จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ลึก 10 กิโลเมตร จากรอยเลื่อนสะกายที่มีศูนย์กลางอยู่ในเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทำให้หลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ข้อมูลจาก BBC NEWS ไทย ระบุว่า การถล่มของอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างในกรุงเทพฯ พบผู้เสียชีวิตแล้ว 8 ราย และยังสูญหายอีก 79 ราย ขณะนี้หน่วยกู้ภัยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งค้นหาอย่างต่อเนื่อง (ณ วันที่ 29 มีนาคม 2568 เวลาประมาณ 16.00 น.)
นอกจากกรุงเทพฯ ในภาคเหนือของไทยก็ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนไม่แพ้กัน โดยภาคเหนือสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นไหวทั้ง 17 จังหวัด และมี 11 จังหวัดที่ได้รับความเสียหาย (ข้อมูล ณ วันที่ 29 มีนาคม 2568 เวลา 18.30 น.) Lanner ชวนสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัดเพื่อให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ที่ชัดเจนมากขึ้น
เชียงราย: ผนังอาคารโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์เกิดรอยร้าวเล็กน้อย สะพานข้ามทางรถไฟที่กำลังก่อสร้างพังถล่ม และยังพบคานคอนกรีต จำนวน 20 ท่อน (ท่อนละ 10 ตัน) หล่นลงมาทับรถยนต์ 6 คัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ที่ อ.ป่าแดด นอกจากนั้นยังพบว่าหลังคาอาคารวัฒนธรรมของวัดท่าข้าม ใน อ.เชียงของ ได้รับความเสียหายบางส่วน เบื้องต้นยังไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
เชียงใหม่: อาคารจอดรถโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และคอนโดศุภาลัยมอนเต้ พบว่าผนังอาคารมีรอยแตกร้าว ในส่วนของดวงตะวันคอนโดมิเนียม พบว่ามีโครงสร้างตึกได้รับความเสียหาย ที่วัดสันทรายต้นกอก พบว่าเจดีย์มีรอยร้าว นอกจากนั้นยังมีบ้านเรือนและหอพักที่ได้รับความเสียหายในพื้นที่ อ.ดอยเต่า อ.พร้าว อ.สันป่าตอง และอ.หางดง โดยเบื้องต้นยังไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
ลำพูน: พบโรงพยาบาล 4 แห่ง ประกอบด้วย รพ.ลำพูน รพ.ลี้ รพ.บ้านโฮ่ง รพ.แม่ทา ได้รับความเสียหาย ผนังร้าว และยังพบอาคารที่ว่าการอำเภอเวียงหนองล่องมีรอยร้าว มีซุ้มประตูวัด เมรุ เจดีย์ และหอระฆัง ที่ได้รับความเสียหายหลายแห่ง โรงเก็บไม้ถล่มเสียหายใน อ.บ้านธิ นอกจากนั้นยังพบบ้านเรือนประชาชนเสียหายประมาณ 32 หลัง ในเขต อ.ลี้ อ.เมือง และอ.บ้านโฮ่ง เบื้องต้นยังไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
ลำปาง: วัดพระธาตุปางม่วง ศาลาวัดพระธาตุลำปางหลวง อาคาร รพ.แม่พริก รพ.ลำปาง มทร.ล้านนาลำปาง และอาคารเก็บพืชผลการเกษตร มีรอยร้าว นอกจากนั้นยังพบบ้านเรือนประชาชนเสียหายประมาณ 30 หลัง ในเขต อ.ห้างฉัตร อ.แม่พริก อ.แม่ทะ อ.สบปราบ และ อ.งาว เบื้องต้นยังไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
น่าน: ผนังศาลาที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร มีรอยแตกร้าว องค์พระไม่ได้รับความเสียหาย ผนังศาลาที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ (พระนอน) วัดพระธาตุแช่แห้ง มีรอยแตกร้าว องค์พระได้รับความเสียหาย
แม่ฮ่องสอน อาคารศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอนหลังใหม่มีร้อยร้าว อ.ปาย ศาลาริมทางแหล่งท่องเที่ยวกองแลน อาคารโรงพยาบาลปาย โรงเก็บกระเทียม ได้รับความเสียหาย อ.ขุนยวม อาคารโรงพยาบาลขุนยวม มีรอยร้าว อ.สบเมย ทางเดินเชื่อมอาคารโรงพยาบาลสบเมย ได้รับความเสียหายไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต นอกจากนั้นยังพบว่ามีแหล่งน้ำที่ได้รับความเสียหายจากการสั่นสะเทือน ประกอบด้วย ถ้ำปลา อ.เมือง และน้ำพุร้อนแม่กาษา อ.แม่สอด พบว่าน้ำเปลี่ยนสี เป็นสีชาเย็น หรือสีสนิมน้ำพุร้อนบ้านเหมืองแร่ อ.ปาย จากที่เคยมีน้ำร้อนผุดขึ้นมาจากใต้ดิน ในตอนนี้กลับไม่มีน้ำเลย
แพร่: โรงจอดรถในบ้านเรือนของประชาชน อ.เมือง ได้รับความเสียหายบางส่วน เบื้องต้นยังไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
จังหวัดแพร่ มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแผ่นดินไหวในพื้นที่ อ.เมือง ประกอบด้วย หมู่ที่ 1 ตำบลป่าแมต หมู่ที่ 3 ตำบลช่อแฮ หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านกลาง หมู่ที่ 6 ตำบลน้ำรัด หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งแค้ว
ตาก: ทางเดินเชื่อมอาคารโรงพยาบาลสบเมย แตกร้าว ได้รับความเสียหาย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
พิจิตร: บริเวณห้องผ่าตัด โรงพยาบาลบางมูลนาก อ.บางมูลนาก พบว่ามีรอยร้าวบริเวณผนังและบริเวณพื้นเป็นบางส่วน ตึกผู้ป่วยทั่วไป บริเวณชั้น 1 ถึงชั้น 9 พบว่ามีรอยร้าวบางส่วน เบื้องต้นยังไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
เพชรบูรณ์: อ.เมือง อาคารโรงเรือนการเกษตร ได้รับความเสียหาย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
สุโขทัย: อ.ศรีสำโรง อาคารโรงยาสูบ เสียหาย 1 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม มีเพียงจังหวัดแพร่เท่านั้นที่มีประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ทั้งนี้ ในจังหวัดพะเยา กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี ยังไม่มีรายงานว่าได้รับผลกระทบ
สถานการณ์ล่าสุด และการเกิดแผ่นดินไหวตาม Aftershocks
วันที่ 29 มีนาคม 2568 หลังผ่านการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า มีการเกิดแผ่นดินไหวตาม (Aftershocks) ในรอบ 24 ชั่วโมง จำนวน 116 ครั้ง (ข้อมูล ณ เวลา 19.00 น.) โดยแบ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดต่างๆ ดังนี้
แผ่นดินไหวขนาด 1.0-2.9 จำนวน 26 ครั้ง
แผ่นดินไหวขนาด 3.0-3.9 จำนวน 54 ครั้ง
แผ่นดินไหวขนาด 4.0-4.9 จำนวน 29 ครั้ง
แผ่นดินไหวขนาด 5.0-5.9 จำนวน 6 ครั้ง
แผ่นดินไหวขนาด 6.0-6.9 จำนวน 0 ครั้ง
แผ่นดินไหวขนาด 7.0 ขึ้นไป จำนวน 1 ครั้ง
เวลา 16.25 น. กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว รายงานว่าเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาอีกครั้ง โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 19.575°N , ลองจิจูด 96.314°E ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ห่างประมาณ 176 กม. มีขนาด 5.9 ริกเตอร์ และลึกลงไปประมาณ 10 กิโลเมตร โดยแผ่นดินไหวครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ทำให้ประชาชนยังต้องคอยระวังเกี่ยวกับความปลอดภัยในสถานการณ์ดังกล่าว
ระบบแจ้งเตือนภัยที่ยังไร้วี่แวว
จากสถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามีหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบกันอย่างมาก แต่ถึงอย่างนั้นกลับพบว่าระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติของไทยยังคงไร้ประสิทธิภาพ แม้ว่าประเทศไทยจะมีการลงทุนเกี่ยวกับระบบเตือนภัยมาแล้วมากกว่า 1,074 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2563-2565 ผ่านแอปพลิเคชัน DPM Alert ระบบโทรมาตร และหอเตือนภัยทั่วประเทศ แต่ระบบคาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า (DSS) ที่ใช้ไปกว่า 52 ล้านบาท ก็พบว่า ความแม่นยำต่ำ โดยเฉพาะในกรณีคาดการณ์อุทกภัยและวาตภัย ที่คาดการณ์ได้ถูกต้องเพียง 30% ของเหตุการณ์จริง
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อดีตอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เคยออกมาพูดถึงระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS และยืนยันว่า พร้อมใช้งานแล้วทันที หากมีเหตุการณ์ภัยที่เข้าเกณฑ์แจ้งเตือน โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง ปภ. และ กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกค่าย ระบบนี้สามารถส่งข้อความถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย แบบเจาะจงระดับตำบลหรือหมู่บ้าน พร้อมรายละเอียด วัน เวลา สถานที่ ระดับความรุนแรง และข้อปฏิบัติตัว เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติได้ทันท่วงที
แต่จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดและหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา ประชาชนกลับไม่เคยได้รับข้อความแจ้งเตือนใดๆ แม้เครื่องมือจะ “พร้อมใช้งาน” ตามที่หน่วยงานรัฐประกาศไว้ แต่ในทางปฏิบัติ ระบบกลับไม่ได้ถูกนำมาใช้จริงในยามที่ประชาชนต้องการที่สุด ชวนให้เกิดการตั้งคำถามถึง ระบบแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง (Cell Broadcast) ซึ่งเคยเป็นประเด็นมาแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
Cell Broadcast (CBS) เป็นระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน ที่สามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่เสี่ยงภัยได้พร้อมกัน โดยไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า สามารถแจ้งเตือนได้ทั้งรูปแบบข้อความ ภาพ และเสียง พร้อมสัญญาณแจ้งเตือนบนหน้าจอ (Pop-up Notification) นอกจากนี้ ระบบยังรองรับ Text to Speech เพื่อช่วยเหลือผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น ถือเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน และยกระดับความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยว
กระบวนการทำงานของระบบ CBS
1.เมื่อเกิดภัยพิบัติ – กรม ปภ. (CBE) วิเคราะห์สถานการณ์และตัดสินใจส่งการแจ้งเตือน
2.ส่งคำสั่งแจ้งเตือน – ข้อมูลถูกส่งไปยังศูนย์ CBC ของค่ายมือถือ
3.กระจายสัญญาณ – CBC ส่งข้อมูลไปยังเสาสัญญาณในพื้นที่เป้าหมาย
4.แจ้งเตือนผู้ใช้ – ข้อความพร้อมเสียงเตือนปรากฏบนมือถือทุกเครื่องในพื้นที่นั้นๆ
ระบบ CBS จะทำงานได้ต้องมีสององค์ประกอบหลักทำงานร่วมกัน นั่นคือ Cell Broadcast Center (CBC) หรือ ฝั่งผู้ให้บริการมือถือ เช่น ทรู ดีแทค และ Cell Broadcast Entity (CBE) หรือ ฝั่งหน่วยงานรัฐที่ออกประกาศเตือน (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ.) โดยสาเหตุที่ทำให้ ระบบ CBS ยังไม่สามารถให้บริการได้ในปัจจุบัน นั่นเป็นเพราะว่า กรม ปภ. ยังอยู่ระหว่างจัดตั้งระบบทำงานและทดสอบ ในขณะที่ฝ่าย ค่ายมือถือ (ทรู คอร์ปอเรชั่น) ได้ติดตั้งระบบและทดสอบเรียบร้อยแล้ว
ข้อมูลจาก Rocket Media Lab ได้เปิดเผยไทม์ไลน์ของการพัฒนาระบบเตือนภัย Cell Broadcast ในประเทศไทย ว่ามีจุดเริ่มต้นในปี 2566 หลังเหตุการณ์กราดยิงที่ห้างพารากอน โดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน สั่งการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ร่วมกับ กสทช. จัดทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน ต่อมาในปี 2567 มีการประกาศแผนพัฒนาระบบภายใน 1 ปี และเริ่มทดสอบระบบโดยทรู คอร์ปอเรชั่น ในเดือนมีนาคม กระทรวงดีอีขอสนับสนุนงบประมาณ 1,465 ล้านบาทในเดือนพฤษภาคม และภายในเดือนกรกฎาคมมีการบูรณาการความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน คาดว่าระบบจะแล้วเสร็จต้นปี 2568 ในเดือนกันยายน กสทช. อนุมัติงบ 1,000 ล้านบาทเพื่อเร่งพัฒนา และในเดือนพฤศจิกายนมีการทดสอบระบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา กลับพบว่าระบบ Cell Broadcast ยังไม่สามารถใช้งานได้จริง เนื่องจากต้องรอคำสั่งจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และพบปัญหาการส่ง SMS เตือนภัยที่จำกัดจำนวนและล่าช้า
อย่างไรก็ตาม ประชาชนไทยยังคงไม่มีทีท่าว่าจะสามารถวางใจต่อสถานการณ์แผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกายและแผ่นดินไหวตาม (Aftershocks) ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ ทั้งนี้ สื่อมวลชนและประชาชนก็ยังต้องคอยติดตามและกระจายข่าวสารเพื่อเตือนภัยกันต่อไป พร้อมกับรอคอยระบบเตือนภัย Cell Broadcast ที่ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้ถูกเปิดใช้งานอย่างแท้จริงเมื่อไหร่กันแน่
รายการอ้างอิง
Bangkok Business News. (2568, มีนาคม 29). ไทม์ไลน์การพัฒนาระบบเตือนภัย Cell Broadcast ในประเทศไทย. Bangkokbiznews. https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1173391
Matichon. (2568, มีนาคม 29). ภาคเหนือได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวอย่างหนัก. Matichon Online. https://www.matichon.co.th/region/news_5114325
Thai News. (2568, มีนาคม 29). ความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว. สำนักข่าวไทย. https://thainews.prd.go.th/thainews/news/view/1013473/?bid=1
Thairath. (2568, มีนาคม 29). ภาครัฐเร่งรัดการใช้ระบบ Cell Broadcast Service. Thairath Online. https://www.thairath.co.th/news/local/2850001
Thai Post. (2568, มีนาคม 29). Cell Broadcast Service กับการเตือนภัยที่ยังไม่พร้อมใช้งานจริง. Thai Post. https://www.thaipost.net/hi-light/764260/
Khaosod. (2568, มีนาคม 29). ผลกระทบของแผ่นดินไหวในภาคเหนือ. Khaosod Online. https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_9695950
Public Relations Department (PRD). (2568, มีนาคม 29). แถลงการณ์ของกระทรวงดีอีเกี่ยวกับระบบเตือนภัยฉุกเฉิน. PRD Thailand. https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/304059
Thai Mobile Center. (2568, มีนาคม 29). ทำไม Cell Broadcast Service ยังไม่ถูกนำมาใช้ในไทย?. https://www.thaimobilecenter.com/content/true-why-cell-broadcast-service-not-implemented-thailand-pr.asp
BBC Thai. (2568, มีนาคม 29). การเตือนภัยผ่านมือถือในไทย: ปัญหาและอุปสรรค. BBC Thai. https://www.bbc.com/thai/articles/c15q5xnn1xxo
Facebook. (2568, มีนาคม 29). การสรุปเหตุการณ์แผ่นดินไหวและ Aftershock ในวันที่ 29 มีนาคม 2568 [Status update]. Facebook. https://www.facebook.com/tmd.go.th/photos/…
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...