อันซีนสุเทพ วอร์คชอร์ป ลัดเลาะหาพื้นที่ศิลปะศิลปิน

“ตำบลสุเทพ จริง ๆ เป็นย่านที่ต้นทุนทางสังคมสูงนะ ทั้งกลุ่มคนที่อยู่อาศัย วัฒนธรรมประเพณีตั้งเดิมของคนพื้นถิ่น ยิ่งต้นทุนทางธรรมชาตินี่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย ที่นี่มีอุทยานแห่งชาติอยู่หลายจุด พื้นที่ป่าก็มีความอุดมสมบูรณ์ ถูกยกให้เป็นป่าในเมืองของเชียงใหม่ และที่สำคัญที่สุด คือเป็นย่านที่มีกลุ่มนักศึกษาอยู่เยอะ และเป็นนักศึกษาที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นกลุ่มที่ทำงานสร้างสรรค์ด้วย”

มณฑิรา คำสอน ผู้ช่วยดำเนินโครงการ Sync Space เล่าถึงตำบลสุเทพ(อ.เชียงใหม่) หนึ่งในตำบลที่มีประชากรหลากหลายกลุ่มอาศัยอยู่ ทั้งยังมีสถานที่สำคัญมากมายที่ตั้งอยู่ในตำบลนี้ทั้งวัด มหาวิทยาลัย รวมไปถึงดอยสุเทพ และยังเป็นที่รวมตัวของกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์มากมายที่อาศัยกระจุกตัวอยู่ แม้จะดูเป็นย่านที่โคตรคูลแล้วก็ตาม แต่ยังมีบางสิ่งที่ตำบลสุเทพยังต้องการและจำเป็นอยู่

“ตำบลสุเทพมีเกือบทุกอย่างเลยยกเว้น ‘พื้นที่สาธารณะ’ ที่เอาไว้ให้คนทำงานสร้างสรรค์ได้ปล่อยของแสดงตัวตนอย่างอิสระ ปลอดภัย มันไม่เคยเพียงพอต่อกลุ่มคนเหล่านี้ เหมือนเป็นบัคของย่านนี้เลย และอาจของทั้งเชียงใหม่เลยด้วยซ้ำ ทั้งที่มีต้นทุนอะไรมากมาย แต่ทำไมแค่พื้นที่สาธารณะฟรี ๆ มันถึงได้หายากหาเย็น นั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยากจะผลักดันในพื้นที่ในอุดมคติเหล่านั้นให้มันเกิดขึ้นจริง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มนักสร้างสรรค์ที่กำลังเรียนอยู่ หรือเรียนจบไปแล้วก็ตาม และโมเดลที่เรากำลังทำมันเริ่มจากตำบลสุเทพที่ที่เราอยู่นี่แหละ”

จากบัคที่เป็นปัญหาอยู่ อันซีนสุเทพ วอร์คชอร์ป (Unseen Suthep walk shop) เลยเกิดขึ้นเพื่อจัดกิจกรรมสนุก ๆ ที่ชวนกลุ่มนักสร้างสรรค์ในเครือข่ายของ Sync Space เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยเดินเท้าสำรวจเมืองร่วมกันสร้างภาพจำใหม่ ๆ ให้กับตำบลสุเทพผ่านมุมมองของเหล่านักสร้างสรรค์ที่มาจากหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็น ศิลปิน นักออกแบบ คนฉายหนัง และสื่อมวลชน รวมไปถึงทีมนักวิจัยเมืองอย่าง Chiang Mai Learning City มาร่วมเป็นวิทยากรบรรยาย ร่วมเดินสำรวจเมืองไปพร้อม ๆ กัน และเทศบาลตำบลสุเทพส่วนเคลื่อนสำคัญในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ที่สนับสนุนเรื่องสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวก

มณฑิรา ยังเล่าว่าปีนี้ Sync Space พยายามผลักดันให้ตำบลสุเทพมีพื้นที่สาธารณะที่รองรับคนรุ่นใหม่และคนในชุมชน โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ช่วง ในช่วงแรกคือการสำรวจข้อมูลนักสร้างสรรคจบใหม่เกี่ยวกับพฤติกรรม ความต้องการใช้และปัญหาในการใช้ รวมไปถึงข้อมูลทางผังเมืองเกี่ยวกับพื้นที่ตำบลสุเทพ ช่วงที่ 2 คือการรวมเครือข่ายคนทำงานสร้างสรรค์รุ่นใหม่ และช่วงสุดท้ายคือขั้นตอนการยื่นพิมพ์เขียวหรือแบบร่างพื้นที่สร้างสรรค์ที่เป็นนโยบายของ Sync Space ให้กับเทศบาลตำบลสุเทพ

ปัจจุบันการทำงานของ Sync Space อยู่ในช่วงการรวมเครือข่ายคนทำงานสร้างสรรค์รุ่นใหม่หรือในช่วงที่ 2 เป็นจังหวะประจวบเหมาะกับการที่ Sync Space ต้องเริ่มทำให้เทศบาลรับรู้ถึงการมีอยู่ พูดอีกอย่างว่าเป็นการแนะนำตัวเองกับเทศบาล ดึงเทศบาลเข้ามามีส่วนร่วมในแต่ละขั้นตอนของโปรเจค จนเกิดเป็นกิจกรรมอันซีนนี้ขึ้นมา 

“คำว่าอันซีน เหมือนล้อกับสถานที่ท่องเที่ยวอันซีน แต่จริง ๆ คือสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก ไม่ถูกมองเห็นชัดเจน แต่มีอยู่จริง ซึ่งก็เหมือนกับเราในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์และพื้นที่ในตำบลสุเทพนั่นแหละ”  

งบประมาณหมุนเวียนของรัฐมีอยู่เป็นหลักหลายร้อยล้าน พันล้าน มีทรัพยากรคนที่พร้อมทำงาน แต่ยังขาดไอเดียในการทำอะไรสนุก ๆ และสร้างสรรค์ ซึ่งตรงนี้ทำให้ มณฑิรา คิดว่า Sync Space จะเป็นตัวกลางที่เชื่อมไอเดียจากนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ กับหน่วยงานราชการที่มีทุน และทรัพยากร 

“เอาจริง ๆ เราแอบเซอร์ไพร์สนะ ที่เทศบาลตำบลสุเทพเขาคุยง่าย และสนับสนุนเราขนาดนี้  ไม่ว่าจะข้อมูลทางผังเมืองที่เราขอ สนับสนุนพื้นที่ในการทำกิจกรรม รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่าง น้ำ ไฟ รถรางไฟฟ้า คนขับรถ เขาจัดหาให้เราได้ทุกอย่างที่ขอ ยังไม่นับเรื่องการให้คำปรึกษาและการดำเนินการทางเอกสารที่เขาคอยช่วยเราตลอด”

“เพราะสุดท้ายเราเชื่อว่า พื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะจะเกิดขึ้นจากการทำงานของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงลำพังไม่ได้ มันต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ กลุ่มนักสร้างสรรค์ และคนในชุมชนเองที่เป็นกลุ่มคนที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กันในฐานะเจ้าของบ้าน พื้นที่มันถึงจะออกมาแล้วถูกใช้งานได้จริง ไม่ใช่ออกมาเป็นตึกหรือลานรกร้างที่ไม่มีคนใช้”

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง