เมดอินพะเยา: เรื่องเล่าด้านลบ “สาวดอกคำใต้” ที่ไม่เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน

เรื่อง: กมลชนก เรือนคำ

(ภาพ: หญิงสาวให้บริการความบันเทิงแก่ลูกค้าในร้านคาราโอเกะแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2541 (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

เรื่องเล่าด้านลบ “สาวดอกคำใต้”

“อำเภอดอกคำใต้” มีชื่อตามตามลักษณะของต้นไม้ที่มีอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากคือ “ต้นดอกคำใต้” หรือภาษากลางเรียกว่า “ต้นกฐินเทศ” มีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย มีหนามแหลมคม มีดอกสีเหลืองซึ่งเป็นดอกที่มีกลิ่นหอม อำเภอดอกคำใต้มีประวัติยาวนานเก่าแก่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2397 เดิมเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย จนถึงปี 2520 จังหวัดได้แยกการปกครองออกจากจังหวัดเชียงราย อำเภอดอกคำใต้จึงได้ขึ้นการปกครองอยู่กับจังหวัดพะเยา 

เช่นเดียวกับอีกหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ดอกคำใต้มีเรื่องเล่าของ “สาวงามดอกคำใต้” เท่าที่บันทึกไว้มีมาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และก็อีกเช่นเดียวกันกับหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ที่อำเภอดอกคำใต้ มีเรื่องเล่าของการค้าประเวณีในอดีต ภายใต้มายาคติสาวเหนือที่ถูกมองว่าใจง่ายและถูกหลอกมาขายตัว

เรื่องเล่าของสาวดอกคำใต้ในอุตสาหกรรมค้าประเวณีเกิดขึ้นมามากกว่า 60 ปีมาแล้ว (ถ้านับย้อนจากปี 2566 คือประมาณต้นทศวรรษ 2500) โดยการชักนำของคนในหมู่บ้านที่พาเอเย่นต์เข้าไปพูดคุยกับพ่อแม่ แลกกับวัตถุล่อตาล่อใจมากมาย เช่น เงิน ข้าวของเครื่องใช้ บ้าน ตึกแถว หรือแม้กระทั่งนำแบบบ้านมาให้เลือกเลยก็มี จากนั้นจึงเกิดค่านิยมใหม่ว่าการขายลูกสาวกิน ไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไร เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ให้ทัดเทียมเพื่อนบ้าน วิถีความคิดชาวบ้านก็มองว่าการขายลูกสาวกินนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ต้องขายให้สมและคุ้มค่ากับการเลี้ยงดูมาว่ากันว่าการค้าประเวณีในอำเภอดอกคำใต้ ก็นับว่าเป็นกรณีหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นการค้าประเวณี นอกจากการส่งลูกไปขายเป็นโสเภณีที่จุดหมายปลายทาง เช่น หาดใหญ่ มาเลเซีย ญี่ปุ่น แล้วก็ยังมีการจัดเซ็กซ์ทัวร์บริการนักท่องเที่ยว บริการแขกบ้านแขกเมือง อันเป็นค่านิยมของไทยในอดีต

มีงานศึกษาชี้ว่าปัจจัยที่ผลักดันให้เด็กสาวชนบทภาคเหนือ (ในยุคหนึ่ง) เข้าสู่อาชีพการขายบริการทางเพศค่อนข้างมาก ปัจจัยเหล่านั้น ได้แก่ ความบีบคั้นจากสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว ที่ทำให้เด็กหรือผู้ปกครองต้องแสวงหาทางแก้ไขปัญหา ด้วยการให้เด็กประกอบอาชีพ ขายบริการทางเพศ นอกจากปัญหาความยากจนแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น การขาดความอบอุ่น ความไร้โอกาส และความมั่นคงภายในครอบครัว ตลอดจนความไม่สอดคล้องกับระหว่างความหวังในอนาคตและสภาวะปัจจุบันที่ต้องเผชิญ ซึ่งสิ้นหวังเป็นอย่างมาก ตลอดจนถึงการปลูกฝังของพ่อแม่และความรู้สึกเด็กที่ว่า มีหน้าที่ต้องตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ ด้วยการหารายได้เข้ามาเลี้ยงครอบครัวเพื่อปลดภาระหนี้สิ้น ยกระดับความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัว

ในยุคหนึ่ง หญิงขายบริการทางเพศในภาคเหนือมีสัดส่วนสูง ดังเช่น จากผลสำรวจของกระทรวงสาธารณะสุขในปี 2542 (เมื่อ 24 ปีก่อน นับย้อนจากปี 2566) พบว่ามีเด็กสาวที่มีภูมิลำเนาจากทางภาคเหนือ ไปประกอบอาชีพขายบริการทางเพศในปริมาณที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย มีผู้ประกอบอาชีพบริการทางเพศสูงถึงร้อยละ 15.2 (ประมาณ 10,674 คน) รองลงมาคือจังหวัดพะเยา ร้อยละ 6.6 (ประมาณ 4,563 คน) และจังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 4.3 (ประมาณ 2,973 คน)

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สถานการณ์การค้าประเวณีก็เปลี่ยนไป ประเทศไทย ภาคเหนือ และจังหวัดพะเยา ก็มีความเปลี่ยนแปลงคล้ายคลึงกับอีกหลายที่ในภูมิภาคเอเชีย ที่การค้าประเวณีแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะการที่ครอบครัวขายเด็กสาวให้ธุรกิจค้าประเวณีเริ่มลดลงและหายไป นอกจากนี้ธุรกิจนี้เริ่มเปลี่ยนรูปแบบไปจากการบังคับมาเป็นสมัครใจ ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมจากการผู้คนในครอบครัวยากจนเริ่มมองว่าการค้าประเวณีเป็นอาชีพที่ไม่ควรทำและไม่ควรสนับสนุน, หลายที่บังคับใช้กฎหมายด้านการค้ามนุษย์อย่างเข้มงวด, ผลกระทบของโรคติดต่อ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (เช่น โรคเอดส์ ซิฟิลิส หนองในเทียม เป็นต้น) ส่งผลให้ผู้คนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อมากขึ้น, นอกจากนี้ผู้หญิงในเอเชียได้รับการศึกษามากขึ้น จึงทำให้มีทางเลือกอื่น ๆ ที่ดีขึ้น ส่งผลให้ผู้หญิงเลือกที่จะไม่ประกอบอาชีพค้าประเวณี 

แต่กระนั้น จากการประเมินเมื่อปี 2564 มีผู้ยึดอาชีพขายบริการทางเพศทั่วประเทศไทยมากกว่า 200,000 คน มีสถานค้าประเวณีอยู่เป็นจำนวนมากในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สถานอาบอบนวด ร้านนวด ร้านคาราโอเกะ คลับ บาร์ หรือทางอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้อาชีพขายบริการทางเพศได้รับการยอมรับมากขึ้น ถึงกับมีการผลักดันให้อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย และการเหมารวมตีตรามองเชิงพื้นที่ต่อผู้ทำอาชีพนี้ก็แทบที่จะไม่มีให้เห็นแล้ว

เมื่อคนดอกคำใต้ลุกขึ้นมาลบบาดแผลและการตีตรา

ในรอบ 60 กว่าปีที่ผ่านมาสังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย จากที่คนไทยส่วนใหญ่ยังอยู่บ้านคล้ายกระท่อมหรือบ้านไม้ใต้ถุนสูงเปลี่ยนมาเป็นบ้านยุคสมัยใหม่ จากที่เคยใช้ส้วมหลุมเปลี่ยนมาใช้ส้วมนั่งยองจนมาถึงการใช้ชักโครก จากยุคโทรเลข สู่โทรศัพท์ จนมาถึงการใช้อินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน

ความเปลี่ยนแปลงของคนดอกคำใต้ในรอบ 60 ปีนี้ก็เกิดขึ้นเช่นกัน แต่กระนั้นก็ยังมีการทำซ้ำด้านลบของสาวดอกคำใต้อยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของภาพจำมายาคติของคนภูมิภาคอื่น ๆ ที่มีต่อสาวเหนือ (อ่านบทความนี้โดยผู้เขียน) โดยเฉพาะสื่อบันเทิง 

รศ.ดร.มนตรา พงษ์นิล นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ เคยให้ความเห็นไว้ว่า สื่อบันเทิงเช่นบทละครที่พาดพิงสาวดอกคำใต้ขายตัวนั้น ตั้งอยู่บนฐานคิดและทัศนะในการมองแบบเหมา ตีตราต่อผู้หญิงดอกคำใต้ให้แช่แข็งอยู่ในภาพตายตัว ซ้ำยังตอกย้ำและผลิตซ้ำความเป็นอื่นและผู้หญิงไม่ดีอยู่ร่ำไป ซึ่งภาพเหล่านี้เกิดมาจากสังคมไทย โดยเฉพาะชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และจังหวัดในภูมิภาคอื่น ที่ผลิตและถูกปลูกฝังภาพนี้ขึ้นมาในยุคแห่งความทันสมัยจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งกลับกลายเป็นพายุพัดโหมกระหน่ำความยากจนต่อชนบท ทำให้ผู้หญิงภาคเหนือต้องล่องใต้ ผู้ชายต้องไปขายแรงงานยังเมืองหลวงและต่างจังหวัด จนสาวดอกคำใต้เป็นแบรนด์ด้านการขายบริการที่คนทั่วไปรับรู้ ทั้ง ๆ ที่สาวจากจังหวัดและภาคอื่น ๆ ก็ประสบชะตากรรมของการพัฒนาเช่นเดียวกันกับสาวดอกคำใต้ สาวจังหวัดพะเยา

“ปัญหาคือ การรับรู้ต่อภาพลักษณ์สาวดอกคำใต้ของคนกรุงเทพฯ และชนชั้นกลาง ยังคงฝังหัวและไม่ได้สลัดหลุดไปเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลง ทัศนะในเชิงดูถูกเหยียดหยามสาวพะเยากลับยังคงอยู่กับสังคมในเมืองหลวง” รศ.ดร.มนตรา กล่าวไว้เมื่อปี 2555 ซึ่งในช่วงนั้นละครโทรทัศน์เรื่อง ‘แรงเงา’ ซึ่งมีเรตติ้งสูงสุดในขณะนั้น มีบทตอนหนึ่งพาดพิงถึงตัวละครเอก ‘มุตตา’ และ ‘มุนินทร์’ ว่าเป็นสาวดอกคำใต้ ในเชิงเหยียดหยามส่อว่าเป็นพื้นที่ของผู้หญิงขายบริการทางเพศ

อีกหนึ่งตัวอย่างก็คือในช่วงปี 2564 สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งตีพิมพ์คำนำลงหนังสือ ระบุเรื่องความรัก การค้าประเวณีและการตกเขียวของสาวดอกคำใต้ และยังเป็นตำนานการค้าประเวณีจนมาถึงยุคโควิด-19 รวมทั้งมีข้อความว่า “หญิงสาวดอกคำใต้ยังคงค้าประเวณีไม่ต่างจากเมื่อประมาณกว่าครึ่งศตวรรษ” และข้อความอื่นๆ กรณีนี้ได้ทำให้กลุ่มสตรีอำเภอดอกคำใต้ ได้ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมถึงการเหมารวมและไม่อัพเดทข้อมูล

ในครั้งนั้น นิตยา นิมิตสกุล ที่ปรึกษากลุ่มสตรีอำเภอดอกคำใต้ กล่าวไว้ว่า “การที่นักเขียนที่มีชื่อเสียงระดับประเทศขุดคุ้ยเอาเรื่องราวในอดีตขึ้นมาตีพิมพ์ระบุถึงสตรีอำเภอดอกคำใต้มันไม่ถูกต้อง ไม่เป็นความจริงเลยและไม่ยุติธรรมสำหรับผู้หญิงดอกคำใต้ ดังนั้นชาวดอกคำใต้ไม่ยอมเป็นอันขาด จะให้ใครมาดูถูกเหยียดหยามเกียรติและศักดิ์ศรีของพวกเรา และขอฝากไปถึงสำนักพิมพ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งสถานีโทรทัศน์ทุกช่องว่าพวกเราผิดด้วยหรือที่พวกเราเกิดมาหน้าตาดี พวกเราผิดด้วยหรือที่เราเกิดมาเป็นสตรีดอกคำใต้”

ในด้านหนึ่งบาดแผลและการตีตรานี้ ก็ได้ทำให้ผู้หญิงดอกคำใต้ได้ลุกขึ้นมาปกป้องศักดิ์ศรีของพวกเธอ ไม่ว่าจะเป็นครูมุกดา อินต๊ะสาร เจ้าของรางวัลนักต่อสู้เพื่อบรรเทาปัญหาความยากจน (The race Against Poverty Award) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำปี 2542 เคยเล่าไว้ว่า “เมื่อ 40 กว่าปีก่อน หากบอกว่าเป็นคนดอกคำใต้จะถูกมองตั้งแต่หัวจรดเท้า นั่งแอบร้องไห้ทุกครั้ง แต่ก็ยังภูมิใจที่เป็นคนที่นี่” ด้วยการตีตรานี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้ครูมุกดาทุ่มเทต่อสู้ทำทุกอย่างเพื่อให้บ้านเกิดพ้นจากการถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม จนกระทั่งได้รับรางวัลระดับโลก.

ข้อมูลประกอบการเขียน

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง