เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง
ผู้เขียนทราบข่าวคราวและติดตามอาการความเจ็บป่วยของ “เกริก อัครชิโนเรศ” มาระยะหนึ่งแล้วในฐานะคนที่พอรู้จักมักคุ้นท่านอยู่บ้างก็คงพอที่จะส่งมอบกำลังใจให้ด้วยความปรารถนาดีผ่านช่องทางกล่องข้อความ (Chat box) ของเฟซบุ๊คเพียงเท่านั้นและเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผู้เขียนก็ได้ทราบข่าวการเดินทางไกลจากไปอย่างไม่มีวันกลับของอดีตชายร่างใหญ่ พูดจาขึงขัง เสียงดังฟังชัดและสอดแทรกมุกตลกแสบสันให้ผู้เขียนได้เคยทั้งหัวเราะและเก็บเอาสิ่งที่ชายผู้นี้พูดในวงวิชาการและการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการในหลายกรรมหลายวาระกลับไปครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา
ชื่อของ “เกริก อัครชิโนเรศ” หรือนามลำลองที่แตกต่างกันไปสำหรับใครหลายต่อหลายคน ทั้งอาจารย์เกริก, พ่อครูเกริก, ครูเกริก!!!, ลุงเกริก , อ้ายเกริก , หรือที่แกชอบเรียกชื่อตัวเองแบบขำๆติดตลกในบางครั้งว่า “เก-ริก” แม้กระทั่งปู่เกริก ตลอดจนคำเรียกในทำนองทางลบอื่นใดที่มิใคร่สู้ดีมากนัก ซึ่งผู้เขียนเองก็คงไม่ปรารถนาใคร่อยากสรรหาเอาความมาว่าในข้อเขียนนี้ คำนำหน้านามหรือชื่อที่ถูกใช้เรียกขานจึงสะท้อนลักษณะสัมพันธ์ที่แต่ละปัจเจกบุคคลมีต่อชายผู้นี้ด้วยท่าทีที่แตกต่างกันไปซึ่งแน่นอนว่าคงมีทั้งรักและชังอันเป็นธรรมดาสามัญในโลกมนุษย์ แต่สำหรับผู้เขียนและข้อเขียนนี้ขอเลือกที่จะจัดวางตัวเองในฐานะ “มิตร” ที่อยากมุ่งพินิจพิเคราะห์ชีวิตและการเดินทางของ “สามัญชนคนธรรมดา” คนหนึ่งที่มีจุดเริ่มต้นชีวิตจากการเป็นลูกหลานกิจการร้านขายยาจีนแผนโบราณชื่อดังย่านกาดหลวงแล้วร่ำเรียนหนังสือมาทางด้านสาขาวิชาภาษาอังกฤษแต่กลับ “ข้ามห้วย” หรือข้ามบริบทและพื้นที่ความรู้มาสู่แวดวงวิชาการด้านล้านนาคดีซึ่งจะว่าในตำแหน่งแห่งที่ “อาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยก็มิใช่หรือผู้ให้ความสนใจแบบทั่วไปธรรมดาก็ไม่เชิง” ตลอดจนบทบาทในตอนท้ายเบื้องปลายชีวิตที่ “เกริก” ได้ใช้ความรู้ด้าน “ล้านนาคดีแบบสาธารณะ” ในพื้นที่ความรู้และปฏิบัติการด้านการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) ในฐานะครูสอนอักษรธัมม์ล้านนา (ตั๋วเมือง) และการคำนวณปั๊กกะตืนหรือปฏิทินแบบล้านนา ตลอดทั้งยังมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งชมรมปั๊กกะตืนล้านนา จังหวัดเชียงใหม่
ข้อเขียนนี้จะสำเร็จในระยะเวลาอันเร่งรีบไปไม่ได้หากปราศจากบทสนทนาบางประเด็นจากอาจารย์แสวง มาละแซม ที่ผู้เขียนเคารพรัก และคุณเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมมิตรสหายร่วมรบทางวิชาการและมิตรสหายสุภาพสตรีอาวุโสอีกสองท่านผู้ไม่ประสงค์จะออกนามที่สร้างบทสนทนาอย่างออกรถออกธาตุเพื่อช่วยคลี่คลายให้ผู้เขียนรู้จักอาจารย์เกริกมากขึ้น
ชีวิตและเส้นทางของเส้นทางของ “เกริก อัครชิโนเรศ” จากร้านยาจีนกาดหลวงสู่สำนักเรือนเดิม มช.
ชีวิตและจุดเริ่มต้นของการเดินทางของ “เกริก อัครชิโนเรศ” เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปี พ.ศ.2503 ที่ย่านกาดหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เขียนพอที่จะสืบสาวเรื่องราวของเขาพอได้ความมาว่าเป็นลูกหลานตระกูล “ลี้” หรือ “แซ่ลี้” โดยมีกิจการร้านยาจีนแผนโบราณที่ว่ากันว่าเป็นร้านชื่อดังของเมืองเชียงใหม่ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญอย่างย่านกาดหลวงอันเป็นที่ผู้จักกันดีอย่าง “ร้านจิ๊บอังตึ้งโอสถ” “จิ๊บ” หมายถึง ส่วนรวม “อัง” หมายถึง ความสงบสุข และ “ตึ้ง” หมายถึง ศาลาที่พัก โดยจุดเริ่มต้นของกิจการของครอบครัวของเกริก เริ่มตั้งต้นจากปู่ของเขาคือ นายมั่งฮุ้ง แซ่ลี้ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น มั่น อัครชิโนเรศ อพยพมาจากประเทศจีนและมาอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาอพยพมาอยู่กับญาติที่เมืองเชียงใหม่ขณะอายุประมาณ 20 ปีเศษ เริ่มมาเช่าห้องแถวอยู่ถนนช้างม่อยใกล้ตลาดนวรัฐ ประกอบอาชีพขายผ้าต่อมาแต่งงานกับนางไซหง แซ่ลั้ง (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นจินดา) เดิมเช่าเปิดร้านอยู่บริเวณร้านสุจริตพานิช ถนนช้างม่อย ต่อมาย้ายมาเช่าฝั่งตรงกันข้ามซึ่งเป็นอาคารของขุนสมานเวชชกิจและเริ่มขายยาจีนซึ่งคาดว่าปู่ของเขาเองนี้มีความรู้ที่ติดตัวมาจากเมืองจีน
จุดเริ่มต้นของครอบครัว “เกริก อัครชิโรเรศ” จึงมีที่มาที่ไม่ได้ต่างจากครอบครัวคนจีนอื่น ๆ ในย่านกาดหลวงซึ่งมีประวัติการตั้งรกรากของครอบครัวและการเดินทางเข้ามาทำมาค้าขายในพื้นที่ภาคเหนือและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวเมืองสำคัญอย่างเชียงใหม่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (หลัง พ.ศ. 2484) ทั้งนี้นายมั่งฮุ้งมาซื้อห้องแถวชั้นเดียวจำนวน 4 ห้องถัดจากที่เช่าเดิมไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของเถ้าแก่โอ๊ว และสร้างตึกเป็นร้านค้าขึ้นมา โดยมีช่างก่อสร้างชื่อ ช่างตินเป็นชาวเวียดนามที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ ช่างก่อสร้างเป็นช่างเวียดนามทั้งสิ้น มีฝีมือดีที่สุดในขณะนั้นนอกจากนายมั่งฮุ้ง แซ่ลี้ จะขายยาจีนแล้ว ยังประกอบกิจการอื่นอีกหลายอย่าง คือ หุ้นกับเพื่อนค้าลำไย , หุ้นทำร้านดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ชื่อร้านไทยสงวน ขายเครื่องกระป๋องเป็นหลัก , ประมูลทำกิจการโรงฝิ่นหลายแห่งในภาคเหนือ , ทำโรงเหล้าที่อำเภอฝาง อำเภอพร้าว ภายหลังหุ้นทำแร่วูลแฟลมที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เป็นต้น กิจการค้าขายที่ดำเนินการโดยปู่ของ “เกริก” นั้นได้ขยายและวางรากฐานความมั่งคั่งให้กับตระกูลในช่วงระยะเวลาต่อมาเมื่อ “มั่น อัครชิโนเรศ” ผู้เป็นปู่ของ “เกริก” เสียชีวิตลงโดยธุรกิจร้ายยาของเขาถูกเปลี่ยนมือไปสู่ลูกชายคนโตของครอบครัวนั่นคือนายเกรียง อัครชิโนเรศ (บิดาของเกริก) ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบกิจการของร้านต่อมา ทั้งนี้นายเกรียงได้สมรสกับเพ็ญพรรณ อัครชิโนเรศ โดยมีเกริก อัครชิโนเรศเป็นบุตรคนแรก
เกริก อัครชิโนเรศ เริ่มต้นชีวิตทางการศึกษาในระบบเฉกเช่นเดียวกันลูกหลายคนจีนในย่านกาดหลวงหลายๆบ้านที่มักจะส่งบุตรหลานพวกเขาเข้าเรียนโรงเรียนเอกชนที่ดำเนินการโดยคนจีนในเชียงใหม่ เขาจึงสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาปีที่ 4 สมัยนั้น จากโรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุง จังหวัดเชียงใหม่และเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่จนสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 (มศ.5) จากนั้นได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยครูเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่จนสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรทางศึกษาชั้นสูง (ปก.ศ. สูง) และสำหรับการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาวิชาภาษาอังกฤษ จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2526 ขณะที่ชีวิตสมรมส่วนตัวของเกริกได้แต่งงานกับนางสายสมร อัครชิโนเรศ (นามสกุลเดิม บัวบาล) โดยมีบุตรสาว 1 คน คือ นางสาวกิรณา อัครชิโนเรศ ซึ่งร่ำเรียนจนสำเร็จการศึกษาทางด้านแพทย์แผนจีนมาจากทั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนโดยตรงที่น่าจะมีส่วนในการสนับสนุนกิจการร้านยาจีนแผนโบราณของครอบครัวเธออยู่ไม่มากก็น้อย
แม้ความรับรู้ที่มีต่อข้อมูลเกี่ยวกับประวัติชีวิตของ “เกริก อัครชิโนเรศ”โดยทั่วไปจะระบุว่าเขาจบการศึกษาจากสาขาวิชาภาษาอังกฤษ แต่ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนที่รู้จักชีวิตส่วนตัวของเขาว่า “เกริก”เป็นผู้ชื่นชอบที่จะลงเรียนในกระบวนวิชาที่เน้นทางด้านวรรณคดีอังกฤษมากเป็นพิเศษ ความรู้เกี่ยวกับภาษาและวรรณคดีอังกฤษจึงเป็นต้นทุนอย่างดีที่สามารถปูทางให้เขาขยับก้าว “ข้ามห้วย” เข้ามาสู่พื้นที่ความรู้ภาษาและวรรณกรรมล้านนาเป็นอย่างดี มากไปกว่านั้น จากการที่ผู้เขียนได้สนทนายังไม่เป็นทางการกับอาจารย์แสวง มาละแซมท่านได้เน้นย้ำให้กับผู้เขียน (ซึ่งผู้เขียนก็พอรู้เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่า) อาจารย์เกริกเป็นคนที่มีความรู้รอบตัวดีมาก ที่สำคัญทักษะทางด้านภาษาอังกฤษช่วยทำให้เขาสามารถเข้าถึงและทลายกำแพงภาษาผ่านการอ่านเอกสารต่างประเทศ โดยจะสังเกตเห็นได้จากวงเสวนาวิชาการหรือการพูดคุยในหลายกรรมหลายวาระเกริกนำเสนอประเด็นทางวิชาการหรือประเด็นสาธารณะ ก็มักจะสอดแทรกมุมมองความรู้จากต่างประเทศประกอบอยู่เสมอ ตลอดจนอาจมีทฤษฎีหรือวิธีคิดติดกลิ่นอายความคิดแบบตะวันตกประกบอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แม้ตัวเขาเองมักจะอธิบายอัตชีวประวัติแบบติดตลกอยู่เสมอว่าตัวเขานั้นละทิ้งวรรณคดีของเช็คสเปียร์หรือเชอร์ล็อกโฮมไปนานแล้วก็ตาม
ขณะที่การเรียนรู้และการสะสมองค์ความรู้ในด้านภาษาและวรรณกรรมล้านนาของเขาผ่านการเรียนรู้ตามอัธยาศัยและการเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นส่วนมาก โดยเกริก อัครชิโนเรศ เริ่มต้นเรียนอักษรธัมม์ล้านนากับอาจารย์บัญชา วงศ์ดาราวรรณ และอาจารย์จีรพันธ์ ปัญญานนท์ ที่วัดสวนดอก (พระอารามหลวง) หรือวัดบุปผารามอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และเรียนอักษรธัมม์ล้านนากับผู้ช่วยศาสตราจารย์ลมูล จันทน์หอม ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ในปีถัดมา (2542) ทั้งยังได้เรียนอักษรธัมม์ล้านนาและพิธีกรรมล้านนากับอาจารย์ดุสิต ชวชาติ ที่วัดลอยเคราะห์อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2543 แล้วจึงให้ความสนใจไปค่ำเรียนปักขทืนล้านนาหรือการคำนวณปฏิทินแบบล้านนากับพระอธิการประเสริฐ ปวโร ที่วัดหนองปลามัน อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงพ.ศ. 2544 – 2549 นอกจากการเรียนรู้กับครูบาอาจารย์ที่ผู้เขียนได้กล่าวไปในข้างต้น อาจารย์เกริกก็ยังพยายามที่จะศึกษาหาความรู้เรื่อง วันตามความเชื่อและปักขทืนล้านนา จากเอกสารของบูรพาจารย์ต่าง ๆ อาทิ ครูบาสิทธิ วัดหมื่นเงินกอง จังหวัดเชียงใหม่ พ่อหนานวัณณา (ฤทธิ์) จิตต์ศรัทธา จากจังหวัดพะเยา ท้าวพินิจสุขาการ พิทธาจารย์แห่งเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พ่อหนานบุญทา สุโรจน์ จังหวัดลำพูน และพ่อหนานขัตติยศ จังหวัดน่าน มานับตั้งแต่ปีพ.ศ 2547 ถึง 2554 พร้อมๆกับการทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยและเรียนรูกับศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ณ อาคารเรือนเดิม คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะลูกศิษย์ก้นกุฏิ
ผลงานวิจัยของเกริก อัครชิโนเรศ ภายใต้สำนักเรือนเดิม มช จึงเกิดขึ้นอย่างมากมายภายใต้การกำกับของศาสตราจารย์ ดร. อุดม รุ่งเรืองศรีที่คอยฝึกหัดขัดเกลาให้อาจารย์เกริกผลิตงานวิชาการขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทั้งในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยและนักวิจัยในหลากหลายโครงการอาทิโครงการวิจัย “การชําระปฏิทินและหนังสือปีใหมเมืองล้านนา” (ประกาศสงกรานต์) เมื่อ พ.ศ. 2546 โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสํานักงานสนับสนุนการวิจัยแหงชาติ (สกว.) และในปีพ.ศ 2547 ได้มีการดำเนิน โครงการวิจัย “การจัดตังศูนย์ข้อมูลธัมม์ใบลาน โดยชุมชนมีสวนรวม : กรณีศึกษา วัดสะลวงใน (สิทธิทรงธรรม) โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแหงชาติ ตลอดจนโครงการวิจัย “การศึกษาตัวตนและบทบาทของเจ้าหลวงสุวรรณคําแดง” เมื่อ พ.ศ. 2548 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสํานักงานสนับสนุนการวิจัยแหงชาติ (สกว.) และในปี 2550 งานการวิจัย เรื่อง การคํานวณและการทํานายวันฝนตกแบบล้านนา เทียบกบ ปริมาณน้ำฝน โดยได้รับทุนจากสํานักสงเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นอกจากนี้เกริก อัครชิโนเรศยังร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ในฐานะผู้จุดประกายและผลักดันงานเฉลิมฉลองวาระครบ 600 ปี ของพระญาติโลกราช ในเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี ราชพ.ศ 2552 โดย เกริก อัครชิโนเรศ ได้เริ่มเขียนบทความออกเผยแพร่โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนสังคมและส่วนราชการเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ทั้งยังเป็นผู้จัดหาเอกสารต้นฉบับเบื้องต้นทุกรายการให้กับศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี เพื่อเป็นวัตถุดิบในการจัดทำ E–Book อักษรธัมม์ล้านนา ได้แก่ e – 60 วรรณพิมพ์ล้านนา และโครงการ e – 120 วรรณลิขิตล้านนา ในปี พ.ศ. 2552 โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากสํานักงานส่งเสริม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแหงชาติ (สวทช.) ทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มและเสนอแนะให้ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี รวบรวมสำนวนล้านนาให้เป็นหมวดหมู ่ โดยอาจารย์เกริก อัครชิโนเรศเป็นผู้จัดทำบัตรคำสำนวนล้านนาให้กับศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรีได้นำไปเรียบเรียงซึ่งเป็นการจัดพิมพ์สำนวนล้านนาเป็นครั้งแรกในวงวิชาการล้านนาคดี รวมทั้งได้มีการ พิมพ์หนังสือ “สรรพ์นิพนธ์ล้านนาคดี”ออกเผยแพร่ใน ปี พ.ศ. 2545 และพิมพ์หนังสือ “Lan Na Reader” มอกม่วน ออกเผยแพร่ใน ปี 2552 อีกด้วย
เกริก อัครชิโนเรศ ได้สั่งสมประสบการณ์การทำงานจากสำนักเรือนเดิม มช. ทั้งในฐานะคนเขียนบทความ บรรณาธิการหนังสือ ผู้ช่วยวิจัย นักวิจัย และหัวหน้าโครงการวิจัย สิ่งเหล่านี้ได้สร้างการเรียนรู้นอกระบบและการเรียนรู้แบบนำตนเอง (Self directed Learning) ที่สร้างการหล่อหลอมกล่อมเกลาในความเป็นนักวิชาการให้กับเขาภายใต้การกำกับของอุดม รุ่งเรืองศรีกับผู้เป็นเจ้าสำนักด้านภาษาและวรรณกรรมล้านนา โดยต่อมาเบิกได้เลือกที่จะศึกษาในระดับปริญญาโท ที่คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่กลับไม่ได้เลือกที่จะศึกษาต่อในสาขาภาษาและวรรณกรรมล้านนาซึ่งเปิดสอนอยู่ในคณะดังกล่าวแต่อย่างใด ทว่าเลือกที่จะศึกษาในสาขาวิชาพุทธศาสนศึกษาและเลือกทำวิทยานิพนธ์ด้วยหัวข้อการศึกษาวิเคราะห์ติรัจฉานวิชาในพระพุทธศาสนาตามที่ปรากฏในเอกสารล้านนา ความสนใจของอาจารย์เกริกที่มีต่อประเด็นดังกล่าวเป็นไปเพื่อการสำรวจเนื้อหาเกี่ยวกับติรัจฉานวิชาที่ปรากฏในเอกสารโบราณของล้านนาและวิเคราะห์สาเหตุของการศึกษาและปฏิบัติตนที่เกี่ยวข้องกับติรัจฉานวิชาของพระภิกษุล้านนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งเลือกศึกษาจากเอกสารโบราณล้านนา อันได้แก่ พรหมชาลสูตร และสามัญญผลสูตร สำนวนล้านนาทุกฉบับซึ่งแน่นอนว่าวิทยานิพนธ์เล่มดังกล่าวนี้ส่วนหนึ่งใช้พื้นฐานประสบการณ์การอ่านและการตีความเอกสารล้านนาของเขาเองให้เป็นส่วนช่วยในการทำให้วิทยานิพนธ์เล่มนี้ประสบความสำเร็จภายใต้การดูแลจากเราบรรดาคณาจารย์ประจำหลักสูตรซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลิตองค์ความรู้และงานวิชาการด้านพระพุทธศาสนาในสังคมล้านนาอย่างผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิโรจน์ อินทนนท์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปรุตม์ บุญศรีตัน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร. เทพประวิณ จันทร์แรง
ซึ่งในหน้ากิตติกรรมประกาศของวิทยานิพนธ์เล่มนี้อาจารย์เกริกได้ยกย่องและระบุให้ “ศาสตราจารย์ ดร. อุดม รุ่งเรืองศรี” มีฐานะเป็น “พ่อครู” ผู้ทำหน้าที่ทั้ง “พ่อ” และ“ครู” ผู้ให้คำแนะนำอย่างขันแข็งให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทครั้งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าการเดินทางเพื่อสร้างองค์ความรู้และงานวิชาการร่วมทางของเขาเองเกิดขึ้นภายใต้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับพระสงฆ์และหน้อยหนานหลากหลายท่าน อาทิ พระครูอนุสรณ์สีลขันธ์ พระครูศีลพิลาส ผู้ให้ความรู้และข้อมูลสำคัญ รวมไปถึงพระจตุพล จิตฺตสังวโร และพระศุภชัย ชยสุโภ ปิยมิตรผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุข มากไปกว่านี้กิตติกรรมประกาศในงานวิทยานิพนธ์ของเขายังชี้ให้เห็นความสัมพันธ์อันแนบแน่นที่มีกับกลุ่มคนหรือเครือข่ายการทำงานเพื่อการสร้างสรรค์ความรู้ทางด้านนั้นในคดีรวมถึงการสอนภาษาล้านนาของเขาเองในช่วงหลังทั้งคนอย่างพ่อครูดุสิต ชวชาติ ดร.ดิเรก อินจันทร์ รวมไปถึงอาจารย์สุเมธ สุกิน อาจารย์สนั่น ธรรมธิและอาจารย์ยุทธพร นาคสุขที่เป็นผู้ช่วยนักวิจัยให้กับโครงการวิจัยเกี่ยวกับการชำระปฏิทินของเขาอีกด้วย
หลังจากการเสียชีวิตของศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ในปี 2554 อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ ได้มีบทบาทหน้าที่ในการสานต่องานของท่าน นั่นคือ การจัดทำต้นฉบับสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ ฉบับเพิ่มเติม เล่ม 1 – 3 ของมูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด ตลอดจนได้มีการวางแผนจัดเตรียมและปรับปรุงพจนานุกรมล้านนา – ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง ตามคำสั่งเสียของศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี อีกด้วย นอกจากนี้เขายังได้มีการผลิตและเผยแพร่ปักขทืนล้านนา ปฏิทินตามความเชื่อ ร่วมกับ อาจารย์ดุสิต ชวชาติ อาจารย์สุเมธ สุกิน ดร.ยุทธพร นาคสุข พระจตุพล จิตฺตสํวโร และพระศุภชัย ชยสุโภนั่นเป็นการสืบทอดผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการวิจัยของเขาในประเด็นเรื่องการชำระปฏิทินล้านนาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เป็นต้นมาซึ่ง ที่ผ่านมาในแต่ละปีนั้น จะมียอดการจัดพิมพ์และเผยแพร่อย่างน้อยสองแสนฉบับต่อปี กระจายไปทั่วเขต 8 จังหวัดในภาคเหนือ นอกจากนี้อาจารย์เกริกยังได้มีการร่วมกับนายพิชัย แสงบุญ ผลิต Font อักขรธัมม์ล้านนาชื่อ Font LNTilok ออกเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2549 โดยได้มีการใช้ในการพิมพ์อักขรธัมม์ล้านนาอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
นอกจากการทำงานวิชาการผ่านการวิจัยเพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ในรั้วกับมหาวิทยาลัยภายใต้การกำกับของศาสตราจารย์ดรอุดม รุ่งเรืองศรีแล้ว เกริก อัครชิโนเรศยังใช้เวลาไปกับการสอนอักขรธัมม์ล้านนามาเป็นเวลานานมากกว่าสองทศวรรษมาจนเกือบใกล้วันละสุดท้ายของชีวิต การถ่ายทอดองค์ความรู้ของเขาเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ไล่เรียงกันไปทั้งจากที่วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา โรงเรียนบาลีสาธิต วัดสวนดอก วัดลอยเคราะห์และพุทธสถาน เป็นต้น
เมื่อสถานะบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของสำนักเรือนเดิม มช. เริ่มคลี่คลายลงในการผลิตสร้างองค์ความรู้ด้านภาษาและวรรณกรรมล้านนา เกริก อัครชิโนเรศเองก็ได้เลือกที่จะจัดวางบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ผ่านการเป็นครูสอนอักขรล้านนาและการคำนวณปฏิทินล้านนาที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีลูกศิษย์ที่ผ่านการร่ำเรียนกว่าเขามากเป็นจำนวนหลายร้อยคน ทั้งนี้มีลูกศิษย์ที่รับราชการครูได้นำเอาความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนจึงทำให้อักษรธัมม์ล้านนา เผยแพร่ในวงกว้าง ซึ่งต่อมา ในปีพ.ศ 2547 เกริก ได้มีการเปิดสอน “การคำนวณปักขทืนล้านนา” ณ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาและสอนที่วัดสะลวงใน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และในปีพ.ศ 2548 สอนที่วัดอรัญญาวาส อำเภอเมือง จังหวัดน่าน การสอนการคำนวณปฏิทินล้านนาที่ว่านี้ยังเกิดขึ้นที่วัดลอยเคราะห์ พุทธสถานเชียงใหม่ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อีกด้วย
นอกจากนี้ เกริก อัครชิโนเรศยังได้เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับภาษา ด้วยการเป็นอาจารย์พิเศษให้กับสาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืนคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2,549-2559 ในกระบวนวิชาภูมิปัญญาไทย ในหัวข้อวิชา “ถอดรหัสภูมิปัญญาล้านนา” ให้กับนักศึกษาปริญญาโทมาเอาอย่างต่อเนื่องในจำนวนกว่า 12 รุ่น จากความเชี่ยวชาญด้านอักษรธัมม์ล้านนาจึงทำให้ นายเกริก อัครชิโนเรศ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น คณะกรรมการดำเนินงานจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นเหนือจากราชบัณฑิตยสภา ท่านยังได้รับรางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับพ.ศ. 2,558 ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นจากกระทรวงวัฒนธรรม และได้รับรางวัลครูภูมิปัญญาเชียงใหม่เนื่องในวาระเฉลิมฉลอง 720 ปี เมืองเชียงใหม่จากภาคีเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา
โดยในช่วงบั้นปลายท้ายชีวิตเกริก อัครชิโนเรศยังคงทำหน้าที่เป็นอาจารย์และพ่อครูสำหรับใครต่อใครหลาย ๆ คนในการสร้างความรู้ด้านล้านนาคดีศึกษาให้เกิดการปฏิบัติการในพื้นที่สาธารณะในสังคมเมืองอย่างเชียงใหม่จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตผ่านการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการคำนวณการคำนวณปักกะตืนล้านนามาโดยตลอด ขณะเดียวกันก็มีผู้มาร่ำเรียนอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นวิชาที่ผู้เรียนเรียนจบไปแล้วแต่ก็ยังคงกลับมาเรียนอีกครั้ง เพราะต้องการนำเอาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ไปเผยแพร่จึงทำให้ปักขทืนล้านนาที่พิมพ์ออกเผยแพร่มีการปรับปรุงข้อมูลให้มีความถูกต้องอยู่เสมอ รวมถึงร่วมกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ กับชุมชนด้านวิชาการล้านนาที่มีขึ้นทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงในหลายรูปแบบจวบจนมีปัญหาสุขภาพและได้เดินทางจากไปอย่างไม่มีวันกลับดังปรากฏข่าวเป็นที่รับรู้โดยทั่วกัน
เรียนรู้และย้อนคิดชีวิต “เกริก อัครชิโนเรศ” เพื่ออ่านอนาคต “ล้านนาคดีศึกษา”
การที่คนธรรมดาสามัญซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวภูมิหลังของเขานั้น คงไม่ใช่ความสามัญธรรมดาในฐานะประชาชนคนชั้นกลางระดับล่างอย่างแน่นอนในสายตาของผู้เขียน ทว่าคือชนชั้นกลางระดับบน (อาจจะบนๆเลยก็ว่าได้) แต่เลือกที่จะทุ่มเทชีวิตและจิตวิญญาณก่อร่างสร้างความรู้ในพื้นที่วิชาการด้านล้านนาคดีได้ดีในระดับหนึ่งหรือระดับแนวหน้านั้น คงมีเหตุและผลที่มากไปกว่า “ความใจ๋ฮักใจ๋หุม” หรือความชื่นชอบส่วนตัวที่ผู้เขียนก็อยากชี้ชวนหรือเชิญชวนให้คนที่รู้จักกับ “เกริก” ร่วมคิดร่วมวิเคราะห์วิจารณ์ให้เห็นถึงแรงบันดาลใจหรือแรงขับในการทุ่มเทการทำงานเพื่อสร้างสรรค์ความรู้ด้านล้านนาคดี
แม้ความเข้าใจของผู้คนทั่วไปที่มีต่อประวัติศาสตร์สังคมล้านนาในมิติความรู้และภูมิปัญญาร่วมสมัยนั้น มักมีมุมมองและให้น้ำหนักที่มาของความรู้ด้านล้านนาคดีอย่างน้อยจาก 2 แหล่งพื้นที่ความรู้และตัวบุคคล ได้แก่ 1) ความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยที่อาศัยอาจารย์มหาวิทยาลัยในการทำหน้าที่ผลิตสร้างความรู้และสืบทอดความรู้เพื่อสร้างงานวิชาการผ่านการวิจัย การเขียนหนังสือหรือบทความ เป็นต้น 2) ความรู้จากวัดวาอารามที่อาศัยพระสงฆ์หรือหน้อยหนานในการทำหน้าที่ผลิตสร้างและสืบทอดความรู้เพื่อยกระดับหรือผ่านการจัดการให้เป็นงานวิชาการอีกชั้นหนึ่ง ทว่า ผู้เขียนมีความเห็นว่า ที่ผ่านมาในแวดวงวิชาการล้านนาคดีจะมีบุคคลอีกประเภทหนึ่งซึ่ง “ข้ามห้วย” หรือข้ามบริบทและพื้นที่ความรู้มาสู่แวดวงความรู้ที่ว่านี้นับตั้งแต่อดีต เช่น คุณไกรศรี นิมมานเหมินทร์ (ซึ่งเป็นนักธุรกิจ) , คุณสงวน โชติสุขรัตน์ (เป็นนักเขียน) , คุณบุญคิด วัชรศาสตร์ (เจ้าของโรงพิมพ์) รวมทั้งคุณเกริก อัครชิโนเรศ (ลูกหลานกิจการร้านบาจีนแผนโบราณ) ซึ่งน่าจะเป็นคนท้ายๆที่อยู่ในสายธารการทำงานทางวิชาการด้านล้านนาคดีในระดับทุ่มเทแรงกายแรงใจได้ในระดับเดียวกันนี้
ที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความคนรุ่นหลังทำได้ไม่เทียบเท่าคนรุ่นเก่าก่อน ทว่าบริบททางเศรษฐกิจสังคมในช่วงหลังๆมานี้ มีผลต่อการบีบบังคับทางเลือกให้เรามีได้ไม่มากนัก กล่าวคือ หากคุณคิดจะทำงานวิชาการและต้องทำงานดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนคุณก็ต้องมุ่งไปในทิศทางการเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยที่มีสังกัดในมหาวิทยาลัยเท่านั้นซึ่งแน่นอนว่าว่าทางเลือกดังกล่าวนี้ก็ต้องตามมาด้วยการถูกควบคุมด้วยเงื่อนไขการตีพิมพ์ผลงาน การผลิตงานวิจัยทเพื่อสร้างสรรค์ความรู้ที่ต้องสัมพันธ์เชิงอำนาจกับทิศทางด้านนโยบายของแหล่งทุนวิจัย แน่นอนว่างานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และล้านนาคดีในแบบที่คนรุ่นอาจารย์เกริกหรือสำนักเรือนเดิมเคยปฏิบัติมาก็ย่อมหาที่ทางและตำแหน่งแห่งที่ในการสร้างสรรค์ความรู้ภายใต้บริบทดังกล่าวได้อย่างจำกัดจำเขี่ย ในขณะอีกด้านหนึ่งหากคุณคิดจะทำธุรกิจหรือมีงานประจำอื่นๆทำอยู่แล้ว การจะปลีกเวลามาทำงานวิชาการด้านที่เรารักและชอบก็น่าจะสร้างเงื่อนไขให้รัดแขนขาตัวเองอย่างยิ่งในท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันและความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจสังคมอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
การอ่านชีวิตและการเดินทางของปัญญาชนล้านนาธรรมดาสามัญอย่าง “เกริก อัครชิโนเรศ” ที่เชื่อมโยงกับบริบททางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมวัฒนธรรม จึงอาจนำไปสู่การทำความเข้าใจในอีกหลายๆปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนของสังคมร่วมสมัย นี่จึงเป็นความมุ่งหวังลึกๆของข้อเขียนนี้ที่ผู้เขียนพยายามอยากจะให้เป็น
ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า