เลือกตั้งนายกเล็กพิษณุโลก จากสนามปิดสู่สนามเปิด บ้านใหญ่เจอศึกรอบด้าน

เรื่อง: กองบรรณาธิการ


การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลกที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม 2568 ไม่ได้เป็นเพียงการเลือกผู้นำท้องถิ่นครั้งใหม่ แต่ยังถูกจับตามองว่าอาจเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญของโครงสร้างการเมืองเทศบาลนครพิษณุโลกที่เคยถูกครอบงำโดยกลุ่มลูกนเรศวรมายาวนานกว่า 30 ปี ภายใต้การนำของ ดร.เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีหญิงที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2538 ที่การเลือกตั้งเทศบาลนครพิษณุโลกที่ผ่านมาแทบจะไม่เคยเกิดความพลิกผัน ผู้สมัครที่มาจากเครือข่ายเดิมของกลุ่มลูกนเรศวรล้วนคว้าชัยชนะต่อเนื่อง

การตัดสินใจลาออกก่อนครบวาระของเปรมฤดีเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ถูกมองว่าเป็นมากกว่าความตั้งใจลดความสับสนในการเลือกตั้ง แต่เป็นกลยุทธ์แยกสนามเลือกตั้งนายกเทศมนตรีออกจากกระแสการเมืองระดับชาติ เพื่อรักษาความได้เปรียบของกลุ่มลูกนเรศวร

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่สนามเทศบาลนครพิษณุโลกเปิดกว้างและแข่งขันกันอย่างดุเดือด นอกจากเปรมฤดีในวัย 80 ปีที่ยังลงสมัครอีกครั้ง ยังมีคู่แข่งคนสำคัญอีก 3 ราย ได้แก่ ศิริชิน หาญพิทักษ์พงศ์ (เบอร์ 1) จากทีมพัฒนานคร ตัวแทนเครือข่ายพลังพิษณุโลก, ธนากร กลิ่นผกา (เบอร์ 4) หรือ “มะต้อง” จากพรรคประชาชน ตัวแทนกระแสสีส้ม และ พิทักษ์ สันติวงศ์สกุล (เบอร์ 2) อดีตข้าราชการที่วางตัวเป็นผู้สมัครสายกลางในนามคณะพลังชุมชน ทำให้ศึกครั้งนี้น่าสนใจยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

เมื่อสนามเลือกตั้งเปิดกว้าง คู่แข่งมาจากทุกทิศ ส่องเบื้องหลัง 4 ผู้สมัครนายกเล็กพิษณุโลก

การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลกครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการแข่งขันในระดับเขตเทศบาลนครเพียงเท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้ระหว่าง สามขั้วอำนาจที่ชัดเจน ที่สามารถแบ่งได้ดังนี้

1.ขั้วอำนาจเก่า: เปรมฤดี ชามพูนท และกลุ่มลูกนเรศวร ที่มีฐานเสียงเหนียวแน่นจากเครือข่ายเดิม

2.ขั้วเครือข่ายท้องถิ่นใหม่: ศิริชิน หาญพิทักษ์พงศ์ กับทีมพัฒนานคร ที่ได้รับการหนุนหลังจาก อบจ. พิษณุโลก

3.ขั้วการเมืองระดับชาติ: ธนากร กลิ่นผกา ตัวแทนพรรคประชาชน สายสีส้ม ที่ต้องการขยายฐานจากระดับชาติสู่ท้องถิ่น

และอีกหนึ่งผู้สมัครสายกลางอย่าง พิทักษ์ สันติวงษ์สกุล ก็เป็นตัวแปรสำคัญ ที่อาจตัดคะแนนของทั้งสามขั้วได้

สนามการเลือกตั้งเทศบาลนครพิษณุโลกในปีนี้จึง สะท้อนพลวัตใหม่ของการเมืองท้องถิ่นไทย ที่ไม่ใช่แค่ความต่อเนื่องของระบบอุปถัมภ์เดิมอีกต่อไป แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับ การแข่งขันเชิงโครงสร้าง เชิงอุดมการณ์ และเชิงบุคคล อย่างแท้จริง

เปรมฤดี ชามพูนท ความต่อเนื่องบนเครือข่ายเดิม

ดร.เปรมฤดี ชามพูนท หรือ “แม่เปรม” เบอร์ 3 หัวหน้าทีม “ลูกนเรศวร” อดีตนายกเทศมนตรีหญิงที่บริหารเทศบาลนครพิษณุโลกมายาวนานถึง 5 สมัย กับสโลแกน “พัฒนาต่อเนื่อง” โดยเน้นความสำคัญของ ประสบการณ์และความต่อเนื่องของนโยบาย ที่ได้วางรากฐานไว้ เธอเชื่อมั่นว่าโครงการและการพัฒนาหลายเรื่องที่เธอเริ่มไว้ ควรจะต้องได้รับการสานต่อให้สำเร็จ ไม่ควรถูกหยุดกลางคัน

ภาพ: Premruadee Charmpoonod

กลยุทธ์ของเธอในครั้งนี้ คือการผนึกกำลัง คนรุ่นใหญ่ที่เก๋าเกม กับ คนรุ่นใหม่ที่มีความชำนาญ เพื่อขับเคลื่อนโครงการที่ดำเนินการมาแล้ว และไม่ให้สูญเสีย Momentum เดิม เธอเชื่อว่าผลงานในอดีตและเครือข่ายเดิมที่แข็งแกร่ง คือเครื่องมือสำคัญในการพิสูจน์ความไว้วางใจจากประชาชน กล่าวโดยสรุป เปรมฤดีนำเสนอ ความมั่นคงและความต่อเนื่อง บนฐานของความไว้ใจที่ประชาชนมีต่อเธอมาอย่างยาวนาน

ศิริชิน หาญพิทักษ์พงศ์ ผู้บริหารระบบ สายพลังพิษณุโลก

ศิริชิน หาญพิทักษ์พงศ์ เบอร์ 1 อดีตรองนายก อบจ. และอดีตประธานสภา อบจ. พิษณุโลก ลงสมัครในนามทีม “พัฒนานคร” ซึ่งอยู่ภายใต้การสนับสนุนของ กลุ่มพลังพิษณุโลก เครือข่ายอิทธิพลท้องถิ่นที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ อบจ. พิษณุโลก

ศิริชินวางจุดขายของตัวเองไว้ที่การเป็น “ผู้บริหารที่เข้าใจระบบ” และมีเป้าหมาย เปลี่ยนแปลงเทศบาลให้เห็นผลอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม ภายใน 2 ปีแรก และทำให้สำเร็จภายใน 4 ปี ตามสโลแกน “ทำทันที 2 ปีเห็นผล 4 ปีสำเร็จ”

ที่ชูนโยบายเชิงโครงสร้าง เช่น ยกระดับระบบน้ำประปาและสาธารณูปโภค ,จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ 24 ชั่วโมง และเน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้

ศิริชินมีจุดแข็งด้านโครงสร้างเครือข่ายและทีมบริหาร ซึ่งมีอดีตสมาชิกสภาเทศบาลครบทั้ง 24 เขต ร่วมหนุนหลัง ถือเป็น “เครื่องจักรเลือกตั้ง” ที่มีพลังในการเคลื่อนไหวระดับชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวโดยสรุป ศิริชินนำเสนอการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ โดยอาศัยประสบการณ์และกลไกของเครือข่ายการเมืองท้องถิ่นที่แข็งแกร่ง

ธนากร กลิ่นผกา คนรุ่นใหม่ ตัวแทนพรรคประชาชน

ธนากร กลิ่นผกา หรือ “มะต้อง” เบอร์ 4 คือผู้สมัครวัยหนุ่มจากกลุ่ม พรรคประชาชน ซึ่งได้รับการจับตามองว่าเป็น ตัวแทนของสายสีส้มในสนามท้องถิ่น เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากอดีต ส.ส. พรรคก้าวไกลอย่าง ปดิพัทธ์ สันติภาดา และ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนคนปัจจุบัน

ธนากรเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ ทายาทเจ้าของโครงการจัดสรรและโรงแรมในจังหวัดพิษณุโลก เขาประกาศตัวชัดเจนว่า ต้องการเปลี่ยนโฉมการเมืองท้องถิ่นแบบเดิม สร้างเมืองที่สะอาด ทันสมัย เศรษฐกิจดี สิ่งแวดล้อมดี และเป็นเมืองน่าอยู่

แนวคิดของเขาเน้นเรื่อง ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การมีส่วนร่วมของประชาชน การใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสื่อสารหลัก การดึงพลังของคนรุ่นใหม่และคนรุ่นใหญ่ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง กล่าวโดยสรุป ธนากรเสนอตัวเป็น ตัวแทนของความหวังและการเปลี่ยนแปลง สู่การเมืองท้องถิ่นที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

พิทักษ์ สันติวงษ์สกุล ผู้สมัครสายกลาง บนประสบการณ์ราชการ

พิทักษ์ สันติวงษ์สกุล เบอร์ 2 อดีตปลัดเทศบาลนครพิษณุโลก อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ผู้สมัคร สส. พรรคเสรีรวมไทยและพรรคไทยสร้างไทย กลับมาลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ในนาม “คณะพลังชุมชน”

พิทักษ์นำเสนอ จุดยืนสายกลาง โดยวางตัวเป็น “ทางเลือกใหม่” สำหรับประชาชนที่ไม่ต้องการยึดติดกับกลุ่มอำนาจเดิมหรือกระแสการเมืองระดับชาติ

นโยบายของเขาเน้นเรื่อง การบริหารงานเชิงประสิทธิภาพและรวดเร็ว การให้ ชุมชนมีอำนาจกำหนดอนาคตตัวเอง ใช้ประสบการณ์ในระบบราชการและการเมืองระดับชาติมาผสานกับความต้องการของประชาชนระดับรากหญ้า ที่ชูสโลแกน “ทำได้ ทำทันที” กล่าวโดยสรุป พิทักษ์เสนอทางเลือกสายกลางที่พยายามเชื่อมจุดแข็งของระบบราชการกับความต้องการของประชาชนในระดับฐานราก

เครือข่าย “ลูกนเรศวร” และโครงสร้างอำนาจท้องถิ่นที่ยืนยง

การลงสนามเลือกตั้งหลายครั้งของเปรมฤดี ชามพูนท สะท้อนความแข็งแกร่งและต่อเนื่องของเครือข่ายการเมืองท้องถิ่นแบบดั้งเดิม กลุ่ม “ลูกนเรศวร” ที่ครองอำนาจในเทศบาลนครพิษณุโลกมาตั้งแต่ปี 2538 เปรมฤดีครองตำแหน่งนายกเทศมนตรีถึง 5 สมัย จนถูกมองว่าเป็น “บ้านใหญ่” ของการเมืองท้องถิ่นพิษณุโลก แต่ตลอดเส้นทาง เธอและทีมงานไม่เคยประมาทกับความได้เปรียบที่มี การเลือกตั้งทุกครั้งจึงเต็มไปด้วยยุทธศาสตร์ที่ผสมผสานระหว่างการอ้างอิงผลงานในอดีตกับการปรับตัวให้ทันบริบทการเมืองที่เปลี่ยนไป

การลาออกก่อนครบวาระในปี 2568 เพื่อแยกการเลือกตั้งเฉพาะตำแหน่งนายกเทศมนตรี ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ ที่แม้จะอ้างว่าเพื่อลดความสับสนของประชาชน แต่ก็ถูกมองว่าเป็นความพยายามควบคุมปัจจัยการเลือกตั้งให้อยู่ในเกมของเธอเอง อีกทั้งยังปรับทัพด้วยการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาในทีม เพื่อรักษาความต่อเนื่องและแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของเครือข่าย

ในอีกมิติหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเปรมฤดีกับมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ. พิษณุโลก ซึ่งเคยถูกมองว่าไม่ลงรอยกัน ก็เปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตการเมือง ทั้งสองฝ่ายสามารถประนีประนอมและจับมือกันได้ในบางจังหวะ เมื่อผลประโยชน์ทางการเมืองสอดคล้องกัน ตัวอย่างชัดเจนคือการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 1 เมื่อปี 2566 ที่เครือข่ายท้องถิ่นหลายกลุ่มร่วมมือสนับสนุนผู้สมัครคนเดียวกันจนได้รับชัยชนะ

อย่างไรก็ตาม การที่เปรมฤดีต้องลงสมัครด้วยตัวเองในทุกครั้ง สะท้อนความเปราะบางของเครือข่ายลูกนเรศวร เพราะยังไม่มีผู้สืบทอดที่สามารถรักษาฐานเสียงได้มั่นคงเท่าเธอ

ในทางกลับกัน การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีความเปลี่ยนแปลงสำคัญ เมื่อ เครือข่ายพลังพิษณุโลก ภายใต้การนำของมนต์ชัย เปิดเกมเต็มตัว ด้วยการส่ง ศิริชิน หาญพิทักษ์พงศ์ ลงสนามในนามทีม “พัฒนานคร” ถือเป็นครั้งแรกที่เครือข่ายการเมืองระดับ อบจ. ลงมาเล่นในสนามเทศบาลอย่างเปิดเผย และทำให้ศึกเลือกตั้งเทศบาลนครพิษณุโลกปี 2568 แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา

พลังพิษณุโลก: ขุมกำลังท้องถิ่นที่ไม่เคยลงเล่นตรงๆ มาก่อน

แม้ในอดีตจะมีเสียงลือถึงความไม่ลงรอยระหว่าง มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ กับตระกูลชามพูนท แต่ในความจริง ความสัมพันธ์ของสองขั้วอำนาจนี้มีพลวัตที่เปลี่ยนไปตามผลประโยชน์ทางการเมือง และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็สะท้อนความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างชัดเจน เมื่อเครือข่าย พลังพิษณุโลก ตัดสินใจส่งคนลงสนามชิงเก้าอี้นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลกอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก

ภาพ: องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง

ศิริชิน หาญพิทักษ์พงศ์ ผู้สมัครหมายเลข 1 ในนามทีม “พัฒนานคร” ไม่ใช่แค่ผู้สมัครธรรมดา เขาคืออดีตรองนายกและประธานสภา อบจ. พิษณุโลก และเป็นบุคคลใกล้ชิดที่เคยทำงานกับมนต์ชัยมาอย่างยาวนาน การกลับมาของศิริชินในสนามนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพัง แต่เป็นผลจากการชักชวนและหนุนหลังของมนต์ชัยโดยตรง

การสนับสนุนศิริชินยังสะท้อนผ่านโครงสร้างเชิงยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน เมื่อทีมพัฒนานครระดมอดีตทีมงานพลังพิษณุโลก รวมถึงอดีตสมาชิกสภาเทศบาลทั้ง 24 เขต ร่วมเดินหาเสียงทั่วเมืองอย่างเป็นระบบ นี่คือผลสืบเนื่องจากยุทธศาสตร์ “รวมพลังท้องถิ่น” ที่มนต์ชัยริเริ่มตั้งแต่การเลือกตั้ง อบจ. ปี 2563 ซึ่งหลอมรวมผู้นำท้องถิ่นทุกระดับเข้าด้วยกันโดยไม่แบ่งสี ไม่แบ่งขั้ว

ปรากฏการณ์นี้ทำให้สมรภูมิการเมืองเทศบาลนครพิษณุโลกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากอดีตที่กลุ่มลูกนเรศวรของ เปรมฤดี ชามพูนท ครองสนามมาอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นการเผชิญหน้าของสองขั้วอำนาจท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุด หากศิริชินชนะ พลังพิษณุโลกจะกุมอำนาจทั้งในระดับจังหวัดและเทศบาลได้พร้อมกัน แต่หากเปรมฤดีรักษาตำแหน่งไว้ได้อีกสมัย ก็จะยืนยันว่าเครือข่ายลูกนเรศวรยังแข็งแกร่งและยากจะถูกโค่นลง การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลกครั้งนี้ จึงไม่ใช่เพียงการเลือกตั้งท้องถิ่นธรรมดา แต่คือการเผชิญหน้าของสองขั้วอำนาจท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด ผลลัพธ์ของศึกครั้งนี้ จะส่งผลโดยตรงต่อครงสร้างอำนาจทางการเมืองท้องถิ่น ของพิษณุโลกในระยะยาว

สีส้มในสนามเทศบาลนครสองแคว โอกาส หรือความท้าทาย?

อีกหนึ่งผู้สมัครที่ถูกจับตาในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก 2568 คือ ธนากร กลิ่นผกา หรือ “มะต้อง” ผู้สมัครหมายเลข 4 ในนามพรรคประชาชน ตัวแทนของกระแส “สีส้ม” ที่ประกาศตัวชัดเจนว่าจะเปลี่ยนโฉมการเมืองท้องถิ่น โดยใช้พลังของคนรุ่นใหม่และแนวคิดก้าวหน้าเป็นเครื่องมือ

แม้กระแสพรรคก้าวไกลและฝ่ายก้าวหน้าเคยได้รับความนิยมสูงในพิษณุโลก โดยเฉพาะชัยชนะของปดิพัทธ์ สันติภาดา ในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2566 แต่ในสนามท้องถิ่น ธนากรต้องเผชิญข้อจำกัดสำคัญ ฐานเสียงของเขาส่วนใหญ่คือ “เสียงเงียบ” (Silent Voter) ของคนรุ่นใหม่และชนชั้นกลาง ที่ไม่ใช่เครือข่ายหัวคะแนนแบบดั้งเดิม และมีอัตราการออกมาใช้สิทธิ์ต่ำกว่าการเลือกตั้งระดับชาติ ขณะเดียวกัน พิษณุโลกยังเป็นพื้นที่ที่มีฐานเสียงอนุรักษนิยมและระบบอุปถัมภ์ท้องถิ่นฝังรากลึก

ประสบการณ์จากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 1 พิษณุโลก เมื่อปลายปี 2566 ยิ่งตอกย้ำข้อจำกัดนี้ เมื่อฝ่ายสีส้มพ่ายแพ้ให้กับผู้สมัครที่ได้รับแรงสนับสนุนจากเครือข่ายการเมืองท้องถิ่นอย่างเป็นเอกภาพ สถานการณ์เดียวกันกำลังเกิดขึ้นอีกครั้งในการเลือกตั้งเทศบาลครั้งนี้ เมื่อธนากรต้องลงแข่งโดยไม่มีเครือข่ายหัวคะแนนใหญ่หนุนหลัง ต่างจากคู่แข่งอย่าง เปรมฤดี ชามพูนท และ ศิริชิน หาญพิทักษ์พงศ์ ที่มีโครงสร้างการเมืองท้องถิ่นรองรับอย่างแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม ธนากรยังคงมีโอกาสสร้างแรงสั่นสะเทือนเชิงสัญลักษณ์ หากสามารถดึงคะแนนจากคนรุ่นใหม่และผู้ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ แม้จะไม่ชนะ แต่คะแนนที่ได้รับอาจส่งสัญญาณว่ากระแสการเมืองใหม่เริ่มหยั่งรากในระดับท้องถิ่น และบีบให้ขั้วอำนาจเก่าต้องปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

สำหรับธนากร เดิมพันครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่ผลแพ้-ชนะ แต่คือการ “ปักธง” และทดสอบว่า การเมืองแบบประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะสามารถเบียดแทรกเข้าไปในโครงสร้างอำนาจท้องถิ่นที่เหนียวแน่นของพิษณุโลกได้หรือไม่

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa slot mahjong