เมื่อเดินลัดเลาะเข้าไปในย่านศิริมังคลาจารย์ นอกจากคาเฟ่ในตรอกซอกซอยที่หลบซ่อนจากความวุ่นวายในโซนนิมมานฯ หากสังเกตดี ๆ ย่านแห่งนี้เป็นฐานทัพของบริษัทสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีอยู่ไม่น้อย
ไม่น่าเชื่อว่าในพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางกิโลเมตรในหัวมุมด้านทิศตะวันตกของคูเมืองเชียงใหม่ จะเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมทางสุขภาพที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตผู้คนมากมาย และในพื้นที่เล็ก ๆ แห่งนี้เอง คือที่ ๆ เรามาพบกับ “พี่ตี้หลุง” ที่หลายคนเรียกว่า “อาจารย์สุรัตน์” หรือถ้าเรียกเต็มยศกว่านั้นก็คือ ผศ.นพ. สุรัตน์ ตันประเวช คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองนั่นเอง
เราได้รู้จักกับอจ.สุรัตน์ครั้งแรกผ่านงานเสวนาและพบปะของวงการ Healthtech เชียงใหม่ ที่จัดขึ้นในซอยศิริมังฯ เมื่อราว 5 ปีก่อน คำว่า Healthtech เป็นชื่อเรียกวงการนวัตกรรมทางสุขภาพ ที่ ณ เวลานั้นยังถือเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเมืองและผู้คนในวงการสุขภาพในเชียงใหม่เป็นอย่างมาก
เส้นทางชีวิตของคนที่เรียนจบจากโรงเรียนแพทย์ มช. ไปเรียนต่อเฉพาะทางด้านโรคปวดหัว ที่ประเทศอังกฤษ จากนั้นก็กลับมาเป็นอาจารย์ ออกตรวจคนไข้ในโรงพยาบาลรัฐฯ เปิดคลินิก แน่นอนว่าเป็นชีวิตที่คล้ายกับจะถูกวางเส้นทางไว้อย่างชัดเจนแล้ว คือเส้นทางชีวิตของคุณหมอทั่ว ๆ ไป แต่สำหรับอจ. สุรัตน์ เมื่อได้พบเจอกับสิ่งที่เขาเองเรียกว่า “อุบัติเหตุ” ความบังเอิญที่ทำให้ชีวิตต้องเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากวันที่ได้ขึ้นพูดในเวที TEDxChiang Mai และได้แรงบันดาลใจจากการไปค้นพบโลกของสตาร์ทอัพเมื่อไปเดินเล่นในงาน Startup Thailand ในระยะเวลาเพียง 5 ปี ชีวิตของเขาก็ติดลูปสตาร์ทอัพ เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการขอทุน ผ่านเวทีแข่งขัน Pitching มากมาย และได้ก่อตั้งบริษัท Smile Migraine ขึ้นมา
ภาพด้านบนอาจถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ Smile Migraine ก็ว่าได้ เมื่อคอนเท้นท์ง่าย ๆ ที่พูดถึงความที่ “ไมเกรนคือโรคที่คนไม่ค่อยเข้าใจ” กลับมียอดแชร์หลักหลายหมื่น และการเข้าถึงถึงผู้รับสารกว่า 2 ล้านคน จากจุดนั้นแอพพลิเคชั่น Smile Migraine ก็ได้กำเนิดขึ้นเป็นแพล็ตฟอร์มของชาวไมเกรน ที่รวมทั้งความเข้าใจ ความเป็นเพื่อนคู่คิด การเชื่อมโยงของนิเวศสุขภาพและการรักษาเข้าด้วยกัน สู่การสร้างสรรค์ผลกระทบทางสังคมที่ยิ่งใหญ่กว่าพื้นที่ไม่กี่ตารางกิโลเมตรของศิริมังคลาจารย์ไปไกลมาก
ช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง
“ถ้าพูดถึงชีวิตส่วนตัวก็ยังเป็นหมอนั่นแหละ แต่ก็รับหน้าที่เพิ่มขึ้น มันเริ่มถึงช่วงอายุที่ต้องเริ่มเป็นหัวหน้าคนแล้วเนอะ ก็มีการทำหน้าที่นายกสมาคมฯ เช่นหัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา (หน่วยโรคสมองของเชียงใหม่) หัวหน้าฝ่ายไอที สมาคมประสาทฯ ประธานชมรมโรคปวดหัวไทย มีหลายหน้าที่หน่อย มีอีกงานหนึ่งที่เพิ่งรับมาใหม่ในเดือนกุมภาที่ผ่านมาก็คือเป็น Head of E-Communications ให้กับ World Federation of Neurology (สมาพันธ์โรคสมองโลก) เราก็ต้องคอนเนคกับนานาชาติ”
“อายุมันคงได้ด้วย ด้วยประสบการณ์และพอร์ตฯที่ทำมา”
“ส่วนตัวบริษัท (Smile Migraine) ที่ตั้งมาจะห้าปีแล้ว ก็มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ช่วงนี้ก็พยายามสเกล อย่างในปีนี้ที่ค่อนข้างชัดก็คือตัว Revenue Growth มันเริ่มดีแล้ว ทีมมันใหญ่ขึ้น เริ่ม Stable ขึ้น” อจ. สุรัตน์กล่าวด้วยภาษาสตาร์ทอัพอย่างคล่องแคล่ว
“พอทีมใหญ่ขึ้นปุ๊ปความ Challenge ก็คือจะเติบโตยังไงให้มัน Stable บางคนโตเร็วเกินก็มักจะมีปัญหาเรื่อง Cashflow, HR ช้าไปก็ไม่ดีอีกเพราะบริษัทก็จะเหมือนบริษัมซอมบี้ที่อยู่ไปวัน ๆ เราก็พยายามหาวิถีทางสเกลอยู่”
“วิถีทางสเกลของ Smile Migraine ก็คือจะไปใน way อื่น เพราะตอนนี้เรากำลังจะปรับชื่อบริษัทเป็น Smile D Company ขยายไปโรคอื่น ๆ ด้วย ส่วน Smile Migraine ก็ยังเป็นโปรดักส์ที่แข็งแรงอยู่”
“เรามี partnership กับทีม Tech ที่แข็งแรงคือ PDKM.tech เขาก็มาช่วยเป็น CTO ให้ด้วย” อจ.สุรัตน์กล่าวถึงความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติเชียงใหม่ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแพลตฟอร์ม Smile Migraine
“มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในปีนี้”
“ส่วนอื่นก็จะเป็นการทำนวัตกรรมด้านอื่น ๆ นอกเหนือจาก Smile Migraine เช่นบ้านพักผู้สูงอายุ แล้วก็ทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ เราต้องการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ เป็นโมเดลให้กับน้อง ๆ รุ่นหลัง ๆ”
อาจารย์ ยังคง full-plate (จัดเต็ม) เหมือนเดิมนะคะ
“Out-of-plate ล้นจานแล้วน่ะสิ ฮ่า ๆ ไม่หรอก”
แบ่งเวลายังไงคะ
“คีย์ของมันก็คือต้องทำทุกอย่างให้ได้ดีมาตรฐานแล้วมีสิ่งใหม่ที่พัฒนาขึ้น
จริง ๆ แล้วการแบ่งเวลามันไม่ได้ยากมากนะ อย่างที่คนเขาพูดเรื่อง work-life balance เอาเรื่องของ work ก่อน บางทีมันอาจจะดูเหมือนเรามีอะไรต้องทำเยอะแยะมากมาย แต่มันอยู่ที่กระบวนการจัดการมากกว่า”
“ที่เห็นหลายอย่าง 3-4 งานเนี่ย บางทีมันคือการทำแค่อย่างเดียว แต่สามารถเอาไปใช้ได้หลายงาน เช่นการทำโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับโรคสมอง จริง ๆ มันก็ไปใช้กับโรคปวดหัวได้ด้วย เอาไปใช้เวลาเป็นวิทยากรได้ด้วย ไปสอนนักศึกษาก็ได้ เอาไปซัพพอร์ตผู้ประกอบการรุ่นใหม่ก็ได้ เอามาใช้กับธุรกิจตัวเอง (Smile Migraine) บางเรื่องถ้าจัดสรรปันส่วนดี ๆ ทำอย่างเดียวมันกระจายไปได้หลายงาน”
“คนอื่นดูว่าเราทำเยอะ แต่จริง ๆ เราทำอย่างเดียว”
“Key คือเราจะไม่หลุดไปจาก Core Value ตัวเอง คือคุณค่าที่ตัวเองมี”
เมื่อกี๊พูดถึงคุณค่าในตัวเอง คุณค่าในตัวเอง นิยามมันยังไง
“คุณค่าของตัวเอง จริง ๆ ถ้าเอาตามนิยาม คุณค่าของเราเนี่ย ต้องให้คนอื่น Define นะ”
“เราอาจจะบอกว่าเรามีคุณค่าจังเลย แต่คนอื่นอาจจะเห็นไม่เหมือนเราก็ได้”
“สมมุติเราทำขนมปัง ใครจะเป็นคนบอกว่าขนมปังเราหอมกรุ่นและอร่อย ก็ต้องเป็นคนกิน ถูกป้ะ คุณค่าเราก็เหมือนขนมปังนั่นแหละ” เล่าไป ยกตัวอย่างสนุก ๆ ไปด้วย สมกับเป็นอาจารย์จริง ๆ
“ถ้าในมุมสตาร์ทอัพ คนอื่นก็คงมาบอกถึง Impact ของมัน มีคนมาใช้ประโยชน์จากมันหรือเปล่า อะไรต่าง ๆ มันก็จะถูกสะท้อนกลับมาหาเราเอง จากมุมมองของคนอื่น”
“จากที่ได้ฟังจากคนอื่น ๆ มา เราคือบุคคลที่สร้างสิ่งใหม่ ๆ และช่วยเป็นต้นแบบและ Empower หรือ Motivate คนอื่น”
“พอเราทำมาจนอายุขนาดนี้แล้ว ลักษณะคุณค่าที่คนอื่นมองเรามันเปลี่ยนไปนะ ทำมาระดับหนึ่งแล้ว คนอื่นจะมองเราเป็น Motivator คนอื่นจะเริ่มมองเราเป็นต้นแบบ เป็นคุณค่าอีกแบบหนึ่งที่เกิดขึ้น”
“อย่างแอพ Smile Migraine ที่เราสร้างขึ้นมา คนไข้เข้าถึงการรักษามากขึ้น คนไข้หายป่วย แบบนี้คือคุณค่าของการส่งมอบบริการ คือคุณค่าทางตรงของเรา”
“คุณค่าเราเลยมีสองก้อน เป็นนักจุดไฟ อีกอันนึงคือเป็น ผู้ทำแล้วเกิดผลจริง ๆ มีผลกระทบต่อวงการ Health”
อจ.สุรัตน์เสริมอีกว่าการเติบโตอย่างก้าวกระโดดราวกับ “S-Curve” ใน 5 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของวัย ที่อยู่ดี ๆ ก็ *ฟึ้บ* รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นโมเดลให้กับคนรุ่นใหม่ ๆ ไปเสียแล้ว เขาเล่าไปพร้อมเสียงซาวด์เอฟเฟคประกอบ
แล้วเราจุดไฟตัวเองยังไงคะ
“จริง ๆ การจุดไฟตัวเองนี่มันยากเหมือนกันนะ”
“เราจะมองผลลัพธ์ของสิ่งที่เราทำลงไป เป็นการจุดไฟที่ดีที่สุดเลย”
“เร็ว ๆ นี้มีคนไข้คนหนึ่งเพิ่ง Reflect กลับมา คนไข้คนนี้เรารักษาด้วยความทุ่มเทมากเมื่อ 12 ปีที่แล้ว เป็นโรคเกี่ยวกับสมองอักเสบ เขาอยู่จังหวัดแพร่ เราก็คิดว่าเขาไม่รอดแน่ ๆ เราก็ดูแลเต็มที่ ดูแลอย่างดีเลย จนในที่สุดตอนนี้น้องเขาก็จบมช. ได้เกียรตินิยมด้วย เห็นน้องมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ก่อนมัธยมเลย”
“ไฟบางอย่างเราจุดปุ๊ป แต่มันยังไม่มาเป็นตัวไฟให้เรา บางอย่างทำแล้วมันไม่เห็นผลทันที แต่เวลาผ่านไป ตอนนี้มันสะท้อนกลับมาแล้ว”
“บางอย่างก็รู้สึกได้เลย เดี๋ยวนี้มีโซเชียลมีเดียเนาะ Voice of Customer มันสะท้อนกลับมาได้เร็ว เวลาเราทำแอพแบบนี้ มีคนใช้ สามสี่หมื่นคนแล้ว”
“เวลาเราได้ยินว่าสิ่งที่เราทำมันเปลี่ยนชีวิตเขา มันก็เปลี่ยนชีวิตเราด้วย”
ดูวัดอิมแพคเป็น Human Scale นะคะ
“ก็ส่วนหนึ่ง จริง ๆ เราวัดได้หลายอย่าง มันมีหลายมิติ Economic Impact, มิติทางสังคมฯ, Quality of life”
“อย่างของ Smile Migraine ก็มีทำ SROI นะ วัดผลกระทบทางสังคมออกมาอย่างเป็นรูปธรรม”
รู้สึกว่า Smile Migraine มีวิธีการ Engage กับคนได้เป็นกันเองมาก เป็นความตั้งใจไหม?
“ตั้งใจทำแบบนั้น มันเป็นโรคที่มีความปวดอ่ะ คือต้องบอกว่าในการที่จะแก้ปัญหาให้ตรงจุดมันต้องมีการ Empathize (ความเห็นอกเห็นใจ) บังเอิญว่าโรคที่เราพยายามรักษาเขาอยู่มันคือโรคไมเกรน ซึ่งไมเกรนเนี่ยถ้าดูเฉย ๆ เราจะไม่รู้เลยว่าคนนี้เป็น จนกว่าเขาจะบ่นออกมาว่าเขาปวด หยุดงาน ไม่ไหว อะไรแบบนี้”
“บางคน หยุดงาน ไม่ไหว คนอื่นเขาก็ยังไม่เข้าใจนะ เอ๊ ยูปวด ยูไม่ได้เป็นอัมพาตนี่ แขนขายูไม่ได้อ่อนแรง ยูไม่ได้เดี้ยงนี่ เหมือนรถชนอะไรแบบนี้ คนอื่นเขาก็ไม่เข้าใจอยู่ดี”
“เพราะความปวดมันเป็นนามธรรม มัน Subjective มันคือสิ่งที่คนไข้บอกแต่เรามองไม่เห็น เพราะฉะนั้นมันเลยทำให้กระบวนการการทำงานของ Smile Migraine คือทำยังไงก็ได้ให้เราเห็นอกเห็นใจเขาได้มากที่สุด”
“แล้วการจะเข้าใจคนไข้แต่ละคน มันไม่เหมือนกันว่ะ ทุกคนปวดเหมือนกัน มีผลกระทบเหมือนกัน แต่ปัจจัยรอบตัวในชีวิตแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน”
“สมมุติคนหนึ่งเป็นพระ แล้วเขาปวดไมเกรน พอปวดไมเกรนเสร็จปุ๊ป เกิดจากเสียงสวดมนต์ หรือตอนเจออากาศร้อนเดินบิณฑบาต”
“หรือบางคน มีลูกไม่ได้ ไปฉีดฮอร์โมน ก็ปวดไมเกรนจากการฉีดฮอร์โมนเพื่อทำเด็กหลอดแก้ว”
“หรือว่าอีกกรณีหนึ่ง ปวดไมเกรนจากที่ทำงาน อยู่กับเจ้านายที่ Bossy มาก ๆ จน Stress อย่างรุนแรงมาก ทั้งปวดหัวและเป็นโรคซึมเศร้าด้วยกัน แต่ละคน เป็นโรคเดียวกัน แต่มี Diversity เยอะมาก มีรายละเอียดเต็มไปหมด”
“โจทย์คือ เขาไม่รู้จะไปแชร์ให้ใครฟัง เพราะฉะนั้นคีย์ ของ Smile Migraine คือเรารับฟัง เราสร้างออนไลน์คอมมูนิตี้ขึ้นมาที่รับฟังคุณ เข้าใจคุณ แล้วก็รักษาให้คุณด้วย”
“เราเข้าใจคุณ แต่ละคนเรารู้ว่ามีความหมายไม่เหมือนกัน แล้วเรารักษาคุณให้ดีที่สุด แต่เพราะทุกคนก็มีปัญหาเหมือนกัน เราจึงจับทุกคน (แพทย์ คนไข้ นักกายภาพ เภสัชฯ ฯลฯ) มาร่วมด้วยช่วยกันในการปรึกษา รักษา ก็เป็นชุมชนที่อบอุ่น เป็นโรคนะ แต่มีความอบอุ่นอยู่ในตัวโรคของมัน”
“อันนี้เลยกลายเป็น key success ของเรา”
ตอนนี้เดินทางมาถึงภาพที่เคยวาดฝันไว้หรือยัง ในเชิง Impact
“คิดว่ายังนะ เราอยากให้สเกลมันใหญ่กว่านี้ในแง่การเข้าถึง”
“ตอนนี้คนในคอมมูนิตี้ของเรามีการเข้าถึง 7-8 แสนคน ถึงคนอื่นจะบอกว่าเยอะแล้ว แต่มนุษย์ไมเกรนในประเทศไทยมันมีอยู่ทั้งหมด 10 ล้าน คนที่เป็นหนัก ๆ เลยอาจจะประมาณ 6 ล้าน แสดงว่าคนที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารโรคพวกนี้มันก็ยังไม่ทั่วถึง คนที่ใช้แอพเราบ่อย ๆ ก็มีอยู่ประมาณ 30,000 คน คนเรามัน Engage กับแต่ละเครื่องมือยังไม่เหมือนกัน”
“ถามว่ามันถึงจุดที่ฝันไหม เราก็มีความพอใจในระดับนึง”
“กระบวนการของเรามันเลยต้องการ Partnership อย่างเช่นที่เราทำงานร่วมกับสมาคมเภสัชกรรมชุมชนแห่งประเทศไทย ที่เขาดูแลร้านยาทั่วประเทศ เราก็มีโปรเจคร่วมกันที่เภสัชฯ เขาสามารถใช้แอพฯ ของเราเพื่อติดตามอาการของคนไข้”
“เราทำการเซอร์เวย์ Customer (คนไข้ไมเกรน) ต้องบอกว่า 80% เลย เขาไปหาเภสัชฯ ก่อนมากที่สุด ไปซื้อยาเอง ก่อนจะไปหาหมอ”
“เมื่อเรารู้อย่างนี้ มันก็มีความจำเป็นเลยที่การจะเข้าถึงคนไข้ได้ เราต้องเชื่อมโยงกับเภสัชฯ Smile Migraine ก็เลยเชื่อมโยงกับสมาคมเภสัชฯ เพื่อที่เขาจะได้ช่วยเราทำ Triage (การคัดกรองคนไข้) เพื่อดูว่าเวลาไหนควรจะส่งคนไข้ไปหาหมอได้แล้ว”
“มันไม่ใช่แค่การคอนเนคกลุ่มผู้ป่วยเข้าด้วยกันอย่างเดียว มันเป็นการคอนเนคผู้คนที่เป็น Stakeholder ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องด้วย ที่จะมาร่วมรักษาโรค ทั้งบริษัทยา แพทย์ เภสัชกร ร้านยา ทุกอย่างจะมาเชื่อมกัน”
จำได้ว่าอาจารย์เรียกสิ่งนี้ว่า Connected Care
“ใช่แล้ว มันเกิดการเชื่อมโยงเยอะขึ้น เรามีการเชื่อมโยงของแพทย์ เป็นกลุ่มให้บริการ แล้วก็มีการแชร์ประสบการณ์ร่วมกันในการรักษาคนไข้ เชื่อมโยงกับ เภสัชฯ ไปนักกายภาพ อะไรแบบนี้”
“ภาพของ Ecosystem ที่ผ่านมามันเป็นภาพที่ค่อนข้าง Static อยู่ระดับหนึ่งนะ
มันเคยมีการวาง Stakeholder ของผู้คนที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว แต่มันยังไม่ได้มีภาพเชื่อมเท่าไหร่ Flow ของการเชื่อมโยงมันยังไม่ชัด”
“เราต้องพยายามตามหาโมเดลการเชื่อมโยง คอนเนค ค้นหาว่าการเชื่อมโยงแบบไหนที่จะเกิดประโยชน์กับ Customer (คนไข้) มากที่สุด”
รับฟังมาถึงตรงนี้ เราจึงนึกสงสัยว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจที่จุดไฟให้เส้นทางนี้เริ่มต้นขึ้นจริง ๆ
ทำไมถึงเลือกเรียนเฉพาะทางด้านโรคปวดหัว
“คนมันไปเรียนเรื่องอื่นเยอะที่ทำเงินได้ มีความเฉพาะทางสูง เช่นคนเขาก็จะไปเรียนโรคผ่าตัด โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมองตีบ”
“เราอ่ะคิดว่า เราควรจะรักษาโรคที่มันเจอบ่อย แต่คนยังรักษาไม่ค่อยเป็น ทุกคนไม่เข้าใจ เช่นไมเกรน โรคปวดหัว”
“โรคปวดหัว คนเป็นเยอะ Common มาก ๆ ทุกคนคิดว่าใคร ๆ ก็รักษาได้ แต่จริง ๆ มันไม่ใช่ เราก็เลยมาเรียนเฉพาะทางเรื่องนี้”
เส้นทางที่ผ่านมา สิ่งนี้ดูจะเป็นตัวอาจารย์มาก อยู่ในทุกสิ่งที่ทำเลย มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง
“ที่รู้สึกก็คือ คิดถูกแล้ว มาทางนี้แหละถูกแล้ว”
“ตอนนี้ก็มีโมเดล รุ่นน้อง ๆ ตามมาเป็นแถว”
“เราก็คิดว่าไอ้สิ่งที่เราเลือก ไอ้การรักษาโรคที่ใคร ๆ ก็เหมือนว่าใคร ๆ ก็รักษาได้ แต่ทำให้มันเฉพาะทางขึ้นมา มันก็เป็นการรักษาที่ถูกแล้ว แล้วไอ้สิ่งนี้ก็ถูก Proof ด้วย Impact ที่มันถูกสร้างขึ้นจริง ๆ เออ มันเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในวงการสุขภาพ”
จากการสัมภาษณ์และพูดคุยกันที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้มาตลอดหลายปีว่ามีอาจารย์หมอน้อยคน จากโรงเรียนแพทย์ที่จะผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ (Entrepreneur) แต่ทว่าตอนนี้ เทรนด์กลับดูมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก
ซีน (Healthtech เชียงใหม่) เปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง
“พอเรามาเป็นโมเดลปุ๊ป แล้วคนมันมาเห็นโมเดลที่เราส่งต่อไป คนก็มีความสนใจ มี Motivation มากขึ้น คนที่เป็นหมอเขาก็หันมาสนใจเรียนรู้เรื่องโรคนี้มากขึ้น”
“เหมือนเราสร้างกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น จากที่เมื่อก่อนอาจจะมีกันแค่ 2-3 คน ตอนนี้มีเป็นร้อย เราก็ร่วมกันลุย สร้างฮีโร่ขึ้นมาเต็มไปหมด”
“ฝั่งคนไข้ มันก็สร้างการรับรู้ได้เพิ่มขึ้นมาก ๆ คนที่ป่วยเป็นโรคนี้เขาก็กล้าที่จะมาพูดมากขึ้น ว่ามันทรมานอย่างงู้นอย่างงี้ การรักษายังไม่โอเคยังไง จากเมื่อก่อนที่มันโดนกดทับ ด้วยการรักษาแบบเดิม ๆ”
นั่นระดับมหภาค ส่วนด้านในตัวเราละ เปลี่ยนไปยังไงบ้าง
“เอาสิ่งที่เหมือนเดิมก่อน เราก็ยังเราก็ยังอยู่ในอาชีพเดิม Career Path เดิม ยังไม่ได้หลุดจากความเป็นข้าราชการ ชีวิตประจำวันยังมีงานประจำที่เป็น Routine อยู่ รักษาคนไข้ ราวด์นักศึกษา ออกคลินิก”
“สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็คือสิ่งที่ทำงอกออกมา มันเป็น Inner change มันเป็น Spiritual change (การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ) คือเราก็จะมีความเข้าใจถึงพลวัต พลวัตของการเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่ของตัวเอง และโลก”
“พอเราเรียนเรื่องนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลง การดำเนินชีวิต Evolution ของการรักษา อะไรเยอะขึ้น หรือแม้แต่การเมืองมันก็มา Involve กับเราด้วย อย่างเวลาเราต้องขอทุนงี้”
“อะไร ๆ มันก็เป็นพลวัตไปหมดอ่ะ อ๋อ มันก็เป็นแบบนี้แหละ”
“เห็นทีมเติบโต เห็นคนท่ี Burnout แยกออกไป เห็นกระบวนการของชีวิตในภาพใหญ่ขึ้น …. เออ เหมือนพระพุทธเจ้าเหมือนกันนะ จะเรียกปลงก็ได้นะ พอเห็นแบบนี้ เราจะไม่ยี่ร้ากับปัญหา”
อาจเพราะวิญญาณนวัตกรที่มีในตัวอจ.สุรัตน์เองก็ได้ ที่ทำให้เขาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากมายอย่างหาตัวจับได้ยาก ความที่สามารถมองเห็นภาพรวม ความเชื่อมโยงกับโลก ความเปลี่ยนแปลง การเมือง สังคม ทุกอย่างล้วนเป็นพลวัตที่ส่งผลต่อวงการสุขภาพทั้งสิ้น
ถ้าเทียบกับคนรุ่นเดียวกัน
“ก็ไม่ค่อยมีคนยอมออกมาทำเท่าไหร่ เขาก็ยังอยู่ใน Safe Zone ของเขา”
“อาจจะด้วยว่ารุ่นนี้ เขาก็คิดว่าอยู่ใน Comfort Zone แล้ว รายได้มั่นคงแล้ว มีชื่อเสียงอยู่ในระดับหนึ่ง เขาก็เลือกเดินไปตาม Way ง่าย ๆ ดีกว่า”
แล้วเราละ Comfort Zone ของเรามั้ย ที่ทำอยู่ตอนนี้
“ไม่ Comfort อ่ะ มันเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงตลอด”
“มันเหมือนการเดินเรืออ่ะ คำว่า Comfort คือคุณเดินเรือไปในที่ ๆ คุณก็รู้อยู่แล้วว่าที่นี่แม่งไม่มีพายุ รู้จุดหมาย รู้โขดหินอยู่แล้ว”
“แต่ไอ้สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ มันเป็นการเดินเรือไปในน่านน้ำที่ใหม่ไปเรื่อย ๆ คือเราอาจจะรู้ว่าตรงนี้มีโขดหินอยู่บ้าง แต่ว่าเราไม่รู้ว่าตรงนั้นจะมีอะไรอีกโผล่ขึ้นมา มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ”
“เนื่องจากมันเป็นธุรกิจที่ไม่ใช่อาชีพแบบ Professional ที่แบบอยู่ในโรงพยาบาลรัฐจ๋า ๆ มันมีความเปลี่ยนแปลงของตลาด มันเป็นตัวบังคับว่าเฮ้ย มันอาจจะมีคู่แข่งแล้วนะ มีเรื่องเศรษฐกิจ มีเรื่องรายได้บริษัทเข้ามายุ่ง มันก็เลยทำให้บริษัทต้องโต กับกระบวนการนี้มันก็เลยถูกบังคับให้ต้องโตไปโดยปริยาย มันก็เลยไม่เป็น Safe Zone”
“คือชีวิตมันไม่มีทางกะเกณฑ์ได้ว่าคุณจะเจออะไร แต่พอมันเจอปั๊ปแล้วเลือกทางนั้นไปแล้ว บางอย่างมันถอยหลังไม่ได้ เวลา มันเป็นเข็มนาฬิกาที่เดินไปข้างหน้า ถ้าเราบอกว่าเราเป็นหมออยู่ก็ดีแล้วนี่ เลิกดีกว่าบริษัท มันก็ไม่ได้แล้ว มันเหมือนเราเปิดหนังสือที่จะเจออะไรต่อแล้วอ่ะ ถ้าเราหยุดแล้วถอยกลับมา มันเหมือนอัตชีวประวัติที่เขียนไม่จบ มันเหมือนคนเขียนหนังสือไม่จบ”
“การที่ได้มาทำธุรกิจ ทำสตาร์ทอัพ เจอคนหลากหลาย ก็หล่อหลอมเราให้เรากลายเป็นนักผจญภัย เป็น Voyageur ไปโดยปริยาย จริง ๆ ทุกคนก็เป็นนักผจญภัยกันหมดแหละ แต่ในเชิงหน้าที่การงาน ผจญภัยแบบนี้เราก็ไม่ได้อยู่ใน Safe Zone แน่ ๆ”
สมัยก่อนตอนนั้นที่เคยพูดถึงตัวเองว่าเป็น “ตัวประหลาด” เดี๋ยวนี้รู้สึกเป็นยังไงบ้าง
“เดี๋ยวนี้ไม่ประหลาดแล้ว กลายเป็นเทรนด์ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เราเป็นหมอแล้วไป Pitching ทุกคนก็ถามว่ายูไปทำอะไรอะ ยูเป็นหมอ เป็นนักวิจัย หรือนักธุรกิจ? ยูเป็นอะไร?”
“ตอนนี้ บังเอิญ ตัวประหลาดมันเยอะขึ้น ก็เลยกลายเป็นไม่ประหลาด”
“อันนี้ก็เปลี่ยนมุมมองเรานะ ไอ้คำว่าคุณจะประหลาดหรือไม่ประหลาด มันขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ตรงไหน”
“เมื่อเช้าเราไปงานของ builds มช. มา คนรุ่นใหม่ ๆ ยิ่งแปลกกว่าเราอีก มีไอเดียที่เฟรชกว่าเราอีก มีความขบถในแบบของมันเงี้ย”
“เด็กรุ่นใหม่กล้ามาก กล้าที่จะลองอะไรใหม่ ๆ กล้าล้ม กล้าลองอีก โดยที่เขาไม่ได้เสียใจเท่าไหร่ แสดงว่าเด็กรุ่นใหม่นี่เขาโตมากับความตื่น ความล้มลุกคลุกคลาน ประมาณหนึ่ง”
Entrepreneurship สำคัญยังไง
“มันสำคัญ มันเป็นสกิลการบริหาร ทำให้คนเข้าใจกระบวนการรอบด้านมากขึ้น เดิมทีเป็นสกิลที่อาจจะมีได้กับคนที่บริหารโรงพยาบาลเท่านั้น”
“หลายโรงเรียนแพทย์ก็เริ่มมีแทรกคอร์สเข้าไปบ้างแล้ว”
“เราเหมือนเครื่องปั่นตัวประหลาด ปั่นผ่านรูหนอน Innovation funnel ได้ตัวประหลาดออกมาตัวสองตัว”
“แล้วตัวพวกนี้ก็จะมาช่วยปั่นอีก เกิดเป็นกระบวนการ เป็น Ecosystem ขึ้นมา”
“ในอนาคต คนมันก็จะมีแรงดึงดูดหากัน มวลมันเหมือนดวงดาว มวลมันใหญ่ขึ้น แรงดึงดูดก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ มันก็ดึงคนเข้ามามากขึ้น ๆ”
อจ.สุรัตน์พูดอย่างมีความหวัง ถึงการเติบโตของ Healthtech ในวงการแพทย์ที่ดูน่าสนุกและตื่นเต้น
ต่างจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพในมุมมองของอจ. คืออะไร
“เมืองที่ไม่มีกระบวนการบริหารจัดการที่ Independent ในแง่ Policy มันเป็นอย่างนั้นนะ งบประมาณต้องรอส่วนกลาง อย่างพวกสถาบันนวัตกรรมก็ยังอยู่ส่วนกลาง ยังต้องถูกจัดสรรงบประมาณมา”
“อีกอันนึงก็คือเรื่องของมุมมอง คนก็จะมองว่าโอกาสก็ยังอยู่ที่กรุงเทพอยู่”
เชียงใหม่ยังเป็นแบบนั้นอยู่ไหม
“ก็ใช่นะ”
แล้วทำไม Healthtech เติบโตที่เชียงใหม่ได้
“คิดว่าด้วยสิ่งแวดล้อมส่วนหนึ่ง เชียงใหม่มันมีสิ่งแวดล้อมทั้งกายภาพและไม่กายภาพที่เอื้อต่อการเติบโต มันเป็นเมืองที่ขนาดไซส์ไม่ใหญ่มาก เราเห็นกันอยู่ว่ามีแค่นี้แหละ แล้วบังเอิญไอ้ความหนาแน่นของสตาร์ทอัพ กับ Nomad มันเยอะ แล้วกิจกรรมที่เกี่ยวกับความสร้างสรรค์มันหนาแน่น”
“Creative ideas, innovation, entrepreneurship, business จริง ๆ มันมาด้วยกัน”
“ในอีกสิบปี Smile D (บริษัทใหม่) ก็คงจะมี Headquarter อยู่เชียงใหม่ แต่ยังไงก็ต้องขยายไปกรุงเทพแน่นอน”
อยากส่งต่ออะไรให้เมืองและโลก
“อยากให้เมืองโฟกันเรื่องธุรกิจนวัตกรรม เป็นธุรกิจที่มีครีเอทีฟ Creative Business โฟกัสเรื่องนี้ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น”
“สร้างย่านอย่าง Silicon Valley ควรเป็นนโยบายในระดับจังหวัด”
“Chiang Mai Innovation & Creative City for Entrepreneurship. Everyone has an opportunity. อะไรประมาณนี้”
“ถ้ามองในแง่ของโลกมันก็มาจากที่เราทำ Business ทำอะไรมาหลาย ๆ อย่าง”
“ตัวเราอยู่มา อีกเดี๋ยวก็ตาย ยังไงก็ตายแน่ ๆ อยู่แล้ว คำถามคือเราอยากให้คนจำเราในฐานะอะไร อยากให้คนรุ่นหลังพูดถึงเรายังไง”
พูดถึงเพื่อนในเชียงใหม่ที่ส่งพลังให้เราหน่อย
“ก็ไม่ใช่เพื่อนซะทีเดียวนะ เป็นอาจารย์ของอาจารย์อีกที ชื่อรศ. ศิวพร จันทร์กระจ่าง เป็นอาจารย์ทางโรคสมองนี่แหละ แต่โคตรจะครีเอทีฟไอเดียสุดโต่ง แล้วให้โอกาสคนรุ่นหลังมาก ทำตั้งแต่เป็นศูนย์โรคสมอง ริเริ่มทำบ้านผู้สูงอายุตั้งแต่แรก ๆ เลย”
“เขาจะไม่จุดประกายเราด้วยการสั่ง เขาจะมีวิธีการตั้งคำถาม การส่งพลังบางที่ไม่ใช่การบอกว่ายูต้องทำอะไร มันเป็นการถามว่า คุณคิดยังไง เนี่ยแหละคือการส่งพลัง การ Trigger คำถาม”
“คนที่มีพลัง บางครั้งมันไม่ได้มาจากตัวเราหรอก บางทีคนที่ส่งพลังให้ บางทีเขาก็แค่ตั้งคำถามที่เราไม่เคยตั้ง และเราจะได้คำตอบที่เราไม่เคยคิด”
นิยาม Smile Migraine ให้ฟังหน่อย
“แพล็ตฟอร์ม เป็นเครื่องมือที่เชื่อมโยงผู้คน เชื่อมโยงหมอ เชื่อมโยงโลกในการรักษาทำให้ชีวิตของเขา (คนไข้) ดีขึ้น”
คำถามสุดท้าย เราเป็นใคร
“เราเป็นคน ๆ หนึ่งที่เกิดมาทำประโยชน์ให้แก่ทุกคน แล้วรู้สึกว่าเรามีความสุขกับการใช้ชีวิตแบบนี้”
หนึ่งชั่วโมงผ่านไปไวมาก เพราะอจ.สุรัตน์มักพูดด้วยความเร็วสูงอยู่เสมอ เหมือนการใช้ชีวิตของเขาที่ว่องไวเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ (หรืออดีต “ตัวประหลาด”) ตัดกับภาพความสโลว์ไลฟ์ของเชียงใหม่ไปมากมาย เป็นเรื่องน่าดีใจและน่าตื่นเต้นที่คน ๆ หนึ่งได้มีโอกาสเห็นพลวัตของความเปลี่ยนแปลง และเป็นส่วนหนึ่งของพลวัตนั้น ๆ ได้ด้วยตัวเอง
ชีวิตของอจ.สุรัตน์สะท้อนให้เห็นได้ว่าความสร้างสรรค์ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะอาชีพในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เท่านั้น ความเป็น “เมืองสร้างสรรค์” มีนิยาม คำจำกัดความที่กว้างกว่ากรอบทางอุตสาหกรรมเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง ความสร้างสรรค์ควรอยู่ในทุกอณูของชีวิตในเมือง เพราะความสร้างสรรค์นี้เองที่ทำให้การใช้ชีวิตในตารางกิโลเมตรเล็ก ๆ ในย่านศิริมังคลาจารย์ สร้างแรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่กว่าได้
'นนทบุเรี่ยน' ที่มาเป็นชาวเชียงใหม่ เป็นนักรณรงค์เมืองดนตรีที่มีความฝันว่าอยากจะเป็นนักเขียนกับเขาบ้าง เมื่อได้ลองทำจึงปิติเป็นอย่างมาก เล่นดนตรีบ้างเพื่อเคลียร์พื้นที่จิตใจ มีความสนใจเรื่องการพัฒนาเมืองแนวราบและการกระจายอำนาจเชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย