อรรถจักร สัตยานุรักษ์: ความปรารถนาอย่างแรงกล้าเพื่อทำให้เกิดความหลากหลายที่เท่าเทียม

กล่าวสรุปงานเวทีวิชาการ Lanna Symposium: Lanna Decolonized “ล้านนาทะลุกรอบอาณานิคม” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ ห้องประชุมชั้น 2 ตึก 3 (ภาควิชาสังคมวิทยาฯ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์

สิ่งที่ผมเห็นทั้งหมดในงานของพวกเราทั้งวันตั้งแต่เช้า อยากจะพูดถึง “ความหลากหลายที่ (ต้อง) เท่าเทียม” สิ่งที่เรากำลังเสนอ คือ ล้านนามีความหลากหลายและต้องเท่าเทียม ตรงนี้คือหัวใจของงานนี้ ผมใส่คำหน้าวลีดังกล่าวว่า Radical Ambition คือ ความปรารถนาอย่างแรงกล้าเพื่อทำให้เกิดความหลากหลายที่เท่าเทียม

ขอบคุณอย่างมากต่อผู้ที่ได้ร่วมจัดงานครั้งนี้ ทั้ง Lanner ภาควิชาสังคมวิทยาฯ คณะสังคมศาสตร์ และภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การคิดเพื่อแสวงหา ‘อดีตใหม่’ ของพื้นที่ เป็นกระบวนการที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราจะพบว่าการพยายามแสวงหาอดีตอันใหม่ เกิดขึ้นทั้งในและนอกสถาบันการศึกษา แต่ส่วนที่ส่งผลกระทบมากกว่าก็คือนอกสถาบัน ถ้าใครตามอ่านงานของ The Isaan Record จะรู้ว่าเขาเปลี่ยนความหมายของผีบุญ  ในทำนองเดียวกัน Lanner พี่น้องอีสานเรคคอร์ดก็ได้ทำหน้าที่นี้ แน่นอนว่าในสถาบันการศึกษาก็เปลี่ยนพอสมควร แต่ส่งผลกระทบก็ไม่มากพอเมื่อเทียบกับนอกสถาบัน

ความตระหนักถึงปัญหาในการศึกษา “ประวัติศาสตร์ล้านนา” มีมานานพอสมควร อย่าง “ปัญหาในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา” รายวิชาหนึ่งในภาควิชาประวัติศาสตร์ มช ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของแนวพินิจทางประวัติศาสตร์ล้านนา มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ฯลฯ “ความรู้เรื่องล้านนา” ในภาค วิชาสังคมวิทยา มานุษยวิทยา มช. ก็มีส่วนสำคัญในการก่อรูปการรับรู้ ‘อดีตใหม่’ ในขณะเดียวกันการตอบโต้กระแสการแสวงหาอดีตใหม่ก็เกิดขึ้นจากนอกสถาบัน อย่างทุ่นดำ ทุ่นแดง

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยกล่าวว่าการสร้างอดีตใหม่ เป็นการเลือกส่วนที่

“บิดเบือนของความรู้เก่าและโครงสร้างความรู้เก่าออกมาแฉ โดยตั้งคำถามใหม่กับสิ่งที่ความรู้เก่าไม่เคยถาม เพื่อทำให้มองเห็นว่าอำนาจถูกแฝงเร้นไว้ใน “ความรู้” (รวมถึงความไม่ยอมรู้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของความรู้ด้วย) ….แฉโพยโครงสร้างเก่า, รื้อโครงสร้างเก่า, ถอดข้อต่อ สำคัญของโครงสร้างเก่าออก” — นิธิ เอียวศรีวงศ์, นักวิชาการรุ่นใหม่สุดจากท่าเรือ

ความพยายามทำงาน “ประวัติศาสตร์ล้านนา” และ “อดีตใหม่” ทั้งหมด คือ Radical Ambition หรือความปรารถนายิ่งในการเสนอความจริงที่พลิกแย้ง ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก

การมองประวัติศาสตร์ล้านนานอกขนบและอดีตใหม่  ไม่ว่าจะใช้แนวพินิจใด (อาณานิคม ภายใน,อำพราง ฯลฯ) อย่างน้อยทำให้เห็นการครอบงำหรือการทำให้สื่อสารทางอำนาจแบบสยบยอม และงานจำนวนไม่น้อยทำให้มองเห็นพลวัตภายในของ “ท้องถิ่น”ที่มีปฏิสัมพันธ์กับอำนาจจากภายนอก ซึ่งก็มีพลวัตเช่นกัน ส่งผลกระทบต่าง ๆ ทั้งการเกิดการเปลี่ยนรูปแบบของพื้นที่ทางการเมือง โดยพื้นที่การเมืองไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น นำไปสู่ “อดีตใหม่” เพื่อสร้างความทรงจำร่วมทางอารมณ์ความรู้สึก และมองเห็นถึงศักยภาพของบท้องถิ่นที่จะต่อรอง/ต่อสู้/ผลักดันความเปลี่ยนแปลงได้ในระดับหนึ่ง ไม่ได้อยู่อย่างสยบยอมตลอดมา

เอาเข้าจริงแล้วคนไทยสนใจอารมณ์ความรู้สึกน้อยไปหน่อย อารมณ์ความรู้สึกกำหนดความหมายของการดำรงอยู่ของมนุษย์ในโลก สิ่งสำคัญคือเราอยู่บนฐานของระบอบอารมณ์ความรู้สึกชุดหนึ่ง แล้วจะสามารถบอกตัวเราได้ว่าเราเป็นใครอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้อย่างไร 

ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ทั้งหลายทั้งมวลในโลกนี้ทั้งหมดแยกไม่ได้จากความรู้สึก ประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์แค่ประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่ผูกด้วยอารมณ์และความรู้สึก การเลือกสรรและการจัดสร้างสายสัมพันธ์ของข้อมูลในอดีตเพื่อให้มีความหมายต่อยุคสมัยเป็นหัวใจของประวัติศาสตร์ ก็คือ การจัดสร้างระบอบอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันของผู้คนในสังคมเพื่อเร้าความรู้สึกไปสู่ปฏิบัติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง

สิ่งที่พวกเราทำทั้งหมด ก็คือ พวกเรากำลังเลือกสรรและจัดสายสัมพันธ์ของข้อมูลชุดหนึ่ง เพื่อให้มีความหมายแก่สังคมล้านนาอีกแบบหนึ่ง ผมคิดว่าเรากำลังช่วงชิงอารมณ์ความรู้สึกของพื้นที่ความทรงจำร่วม การอธิบายเหตุการณ์หนึ่งด้วยแนวพินิจใหม่ ด้วยการจำแนกให้เห็นขั้นตอนของการครอบงำ เปลี่ยนเป็น “ผู้กระทำการ” ในประวัติศาสตร์หรือวางในบริบทใหม่ ความทรงจำร่วมทางอารมณ์ความรู้สึกแบบเดิม มันไม่ได้ร่วมอีกต่อไป แล้วสังคมจะไปต่ออย่างไร 

Radical Ambition: ความหลากหลายที่ (ต้อง) เท่าเทียม ที่กล่าวไปตอนแรก ผมอยากจะพูดถึง 3 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะที่หนึ่งความเป็นมาและคำถามต่อการดำรงอยู่ ประกอบด้วย ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง: สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา และภูมินามพื้นบ้าน: ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกับวรรณกรรมพื้นบ้านล้านนา ลักษณะที่สองอำนาจและการทำลายความหลากหลาย ประกอบด้วย การขยายอำนาจรัฐสยามในอาณาบริเวณล้านนา: กรณีศึกษาการบังคับใช้กฎหมาย การปกครองคณะสงฆ์, ความสัมพันธ์ล้านนา-สยาม: ไข้ทรพิษสู่การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในเชียงใหม่ พ.ศ. 2410-2450 และ เวียงแก้ว: พระราชวังล้านนา คุกข่มดวงเมือง และมรดกโลกที่ยังมาไม่ถึง ลักษณะที่สามการปรับแต่งหรือการปรับตัวยืนยันตัวตน ประกอบด้วย แม่แจ่มที่เพิ่งสร้าง: การเผยตัวของชุมชนแม่แจ่มในฐานะชุมชนทางวัฒนธรรม, ประเด็นปัญหาของการเสนอชื่อครูบาศรีวิชัยให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก และ เวียงแก้ว: พระราชวังล้านนา คุกข่มดวงเมือง และมรดกโลกที่ยังมาไม่ถึง 

การศึกษาทั้งสามประเด็นล้วนแล้วแต่ต้องการทำให้สังคมมองเห็น “ประวัติศาสตร์ล้านนาใหม่” ที่ต้องมองผู้คนอย่างเท่าเทียมและทุกผู้ทุกคนล้วนแล้วแต่มีส่วนในการสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมา การศึกษาทั้งหมด ได้วางประเด็นศึกษาไว้ในบริบทใหม่ เพื่อทำให้เห็นว่าในบริบทใด ที่ “ความจริง” ถูกสร้างขึ้นให้เราเชื่อว่า “จริง”

ผมคิดว่ารัฐล้านนา คือ สหพันธรัฐหรือรัฐเล็ก เป็นรัฐระบบส่วยและตลาด แต่ละเมืองมีอิสระจากกัน แต่สานกันได้บนเครือข่ายการค้า ซึ่งส่งผลต่อการดำรงอยู่ของเมือง เจ้าเมืองก็คือพ่อค้าใหญ่ ขอบเขตของรัฐล้านนาจึงขยาย หรือหดตัวลงจากเงื่อนไขของส่วย สินค้าและตลาด ถ้าหากเราดึงพี่น้องชนเผ่าทั้งหมดลงมาอยู่ในเงื่อนไขของรัฐระบบส่วยและตลาด เราจะพบว่าพี่น้องชนเผ่าทั้งหมดสัมพันธ์อยู่กับตลาด การล่มสลายของรัฐล้านนาทั้งหลาย อ้างจากเอกสารสมัยพระเจ้าเมกุ เกิดขึ้น คือ ม้างไสเมือง (ล้างเมืองต่าง ๆ) ม้างพันนา (ยุ่งกับชาวบ้าน) และรัฐเบี้ยลง ซึ่งถ้าทำแบบนี้มันทำลายระบบตลาดทั้งหมด ดังนั้น ถ้ามองรัฐล้านนาและพี่น้องชนเผ่าทั้งหลายสัมพันธ์กัน เราจะเห็นโครงข่ายของความสัมพันธ์ที่อยู่ในรัฐระบบส่วยและตลาด

ความปรารถนาที่จะทำให้ประชาชนคนธรรมดามีพื้นที่ทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย ท้ายที่สุดแล้ว “ความทรงจำร่วมทางอารมณ์” (Collective Emotional Memory) เริ่มมีลักษณะของการแยกกระจายเป็น “ชุมชนทางอารมณ์” (Emotional Communities) ที่กระจายทั่วไป ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้เปลี่ยนฐานความรู้สึกร่วมกันของการพลิกจาก “ผู้ถูกกระทำ” มาสู่ “ผู้กระทำ” ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์และคนกลุ่มอื่น ๆ โดยสร้างชุมชนทางอารมณ์ของกลุ่มเขาอีกกลุ่ม 

การศึกษาประวัติศาสตร์พื้นที่/ชุมชน/ท้องถิ่น จึงยังเป็นปมปัญหาที่จะต้องทำให้เข้าใจ “ตาข่ายความทรงจำ” เดิมที่ครอบอยู่ สิ่งที่พวกเราทำคือการรื้อตาข่ายความทรงจำเดิมในระดับหนึ่ง แต่ต้องมากกว่านี้ และยังต้อง

แสวงหาแนวทางในการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จากมุมมองของประชาชนพลเมืองมากขึ้น (ประวัติศาสตร์ประชาชน เป็นต้น) กรอบทฤษฏีทั้งหลายที่เราใช้กันเป็นกรอบการมองสายสัมพันธ์ข้อมูลที่ต้องมองให้พลวัต

ความปรารถนายิ่งในการเสนอความจริงที่พลิกแย้งจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป การต่อสู้ในพื้นที่ความทรงจำจะแหลมคมมากขึ้น แม้จะดำเนินต่อไป แต่จะถูก “กำราบ” เป็นระยะ ยกตัวอย่างกรณีแห่ไม้ก้ำ อย่างไรก็ตาม การสร้างประวัติศาสตร์ขนบขยายตัวหรือกระจายตัวสู่ม.ราชภัฏมากขึ้น

ทางเลือกและทางออก ควรกระจายออกไปสู่ทุกมิติของความรู้และชีวิต การถักสัมพันธ์กับการเมืองท้องถิ่นก็จำเป็นยิ่ง ถ้าปรารถนาในการเสนอความจริงที่พลิกแย้ง แล้ววิกฤติระบบการเมืองจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน

สังคมไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ความเปลี่ยนแปลงนานัปการเกิดขึ้น แม้ว่าความพยายามจะนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบ สันติ จะถูกขัดขวางหรือกดทับ แต่หากพิจารณาจากพื้นฐานของการเกิดขึ้นของ Radical Ambition : ความปรารถนายิ่งในการเสนอความจริงที่พลิกแย้ง ก็หวังได้ระดับหนึ่งว่าสังคมไทยพอจะมีทางเดินไปสู่อนาคตที่วาดหวังไว้ หากเราค่อย ๆ สร้าง 

เราคงจะเดินข้ามความโหดร้ายอีกมากมาย เราจะร่วมหวังไปด้วยกันครับ

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง