จังหวัดเชียงใหม่กับการแก้ปัญหาไฟป่า-PM2.5 และ FireD (ไฟดี) ในปี 2567

หากย้อนกลับไปดูมาตรการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 ของ จังหวัดเชียงใหม่ ในหลายปีที่ผ่านมา มีแนวทางสำคัญคือ “ห้ามเผา ใครเผาโดนจับ” โดยในปี 2566 จังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกประกาศเรื่อง “การกําหนดช่วงเวลาห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประจําปี 2566” ซึ่งกําหนดให้พื้นที่ทุกหมู่บ้าน ตําบล  และอําเภอ ใน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเขตห้ามการเผาในที่โล่งทุกชนิด

ประกาศฉบับนี้ได้กําหนดระยะเวลาห้ามเผาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2566 นับเป็นระยะเวลารวม 75 วัน ยกเว้นพื้นที่ที่ขอบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านแอพพลิเคชั่น Fire D (ไฟดี) แต่หากสถานการณ์รุนแรงก็ต้องงดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงทันที ทั้งยังมีการตั้งรางวัลนำแจ้งเบาะแสดำเนินคดีกับผู้ลักลอบเผา รายละ 10,000 บาท เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ร่วมกันเฝ้าระวัง ติดตาม และรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การห้ามเผาแบบเด็ดขาดนั้นไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่ว่าพื้นที่ ทั้งชุมชนและหน่วยงานป่าไม้ยังมีการใช้ไฟอยู่ ทั้งในเรื่องการเกษตรบางรูปแบบ และการจัดการชีวมวลในป่าผลัดใบของสถานีควบคุมไฟป่าในแต่ละพื้นที่ ภาคประชาชนจึงมีการผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในแหล่งปลดปล่อยพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่าไม้ จากแนวทาง “Zero Burning” เป็นแนวทาง Fire Management หรือ “การบริหารจัดการไฟ” ซึ่งได้เรียกการใช้ไฟในลักษณะนี้อย่างง่าย ๆ ว่า “ไฟจำเป็น” โดยไฟจำเป็นในพื้นที่เกษตรหมายถึง การใช้ไฟในพื้นที่ไร่หมุนเวียนซึ่งมีมากในเขตอำเภออมก๋อยและอำเภออื่น ๆ ประปราย ที่มีความต้องการใช้ไฟในช่วงประมาณปลายเดือนมีนาคม – ต้นเดือนเมษายน นอกจากนี้ยังรวมถึงการเกษตรที่จำเป็นที่จะต้องใช้ไฟช่วงนี้แต่เป็นพื้นที่สูงชันเครื่องจักรเข้าไม่ถึง ส่วนการเกษตรในพื้นที่ราบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปกครองอำเภอ หน่วยงานเกษตรในพื้นที่หาแนวทางสนับสนุนเพื่อให้เกิดการไถกลบ ไม่ให้ใช้วิธีการเผา

ส่วนในพื้นที่ป่า “ไฟจำเป็น” หมายถึง การใช้ไฟเพื่อจัดการชีวมวลในเขตป่าผลัดใบ (เต็งรัง, เบญจพรรณ) ซึ่งมีชีวมวลสะสมประมาณ 1 – 2 ตันต่อไร่ต่อปี (ข้อมูลจากดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย คณะบดีคณะวนศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ปี 2567 นี้ ไฟจำเป็นในพื้นที่ป่ามีความหมายครอบคลุมพื้นที่สองลักษณะคือ พื้นที่ป่าเต็งรัง, เบญจพรรณที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจจากป่าของชาวบ้าน (เห็ด, ผักหลาน, ไข่มด ฯลฯ) กับพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟซ้ำ ๆ ทุกปี/เขตรอยต่อต่าง ๆ ระหว่างชุมชนหรือพื้นที่สูงชัน  

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์และการถอดบทเรียนการทำงานในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้นำมาซึ่งการปรับแผนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันใหม่ โดยมาตรการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันปี 2567 มีแนวทางสำคัญคือ “การแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 อย่างยั่งยืนแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย”

การแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 อย่างยั่งยืนแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

การแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 อย่างยั่งยืนแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย คือมาตรการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 ใน จ.เชียงใหม่ ประจำปี 2567 เป็นแนวทางที่เกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนใน จ.เชียงใหม่ทั้งภาคประชาชน ประชาสังคม (สภาลมหายใจเชียงใหม่, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ)ร่วมกับหน่วยงานของรัฐทั้งฝ่ายปกครองและหน่วยงานป่าไม้ ได้แก่ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่), สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ โดยใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความจำเป็นของพื้นที่ เป็นหัวใจในการทำงาน 

แนวทางดังกล่าวนี้จะมุ่งเน้นการจัดทำ “แผนบริหารจัดการเชิงพื้นที่” ของแต่ละหมู่บ้าน – ตำบล ซึ่งในแต่ละพื้นที่ได้เริ่มจัดทำแผนมาตั้งแต่ปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 และในเดือนมกราคมเป็นต้นมาได้เริ่มปฏิบัติการตามแผน เช่น หลายพื้นที่ได้เริ่มเปิดศูนย์แก้ไขปัญหาระดับตำบล – อำเภอ, มีกิจกรรม Kick Off แนวกันไฟ, การเซ็น MOU เพื่อดูแลจัดการไฟป่าข้ามพื้นที่ตำบล อำเภอร่วมกัน  ในระดับจังหวัดได้มีการจัดห้อง War room (วอร์รูม) ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.)  และเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566  ชื่อเป็นทางการคือ “ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ประจำปี 2567”   

ภาพ: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่

ศูนย์บัญชาการฯ นี้ ประกอบไปด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ มีอำนาจหน้าที่ 7 ข้อหลักด้วยกัน คือ

1.เป็นศูนย์ปฏิบัติการในการอำนวยการ สั่งการ ปฏิบัติงานด้านการป้องกัน บรรเทา และให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน 

2.บริหารสถานการณ์ในช่วงการป้องกันไฟป่าและการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ร่วมกับคณะทำงานสนับสนุนการจัดทำแผนป้องกันไฟป่า และการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในระดับพื้นที่ จ.เชียงใหม่

3.ติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 และรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ไฟป่า ข้อมูลคุณภาพอากาศ พร้อมทั้งให้ข้อมูล คำแนะนำด้านวิชาการในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 ภายใน จ.เชียงใหม่

4.บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประสานพื้นที่ อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 

5.ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงจากแหล่งกำเนิด เฝ้าระวัง กำหนดแนวทางในการป้องกันและแก้ไขไว้ล่วงหน้า เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานได้อย่างรวดเร็ว

6.ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งห้องปฏิบัติการของศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 ของ จ.เชียงใหม่ โดยให้สนับสนุนกำลังคน อุปกรณ์ เครื่องมือ ให้กับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน ฝุ่น PM 2.5

7.ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ผู้อำนวยการจังหวัดมอบหมาย

ซึ่งในการทำงานของศูนย์บัญชาการฯ  จะมีการประชุมติดตามสถานการณ์ และสนับสนุนการแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ร่วมกันในทุกวันพุธหรือวันพฤหัสของสัปดาห์ ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.) พร้อมกันนั้นก็จะสนับสนุนการทำงานตามแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงและชีวมวลตามแต่ละพื้นที่ทั้ง 7 กลุ่มป่าและ 1 พื้นที่ป่าพิเศษ

การทำงานแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 อย่างยั่งยืนแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

สำหรับการทำงานแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 ในปี 2567 ตามประกาศจังหวัดเรื่องการจัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 จะมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างไปจากปีที่ผ่าน ๆ มา คือในปีนี้จะอนุญาตให้ใช้ไฟในการบริหารจัดเชื้อเพลิงและชีวมวลได้ แต่มีเงื่อนไขคือ การเผาจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการลงทะเบียนแจ้งขออนุญาตผ่านแอพพลิเคชั่น FireD (ไฟดี) เสียก่อน เพื่อให้เป็นการใช้ไฟที่มีการควบคุมและเป็นไปตามหลักวิชาการ โดยคำนึงถึงอัตราการระบายอากาศในแต่ละวัน  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการในทำงานเพื่อป้องกันไฟป่าและการบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามระบบ FireD (ไฟดี) ระหว่างหมู่บ้าน – ตำบล และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้มีการแบ่งพื้นที่ป่าใน จ.เชียงใหม่ ออกเป็น 7 กลุ่มป่า และ 1 ป่าพิเศษ พร้อมกับได้มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับกลุ่มป่า เพื่อให้ทำงานและสนับสนุนการจัดทำแผนการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย 7 กลุ่มป่า และอีก 1 พื้นที่ป่าพิเศษ ได้แก่ กลุ่มพื้นที่ป่าที่ 1 อำเภออมก๋อย, กลุ่มพื้นที่ป่าที่ 2 อำเภอแม่แจ่ม และอำเภอกัลยานิวัฒนา, กลุ่มพื้นที่ป่าที่ 3 ออบหลวง อำเภอฮอด-ดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง , กลุ่มพื้นที่ป่าที่ 4  ดอยสุเทพ ปุย-ออบขาน อำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอแม่วาง อำเภอสะเมิง, กลุ่มพื้นที่ป่าที่ 5 อำเภอสันทราย อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอแม่ออน, กลุ่มพื้นที่ป่าที่ 6 ศรีลานนา อำเภอพร้าว อำเภอแม่แตง, กลุ่มพื้นที่ป่าที่ 7 ดอยหลวงเชียงดาว อำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง อำเภอไชยปราการ อำเภอฝาง ส่วนอีกหนึ่งกลุ่มพื้นที่ป่าพิเศษ คือพื้นที่ฝั่งหน้าดอยสุเทพ อำเภอเมือง และอำเภอแม่ริม

อย่างไรก็ดี ในการทำงานแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 ของแต่ละพื้นที่นั้นจะมีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป เนื่องด้วยความเฉพาะของระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่ป่า กล่าวคือ ในพื้นที่ป่าหนึ่งอาจบริหารจัดการเชื้อเพลิงหรือชีวมวลด้วยการใช้ไฟจำเป็น ขณะที่ในอีกพื้นที่ป่าหนึ่งอาจมีแนวทางในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงหรือชีวมวลด้วยการทำแนวกันไฟ หรือในอีกพื้นที่ป่าหนึ่งอาจมีแนวทางในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงหรือชีวมวลด้วยการใช้ทั้งไฟจำเป็นและการทำแนวกันไฟ 

แต่ถึงอย่างนั้น การทำงานแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 ของคณะทำงานในทุก ๆ พื้นที่ทั่วจังหวัดเชียงใหม่ ต่างมีเป้าหมายที่สำคัญเดียวกันคือ ลดตัวชี้วัด 4 ประการลง 50% จากสถิติในปี 2566 ซึ่งตัวชี้วัดนั้นได้แก่ 1)จำนวนจุดความร้อน 2)จำนวนพื้นที่เผาไหม้ 3)จำนวนวันที่ค่าอากาศเกินมาตรฐาน  และ4)ลดจำนวนการเข้าใช้บริการทางสุขภาพของผู้ป่วย COPD หรือผู้ป่วยด้วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง

ทั้งนี้ ความท้าทายประการหนึ่งของเป้าหมาย ในปี 2567 คือ ปริมาณค่าฝุ่น PM 2.5 ที่จะเป็นเกณฑ์บ่งชี้ว่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐานหรือไม่นั้น ถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิมในปี 2566 เคยอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

การใช้ไฟจำเป็นผ่านแอพพลิเคชั่น FireD (ไฟดี) ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องหลบดาวเทียม ไม่ต้องลักลอบเผากลางคืน

จากแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 อย่างยั่งยืนแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย กล่าวได้ว่าในปี 2567 นี้ มีทางออกให้สำหรับความต้องการใช้ไฟของชุมชนและหน่วยงานป่าไม้ แต่มีเงื่อนไขว่าการเผานั้นจะต้องมีการทำข้อมูลบันทึกคำร้องและได้รับการอนุมัติอนุญาตจากระบบแอพพลิเคชั่น FireD (ไฟดี) แล้วเท่านั้น

เกี่ยวกับแอพพลิชั่น FireD (ไฟดี) มีการเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี 2564 และมีแนวโน้มพัฒนาระบบ-และการใช้งานไปในทิศทางที่ดีมากขึ้นเป็นลำดับ  เป็นทางออกสำหรับการใช้ไฟที่เชื่อมโยงยกระดับจากความรู้ภูมิปัญญา การจัดการของชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ กับระบบการบริหารตามหลักวิชาการ โดยเฉพาะข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา อัตราการระบายอากาศ เป็นต้น  ทำให้รูปแบบการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

หากจะใช้ไฟจำเป็นผ่านระบบแอพพลิเคชั่น FireD (ไฟดี) ต้องทำอย่างไร?

ในกรณีที่ต้องการใช้ไฟเพื่อบริหารจัดการเชื้อเพลิงและชีวมวลนั้นมีขั้นตอนสำคัญ คือ 

ขั้นที่หนึ่ง การจัดทำข้อมูลหรือแผนความต้องการ 

ขั้นที่สองคือ การบันทึกคำร้องขอใช้ไฟ 

ขั้นที่สามคือ การอนุมัติอนุญาต  โดยแยกออกเป็นพื้นที่แต่ละประเภทดังนี้ 

พื้นที่เกษตร ทำได้ 2 วิธีคือ เกษตรกร/ผู้ต้องการใช้สามารถโหลดแอพพลิเคชั่น ลงทะเบียนเป็นผู้ใช้งาน หลังจากนั้นสามารถบันทึกคำร้องขอได้ด้วยตนเอง วิธีที่สองคือ ผู้ใหญ่บ้านรวบรวมข้อมูลความต้องการตามแบบฟอร์มที่ตำบลหรืออำเภอส่งให้ หลังจากนั้นผู้ใหญ่บ้านนำส่งข้อมูลไปที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น คือตำบลหรือเทศบาลในพื้นที่ของแปลงที่ดินตั้งอยู่ ซึ่งจะมี “แอดมิน” หรือเจ้าหน้าที่ผู้คอยทำหน้าบันทึกคำร้องเข้าสู่ระบบแอพพลิเคชั่น FireD (ไฟดี) เพื่อรอการอนุมัติต่อไป ซึ่งเมื่อได้รับการอนุมัติและดำเนินการใช้ไฟจำเป็นในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและชีวมวลเสร็จสิ้นแล้ว จำต้องมีการแจ้งรายงานผลเสร็จสิ้นการบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านแอพพลิเชั่น FireD (ไฟดี)

ส่วนในการขออนุญาตใช้ไฟจำเป็นในพื้นที่ป่าไม้นั้น จะทำแผนร่วมกันระหว่างชุมชนและหน่วยงานป่าไม้ ส่วนผู้บันทึกคำร้องคือหน่วยงานป่าไม้ในพื้นที่ ซึ่งมีการแบ่งพื้นที่ป่าและผู้รับผิดชอบ ดังนี้

– สวนป่า การจัดทำข้อมูลพิกัดและแผนการใช้ไฟจำเป็นจะกระทำร่วมกันระหว่างชุมชน (ผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกชุมชน) กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.หรือเทศบาล) และ สวนป่า (องค์การอุตสาหรรมป่าไม้:ออป.) โดยผู้บันทึกคำร้องคือหัวหน้าสวนป่านั้น ๆ 

– ป่าชุมชน การจัดทำข้อมูลพิกัดและแผนการใช้ไฟ  ทำร่วมกันระหว่างชุมชน (ผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกชุมชน) กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.หรือเทศบาล) และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ หน่วยป้องกันและรักษาป่าไม้ในพื้นที่ โดยผู้บันทึกคำร้องขอใช้ไฟคือ หัวหน้าหน่วยป้องกันและรักษาป่าไม้ในพื้นที่นั้น ๆ  

– ป่าสงวนแห่งชาติ  การจัดทำข้อมูลพิกัดและแผนการใช้ไฟจำเป็นจะกระทำร่วมกันระหว่างชุมชน (ผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกชุมชน) กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.หรือเทศบาล) และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ หน่วยป้องกันและรักษาป่าไม้ในพื้นที่ โดยผู้บันทึกคำร้องขอใช้ไฟคือ หัวหน้าหน่วยป้องกันและรักษาป่าไม้ในพื้นที่นั้น ๆ  

– ป่าอนุรักษ์ ทั้งที่เป็นอุทยานแห่งชาติ ,เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ,เขตห้ามล่า การจัดทำข้อมูลพิกัดและแผนการใช้ไฟจำเป็นจะกระทำร่วมกันระหว่างชุมชน (ผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกชุมชน) กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.หรือเทศบาล) และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ โดยผู้บันทึกคำร้องขอใช้ไฟคือ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าในพื้นที่นั้น ๆ

สำหรับกลไกการอนุมัติอนุญาตให้ใช้ไฟจำเป็นในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงหรือชีวมวล ในปี 2567 จะมี 2 ระดับคือ ระดับตำบล โดยนำร่องใน 12 ตำบล นอกจากนั้น อนุมัติในระดับอำเภอทั้งหมด

ทั้งนี้ เงื่อนไขที่สำคัญประการหนึ่งหลังจากได้รับการอนุมัติ/อนุญาตให้ใช้ไฟจำเป็นในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแล้ว ก่อนการใช้ไฟต้องมีการทำแนวกันไฟ มีคณะทำงานในพื้นที่ร่วมกันควบคุมไม่ให้มีไฟหลุดออกนอกพื้นที่ ดับภายใน 17.00 น. และต้องมีการสื่อสารให้กับคนในชุมชนหรือละแวกใกล้เคียงได้รับรู้รับทราบด้วย  

ในการสื่อสารนั้นอาจทำได้โดยการติดป้ายประชาสัมพันธ์วัน เวลา และสถานที่ที่จะมีการใช้ไฟจำเป็นบริหารจัดการเชื้อเพลิง  รวมทั้งควรมีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เพจเฟซบุ๊กของหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ หรือจะเป็นการประชาสัมพันธ์ผ่านระบบเสียงตามสายของชุมชนก็ได้ เพื่อที่คนในชุมชนหรือละแวกใกล้เคียงจะได้มีการเตรียมตัวเพื่อรับมือหรือป้องกันผลกระทบที่อาจจตามมาจากการใช้ไฟในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีความเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงวัย หรือผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพ เป็นต้น

ความเคลื่อนไหวในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยใช้ไฟ ใน จ.เชียงใหม่

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 12 – 16 กุมภาพันธ์ 2567  มีการ  Kick Off แนวกันไฟ ที่บ้านม้งดอยปุย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นการจัดทำแนวกันไฟรอบหมู่บ้านในระยะทาง 22 กิโลเมตร พร้อมกับจัดชุดกำลังคนเฝ้าระวัง ลาดตระเวน โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน เจ้าหน้าที่อุทยานสุเทพปุย และเจ้าหน้าที่ไฟป่า โดยการจัดทำแนวกันไฟครั้งนี้ ได้เน้นย้ำนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเมืองเชียงใหม่ ในเรื่อง ห้ามเผาในเขตอำเภอเมือง หากมีความจำเป็นจริงต้องขออนุญาตผ่านระบบแอพลิเคชั่น FireD (ไฟดี)

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีการจัดทำแนวกันไฟและบริหารเชื้อเพลิง ในพื้นที่ตำบลบ้านปงหลายหมู่บ้านในเขต อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 มีการจัดทำแนวกันไฟที่บ้านจอมแจ้ง ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 มีการจัดงาน “การบริหารเชื้อเพลิงในชุมชน ลดมลพิษ PM 2.5 เพื่อลมหายใจคนน้ำแพร่และอบรมเชิงปฏิบัติการเปลี่ยนขยะให้เป็นอาหารและลมหายใจ ณ สถานีใบไม้ ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่

วันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ เครือข่ายลุ่มน้ำแม่กลางและสมัชชาเครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้ง 14 จังหวัดจัดทำพิธีสาปแช่งคนเผาป่า ที่บ้านขุนกลาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ยังได้ใช้วิธีการอื่น ๆ เพื่อการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและชีวมวลควบคู่ไปกับการใช้ไฟจำเป็น เป็นต้นว่า ในพื้นที่ อ.แม่วาง ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตรที่มีลักษณะเป็นบริเวณพื้นที่ราบ และเครื่องจักรสามารถเข้าถึงได้นั้น  ได้ใช้แนวทางวิธีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่าน “ปฏิบัติการเดินหน้าเข้าหาไฟ หยุดการเผา” ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยวิธีการไถกลบตอซัง  โดยได้เริ่มต้นใช้วิธีการไถกลบตอซังข้าวไปแล้วกว่า 9,343 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 11,680 ไร่  คงเหลืออีก 2,337 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารการทำกิจกรรมของแต่ละชุมชนได้ทาง สภาลมหายใจเชียงใหม่


ผลงานชุดนี้อยู่ในโครงการ แผนงานภาคเหนือฮ๋วมใจ๋แก้ปัญหาฝุ่นควันที่มีผลต่อสุขภาวะนำไปสู่อากาศสะอาดที่ยั่งยืน โดยความร่วมมือจากสภาลมหายใจเชียงใหม่และ Lanner สนับสนุนโดย สํานักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

.

อดีตนักเรียนประวัติศาสตร์ ปัจจุบันนัก (ลอง) เขียน อนาคตไม่แน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง