ไผบ่ม่วน ฮาม่วน: “ความไม่เข้ากัน แต่ว่าดันเข้ากันได้ คือจุดที่ pOd มันเป็นอยู่” ‘pOd’ ส่งเพลงใหม่ ‘เรื่องราวกับใครคนหนึ่ง’ มาชวนฟัง ก่อนวันซบเซาจะจางไป

เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม

ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

จากซ้ายไปขวา เมฆ-พศวัต เปี้ยปลูก, ไนซ์-ภาสกร ประกอบแก้ว, ติมอร์-พีรเดช เอี่ยมสอาด, เปตอง-สหภัทร์ ทิพยรุ่งเรืองกาล,  อาธาน-ธารณ์ธาริต สุดเอี่ยม และเม๋า-พงศาวดาร แสงสว่างพิพัฒน์

pOd ถือเป็นวงดนตรี Alternative indie, Dream pop เบอร์ล่าสุดจากค่าย Minimal Records เกินกว่าครึ่งของสมาชิกในวงเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย ไม่แปลกที่ความร่าเริง คึกคักและความสดใหม่ยังรายล้อมสมาชิกทั้ง 6 อยู่ ทั้ง ติมอร์-พีรเดช เอี่ยมสอาด ร้องนำ, เมฆ-พศวัต เปี้ยปลูก กีตาร์, ไนซ์-ภาสกร ประกอบแก้ว เบส, เปตอง-สหภัทร์ ทิพยรุ่งเรืองกาล กลอง, อาธาน-ธารณ์ธาริต สุดเอี่ยม คีย์บอร์ด และ เม๋า-พงศาวดาร แสงสว่างพิพัฒน์ กีตาร์

หากแปลความหมายของชื่อวงอย่างตรงไปตรงมา pOd คือชื่อของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งวงได้อธิบายความหมายไว้อย่างน่าสนใจว่า “บุหรี่ไฟฟ้ามันมีหลายกลิ่นที่แตกต่างกันออกไป เหมือนกับวง ที่จะเปลี่ยนกลิ่น เปลี่ยนรส ไปได้เรื่อย ๆ ในแต่ละเพลง ตามแต่ความรู้สึกที่อุดมอยู่ในเพลง”

เราใช้เวลาคุยกันสั้น ๆ ในเวลาเย็นย่ำค่ำของวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 ก่อนที่อีกไม่ถึงสัปดาห์ เรื่องราวกับใครคนหนึ่ง เพลงใหม่ล่าสุดของ pOd จะได้ถูกปล่อยให้ได้ฟังกันแบบเต็ม ๆ

มารวมตัวกันได้ยังไง?

ติมอร์: ผมเริ่มมากับเมฆ เราเป็นเพื่อนกันตั้งแต่มัธยมที่ลำปางแล้วครับ แต่ว่าไม่สนิทกันเลย แทบไม่เคยคุยไม่รู้จักกันเลย จนมาเรียนมหา’ลัย เพื่อนแนะนำว่า ไอ้นี่(เมฆ) เล่นกีตาร์เก่ง เราลองมารวมตัวกันไหม มันก็ชอบทำเพลง เราก็ชอบทำเพลง แปลกดีรู้จักกันมาตั้งนานเพิ่งได้มาคุยกัน แถมถูกคอซะด้วย

คราวนี้เหมือนไป ๆ มา ๆ ก็พอไปด้วยกันได้ ความที่มันเป็นหัวของคนสองคน มันอาจจะมีเรื่องตีกันน้อย(ฮา) เมฆเลยบอกผมว่าอยากได้ความเป็นวงมากกว่านี้ ไม่อยากเป็นดูโอ้ ทำวงดนตรีมันต้องเป็นวงดิวะ ผมก็ชอบเหมือนกัน ลองนึกภาพเวลาเราไปเล่นสดแล้วมีครบทุกคนไปเลย ให้แต่ละชิ้นมันเป็นตัวของมันไปเลยมันโคตรดีนะ เลยชวน เม๋ากับอาธาน ที่เป็นเพื่อนคณะ (คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) แล้วก็ชวนเปตองกับไนซ์ ที่อยู่ต่างคณะ (วิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์) มาฟอร์มวงด้วยกัน

แสดงว่าชอบอะไรเหมือน ๆ กัน โดยเฉพาะดนตรี?

เปตอง: ไม่เลยครับ เพราะแต่ละคนมีแนวเพลง ความชอบ ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่ว่าแนวที่เราทำเป็นเหมือนจุดร่วมกันมากกว่า ที่แต่ละคนมีพื้นฐานหรือฟังเพลงแนวนี้เหมือนกัน เลยเอาจุดร่วมตรงนี้มาเป็นตัวกลางในการทำงานต่อไป อย่าง Alternative นี่แหละที่มันอยู่ตรงกลาง

เมฆ: คือพวกเรามีความชอบแต่ละอย่างที่ไม่เหมือนกัน แต่พวกเราเอาความชอบของแต่ละคนมา Merge รวมกัน แล้วออกมาเป็นผลงานหนึ่งชิ้น ซึ่งหาความเข้ากันให้ได้ในแต่ละเเนวที่เราชอบแล้วมารวมกันครับ

ติมอร์: “ความไม่เข้ากัน แต่ว่าดันเข้ากันได้ นี่คือจุดที่วง pOd มันเป็นอยู่” เกริ่นก่อนครับว่า ช่วงแรกวงมันมีแนวเพลงอื่นมาผสมด้วย เพราะว่าด้วยความที่วงมันเริ่มมาเป็น Step คือ Step แรกเราอาจจะทำเบา ๆ ก่อน พอคนเราเยอะปุ๊บ ก็เริ่มมีความคิดมีหัวหลายหัวมารวมกัน พอ Step สุดท้ายเราก็เริ่มรู้สึกว่าเราอยากปล่อยจอย ก็ดึงเอาความสามารถของแต่ละคนมาใช้รวมกัน

“มันก็เหมือนแกงโฮะ มันรวมกันได้อย่างไรก็ไม่รู้ แล้วมันเสือกอร่อย”

ก่อนจะเข้า Minimal Records เป็นยังไงบ้าง

ติมอร์: ตอนนั้นอายุวงประมาณ 1 ปีกว่า ๆ เราเริ่มทำตอนประมาณต้นปี 2565 นี่เอง ถ้าตอนนี้โดยรวมทั้งหมดที่ปล่อยไป ก็ 11 เพลงนะก่อนจะเข้าค่าย ไม่รวม Demo ที่เก็บ ๆ ทิ้ง ๆ อีกเพียบ คือช่วงที่ผ่านมาเราลองผิดลองถูกกันเยอะมาก ช่วงทำกับเมฆ มันก็จะมีความหลงแนวเยอะ ก็ถือว่าเป็นช่วงลองผิดลองถูกด้วย อัพลง Youtube เราชอบทำเพลงกันมาก ทำเสร็จก็ปล่อยไปเรื่อย ๆ

แสดงว่าวัตถุดิบในการทำเพลงมันมีเยอะมาก?

ไนซ์: มันจะแบ่งเป็นพาร์ทเนื้อเพลงกับพาร์ทดนตรี พาร์ทเนื้อเพลงเรื่องในเพลงก็จะสลับ ๆ กันไป มีเรื่องของตัวเองใส่ลงไปบ้าง เรื่องของเพื่อนบ้าง

ติมอร์: คือถ้าผมคิดเพลงไม่ออก ก็จะไปถามคนที่เขาทุกข์ใจในช่วงนั้นให้เขาลองเล่าให้ฟัง เพื่อให้เราเข้าถึงเขาจริง ๆ แล้วนำมาเขียนเป็นเพลง

เปตอง: อย่างเพลงจากไปไม่ยอมคืน เป็นเรื่องของผมเอง คือคนที่บ้านสูญเสียเลยนำมาเล่าให้พี่ติมอร์เขาฟังแล้วก็แต่งออกมา

อาธาน: แล้วก็จะมีเพลงหายไปจากวงโคจร เป็นเพลงดังของวงเลยนะ เป็นเรื่องของตัวผมเอง เราเป็นเหมือนวงปรับทุกข์กับเพื่อน เล่าให้ฟังและกลายเป็นเพลงอย่างงี้ครับ

ระห่ำทำเพลงกันขนาดนี้ ผลตอบรับเป็นยังไง

เมฆ: เราเคยสำรวจซึ่งฐานคนฟังก็จะกระจัดกระจายมาก ส่วนมากเป็นคนกรุงเทพฯ ภาคกลาง แต่ที่เชียงใหม่จะน้อยมาก ต้องพูดตามตรงว่าเป็นอันดับสองก็จริงแต่ก็ห่างกันมาก แบบว่า 40–50% เลย คือช่วงที่ได้ไปทัวร์ที่กรุงเทพฯ ได้ไปทั้งงานที่เข้าฟรีกับงานที่ต้องเสียเงินเพื่อมาดูวงเรา ประทับใจมากเลยตอนที่ไปเล่นที่ Blueprint Livehouse เมื่อต้นปีนี้เอง คนกรุงเทพฯ มาตั้งใจมาดูเราจริง ๆ  มีคนมาขอถ่ายรูป มาคุยกับพวกเราด้วย เหมือนเขาอกหักเลิกกับแฟนแล้วมาฟังเพลงของพวกเรา เราเลยรู้สึกชื่นใจเลยที่ผลงานของเราส่งความรู้สึกอยู่ประกอบชีวิตเขาในช่วงเวลาหนึ่ง

ติมอร์: เขาเล่าให้ฟังว่า เพลงมันตรงกับเหตุการณ์ที่เขาเจอ  เราก็รู้สึกว่ามาเล่นที่ต่างถิ่นก็ยังมีคนที่รู้จักเรา ติดตามเรา เราดีใจมาก  ตอนนั้นแค่แฟนคลับคนเดียวก็มีความสุขแล้ว มาไม่เสียเปล่า มันหายเหนื่อยทันที อีกอย่างเล่นที่ Blueprint เป็นงานขายบัตร  เราเลยชื่นใจมาก เพราะเขายอมเสียเงินมาดูเลยนะ ทั้ง ๆ ที่วงเราอาจไม่ได้แมสขนาดนั้น ถึงแม้เป็นคนเดียวที่ตรงนั้น  แต่มาด้วยความเต็มใจ มันก็เลยสุดยอดแล้วยังตั้งใจมาดูเราวงเดียวด้วย คือเขาเลิกงานมาดูเราดูเสร็จคือกลับเลยเพราะเราเป็นวงเล่นเปิดวงแรก (ยิ้ม)

ไนซ์: คืนนั้นเรามีเพลงเท่าไหร่เราใส่กันหมดเลยครับ 8-9 เพลง คือเล่นเกือบทุกเพลงที่มีอยู่ตอนนั้นเลย

แล้วเชียงใหม่ล่ะ เป็นยังไง

เมฆ: เรามีโชว์แค่งานที่ค่ายไปจัดกับแต่ละร้านนะ อาจจะเป็นเพราะเราเองก็เป็นวงใหม่ด้วยเลยยังไม่ค่อยมีงานจ้าง แต่จะเป็นงานที่ค่ายจัดร่วมกับร้านมากกว่า อย่างล่าสุดที่ผ่านมาก็ Minimal x Late Night (Late Night Talking Music Bar)

ติมอร์: จริง ๆ มันมีพื้นที่เยอะครับ เราสามารถไปคุยกับพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อขอเล่นได้ แต่อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือคนฟังครับ ยิ่งฐานคนฟังในพื้นที่ของเราก็น้อยอยู่แล้ว ทั้ง ๆ ที่เชียงใหม่ก็ดูเหมือนจะเป็นเมืองดนตรี แต่งานบางงานแทบนับนิ้วคนมาดูได้ อาจเพราะเรื่องเศรษฐกิจด้วยมั้งที่ทำให้คนไม่ออกมาฟังดนตรีกันด้วยมั้ง อันนี้ไม่ชัวร์เลย เหมือนความใคร่ในดนตรียังมีไม่พอ ยิ่งเป็นวงดนตรีท้องถิ่นอีกต่างหาก การสื่อสารน้อยกว่ามาก Streaming ก็เป็นตัวกำหนดด้วย การเข้าถึงหรือการเดินมาดูวงใหม่ ๆ เลยยากขึ้นไปอีก แต่มันก็ต้องสู้ต้องดิ้นรนกันต่อแหละ เรื่องพื้นที่นี่ผมว่ามีเยอะแล้ว สุดสะแนน, MUAN MORE SPACE, Chiangmai OriginaLive งี้

เพราะเป็นวงเล็ก ๆ ในต่างจังหวัดจึงเจ็บปวด? 

เปตอง: ด้วยความที่ค่าตัวมันไม่ได้สูงอยู่แล้ว แต่ค่าเครื่องบิน ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายแอบแฝงมันเยอะกว่าค่าตัว ผมว่ามันเลยเป็นเรื่องที่ผู้จัดคิดแล้วว่ามันไม่คุ้มที่ต้องเอาวงดนตรีวงเล็ก ๆ Engagement น้อย ไปเล่นแล้วต้องจ่ายแพง การจ้างงานเลยน้อยมาก ถ้าไม่ใช่วงต่างจังหวัดที่ชั่วโมงบินสูงอย่าง Srirajah Rockers หรือ Solitude Is Bliss นี่ยากเลย

เมฆ: อัตราการจ้างงานต่างจังหวัดของวงเล็ก ๆ มันน้อยมาก แต่ถ้ากลับกัน ถ้าในเชียงใหม่อยากจะจัดงาน แทนที่จะเอาวงเชียงใหม่เพื่อลดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียค่าที่พัก ค่าเดินทาง แต่เขากลับเอาวงที่อื่นที่มีชื่อเสียงมาเล่น อาจจะมองว่าวงดนตรีในพื้นที่มี Engagement ไม่พอที่จะดึงดูดลูกค้า เลยทำให้อัตราการจ้างงานของเราที่จะออกไปเล่นข้างนอกมันน้อย แต่พออยู่ข้างในก็ยิ่งน้อยอีก

ติมอร์: สมมติเราเป็น Organizer ในกรุงเทพฯ ก็คิดว่าเอาวงตรีในกรุงเทพฯ ที่มีฐานแฟนเพลงทั่วประเทศแถมเดินทางง่ายมันก็ดีกว่า สองอย่างนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการจ้างงานของศิลปินต่างจังหวัดที่เข้ามาเล่นในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดมันน้อย

แล้วเข้าไปค่ายเพลง Minimal Records ได้ยังไง

ติมอร์: ส่ง Demo ไปครับ ที่จริง ๆ ไม่ใช่ Demo นะ มันคือเพลงที่เราเคยปล่อยไปแล้วนั่นแหละ พูดตรง ๆ เลยว่า วงเราถึงจะเป็นวงที่ปล่อยเพลงเยอะ อาจจะมีฐานคนฟังที่ไม่ได้เยอะมาก แต่ไม่ได้มีทุนในการทำงานขนาดนั้น ก็เลยอยากหาพาร์ทเนอร์ บวกกับประสบการณ์ที่อยากจะมีค่ายมาช่วยสนับสนุนด้วย พวกเราตอนนั้น (ปี 2566) ก็ใกล้จะเรียนจบกันแล้ว เลยอยากลองเสี่ยงสักตั้งดู ไม่ต้องไปไกลมากเอาในเชียงใหม่นี่แหละ เลยส่งเพลงที่เคยปล่อยใน YouTube ช่องตัวเอง พี่เมธ (สุเมธ ยอดแก้ว หัวเรือใหย่ของค่าย Minimal Records) ก็ตอบกลับมาว่า น่าสนใจนะ แต่พี่มีการบ้านให้อย่างนึงคือไปขึ้นเพลงใหม่มา 5 เพลงภายในเวลา 1 เดือนกว่า ๆ ซึ่งขอเป็นมาสเตอร์พร้อมปล่อยเลย โจทย์ยากอยู่ แต่ก็ผ่านมาได้ครับ(ฮา)

เมฆ: จริง ๆ ตอนนั้นพี่เขาขออีก 1 เพลงให้เราส่งไป แต่พวกเราไม่ว่างทำ ด้วยความที่ช่วงนั้นงานของแต่ละคนเยอะเลยไม่ได้ทำ แล้วไม่รู้ว่าพี่แกสนใจพวกเรามากขนาดไหนแต่ก็เรียกพวกเราก็ไปคุย พอเวลาผ่านไป  ก็เรียกเรามาคุยอีกครั้งพร้อมซองสัญญาลองเอาไปอ่านดู”  มาถึงคือโยนแปะเลย พอผ่านไปสักพักใหญ่ ๆ เราก็มานั่งคุยกันว่า เราโอเคกันกับสัญญาแบบนี้ เงื่อนไขแบบนี้หรือเปล่า ซึ่งวงโอเคมาก ตัดสินใจไม่ยากครับเพราะตอนนั้นเราอยากเข้ากันอยู่แล้วด้วย

เข้าไปแล้วชีวิตเปลี่ยนไปเลยไหม

ติมอร์: มีคนรู้จักเพิ่มขึ้นครับ เพราะมันจะมีฐานแฟนเพลงจากค่ายด้วย  เราเป็นวงใหม่ก็อาจจะดึงดูดความสนใจได้บ้าง (มั้งนะ) ก็มีคนเข้ามาฟังเพลงเรา  ยอดวิวยอดฟอลก็เพิ่มขึ้น แต่แนวทางยังเหมือนเดิมนะครับ แต่กระบวนการ วิธีทำเพลงเปลี่ยนไป ปกติจะเป็นเมฆขึ้นเพลงมาก่อน แล้วตามด้วยแต่ละคนแล้วก็จบ พอเข้าค่ายก็ต้องมีระเบียบกันบ้างเนอะ เพราะต้องช่วยกันมากกว่าแค่ทำเพลงอย่างเดียว เช่น มีคนดูแลสื่อ ดูแลเรื่องประสานงาน มันเป็นรายละเอียดที่มีมากกว่าแค่ทำเพลงแล้ว คนที่ทำเพลงก็ยังทำเหมือนเดิม ค่ายเองก็จะ  Support ทั้งห้องอัด จัดการเรื่องหลังบ้านทั้งหมด ลง Streming แต่ที่ทำกับค่ายเพิ่งปล่อยไปได้ 1 เพลงนะครับ ชื่อเพลง ต่อให้โลกใบนี้ (afore vanish) ปล่อยให้ฟังไปเมื่อเดือนมีนาที่ผ่านมา และก็เพลงใหม่ล่าสุดนี่แหละครับที่ใกล้จะปล่อยแล้ว

เพลงชื่อว่าอะไร

เมฆ: เรื่องราวกับใครคนหนึ่ง ชื่อภาษาอังกฤษก็ Erstwhile พูดถึงเรื่องราวของคนทุกคนที่อาจจะต้องเจอสภาวะที่เราต้องสูญเสีย รู้สึกเสียใจ โศกเศร้า โดดเดี่ยว แต่ลึก ๆ แล้ว เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ถึงแม้จะจมดิ่งให้ตายแค่ไหน อย่าคิดว่าเราอยู่ตัวคนเดียว เรายังมีคนอื่นที่คอย Support ยังคอยโอบอุ้มเราอยู่ ซึ่งเราอาจไม่ได้มองเห็นเขา แต่เขามองเห็นเราเสมอ เขาก็จะเป็นคนที่มาทำให้เรารู้สึกดีขึ้นในสักวันวันนึงแล้วเราก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ ความหมายมันก็จะประมาณนี้

ติมอร์: ขยายความอีกนิด เพลงนี้พูดถึง 2 มุมมอง ครับ คือ 1.คนที่พร้อมที่จะซัพพอร์ตคนที่เขาเศร้า สูญเสียมาก ๆ ที่ต้องพบเจออะไรในชีวิตที่ยากลำบากมา 2.คนที่เขาไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป ซึ่งเขามองไม่เห็นใครเลยนอกจากตัวเขาเอง แต่ในท้ายสุดท้ายแล้วก็จะดีได้ต่อทั้ง 2 มุมมอง

ไนซ์: ที่พิเศษอีกอย่างคือเพลงนี้ได้คนที่เป็นตัวแทนมุมมองที่ 2 มาร้องด้วย เพราะติมอร์บอกว่าร้องคนเดียวไม่ได้ เพลงมันจะออกมาแค่มุมมองเดียวนะ ถ้าร้องคนเดียว ยังบอกไม่ได้ รอไปฟังวันปล่อยเพลง 24 กรกฎานี้ทุกช่องทางของ Minimal Records

ผู้สัมภาษณ์: แต่บทสัมภาษณ์นี้น่าจะปล่อยหลังเพลงออกนะ (ฮา)

เม๋า: มีพี่เตย วง Mary James มาร่วมร้องเป็นมุมมองที่ 2 ครับ

ติมอร์: ทำงานกับพี่เตยก็ง่ายมาก พี่เตยเป็นคนที่ร้องเพลงดีอยู่แล้ว แค่คุย Concept กันก็เข้าใจแล้ว สนุกมาก

เมฆ: คือโจทย์ของเพลงนี้มันยากนะ ตรงที่จะทำยังไงให้เพลงน่าสนใจ เราพยายามทำให้เพลงมี Dynamic ขึ้นลงจากเมื่อก่อนสมัยตอนที่ยังไม่อยู่ค่าย รู้สึกว่าเพลงมันค่อนข้างเป็นเส้นตรงแล้วก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนจบเพลง แต่ตอนนี้เราพยายามเพิ่มลูกเล่นให้มากขึ้น ให้ไม่น่าเบื่อ เพราะผมก็จะโดนคนใกล้ตัวบอกว่า เพลงอาจจะดูง่วงไปนะ เราทุกคนเลยพยายามเก็บ Feedback มาพัฒนาอยู่เสมอ ก็เป็นอีกก้าว ที่เป็นก้าวใหม่ที่เราก็คงจะต้องปรับกันไปเรื่อย ๆ

งั้นฝากผลงานเพลงใหม่กันหน่อย

ติมอร์: อยากให้เพลงนี้ถึงหูทุกคนครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เศร้า คนที่แอบชอบใคร อยากให้เพลงนี้มันทำงานไปเรื่อย ๆ ของมัน มันก็จะอยู่กับคนในทุกช่วงเวลาได้ แล้วก็ให้ทุกคนเอาเพลงนี้ไปตรงกับเรื่องราวอะไรของตัวเองก็ตาม แต่ขอให้เพลงนี้มันเป็นเพลงดีสำหรับทุกคน

อาธาน: อยากฝากเพลงนี้ถึงทุกคนด้วยครับ ลองไปฟังกันดู มีประโยคหนึ่งที่ผมชอบมานานแล้วอ่ะครับว่า “บทเพลงจะทำงานด้วยตัวของมันเอง” ถ้าเพลงนี้ได้ทำงานกับใครก็ดีใจด้วยความยินดีครับ หวังว่าสักจะได้ไปยืนร้องด้วยกันสักงานนะครับ อยากเล่น อยากเจอทุกคนมาก

ไนซ์: ฝากเพลงใหม่ของพวกเราในอ้อมอกอ้อมใจของทุกคนด้วยนะครับ

เม๋า: เข้าไปฟังกันเยอะ ๆ  ยิ่งฟังเยอะก็มีโอกาสได้เจอกันถ้าเพลงเรามันทำงานอยู่ทั่วประเทศ อย่างที่อาธานบอกแหละครับ อยากไปเล่นสด

เมฆ: ในเพลงนี้ก็พยายามอยากให้ได้กลิ่นใหม่ ๆ ของวง ตามชื่อวงเลย เพลงนี้ก็อาจจะเป็นอีกกลิ่นนึงที่แปลกใหม่มีพี่เตยมาช่วยเติมเต็ม ก็อาจจะได้อีก Texture ไปเลย ฝากเพลงด้วยครับ หวังว่าทุกคนจะชอบ ตั้งใจทำมากครับ

เปตอง: ขอฝากเพลงผลงานใหม่ของพวกเรา บริบทใหม่ ๆ ที่เล่าในสองมุมมองที่ผมคิดว่าตามชื่อเพลงเลยครับ เรื่องราวกับใครคนหนึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นได้กับทุกคนและต้องเกิดขึ้นสักวัน ซึ่งถ้ามันถึงวันนั้นก็อยากให้เพลงของเราคอยอยู่เคียงข้างเสมอครับ : )

ข่าวที่เกี่ยวข้อง