เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด เมื่อเวลา 13.20 น. วันที่ 28 มีนาคม 2568 บริเวณพิกัด 95.73°E 21.89°N ลึก 10 กิโลเมตร ห่างจาก อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน 326 กิโลเมตร สร้างแรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ในหลายพื้นที่ทั่วไทย ตั้งแต่ภาคเหนือถึงกรุงเทพฯ แต่สิ่งที่สะเทือนใจยิ่งกว่าคือ ความเงียบของระบบแจ้งเตือนภัย ที่ควรจะทำงานในวินาทีสำคัญ
ข้อมูลจากรายงานของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สตง. 4 ม.ค. 2567 เผยว่า ประเทศไทยจะมีการลงทุนระบบเตือนภัยมาแล้วมากกว่า 1,074 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2563-2565 ผ่านแอปพลิเคชัน DPM Alert ระบบโทรมาตร และหอเตือนภัยทั่วประเทศ แต่การทำงานกลับไม่ส่งสัญญาณเตือน และ ประชาชนจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงข้อมูลแจ้งเตือน
สตง. พบว่า ระบบเฝ้าระวังโทรมาตรที่ใช้งบไปกว่า 432.7 ล้านบาท มีจุดวัดข้อมูลกว่า 318 จาก 555 จุด ขาดข้อมูลต่อเนื่องนานหลายวัน และอุปกรณ์กว่า 375 แห่ง ไม่สามารถรายงานคุณภาพอากาศได้ครบถ้วน ขณะที่ จออัจฉริยะ 30 แห่ง ที่ใช้งบกว่า 60 ล้านบาท กลับขึ้นสถานะ ออฟไลน์ทั้งหมด ไม่มีข้อมูลแสดงผล
ทั้งนี้ระบบคาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า (DSS) ที่ใช้ไปกว่า 52 ล้านบาท ก็พบว่า ความแม่นยำต่ำ โดยเฉพาะในกรณีคาดการณ์อุทกภัยและวาตภัย ที่คาดการณ์ได้ถูกต้องเพียง 30% ของเหตุการณ์จริง
ท่ามกลางช่องโหว่ของระบบเดิม รัฐบาลและ กสทช. เคยประกาศความหวังใหม่ด้วยโครงการ Cell Broadcast ที่จะเสริมสร้างระบบแจ้งเตือนภัยของไทย โดยสามารถส่งข้อความเตือนภัยแบบเจาะจงถึงโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่ได้ทันที ไม่ต้องติดตั้งแอป ไม่ต้องใช้เบอร์โทรศัพท์
แต่สิ่งที่น่าตั้งคำถามก็คือโครงการนี้ ไม่ได้เพิ่งเริ่มเพราะตั้งแต่ ปลายปี 2566 รัฐบาลได้ใช้งบประมาณจาก กองทุน USO เดินหน้าโครงการนี้อย่างจริงจังมาแล้ว เกือบ 2 ปีเต็มแต่จนถึงวันนี้ (มีนาคม 2568) โครงการยังคงอยู่แค่ใน ขั้นตอนทดสอบความเป็นไปได้ (Proof of Concept – PoC) ยังไม่มีการใช้งานจริง ยังไม่มีการประกาศกรอบเวลาชัดเจนว่าจะสามารถใช้งานได้เมื่อใด และประชาชนยังไม่มีโอกาสรับการแจ้งเตือนผ่านระบบนี้ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวหรือเหตุฉุกเฉินใด ๆ
แม้รัฐบาลและ กสทช. จะยืนยันว่ากำลังเร่งดำเนินการ ตั้ง Command Center และเตรียมออกระเบียบรองรับระบบแจ้งเตือน แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีความคืบหน้าที่ประชาชนสัมผัสได้จริง
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อดีตอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เคยออกมาพูดถึงระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS และยืนยันว่า พร้อมใช้งานแล้วทันที หากมีเหตุการณ์ภัยที่เข้าเกณฑ์แจ้งเตือน โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง ปภ. และ กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกค่าย ระบบนี้สามารถส่งข้อความถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย แบบเจาะจงระดับตำบลหรือหมู่บ้าน พร้อมรายละเอียด วัน เวลา สถานที่ ระดับความรุนแรง และข้อปฏิบัติตัว เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติได้ทันท่วงที
อธิบดี ปภ. ยืนยันว่า “การแจ้งเตือนภัยผ่านข้อความ SMS ขณะนี้พร้อมดำเนินการได้ทันที ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าข้อความแจ้งเตือนภัยจาก ปภ. เป็นข้อความจากทางราชการ เชื่อถือได้ และปลอดภัย”
แต่จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดและหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา ประชาชนกลับไม่เคยได้รับข้อความแจ้งเตือนใด ๆ แม้เครื่องมือจะ “พร้อมใช้งาน” ตามที่หน่วยงานรัฐประกาศไว้ แต่ในทางปฏิบัติ ระบบกลับ ไม่ได้ถูกนำมาใช้จริงในยามที่ประชาชนต้องการที่สุด
เหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ตอกย้ำช่องโหว่ของระบบแจ้งเตือนภัยในประเทศไทย ที่แม้จะทุ่มงบประมาณไปแล้วนับพันล้านบาท ทั้งในระบบเก่าและโครงการใหม่อย่าง Cell Broadcast แต่เมื่อถึงเวลาที่ประชาชนต้องการข้อมูลเพื่อความปลอดภัย ระบบเหล่านี้กลับ “ไม่ส่งเสียง”
คำสัญญาของแผนพัฒนา Cell Broadcast ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา และคำสัญญาถึงในความพร้อมของระบบ SMS แจ้งเตือนของ ปภ. ที่ทั้งสองโครงการร่วมมือกับ กสทช. กลายเป็นเพียงถ้อยแถลงในเอกสาร ขณะที่ในสถานการณ์จริง สิ่งที่ประชาชนได้รับคือความเงียบและความเสี่ยงที่ยังไม่มีคำตอบ
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...