ภาพ: กัญญ์วรา หมื่นแก้ว
28 กันยายน 2566 ชาวชุมชนกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (CPCR) ห้องทดลองนักกิจกรรม (Act Lab) ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ (CAN) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand เอิร์ทไรท์อินเตอร์เนชั่นแนล (EarthRights Internation) เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (IMN) สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) และมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ จัดงาน “ชัยชนะจะสมปองต้องต่อสู้”4 ปีแห่งการไม่สยบยอมให้อมก๋อยกลายเป็นเหมืองถ่านหิน เพื่อทบทวนเส้นทางการต่อสู้คัดค้าน “เหมืองแร่ถ่านหิน” ตลอด 4 ปีของชาวบ้านกะเบอะดินและชาวอมก๋อย เพื่อปกป้องวิถีชีวิตที่มีมาอย่างยาวนาน และพื้นป่าเขียวขจีกว่า 284 ไร่ 30 ตารางวากลางหุบเขา จากโครงการเหมืองแร่ของบริษัทอุตสาหกรรมที่จะเข้ามากระทบชุมชน ทั้งนี้มีงานเสวนาและเดินรณรงค์ปราศรัยเคลื่อนขบวนออกจากหมู่บ้านกะเบอะดินและหมู่บ้านเส้นทางผ่านขนส่งแร่ถ่านหิน
ชาวบ้านชุมชนบ้านกะเบอะดินเดินทางออกจากหมู่บ้าน ร่วมกับชาวบ้านชุมชนทางผ่านทยอยเข้าร่วมขบวนรถตลอดทาง และเดินทางถึงจุดรวมพลแรก นั่นคือบริเวณป่าสนบ้านหนอกกระทิง เพื่อรอชาวบ้านกลุ่มอื่น ๆ มาสมทบ ถึงแม้ฝนที่กระหน่ำตกลงมาอาจจะทำให้เกิดความล่าช้าบ้างแต่ก็เดินทางถึงจุดรวมพล อมก๋อยต้านเหมืองถ่านหินเดินทางถึงบริเวณ สนามกีฬาเทศบาลอำเภออมก๋อย เพื่อเดินขบวนรณรงค์พร้อมกับปราศรัยไปยังหอประชุมอมก๋อย
มีการชี้แจงวัตถุประสงค์ในการจัดงานในครั้งนี้โดย ขวัญหทัย โล่ห์ติวิกุล เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย กล่าวว่า วันนี้ที่พวกเรามารวมตัวกัน เพราะเมื่อ 4 ปีที่แล้ว อมก๋อยได้รับข่าวร้ายว่ารัฐบาลได้ออกระทานบัตรเหมืองแร่ให้เอกชน ซึ่งเราไม่เคยเจอเหตุการณ์มาก่อนเลย ซึ่งเราก็ตกใจว่า เหมืองแร่แบบใด และถ้ามีเหมืองอยู่ตรงนี้เราจะอยู่กันอย่างไร
แร่ คือทรัพยากรที่เป็นของพี่น้องคนไทยทุกคน เหมืองแร่จะมาอยู่ที่อมก๋อย อยู่ที่ที่ทำกินของพี่น้องอมก๋อยเรา เพราะฉะนั้น เราจึงไม่สามารถอยู่เฉย ๆ โดยที่ไม่ทำอะไรได้
ดังนั้นจึงเริ่มกันด้วยกลุ่มเล็กๆ ซึ่งตอนนั้นเมื่อ 4 ปีก่อน เรารู้ข่าววันที่ 26 เลยรวมตัวกันไปยื่นหนังสือวันที่ 28 ที่ศูนย์ดำรงธรรม ตอนนั้นมีกันแค่ 8 คน จากวันนั้นถึงวันนี้ จาก 8 คนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากภาคีเครือข่าย หลายๆ หน่วยงาน ซึ่งก็ล้วนเป็นคนที่รักษ์สิ่งแวดล้อม และอยากปกป้องรักษาทรัพยากร”
ซึ่งวันนี้การที่เรามารวมตัวกันอีกครั้ง ครบรอบ 4 ปี เพื่อเป็นการทบทวนบทเรียน และบอกกล่าวบุคคลที่อยู่ภายนอกหรือคนที่อาจจะไม่ได้ติดตามข่าวสารใกล้ชิดมาตลอด เรายังคงยืนยันที่จะปกป้อสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ทุกอย่างเป็นของคนไทยทุกคน เราอยู่กับทรัพยากร เราใช้ทรัพยากร เราก็อยากจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะฉะนั้น อยากจะยืนยันว่าเรายังยืนหยัดยืนยันที่จะว่า เราจะปกป้องผืนดินผืนปกป้อง เราจะรักษาต่อไป และนี้เป็นสัญญาจากใจของเรา
ด้าน ปรีชาพล พลทวี ปลัดอำเภอชำนาญการพิเศษ ได้กล่าวงานพร้อมกับกล่าวต้อนรับชาวบ้านและประชาชนผู้เข้าร่วมงานว่า เมื่อก่อนอมก๋อย ดอยเต่าเคยอยู่กับฮอด อมก๋อยแยกมาตอนปี 2501 ปีนี้ปีที่ 65 ยาวนาน น้ำดอยเต่าเต็มหรือยัง วันนี้ผมไปดูน้ำดอยเต๋า แม่ตื่นเต็มแล้ว ปีน้ำน้ำค่อนข้างดีแต่มาเยอะเกิน นี่คือปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทีนี้ปัญญาหานี้เมื่อก่อนฝรั่งขึ้นมาจากทางฝั่งพม่า เขาก็บอกว่าคนฮอดมารยาทดี สุภาพ ผู้หญิงก็หน้าตาดี เรื่องความสุภาพ ความเป็นมิตร ผมก็ยังเชื่อว่าสิ่งนี้ยังเกิดขึ้นที่อมก๋อยก๋อย อากาศดีที่อมก๋อย แต่ถ้าเหมืองแร่มาอากาศจะดีหรือไม่ อย่างเรื่องไฟป่าที่ทำให้เกิด PM2.5 สมัยก่อน PM 10 แต่ตอนนี้ 2.5 เมื่อปีที่แล้วฮอดนี่ขึ้นอันดับโลกอากาศแย่เลย มีดีใจกับพี่น้องอมก๋อย ดีใจที่พี่น้องบ้านกะเบอะดิน เราต่อสู้ด้วยสันติวิธี จึงอยากให้พี่น้องต่อสู้อย่างสุภาพ ต่อสู้อย่างเป็น
หลังจากมีการกล่าวเปิดงานโดยได้มีตัวแทนชุมชนยื่นหนังสือข้อเรียกร้องชุมชนผ่าน ปรีชาพล พลทวี ปลัดอำเภอชำนาญการพิเศษ เพื่อไปเสนอต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการฉายวิดีโอ: “ชัยชนะจะสมปองต้องต่อสู้” 4 ปีแห่งการไม่สยบยอมให้อมก๋อยกลายเป็นเหมืองถ่านหิน”และการแสดงดนตรีจาก วง Feeling Rhyme
เวทีวงชุมชน COMMUN Talk: “ชัยชนะจะสมปองต้องต่อสู้” 4 ปีแห่งการไม่สยบยอมให้อมก๋อยกลายเป็นเหมืองถ่านหิน”
พรชิตา ฟ้าประทานไพร ตัวแทนแกนนำเยาวชนบ้านกะเบอะดิน กล่าวว่า เราไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาของรัฐ แต่โครงการพัฒนาต้องไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนในพื้นที่กะเบอะดิน ที่ผ่านมาเราได้เรียกร้องโครงการเหมืองถ่านหินและพูดถึงอยู่เสมอ หากเหมืองแร่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบชุมชนกะเบอะดินและชุมชนบ้านใกล้เคียงจะได้รับผลกระทบต่าง ๆ ทั้งนี้เราจะยังยืนด้วยหลักการไม่เอาเหมืองแร่
“การสร้างเหมืองแร่ไม่ได้ทำให้ชุมชนเราพัฒนาขึ้น แต่จะส่งผลถึงลูกหลานเยาวชนในชุมชนกะเบอะดินที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่อไปในอนาคต เราต้องการให้องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ยุติการผลักดันให้เกิดเหมืองแร่ไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้ผู้ที่อนุญาตให้บริษัทได้ใช้พื้นที่ในการทำเหมืองแร่ที่หมู่บ้านกะเบอะดิน ทั้งนี้เราหวังว่าพี่น้องอมก๋อยจะยืนหยัดในการต่อสู้ร่วมกันต่อไป เพื่อไม่ให้เหมืองแร่เกิดขึ้น 4 ปีแห่งการต่อสู้เราจะไม่สยบยอมให้อมก๋อยกลายเป็นพื้นที่เหมืองแร่”
องอาจ มิเง ตัวแทนแกนนำชุมชนผู้ถูกละเมิดสิทธิ ถูกบริษัทเหมืองแร่ฟ้องร้องดำเนินคดี กล่าวว่า ชาวบ้านกะเบอะดินไม่ทราบด้วยซ้ำว่าจะสร้างเหมืองแร่ เรามีสิทธิที่จะปกป้องที่ดิน ทรัพยากรที่เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชุมชน เรามีการใช้การกินเราก็จะปกป้องดูแลอย่างเต็มที่ 4 ปีที่ร่วมต่อสู้กันมา เราได้ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นและการมาในวันนี้ก็เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ไม่เอาเหมืองแร่
สะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ตัวแทนชุมชนและเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบโครงการเหมืองแร่ในภาคเหนือ กล่าวว่า ในนามผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ ในขณะนี้แม่ฮ่องสอนต่างเผชิญกับชะตากรรมเดียวกันกับพี่น้องอำเภออมก๋อย ชัดเจนว่าเราไม่ต้องการเหมืองไม่ว่าจะเป็นเหมืองแร่ฟลูออไรด์ เหมืองแร่ถ่านหินใด ๆ เราต่างก็ไม่ต้องการ
“ทั้งนี้โครงการเขื่อนผันน้ำยวมที่กำลังจะเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบนิเวศ ต่อวิถีชีวิตต่อคนในชุมชน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ต่อพี่น้องชาวอมก๋อย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากจะมีการขุดอุโมงผ่านอำเภออมก๋อย เราจึงจำเป็นที่ต้องเป็นปึกแผ่นร่วมกันต่อสู้ต่อต้านโครงการเหมืองต่อไป” สะท้าน กล่าว
หลังจากจบเวที COMMUN Talk มีการแสดงดนตรี วง สามัญชน มาขับข่านบทเพลงสร้างบรรยากาศภายในงาน
เวทีวิชาการ “การต่อสู้ของชาวอมก๋อยในกลไกสิทธิมนุษยชนและสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก”
สุมิตรชัย หัตถสาร ตัวแทนนักกฎหมาย ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่ CPCR กล่าวว่า การที่อมก๋อยตื่นตัวอมก๋อย 4 ปีที่ผ่านมา เราใช้เวลา 2 ปี ที่จะทำข้อมูล และค้นพบว่ารัฐมีกระบวนการหลายอย่างที่ไม่ตรงกัน กระบวนการทำ EIA ไม่มีความชอบธรรม เช่น พี่น้องในพื้นที่ถูกหลอก มีการปลอมแปลงรายชื่อ เป็นหนึ่งในการฟ้องร้องคดีจนชนะและศาลมีคำสั่งให้คุ้มครอง เราต่อสู้มา 4 ปี แต่ก็ยังจะต้องดำเนินการต่อไป เพราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าจะมีไม่มีบริษัทอื่นมาขอประทานบัตรสร้างเหมืองอีก
“เราจะไม่เรียกร้องเฉพาะการขอประทานบัตร แต่เราจะยกเลิกแหล่งถ่านหินไม่ให้ใครขอประทานบัตรได้อีก รัฐไม่เคยรักษาคำมั่นสัญญาต่อนานาชาติ แม้กระทั่งประชาชนในประเทศเองก็ตามจึงนำมาสู่การเรียกร้องสิทธิในวันนี้” สุมิตรชัยกล่าว
ฮานาเอะ ฮันซาว่า เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน UNOHCHR กล่าวว่า เรื่องชนพื้นเมืองถูกระบุอยู่ในกลไกว่าด้วยสิทธิมนุษชน แม้ว่าประเทศ ไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ในสหประชาชาติเราเรียก “ชนเผ่าพื้นเมือง” ด้วยคำนี้ แต่การทีป่ระเทศไทยไปลงนาม ข้อตกลง รับรองระหว่างประทศ ต่างๆ หมายความว่า ประเทศไทยจะต้องทำตามและยอมรับรับรองเรื่องนี้ ในโลกใบนี้มีกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษชนทั้งหมด 9 ฉบับ และประเทศไทย รับมาใช้มากกว่า 7 ฉบับ
“ซึ่งประเทศไทยรับมาด้วยความสมัครใจ ในฉบับแรกมีการพูดถึงสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย การศึกษา และเสรีภาพทางวัฒนาธรรม ฉบับสองคือเสรีภาพในการแสดงออก ในการชุมนุมเป็นสิทธิพื้นฐาน นอกจากนี้ยังมีอนุสัญญาในการต่อต้านการทรมาน ดังนั้นสัญญาที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรงคืออนุสัญญาในการไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และการไม่ละเมิดให้คนสูญหาย แต่ยังไม่เป็นผลบังคับใช้ ดังนั้นเราต้องเคลื่อนต่อไป สิทธิทางวัฒนธรรม จะต้องไม่ถูกละเมิด หรือถูกทำให้เป็นอาชญากรรม ในกลไกกฎหมายของประเทศ พราะคนชนพื้นเมืองคือผู้ปกป้องรักษาธรรมชาติ”
ด้านพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตัวแทนนักการเมือง พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ชีวิตคนอมก๋อยจะดีแค่ไหนถ้าได้รัฐบาลที่เข้าใจสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับทุกคน ที่นี่ต้องการรัฐที่เข้าใจอยู่สามอย่าง “อย่างแรกคือถ่านหินล้าสมัยไปแล้ว เขาเลิกใช้ไปแล้ว การที่จะทำให้คนลืมตาอ้าปาก เราต้องใช้พลังงานสะอาดได้แล้ว รัฐบาลต้องกล้าประกาศแล้วว่า เราจะเลิกใช้ถ่านหินในอีก 12 ปีข้างหน้าอย่างน้อยที่สุดประเทศไทยต้องปราศจากถ่านหิน รัฐไทยต้องกล้าประกาศแล้วใช้พลังงานสะอาดมากกว่า 50% ในอีก 10 กว่าปีข้างหน้าเราต้องทำให้ได้อย่างคอสตาริกา เปรู ที่ใช้พลังงานสะอาดกว่า 70%
“อย่างที่สองรัฐต้องเข้าใจคำว่าเศรษฐกิจชาติพันธุ์ ที่สหประชาชาติเสนอ “เหล้าดาวดอย” ของพี่น้องทุกคน หรือเหล้าข้าวโพดของพี่น้องชาวม้ง ก็เป็นสิ่งที่ชาวโลกสามารถซึมซับได้ และพี่น้องชาติพันธุ์ คนที่อยู่ในพื้นที่ต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ถ้ามีการใช้ทรัพยากรที่อยู่ใต้ดิน ถ้าคุณจะเอามาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพราะพวกเขาต้องเป็นคนที่มีส่วนได้ ไม่ใช่ได้รับแต่ส่วนเสีย ดังนั้นคำนี้ต้องอยู่ในหัวของรัฐบาล สามคือเรื่องการกระจายอำนาจ ไม่ใช่แค่ใครอยู่ในเขตป่าไม้เขต หรือนิยามแล้ว แต่คือการกระจายอำนาจให้กับคนที่อยู่ในพื้นที่ คนที่อยู่อมก๋อย รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะสิ่งที้เกิดขึ้นคือ พอปัญหาส่วนกลางให้ภารกิจมา แต่ไม่มีงบประมาณ ไม่มีบุคลากรมาให้ เพราะฉะนั้น เข้าถึงที่ดิน แก้ไขปัญหาเหมือง สิทธิมนุษยชนกับทรัพยากร ประชาธิปไตยในพลังงาน เศรษฐกิจชาติพันธุ์ การกระจายอำนาจ หกคำนี้ถ้าพี่น้องเห็นด้วย และคิดว่าคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีต่อไปต้องรับเอาไปใช้” พิธากล่าว
หลังจากเสร็จ เวทีวิชาการ “การต่อสู้ของชาวอมก๋อยในกลไกสิทธิมนุษยชนและสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก” มีการตั้งขบวนอีกครั้งบริเวณหน้าหอประชุมอำเภออมก๋อยเพื่อเดินทางไปยังสะพานคู่รัก เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ โดยมีการนำแพะมาแสดงภายในงานพร้อมกับแห่ เปรียบเปรยว่านายทุนมีการพัฒนาแบบหว่านแหซึ่งชาวบ้านเป็นแพะที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาแบบหว่านแห่นี้ ซึ่งหลังจากมีการ แสดงเชิงสัญลักษณ์เสร็จ มีตัวแทนชาวอมก๋อยอ่านคำประกาศเจตนารมณ์ ชัยชนะจะสมปองต้องต่อสู้ : 4 ปี แห่งการต่อสู้ไม่สยบยอมให้อมก๋อยกลายเป็นเหมืองถ่านหิน โดยมีเนื้อหาดังนี้
ตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่พวกเราชาวบ้านบ้านกะเบอะดิน ชาวอำเภออมก๋อย และภาคี ที่ร่วมกันต่อสู้คัดค้านการดำเนินการทำเหมืองแร่ถ่านหิน เราพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้หยุดการทำเหมืองแร่ถ่านหิน ไม่ว่าจะเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวคัดค้าน ไม่ว่าจะดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม เพียงเพราะเราต้องการปกป้องบ้านเกิดเมืองนอน ทรัพยากร และวิถีชีวิต
ผู้เฒ่าเคยเล่าขานว่า “โอ้ ที้ง แฌ แซ ที้ง
อาง ฆ้า อาง บาง แฌ แซท แช่
อาง มี้ แฌ แซ ไช้ะ
ไช้ะ ซึ้ เกท เฌิ่ง ทค้า ลู่ง ทอาง อเกว้
กินน้ำรักษาน้ำ
กินเห็ดกินหน่อรักษาป่า
กินข้าวรักษานา
ไร่หมุนเวียนคือความมั่นคงทางอาหาร”
ลูกหลานอย่างพวกเราจะสืบสานต่อและจะปกปักษ์รักษาวิถีชีวิตแม้นต้องแลกด้วยชีวิตเราและเลือดเนื้อเราก็ยอม พวกเราชาวอมก๋อย ถิ่นที่ได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ เพราะอมก๋อยหมายถึงขุนน้ำหรือต้นน้ำ ที่หล่อเลี้ยงความเป็นคนของคนอมก๋อยและผู้คนให้เติบใหญ่ เราจึงขอประกาศว่า จุดยืนเดียวของเราคือ
“ไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน”
สดุดีความกล้าหาญและพลังประชาชน
สะพานคู่รักอมก๋อย
28 กันยายน2566
4 ปีวันแห่งชัยชนะของประชาชน
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...