เรื่อง ผกามาศ ไกรนรา
การมีสุขภาพดีอาจเป็นสิ่งที่ใครหลายคนพึงปรารถนา ดังคำกล่าวที่ว่า ‘การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ’ แต่คำกล่าวนี้อาจเป็นเพียงมายาคติที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับชีวิตผู้คนหลากหลายตำบลใน ‘จังหวัดน่าน’ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 30 นาที ด้วยระยะทางเกือบ 30 กิโลเมตร บนภูมิศาสตร์อันสูงชัน เพื่อเดินทางไปรับการรักษายังโรงพยาบาลประจำอำเภอ (รพช.) และเฉลี่ยกว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที กับระยะทางอีกราว 80 กว่ากิโลเมตร เพื่อเดินทางไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัด (รพท.) แห่งเดียวในตัวเมืองน่าน
“ขอบคุณนะคะที่ไปจังหวัดน่าน แต่จากใจคนน่านอย่างเรานะคะ เราไม่มีสิทธิเจริญเลยหรอคะ มันลำบากสำหรับเรามากนะคะ รถเมล์ไม่มีจะเข้าเมือง ถ้าจะเข้าเมืองไปโรงพยาบาลทีต้องเช่ารถคนแถวบ้านพาไปส่ง …”
หนึ่งในความคิดเห็นจากผู้ใช้ยูทูป (YouTube) รายหนึ่งภายใต้คลิปวิดีโอ ‘บ้านสะปัน น่าน สวยไม่แพ้ต่างประเทศ | VLOG | Gowentgo’ ของช่องยูทูป Go Went Go (2563) บอกเล่าถึงความลำบากของการเดินทางในฐานะคนน่าน บริการขนส่งสาธารณะที่ไม่ครอบคลุมทำให้การเดินทางไปโรงพยาบาลในแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ‘การเข้าถึงโรงพยาบาลของคนน่านเป็นเรื่องยากขนาดนั้นเลยหรือ?’
การเข้าถึงโรงพยาบาลของคนน่านเป็นเรื่องยากขนาดนั้นเลยหรือ?
หากมองตามสภาพภูมิศาสตร์ของตัวจังหวัด ซึ่งตั้งอยู่สุดชายแดนทางทิศตะวันออกของภาคเหนือตอนบนของไทย ห่างไกลเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ กว่า 668 กิโลเมตร และมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาถึง 87.2% (ป่าและภูเขา 3 ส่วน ที่ราบ 1 ส่วน) ซึ่งหากเทียบกับสัดส่วนระหว่างภูเขาและพื้นที่ราบแล้วคงจะอนุมานได้ว่าจังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลแถมยังมีพื้นที่ส่วนใหญ่ยากต่อการเดินทางอีกด้วย
นอกเหนือจากเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ความใกล้-ไกลจากสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลก็ดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การเข้าถึงโรงพยาบาลของคนน่านเป็นเรื่องยาก จังหวัดน่านมีโรงพยาบาลรัฐในตัวจังหวัดจำนวนทั้งหมด 16 แห่ง กระจายตัวอยู่ในอำเภอละ 1 แห่ง (ยกเว้นอำเภอภูเพียง ที่มี 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลภูเพียง และโรงพยาบาลค่ายสุริยพงษ์) หากไม่นับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลเอกชน แบ่งเป็น โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) หรือที่รู้จักกันในนาม โรงพยาบาลประจำจังหวัด 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หรือโรงพยาบาลประจำอำเภอ 14 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลแม่จริม โรงพยาบาลบ้านหลวง โรงพยาบาลนาน้อย โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว (น่าน) โรงพยาบาลท่าวังผา โรงพยาบาลเวียงสา โรงพยาบาลทุ่งช้าง โรงพยาบาลเชียงกลาง โรงพยาบาลนาหมื่น โรงพยาบาลสันติสุข โรงพยาบาลบ่อเกลือ โรงพยาบาลสองแคว โรงพยาบาลภูเพียง โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ น่าน และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงอื่นอีก 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลค่ายสุริยพงษ์ (รพ.ทบ.)
แม้จะมีโรงพยาบาลกระจายตัวอยู่ในทุกอำเภอของจังหวัด แต่การเข้าถึงโรงพยาบาลก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับผู้คนหลากหลายตำบลในตัวอำเภอ ข้อมูลแผนที่การเข้าถึงโรงพยาบาล หมวดหมู่สังคมและคุณภาพชีวิต Nan2024 จาก GISTDA เผยให้เห็นว่า ในบรรดา 99 ตำบลของจังหวัดน่าน กว่า 32 ตำบล หรือ 32.32% ที่การเข้าถึงโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องง่าย โดยในจำนวนนี้มี 21 ตำบล (21.21%) ที่การเข้าถึงโรงพยาบาลเป็นไปได้ยาก (ระดับการเข้าถึงต่ำ) ซึ่งได้แก่ อำเภอเมืองน่าน 5 ตำบล (ตำบลสะเนียน ตำบลเรือง ตำบลบ่อสวก ตำบลบ่อ ตำบลนาซาว) อำเภอเวียงสา 4 ตำบล (ตำบลไหล่น่าน ตำบลแม่สาคร ตำบลทุ่งศรีทอง ตำบลจอมจันทร์) อำเภอนาน้อย 2 ตำบล (ตำบลบัวใหญ่ ตำบลน้ำตก) อำเภอปัว 2 ตำบล (ตำบลอวน ตำบลสกาด) อำเภอทุ่งช้าง 2 ตำบล (ตำบลปอน ตำบลงอบ) อำเภอบ่อเกลือ 2 ตำบล (ตำบลบ่อเกลือเหนือ ตำบลดงพญา) อำเภอแม่จริม 1 ตำบล (ตำบลน้ำพาง) อำเภอท่าวังผา 1 ตำบล (ตำบลผาทอง) อำเภอสองแคว 1 ตำบล (ตำบลชนแดน) และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ 1 ตำบล (ตำบลห้วยโก๋น)
ขณะเดียวกันก็ยังมีอีก 11 ตำบล หรือ 11.11% ที่เข้าถึงโรงพยาบาลได้ยากที่สุด (ระดับการเข้าถึงต่ำสุด) ได้แก่ อำเภอเวียงสา 4 ตำบล (ตำบลส้านนาหนองใหม่ ตำบลยาบหัวนา ตำบลแม่ขะนิง ตำบลน้ำมวบ) อำเภอนาหมื่น 2 ตำบล (ตำบลเมืองลี ตำบลปิงหลวง) อำเภอนาน้อย 1 ตำบล (ตำบลสันทะ) อำเภอปัว 1 ตำบล (ตำบลภูคา) อำเภอบ่อเกลือ 1 ตำบล (ตำบลภูฟ้า) อำเภอสองแคว 1 ตำบล (ตำบลยอด) อำเภอเฉลิมพระเกียรติ 1 ตำบล (ตำบลขุนน่าน)
และถ้าหากดูตำแหน่งที่ตั้งของทั้ง 32 ตำบล ตามแผนที่ในเว็บไซต์ Nan2024 ก็จะพบว่า ตำบลที่มีระดับการเข้าถึงต่ำและต่ำสุด ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ 2 ฝากฝั่งของจังหวัดที่เป็นพื้นที่ภูเขา ซึ่งไม่มีโรงพยาบาลตั้งอยู่มากกว่าพื้นที่ราบ
หากมาดูระยะทางใน 11 ตำบลที่เข้าถึงโรงพยาบาลได้ยากที่สุด หากคำนวณระยะทางและเวลาตามข้อมูลจาก Google Maps โดยกำหนดยานพาหนะเป็นรถยนต์ ในสภาพการจราจรปกติ โดยใช้จุดเริ่มต้นในการเดินทางเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ของแต่ละตำบล การเดินทางจากแต่ละตำบลไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอและโรงพยาบาลประจำจังหวัดจะเป็นดังนี้
ลำดับ | อำเภอ | ตำบล | รายชื่อรพ.ในอำเภอ | ตำบลไป รพช.(กม.) | เวลา(นาที) | ตำบลไป รพท.(กม.) | เวลา(นาที) |
1 | นาน้อย | สันทะ | โรงพยาบาลนาน้อย | 19.5 | 26 | 78 | 90 |
2 | ปัว | ภูคา | โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว (น่าน) | 24.5 | 38 | 84 | 85 |
3 | เวียงสา | น้ำมวบ | โรงพยาบาลเวียงสา | 30.1 | 37 | 57.2 | 64 |
4 | เวียงสา | ยาบหัวนา | โรงพยาบาลเวียงสา | 30.9 | 34 | 60.4 | 62 |
5 | เวียงสา | ส้านนาหนองใหม่ | โรงพยาบาลเวียงสา | 32.5 | 42 | 59.7 | 69 |
6 | เวียงสา | แม่ขะนิง | โรงพยาบาลเวียงสา | 45.6 | 49 | 33.3 | 44 |
7 | นาหมื่น | เมืองลี | โรงพยาบาลนาหมื่น | 29.2 | 41 | 109 | 123 |
8 | นาหมื่น | ปิงหลวง | โรงพยาบาลนาหมื่น | 24.8 | 35 | 105 | 116 |
9 | บ่อเกลือ | ภูฟ้า | โรงพยาบาลบ่อเกลือ | 20.9 | 31 | 87.7 | 111 |
10 | สองแคว | ยอด | โรงพยาบาลสองแคว | 21.2 | 26 | 91.7 | 91 |
11 | เฉลิมพระเกียรติ | ขุนน่าน | โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ (น่าน) | 27.4 | 45 | 132 | 179 |
เมื่อดูข้อมูลจากตาราง หากเป็นการเดินทางจากพื้นที่ตำบลไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอ ระยะทางและเวลาจะไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเฉลี่ยได้เป็น 27.9 กิโลเมตร 37 นาที แต่หากเป็นการเดินทางจากพื้นที่ตำบลไปยังโรงพยาบาลน่าน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด (รพท.) แห่งเดียวในตัวเมืองน่านจะพบว่า ตำบลที่ใช้ระยะทางและเวลาในการเดินทางไปยังโรงพยาบาลน่านโดยตรงมากที่สุดก็คือ ‘ตำบลขุนน่าน’ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งต้องเดินทางด้วยระยะทางถึง 132 กิโลเมตร กับระยะเวลาอีก 179 นาที หรือราว 2.98 ชั่วโมง รองลงมาคือ ‘ตำบลเมืองลี’ อำเภอนาหมื่น 109 กิโลเมตร 123 นาที (2.05 ชั่วโมง) และ ‘ตำบลปิงหลวง’ อำเภอนาหมื่น 105 กิโลเมตร 116 นาที (1.93 ชั่วโมง) (เฉลี่ย 11 ตำบลอยู่ที่ 81.64 กิโลเมตร 94 นาที หรือ 1 ชั่วโมง 34 นาที)
ทั้งนี้ หากตรวจสอบประเภทการให้บริการจากระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ทรัพยากรสุขภาพ (GIS Health) จะพบว่า โรงพยาบาลทั้ง 15 แห่ง ยกเว้นโรงพยาบาลน่าน ที่ไม่มีบริการตรวจรักษาผู้ป่วยศัลยกรรมประสาทและรังสีรักษา นอกจากนี้ โรงพยาบาลจำนวน 6 จาก 16 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลแม่จริม โรงพยาบาลบ้านหลวง โรงพยาบาลท่าวังผา โรงพยาบาลทุ่งช้าง โรงพยาบาลบ่อเกลือ และโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ (น่าน) ก็ไม่มีบริการตรวจรักษาเฉพาะทางใด ๆ (การตรวจรักษาเกี่ยวกับอายุรกรรม ศัลยกรรม กุมารเวชกรรม สูติ-นรีเวชกรรม จิตเวช ศัลยกรรมประสาท จักษุ โสต-ศอ-นาสิก ผู้ป่วยภาวะวิกฤต (ห้องICU))
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพยาบาลบ่อเกลือ และ โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ น่าน ที่เป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ลองจินตนาการว่าหากคุณเป็นคนตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ หรือตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเข้าถึงโรงพยาบาลได้ยากที่สุดอยู่แล้ว และต้องการเข้ารับการตรวจรักษาเฉพาะทางเกี่ยวกับ ศัลยกรรมประสาท หรือ รังสีรักษา แต่โรงพยาบาลในอำเภอกลับไม่มีบริการนั้น ทำให้คุณจำเป็นต้องเดินทางต่อไปยังโรงพยาบาลน่าน ซึ่งมีบริการครบครันครอบคลุมทุกด้านแทน..
จุดเริ่มต้น | จุดหมายปลายทาง | ระยะทาง (กม.) | เวลา (นาที) |
อบต.ภูฟ้า | รพ.บ่อเกลือ | 20.9 | 31 |
รพ.บ่อเกลือ | รพ.น่าน | 84.7 | 107 |
รวม | 105.6 | 138 | |
อบต.ขุนน่าน | รพ.เฉลิมพระเกียรติ น่าน | 27.4 | 45 |
รพ.เฉลิมพระเกียรติ น่าน | รพ.น่าน | 128 | 137 |
รวม | 155.4 | 182 |
หากเริ่มเดินทางจาก อบต.ตำบลภูฟ้า ไปยังโรงพยาบาลบ่อเกลือ ก็จะใช้เวลาไปทั้งหมด 31 นาที ด้วยระยะทาง 20.9 กิโลเมตร และหากเดินทางต่อจากโรงพยาบาลบ่อเกลือไปยังโรงพยาบาลน่านอีกทอด ก็จะใช้เวลาเพิ่มไปอีก 107 นาที (1 ชั่วโมง 47 นาที) ด้วยระยะทาง 84.7 กิโลเมตร จึงจะถึงจุดหมาย รวมแล้วในการเดินทางครั้งนี้จะใช้เวลาไปถึง 138 นาที หรือ 2 ชั่วโมง 18 นาที กับการเดินทาง 105.6 กิโลเมตร (ไม่รวมเวลาพักระหว่างทาง รอคิว และพบแพทย์) และหากต้องเดินทางไป-กลับ ภายในหนึ่งวันก็จะต้องเดินทางจากโรงพยาบาลน่านกลับไปยัง อบต.ภูฟ้า ก็จะใช้เวลาอีก 112 นาที (1 ชั่วโมง 52 นาที) รวมแล้วการเดินทางครั้งนี้อาจต้องใช้เวลาถึง 250 นาที หรือ 4 ชั่วโมง 10 นาที
ในกรณีที่เริ่มต้นจาก อบต.ขุนน่าน ไปยังโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ น่าน จะใช้เวลา 45 นาที กับระยะทาง 27.4 กิโลเมตร และหากเดินทางต่อจากโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ น่าน ไปยังโรงพยาบาลน่าน จะใช้เวลาเพิ่มอีก 137 นาที (2 ชั่วโมง 17 นาที) กับระยะทาง 128 กิโลเมตร รวมแล้วกว่าจะถึงจุดหมายปลางทาง ต้องใช้เวลาไปแล้วถึง 182 นาที หรือ 3 ชั่วโมง 2 นาที กับ 155.4 กิโลเมตร และเช่นกันหากต้องเดินทางกลับ อบต.ขุนน่าน ก็จะใช้เวลาเพิ่มไปอีก 179 นาที (2 ชั่วโมง 59 นาที) กว่าจะกลับถึงบ้านคุณอาจต้องใช้เวลาไปแล้วถึง 354 นาที หรือ 5 ชั่วโมง 54 นาที (ไม่รวมเวลาพักระหว่างทาง รอคิว และพบแพทย์)
การเข้าถึงโรงพยาบาลของคนในพื้นที่ห่างไกลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?
งานวิจัยเรื่อง ‘การเข้าถึงบริการสาธารณสุขของไทย : ภาพสะท้อนและความเหลื่อมล้ำของกลุ่มเปราะบาง’ โดย วรธา มงคลสืบสกุล เผยแพร่ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 ชี้ให้เห็นว่า บริการทางสาธารณสุขของไทยยังไม่ครอบคลุมต่อทุกกลุ่มคน การเข้าถึงสิทธิทางสาธารณสุขคนไทย โดยเฉพาะประชากรที่เป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มคนยากจน กลุ่มแรงงาน หรือ กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล กลุ่มคนชายขอบที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขที่ครอบคลุม ยังคงเต็มไปด้วยข้อจำกัดหลายประการ ส่งผลให้กลุ่มเปราะบางต้องประสบกับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในงานวิจัยจึงระบุแนวทางที่เกี่ยวข้องกับปัญหาข้างต้นไว้ 2 ประการ ดังนี้
ประการแรก ควรจัดให้มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่กระจายไปยังสถานบริการสุขภาพระดับชุมชนต่างๆ อย่างสม่ําเสมอ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางมีโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องข้อจํากัดในการเดินทางเพื่อไปรักษาของประชาชนอีกทั้งยังเป็นการยกระดับการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล
แต่การทำเช่นนั้นได้อาจจำเป็นต้องใช้กำลังคนสูงมาก ซึ่งยากต่อการที่จำนวนบุคลากรของสาธารณสุขในปัจจุบันจะดูแลได้ทั้งหมด ดังนั้น ธรรมทัศน์ ธรรมปัญญวัฒน์ จากบทความ ‘ตอนที่ 2 ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการถ้วนหน้า’ จึงได้ให้ข้อเสนอเพิ่มเติมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำเช่นนี้ไว้ว่า ควรให้มีการประสานและจ้างวานเครือข่ายชุมชน เอกชน และองค์กรไม่แสวงหากำไรในการทำงานเชิงรุกด้วย โดยทางสำนักงานสาธารณสุขจะผันตัวจากเดิมที่เป็นผู้ปฏิบัติงานอย่างเดียว เป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของเครือข่าย
ประการที่สอง รัฐควรส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการประชุมทางไกล (Teleconference) เพื่อเข้าถึงบริการทางสุขภาพของประชาชน ทั้งในเรื่องของการรับคําแนะนํา คําปรึกษา จากบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อสามารถวินิจฉัยอาการได้เบื้องต้น และให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของปัจจุบัน
หมายเหตุ: การคำนวณระยะทางและเวลาข้างต้นมีข้อจำกัดบางประการที่ควรพิจารณา ดังนี้
- บทความนี้มุ่งเน้นเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น
- การคำนวณเกิดขึ้นบนฐานของ Google Maps เป็นหลัก
- ระบบคมนาคมขนส่งที่ใช้ในการคำนวณ มุ่งเน้นไปที่การใช้รถยนต์เท่านั้น ไม่ได้มีการคำนวณผ่านระบบการขนส่งมวลชนเนื่องจากขาดความพร้อม และไม่มีข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับพื้นที่
อ้างอิง
- บรรยายสรุปจังหวัดน่าน
- AIP TEAM GISTDA. (2567). Nan2024.
- กระทรวงสาธารณสุข. ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ทรัพยากรสุขภาพ (GIS Health).
- มงคลสืบสกุล, วรธา. (2565). การเข้าถึงบริการสาธารณสุข: ภาพสะท้อนและความเหลื่อมล้ำของกลุ่มเปราะบางทางสังคม. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์, 6(1), 1-15.
- ธรรมทัศน์ ธรรมปัญญวัฒน์. (2567). ตอนที่ 2 ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการถ้วนหน้า.
ผกามาศ ไกรนรา
อดีตนักศึกษารัฐศาสตร์ฯ การระหว่างประเทศ จากแดนใต้ ที่หลงเสน่ห์เชียงใหม่จนกลายเป็นบ้านหลังที่สอง ผู้มีกองดองที่ยังไม่ได้อ่าน และแอบวาดฝันว่าสักวันหนึ่งจะผูกมิตรกับเจ้าเหมียวทุกตัวที่ได้พบเจอ 🙂