รำลึก “บุญสนอง บุณโยทยาน” นักสังคมนิยมคนล้านนา เหยื่อทมิฬขวาพิฆาตซ้าย

ช่วงต้นเดือนนี้ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่กระแสความตึงเครียดและความรุนแรงทางการเมืองเริ่มปรากฏให้เห็นในสังคมไทยอีกระลอกหลังจากที่กลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายขวาบุกเข้าทำร้ายมวลชนฝ่ายก้าวหน้าระหว่างการทำกิจกรรมของกลุ่มทะลุวังบริเวณสยามสแควร์ และยังโพสต์ข้อความข่มขู่จะทำร้ายจนถึงขั้นจะเอาชีวิตนักเคลื่อนไหวฝ่ายก้าวหน้า โดยที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ได้พยายามจะป้องกันหรือจับกุมผู้ใช้ความรุนแรงแม้สักคน แต่กลับไล่จับกุมนักเคลื่อนไหวผู้เป็นฝ่ายถูกกระทำแทน พร้อม ๆ กันนี้ กลุ่มมวลชนฝ่ายขวากลุ่มอื่น ๆ ก็พยายามโหมกระแสคลั่งไคล้เทิดทูนตัวบุคคลให้กระพือขึ้นมาอีกครั้ง บรรยากาศเช่นนี้ชวนให้นึกถึงกระแส “ขวาพิฆาตซ้าย” หรือกระแสความรุนแรงโดยฝ่ายขวาที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2519 จนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งเป็นการสังหารหมู่ทางการเมืองที่น่าสลดใจที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ในระหว่างช่วงไหลเชี่ยวของกระแสนี้ ฝ่ายขวาใช้ปฏิบัติการจิตวิทยาสร้างกระแสความเกลียดกลัวฝ่ายซ้ายและกระแส “ปกป้องสถาบัน” ผ่านกลไกการสื่อสารต่าง ๆ และกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายขวาก็ได้ใช้กำลังทำร้ายฝ่ายซ้ายในโอกาสต่าง ๆ เช่น ปาระเบิดใส่การชุมนุมและเดินขบวนของมวลชนฝ่ายซ้าย จนกระทั่งใช้อาวุธลอบสังหารผู้นำมวลชนฝ่ายซ้ายหลายคน ไม่ว่าผู้นำฝ่ายซ้ายดังกล่าวจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ชาวนา กรรมกร หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย

รูปถ่ายบุญสนอง บุณโยทยาน จากหนังสือพิมพ์ เดลิไทม์ (ขอบคุณรูปจาก https://doctorboonsanong.blogspot.com/)

เหยื่อ “ซ้าย” ที่ถูก “ขวา” พิฆาตไปในครานั้นเป็นคนล้านนากันก็หลายคน ส่วนมากเป็นผู้นำชาวไร่ชาวนา เช่น พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ประธานสมาพันธ์ชาวไร่ชาวนาภาคเหนือ นายเกลี้ยง ใหม่เอี่ยม ผู้นำชาวนาห้างฉัตร นายพุฒ ปงลังกา ผู้นำชาวนาเชียงราย ผู้เขียนขอละเรื่องราวของพวกท่านไว้กล่าวถึงในโอกาสถัดไป ในคราวนี้จะกล่าวร่ำรำลึกถึงเหยื่อความรุนแรงฝ่ายขวาชาวล้านนาคนหนึ่งที่ได้มีบทบาทในการเมืองระดับชาติ คือ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน อดีตเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย

จากบ้านประตูหวายถึงกรุงเทพ ฯ และอเมริกา

บุญสนองเป็นคนเชียงราย เกิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2479 ที่บ้านประตูหวาย ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย พ่อของบุญสนองชื่อนายสนอง บุณโยทยาน เป็นอดีตปลัดอำเภอและเทศมนตรีเมืองเชียงราย แม่ของบุญสนองชื่อนางบัวคลี่ (รัตนสัค) บุณโยทยาน เป็นครูโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด ตระกูลทางพ่อของบุญสนองเป็นข้าราชการตำรวจ ดังที่ปู่ของบุญสนองคือ ร.ต.อ.ขุนนเรนทร์พิทักษ์ (สวน บุณโยทยาน) เป็นอดีตสัสดีเมืองเชียงรายและเคยรับราชการตำรวจอยู่ที่เมืองนครลำพูน ส่วนสายตระกูลทางแม่ของบุญสนองเป็นข้าราชการพลเรือน ตาของบุญสนองคือขุนรัตน์ราชธน (สมบุญ รัตนสัค) ชาวพระนครที่ขึ้นมาตั้งรกรากที่เมืองพานและได้รับราชการอยู่ในล้านนา เริ่มต้นชีวิตราชการในตำแหน่งสมุหบัญชีในเมืองเชียงราย ได้ดำรงตำแหน่งเป็นสรรพากรจังหวัดเชียงใหม่และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ช่วยข้าหลวงตรวจการสรรพากรภาคเหนือตอนบน บุญสนองยังมีน้าคนหนึ่งชื่อนายแพทย์สมศาสตร์ รัตนสัค ผู้แทนราษฎรเมืองพาน 7 สมัย ชาวเมืองพานตั้งฉายาจากความใจบุญช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ว่า “ส.ส. คุณหมอเข็มละซาวบาท” นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าบุญสนองมีีญาติเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยอยู่ด้วย สรุปโดยรวมแล้ว บุญสนองมาจากครอบครัวข้าราชการ – การเมือง ดังที่ในยุคของบุญสนองเติบโตขึ้นมานั้น บรรดานักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นมักมีภูมิหลังเป็นข้าราชการมาก่อนทั้งสิ้น จึงนับได้ว่า บุญสนองคงจะรูู้จักและคุ้นชินกับการเมืองมาตั้งแต่วัยเยาว์แล้ว

บุญสนอง บุณโยทยาน - วิกิพีเดีย
รูปถ่ายหน้าตรงของบุญสนอง (ขอบคุณรูปจาก https://doctorboonsanong.blogspot.com/)

และแน่นอนว่าบุญสนองมีภาษาแม่เป็น “คำเมือง” ดังที่ประเดิม ดำรงเจริญ ผู้นำนักศึกษาช่วง 14 ตุลา ฯ ได้เล่าให้ฟังว่าเขากับบุญสนองมักสนทนากันเป็นคำเมืองเสมอ เว้นแต่เมื่อมีชาวกรุงเทพ ฯ ร่วมการสนทนา จึงจะใช้ภาษากลาง และบุญสนองก็เรียกตัวเองว่าเป็น “คนเมือง” บ่อยครั้งเมื่อบุญสนองได้เติบใหญ่กลายเป็นนักการเมืองซึ่งจะต้องลงมาหาเสียงในพื้นที่ภาคเหนือ อันเป็นบ้านเกิดของตน

บุญสนองเข้าเรียนชั้นต้นที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม โรงเรียนประจำจังหวัดเชียงราย ต่อมาเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนปรินซ์รอแยล โรงเรียนเอกชนชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นจึงได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บุญสนองเป็นคนเรียนดี จึงมักได้ทุนการศึกษาประเภทการเรียนดีเด่นอยู่เป็นประจำ และสามารถสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ.2502 โดยได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หลังจบการศึกษาแล้ว บุญสนองเริ่มต้นชีวิตการทำงานโดยได้รับการว่าจ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักข่าวสารอเมริกัน (United States Information Service: USIS) ซึ่งเป็นหน่วยงานเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาดำเนินงานเผยแพร่สื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยช่วงสงครามเย็น 

หลังจากเริ่มต้นชีวิตการทำงานได้เพียงพักหนึ่ง บุญสนองสามารถสอบชิงทุน Fulbright-Heyes ซึ่งเป็นทุนที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาแจกให้ข้าราชการและปัญญาชนของมิตรประเทศที่ร่วมต้านคอมมิวนิสต์ด้วยกันได้ไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา บุญสนองจึงได้ไปศึกษาต่อด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยแคนซัสในปี พ.ศ.2506 และสำเร็จการศึกษาในปีถัดมา หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว บุญสนองกลับมารับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ราว 2-3 ปี จากนั้นก็สามารถสอบชิงทุนจากมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาได้อีกครั้ง กล่าวกันว่าเขาผ่านการสอบคัดเลือกให้ได้รับทุนการศึกษาของมูลนิธิฟอร์ดด้วยแต่สละสิทธิ์ไป บุญสนองเลือกไปศึกษาต่อด้านสังคมวิทยาเช่นเดิมอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำในกลุ่มไอวีลีก (Ivy League) ของสหรัฐ ฯ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ยังมีปัญญาชนชาวไทยคนอื่น ๆ ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลหลายคน อาทิ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อานันท์ กาญจนพันธุ์ ปรานี วงษ์เทศ อคิน รพีพัฒน์ ซึ่งปัญญาชนเหล่านี้ล้วนแต่เติบโตตามเส้นทางวิชาการและได้เป็นนักคิดนักวิชาการคนสำคัญของไทยในเวลาต่อมา นับได้ว่าเพื่อนร่วมสำนักรุ่นราวคราวเดียวกับบุญสนองนั้นล้วนแต่เป็น “ครูใหญ่” คนสำคัญของวงการวิชาการไทยในปัจจุบัน รวมถึงตัวบุญสนองเองก็จะได้มีบทบาทสำคัญในการวางหลักและพัฒนาแวดวงสังคมวิทยาของไทยในเวลาต่อมา

บุญสนองกับอเมริกายุค “บุปผาชน” เบ่งบาน

ในช่วงที่ศึกษาอยู่ที่สหรัฐ ฯ บุญสนองได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมสังคมวิทยาอเมริกัน (American Sociology Association) และสมาคมเอเชียศึกษา (Association for Asian Studies) อันเป็นพื้นที่นำเสนอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของบรรดานักวิชาการปัญญาชนอเมริกัน โดยกล่าวกันว่าบุญสนองได้เข้าร่วมและสร้างผลงานทางวิชาการไปนำเสนอแลกเปลี่ยนในงานประชุมวิชาการของสมาคมเหล่านี้เป็นประจำ ว่าด้วยความเป็นนักวิชาการของบุญสนองนั้น บุญสนองได้พิสูจน์ตัวเองอย่างแจ่มชัดว่าเป็นนักวิชาการระดับ “หัวกะทิ” อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะหลังจากที่เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลแล้ว เขาได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดซึ่งเป็นที่ยกย่องกันว่าเป็นมหาวิทยาลัย “อันดับหนึ่งของโลก” อยู่ 1 ปี และที่มหาวิทยาลัยฮาวายซึ่งก็เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำเช่นกันอีก 1 ปี ชื่อของบุญสนองจึงเป็นที่รู้จักกันในแวดวงวิชาการสังคมวิทยาของสหรัฐ ฯ ในยุคนั้น กระทั่งเมื่อกลับมาประเทศไทยแล้ว บุญสนองก็ยังคงมีบทบาทในเวทีวิชาการนานาชาติในฐานะกรรมการสมาคมสังคมวิทยาโลก นับได้ว่าเป็นหนึ่งในนักวิชาการหนุ่มดาวรุ่งอนาคตไกลคนหนึ่งของประเทศ

การไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาไม่เพียงเปิดโอกาสให้บุญสนองได้ฉายความเป็นนักวิชาการของตนอย่างเต็มที่ แต่ยังช่วยให้บุญสนองได้เปิดโลกทัศน์ทางการเมืองอย่างกว้างขวาง ช่วงที่บุญสนองและนักวิชาการร่วมรุ่นได้ร่ำเรียนอยู่ที่สหรัฐ ฯ นั้น กระแสความตื่นตัวทางการเมืองกำลังไหลเชี่ยวกรากในสังคมอเมริกันหลังความสำเร็จของขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองอันนำโดยบาทหลวงมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ อเมริกันชนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยหันมาสนใจความคิดก้าวหน้าของฝ่ายซ้าย คนรุ่นใหม่เหล่านี้เรียกตัวเองว่า “บุปผาชน” ผู้มุ่งหมายจะจรรโลงสังคมให้งดงามดังดอกไม้ พวกเขาส่งเสียงเรียกหาสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และสันติภาพ พร้อมกันกับที่วิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมกดขี่ ขูดรีด ทำลายล้างของรัฐบาลและชนชั้นนำอเมริกันซึ่งพวกเขาเห็นว่าเป็นพวก “จักรวรรดินิยม” ท่ามกลางกระแสบุปผาชนดังนี้ ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอเมริกันก็เติบโตและขยายตัวออกอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ ในสหรัฐ ฯ ต่างลุกฮือขึ้นเคลื่อนไหวต่อต้านความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมสหรัฐ ฯ พร้อมกันกับที่ต่อต้านสงครามเวียดนามซึ่งถูกมองว่าเป็นความไม่เป็นธรรมที่สหรัฐ ฯ ก่อกับประเทศอื่น จึงนับว่าบุญสนองไม่เพียงได้ไปเรียนหนังสือเท่านั้น แต่ยังได้ไปชมการเบ่งบานของ “ดอกไม้แห่งยุคสมัย” ในประเทศผู้นำโลกเสรีด้วย

MLK's 1960s visits to Cornell still resonate today
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เยี่ยมเยือนมหาวิทยาลัยคอร์แนล (ขอขอบคุณรูปจาก The College of Arts and Science, Cornell University https://as.cornell.edu/news/mlks-1960s-visits-cornell-still-resonate-today)

ยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยคอร์แนลที่บุญสนองพำนักและศึกษายังถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางทางปัญญาที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของฝ่ายก้าวหน้าอเมริกันในยุคนั้น จะเปรียบเทียบว่าเป็นประหนึ่ง “ธรรมศาสตร์” ของสหรัฐ ฯ ก็คงจะไม่ผิดนักเพราะคอร์แนลเป็นทั้งศูนย์การเคลื่อนไหวของขบวนการสิทธิพลเมืองและขบวนการสันติภาพต่อต้านสงครามเวียดนามที่ขับเคี่ยวอยู่ในช่วงเวลาที่คอร์แนลของบุญสนอง คอร์แนลในช่วงที่บุญสนองศึกษาอยู่นั้นเต็มไปด้วยเวทีปราศรัยของผู้นำนักศึกษา การสัมมนาอภิปรายของพวกฝ่ายซ้าย และใบปลิวต่อต้านสงครามเวียดนามซึ่งแจกจ่ายทั่ววิทยาเขตกันเป็นประจำ 

ในปี พ.ศ.2512 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่บุญสนองศึกษาอยู่ที่คอร์แนลนั้น เกิดการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาเพื่อประท้วงการคุกคามและเลือกปฏิบัติต่อนักศึกษาเชื้อสายอัฟริกัน ซึ่งจะถูกจดจำในนาม “เหตุการณ์หอประชุมวิลลาร์ด สเตรต” ตามชื่อของอาคารอันเป็นสถานที่ชุมนุม ในการชุมนุมครั้งนั้น กลุ่มนักศึกษาผู้ประท้วงได้เข้ายึดอาคารวิลลาร์ด สเตรตอันเป็นที่ตั้งขององค์การนักศึกษา เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มนักศึกษาคนขาวฝ่ายขวาและกลุ่มนักศึกษาผู้ประท้วง จนถึงขั้นมีการพกพาอาวุธกันในเหตุชุลมุนดังกล่าวด้วย (ซึ่งดูจะเป็นเรื่องปกติของสหรัฐ ฯ ที่มีการพกพาอาวุธปืนในการชุมนุมตราบที่อาวุธนั้นไม่ถูกใช้ยิงใคร) เหตุการณ์ชุมนุมครั้งนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการนักศึกษาอเมริกัน ณ จุดที่มีพละกำลังสูงสุด และเป็นหมุดหมายสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชนของสหรัฐ ฯ เรียกได้การชม “บุปผาเบ่งบาน” ของบุญสนองนั้น ได้ยืนชมอยู่กลางสวนดอกไม้เลยทีเดียว 

Toting a rifle and raising a clenched fist, Thomas W. Jones, spokesman for the Afro-American Society at Cornell University at Ithaca, N.Y., marches out of a student union hall after black militants occupied the building in a showdown over race relations, April 20, 1969. (AP Photo/Steve Starr)
เหตุประท้วงที่ Willard Straight Hall ที่บุญสนองอาจได้พบเห็น (ขอขอบคุณภาพจาก Ithaca Journal https://www.ithacajournal.com/story/news/local/2019/04/12/cornell-willard-straight-hall-takeover-thomas-jones-1969-civil-rights-movement/3368094002/)

การได้สัมผัสบรรยากาศการรวมตัวแสดงพลังและความตื่นตัวภายใต้กระแสความคิดก้าวหน้าเช่นนี้คงจะปลุกความคิดและจิตใจของบุญสนองไม่น้อย ดังที่เพื่อนของเขากล่าวว่าก่อนบุญสนองจะไปศึกษาต่อที่อเมริกานั้น เขาเป็นคนที่ “โปรอเมริกัน” หรือนิยมตะวันตกเป็นอย่างมาก แต่เมื่อกลับมาจากอเมริกันแล้ว กลับมีความคิดฝ่ายซ้ายวิพากษ์วิจารณ์อเมริกัน ซึ่งนับกันว่าเป็นความคิดก้าวหน้าในสมัยนั้น นอกจากนี้ บุญสนองยังมีความสนใจต่อเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย อันเป็นปัญหาคลาสสิกที่ฝ่ายซ้ายจะต้องให้ความสนใจเป็นปัญหาหลัก ดังจะเห็นได้ว่า วิทยานิพนธ์ของบุญสนองทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ได้แก่ “คำอธิบายทางสังคมวิทยาของต้นกำเนิดการพัฒนาที่แตกต่างกันในญี่ปุ่นและประเทศไทย” (A Sociological Explanation of the Origins of Differential Development in Japan and Thailand) และ “การเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบเลือกปฏิบัติของไทย: การศึกษาด้วยการอ้างอิงเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น” (Thai Selective Social Change: A Study with Comparative Reference to Japan) ตามลำดับ นอกจากนี้ บทความวิชาการส่วนมากของบุญสนองก็มักจะเก่่ยวข้องกับเรื่องความเหลื่อมล้ำและปัญหาการเมืองในเชิงสังคมทั้งสิ้น

สรุปได้ว่า นอกเหนือจากความรู้และชื่อเสียงทางวิชาการ ความคิดก้าวหน้าและจิตใจกล้าหาญจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บุญสนองได้พบระหว่างการศึกษาต่อที่สหรัฐ ฯ

แต่เหนือสิ่งอื่นสิ่งใด ในระหว่างที่อยู่ที่สหรัฐอเมริกานั้น บุญสนองยังได้พบกับทัศนีย์ นักเรียนทุนรุ่นพี่ซึ่งกำลังศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ และจะได้เป็นคู่ชีวิตของบุญสนองในอนาคต ทั้งสองคนพบกันที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ขณะที่ทัศนีย์กำลังศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยยอร์ชทาวน์ หลังกลับมาประเทศไทยแล้ว บุญสนองและทัศนีย์ได้คบหากันต่อและจัดงานวิวาห์กันในปี 2519 ในฐานะภรรยา ทัศนีย์เป็นผู้หนึ่งที่จะได้สนับสนุนบุญสนองบนเส้นทางการเมืองที่บุญสนองจะได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญ และจะเป็นผู้ที่ยืนหยัดเคียงข้างบุญสนอง แม้เมื่อบุญสนองไม่อาจมีชีวิตยืนหยัดเคียงข้างทัศนีย์ได้แล้ว

เป็นกลางทางวิชาการได้ แต่เป็นกลางทางการเมืองไม่ได้

บุญสนองกลับมาประเทศไทยในปี พ.ศ.2515 เขาสอนประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อันเป็นที่ทำงานเดิมก่อนจะได้รับทุนไปเรียนที่สหรัฐ ฯ ในช่วงที่บุญสนองกลับมาจากสหรัฐ ฯ นั้น สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงตื่นตัวทางการเมืองภายหลังการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร สวนทางกับกระแสความนิยมของรัฐบาลระบอบถนอมที่ตกต่ำลงเรื่อย ๆ ขบวนการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาภายใต้การนำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) เริ่มมีอิทธิพลในสังคมการเมืองไทยเด่นชัดขึ้นหลังจากที่อ่อนแรงไปจากการถูกควบคุมอย่างเข้มงวดมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ ในระยะ ศูนย์นิสิต ฯ เริ่มแสดงบทบาทในพื้นที่สาธารณะจากการรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น อันถือได้ว่าเป็นการ “ทดสอบกำลัง” ของขบวนการนิสิตนักศึกษาก่อนการชุมนุมใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปีต่อมา ซึ่งบุญสนองเองก็จะได้มีส่วนร่วมด้วย 

ในช่วงกลางปี 2516 เค้าลางการล่มสลายของระบอบถนอมเริ่มเผยให้เห็นจากการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาและประชาชนเพื่อคัดค้านการกระทำของอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ได้ลบชื่อนักศึกษา 9 ผู้ซึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์การต่ออายุราชการของจอมพลถนอม กิตติขจรให้ตัวเองสามารถดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดต่อได้อีกหนึ่งปี การประท้วงครั้งนั้นลุกลามใหญ่โตและขยายข้อเรียกร้องไปจนถึงให้มีการร่างรัฐธรรมนูญบังคับใช้โดยเร็ว ผลการประท้วงครั้งนั้นไม่เพียงมหาวิทยาลัยรามคำแหงจะคืนสถานะนักศึกษาให้นักศึกษาทั้ง 9 คนที่ถูกลบชื่อด้วยเหตุออกมาเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเพียงเท่านั้น แต่ยังผลให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงลาออกจากตำแหน่ง และรัฐบาลตกลงให้สัญญาว่าจะร่างรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ฝ่ายผู้นำนักศึกษาซึ่งได้จัดการประท้วงในครั้งนั้นให้คำมั่นว่าจะจัดการชุมนุมใหญ่อีกครั้งหากรัฐบาลไม่เร่งร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 6 เดือน ความเพลี่ยงพล้ำของฝ่ายรัฐบาลดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดการตั้ง “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคม นำโดยธีรยุทธ บุญมี ผู้นำนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญได้ออกคำประกาศเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยเร็ว คำประกาศนั้นมีผู้ร่วมลงชื่อกลุ่มแรก 100 คน โดยหนึ่งใน 100 รายชื่อนั้นมีชื่อของบุญสนอง บุณโยทยานอยู่ด้วย ต่อมามีการจับกุมสมาชิกกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่นำใบปลิวคำประกาศดังกล่าวไปแจกจ่ายต่อสาธารณชนจำนวน 11 คน (ซึ่งจะเรียกคนเหล่านี้ต่อมาว่า “ขบถรัฐธรรมนูญ”) การจับกลุ่มครั้งนั้นเป็นชนวนเหตุให้เกิด “กรณี 14 ตุลาฯ” ซึ่งยังผลให้รัฐบาลระบอบถนอมล่มสลายและถูกบันทึกไว้ว่าเป็นชัยชนะครั้งใหย่ที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวภาคประชาชนไทย

เปิดบันทึก ธัญญา ชุนชฎาธาร 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์ 14 ตุลา
การจับกุมกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ (ขอบคุณภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com/history/article_56781)

แม้บุญสนองจะไม่ได้อยู่ร่วมเหตุการณ์นั้น เพราะในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เขากำลังเข้าร่วมการประชุมวิชาการที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อนำเสนอบทความวิชาการของเขา เรื่อง “สังคมนิยมและการเปลี่ยนแปลงสังคมในประเทศไทย” แต่เมื่อเขาทราบข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาก็รีบบินกลับมาประเทศไทยทันทีด้วยเที่ยวบินแรกที่เขาหาได้

ความสำเร็จของขบวนการ 14 ตุลา ฯ ช่วยโหมให้สายลมความคิดหัวก้าวหน้าแบบฝ่ายซ้ายพัดแรงยิ่งขึ้นในสังคมไทย ไม่ต่างกับที่บุญสนองได้เคยเห็นในสังคมสหรัฐ ฯ หลังการเคลื่อนไหวของขบวนการสิทธิพลเมือง กลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวต่างพยายามจะ “ไปต่อ” เพื่อผลักดันสังคมให้บรรลุถึงอุดมคติของความก้าวหน้าตามที่หลายคนใฝ่ฝัน สำหรับบุญสนองนั้น นอกจากจะมีความก้าวหน้าในวิชาชีพโดยได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกู่วิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในปี พ.ศ.2517 แล้ว บุญสนองยังคงเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชนอย่างต่อเนื่อง ช่วงปี 2517-2518 นั้น เรียกกันว่าเป็น “ช่วงเวลาแห่งการสัมมนา” เนื่องจากกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ นิยมจัดสัมมนาทางวิชาการ (เหมือนที่ปัจจุบันกลุ่มเคลื่อนไหวมักจัด “เสวนาวิชาการ” อยู่บ่อย ๆ) เป็นประจำ โดยมักเชิญนักวิชาการหัวก้าวหน้ารุ่นหนุ่ม ๆ ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศมาบรรยายในงานสัมมนา บุญสนองก็เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ได้รับเชิญไปปรากฏตัวในงานสัมมนาเหล่านั้นบ่อยครั้ง

บุญสนองยังเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มนิสิตนักศึกษาและประชาชนอย่างต่อเนื่อง เมื่อคราวเกิดวิกฤติการณ์มายาเกซ ซึ่งเรือรบอเมริกัน มายาเกซ ได้ล่วงล้ำเข้ามาในน่านน้ำอธิปไตยไทยโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้านั้น บุญสนองก็ได้ไปร่วมการชุมนุมประท้วงของศูนย์นิสิต ฯ ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ถนนวิทยุด้วย ครั้งนั้น กล่าวกันว่าบุญสนองเป็นคนพาผู้ประท้วงปลดตราสัญลักษณ์นกอินทรีหน้าประตูสถานทูตลงเลยทีเดียว และเมื่อธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้ประสานงานกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญได้พาสมาชิกกลุ่มเรียกร้อง ฯ จำนวนหนึ่งก่อตั้ง “กลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ปช.ป.ช.)” นั้น บุญสนองก็ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในกรรมการประสานงานของกลุ่มดังกล่าวด้วย โดยกลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงข้อเท็จจริงกรณีหน่วยความมั่นคงสังหารหมู่ชาวบ้านนาทราย ตำบลนาสิงห์ อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ (ก่อนหน้านั้นคืออำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย) กลายเป็นเหตุอื้อฉาวทางการเมืองครั้งใหญ่ในยุคนั้น

สุรชาติ บำรุงสุข : 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (10) ยุคต่อต้านจักรวรรดินิยม -  มติชนสุดสัปดาห์
การชุมนุมประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาจากกรณีมายาเกซ (ขอบคุณภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์ https://www.matichonweekly.com/column/article_16355)

และในปีเดียวกันนั้นเอง บุญสนองตัดสินใจเริ่มต้นบทบาททางการเมืองที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา คือการร่วมกับนักเคลื่อนไหวและนักการเมืองหัวก้าวหน้าหลายคน เช่น ไขแสง สุกใส ฟัก ณ สงขลา ปาล พนมยงค์ ฯลฯ ก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย โดยตัวบุญสนองเองเป็นตัวตั้งตัวตีคนสำคัญคนหนึ่งในการก่อตั้งพรรค ด้วยความที่บุญสนองมีต้นทุนทางสังคมค่อนข้างดีในหมู่ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรค จึงต้องได้ใช้ต้นทุนนั้นอำนวยความสะดวกให้การดำเนินของพรรคอยู่เสมอ ๆ กล่าวกันว่า การนัดหมายพูดคุยเพื่อหารือเรื่องการตั้งพรรคนัดแรก ๆ นั้น ก็ได้ใช้บ้านพักของบุญสนองที่ถนนวิภาวดีรังสิตเป็นสถานที่นัดหมายพูดคุยนั่นเอง กระทั่งการเดินทางของสมาชิกและผู้ที่มาช่วยงานของพรรคนั้น ก็มักจะได้อาศัยรถยนต์ซีตรองสีขาวของบุญสนองเป็นยานพาหนะนั่นเอง เพราะบุญสนองเป็นฝ่ายซ้ายเพียงไม่กี่คนในยุคนั้นที่มีรถยนต์ขับ 

ด้วยเหตุทำนองนี้ เมื่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยขึ้นมาแล้ว บุญสนองจึงได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคนแรก (และคนเดียว) ตำแหน่งนี้ ท่านใดที่เข้าใจระบบการทำงานของพรรคการเมืองจะทราบอยู่บ้างว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญและมีภาระให้รับผิดชอบเยอะมาก เนื่องจากมีหน้าที่เป็น “ผู้จัดการใหญ่” ของพรรค จะต้องควบคุมการดำเนินงานภายในของพรรคให้เป็นไปโดยเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการบริหารสำนักงาน การประสานงานทางการเมือง การจัดทำแนวนโยบายและเอกสารต่าง ๆ และการหาตัวผู้สมัครลงรับเลือกตั้งให้ครบทุกเขต โดยที่ในยุคนั้นยังไม่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ยิ่งสำหรับพรรคการเมืองตั้งใหม่นั้น ยิ่งมีภาระงานมากเนื่องจากต้องวางระบบการทำงานใหม่ทั้งหมด ดังที่ตัวบุญสนองนั้นเองที่เป็นผู้ต้องไปไล่หาสถานที่สำหรับตั้งสำนักงานพรรค บุญสนองคงจะเล็งเห็นถึงภาระงานนี้ไว้ล่วงหน้าจึงได้ลาออกจากตำแหน่งงานอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อจะได้มาทำงานการเมืองในฐานะเลขาธิการพรรคได้อย่างเต็มตัว

ในยุคนั้น การที่คณาจารย์จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองยังเป็นที่ครหากันอยู่มากในสังคม (และยังคงเป็นอยู่บ้างในปัจจุบัน) กระนั้น บุญสนองยืนยันอย่างหนักแน่นว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ยังเป็นหน้าที่สำหรับผู้ที่สามารถทำได้ เพราะสำหรับบุญสนองแล้ว บรรดาครูบาอาจารย์และนักวิชาการทั้งหลายนั้น “เป็นกลางทางวิชาการยังพอได้ แต่เป็นกลางทางการเมืองไม่ได้” เพราะ “การเป็นกลางทางการเมืองทั้ง ๆ ที่ประเทศชาติกำลังจะล่มจมนั้น เป็นการหลีกเลี่ยงทางความรับผิดชอบต่อประชาชนและสังคมโดยแท้” บุญสนองจึงถือว่าเป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่จะ “รับใช้ประชาชนและสังคมโดยมุ่งมั่นในอุดมการณ์” 


บรรณานุกรม

  • Lowery, George, A campus takeover that symbolized an era of change. April 16, 2009. https://news.cornell.edu/stories/2009/04/campus-takeover-symbolized-era-change (Retrieved 10 Feb 2024)
  • Punyodyana, Boonsanong, “Socialism and Social Change in Thailand,” Paper presented to the Symposium on Sociology and Social Development in Asia, Tokyo, Japan, October 16-22, 1973. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/02/socialism-and-social-change-in-thailand.html (Retrieved 10 Feb 2024) 
  • Strout, Cushing, “Sixties Protest Culture and What Happened at Cornell” New England Reviews. Vol.19 No.2 (Spring 1998). pp. 110-136 https://www.jstor.org/stable/40243337 (Retrieved 10 Feb 2024)
  • The Vietnam War on Campus, Revisited. http://static.as.cornell.edu/150/vietnam.html (Retrieved 10 Feb 2024) 
  • Trocki, Carl A., “Boonsanong Punyodyana: Thai Socialist and Scholar, 1936-1976”, Bulletin of Concerned Asian Scholars. 9: 3 (July-September 1977), pp.52-54. อ้างใน Carl A. Trocki เขียนถึงบุญสนอง บุณโยทยาน. 16 กุมภาพันธ์ 2556. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/02/carl-trocki.html (Retrieved 10 Feb 2024)
  • คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รายนามคณบดี. ม.ป.ป. https://socanth.tu.ac.th/about-us/past-deans/ (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • “ความรุนแรงและการลอบสังหาร” บันทึก 6 ตุลา. https://doct6.com/learn-about/how/chapter-3/3-4 (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • “ต้องเริ่มสู้ด้วยพรรคการเมือง” ประชาชาติรายสัปดาห์. ปีที่ 1 ฉบับที่ 45.  26 กันยายน 2517. อ้างใน บทสัมภาษณ์: ต้องเริ่มสู้ด้วยพรรคการเมือง. 12 กุมภาพันธ์ 2556. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/02/blog-post_12.html  (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • ทำเนียบผู้บริหาร. https://www.rd.go.th/region/08/chiangmai1/79.html  (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • ทรัพย์สิน บุณโยทยาน, บางเรื่องของเมืองเชียงรายในอดีต. พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2562.
  • ทรัพย์สิน บุณโยทยาน, ผมเป็นคนไม่ (ค่อย) ดี อย่าเอาเยี่ยงอย่าง. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2544.
  • ธวัช วิชัยดิษฐ์, สรุปคำให้สัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เรื่องนโยบายของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย. 15 กุมภาพันธ์ 2556. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/02/blog-post_4909.html  (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567) 
  • บุญสนอง บุณโญทยาน, บทความ: คิดถึงเมืองไทย. 14 กุมภาพันธ์ 2556. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/02/blog-post_14.html  (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567) 
  • บุญสนอง บุณโยทยาน, “จากบุญสนองถึงพี่น้องชาวเชียงใหม่.” เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์ สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์. พิมพ์ครั้งที่สอง. (กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาการเมือง, 2544) อ้างใน บทความ: จากบุญสนองถึงพี่น้องชาวเชียงใหม่. 14 กุมภาพันธ์ 2556. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/02/blog-post_6896.html (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • “เยือนที่เกิดเหตุลอบสังหาร ‘บุญสนอง บุณโยทยาน’ เมื่อปี 2519” ประชาไท. 28 กุมภาพันธ์ 2562. https://prachatai.com/journal/2019/02/81272 (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • “เป็นกลางทางวิชาการพอได้ แต่เป็นกลางทางการเมืองไม่ได้” ประชาชาติรายสัปดาห์. ปีที่ 2 ฉบับที่ 59. 2 มหราคม 2518. อ้างใน “บทสัมภาษณ์: เป็นกลางทางวิชาการพอได้ แต่เป็นกลางทางการเมืองไม่ได้https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/02/blog-post_8028.html  (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดจัดตั้งพรรคการเมือง” ใน ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 92 ตอนที่ 193 ฉบับพิเศษ หน้า 1. 18 กันยายน 2518.
  • ปราโมทย์ นาครทรรพ, “คิดถึงบ้าน” ผู้จัดการออนไลน์. 23 กรกฎาคม 2553. https://mgronline.com/daily/detail/9520000083466 (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • ปราโมทย์ นาครทรรพ, “ปราโมทย์ นาครทรรพ” เขียนถึง “บุญสนอง บุณโยทยาน”. 15 กุมภาพันธ์ 2556. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/02/blog-post_1427.html (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • ประมวลภาพข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน. 11 กันยายน 2555. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2012/09/blog-post_3736.html (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • “เผานาทราย: ชนวนเหตุที่ถูกหลงลืมก่อนเกิดเหตุ 6 ตุลา 19” The Isaander. 16 ตุลาคม 2563. https://www.theisaander.com/post/nasai160920 (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • ไพบูลย์ สำราญภูติ, ประสบการณ์ชีวิต. กรุงเทพฯ: สามเกลอ, 2530.
  • พยุง ย. รัตนารมย์, ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทยในจังหวัดตาก. 24 สิงหาคม 2567. https://pridi.or.th/th/content/2021/08/809 (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • รำลึก 40 ปีที่จากไป “ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน” 28 กุมภาพันธ์ 2559. https://thaienews.blogspot.com/2016/02/40_28.html (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • “วารสารรายปักษ์ “ศูนย์” สัมภาษณ์ ดร.บุญสนอง” ศูนย์. ปักษ์หลัง. ฉบับที่ 3 กุมภาพันธ์ 2556 บทสัมภาษณ์: วารสารรายปักษ์ “ศูนย์” สัมภาษณ์ ดร.บุญสนอง. 15 กุมภาพันธ์ 2556. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/03/blog-post.html (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • สุชาติ สวัสดิ์ศรี, สัมภาษณ์โดยผู้เขียนเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567.
  • สุรชาติ บำรุงสุข, “40 ปีแห่งการล้อมปราบ (13) สงคราม ความกลัว ความตาย!” ใน มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับวันที่ 16-22 ธันวาคม 2559. https://www.matichonweekly.com/column/article_18697 (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • “เหตุการณ์ 14 ตุลา” ใน จดหมายเหตุดิจิทัล มหาวิทยาลัยรามคำแหง. https://archives.lib.ru.ac.th/s/RU-Archives/page/October14 (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, “บุญสนอง บุณโยทยาน” ใน ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%87_%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99 (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง