PAL FEST ปี 2 เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ของเยาวชนละอ่อน Home
เรื่อง : วรปรัชญ์ เมืองยศ
มันจะดีแค่ไหนถ้าหากเรามีพื้นที่นอกห้องเรียน ที่ไม่ใช่แค่กรอบสี่เหลี่ยม มีที่ให้ได้เล่นหรือได้ทดลองทำอะไรที่ทะลุกรอบและไม่ได้มาจากความรู้เพียงด้านเดียว? ไม่รู้ว่าข้อจำกัดอะไรหรือการพัฒนาของรัฐที่มองไม่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้อิสระเปิดกว้างกับเด็กและเยาวชนหรืออะไรก็ตาม แต่ที่อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เยาวชนกลุ่มละอ่อน Home ได้ลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียนร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนและให้ความรู้ผ่านการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เปิดพื้นที่การเรียนรู้หลากหลาย สนุกปลุกความสร้างสรรค์และจินตนาการ จากพื้นที่พื้นที่บ้านหนองเลา และบ้านธาตุภูซาง ค่อย ๆ ก่อเกิดเป็น “ภูซางเฟสติวัล” หรือ Pal Fest เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2566 โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว ท่ามกลางพื้นที่กว้างในอ้อมกอดของธรรมชาติในบรรยากาศเย็น ๆ ของอุทยานแห่งชาติน้ำตกภูซาง และกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งซุ้มกิจกรรม วงเสวนา ดนตรี
“การเรียนรู้ในห้องเรียนมีจำกัด การเรียนรู้ในห้องเรียนคือกำหนดไว้แล้ว เราไม่ได้เป็นคนเลือกเอง ถึงแม้จะมีวิชาชุมนุมมาแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ตอบโจทย์นักเรียนที่อยากเรียนรู้”
ใบเฟิร์น-ภัทราวดี อุทธิยัง เยาวชนกลุ่มละอ่อน Home บอกเล่าถึงข้อจำกัดในห้องเรียนที่นำมาสู่การก้าวออกมาสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน และนำมาสู่การทำภูซางเฟสติวัล เพื่อเปิดโลกการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ในอำเภอภูซาง
ห้องเรียนนักสืบสายน้ำ
สายน้ำเอื่อยเฉื่อยไหลรินลงมาจากยอดน้ำตกภูซาง พร้อมบรรยากาศไม่ร้อนและไม่เย็นจนเกินไปเหมาะกับการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน และอะไรจะดีไปกว่าการที่เท้าเราจุ่มลงไปในน้ำ ฝ่าเท้าสัมผัสก้อนหินและตะไคร่น้ำลื่น ๆ น้ำเย็น ๆ ไหลผ่านง่ามเท้า พร้อมกับการเรียนรู้ไปด้วยขณะเล่นน้ำ
นักสืบสายน้ำ ร่วมนำเยาวชนมาสำรวจระบบนิเวศของแม่น้ำดูคุณภาพน้ำใสเขียวและตัวบ่งชี้คืออะไร นำเยาวชนสำรวจสัตว์ใต้น้ำที่เป็นตัวชี้วัดว่าแหล่งอาศัยหรือแม่น้ำนั้นเป็นเช่นไรเพื่อให้ศึกษาว่าแหล่งน้ำนั้นดีหรือไม่ดีและเข้าใจในธรรมชาติมากขึ้นสมชื่อกับการมีคำว่านักสืบนำหน้า
“หากพูดถึงการเรียนรู้ในห้องเรียน การเรียนรู้ในห้องเรียนมีความตึงเครียดเกินไป ทำให้สร้างความเข้าใจได้ยาก แต่สำหรับหนูการเรียนนอกห้องเรียนทำให้ได้เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ และได้เรียนรู้จากตัวเองว่าได้รับอะไรจากที่เรียนรู้บ้าง ”
เนเน่-กนกวรรณ อารีย์กุล เยาวชนกลุ่มละอ่อน Home ที่อาสาเป็นผู้นำการเรียนรู้นักสืบสายน้ำบอกกับเราถึงความน่าสนใจของการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทั้งนี้นักสืบสายน้ำเองก็ช่วยเปิดโลกให้เห็นความสำคัญของสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ รวมถึงสีของน้ำด้วยเช่นกัน
“อย่างจิ้งโจ้น้ำและแมลงปอถือเป็นตัวชี้วัดว่าคุณภาพน้ำที่นี่ดีมาก กิจกรรมนักสืบสายน้ำก็ช่วยย้ำว่าเราจะช่วยกันปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมได้ยังไง แม้จะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับแม่น้ำโดยตรงอย่างการแยกขยะแต่มันคือเรื่องเดียวกัน”
ธรรมชาติจึงเปรียบเสมือนห้องเรียนอีกห้องหนึ่งที่มีเพดานคือท้องฟ้า มีพื้นดินคือพื้นห้องเรียน มีผนังคือสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติรอบตัว ให้เยาวชนสามารถเรียนรู้ได้อย่างอิสระไม่ว่าอยู่แห่งหนใด ขอแค่เพียงมีพื้นที่ที่เปิดให้กับเยาวชนได้เรียนรู้และเข้าใจตนเอง
ห้องเรียน Phusang On Table
การเรียนรู้บนจานอาหารโดยวัตถุดิบจากธรรมชาติและภายในชุมชน รังสรรค์เมนูโดยเหล่าเชฟเยาวชนละอ่อน Home ที่ชวนทุกคนมาร่วมรับรู้ถึงรสชาติ ที่มาที่ไปของวัตถุดิบ รวมไปถึงขั้นตอนและกระบวนการ แม้ในหลายเมนูจะมีความยากที่กว่าจะถักทอหลอมรวมเป็นอาหาร
“การเรียนรู้นอกห้องเรียนช่วยให้เรามีประสบการณ์ที่เป็นของจริง ที่ทำให้เราไม่ใช่เรียนแค่ในห้องแล้วก็ไม่ได้ลงมือทำ เรียนในห้องเราอาจจะเก่งแต่พอมาทำจริง ๆ เราอาจจะทำไม่ได้เหมือนที่เราเรียนมา แต่การที่เราได้มาทำจริง ๆ ก็จะทำให้การเรียนของเราไปได้ พอเราได้ลงมือทำจริง ๆ เราก็จะรู้และจะจำได้ดีกว่าเรียนในห้อง”
ไหม-ณัฐนิชา จินดาประภาพร เยาวชนที่เพิ่งเริ่มมาทำกิจกรรมนอกห้องเรียน พูดถึงคุณค่าของการออกมาข้างนอก และมองเห็นว่าพอได้ลงมือทำอะไรสักอย่าง แม้จะถูกบ้างผิดบ้าง แต่ก็สร้างสรรค์บทเรียนใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง
“เราเข้าใจว่า ว่าผักหรือว่าอาหารแต่ละอย่างจะมีที่มาที่ไป เราก็จะรู้ประวัติศาสตร์ เราก็จะรู้ว่าเหตุการณ์มันเกิดอะไรขึ้น ได้ลงมือทำอาหารจริง ๆ แล้วก็จะให้เราจำได้เกี่ยวกับสิ่งที่เราจะทำ เราก็จำได้ดีกว่าการที่เราได้เรียนในห้อง เพราะว่ามันเป็นการที่เราได้ลงมือทำค่ะ”
โดย แอมมี่-กัญธิมา มงคลดี พี่เลี้ยงกลุ่มละอ่อน Home ได้เล่าเสริมถึงการเรียนรู้ของเยาวชนผ่านอาหารไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ถ้าจะยกตัวอย่างอาหารชนิดหนึ่ง แอมเลือกข้าวแคบมันอ้อนบดมะพร้าว ท๊อปด้วยลำไยและสัปปะรดซึ่งมันพิเศษตรงที่ว่าเมนูนี้มันเชื่อมกับชุมชนแบบเหนียวแน่น เพราะว่าทุกอย่างมันมาในชุมชน อย่างข้าวแคบเองคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนไม่ใช่ว่าเพิ่งทำแต่ว่าทำกันมานานแล้ว ตัวข้าวแคบเองเวลาคนมาเยี่ยมบ้านจะทอดให้แขก เวลามีงานบุญที่วัดอะไรเขาก็จะทอดไปรวมกันเพื่อที่จะกินกัน เป็นขนมง่าย ๆ ถ้าให้เทียบคือการต้อนรับ แล้วในส่วนของ ‘มันอ้อน’ มันอ้อนเป็นตระกูลมันมือเสือแต่ว่าอยู่ลึกกว่ามันมือเสือมาก แล้วในโพรงเป็นหนามหมดเลย คนที่จะได้กินมันอ้อนคือคนที่เก่ง เพราะว่าขุดยากมาก ถ้าใช้จอบขุดมันจะหักหรือว่าแตกเลยทันทีเพราะว่าเขาเปราะบางมาก ดังนั้นคนที่จะได้กินมันอ้อนคือคนที่ค่อย ๆ ขุดแล้วก็เอาหนามในโพรงออกพร้อมกับเอาออกมา แล้วเอาไปบ่มขี้เถ้าขั้นต่ำสี่ชั่วโมง เขาจะไม่เผาไฟโดยตรงแต่เขาจะใช้การบ่มเพราะว่าในมันอ้อนมันมียาง แล้วตัวยางมันเป็นน้ำหวาน คือถ้าเราเผาโดยตรงมันใช้ไฟแรง ดังนั้นการสกัดเอายางมาเป็นน้ำตาลมันจะไม่ออก ดังนั้นต้องบ่มเท่านั้น ความร้อนของขี้เถ้าจะค่อย ๆ ทำให้ยางเปลี่ยนมาเป็นความหวาน ดังนั้นมันอ้อนจะมีความหวานที่ธรรมชาติ มันจะหอม แล้วเวลาเขากินเขาจะขูดมะพร้าว เพื่อให้น้ำกะทิในมะพร้าวไปผสมกับมันอ้อนด้วยมันก็จะมัน หวานและหอม”
ในการเรียนรู้ผ่านการทำทำข้าวแคบมันอ้อนบดมะพร้าวนั้น แอมมี่บอกว่าน้อง ๆ ได้ยกระดับเมนูนี้ในมุมที่ต่างจากสิ่งที่เคยเป็น
“ตีมันให้เป็นมูส ให้มันฟูนุ่ม เป็นครีม มันจะไม่ใช่เหมือนการกินเมื่อก่อนแล้ว ที่เอาไปขยำกับมะพร้าวแล้วก็กิน ส่วนที่ท๊อปปิ้งด้วยลำไย ลำไยเป็นตัวแทนของอำเภอภูซางด้วยเพราะเขาทำลำไยอบแห้งกันเยอะมาก แล้วราคาถูกมากนะ ชาวสวนเขาโค่นทิ้งเยอะ เพราะราคามันถูก แต่ก็มีชาวสวนอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาเก็บสวนลำไยไว้เพื่อขายลำไยอบแห้ง เพราะให้ราคาได้ดีกว่าขายลำไยสด ก็เลยเลือกที่จะหยิบตัวนี้มา ส่วนสัปปะรดกวนเนี่ยเป็นของตำบลสบบง เอามาตัดรสชาติ ข้าวแคบก็มันเค็ม มันอ้อนก็หวานมันเค็ม แล้วตัวสัปปะรดกวนก็ใช้เป็นตัวตัดรสชาติได้เลย ดังนั้นเมนูนี้มันมาจากชุมชนของชุมชนโดยชุมชนอย่างแท้จริง”
นี่เป็นแค่เมนูเท่านั้นแต่ในกระบวนการเรียนรู้ได้ชุบชูให้เหล่าเยาวชนพุ่งทะยานไปได้ไกลยิ่งขึ้น ผ่านการกลับไปค้นหาที่มาที่ไปของอาหารที่กินและอยู่ในความทรงจำ
“อย่างไก่ต้มสมุนไพรเป็นเมนูของพี่น้องชาติพันธุ์ม้ง เราไม่รู้วิธีการทำอะไรเลย น้องเขาก็มาทำให้ดูมาทำให้ชิม ซึ่งเรามองว่านี้แหละคือเพชรของม้ง แล้วน้องก็มาเล่าให้เราฟังว่าเขาก็อยากทำ อยากเอาไปเสนอในชุมชนเขา แล้วมันไม่ใช่แค่เอาเมนูไปเสนอแต่ว่ามันทำงานกับวิธีคิดของน้องเขาด้วย เพราะว่าตอนที่เขามาเล่าให้เราฟังเขาเล่าแต่ความเชื่อว่าม้งอยู่บนดอย เดินขึ้นดอยทำงานเจ็บร่างกาย ก็เลยต้องกินไก่ต้มกับสมุนไพรเพื่อให้มันหาย แต่พอเราให้น้องเขาค้นเรื่องทำไมถึงหายเวลากินไก่ต้มสมุนไพรที่น้องว่า เขาก็ได้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งมาซึ่งคือด้านวิทยาศาสตร์ ไก่เป็นโปรตีนชั้นดีเลย แล้วสมุนไพรเป็นตัวขับทำให้เลือดไหลเวียนดี ฉะนั้นโปรตีนจากไก่จะไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายทำให้เซลล์ฟื้นฟูบวกกับเลือดลมไหลเวียน ทำให้สุขภาพดีขึ้น”
Pal Fest ปี 2 เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ ยังคงย้ำความสำคัญว่าพื้นที่เรียนรู้ต้องเปิดให้เด็กมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น ลงมือปฎิบัติ ร่วมกันทำกิจกรรม และหวังว่าจะมีพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เปิดกว้างเช่นนี้อยู่ตลอด และจะดียิ่งขึ้น หากพื้นที่การเรียนรู้ที่แปลกใหม่เช่นนี้ได้รับความนิยม และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้แสวงหาความสนใจที่นอกเหนือจากโรงเรียน
“อยากให้อำเภอภูซางมีพื้นที่จัดกิจกรรมมากกว่านี้ คือตอนนี้มีแค่น้ำตก แล้วเราก็ต้องมีหลายขั้นตอนอยู่กว่าจะได้สถานที่ที่เด็กมันจะได้รวมกันได้ ถ้าอำเภอภูซางมีพื้นที่ที่เป็นใจกลางหรือเป็นสิ่งที่เด็กเห็นว่าปลอดภัยสำหรับเขา เราก็อยากให้ผู้ใหญ่รับฟังว่า ภูซางมีแต่ป่าซึ่งเด็กก็ไม่ได้ชอบป่า ก็อยากให้มีพื้นที่ให้กับเด็กบ้าง อย่างเช่นลานเสก็ตที่เขานิยมกันอยู่ช่วงหนึ่ง เขาก็รู้แล้วว่ามันเป็นจุดที่เขาไปกันและก็เป็นจุดที่เยาวชนสนใจและก็อยากไป”
ใบเฟิร์นทิ้งท้ายไว้ก่อนที่กิจกรรมในวันนี้จะจบลง แต่การสร้างพื้นที่เรียนรู้ก็ยังคงไปต่อ
และหวังว่าจะเป็นแบบนี้ : )