เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา สำนักข่าว The Reporters, สำนักข่าวชายขอบ และ GreenExpress ได้ร่วมกันจัดเสวนาออนไลน์ “เขื่อนปากแบง ผลประโยชน์ของชาติหรือผลประโยชน์ของใคร?” โดยมี นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย, เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค International Rivers, ทองสุข อินทะวงศ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลร่วมเวทีเสวนา
เพียรพร ดีเทศน์ เปิดการเสวนาด้วยการบอกเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่ทางกฟผ.ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำปากแบงไปเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา โดยโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง เป็น 1 ใน 3 โครงการเขื่อนแม่น้ำโขงที่ทางกฟผ.ได้ลงนามซื้อขายไฟฟ้าเอาไว้ในช่วงปีนี้ ร่วมกับโครงการปากลาย และหลวงพระบาง
ความวิตกกังวลของชาวบ้านในพื้นที่ที่เกิดขึ้นตลอด 7 ปีนับตั้งแต่การจัดเวที PNPCA เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ตามข้อตกลงแม่น้ำโขงของ MRC (Mekong River Commission) ที่มีจุดประสงค์ในการคลี่คลายความกังวลในประเด็นต่างๆ ทั้งจากภาคประชาชนและภาควิชาการ ไม่ว่าจะเป็นภาวะน้ำเท้อ, ตะกอนแร่ธาตุ หรือพันธุ์ปลาและประมง ซึ่งเป็นข้อกังวลที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในเอกสารของ MRC แต่ก็ยังไม่มีการให้คำตอบหรือเอกสารการศึกษาใดๆ เพื่ออธิบาย แม้ว่าการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยกฟผ.จะเกิดขึ้นไปแล้วก็ตาม
เพียรพร ยังได้กล่างถึงประเด็นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่มีประเทศจีนเป็นผู้จัดทำ โดยชี้ว่าข้อมูลของทั้งโครงการปากแบงและปากลายแทบจะเหมือนกันทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นข้อมูลเก่านับสิบปีมาแล้ว ทำให้เกิดคำถามว่าเมื่อตัดสินใจอนุมัติโครงการได้อ่านรายงานแล้วหรือยัง และจะสร้างเขื่อนที่ไม่จำเป็นนี้ไปทำไม
“ขณะนี้ประเทศไทยมีไฟฟ้าเกินความจำเป็น เรามีทางเลือกอื่นในการจัดการพลังงาน ควรสร้างประชาธิปไตยพลังงาน ไม่ใช่ผูกขาดกับเอกชนรายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า น่าตกใจคือการลงนามสัญญา PPA ยาวนานถึง 29 ปี เราไม่มีทางเลือกพลังงานอื่นเลยหรือ เหมือนเราถูกจับขังให้ต้องซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนทั้งๆ ที่มีเทคโนโลยีทางเลือกอื่นมากมาย ถามว่าความเป็นธรรมด้านพลังงานอยู่ตรงไหน เราทุกคนต้องแบกค่าไฟฟ้าแสนแพงนี้ไปถึงไหน”
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ชี้ว่าทางพรรคก้าวไกลได้เตรียมตั้งกระทู้สดถาม พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ก่อนแล้ว แต่นายพีระพันธุ์ไม่ว่าง พอสัปดาห์นี้ก็เตรียมตั้งกระทู้ถามอีกแต่ไม่แน่ใจว่านายพีระพันธุ์จะมาตอบด้วยตัวเองหรือไม่ ทำให้รู้สึกผิดหวัง เพราะโครงการนี้ส่งผลกระทบกับประชาชน
โดยการที่ภาคประชาชนเรียกร้องให้ทบทวนการลงนามซื้อขายไฟฟ้าก็ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น และเข้าใจว่ารัฐบาลต้องอ้างมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่ประชุมก่อนหน้านี้ แต่หากรัฐบาลเห็นความสำคัญว่าการสร้างเขื่อนปากแบงส่งกระทบวิถีชีวิตประชาชน ก็สามารถใช้มติคณะรัฐมนตรีทบทวนได้ และปกติเรามีแผนพลังงานชาติ รัฐบาลชุดที่แล้วทำไม่ทันจึงต้องให้รัฐบาลขุดนี้ทำปี 2567 แต่จะมั่นใจอย่างไรว่าการอนุมัติซื้อเขื่อนปากแบง จะสอดคล้องกับแผนดังกล่าว เราต้องถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอย่างตรงไปตรงมา และนายกฯ สามารถทบทวนใน ครม.ได้ หรือรอแผน กพช.ปี 2567 เพื่อให้สอดคล้อง
“เราได้รับผลกระทบมาหลายเขื่อนแล้ว ไม่ใช่แค่ปากแบง แต่รัฐไม่เคยสนใจ รัฐบาลได้ประเมินต้นทุนความเสียหายที่ประชาชนและรัฐต้องจ่ายแล้วหรือยัง ที่ผ่านมาได้สร้างโฆษณาชวนเชื่อมาตลอด แต่สุดท้ายก็ใช้ไม่ได้”
วิโรจน์ มองว่าความคิดที่เชื่อว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากเขื่อนหรือโรงไฟฟ้ามีแค่ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบๆ เท่านั้น และพยามยามให้คนกลุ่มนี้เป็นผู้เสียสละ เป็นกลุ่มประชาชนกลุ่มเดียวที่ต่อสู้นั้นใช้ไม่ได้ในปัจจุบัน เพราะค่าไฟฟ้าเกี่ยวข้องเกี่ยวกับประชาชนทั้งหมด ดังนั้นภาคประชาชนต้องร่วมกัน เพื่อความเป็นธรรมสำหรับทุกคน ไม่ควรมีใครต้องเสียสละ
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว มองว่าการสร้างเขื่อนปากแบงไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ แต่เป็นประโยชน์ของกลุ่มทุน โดยที่ประชาชนไม่เคยได้คำอธิบายใดๆ จากหน่วยงานภาครัฐเลยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา
“ผมกล้าพูดว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่เอาใจใส่ในความเดือดร้อนของประชาชน แม่น้ำโขงตอนบนในจีนมีเขื่อน เราได้รับผลกระทบมานานแล้ว ระดับน้ำขึ้นลงเร็วมาก เพราะเปิดปิดเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าและการเดินเรือ หากมีเขื่อนปากแบงกั้นตอนล่างอีก พื้นที่เชียงของ เชียงแสน เวียงแก่นจะเหมือนอ่างเก็บน้ำ เป็นการแช่แข็งแม่น้ำโขง ระบบนิเวศเสียหายหมด เป็นผลประโยชน์ของใคร ทั้งๆ ที่เรื่องพลังงานมีทางเลือกมากกว่านี้”
นิวัฒน์ ชี้ว่าการสร้างเขื่อนเพิ่มจะยิ่งทำให้ประชาชนใน 3 อำเภอของเชียงรายเดือดร้อน เนื่องมาจากผลกระทบต่างๆ ที่ก็ยังไม่ทราบว่าจะมีใครรุนแรงแค่ไหนเพราะรัฐไม่เคยกล่าวถึงประเด็นนี้เลย อีกทั้งพื้นที่ที่เคยถูกใช้โดยประชาชนก็จะหายไป ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่แก่งผาไดกว่า 70 ไร่ หรือหาดบ้านดอนมหาวัน โดยรัฐมีเพียงแผนเยียวยาที่ตอบรายละเอียดไม่ได้เท่านั้น นิวัฒน์ จึงมองว่านี่เป็นการเสียดินแดนของประชาชนโดยที่ไม่มีใครรับผิดชอบเลย จึงจำเป็นต้องทำหนังสือส่งให้กับนายกรัฐมนตรีเพื่อให้รู้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ทองสุข อินทะวงศ์ กล่าวว่าตนได้ติดตามเรื่องเขื่อนปากแบงมาโดยตลอด รู้สึกตกใจและเสียใจที่ได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แม้ว่าตนจะเป็นตัวแทนชุมชนร่วมติดตาม แต่ไม่ได้รับข่าวสารจากภาครัฐอย่างใด แม้แต่ทางลาวก็ไม่รู้เลยว่าน้ำเท้อถึงไหน หากท่วมถึงระดับ 340 เมตร (เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) คงท่วมหมู่บ้านและที่ทำกินเยอะมาก เราจึงเรียกร้องมาตลอดว่าต้องมีความชัดเจน ระดมความคิดเรื่อยมา แต่หน่วยงานรัฐไม่ให้ความสนใจเลย หมู่บ้านมีกว่า 200 ครอบครัว มีอาชีพหาปลา หากน้ำท่วมเหมือนที่คาดไว้ จะทำให้อาชีพต่างๆของชาวบ้านหายไปหมด วิถีชีวิต่างๆ และสิ่งแวดล้อมความเสียหายตราบจนชั่วลูกหลาน ได้แต่ฝาก วิโรจน์ และรัฐบาล ช่วยดูเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนด้วย
สามารถรับชมเวทีเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/100069361344864/videos/3028218043980563
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...