เปิดเหตุผลชำระประวัติศาสตร์เมืองแพร่

จากประเด็น “การชำระประวัติศาสตร์เมืองแพร่” ที่ สมาคมรักษ์เมืองเก่าแพร่ ได้เขียนวิพากษ์เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง “แพร่พันปี” เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา นั้น อาจเป็นเพียงวาทกรรม เพื่อชี้ให้เห็นว่าข้อมูลที่ผิดฝาผิดตัวของหนังสือเมืองแพร่เมื่อ 1,000 ปีนั้น

จนกระทั้งวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 สมาคมรักษ์เมืองเก่าแพร่ ได้เปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุน “การชำระประวัติศาสตร์เมืองแพร่” ร้องถึงสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ดำเนินการชำระ พร้อมให้เหตุผลว่า หนังสือวัดหลวงเมื่อ 1,000 ปี จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2529 ได้อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยส่วนภูมิภาคจัดพิมพ์ พ.ศ.2528 ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ และสื่อสารณะอื่น ๆ ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และหลักฐานชั้นต้นอ้างอิงเชื่อถือได้ และขัดแย้งกับผลงานทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เมืองเก่าแพร่

จากข้อมูลหนังสือที่นำมาอ้างอิงดังกล่าวข้างต้น ทางสมาคมฯจึงเรียกร้องให้พระครูวิจิตรธรรมภรณ์ (ครูบาแดง) อดีตเจ้าอาวาสวัดหลวง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดถิ่นแถนหลวง แสดงหลักฐานชั้นตนในส่วนของการสร้างเมืองแพร่เมื่อปี พ.ศ.1371 และการสร้างวัดหลวงเมื่อปี พ.ศ. 1373 ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานชั้นต้นในส่วนของ จารึก พับสา หรือตำนานพื้นเมือง เนื่องในวงวิชาการและภาคประชาชนเองไม่เคยมีโอกาสได้เข้าถึงหลักฐานเหล่านี้เลย 

ต่อมาในวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 สมาคมรักษ์เมืองเก่าแพร่ ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ในหัวเรื่อง “ชำระประวัติศาสตร์การสร้างเมืองแพร่” พร้อมด้วยเอกสารแนบภาคีเครือข่ายนักวิชาการประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาคประชาสังคม และประชาชนจังหวัดแพร่ โดยผู้รับหนังสือเป็นตัวแทนจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดที่อาสามารับด้วยตนเอง 

ในกรณีนี้ทางสมาคมฯ มีจุดมุ่งหมายก็เพื่อที่ทำให้ฐานข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อนำไปต่อยอดประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การพัฒนาเมืองในด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ หากฐานข้อมูลประวัติศาสตร์การสร้างเมืองแพร่ที่ปราศจากความน่าเชื่อถือในวงวิชาการ ย่อมส่งผลเสียต่อการกำหนดนโยบายอนุรักษ์พัฒนาจังหวัด 

จากกรณีดังกล่าวทำให้ตั้งข้อสังเกตุต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่อื่น ๆ ที่มีการเขียนโดยรัฐนั้น จะมีข้อมูลที่ผลิตซ้ำความผิดพลาดและสร้างความเข้าใจผิดต่อประวัติศาสตร์ดังกรณีนี้ไหม เนื่องจากประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในแนวนี้เขียนขึ้นก็เพื่อที่จะชี้ให้ความสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติ บ้านเกิดเมืองนอนตนเองมีบทบาทต่อการพัฒนาชาติอย่างไร ดังนั้น จึงมุ่งเน้นไปที่บุคคลสำคัญของท้องถิ่นและชาติจนทำให้ละเลยมิติอื่น ๆ ที่มีความสำคัญลดลงไป เช่น การตรวจสอบเอกสารที่จะนำมาอ้างอิงอย่างละเอียดรอบคอบ ที่มิใช่ทำไปเพื่อสอดรับกับอุดมการณ์ชาตินิยม เราควรกลับมารื้อถอนและวิพากษ์ต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เขียนโดยรัฐโดยเฉพาะหนังสือประวัติศาสตร์ไทยส่วนภูมิภาค เพื่อให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้มีอิสระของตนเองเป็นพื้นฐานของการยอมรับความหลากหลายในเรื่องของการศึกษาประวัติศาสตร์ และเป็นแรงผลักดันไปสู่การกระจายอำนาจของท้องถิ่น

เด็กหนุ่มผู้เกิดในชนบทนครสวรรค์ เติบโตในโรงเรียนประจำ และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแถวหนองอ้อ สนใจประวัติศาสตร์ชาวบ้านและชนบทศึกษา ปัจจุบันใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในภูมิภาคที่ไม่รู้ว่าเป็นภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง