กว่าจะได้ดูหนังสักเรื่อง ‘คนแม่ฮ่องสอน’ ใช้เวลา 5 ชั่วโมง 52 นาที ระยะทาง 276 ก.ม. แถม ‘ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางบก’ พรรคประชาชนก็โดนคว่ำ

เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

จากข่าวสั้นเมื่อวันที่ 26 ส.ค. เมื่อคน ‘แม่ฮ่องสอน’ และ ‘ตราด’ อดดู ‘วิมานหนาม’ ประเทศไทยมี 76 จังหวัด ไม่มี ‘โรงหนัง’ ไปแล้ว 8 ที่ ที่รายงานถึงจังหวัดที่ไม่มีโรงหนังและ ‘แม่ฮ่องสอน’ ก็เป็นอีกหนึ่งในจังหวัดที่ไม่มีโรงหนัง หากชาวแม่ฮ่องสอนต้องการรับชมภาพยนตร์จะต้องเดินทางไปจังหวัดใกล้ที่สุดอย่างจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้มีผู้คนมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นการเดินทางจากแม่ฮ่องสอนไปยังจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะกับเชียงใหม่ว่าแม้จะเป็นจังหวัดที่อยู่ติดกันแต่กว่าจะเดินทางถึงก็ใช้เวลากว่าครึ่งวันไปแล้ว!

Lanner ทำการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อ เพื่อทำความเข้าใจกับประเด็นนี้ เพราะไม่ใช่แค่การเข้าถึงโรงหนังและความบันเทิง แต่มันรวมไปถึงเรื่องของ ‘คุณภาพชีวิต’ ด้านอื่นอีกเช่นกัน

หากมาดูรถโดยสารเดินทางข้ามจังหวัดของแม่ฮ่องสอนเพื่อไปจังหวัดเชียงใหม่ จะพบแค่เจ้าเดียวที่มีรถให้บริการนั้นก็คือ เปรมประชา ทรานสปอร์ต ซึ่งมีรถให้บริการในการเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ 2 รูปแบบ นั้นก็คือ รถบัสและรถตู้ ซึ่ง ‘รถตู้’ เป็นรถที่ใช้เส้นทางในการเดินทางสั้นที่สุดและราคาก็ถูกที่สุด โดยใช้เวลาในการเดินทางจาก สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถึง สถานีขนส่งผู้โดยสารเชียงใหม่ อาเขต 2 จากการสืบค้นบนเว็บไซต์ BusOnlineTicket จะพบว่าจะใช้เวลาในการเดินทางทั้งหมด 5 ชั่วโมง 52 นาที ระยะทาง 276 กิโลเมตร มีรถให้บริการ 10 รอบต่อวัน ให้บริการตั้งแต่ 07.00 – 17.00 น. โดยราคาจากการสืบค้นในเว็บไซต์ เปรมประชา ล่าสุด (29 สิงหาคม 2567) จะอยู่ที่ 250 บาท

โรงหนังที่ใกล้ปลายทางของรถโดยสารข้ามจังหวัดมากที่สุดคือสาขา เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ ตัวอย่างเช่น หากชาวแม่ฮ่องสอนต้องการจะดูภาพยนตร์ ‘วิมานหนาม’ จะต้องออกเดินทางจาก สถานีขนส่งแม่ฮ่องสอน โดยรถตู้ของบริษัทเปรมประชา ตั้งแต่เที่ยวแรกนั้นก็คือ 07.00 น. หากบวกกับระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง 52 นาที ไปยัง ขนส่งเชียงใหม่ อาเขต 2 ก็จะถึงประมาณ 12.52 น. บวกกับการเดินเท้าโดยไม่ใช่บริการขนส่งใด ๆ อีก 1.5 กิโลเมตร และ อีก 15 นาที จะถึง เมเจอร์ฯ เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ ในเวลาประมาณ 13.08 น. โดยรอบหนังที่เร็วที่สุดคือรอบ 14.10 น. (เช็คจากเว็บไซต์ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ วันที่ 29 สิงหาคม 2567)

วิมานหนามมีความยาว 125 นาที หรือ 2 ชั่วโมง 5 นาที หากรับชมรอบ 14.10 น. จะจบในเวลาประมาณ 16.15 น. และต้องเดินเท้าไปยัง สถานีขนส่งผู้โดยสารเชียงใหม่ อาเขต 2 จะถึงในเวลา 16.30 น. หากเช็คจากเว็บไซต์ เปรมประชา รถตู้ที่เป็นรถที่ใช้ในการเดินทางขามาจะมีรอบเดินทางรอบสุดท้ายคือเวลา 14.30 น. ซึ่งไม่ทัน ชาวแม่ฮ่องสอนต้องใช้ ‘รถบัส’ ของ เปรมประชา ที่ออกรถเที่ยวสุดท้ายในเวลา 20.00 น. และราคาสูงขึ้นเป็น 350 บาท ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง เนื่องจากต้องแวะที่จุดพักรถทั้งหมด 2 จุด ได้แก่ ป้ายรถประจำทางแม่สะเรียง, ป้ายรถประจำทางขุนยวม ก่อนจะถึงสถานีขนส่งแม่ฮ่องสอน ในเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 30 สิงหาคม

รวมทั้งหมดชาวแม่ฮ่องสอนจะใช้เวลาในการรับชมวิมานหนามผ่านการเดินทางด้วยรถโดยสารจะต้องเวลาในการ เดินทาง+รับชม+รอรถ ทั้งหมด 20 ชั่วโมง

แต่หากมีรถยนต์ส่วนตัวก็ไม่ต้องนั่งบนรถโดยสารให้ปวดหลังแถมยังไม่ต้องรอรถที่สถานีขนส่งอีก หากคำนวนเวลาตามข้อมูลจาก Google Maps โดยเริ่มต้นเดินทางที่ สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปยัง เมเจอร์ฯ เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ รถยนต์ส่วนตัวจะใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมง 11 นาที หากจะดูวิมานหนาม จะต้องขับรถยนต์ส่วนตัวออกจากสถานีขนส่งแม่ฮ่องสอนฯ ในเวลาประมาณ 08.50 น. หากจะดูรอบเดียวกับคนในเดินทางโดยรถโดยสารในรอบ 14.10 น. โดยใช้เวลาดูหนังอีก 2 ชั่วโมง 5 นาที จะจบในเวลาประมาณ 16.15 น. และหลังจากรับชมหนังเสร็จก็บวกกับเวลาเดินทางขากลับอีก 5 ชั่วโมง 11 นาที ก็จะใช้เวลาแค่ประมาณ 12 ชั่วโมง 27 นาทีเท่านั้น ในการเดินทางไป-กลับ และจะถึงสถานีขนส่งแม่ฮ่องสอนฯ ในเวลา 21.17 น.

สภาฯ คว่ำ ร่าง พ.ร.บ. ท้องถิ่นจัดการรถเมล์ 

ภาพ: พรรคประชาชน – People’s Party 

ความเคลื่อนไหวในสภาล่าสุด 28 สิงหาคม 2567 พรรคประชาชน – People’s Party รายงานว่า ที่ประชุมสภาฯ มีมติไม่รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางบก ที่เสนอโดย สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ – Surachet Pravinvongvuth สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ด้วยคะแนนเห็นด้วย 151 เสียง, ไม่เห็นด้วย 251+3 เสียง, งดออกเสียง 2 เสียง ทำให้ร่างตกไปตั้งแต่วาระ 1 พรรคประชาชน ยังย้ำอีกว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอเรื่องที่เรียบง่าย คือการให้อำนาจท้องถิ่นจัดทำและจัดการรถเมล์ในพื้นที่ของตัวเอง เพราะเราเชื่อว่าปัญหาขนส่งสาธารณะใกล้ตัวประชาชน ท้องถิ่นรู้ดีที่สุด จะสามารถตอบสนองความต้องการซึ่งแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ได้ดีที่สุด ไม่ใช่ให้คนจากรัฐส่วนกลางที่อยู่ห่างไกลจากปัญหา เป็นคนอนุมัติตัดสิน

การปัดตักของ สส.ที่ไม่เห็นด้วยทั้งหมด 251+3 เสียง อาจจะเป็นตอกย้ำชาวแม่ฮ่องสอนว่าผู้แทนราษฎรบางคนนั้นอาจจะยังไม่เห็นด้วยกับการที่ประชาชนในพื้นที่จะสามารถออกแบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดของตนเองเพื่อประโยชน์ของประชาชน ถึงแม้ผู้แทนราษฎรหลายคนจะบอกว่าสนับสนุนการให้ประชาชนเข้าถึงขนส่งสาธารณก็ตาม แต่ผลการโหวตก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ขนส่งสาธารณะของคนในจังหวัดอาจจะต้องหายไปและยังไม่ได้ในรัฐบาลสมัยนี้

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง