Youth Matters เรื่องคนร้ายๆ ในสังคมวายป่วง

เรื่องและภาพ: กองบรรณาธิการ

“มันเป็นปัญหาที่ส่งผลกับชีวิตของเรา ไอ้ปัญหาพวกนี้เลยถูกผลิตออกมาเป็นงานศิลปะ เพราะมันสำคัญไง เราเลยอยากส่งเสียงว่า เฮ้ย! นี่มันเป็นเรื่องที่เราเจอจริงๆ มันไม่มีหรอกปัญหาของฉันคนเดียว เพราะหลายเรื่องเราก็เจอมาเหมือนกัน แม้จะคนละมุมก็ตาม”

ฮาเลย์-รสิตรา นามชัย นักศึกษาศิลปะชั้นปีที่ 1 บอกกับเราขณะพาชม Human ร้าย, Human Wrong Art Exhibition : “Youth Matters” นิทรรศการศิลปะที่รวบรวมผลงานของผู้เข้าร่วมโครงการ Human ร้าย, Human Wrong รุ่น 7 โดยฮาเลย์เองก็เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการมันส์ๆ เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมรุ่นอีกหลายคน

ฮาเลย์-รสิตรา นามชัย

เข้าสู่ปีที่ 7 ของ Human ร้าย, Human Wrong ที่ในปีนี้ได้มีการนำเสนอภายใต้ “เรื่องสำคัญ” ผ่านงานศิลปะ 14 ผลงาน เพื่อก่อเกิดการตั้งคำถามกับเรื่องเป็นเรื่อง ไม่เป็นเรื่องบ้าง ที่ต่างคนต่างเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวัน นับเป็นความท้าทายของยุคสมัยที่การเปลี่ยนผ่านเดินทางทางไปรวดเร็วเหลือเกิน แต่ “ปัญหา” เดินทางข้ามเวลาเวียนซ้ำซากกัดกินชีวิต “ร้ายๆ” ของผู้คนมากมาย แต่กลับกันความร้ายๆ ของคนรุ่นใหม่ก็พยายามโต้กลับในหลายวิถีทาง เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าที่เป็น โดยได้จัดแสดงไปแล้วตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ The Afterlife และ Some Space Gallery เชียงใหม่

ผลงานทุกชิ้นถักทอผ่านกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ เพื่อทำความเข้าใจทั้งตัวเองและเพื่อนๆ ในโครงการ เพื่อโฟกัส “ปัญหาร่วม” และ “เหตุการณ์” ที่ส่งผลต่อคนร่วมรุ่นไม่มากก็น้อย ทั้ง รัฐประหาร 2557 การประท้วงของคนรุ่นใหม่ในปี 2563-2564 ปัญหาการศึกษา ค่าแรงขั้นต่ำ(เตี้ยเรี่ยดิน) การย้ายถิ่นฐาน รัฐสวัสดิการ ระบบราชการ กฎหมาย ครอบครัว และระบบทุนนิยม

เราอยู่ตรงไหนในเรื่องพวกนี้?

“มันเป็นเสียงของคนเล็กๆ ที่นำเสนอเรื่องราวที่พบเจอจากปัญหาเล็กๆ จนพัฒนาเป็นการชี้ให้เห็นปัญหาอย่างน้อยมันอาจจะไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ แต่เป็นกระบอกเสียงที่ทำให้คนตระหนักรู้มากขึ้น การสื่อสารและส่งเสียงผ่านงานศิลปะเพราะเราเชื่อว่าปัญหาที่เราเผชิญอยู่จะได้รับการแก้ไขหรือว่าอย่างน้อยพัฒนาในรูปแบบที่ดีขึ้น” ฮาเลย์บอกกับเรา

ทุนนิยมจึงเจ็บปวด

“อายุเพิ่ง 20 ต้นๆ แต่ต้องแบกรับอะไรเยอะมาก เพื่อจะอยู่ที่นี่ได้ เรารู้สึกว่าเรื่องค่าแรงเชียงใหม่ถูกพูดมาตลอด เราเลยคิดว่าควรนำเสนอให้เป็นผลงานที่มีความเป็นรูปธรรมให้เห็นว่ามันควรได้รับความสนใจจริงๆ อีกอย่างเชียงใหม่เป็นเมืองการศึกษามีมหาวิทยาลัยเยอะมาก แต่เด็กที่จบมากลับไม่มีงานทำกลายเป็นเมืองที่ส่งออกนักศึกษาแทนที่จะเป็นเมืองที่ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถมีชีวิตอยู่ในเมืองนี้ได้ ที่นี่มีอนาคตกับพวกเราหรือเปล่า?”

ปรินส์-นิธิอร กันแก้ว

คำตอบไม่เกินจริงของ ปรินส์-นิธิอร กันแก้ว ที่พูดถึง “ONE FOR DA WORK” ผลงานสื่อผสมจำลองชีวิต กับปัญหาค่าแรงขั้นต่ำในเชียงใหม่ที่นักศึกษาจบใหม่ต่างเผชิญชะตากรรมนี้ และผลักให้คนกลุ่มนี้ต้องเข้ากรุงเทพฯ อย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้จะอยากอยู่เชียงใหม่แค่ไหนก็ตาม

ขณะที่ภาพเคลื่อนไหว “นอกเขต” ของ ปัณณธร นรเทพ เองก็สะท้อนเสียงของบัณฑิตจบใหม่ที่ไม่อยากไปทำงานในเมืองหลวง แต่ด้วยข้อจำกัดในตลาดแรงงานในภูมิภาคนั้นมีขนาดเล็กจึงบีบบังคับให้พวกเขาต้องเดินทางเข้าศูนย์กลางประเทศเพื่อการเติบโตในหน้าที่การงานและรายได้ที่มั่นคงกว่าถึงแม้จะไม่ได้อยากไปก็ตาม

เสียงเหล่านี้ถูกตอกย้ำด้วยผลงาน Installation Art “ทิ้งเงินแสนกลับบ้านเกิด” ของ กานต์ณัฐ ไชยคำมูล กับข้อมูลเชิงตัวเลข ที่ชี้ให้เห็นว่าผู้คนโยกย้ายเข้าสู่เมืองหลวงมีมากเท่าไหร่ ซึ่งในอีกด้านข้อมูลก็ฉายให้เห็นว่าในวัยเกษียณย้ายออกจากกรุงเทพฯ สะท้อนให้เห็นว่าเมืองเทพสร้างนี้มีคนย้ายเข้า-ออกอยู่เสมอ

และ “สวัสดิแกลบ” ที่เตะตาผู้คน ด้วยที่นอนหมอนมุ้ง งานเสียงและการจัดวางของ เดล-พิชญา ศิดารัตน์ ที่อธิบายความหวาดกลัวต่อวัยชราของผู้คน ต่อสวัสดิการในสังคมไทยที่ไม่มีความพร้อมที่จะรองรับกลุ่มผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพและผลักภาระในการดูแลตนเองเป็นของประชาชน

ใน “Despicable” ของ พัสวีภัค ปัญญาหลวง จะไม่ได้ถูกจัดแสดงร่วมกันกับ 4 ผลงานก่อนหน้าที่ Some Space โดยจัดแสดงที่ Afterlife แต่ในงานชิ้นนี้ก็ยังคงกล่าวถึงระบบเศรษฐกิจที่ถูกครอบงำโดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และมีอิทธิพลแทรกลงในทุกมิติชีวิต ประชาชนไม่สามารถหลีกหนีการบริโภคสินค้าเหล่านี้ที่แนบเนียนและกลายเป็นเรื่องปกติจนยอมรับการดำรงชีวิตเช่นนี้โดยไม่ตั้งคำถาม แม้ดูจะพูดเรื่องที่ใหญ่ขึ้นว่า 4 ชิ้นที่ผ่านมา แต่ก็กลมกลืนจนแทบจะมองเป็นเรื่องเดียวกัน รวมไปถึง “เทียนนิยม จำกัด” ที่ ไพลินลักษมี งามจิตต์ เองก็พูดถึงชีวิตในโลกทุนนิยมที่มีสูตรสำเร็จตายตัว วัยรุ่นคือกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนชีวิตด้วยความฝันและเรียนรู้จากความผิดพลาด เหมือนเทียนที่แม้จะละลายแต่ก็สามารถหลอมกลับมาเป็นรูปทรงได้อีกครั้ง

ยถากรรมวิทยา

ครู ถือเป็นตัวแปรหลักในระบบการศึกษาที่สะท้อนว่าการเรียนนั้นมีคุณภาพหรือไม่ ผลงาน “ตารางสอน” ของ ธรรมมาภัทร ต่ายทอง นำเสนอบทบาทของครูที่แบกรับภาระนอกจากการสอน ที่ไม่ปรากฎในขอบเขตหน้าที่ แต่เป็นภาระอันยุ่งเหยิงที่บั่นทอนศักยภาพของครูหลายคนจนหมดไฟไปเส้นทางนี้

กลับมาที่ตัวของนักเรียนที่เผชิญปัญหาทางการศึกษาในหลายระดับ ถ้าเลือกคงอยากเรียนโรงเรียนชั้นนำแต่ไกลบ้าน? “ไม่ใช่ไม่อยากกลับ แต่กลับไม่ได้” งานภาพถ่ายและการจัดวางที่เป็นนำเสนอปัญหาของการศึกษาด้วยประเด็นการเดินทางไปเรียน โดย รัฐศาสตร์ คุณธรรมวรกุล เล่าถึงการกระจุกตัวของโรงเรียนที่อยู่ในเมือง และเด็กหลายคนที่ต้องดิ้นรนเพื่อถึงการศึกษาที่ดี ผลงานนำเสนอเรื่องราวกิจวัตรประจำวันบนรถสองแถวของนักเรียนขณะเดินทางไปโรงเรียน

ขณะที่ “อยู่อย่างยถากรรม” ของ ธนชิต คิรินทร์กุล นำเสนอการจัดพื้นที่กายภาพของมหา’ลัย ที่ส่งผลกระทบต่อนักศึกษาเนื่องจากข้อจำกัดมากมายที่คอยลดทอนความคิดสร้างสรรค์ งานชิ้นนี้จึงสะท้อนความกระจัดกระจายในหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษาที่ไม่ได้เป็นระบบมากเพียงพอ

ขณะที่ “ปฎิทินสองชั้น” ของ จตุรภัทร อุปมาณ และ ฮาเลย์ รสิตรา นามชัย ที่บันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองไทยที่เกิดในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ช่วงปี 2563-2565 ที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ผ่านการทำปฏิทินบันทึกการต่อสู้ทางการเมืองในรั้วมหา’ลัย

ฮาเลย์อธิบายว่าในขณะที่การเคลื่อนไหวและเหตุบ้านการเมืองเคลื่อนไปข้างหน้า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองก็เคลื่อนไปเช่นกัน แต่ไม่ทราบว่าเคลื่อนไปในทิศทางไหน? ซึ่งก็เปิดไว้เป็นคำถามที่น่าคิดต่อ

คนร้ายๆ ในสังคมวายป่วง

งานส่วนตัวของ อังศุมาลิน พันธ์ผง เล่าผ่านเสียงและภาพในผลงาน “ลมหายใจของไอยเรศ” ที่สื่อว่าดนตรีไทยยังคงดำรงอยู่ในทุกๆ ห้วงอารมณ์ของผู้คนเหมือนหุ้นส่วนชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้เรื่องนี้จะเป็นความชอบความสนใจของปัจเจกก็ตาม 

กฎหมายและรัฐถือเป็นตัวกำหนดสิทธิในการจะมีชีวิตของประชาชนหลายๆ เรื่อง ผลงานพิมพ์ “c[‘8N” ของ จุ๊ย-ธีระพงษ์ สุระวัง เล่าถึงปัญหาของการระบุสัญชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไร้เอกสารยืนยันตัวตนที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิการเป็นพลเมือง สวัสดิการ และรวมถึงสิทธิในฐานะมนุษย์ที่รัฐมองไม่เห็นโดยได้แรงบันดาลใจมาจาก “แม่”

จุ๊ย-ธีระพงษ์ สุระวัง 

“กฎหมายทำให้สิทธิความเป็นคน มันหายไปจากชีวิตของแม่ผม ทำไมการวัดค่าความเป็นมนุษย์หรือการที่จะได้รับสวัสดิการบางอย่าง ทำไมต้องเริ่มต้นจากการมีบัตรประชาชนหรือบัตรชมพู มันเป็นปัญหาเล็กๆ แล้วผมก็คุ้นเคยกับมันเลยเอามาเป็นแรงบันดาลใจในการผลิตเป็นผลงานชิ้นนี้” จุ๊ย กล่าว

ขณะที่ “กล่อมขวัญ” ของ ถลัชนันท์ วงค์ขันธ์ ก็สะท้อนถึงความเป็นแม่เช่นเดียวกับของจุ๊ย แต่โฟกัสไปที่แม่ในวัยที่ไม่พร้อม ซึ่งฉุดการใช้ชีวิตและความฝันไป  เนื่องจากสวัสดิการรัฐที่ไม่ครอบคลุมดูแลแม่และเด็ก ผ่านเพลงกล่อมเด็กและศิลปะจัดวางที่ถ่ายทอดเรื่องราวที่ผู้หญิงหลายคนต้องเผชิญ

เชียงใหม่มีพื้นที่มากมายที่ถูกทิ้งและไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ ความอัดอั้นตันใจนี้ วรรินทร์ ประชุมชัย ถ่ายทอดออกมาเป็น “Built-up-town” ที่เล่าถึงพื้นที่ในเชิงกายภาพในจังหวัดเชียงใหม่นำเสนอผ่านแบบจำลองและสะท้อนว่ารัฐไม่ได้มีส่วนออกแบบเมืองเชียงใหม่ให้คุณภาพชีวิตที่ดีและไม่ได้สนับสนุนความสร้างสรรค์ในพื้นที่ถึงแม้จะชอบพูดแบบนั้นก็ตาม

ในขณะที่พวกเราเยี่ยมชมผลงานทั้งหมดจนเสร็จสิ้น เราต่างสัมผัสได้ถึงความร้ายในหลายมิติ

ความร้ายของสังคม ที่กำหนดให้เราร้าย? หรือเราร้ายกันน้อยไป..

จุ๊ยบอกกับเราว่าถ้าเงียบก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เป็นคนร้ายๆ ที่ทำให้คนฉุกคิดน่าจะมีประโยชน์กว่า

“งานที่พวกเราทำอ่ะ มันอาจจะไม่เห็นตอนนี้ แบบว่าสังคมเปลี่ยน คนเปลี่ยนเลยทันที แต่ของมันต้องมี เราต้องสื่อสาร ต้องแสดงความคิดที่เราเชื่อ เราคุยกับหลายคนไม่รู้ว่าสิ่งที่พวกเราแสดงมันมีอยู่จริงในสังคมนี้ เราต้องทำให้คนตระหนักขึ้น มันคือเรื่องของเราทุกคน”

รับชม Human ร้าย, Human Wrong Art Exhibition : “Youth Matters” ได้ที่ Some Space Gallery และ The Afterlife จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2568 โดยหลังจากวันที่ 1 มีนาคม ผลงานที่จัดแสดงที่ Some Space Gallery จะถูกนำไปรวมกับผลงานของเพื่อนๆ ที่ The Afterlife 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Human ร้าย, Human wrong

อย่าพลาด

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa slot mahjong