‘MRN’ จัดเวทีแนะแนวทางทบทวนกฎหมายคุ้มครองผู้ลี้ภัยเมียนมา แนะรัฐรับรองนิยามสถานะ-ช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา

ภาพ: MRN

เนื่องในโอกาสวันผู้ลี้ภัยสากล 20 มิถุนายน เครือข่ายเพื่อผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาหรือ Myanmar Response Network (MRN) องค์กรที่รวมตัวกันของ 7 องค์กรเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในประเทศไทย จัดงานการนำเสนอรายงาน “การทบทวนกฎหมายและนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่จากประเทศเมียนมา” (Report on Thai Legislation and Policies Review Relating to New Arrivals from Myanmar) ณ โรงแรมวัฒนาวิลเลจ รีสอร์ท (Wattana Village Resort) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 เวลา 08.30-14.00 น. ที่ผ่านมา

งานในครั้งนี้มุ่งหวังระลึกถึงวันผู้ลี้ภัยสากล (World Refugees Day) นำเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์กฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา  และเปิดพื้นที่สำหรับการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในประเทศไทย โดยภายในงานมีการแสดงลำตัดพม่า (ตันชัท) โดยนักเรียนจากเครือข่าย Children on the Move Network ของ Rights Beyond Border (RBB) การนำเสนอรายงานการทบทวนกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ดำเนินการโดยเครือข่าย MRN โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และคุณกรกนก วัฒนภูมิ นักกฎหมายอิสระ การจัดแสดงนิทรรศการภาพวาดเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัย การอ่านบทกวี: ฤดูกาล การเขียนโปสการ์ดเพื่อส่งเสียงเรียกร้องจากชายแดนถึงรัฐบาลไทย และการรับประทานอาหารร่วมกัน

เวลา 09.00-09.15 นงลักษณ์ แก้วโภคา จากเสมสิกขาลัย และสมาชิกของ MRN Network ผู้แทน MRN กล่าวต้อนรับและแนะนำเครือข่ายก่อนเข้าสู่กิจกรรมต่าง ๆ โดยอธิบายถึงที่มาที่ไปของ MRN ว่าก่อตั้งขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์การรัฐประหารในเมียนมาปี 2564 โดยองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ มารวมตัวกันเพื่อมุ่งช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร นงลักษณ์กล่าวว่า MRN มุ่งหวัง ที่จะช่วยเหลือและปกป้องผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่เข้ามาใหม่ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา MRN มุ่งเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian aid) ปัจจุบัน MRN มุ่งเน้นไปที่การให้ความคุ้มครองด้านสิทธิและกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่ ทั้งนี้ เป้าหมายของ MRN ที่จะมุ่งเน้นต่อไปคือ การให้ความสำคัญถึงการรณรงค์และการนำเสนอเชิงนโยบายให้แก่รัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนที่ MRN ได้ร่วมมือกัน เพื่อที่จะพยายามผลักดันนโยบายให้เอื้อต่อการเปิดรับผู้ลี้ภัยและมีการจัดการที่ซึ่งเป็นไปอย่างเหมาะสม

เครือข่าย MRN ประกอบไปด้วยองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรภาคเอกชนของไทย 7 องค์กร ได้แก่ Asylum Access Thailand (AAT) Burma Concern (BC) Human Rights and Development Foundation (HRDF) Jesuit Refugee Service (JRS) Refugee Rights Litigation Project (RRLP) Rights Beyond Border (RBB) และ Spirit in Education Movement (SEM)

กิจกรรมในช่วงแรกเวลา 09.15-10.00 น. เริ่มต้นด้วยการแสดงลำตัดพม่า (ตันชัท) โดยนักเรียนจากเครือข่าย Children on the Move Network ของ Rights Beyond Border (RBB)  เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ปัญหา และอุปสรรคที่ต้องประสบพบเจอภายหลังการอพยพย้ายถิ่นฐานหรือลี้ภัยมายังประเทศไทย ทั้งในเรื่องของการขาดโอกาสหรือสิทธิพื้นฐานในด้านต่าง ๆ และการเรียกร้องถึงความยุติธรรม สันติภาพ การไม่แบ่งแยกทางเชื้อชาติ รวมถึงความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน

ต่อมาเวลา 10.00-12.00 น. ภายในงานมีการนำเสนอรายงานการทบทวนกฎหมายและนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่จากประเทศเมียนมา จัดทำโดยเครือข่าย MRN เมื่อพฤศจิกายน 2566 รายงานฉบับนี้ นำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง รวมถึงคณะกรรมาธิการความมั่นคงและยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อมุ่งหาแนวทางทบทวนและแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์การลี้ภัยปัจจุบัน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และคุณกรกนก วัฒนภูมิ นักกฎหมายอิสระ เป็นผู้ร่วมนำเสนอ ทั้งนี้ สาระสำคัญจากรายงานจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังต่อไปนี้

ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย: บททบทวน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เริ่มต้นกล่าวถึงข้อค้นพบจากการทบทวนกฎหมายและนโยบายของประเทศไทยเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเมียนมา โดยระบุว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยยอมรับในข้อเท็จจริงหรือการมีอยู่ของ “ความกลัวอันมีมูลอันจะกล่าวอ้างว่าจะได้รับการประหัตประหาร“ (well-founded fear of prosecution) ลักษณะต่าง ๆ ของผู้ลี้ภัยที่ปรากฎตัวในประเทศไทย แต่ปฏิเสธที่จะให้นิยามความหมายของคำว่า ผู้ลี้ภัย (Refugee) โดยเลี่ยงไปใช้ถ้อยคำว่า ผู้อพยพ (Displaced person) ผู้หนีภัยความตาย (Death persecution) หรือผู้หนีภัยการสู้รบ ฯลฯ แทนโดยอ้างอิงถึงการมิได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 (Convention Relating to the Status of Refugees) และพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1967 (Protocal Relating to the Status of Refugee)

อย่างไรก็ดี แม้ว่าประเทศไทยไม่รับรองสถานะผู้ลี้ภัย ก็มิได้หมายความว่าจะไม่มีผู้ลี้ภัยปรากฏตัวในสังคมไทย ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลไทยดำเนินนโยบาย และสั่งสมประสบการณ์การบริหารจัดการผู้ลี้ภัยกลุ่มต่าง ๆ มานานนับตั้งแต่อดีต กล่าวโดยสรุปคือ รัฐบาลไทยมักดำเนินนโยบายต่อกลุ่มผู้ลี้ภัยในลักษณะนโยบายเป็นรายกลุ่ม ประกอบกับการให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมมาโดยตลอด อาทิ นโยบายสกัดกั้นและผลักดันในปี 2518 นโยบายเปิดประตูรับ (Open-door policy) และนโยบายกีดขวางอย่างมีมนุษยธรรม (Humane Deterrence) ในปี 2522 นโยบายการให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม (Humanitarian) ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา นโยบายเฉพาะกลุ่มสำหรับการปรากฏตัวของผู้ลี้ภัยที่อยู่ในเขตเมือง (Urban refugees) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรฮิงญาหรืออุยกูร์

ในแง่ของการจัดการผู้ลี้ภัย ดรุณีอธิบายว่า ประเทศไทยได้นำเอาหลักการในทางสากลที่เรียกว่า แนวทางเพื่อการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยตามมาตรฐานระหว่างประเทศที่ยั่งยืน (Durable Solution) มาดำเนินการ ประกอบด้วย 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. การให้ผู้ลี้ภัยกลับคืนถิ่นสู่ประเทศต้นทางโดยสมัครใจ (Voluntary Repatriation) 2. การไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม (Resettlement) และ 3. การตั้งถิ่นฐานในประเทศแรกรับหรือการยอมรับเข้าเป็นสมาชิกของสังคมไทย (Local Integration) ซึ่งแนวทางที่ 3 เป็นแนวทางที่รัฐบาลไม่ได้ประกาศใช้ อย่างไรก็ดี ดรุณีตั้งข้อสังเกตว่า ต่อให้รัฐบาลไม่ประกาศใช้แนวทางดังกล่าว ทว่า Local Integration ก็เป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากการออกเอกสารแสดงตนการจด-นับ การจัดทำบัตรประจำตัวและทะเบียนประวัติ (ทะเบียนคนอยู่) ในอดีตให้แก่ผู้หนีภัยประหัตประหารด้วยเหตุต่าง ๆ ครอบครัวของผู้หนีภัยประหัตประหาร รวมถึงกลุ่มคลื่นผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรืออาศัยในพื้นที่สู้รบ ฯลฯ ผ่าน “บัตรสี 19 กลุ่ม” โดยกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 6 สำหรับกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาในไทย และเลข 7 สำหรับกลุ่มบุตรที่เกิดในประเทศไทย เพื่อบริหารจัดการผู้ลี้ภัย การทราบจำนวน และเพื่อการควบคุมกำกับมิให้ผู้ลี้ภัยออกนอกพื้นที่ควบคุม ศูนย์รับอพยพ และพื้นที่พักพิงชั่วคราว ในเวลาต่อมาผู้ถือเอกสารแสดงตนกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ถูกนิยามใหม่ว่าเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ หรือที่สังคมรู้จักกันในชื่อ “คนไร้รัฐไร้สัญชาติ” (Stateless person) และบัตรแสดงตนถูกปรับให้เป็น “บัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย” (Registered Stateless) ซึ่งมีจำนวน 22 กลุ่มย่อย อีกกลุ่มที่มีการดำเนินการออกเอกสารแสดงตนให้คือ ผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งตามชายแดนไทยพม่า

ถัดมาในวันที่ 21 มกราคม 2562 ประเทศไทยเองก็ได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจเรื่องการกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กในสถานกักกันตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ (MoU on Alternative to Detention) ซึ่งเป็นการยอมรับให้มีมาตรการทางเลือกแทนการกักตัวกรณีแม่และเด็ก อาจกล่าวได้ว่าสิ่งนี้จึงถือเป็นหมุดหมายก้าวสำคัญของการดำเนินการต่อผู้ลี้ภัย (รวมถึงคนเข้าเมืองไม่ถูกต้องกลุ่มอื่น ๆ) 3 ธันวาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ คำมั่นที่รัฐบาลแถลงต่อประชาคมระหว่างประเทศในที่ประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก (Global Refugee Forum) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 16-18 ธันวาคม 2562 ใน 8 ประเด็นสำคัญ โดยหนึ่งในนั้นคือ การที่ประเทศไทยจะต้องให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ทั้งนี้ ดรุณีกล่าวว่า อีกกลไกหนึ่งที่น่าสนใจคือ  กลไกระดับชาติเพื่อการคัดกรอง “ผู้มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจจะได้รับอันตรายจากภัยประหัตประหาร” ผ่านการประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 (National Screening Mechanism: NSM)

ทั้งนี้ ในส่วนประเด็นของสถานะบุคคลตามกฎหมายที่ผู้ลี้ภัยกำลังเผชิญในปัจจุบัน ดรุณีกล่าวว่า ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า รัฐไทยไม่ยอมรับการมีอยู่ของผู้ลี้ภัย โดยอ้างอิงถึงอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย 1951 และพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย 1967 “ทั้งที่จริงเขาก็มีคุณสมบัติคล้ายผู้ลี้ภัยทุกประการ” รวมถึงใช้ “สถานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย” ในการอธิบายถึงผู้คนที่หนีภัยประหัตประหารฯ กลุ่มต่าง ๆ  การอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยอยู่ในศูนย์รับอพยพในพื้นที่ควบคุมในจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ก็มิได้หมายความว่า ผู้ลี้ภัยมีสิทธิที่จะอาศัย (right to reside) อยู่ในประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลมิได้ใช้อำนาจตามกฎหมายเป็นแค่การผ่อนปรนตามหลักมนุษยธรรมแต่เพียงเท่านั้น

ในแง่ของประเด็นการคุ้มครองสิทธิ ดรุณีเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างมีความก้าวหน้าในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิในหลาย ๆ เรื่องเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ดรุณีเสริมว่า กฎหมายที่อยู่ในหนังสือ (Law in book) กับกฎหมายในความเป็นจริง (Law in action) นั้นอาจจะเป็นคนละเรื่องกัน ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายและนโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All: EFA) ในปี 2548 Right to be recognition ปี 2551 Non Refoulement (พรบ.อุ้มหายฯ ม.13) Right to public health ปี 2544, 2553 Universal Health Coverage (UHC) Public health insurance Access to justice Right to bail

ด้านการทำงาน ดรุณีกล่าวว่า กฎหมายในประเทศไทยนั้นมีช่องทางเปิดไว้เป็นจำนวนมาก กลุ่มคนต่าง ๆ ที่เข้ามาสามารถที่จะทำงานได้ โดยอ้างอิงจากกฎหมาย

“ถ้าเกิดคุณถูกจับแล้วก็อยู่ในห้องกักที่ตม.จริง ๆ แล้วคุณสามารถออกมาทำงานได้ด้วยซ้ำถ้าคุณได้รับการประกันตัว เรามีกฎหมายที่เขียนรอไว้แล้ว เพียงแต่ว่ามันยังไม่มีการเอามาใช้งานอย่างจริงจัง กฎหมายเขียนไว้แล้วว่า เขาสามารถทำงานได้ โดยที่รัฐบาลไปกำหนดสิว่าอยากให้ทำงานอะไร จะให้ทำงานรับจ้าง งานตามฤดูกาล สามารถกำหนดได้ บอกได้เลยว่าให้อยู่ตรงไหน อำเภอนั้น อำเภอนี้ เท่านั้นก็ยังได้ เพราะฉะนั้นกฎหมายมันมีแล้ว แต่ว่ามันยังไม่ถูกหยิบยกมาใช้”

จากการศึกษาทบทวนกฎหมายและนโยบาย คุณดรุณีพบว่า ประเทศไทยไม่มีกฎหมาย หลักการ หรือคำนิยามที่ชัดเจนเกี่ยวกับ “ผู้ลี้ภัย” โดยตรง อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ประเทศไทยและรัฐบาลไทยก็ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในแง่มนุษยธรรมหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะผู้ที่หนีภัยความตายจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา อย่างไรก็ตาม สิทธิเหล่านี้ขึ้นอยู่กับประกาศของคณะรัฐมนตรี และยังไม่มีกรอบกฎหมายที่ชัดเจน จากข้อมูลนี้ จึงอาจสามารถสรุปได้ว่า ประเทศไทยมีแนวทางปฏิบัติที่ยืดหยุ่นต่อผู้ลี้ภัย แต่ยังขาดระบบที่เป็นทางการและเป็นระบบ

“อันนี้ก็จะเอามาเป็นข้อค้นพบในเบื้องต้นนะคะว่า ดิฉันกับคุณกรกนกพอเราไปดูกฎหมาย ดูนโยบายของประเทศไทย เราก็เห็นแล้วว่า ประเทศไทยไม่ยอมรับในเชิงนิยามหรือเชิงหลักการว่ามีผู้ลี้ภัย แต่ประเทศมองเห็นว่ามันมีคนที่หนีความตายเข้ามาจริง ๆ แล้วก็การดูแลให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ทั้งหมดนี้โดยหลักแล้ว ถ้ามีเด็กก็สามารถเรียนหนังสือได้ ถ้าเกิดมีเด็กเกิดภายในประเทศไทยก็สามารถจดทะเบียนการเกิดมีสูติบัตรได้ ถ้ามีเอกสารแล้วไปโรงพยาบาลก็มีหลักประกันสุขภาพไม่ต้องเสียเงิน ทำงานก็ทำงานได้ เพียงแต่ว่าอยากให้คณะรัฐมนตรีประกาศว่า อยากให้พวกเราทำงานอะไร จริง ๆ แล้วสามารถกำหนดได้เลย มันมีช่องทาง เพียงแต่ว่ายังไม่ใช้”

ถัดมาดรุณีได้กล่าวถึง ประเด็นสถานการณ์ผู้หนีภัยความไม่สงบในประเทศเมียนมากลุ่มใหม่ (ผภ.สม.) ซึ่งสามารถแบ่งคนกลุ่มนี้ออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มคลื่นผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ โจมตี ระหว่างรัฐบาลทหารกับกองกำลังกลุ่มต่าง ๆ และ 2.  กลุ่มที่หนีภัยประหัตประหารด้วยความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ต่อต้านรัฐบาลทหาร

กลุ่มแรกคือ กลุ่มคลื่นผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ โจมตี ระหว่างรัฐบาลทหารกับกองกำลังกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารกับกองกำลังติดอาวุธในประเทศเพื่อนบ้าน มักเข้ามาพักพิงในประเทศไทยชั่วคราว รอจนกว่าสถานการณ์จะสงบลงจึงกลับไป ดรุณีกล่าวว่า ประเทศไทยให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมแก่กลุ่มผู้ลี้ภัยเหล่านี้ อย่างไรก็ดี ดรุณีกล่าวว่า ปัญหาหลักของการดำเนินการต่อผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าวคือ การประเมินสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ทางการทหาร ที่อาจรีบสรุปว่าสถานการณ์สงบเร็วเกินไป ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยกลับไปยังพื้นที่ที่จากมาก่อนกำหนด ทำให้เกิดอันตรายจากการสู้รบที่ยังไม่สิ้นสุด อีกทั้งการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่ทหารที่ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมหรือชุมชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม ส่งผลต่อประสิทธิภาพการช่วยเหลือและการขาดการกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึง

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่หนีภัยประหัตประหารด้วยความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ต่อต้านรัฐบาลทหาร ซึ่งอาจจะเป็นคนสัญชาติไทย หรือคนต่างด้าวที่มีเชื้อสายไทย หรือเชื้อสายต่างด้าว

ช่องว่างและข้อถกเถียง

ดรุณีได้มีการกล่าวถึง ช่องว่างและข้อถกเถียง ภายหลังจากการทบทวนกฎหมายนโยบายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ซึ่งสามารถสรุปออกมาได้เป็น 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรกคือ การไม่มีการจดหรือการจัดทำเอกสารให้ผู้ลี้ภัย แม้ว่ากฎหมายจะเปิดช่องให้ทำก็ตาม ซึ่งดรุณียืนยันว่า หน่วยงานรัฐสามารถมีนโยบายจัดทำเอกสารให้กับคนกลุ่มเหล่านี้ได้ ดรณีกล่าวต่อว่า ในส่วนของคำถามหรือข้อสงสัยในแง่ที่ว่า ‘แล้วทำไมจึงต้องมีเอกสารให้แก่ผู้ลี้ภัย’ ดรุณีอธิบายว่า แท้ที่จริงหาก มองในแง่มุมของหน่วยงานรัฐ เอกสารหลักฐานสามารถใช้เป็นสิ่งที่นับจำนวนของผู้ลี้ภัยได้ ซึ่งก็จะเป็นข้อมูลในเชิงการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ การมีเอกสารยังเอื้อต่อการเข้าถึงสิทธิอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น อาทิ การไปแสดงตัวที่โรงพยาบาล การเข้าถึงสิทธิการศึกษาของเด็กและเยาวชนที่เป็นลูกหลานของผู้ลี้ภัย เป็นต้น

ประเด็นที่สองคือ กฎหมายคนเข้าเมืองถูกนำมาบังคับใช้ก่อนเสมอ โดยดรุณีกล่าวว่า กฎหมายคนเข้าเมืองนั้นมีมิติที่ค่อนข้างตื้นเขิน เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมองเพียงแค่ในเรื่องของสัญชาติและเอกสารหรือหนังสือเดินทางที่ติดตัวมา โดยมิได้มองถึงลักษณะที่แตกต่างหลากหลายของกลุ่มคนที่เข้ามาด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น การเข้ามาทำงาน การเข้ามาด้วยเหตุผลหนีสงคราม การหนีภัยการสู้รบ หรือการหนีการกวาดล้างของรัฐบาล ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นจุดอ่อนของกฎหมายคนเข้าเมืองที่มองไม่เห็นรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติม

ประเด็นสุดท้ายคือ ผู้ลี้ภัยบางกลุ่มไม่ถูกนับรวมในกระบวนการ NSM เนื่องจากข้อกังวลจากหน่วยงานความมั่นคงที่ว่า “ผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา โรฮีนจา อุยกูร์ และเกาหลีเหนือเป็นผู้หลบหนีเข้ากลุ่มที่มีปัญหาความมั่นคงเฉพาะ”

แนะรัฐรับรองนิยาม ถอดบทเรียนคลื่นผู้ลี้ภัย พัฒนา Irregular Migration

ทั้งนี้ ในส่วนของข้อเสนอแนะ กรกนก วัฒนภูมิ นักกฎหมายอิสระ ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการจัดการผู้ลี้ภัยเมียนมากลุ่มใหม่ไว้ 2 กรณี คือ 1. ในกรณีคลื่นผู้อพยพลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากการประหัตประหาร การสู้รบ และ/หรืออยู่ในพื้นที่สู้รบ ฯลฯ และ 2. กรณีผู้ลี้ภัยที่เป็นปัจเจกบุคคล (รวมถึงครอบครัว) รวมถึงการพัฒนาระบบการจัดการและคุ้มครองผู้ลี้ภัย

กรณีแรกคือ กรณีคลื่นผู้อพยพลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากการประหัตประหาร การสู้รบ และ/หรืออยู่ในพื้นที่สู้รบ ฯลฯ กรกนกเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมโดย “เปิดทาง” ให้คนในพื้นที่ อันประกอบด้วยภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน ชุมชน นักธุรกิจ ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ ร่วมให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร ยา สาธารณูปโภคที่จำเป็น การจัดการควบคุมดูแลพื้นที่ปลอดภัยและสะอาดให้กลุ่มผู้ลี้ภัย การจัดปัจจัยพื้นฐานให้เพียงพอต่อความต้องการของกลุ่มผู้ลี้ภัย การประเมินอย่างรอบด้านในการส่งผู้ลี้ภัยกลับ รวมถึงการถอดบทเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้

กรณีที่สองคือ กรณีผู้ลี้ภัยที่เป็นปัจเจกบุคคล (รวมถึงครอบครัว) รวมถึงการพัฒนาระบบการจัดการและคุ้มครองผู้ลี้ภัย โดยในแง่ของการคุ้มครอง กรกนกเสนอให้รัฐบาลไทยรับรองนิยามของผู้ลี้ภัย หรือบุคคลที่มี “ความกลัวอันมีมูลอันจะกล่าวอ้างว่าจะได้รับการประหัตประหาร” รวมถึงสร้างความรับรู้เข้าใจต่อนิยามความหมายของผู้ลี้ภัย การจัดทำเอกสารให้ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ผ่าน 2 แนวทางคือ 1. การจัดทำเอกสาร โดยเริ่มจากการอนุญาตให้อยู่ชั่วคราว อาศัยออกเป็นมติครม. ตามมาตรา 17 พรบ.คนเข้าเมืองฯ กำหนดสถานะการอยู่ และการใช้กฎหมายทะเบียนราษฎรในการจัดทำเอกสาร และ 2. การออกกฎกระทรวง เพื่อให้เกิดช่องทางการอนุญาตให้อยู่ในประเทศ “ด้วยเหตุจำเป็นจากภัยประหัตประหาร” หรือ Protection Visa (พรบ.คนเข้าเมืองฯ มาตรา 34 และ 35) การปรับปรุง NSM และการพัฒนาในเชิงระบบผ่านการจัดการ Irregular Migration อย่างเป็นระบบ

จากรายงานการทบทวน พบว่า กฎหมายและนโยบายที่มีอยู่ของไทยยังไม่เพียงพอที่จะรองรับและคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากลุ่มใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามาหลังการรัฐประหาร ส่งผลให้พวกเขาต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล และการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

งานครั้งนี้จึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดการทบทวนกฎหมายและนโยบายเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจต่อสถานการณ์ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในสังคมไทย และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานการทบทวนกฎหมายและนโยบายฉบับเต็ม ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://asylumaccess.org/quotes-from-law-review-launch/

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพวาดเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัย การอ่านบทกวี “ฤดูกาล” การเขียนโปสการ์ดเพื่อส่งเสียงเรียกร้องจากชายแดนถึงรัฐบาลไทย และการรับประทานอาหารร่วมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง