จากกรณีที่ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊ค เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ใจความว่าตนได้ไปรับประทานอาหารบริเวณถนนนิมมานเหมินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าย่านดังกล่าวซบเซาอย่างเห็นได้ชัด เจอห้องว่างและพื้นที่ว่างเป็นจำนวนมาก โดยเร่งให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ตามที่หาเสียงไว้
จากรายงานของ Lanner เชียงใหม่ไม่ได้ปราบแค่เซียน แต่ปราบทุกคน ที่ระบุถึงจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะของเมืองท่องเที่ยวที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยมีการนับโพสต์ปล่อยเซ้งร้านภายในกลุ่มเซ้งธุรกิจในเชียงใหม่ เซ้งร้านเชียงใหม่ เซ้งกิจการ ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม 2567 พบว่ามีจำนวนกว่า 194 ร้าน
จากกรณีที่ทัศนีย์ได้โพสต์ข้อความจึงทำให้ Lanner ขอกลับไปนับโพสต์กลุ่มเซ้งร้านในจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้มีการนับจำนวนจากทั้งหมด 3 กลุ่ม ด้วยกันคือ 1.กลุ่ม เซ้งธุรกิจในเชียงใหม่ เซ้งร้านเชียงใหม่ เซ้งกิจการ 2.เซ้งร้าน เซ้งล็อค เซ้งของ เช่าร้าน ทำเลขายของเชียงใหม่ (ห้ามแชร์ไลฟ์สด) 3.เช่า เซ้งร้าน เซ้งล็อค ทำเลขายของเชียงใหม่) ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม – 20 สิงหาคม 2567 พบว่ามีจำนวน 191 ร้าน ที่มีการปล่อยเซ้งกิจการของตนเอง และยังไม่นับรวมร้านที่เลิกกิจการ ทั้งยังไม่ได้สำรวจอีกจำนวนมาก
แม้ในเมืองเชียงใหม่ตามย่านสำคัญต่าง ๆ จะมีร้านค้า ธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมาแต่ไม่ได้หมายความว่าทุกร้านลวงจะสามารถดำรงอยู่ได้ในช่วงระยะเวลานี้ โดยร้านที่ปล่อยเซ้ง 191 ร้าน ส่วนสาเหตุที่ร้านเหล่านี้เซ้งร้านส่วนใหญ่ ให้สาเหตุภายในโพสต์ที่เซ้งร้านไว้ว่า พักผ่อนไม่เพียงพอสุขภาพแย่, มีธุรกิจเยอะเกินไปดูแลไม่ทั่วถึง, มีภาระครอบครัวที่ต้องจัดการดูแลธุรกิจไม่ไหว, และย้ายที่อยู่อาศัยไปที่อื่น เป็นต้น โดยร้านทั้งหมด 191 ร้าน สามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้
เมื่อวันที่ 7 กรกฏาคมที่ผ่านมา ชวลิต ฉ่อนเจริญ อุปนายก สมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงในจังหวัดเชียงใหม่ และที่ปรึกษาชมรมภัตตาคารและร้านอาหารจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของร้านอาหารเสน่ห์ชายน้ำ อำเภอสารภี เผยว่า ฐานะเจ้าของร้านอาหารผลกระทบยังซึมต่อเนื่อง ถึงแม้วิกฤตโควิด-19 จะผ่านไปแล้ว แต่การใช้จ่ายของประชาชนลดลงกว่าร้อยละ 50 เพราะการปรับราคาสินค้าต่าง ๆ ขึ้น ในส่วนของร้านอาหาร สถานบันเทิง สถานบันเทิงผับในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีมาก ต้องประกาศปิดกิจการ หยุดให้บริการ เลิกกิจการตอนนี้มีราวๆ 20-30% แล้ว สาเหตุมาจากวิกฤตทางเศรษฐกิจที่กล่าวไปข้างต้น บวกกับฤดู Low Season และช่วงเปิดเทอม ทำให้การใช้จ่ายของประชาชนลดลง
ด้าน จุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าครึ่งปีแรกของปี 2567 เศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต PM 2.5 เป็นอย่างมากส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลงในช่วง High Season นอกจากนี้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้ากว่า 5 เดือน ทำให้การลงทุนของภาครัฐและการบริโภคภาครัฐหดตัวลง ทำให้ไม่มีโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ ขณะเดียวกัน ‘หนี้สาธารณะพุ่งสูงต่อเนื่อง’ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลง โดยเฉพาะกลุ่มคนระดับกลางถึงระดับล่างที่มีรายได้ลดลงมาก ถึงแม้ในช่วงปี 2566-ช่วงครึ่งปีแรกปี 2567 มีธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่จดทะเบียนเปิดกิจการราว 2,000-3,000 กิจการ แต่มีธุรกิจที่จดทะเบียนเลิกกิจการมากถึง 1,000 กิจการ หรือราว 50% ของกิจการที่เปิดใหม่
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยข้อมูลการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือไตรมาส 1 ปี 2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาท่องเที่ยว 6.43 ล้านคน-ครั้ง เติบโตเพียงร้อยละ 1.06 เมื่อเทียบเคียงกับช่วงเดียวกันในปี 2566 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือได้รับผลกระทบจากไฟไหม้ป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน (PM 2.5) ในระดับสูงหลายจังหวัด ทำให้บรรยากาศไม่เอื้อต่อการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดอื่นในภาคเหนือ แม้ว่าในจังหวัดเชียงใหม่จะมีความพยายามในการจัดกิจกรรมสำคัญ เช่น เทศกาลร่มบ่อสร้างละหัตถกรรมสันกำแพง รัฐบาลอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ จากประเทศอินเดียมาประดิษฐานชั่วคราว เป็นต้น ก็ตาม
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย เผยว่าเศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 2 ปี 2567 ปรับลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน กิจกรรมทางเศรษฐกิจเร่งขึ้นในช่วงต้นไตรมาส แต่ปรับลดลงในระยะต่อมา จากกำลังซื้อที่ยังเปราะบาง และค่าครองชีพสูงทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวขยายตัวเล็กน้อย และการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น
หากมาดูการบริโภคในภาคเอกชนภาคเหนือ ไตรมาส 2 ปี 2567 ลดลงจากไตรมาสก่อน การใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคปรับลดลงจากค่าครองชีพที่สูง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ประกอบกับสินค้าคงทนลดลงต่อเนื่อง จากสถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อ ด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ ไตรมาส 2 ปี 2567 หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน จากการเร่งส่งเสริมการขายในกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง และกลุ่มที่ยังมีศักยภาพในการขอสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปคาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงทรงตัว เนื่องจากสถาบันการเงินยังระมัดระวังการให้สินเชื่อ
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์แนวโน้มในไตรมาสที่ 3 ในปี 2567 ไว้ว่าเศรษฐกิจภาคเหนือมีทิศทางทรงตัว การบริโภคยังคงถูกกดดันจากค่าครองชีพและราคาพลังงานที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น รวมทั้งสถาบันการเงิน ระมัดระวังการให้สินเชื่อ ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนยังคงทรงตัว อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวมีทิศทางทยอยปรับดีขึ้นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามจำนวนเที่ยวบินตรงที่เปิดเพิ่มขึ้น และมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ผลผลิตเกษตรปรับดีขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และผลผลิต อุตสำหกรรมคาดว่าปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามความต้องการของคู่ค้ำ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นได้แบ่งประเด็นที่ต้องติดตามต่ออีก 3 ประเด็นในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 คือ 1.แรงกดดันจากค่ำครองชีพ 2.การฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ และ 3.ความแปรปรวนของสภาพอากาศ
นอกจากนี้ KKP Research ประเมินว่า ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอาจจะลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 2% หากไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระบวนการของภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ธุรกิจรายย่อยจำนวนมากเซ้งร้าน ลดจำนวนลง บางแห่งปิดตัวอย่างสิ้นเชิงโดยเฉพาะหลังช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาทของโควิด 19 ที่ผ่านมา มากไปกว่านั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคและธุรกิจก็ลดการใช้จ่ายลงลดลงและทำให้เศรษฐกิจแทบจะไม่เห็นแนวทางในการเติบโต ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจในไตรมาสที่ 2 ในปี 2567 ในการรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย
จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่นิ่งงัน บวกกับธุรกิจในเชียงใหม่ที่มีการเปิดเซ้งเกือบ 200 ร้าน ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน ตัวเลขเหล่านี้กำลังส่งเสียงอะไรต่อผู้คนที่ยังใช้ชีวิตในเชียงใหม่รวมไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจของภาคเหนือ รัฐบาลควรมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน หรือจะปล่อยให้ผู้คนเดินถอยหน้าลงหุบเหวของเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างไม่สามารถหลีกหนีได้
อ้างอิง
- https://www.prachachat.net/local-economy/news-1614018
- https://www.bot.or.th/content/dam/bot/documents/th/thai-economy/regional-economy/northern/quarterly-press-new/2567/Northern_2567Q2_Slide.pdf
- https://www.bot.or.th/content/dam/bot/documents/th/thai-economy/regional-economy/northern/quarterly-press-new/2567/Northern_2567Q2_Press.pdf
- https://www.thairath.co.th/news/local/localbusiness/2798946
- https://thaipublica.org/2024/07/kkp-research74-thai-economy-an-era-of-low-growth-of-2/
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...