มนต์รักนักพากย์ เป็นหนังไทยที่ฉายผ่านแพลตฟอร์มสตีมมิ่งภาพยนตร์อย่าง Netflix เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ภาพยนตร์นี้มีฉากแบบย้อนยุคและสีสันสวยงามชวนหลงใหลกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ภาพยนต์ไทยในยุคก่อน หนังเรื่อง มนต์รักนักพากย์ กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร ซึ่งจะพาเราย้อนยุคไปดูอุตสาหกรรมของภาพยนต์ไทยในอดีต ก่อนหน้าที่จะมีโรงภาพยนตร์ในปัจจุบัน ซึ่งหนังเรื่องนี้เป็นการเล่าเรื่องชีวิตของหนังขายยา และเป็นสีสันความบันเทิงของคนในสังคมไทยในอดีต
บทความนี้ไม่ได้มีเนื้อหาที่จะเล่าทุกประเด็นในเรื่อง มนต์รักนักพากย์ แต่เป็นการหยิบยกบางประเด็นที่น่าสนใจ เกี่ยวกับชีวิตของชาวบ้านในอดีตผ่านการรับชมสื่อบันเทิง และดึงเอาบริบทในประวัติศาสตร์ไทย ช่วงทศวรรษที่ 2500-2510 ที่อยู่ในเนื้อเรื่องของหนังเรื่องนี้เพื่ออธิบายเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการรับชมมหรสพของผู้คนในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างในปัจจุบัน ซึ่งเป็นภาพตัวแทนของการรับชมภาพยนตร์ในอดีตที่มนต์รักนักพากย์ พยายามสร้างขึ้นมา
มนต์รักนักพากย์ เป็นภาพยนต์ที่มีคนเขียนบทวิจารณ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งงานการวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ส่วนใหญ่ มักอธิบายความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ผ่านการออกฉายหนังกลางแปลง หรือประวัติศาสตร์ของหนังขายยา การเติบโตของตลาดภาพยนต์ และการรำลึกถึงพระเอกขวัญใจตลอดกาลอย่าง มิตร ชัยบัญชา ซึ่งการพูดถึง มิตร ชัยบัญชา เป็นฉากสำคัญของหนังเรื่องนี้และดูจะเป็นแกนหลักของเรื่อง
นอกจากนี้ยังมี งานของวิวัฒน์ (2566) ได้วิเคราะห์ถึงสุนทรียศาสตร์ของการชมหนังล้อมผ้า ซึ่งผู้เขียนเองก็พยายามจะวิเคราะห์ประเด็นนี้และเพิ่มเกี่ยวกับการรับชมมหรสพของชาวบ้านในอดีต เนื่องจาก ยังไม่มีผู้วิจารณ์ภาพยนต์เรื่องนี้คนไหนอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงด้านการรับชมมหรสพในลักษณะของชาวบ้านเลย การวิจารณ์ภาพยนตร์ในบทความชิ้นนี้จึงมุ้งเน้นไปที่การสร้างเห็นชีวิตของคนต่างจังหวัดในแง่ของการรับชมสื่อบันเทิง
ฉากของภาพยนตร์เป็นการฉายให้เห็นถึงการเดินทางไปจัดฉายหนังกลางแปลงตามงานประเพณีในจังหวัดต่างๆ ในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างในปัจจุบัน ทั้งจังหวัดลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นสถานที่ที่หนังเรื่องนี้ได้การเดินทางไปฉายภาพยนตร์หรือหนังกลางแปลงไปยังสถานที่ต่างๆ ทำให้ได้เห็นประเพณีของต่างจังหวัด และการปราบปรามคอมมิวนิสต์โดยรัฐ
โดยสิ่งที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างสื่อบันเทิงอย่างหนังกลางแปลงกับการเข้าถึงชาวบ้านคือการเข้ามาของถนน จึงทำให้เห็นความสัมพันธ์ของพื้นที่เมืองกับต่างจังหวัดได้ชัดขึ้น เราจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างชนบทกับเมือง การเดินทางไปฉายหนังขายยาตามต่างจังหวัดในบริบทสงครามเย็น
รถฉายหนังกลางแปลงได้เร่ไปตามถนนหนทางที่รัฐได้สร้างขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าถนนนั้นถูกสร้างขึ้นมาไม่ใช่เพื่อการกระจายอำนาจ แต่สร้างเพื่อการขนส่งสินค้า อาวุธ และเสบียงสำหรับขนส่งทหารอเมริกันที่มาใช้ในประเทศไทยและเป็นฐานทัพในการต่อสู้ในสงครามเวียดนาม และเงินผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ถนนมิตรภาพจึงถูกสร้างขึ้นและเอเชียสายอื่นๆ ดังนั้น รถฉายหนังกลางแปลงของหัวหน้ามานิตย์และเครื่องฉายหนังฉบับพกพา จึงเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพื่อฉายหนังได้
การเข้ามาของภาพยนตร์ในเมืองไทยนั้น เกิดขึ้นในยุคสมัยที่ศิลปะการแสดงทุกด้านของประชาชนกำลังคลี่คลายขยายตัวอย่างกว้างขวาง ลิเก จำอวด ลำตัด หนังตะลุง ละครร้อง ฯลฯ ได้ก่อรูปหรือขยายความนิยมในระยะเวลาไม่นานก่อนหน้าการเข้ามาของภาพยนต์
อย่างไรก็ดี การเข้ามาของหนังกลางแปลงก็ไม่ได้ทำให้ลิเก หรือสื่อบันเทิงดั้งเดิมลดน้อยถอยลงไป เพียงแต่เป็นการเข้าถึงสื่อบันเทิงของชาวบ้านมากขึ้น โดยการเข้ามาของหนังกลางแปลงในชุมชนหมู่บ้านเล็ก ๆ ผ่านการจัดมหรสพหลายหลายอย่าง อาทิ งานเฉลิมฉลองทางศาสนา งานบวช งานศพ และงานรื่นเริงที่จัดโดยคนท้องถิ่น มนต์รักนักพากย์จึงฉายให้เห็นชีวิตของหนังขายยา หนังล้อมผ้า หนังจ้างวัด ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น มนต์รักนักพากย์ ยังฉายเห็นถึงฉากการเมืองไทยอย่างเบาบาง ผ่านการผจญภัยระหว่างเสียงปืนกับทหารที่ปะทะอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และจัดผัดจับพลูไปฉายให้กับเหล่าทหารในค่ายอย่างงงๆ รวมไปถึงการฉายหนังให้กับกลุ่มชาติพันธุ์อีกด้วยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างอีกด้วย ซึ่งพื้นที่นี้ก็มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์อยู่สูง
การพากย์หนังซึ่งเป็นจุดเด่นในเรื่องนี้เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของหนังขายยา เนื่องจากผู้ชมสามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครและจิตรวิญญาณของภาพยนต์ได้ด้วยความสามารถและการถ่ายทอดของนักพากย์ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2538) วิเคราะห์เกี่ยวกับผู้ชมและผู้แสดงไว้ว่า ทั้งสองสิ่งนี้มิได้ตัดขาดกันเลย แต่สื่อสารคมนาคมถึงกันอยู่ตลอดเวลาของการแสดงในสภาพเช่นนี้บทที่ตายตัว เช่น การแสดงของฝรั่งหรือการแสดงของราชสำนักไทยในบางตอน ซึ่งตัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้แสดงและคนดูออกจากกันโดยเด็ดขาด
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าการดูหนังเป็นกิจกรรมที่มาควบคู่กับภาวะสมัยใหม่ (modernity) ที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมและมหรสพท้องถิ่นที่มีอยู่แต่เดิม ซึ่งมีมาก่อนวัฒนธรรมการดูหนังแบบเงียบๆไม่ส่งเสียงดัง
ความสำคัญและชีวิตของการดูหนังกลางแปลงของชาวบ้านอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่ตัดขาดจากความเป็นจริง ซี่งภาพยนตร์เรื่องนี้ทำได้อย่างดี กล่าวคือ การดูหนังเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่หน้าโรง มิใช่เพียงบนจอเท่านั้น ยิ่งในชนบทห่างไกลมากๆ ซึ่งจะมีหนังกลางแปลงไปฉายเพียงปีละไม่กี่ครั้ง การดูหนังยิ่งเป็นอุบัติการณ์ทางสังคมที่สำคัญยิ่งของชุมชนไปอีก ซึ่งฉากฉายหนังฉากหนึ่งใน มนต์รักนักพากย์ ที่ต้องรำลึกการจากไปของมิตร ชัยบัญชา เป็นฉากที่ทำให้เห็นสิ่งที่กล่าวมาเป็นอย่างดี
ถึงที่สุดแล้ว งานชิ้นนี้เป็นเพียงการบรรยายภาพความเปลี่ยนแปลงการรับชมมหรสพของชาวบ้าน ที่ภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักนักพากย์ พยายามจะเล่าเรื่องให้เห็นชีวิตของหนังกลางแปลงและจำลองภาพในอดีตขึ้นมา หนังเรื่องนี้จึงให้ภาพ ให้ชีวิตของชาวบ้านในการรับชมสื่อบันเทิงได้เป็นอย่างดี แม้จะเป็นเพียงแค่ภาพยนต์เพียงเรื่องหนึ่งก็ตาม
อ้างอิง
- มนต์รักนักพากย์ ภูมิใจเสนอตัวอย่างภาพยนต์ที่เตรียมพาขึ้นรถเร่ร่อนย้อนรำลึกมนต์เสน่ห์ยุคทองของหนังไทย
- มนต์รักนักพากย์ (2566) ลอง ลีฟ เลิฟ ไทย ซีเนมา – มิตร ชัยบัญชา ฟอร์เอฟเวอร์
- มนต์รักนักพากย์: วันวานที่งดงามและแสนเศร้า
- มนต์รักนักพากย์ จดหมายรักถึงจดหมายรักถึงภาพยนตร์
- ย้อนดูมนต์รัก หูฟัง ปากพูดใน “มนต์รักนักพากย์” ยุคทองของหนังไทยและดาราขวัญใจ มิตรชัย บัญชา
- อำนาจของภาพยนตร์ ว่าด้วยผู้คน เมือง และนิเวศทางวัฒนธรรม เมื่อการดูหนังไม่ใช่แค่เรื่องบันเทิง กับ ดร.วิกานดา พรหมขุนทอง
- นิธิ เอียวศรีวงศ์. โขน คาราบาว น้ำเน่า และหนังไทย: ว่าด้วยเพลง ภาษา และนานามหรสพ. มติชน. 2538
ชอบอ่านวรรณกรรม โดยเฉพาะวรรณกรรมที่บอกเล่าเรื่องราวของคนธรรมดา และงานวรรณกรรมวิจารณ์ ตื่นเต้นทุกครั้งที่อ่าน มาร์กซ์ ฟูโกต์ และแก๊ง post modern ทั้งหลาย ใช้สมุนไพรเป็นเครื่องช่วยเยียวยาจิตใจในโลกทุนนิยมอันโหดร้าย