คณาจารย์ มช. ค้านตัดงบตำแหน่งวิชาการ ร้องทวนหลักเกณฑ์ใหม่ หวั่นเพิ่มภาระงาน-กระทบค่าตอบแทน

29 สิงหาคม 2567 กลุ่มคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง ขอให้ทบทวนร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การได้รับเงินประจำตำแหน่งสายวิชาการ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีใจความดังนี้

“ตามที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ออกร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การได้รับเงินประจําตําแหน่งสายวิชาการ หรือที่เรียกกันว่า ‘ค่าตอบแทนตำแหน่งวิชาการขาสอง’  โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้คณาจารย์ที่ดำรงตำแหน่งวิชาการต้องยื่นผลงานวิชาการทุกปี ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระงานจากที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ หากไม่สามารถยื่นผลงานวิชาการได้ตามจำนวนและเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนด จะถูกหักค่าตอบแทนทางวิชาการในอัตราต่าง ๆ ต่อเนื่องกัน และอาจถึงขั้นไม่ได้รับค่าตอบแทนตำแหน่งวิชาการขาสองเลย

กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ มีความกังวลต่อร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว และขอเสนอความคิดเห็นดังต่อไปนี้

1. ร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การได้รับเงินประจำตำแหน่งสายวิชาการฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาและแนวทางที่ละเมิดต่อสัญญาที่มหาวิทยาลัยมีต่อพนักงานมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในเรื่องหลักการในการสนับสนุนสิทธิและสวัสดิการในการทำงานของพนักงานมหาวิทยาลัย ให้มีไม่น้อยไปกว่าสิทธิและสวัสดิการที่ข้าราชการที่ทำงานอยู่เดิมในมหาวิทยาลัยได้รับ การกำหนดให้คณาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยจะต้องยื่นผลงานทางวิชาการทุกปี มิเช่นนั้นจะถูกตัดลดค่าตอบแทนผลงานวิชาการในสัดส่วนต่าง ๆ กันลงทุกปี ไม่เพียงเป็นการสร้างหลักเกณฑ์ใหม่ที่เพิ่มภาระงานมากขึ้นให้กับคณาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย หากแต่ยังเป็นหลักเกณฑ์ที่มีบทลงโทษในการตัดลดสวัสดิการของพนักงานมหาวิทยาลัยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและละเมิดต่อสิทธิและสวัสดิการของพนักงานมหาวิทยาลัย

2. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนผลงานวิชาการขาสอง ตามเกณฑ์ในการขอตำแหน่งวิชาการที่กำหนดโดยมหาวิทยาลัยมาโดยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่คณาจารย์ในสายพนักงานมหาวิทยาลัยได้ปฏิบัติตามมาด้วยดีโดยตลอด นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจ้างงานและการต่อสัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย ตามเกณฑ์การยื่นผลงานวิชาการเพื่อขอตำแหน่งวิชาการ โดยมีบทลงโทษในการไม่ต่อสัญญาจ้างเพื่อการควบคุมกำกับการยื่นผลงานวิชาการของคณาจารย์อยู่แล้ว การสร้างหลักเกณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก จึงไม่เพียงเป็นการสร้างภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นให้กับคณาจารย์ แต่ยังเป็นสิ่งที่ซ้ำซ้อนกับหลักเกณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างแรงกดดันและความเครียดในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้นให้กับคณาจารย์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อมหาวิทยาลัยโดยรวม

3. ปัจจุบัน สภาพการจ้างงานในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศอื่น ๆ นั้น มีแนวทางการสร้างแรงจูงใจในการทำงานต่อบุคลากรที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอัตราการขึ้นเงินเดือนในแต่ละปีที่ค่อนข้างต่ำ ทุนสนับสนุนการทำวิจัยที่ไม่เพียงพอ ตลอดจนค่าตอบแทนในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ และระดับชาติที่ต่ำกว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำอื่น ๆ ของประเทศ อีกทั้งคณาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น ก็มิได้รับสวัสดิการบำเหน็จ บำนาญ เทียบเท่าข้าราชการ นโยบายการบังคับให้คณาจารย์ต้องทำงานที่หนักมากขึ้น ด้วยข้อกำหนดที่มีผลย้อนหลังในการตัดและลดค่าตอบแทนตำแหน่งวิชาการขาสองซึ่งเคยได้รับอยู่แล้ว จึงน่าจะทำลายขวัญและกำลังใจของคณาจารย์ในปัจจุบัน ก่อให้เกิดภาวะสมองไหล บุคลากรที่มีอายุการทำงานไม่มาก หมดกำลังใจที่จะทำงานต่อในมหาวิทยาลัย บั่นทอนความกระตือรือร้นที่จะทำงานสร้างสรรค์ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ที่เป็นลบของมหาวิทยาลัยต่อสาธารณชนภายนอก อีกทั้งจะก่อให้เกิดการปิดกั้นโอกาสการเข้ามาใหม่ของนักวิชาการที่มีศักยภาพและความสามารถที่จะมาช่วยสร้างเสริมความเข้มแข็งทางวิชาการให้กับมหาวิทยาลัยในอนาคต

4. กระบวนการออกร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การได้รับเงินประจำตำแหน่งสายวิชาการ ดำเนินไปในลักษณะที่ค่อนข้างเร่งรีบ และปราศจากการมีส่วนร่วมของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยอย่างทั่วถึง คณาจารย์จำนวนมากยังไม่ทราบถึงข้อกำหนดใหม่ดังกล่าว หรือรับทราบด้วยข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะผลกระทบที่จะมีต่อสิทธิและสวัสดิการการทำงานของตน คณะบางคณะ เช่น คณะสังคมศาสตร์ ได้มีบันทึกเสนอความคิดเห็นไปยังฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัย และเสนอให้มีการทบทวนร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว พร้อมทั้งเสนอให้ขยายเวลาในการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปเป็นเวลา 1 ปี โดยเสนอให้มหาวิทยาลัยเปิดให้คณาจารย์ได้มีส่วนในการร่วมพิจารณา และเสนอทางเลือกอื่น ๆ ในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งสภาพนักงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้มีบันทึกข้อเสนอและประเด็นท้วงติง หลายประการไปยังฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัย จวบจนปัจจุบัน ก็ยังมิได้รับการตอบกลับจากทางมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

กลุ่มคณาจารย์ในด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงขอเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทบทวนร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การได้รับเงินประจำตำแหน่งสายวิชาการอย่างละเอียดถี่ถ้วน เนื่องจากมีประเด็นที่ยังเป็นที่ถกเถียงและอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในหลายด้าน ทั้งนี้ ขอเสนอให้ขยายระยะเวลาการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปอีก 1 ปี และจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาโดยมีตัวแทนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกคณะเข้าร่วม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสอย่างแท้จริง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง