จากเวียงหนองหล่ม สู่เวียงหนอง ‘ล่ม’ เครือข่ายสิ่งแวดล้อมห่วง เมกะโปรเจกต์ทำลายธรรมชาติระยะยาว

ภาพ : Jakkrapan Sriwichi

‘เวียงหนองหล่ม’ พื้นที่ชุ่มนํ้าขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่เกือบ 15,000 ไร่ คลอบคลุมในพื้นที่ตำบลจันจว้า ตำบลท่าข้าวเปลือก และตำบลจอมสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ในอำเภอแม่จัน รวมทั้งตำบลโยนก ในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

พื้นที่แห่งนี้ได้รับอิทธิพลน้ำจากหนองบงกาย เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนน้ำจะไหลจากเทือกเขาลงมาสะสมทำให้มีสภาพพื้นที่กลายเป็นหนองน้ำสลับกับที่ดอน ทำให้มีพันธุ์พืชน้ำขึ้นปกคลุม เช่น ต้นไคร้ ต้นอั้นและพืชน้ำอื่นๆ ที่เอื้อต่อการพึ่งพาอาศัยและเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ชาวบ้านในพื้นที่รอบๆ เวียงหนองหล่ม จึงอาศัยเป็นพื้นที่ในการเลี้ยงควาย ทำการเกษตร หาปลาจับสัตว์น้ำ ซึ่งพบว่ามี พันธุ์สัตว์น้ำจำนวนมาก เพราะพื้นที่เวียงหนองหล่มมีความสัมพันธ์กับระดับน้ำและพันธุ์ปลาในแม่น้ำกก ความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้นในเวียงหนองหล่มได้ทำให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ หรือแรมชาร์ไซต์ (Ramsar Site) 

กระทั่ง 23 ธันวาคม 2563 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลงพื้นที่ประชุมติดตามการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติเวียงหนองหล่ม ก่อนมีข้อสั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กับจังหวัดเชียงราย พิจารณาตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม และเสนอแผนระยะสั้นการพัฒนาเวียงหนองหล่มในกรอบระยะเวลาสี่ปี (2564-2568) โดยเป็นการช่วยให้เวียงหนองหล่มสามารถกักเก็บน้ำได้เต็มศักยภาพ ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านอื่นเพื่อส่งเสริมรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

ภาพ : กรมชลประทาน

ต่อมาสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติได้ดำเนินโครงการจัดทำแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย และมีมติประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม ปี พ.ศ. 2566 – 2570 จังหวัดเชียงรายได้รับอนุมัติโครงการจำนวน 65 โครงการ วงเงิน 3,880.85 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนพัฒนาเวียงหนองหล่ม 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการพื้นที่ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยวและโบราณคดี และด้านการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จเวียงหนองหล่ม จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากภาคการเกษตรถึง 49,792 ไร่ สามารถเพิ่มความจุเก็บกักน้ำเพิ่มเป็น 24.22 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำที่ผันเข้าพื้นที่กว่า 35.00 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และประชาชนได้รับประโยชน์ 14,531 ครอบครัว สามารถลดความเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วมได้ถึง 13,300 ไร่ อีกทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ในการพัฒนาแหล่งน้ำให้มีคุณภาพดีและเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ของประชาชน และเป็นแหล่งศึกษาระบบนิเวศตามธรรมชาติ รวมถึงจะเป็นแหล่งศึกษาโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ของจังหวัดเชียงราย

ภาพ : Jakkrapan Sriwichi

ล่าสุด สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยและเครือข่ายพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม ออกแถลงการณ์ว่า ที่ผ่านมากระบวนการมีส่วนร่วมโดยรอบของพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นนั้นเรียกได้ว่าโดนหลอกกันทั้งหมด ซึ่งเสียงจากคนในพื้นที่อธิบายว่า “เราอ่านรายละเอียดตอนแรกบอกว่าเขาจะทำโครงการขุดเป็นแอ่งน้ำ ก่อนหน้านี้มีแบบขุดลอกเดิมที่จะขุดกว้างสักประมาณ 100-200 เมตร แต่ทีนี้สถานการณ์พลิก เขาไปออกแบบใหม่โดยชาวบ้านไม่รู้เรื่อง แล้วตอนทำประชาคมส่วนมากก็เป็นคนแก่เข้าร่วมไปทำประชาคมกันในวัด คนแก่ฟังไม่รู้เรื่องก็ไปยกมือให้เขาทำในตำบลนี่คือโดนหลอกกันหมด”

ทั้งนี้ หวั่นว่าการเดินหน้าดำเนินโครงการจะทำให้ประเทศไทยเป็นที่อับอายและสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ(อนุสัญญาแรมซาร์) ตั้งแต่วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๑ โดยถือเป็นภาคีสมาชิกลาดับที่ ๑๑๐ จากจำนวนภาคีสมาชิกทั้งหมด ๑๗๐ ประเทศทั่วโลกและเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๓ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ประกาศว่าพื้นที่เวียงหนองหล่มเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ

นอกจากนี้ยังมีความกังวลและห่วงใยกับการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยเรียกร้องให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทบทวนและให้ตระหนักถึงความสมดุลและความสำคัญอย่างยิ่งยวดโดยมีการตรวจสอบกระบวนการขั้นต้นต่อการดำเนินโครงการ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติทั้งในปัจจุบันและระยะยาว ตลอดจนความห่วงใยในฐานะประเทศไทยที่ร่วมให้สัตยาบันในภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (อนุสัญญาแรมซาร์) ร่วมกับนานาประเทศแต่ไม่สามารถทำได้ตามที่ให้สัตยาบันไว้

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง