ชาวพะเด๊ะ ค้าน ‘อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตาว’ ชี้ขาดการมีส่วนร่วม-หวั่นกระทบชีวิต ด้าน ‘กรมชลฯ’ เพิกเฉยข้อกังวล อ้าง ‘ปชช.ต้องการอ่างเก็บน้ำ’

วันนี้ (27 พฤศจิกายน 2567) ชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนปกาเกอะญอพะเด๊ะ ตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้รวมตัวกันเดินขบวนประท้วง พร้อมชูป้ายแสดงจุดยืน คัดค้านต่อโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตาวขนาดกลาง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ความจุ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายใต้การดำเนินงานของกรมชลประทาน

การเดินขบวนเริ่มต้นที่หน้าสำนักงานอัยการแม่สอด และเคลื่อนไปยังที่ว่าการอำเภอแม่สอด เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านและข้อเสนอถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตาก โดยมีนายอำเภอแม่สอดเป็นตัวแทนรับเรื่อง นอกจากนี้ ชาวบ้านยังยื่นหนังถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย โดยข้อเสนอหลักประกอบด้วย 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. ให้ยุติโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตาว และ 2. ให้จัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการดังกล่าว

ลิขิต พิมานพนา เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ชาวบ้านพะเด๊ะคัดค้านโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตาว ลูกที่ 2 มาจากความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลายด้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อที่ดินทำกินและแหล่งน้ำในชุมชน เนื่องจากน้ำที่เคยไหลผ่านหมู่บ้านอาจถูกผันไปยังตำบลอื่น รวมถึงพื้นที่ในเขตเมือง ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านสูญเสียอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของพื้นที่ตนไป

นอกจากนี้ พื้นที่ป่าต้นน้ำซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำและสัตว์ป่า รวมถึงต้นไม้สำคัญในระบบนิเวศ ก็อาจได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ โครงการดังกล่าวยังสร้างความกังวลต่อวิถีชีวิตและการเกษตรของชุมชนที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรในพื้นที่อย่างมาก ชาวบ้านจึงมีข้อกังวลในเรื่องเหล่านี้

ในช่วงสายของวันเดียวกัน กรมชลประทานได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกของโครงการ ซึ่งเป็นเวทีปฐมนิเทศเพื่อชี้แจงรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับการพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตาว ลูกที่ 2 โดยมีที่ปรึกษาโครงการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ที่รับผิดชอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมชี้แจงต่อชาวบ้าน โดยมีมีผู้เข้าร่วมกว่า 100-200 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้นำ อบต. และหน่วยงานรัฐ รวมถึงตัวแทนจาก 6 หมู่บ้านที่อาจได้รับผลเชิงบวกจากโครงการ และชาวบ้านพะเด๊ะซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบหลัก มีประมาณ 50-70 คน

ในเวทีดังกล่าวได้มีการอธิบายภาพรวมของโครงการ และแผนการดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE) ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของโครงการ โดยระบุว่ากระบวนการจัดทำรายงาน IEE นี้จะใช้เวลาประมาณ 420 วัน หลังจากนั้นจึงจะได้ข้อสรุปว่าจำเป็นต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) หรือรายงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment: CHIA) เพิ่มเติมหรือไม่

หลังจากนั้นจึงมีการแลกเปลี่ยนข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการที่จะเกิดขึ้น ชาวบ้านได้แสดงข้อกังวลและยืนยันจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยต่อโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตาว ลูกที่ 2 อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีกลับไม่สามารถนำไปสู่ความเข้าใจที่ตรงกัน เมื่อที่ปรึกษาของบริษัทที่รับหน้าที่ทำ IEE ได้ตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ชาวบ้านรู้สึกถูกกดดัน เช่น การถามย้ำว่าชาวบ้านจะอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่หรือไม่ ซึ่งยิ่งเพิ่มความสับสนในที่ประชุม

เมื่อสถานการณ์ดูเหมือนจะไม่ได้ข้อยุติ ชาวบ้านจึงตัดสินใจเดินออกจากเวที และรวมตัวกันอ่านแถลงการณ์คัดค้านหน้าอำเภอแม่สอด เพื่อย้ำถึงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อโครงการดังกล่าวอีกครั้ง

ในพื้นที่บ้านพะเด๊ะชาวบ้านก็สะท้อนว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบเรื่องการพัฒนาของรัฐมาเยอะมาก โดยเฉพาะก่อนหน้านี้มีการสร้างเหมืองแคดเมียมด้วย ตอนนี้ปิดไปแล้ว อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมยังไม่แล้วเสร็จ รวมไปถึงอ่างเก็บน้ําห้วยแม่สอดที่เคยมาสร้าง แล้วว่าจะสร้างถนนให้ชาวบ้าน ตอนนี้ถนนก็ยังไม่ได้สร้าง ชาวบ้านก็เลยบอกว่า ตัวเองได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐมากพอแล้ว รอบนี้ยังจะมีมาอีกหรือ” ลิขิตกล่าว

สำหรับจังหวะหลังจากนี้ ชาวบ้านพะเด๊ะซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ที่เป็นส่วนหนึ่งของ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) จะยังคงเดินหน้าคัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตาว ลูกที่ 2 ต่อไปโดยใช้ช่องทางทั้งในระดับนโยบายและพื้นที่

ในระดับนโยบาย P-Move จะเร่งผลักดันให้มีการประชุมของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐอย่างเร่งด่วนโดยเร็วที่สุด โดยจะนำประเด็นการคัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตาว ลูกที่ 2 ของชาวบ้านพะเด๊ะเข้าสู่ที่ประชุม เพื่อพิจารณาเสนอให้มีการจัดตั้ง ‘คณะทำงานระดับพื้นที่’ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบปัญหานี้

ส่วนในระดับพื้นที่ ชาวบ้านพะเด๊ะได้วางแผนการเคลื่อนไหวหลายประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. ยืนยันการคัดค้าน ป้องกันไม่ให้คณะทำงานจากกรมชลประทานและมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ซึ่งมีหน้าที่ทำรายงาน IEE เข้ามาดำเนินการในพื้นที่หรือเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในชุมชน

2. ขยายข้อมูลไปยังพื้นที่อื่น แจ้งข้อมูลให้พื้นที่อื่น ๆ ทราบถึงผลกระทบของโครงการ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ

3. เตรียมยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อธิบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำงานของคณะทำงานที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับชาวบ้าน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง