พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น(2): กฎหมาย ระเบียบ ข้อปฏิบัติ ที่ว่าด้วยการจัดการพิพิธภัณฑ์โดยส่วนท้องถิ่น

เรื่อง: ปวีณา หมู่อุบล

อ่าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น(1): อีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะที่กำลังอยู่ในสภาวะขาดแคลน

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เว็บไซต์มติชนออนไลน์ได้เผยแพร่บทความชิ้นหนึ่งของสุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งในบทความดังกล่าวได้มีข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น และการ “ปลดล็อก” ประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องคนไทยสายเลือดบริสุทธิ์อพยพถอนรากถอนโคนมาจากทางตอนใต้ของจีน และเรื่องสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย รวมทั้งให้ท้องถิ่นค้นคว้าแล้วเรียบเรียงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนอย่างเสรีตามหลักฐานวิชาการสากล

ข้อเสนอดังกล่าวคงถูกนำเสนอเพื่อให้เป็นแนวทางการคืนอำนาจการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ให้แก่ท้องถิ่น เพื่อทลายการผูกขาดประวัติศาสตร์และสนับสนุนให้เกิดการศึกษาและการบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น หากแต่ในทางปฏิบัติการที่จะทำเช่นนั้นได้ อย่างแรกเลยคงจะต้องมีการกระจายอำนาจ รวมถึงงบประมาณให้ส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ได้มีศักยภาพและมีความเป็นอิสระในบริหารจัดการงานด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และพิพิธภัณฑ์

อันที่จริงประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการงานด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนงานพิพิธภัณฑ์ เป็นประเด็นที่เคยถูกพูดถึงมาแล้วเมื่อปี 2562 โดยมีรายงานข่าวว่าอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในขณะนั้น ได้ยกประเด็นเรื่องถ่ายโอนภารกิจบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์จากกรมศิลปากร ไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยชี้ว่ามีข้อกฎหมายที่เปิดทางให้มีการกระจายอำนาจสู่ อปท. เพื่อให้มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตนเอง 

ข้อกฎหมายดังกล่าวคือ พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา 16 ที่กำหนดให้ เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบล มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตนเอง โดยหมายรวมถึงการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น 

ขณะเดียวกันแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2543 ได้จำแนกงานที่ต้องถ่ายโอนให้ท้องถิ่นออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน, 2) ด้านงานส่งเสริมคุณภาพชีวิต, 3) ด้านการจัดระเบียบชุมชน/สังคม และการรักษาความสงบเรียบร้อย, 4) ด้านการวางแผน การส่งเสริมการลงทุน พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว, 5) ด้านการบริหารจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และ 6) ด้านศิลปะ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งในด้านที่ 6 นี้ได้หมายรวมถึงการดูและโบราณสถาน โบราณวัตถุ พิพิธภัณฑ์ และหอจดหมายเหตุเอาไว้ด้วย 

ในปี 2546 ปรากฏข้อมูลใน สรุปรายละเอียดการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ช่วงปี 2545 – 2546) ว่าได้มีการถ่ายโอนภารกิจด้านศิลปะ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้แก่เทศบาล, เมืองพัทยา, อบต., อบจ., และกทม. ในการบำรุงรักษาโบราณสถานการ ให้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาขั้นพื้นฐาน โดยรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน กำกับดูแล ให้คำแนะนำ รวมถึงภารกิจด้านการดูแลรักษาโบราณสถานในระดับท้องถิ่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมศิลปากรกำหนด

โดยเมื่อถ่ายโอนภารกิจด้านศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี ภูมิปัญญาตลอดจนงานพิพิธภัณฑ์ไปยัง อปท. แล้ว ปรากฏว่ารัฐยังคงมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนในการบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ขณะที่ อทป. มีส่วนร่วมในการดูแลรักษา อันเป็นการดูแลรักษาขั้นพื้นฐานที่รัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน กำกับดูแล และแนะนำ นอกจากนี้ รัฐยังมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนในการจัดทำพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุประจำท้องถิ่นด้วย 

ในส่วนของการจัดการโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น รัฐให้ อปท. ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณากำหนดว่าโบราณสถานและโบราณวัตถุใดมีระดับความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับโลก โดยให้มีคณะกรรมการของส่วนกลางเข้าร่วมเป็นคณะกรรมพิจารณาดังกล่าวด้วย และกำหนดให้ถ่ายโอนเฉพาะโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในระดับชุมชนและท้องถิ่นให้ อทป. ทำหน้าที่ดูแลรักษาเท่านั้น

ขณะที่ขั้นตอนการปฏิบัติทั้งในด้านการบำรุงรักษาโบราณสถาน การบำรุงรักษาโบราณสถานระดับท้องถิ่น ตลอดจนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุประจำท้องถิ่นนั้น อทป. สามารถกระทำได้ภายใต้การกำกับของกรมศิลปากรเป็นหลัก เป็นต้นว่า กรมศิลปากรจะทำหน้าที่จัดทำคู่มือ แผนการทำงาน ฝึกอบรม รวมไปถึงให้การสนับสนุนด้านวิชาการและบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ หรือมีความชำนาญการไปเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำเรื่องการดูแลรักษาโบราณสถานในระดับท้องถิ่นแก่ อปท. โดยที่การดูแลรักษาโบราณสถานนั้นจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมศิลปากรกำหนด ซึ่งทางกรมฯ จะกำหนดตัวโบราณสถานเป็นแห่ง ๆ ไป

อันที่จริงแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็ยังจำเป็นต้องพึ่งพาอำนาจและความรู้บางประการจากส่วนกลาง โดยเฉพาะในกิจการงานพิพิธภัณฑ์ ซึ่งตามที่ปรากฏในข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นแล้วว่าแม้จะมีการถ่ายโอนภารกิจในด้านนี้มายัง อทป. แล้ว แต่กรมศิลปากรจะยังคงเป็นแม่งานหลัก ซึ่งก็นับเป็นคุณูปการและเหมาะสม เพราะกรมศิลปากรเองก็เป็นหน่วยงานเดียวที่ทำงานในด้านนี้ และทำมาตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม

หากแต่เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะมีคำถามอีกว่าแล้วกรมศิลปากรเองมีพละกำลังทั้งด้านบุคคลากรและงบประมาณเพียงพอหรือไม่ที่จะเป็นแม่งานในกิจการด้านการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุประจำท้องถิ่น ขณะเดียวก็มีอีกคำถามต่อไปว่าแล้วการถ่ายโอนภารกิจเช่นที่กล่าวมานี้จะเรียกว่าเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นได้หรือไม่?

อ้างอิง

  • กองพัฒนาและส่งสเริมการบริหารงานท้องถิ่น กลุ่มงานส่งเสริมการกระจายอำนาจและการจัดทำงบประมาณอุดหนุน. (2566). กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. ออนไลน์; https://www.dla.go.th/upload/ebook/column/2023/5/2365_6294.pdf

อดีตนักเรียนประวัติศาสตร์ ปัจจุบันนัก (ลอง) เขียน อนาคตไม่แน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง