เรื่อง: องอาจ เดชา
กลุ่มนักสื่อความหมายดอยหลวงเชียงดาว จับมือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชียงดาว และอบต.เชียงดาว เตรียมจัดกิจกรรม “จากยอดดอยสู่สายน้ำ: ล่องห่วงยาง สร้างจิตสำนึกรักษ์ต้นน้ำปิง เชียงดาว” วันที่ 5 เมษายน 2568 นี้ เพื่อปลุกกระแสและสำนึกให้เกิดการท่องเที่ยวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปใช้แก้ปัญหา PM2.5 ในเชียงดาว เพื่อตอกย้ำว่าเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างอากาศที่ดีขึ้นได้
เอกสกุล แก้วมณี หรือ ‘แต๊ เชียงดาว’ ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเชียงดาว Chiang Dao Responsible Tourism( CDRT ) บอกเล่าที่มาของกิจกรรมว่า เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ไม่ว่าทั้งไทยและเทศ จุดมุ่งหมายส่วนใหญ่แล้วคือต้องการมาชื่นชมธรรมชาติ ต้องการขึ้นดอยหลวงเชียงดาว ต้องการการพักผ่อน ต้องการมานั่งที่ไหนสักแห่งที่ทำให้สบายใจเพื่อเติมเต็มกำลังกายและกำลังใจ ก่อนจะกลับไปสู้กับปัญหาต่างๆ ในเมืองใหญ่กันอีกครั้ง
“จะเห็นได้ว่า ภาพจำของผู้มาเยือนต่างถิ่นก็คือ ดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล และอำเภอเชียงดาวยังเป็นต้นกำเนิดของสายน้ำแม่ปิง แล้วยังมีกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ 13 ชนเผ่ากระจายอยู่ตามแหล่งต้นน้ำสาขาที่ไหลมารวมกันจนก่อเกิดเป็นต้นน้ำแม่ปิง ดังนั้น ผู้คนที่มาเชียงดาวส่วนใหญ่จึงมีความคาดหวังว่า อำเภอเชียงดาวต้องเป็นเมืองแห่งธรรมชาติ เป็นเมืองธรรมดา เป็นเมืองเรียบง่าย น่าอยู่อาศัย ผู้คนในเชียงดาวดูเป็นมิตร คำถามก็คือเขามาทำไมและต้องการอะไรที่เชียงดาว แล้วคนในอำเภอเชียงดาวมองนักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นกันอย่างไรบ้าง”
นั่นทำให้เขาสนใจและพยายามหาทางออกร่วมกัน โดยมองเรื่องการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่น ให้ความสำคัญและเน้นในเรื่องธุรกิจและการบริการที่เน้นเพื่อสังคมให้มากขึ้น
“ธุรกิจและบริการในเชียงดาว ทุกวันนี้มีการแข่งขันการทำธุรกิจการท่องเที่ยวสูงมาก ไม่ว่าผู้ประกอบการในพื้นที่เองหรือนายทุนผู้ประกอบการจากนอกพื้นที่ทั้งไทยและเทศเองก็ดี มีการจัดสร้างอาคาร มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ พอมีที่พัก นักท่องเที่ยวเริ่มมามากขึ้น การขยายกิจการห้างร้านก็เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับให้เพียงพอต่อนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ เพราะฉะนั้นก็ต้องนำเข้าสินค้าต่างๆ จากนอกพื้นที่เข้ามาในพื้นที่ คำถามจึงเกิดในใจของผู้อยากจัดกิจกรรมว่าแล้ว ขยะที่เกิดจากการค้าขายและกลุ่มธุรกิจบริการรวมไปถึงขยะครัวเรือนด้วย ขยะพวกนี้มีจำนวนเท่าไร แล้วมีวิธีการจัดการอย่างไร หรือนำไปที่ไหน แน่นอนว่า พอการเพิ่มของประชากรมีมากขึ้น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็มีมากขึ้นไปด้วย การขยายตัวของชุมชนที่โตมากขึ้น จากคนในพื้นที่ขยายครอบครัวก็ดี คนนอกพื้นที่ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยก็ดี หรือย้ายเข้ามาเพื่อประกอบธุรกิจในพื้นที่ก็ดี จึงส่งผลทำให้เกิดปัญหาการรุกล้ำในพื้นที่ป่าหรือลำน้ำ ซึ่งตามจริงแล้วพื้นที่อำเภอเชียงดาวมีเท่าเดิม พื้นที่ป่ามีเท่าเดิม ลำน้ำมีเท่าเดิม แต่ทรัพยากรตอนนี้มีไม่เท่าเดิมแล้ว ”
ปัญหาเหล่านี้ ทำให้เอกสกุลและคนในท้องถิ่น รวมกลุ่มและตั้งคำถามกันมากขึ้นว่า ถ้าเจอปัญหาแบบนี้ ทรัพยากรธรรมชาติจะอยู่อีกนานไหม? การเหือดแห้งและการเน่าเสียของลำน้ำจะมาถึงเร็วไหม ? และคนกับธรรมชาติจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร?
แม้เชียงดาวจะมีประชากรไม่หนาแน่นเท่าตัวเมืองเชียงใหม่ แต่ก็คาดว่าปริมาณขยะต่อวันก็น่าจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในหลายๆ พื้นที่ในวงกว้าง รวมไปถึงตลาดชุมชน อาจทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล โดยเฉพาะขยะพลาสติกและขยะอินทรีย์จากนักท่องเที่ยวและเกษตรกร
เอกมณี บอกว่า พอเชียงดาวเป็นเมืองท่องเที่ยว และมีร้านค้า ก็ต้องมีขยะที่เกิดจากการให้บริการเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นถ้าการจัดการขยะไม่ดี มันก็จะเกิดการเน่าเสีย สกปรก ไม่น่าดูน่ามองน่าชมน่าเที่ยว ถ้าไม่มีใครมาเที่ยวเชียงดาวก็จะกลับไปทำเกษตรกรรมเหมือนเดิม
“เกษตรกรในเชียงดาว ก็มุ่งเน้นการทำเกษตรกรรมที่ต้องให้ได้ผลิตมากๆ เพื่อให้ได้กำไรไปใช้หนี้ ก็ต้องใช้สารเคมี ซึ่งการใช้สารเคมีที่จำนวนมาก พร้อมกับการรุกล้ำพื้นที่ป่า ก็จะทำให้ต้นน้ำเป็นพิษ ถ้าต้นน้ำเป็นพิษ แล้วปลายน้ำจะเหลืออะไร ดังนั้น การจัดกิจกรรมล่องห่วงยาง เก็บขยะ จึงเป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง ที่อยากรณรงค์ให้คนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวหันมาสนใจให้ความสำคัญกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งทำไมใช้ห่วงยาง คือเราต้องการสื่อถึง การห่วงใยทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในพื้นที่อำเภอ จึงเป็นห่วงยาง ห่วงใย เชียงดาว ถ้าเราช่วยกันปลุกจิตสำนึกให้ช่วยกันทั้ง คนต้นน้ำและปลายน้ำ แค่เรื่องเก็บขยะ แยกขยะ ในลำน้ำหรือในที่ต่างๆ แม้งกระทั้งในครัวเรือนของตัวเอง และจักการขยะให้ถูกวิธี ปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็จะไม่มี ถึงจะมีก็มีน้อยพอที่จะแก้ไขได้ และยังคงพื้นที่นี้ เป็นพื้นที่ธุรกิจสีเขียวของคนต้นน้ำ ให้บริการคนปลายน้ำ อย่างมีความรับผิดชอบ”
เอกมณี บอกอีกว่า ในมุมมองส่วนตัว ตนมองว่า ขยะเกิดจากคน เพราะฉะนั้น เราต้องนำคนเข้ามาจัดกระบวนการทางความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลก่อน ว่าได้ประโยชน์ตรงไหนเสียประโยชน์ตรงไหน เพราะมนุษย์เราย่อมรักตัวเอง รักครอบครัว หวงแหนถิ่นที่อยู่ของตนเองเสมอ ดังนั้น ถ้าคนในชุมชนรู้ว่า ขยะเกิดจากเราแล้ว เรารู้แล้วว่าควรแยกขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะพลาสติก และขยะมีพิษ แล้ว คนในชุมชนจะได้ประโยชน์อะไรในการคัดแยก คำถามตามมาคือ ขยะทั้งหมดที่เราแยกแล้วจะนำไปไหน จัดการอย่างไร สุดท้ายแล้วเราจะได้อะไรจากขยะ ซึ่งคำถามกับคำตอบมันอยู่ในตัวของมันเองแล้ว
“ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นขยะเปียกก็นำไปเป็นปุ๋ย นำไปเลี้ยงสัตว์ นำไปฝังกลบ นำไปทำนำหมัก ส่วนขยะแห้ง สามารถนำไปขายหรือทำลายด้วยการเผาแบบระบบ Pyrolysis หรือการเผาแบบระบบปิด ด้วยเตาชีวมวลเพื่อให้เกิดผลกระทบ PM2.5 ให้น้อยที่สุด ในส่วนที่เป็นขยะพลาสติก เราก็สามารถนำไปขายได้ หรือสามารถนำไปผลิตน้ำมันจากถุงพลาสติก ในระบบ Pyrolysis เพื่อนำน้ำมันจากพลาสติกกลับมาใช้ในภาคการเกษตรได้ และที่สำคัญสามารถนำขยะพลาสติกมาหลอมขึ้นรูปเป็นอุปกรณ์จำเป็นในชีวิตประจำวันได้อีก เช่น แผ่นไม้กระดานจากขยะพลาสติก เก้าอี้พลาสติก โต๊ะพลาสติก เป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้เราจะต้องมาช่วยกันตั้งคำถามกันว่า แล้วเราจะหาโรงงานรับซื้อพลาสติกได้จากที่ไหน เราจะหาเตากลั่นน้ำมันจากพลาสติกได้ที่ไหน เราจะหาเครื่องหลอมและขึ้นรูปพลาสติกได้จากที่ไหน ซึ่งถ้าเราหาคำตอบได้ และถ้าสามารถทำได้ทั้งหมด เราจะรู้เลยว่านี่คือรายได้จากขยะ หรือขยะทางการเกษตร เราก็สามารถแก้ปัญหาได้ ด้วยการทำถ่านอัดแท่งเพื่อจำหน่ายให้คนปลายน้ำ ในเมื่อคนปลายน้ำช่วยกันซื้อเพื่อให้คนต้นน้ำมีรายได้ คนต้นน้ำต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมของอำเภอเชียงดาว ไว้ให้คนปลายน้ำได้มาชื่นชมธรรมชาติที่บริสุทธิ์จริงๆ ส่วนขยะสารพิษ เราก็สามารถสานต่อส่งมอบให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบนำไปทำลายให้ถูกวิธีและปลอดภัย จะเห็นได้ว่ากระบวนการมันสามารถทำได้ ถ้าทุกคนช่วยกันอย่างมีความรับผิดชอบ”
จากยอดดอยสู่สายน้ำ: ล่องห่วงยาง สร้างจิตสำนึกรักษ์ต้นน้ำปิง เชียงดาว
จากยอดดอยสู่สายน้ำ: ล่องห่วงยาง สร้างจิตสำนึกรักษ์ต้นน้ำปิง เชียงดาว จะจัดขึ้นในวันที่ 5 เมษายน 2568 นี้ จึงเป็นกิจกรรมที่คนท้องถิ่นเชียงดาว ร่วมกันจัดขึ้นมาเพื่อหนุนเสริมให้คนเชียงดาวและนักท่องเที่ยวได้ตื่นตัว หันมาช่วยกันอนุรักษ์ผืนดิน ผืนป่าและสายน้ำในพื้นที่อำเภอเชียงดาวกัน
โก้-สุรศักดิ์ เก่งกล้า ตัวแทนกลุ่มนักสื่อความหมายดอยหลวงเชียงดาวและกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชียงดาว บอกเล่าว่า ก่อนหน้านั้น เราในนามกลุ่มนักสื่อความหมายดอยหลวงเชียงดาวและกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชียงดาว ร่วมกับ อบต.เชียงดาว ได้รวมตัวกันหลังจากได้รวมตัวกันพายเรือคายัคในลำน้ำปิง เพื่อช่วยกันสำรวจเส้นทางธรรมชาติและช่วยกันเก็บขยะในแม่น้ำปิงกัน ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมนำร่องที่จะต่อยอดไปถึงงานในวันที่ 5 เมษายนนี้ เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้คนต้นน้ำและนักท่องเที่ยว ได้ช่วยกันดูแลรักษาสายน้ำปิง โดยจะมีการล่องห่วงยาง เก็บขยะกันด้วย
“จึงอยากขอเชิญชวนพี่น้องคนเชียงดาวและนักท่องเที่ยว มาร่วมงาน ‘จากยอดดอยสู่สายน้ำ: ล่องห่วงยาง สร้างจิตสำนึกรักษ์ต้นน้ำปิง เชียงดาว’ โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 5 เมษายน 2568 นี้ บริเวณท่าน้ำวัดอินทาราม ลานสนามกีฬา บ้านดงเชียงดาว มีกิจกรรมมากมายหลายอย่าง มีการลอยห่วงยาง เก็บขยะ มีโซนขายอาหาร อิ่มอร่อยกับเมนูเด็ดจากชุมชนเชียงดาว มีตลาดวินเทจ นอกจากนั้นยังมีวงเสวนาเรื่องขยะในอำเภอเชียงดาว เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางจัดการขยะให้ยั่งยืนกันอีกด้วย”
แต้ม-ถิรายุทธ แก้วมณี ตัวแทนกลุ่มนักสื่อความหมายดอยหลวงเชียงดาว บอกว่า ผู้ที่สนใจไม่ว่าจะเป็นคนท้องถิ่นเชียงดาวและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้กันได้
“สามารถลงทะเบียนกัน เพียง 300 บาท ก็จะได้ทั้งความสนุกสนาน แล้วยังมีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคมด้วย คุณจะได้ล่องห่วงยาง ชมธรรมชาติอันงดงามของต้นน้ำปิง เชียงดาว พร้อมสนับสนุนชุมชนผ่านการซื้ออาหาร เช่าห่วงยาง และเก็บขยะ เพื่อรักษาสายน้ำให้สะอาดสดใส โดยรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายจากกิจกรรมนี้ เราจะนำไปใช้แก้ปัญหา PM2.5 ในเชียงดาว เพราะเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างอากาศที่ดีขึ้นได้ สนใจสามารถลงทะเบียนกันได้ที่ https://shorturl.asia/AWYif หรือโทร 091-9950805 จึงอยากเชิญชวนไปกันเยอะๆ คือนอกจากสนุกสนานกันแล้ว ยังมีส่วนช่วยเหลือสังคมของเราด้วยครับ”

องอาจ เดชา
'องอาจ เดชา' หรือรู้จักในนามปากกา 'ภู เชียงดาว' เกิดและเติบโตในหมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขา อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เขาเคยเป็นครูดอยตามแนวชายแดน จากประสบการณ์ทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์ ทำให้เขานำมาสื่อสาร เป็นบทกวี เรื่องสั้น ความเรียง สารคดี เผยแพร่ตามนิตยสารต่างๆ เขาเคยเป็นคอลัมน์นิสต์ใน พลเมืองเหนือรายสัปดาห์, เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ, ผู้ไถ่, ประชาไท, สานแสงอรุณ ฯลฯ มาช่วงเวลาหนึ่ง . เขาเคยเป็นผู้สื่อข่าว "ประชาไท" ในยุคก่อตั้ง ปี 2547 และในราวปี 2550 ได้ตัดสินใจลาออกงานประจำ กลับมาทำ "ม่อนภูผาแดง : ฟาร์มเล็กๆ ที่เชียงดาว" เขาเคยเป็น บ.ก.วารสารผู้ไถ่ ได้ช่วงเวลาหนึ่งก่อนวารสารปิดตัวลง, ปัจจุบัน เขายังคงเดินทางและเขียนงานต่อไป เป็นฟรีแลนซ์ให้ ประชาไท และคอลัมนิสต์ใน Lanner