพของชาวกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากรัฐกะเหรี่ยงและฝั่งพม่า คนในชุมชนแสงแก้วเรียกพวกคนอพยพว่า “ข่างซุ้งลาย” หมายถึง พวกไม่มีแผ่นดินจะอยู่ อีกทั้งยังตราหน้าคนอพยพว่าเป็นพวกขี้ขโมย พวกไม่มีอันจะกินเพราะต้องดิ้นรนเอาตัวรอด
“ทําไมถึงเรียกพวกเขาอย่างนั้นล่ะ”
“มันก็เหมือนที่คนเมืองที่เขาเหยียดเราว่าเป็นพวกคนป่าคนดอยน่ะแหละ”
น้ําเสียงทุ้มที่เปล่งออกมาจากแสงแก้วเสมือนว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติในสังคมกะเหรี่ยง เธอเล่าว่าความจริงแล้วพวกเขาน่าสงสารเพราะต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด ต้องทําทุกอย่างเพื่อให้ยังมองเห็นวันพรุ่งนี้ได้พวกเขา ต้องกดค่าแรงของตัวเองเพื่อให้เหล่านายจ้างเลือกจ้างพวกเขาก่อน จวบจนปัจจุบันชีวิตของพวกเขาก็ยังไม่ดีขึ้น
การเปลี่ยนแปลงทางการผลิตในชุมชนนําไปสู่ชีวิตใหม่กลางกรุง
“เมื่อก่อนบ้านเราเขาปลูกข้าวไร่ข้าวนากัน แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปเยอะแล้ว”
คําตอบของแสงแก้วเมื่อถูกถามถึงอาชีพของชาวกะเหรี่ยงในชุมชน ประโยคนี้ทิ้งความสงสัยไว้เพียงไม่นาน เธอก็ได้เริ่มอธิบายเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงนี้เมื่อตอนเธอยังเด็ก ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ทําเกษตรนา ข้าวแบบไร่หมุนเวียน ออกบ้านตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อไปใส่น้ำา(รดน้ำ)ข้าว และถางหญ้า กว่าจะกลับถึงบ้านอีกทีก็ช่วง ตะวันกลางหัว พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็จะจ้างเพื่อนบ้านด้วยผลผลิตส่วนหนึ่งเพื่อให้ไปช่วยเกี่ยวข้าว ผลผลิตในสมัยนั้นชาวกะเหรี่ยงจะเก็บไปกินเอง หรืออย่างมากก็แลกเปลี่ยนกันภายในชุมชนเพียงเท่านั้น จนเธออายุย่างวัย 12 ขวบ ในชั้นเรียนปะถมปีที่ 5 ในช่วงนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชุมชน ตัวแทนชุมชนชาวกะเหรี่ยงได้นําเข้าพืชเกษตรชนิดใหม่ เช่น ฟักทอง กะหล่ำ หัวบุก เข้ามาให้ชาวกะเหรี่ยงได้นํามาปลูกกัน หลังจากนั้นเพียงไม่นานผลผลิตเกษตรเริ่มมีความหลากหลายขึ้น และมากเกินกว่าจะเก็บผลผลิตไว้ตัวแทนชุมชนจึงอาสานํา ผลผลิตส่วนเกินเหล่านั้นไปขายทอดตลาดนอกชุมชน ส่งผลให้มีรายได้ที่เป็นเม็ดเงินเข้ามาภายในชุมชน อีกทั้งยังส่งผลให้พืชผักของชาวกะเหรี่ยงเป็นที่นิยมในตลาดสดอย่างมาก เพราะพืชผักของชาวกะเหรี่ยงนั้นสดใหม่ ไร้สารเคมี แถมยังราคาถูก เมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างภายในกับภายนอกชุมชน วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ก็เริ่มเปลี่ยนไป จากการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ก็เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น เปลี่ยนวิธีการแลกเปลี่ยนเป็นใช้เงินเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน บ้านเรือนทุกหลังถูกแต่งเติมไปด้วยสิ่งอํานวยความสะดวก ทั้งไฟฟ้า สัญญาณโทรศัพท์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุที่ใช้ประกอบสร้างบ้านนิยมใช้อิฐ และปูนมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีหลังจากมีการนําเข้าพืชเกษตรเท่านั้น ปัจจุบันสิ่งค้าที่ส่งออกนอกชุมชนกะเหรี่ยงมีหลากหลายมากขึ้น ทั้งลิ้นจี่ เมล็ดกาแฟ พืชผักสวนครัว แต่ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคือ สิ่งทอ และจักสาน เพราะถูกจัดเป็นสินค้าOTOP และจัดส่งไกลถึงต่างประเทศ
“แสงแก้วคิดว่า ตัวแสงแก้วเองมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงนี้มั้ย”
“มีส่วนสิหลายครั้งเรามีโอกาสได้เป็นตัวแทนไปจัดแสดงสินค้ากะเหรี่ยงที่ต่างจังหวัด และเราก็ได้นําเสนอ
สินค้ากะเหรี่ยงให้คนไทยได้รับรู้ด้วย”
มากไปกว่านั้น การได้มีส่วนรวมของการจัดแสดงสินค้าชาวกะเหรี่ยงของแสงแก้ว ยังทําให้เธอได้เห็นโลกภายนอกชุมชนกะเหรี่ยงมากขึ้น เธอคิดว่าสังคมของชาวกะเหรี่ยงนั้นแคบไปสําหรับเธอ อีกทั้งผู้คนในสังคมยังปิดกั้นโอกาสในพัฒนาฐานะความเป็นอยู่ของเธอและครอบครัว หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เธอจึงตัดสินใจ เดินออกจากชุมชน และตัดสินใจเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปลายในตัวเมืองเชียงใหม่ตามลําพัง เพื่อโอกาสในหน้าที่การงานในอนาคต แต่เส้นทางนี้ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ในช่วงแรกแสงแก้วต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุดหย่อน ทั้งภาระทางการเงินที่ต้องแบกรับค่ากินค่าที่อยู่ค่าเล่าเรียนเพียงลําพัง มากไปกว่านั้น การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมใหม่เป็นสิ่งที่ทําให้เธอรู้สึกท้อแท้ แต่แสงแก้วเองก็ใช้เพียงความพยายามและเรียนรู้ที่จะพึ่งพาผู้อื่นในยามจําเป็น จนผ่านอุปสรรคมาได้หลายต่อหลายครั้ง
“เราท้อนะ แต่ก็ต้องพยายามเท่านั้นแหละ พื้นฐานเราต่างกัน เราเลยต้องพยายามให้มากกว่าคนอื่น”
ความพยายามนี้ช่วยผลักดันให้เธอไปถึงฝั่งฝันได้ ปัจจุบันแสงแก้วที่พึ่งเรียนจบปริญญาตรีในคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้วางแผนชีวิตหลังรั้วมหาวิทยาลัยไว้เป็นขั้นเป็นตอน และกําลังเดินตามแผนนั้นอย่างมั่นใจ
“เราคิดว่าเราอยากทําธุรกิจส่วนตัวนะ แต่ที่บ้านอยากให้รับข้าราชการมากกว่า เพราะมันมั่นคงกว่า ช่วงนี้เราคงจะรับจ้างทํางานพิเศษไปก่อน แล้วปีหน้าค่อยไปสอบกพ. แต่ยังไงถ้าอิ่มตัวกับข้าราชการแล้วเราก็จะทําธุรกิจส่วนตัวแหละ เพราะมันยิ่งใช้ความพยายามก็ยิ่งเติบโตเร็ว”
ถึงแม้ตัวแสงแก้วเองจะปรารถนาความเจริญก้าวหน้าในชีวิตเพียงใด แต่เธอเองก็ไม่ลืมว่าตัวเธอมาจากแห่งหนไหน ในวันหนึ่งหากอิ่มตัวกับชีวิตในเมืองที่แสนวุ่นวายแล้ว เธอก็ต้องการกลับไปใช้ช่วงบั้นปลายชีวิตในการสร้างครอบครัวที่ชุมชนที่เธอจากมา และถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตให้กับเหล่าคนรุ่นใหม่ที่กําลังจะลืมตาดูโลกในอนาคตเช่นกัน
เรื่องของชมพู่
นี่คือคนที่เริ่มออกมาใช้ชีวิตเพียงลําพังตั้งแต่ยังใช้ชื่อเด็กหญิง นี่คือคนเดียวของหมู่บ้านที่ได้เรียนถึงระดับอุดมศึกษา นี่คือคนที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและแก้ปัญหาอย่างใจเย็น และนี่คือชมพู่ เด็กสาวผู้หวังว่าซักวันจะทําให้ครอบครัวสุขสบายให้ได้ หรรษลักษณ์ ทิพย์ธนาทร คือชื่อเต็มของชมพู่ เธอเป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์ ที่อาศัยอยู่พื้นที่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ห่างออกไปไม่เกิน 10 กิโลเมตรเป็นแม่น้ําสาละวินที่เป็นเขตชายแดนไทย-พม่า ชมพู่ได้เล่าถึงชีวิตในวัยเด็กว่าครอบครัวของเธอมีฐานะความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างยากจน ครอบครัวของเธอไม่สามารถส่งเธอและน้องชายให้เรียนหนังสือในชั้นสูง ๆ ได้แม้แต่เด็กทุกคนในหมู่บ้านที่รุ่นราวคราวเดียวกับเธอก็ต้องทํางานช่วยครอบครัวตั้งแต่เด็ก
“หนูเป็นคนเดียวในหมู่บ้านที่ได้เรียนหนังสือหลังจบป.6”
คําพูดติดตลกที่ปนด้วยความโศกเศร้าของชมพู่เมื่อพูดถึงเรื่องการเรียนของของเด็กในหมู่บ้านชุมชนกะเหรี่ยงของเธอที่ตั้งอยู่ในหุบเขาลึกกลางป่า มีเส้นทางการเดินทางสุดอันตราย ที่หากไม่เชียวชาญการขับรถก็อาจทําให้ตกเหวลึกได้ นั่นเป็นผลให้หมู่บ้านของเธอนั้นมีโรงเรียนที่จะสอนเด็กในหมู่บ้านให้จบชั้นประถมปีที่ 6 รูปแบบโรงเรียนในหมู่บ้านของชมพู่จะไม่มีครูอยู่ประจํา เธอใช้คําว่าเป็นโรงเรียนแบบ กศน. ครูจากนอกหมู่บ้านจะเวียนเข้ามาสอนเพียง 2-3 วันต่อเดือน หากโชคดี ก็จะเป็น 1 สัปดาห์ต่อเดือน การเรียนการสอนไม่มีวันเวลาที่แน่นอน หากครูเข้ามาสอนวันเสาร์นักเรียนก็ต้องเข้ามาเรียนในวันเสาร์ เธอเล่าว่าปกติแล้วเด็กในหมู่บ้านขยันเรียนมาก แต่หลายครั้งที่ครูไม่มาสอนทําให้ความต่อเนื่องในการเรียนรู้นั้นไม่มี ทําให้เด็กหลายคนตัดสินใจเลือกที่จะไปทํางานช่วยครอบครัวเพราะเรียนไม่รู้เรื่อง รวมถึงน้องชายของชมพู่เองก็ตัดสินใจออกมาช่วยงานพ่ออย่างเต็มตัว ความรู้ที่ได้จากในรั้วโรงเรียนของน้องชายของเธอ มีเพียงแค่ทักษะในการอ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่ไม่ใช่กับชมพู่ หลังจากจบชั้นประถมครอบครัวของชมพู่ตัดสินใจส่งเธอไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาที่เป็นโรงเรียนประจําในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนด้วยเหตุว่าต้องการให้เธอมีโอกาสในการเลือกงานในอนาคตให้มากขึ้น เธอจึงได้เริ่มใช้ชีวิตนอกชุมชนกะเหรี่ยงเป็นครั้งแรก ในช่วงแรก ๆ ชมพู่ไม่ได้ลําบากมากนักกับชีวิตในรั้วโรงเรียนประจํา เป็นโชคดีที่เธอได้รู้จักกับกลุ่มเพื่อนที่เป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์ด้วยกัน จึงไม่รู้สึกกดดันมากเวลาอยู่ห่างไกลจากครอบครัว ในช่วงมัธยมต้น ทางครอบครัวยังส่งเงินให้เธอใช้อยู่ตลอดไม่เคยขาด จนถึงช่วงมัธยมปลาย เธอตัดสินใจทํางานพิเศษเพิ่มหลังเลิกเรียน และกู้กยศ. เพื่อจะได้ลดรายจ่ายให้กับครอบครัว เพราะสุขภาพของพ่อเธอที่เป็นเสาหลักของครอบครัวเริ่มไม่สู้ดีนักจากอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเรื้อรัง เธอต้องการให้ค่าใช้จ่ายที่ต้องส่งให้เธอเป็นค่าผ่าตัดรักษาตัวให้ผู้เป็นพ่อ
“ไม่ได้ลําบากมาก แต่ก็ไม่ได้สบาย” คือนิยามของชีวิตชมพู่ในวัยมัธยมปลายที่ต้องส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือเพื่อที่จะได้ไม่เป็นภาระให้ครอบครัว
“เมื่อก่อนคนที่บ้านเขาจนมาก ตอนเช้าตื่นไปนา พอตอนบ่ายก็กลับมาเม้ามอยกันแล้ว”
นี่คือชีวิตประจําวันของชาวกะเหรี่ยงที่ตัวชมพู่เองได้เห็นด้วยตาตั้งแต่จําความได้ ตัวเธอตั้งแต่ยังเด็กก็ได้ไปไร่ไปนากับพ่อเม่แล้ว ไร่นาของชาวกะเหรี่ยงเมื่อก่อนจะเหมือนกับเนินทุ่งข้าวทีจะแซมไปด้วยใบหญ้า และต้นหนาม ในทุกเช้าขณะที่พ่อแม่ของเธอกําลังรดน้ําต้นข้าวตัวชมพู่เองจะรับหน้าที่ถางหญ้า กําจัดวัชพืชต่างๆ และพอสายๆก็จะกลับบ้านกันไปพักผ่อนบ้างหรือทํางานบ้านบ้าง หรือในวันที่เธอต้องไปโรงเรียน ผู้เป็นแม่ของเธอก็จะตระเตรียมชุดนักเรียนและอาหารมื้อกลางวันไว้ให้เธอไปเรียน ชมพู่บอกว่าแม่ของเธอจะรับหน้าที่ทุกอย่างในบ้าน ทั้งงานบ้านงานเรือนและงานข้างนอกบ้าน และยังเป็นคนที่พลังงานเหลือล้นไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแถมยังใจดีอีกต่างหาก กิจวัตรประจําวันของชมพู่เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งชมพู่ในวัย10ขวบ พ่อของเธอเป็นคนแรกในหมู่บ้านที่ได้นํา กะหล่ำ และฟักทองมาปลูก ทําให้รายได้ของครอบครัวเธอสูงขึ้น หลังจากนั้นไม่นานคนในหมู่บ้านก็เริ่มนําไปปลูกบ้าง จึงเกิดการแข่งขันขึ้น พื้นที่ในการปลูกเริ่มมีมากขึ้น ถ้าปัจจุบันได้มีโอกาสไปชุมชนชาวกะเหรี่ยงของชมพู่ในฤดูร้อนซึ่งเป็นฤดูของการเตรียมพื้นที่เพื่อทําเกษตร จะได้เห็นภูเขาตลอด2ฝั่งข้างทางเต็มไปด้วยเขม่าควันไฟ และมีบางส่วนที่ถูกเผาจนกลายเป็นเขาหัวโล้นที่ทั้งลูกเป็นสีดําถ่าน
“เขาเผาที่บนดอยกัน จะได้มีที่ปลูกในหน้าฝน”
คือคําตอบของชมพู่เมื่อถามถึงเหตุผลของการเผานี้นอกจากนี้การเผายังทําให้เพิ่มผลผลิตเช่นเห็ดเผาะ ที่จะงอกในฤดูฝนโดยเฉพาะบริเวณที่มีการเผาเกิดขึ้น ซึ่งเห็ดชนิดนี้มีราคาแพงมากถึง 350-400 บาทต่อลิตร และจะ ค่อยๆถูกลงถึง 100 บาทต่อลิตร ตามความแก่ของเห็ดที่เพิ่มขึ้น วิธีทําเกษตรใหม่นี้เพิ่มรายได้ให้ชาวกะเหรี่ยงอย่างมาก จากแต่เดิมมีรายได้เพียงหลักหมื่นต่อ 1 ฤดูกาลเก็บเกี่ยว กลายเป็นหลักแสนถึงเกือบหลักล้านต่อ 1 ฤดู การเก็บเกี่ยว ชมพู่ไม่รู้ถึงสาเหตุว่าเหตุใดพ่อของเธอคิดอะไรถึงริเริ่มเปลี่ยนพืชเกษตรจากแต่เดิมที่เป็นข้าวให้ เปลี่ยนเป็น กะหล่ำและฟักทอง แต่รู้เพียงว่าพ่อเธอทํางานนักมากในฤดูเก็บเกี่ยว ฤดูนี้พ่อของเธอจะตื่นนอนตั้งแต่ไก่ยังไม่ขัน เพื่อไปเก็บเกี่ยวผลผลิตและขนทั้งหมดใส่ไว้หลังกระบะรถยนต์คู่ใจ หลังจากใช้เวลาเก็บเกี่ยวตลอดทั้งวัน ในตอนเย็นพ่อของเธอก็จะนําผลผลิตเหล่านั้นไปขายด้วยตนเอง ที่ตลาดเมืองใหม่ ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านราวๆ350กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางตลอด4ชั่วโมง เพื่อนําไปขายให้ทันในเวลา ตลาดเปิดในเวลาตี1-ตี3 พอขายหมดก็จะเดินทางกลับ ความขยันของพ่อชมพู่นั้นเป็นแรงผลักดันว่าซักวันเธอจะทําให้พ่อและแม่ของเธอสุขสบายขึ้น เพราะเธอจะทําหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวเอง
ในปัจจุบัน เป็นปีการศึกษาสุดท้ายของเธอในฐานะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหามงกุฏราชวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเธอกําลังกังวลว่าใบปริญญาใบนี้ที่เธอกําลังจะได้รับจะเพียงพอให้เธอได้ประกอบอาชีพที่จะเลี้ยงครอบครัวได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม เธอจะไม่ย่อท้อ และพร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตของเธอให้เติบโตได้ในซักวัน
ถึงแม้ว่าชาวกะเหรี่ยงนั้นจะเป็นชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาก็พยายามที่จะช่วงชิงพื้นที่ทางสังคมให้ได้มากที่สุด และยังต้องการจะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาวเมืองทุกคน เพื่อให้ทุกคนได้ยอมรับพวกเขาในฐานะคนกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ได้ผิดแผกไปจากผู้อื่นแต่อย่างใด เช่นเดียวกับบุตรสาวชาวกะเหรี่ยงทั้ง 2 ที่พวกเธอนั้นสามารถใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายต่อไปภายในชุมชนกะเหรี่ยงได้ แต่พวกเธอกลับออกมาดิ้นรนสู้ชีวิตเพียงลําพังในตัวเมือง เพียงเพราะต้องการโอกาสที่ยกระดับชีวิตของตัวเธอและครอบครัวให้สุขสบายขึ้น และต้องการเปลี่ยนภาพจําที่ใครหลายคนมักมองชาวกะเหรี่ยงในแง่ลบ ให้เป็นกลุ่มคนหนึ่งที่เป็นมิตร ทํางานอย่างไม่รู้จัดเหน็ดเหนื่อย และยังสู้งานขยันขันแข็งอีกด้วย