ความหมายของอนาธิปไตยในทัศนะของเจมส์ ซี สก็อต: เสวนาเปิดตัวหนังสือ อนาธิปไตย โคตรใช่เลย?

เรียบเรียง: ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ

ชื่อ เจมส์ ซี สก็อต (James C. Scott) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกาถูกพูดถึงมาอย่างยาวนานในแวดวงวิชาการไทย โดยเฉพาะหลังจากนิธิ เอียวศรีวงศ์นำเอาแนวคิดเรื่อง ‘โซเมีย’ (Zomia) มาใช้เพื่ออธิบายว่าคนไทยมาจากไหน โดยความสนใจของสก็อต คือการศึกษาเกี่ยวกับสังคมกสิกรรม การปกครอง รัฐสมัยใหม่ ความเป็นสมัยใหม่ และอนาธิปไตย

(James C. Scott)

แม้สก็อตจะเป็นนักวิชามีชื่อเสียงและถูกพูดมายาวนานในวงวิชาการไทย แต่หนังสือและบทความส่วนใหญ่กลับยังคงอยู่เพียงในโลกภาษาอังกฤษ หนังสือ ‘อนาธิปไตย โคตรใช่เลย?’ จึงเป็นเป็นเล่มแรกของ เจมส์ ซี สก็อต ในโลกภาษาไทย โดยแปลจากหนังสือที่ชื่อว่า Two Cheers for Anarchism ซึ่งเป็นฉบับย่อของหนังสือชื่อกระฉ่อนอย่าง Seeing Like a State ที่สก็อตเขียนขึ้นเพื่อทำความเข้าใจการปกครองของรัฐสมัยใหม่และเหตุใดมันจึงมิอาจประสบความสำเร็จได้

(หนังสือ อนาธิปไตย โคตรใช่เลย? สำนักพิมพ์นิสิตสามย่าน)

เราจึงชวนทุกคนมาหาความหมายของอนาธิปไตยในทัศนะของสก็อต ผ่านงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ อนาธิปไตย โคตรใช่เลย? จัดโดยสำนักพิมพ์นิสิตสามย่าน ร่วมพูดคุยโดย รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อนวัช อรรถจินดา บรรณาธิการแปล และนพรุจ ศรีรัตน์สริกุล ผู้แปล ดำเนินรายการโดย เสฏฐนนท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ณ ร้านประชาธิปไตยกินได้ กรุงเทพฯ

อนาธิปไตยในความหมายของ เจมส์ ซี สก็อต เป็นแบบไหน

กระแสคำวิจารณ์ที่ตีตราว่า เจมส์ ซี สก็อต เป็นอนาคิสต์ตัวพ่อ หัวรุนแรง ไม่เอารัฐ กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ ให้ความคิดเห็นว่าสก็อตไม่ใช่แบบนั้น เขาเป็น “ขวัญใจคนยาก” มากกว่า สก็อตต่อต้านอำนาจบางรูปแบบที่ไม่เห็นน้ำเสียงหรือไม่เห็นหัวประชาชนมากกว่าจะต่อต้านการดำรงอยู่ของรัฐ

ข้อเสนอทางการเมืองของสก็อตทำให้เราคิดทบทวนการทำงานของรัฐหรือนโยบายต่าง ๆ ของรัฐ ที่การทำงานหรือนโยบายอาจเอื้อประโยชน์กับคนบางกลุ่มหรือไม่ อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อทุนหรือเอื้อประโยชน์เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่? ความหมายของอนาธิปไตยจึงมองได้หลายมุม แต่อนาธิปไตยในทัศนะของสก็อต คือการต่อต้านการถูกเอาเปรียบโดยอาศัยกลไกลหรือนโยบายของรัฐ อย่างไรก็ตามเขาก็มิได้เสนอการต่อต้านแบบอนาธิปไตยที่รุนแรง แต่เขาเรียกร้องให้รัฐเห็นหัวหรือฟังเสียงคนตัวเล็กตัวน้อย  

สำหรับ ยุกติ มุกดาวิจิตร ความน่าสนใจเรื่องทัศนะเรื่องอนาคิตส์ของสก็อต คืองานหลายชิ้นของสก็อตเกิดขึ้นในบริบทช่วงหลังสงครามเย็น ซึ่งไม่หลงเหลือการถกเถียงอย่างชัดเจนระหว่างอุดมการณ์แบบเสรีนิยมกับสังคมนิยมอีกต่อไปแล้ว พลังของแนวคิดเสรีนิยมใหม่เริ่มปรากฏในลักษณะแบบขวาใหม่ และแนวคิดเสรีนิยมใหม่ได้ครอบงำสังคมการเมืองเป็นผลให้เกิดอำนาจรัฐรูปแบบใหม่ ข้อเสนอของสก็อตจึงถือเป็นการเสนอข้อถกเถียงใหม่ขึ้นมาแทน

ในแง่ของทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ ข้อเสนอของสอดคล้องกับแนวคิดหลังโครงสร้าง (Post-structuralism) กล่าวคือการสก็อตเสนอตัวตนของผู้คน ที่มีลักษณะของการต่อต้านโครงสร้าง โดยพวกเขาอาจมิได้มุ่งหวังจะทำลายโครงสร้างทางสังคม เพียงแต่พวกเขาต่อต้านการครอบงำต่างหาก

โครงสร้างของหนังสือเล่มนี้คล้ายกับหนังสือเรื่อง The Art of Not Being Governed ที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง พื้นที่สูงกับพื้นที่ราบมีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างแตกต่างกันแต่ไปมาหาสู่กันอยู่ตลอด พื้นที่โซเมีย มิใช่พื้นที่ขนาดใหญ่ แต่มีความสัมพันธ์คนในพื้นที่ราบอยู่ตลอดเวลา พื้นที่โซเมียจึงมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมค่อนข้างสูง

ก่อนการปฏิวัติในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก สก็อตเสนอว่า อนาคิสต์มาก่อนการเกิดการปฏิวัติเหล่านี้อีก สก็อตเห็นว่าทุกสังคมมีการต่อต้านในชีวิตประจำวัน แต่เขาเองไม่มีสูตรสำเร็จว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมเนื่องจากแต่ละสังคมมีลักษณะเฉพาะของตนเอง เขาจึงเสนอว่าการมีรัฐกับไม่มีรัฐมีความสัมพันธ์กันตั้งแต่ยุคโบราณไปจนถึงค.ศ.1950 เนื่องจากในช่วงเวลานี้อำนาจรัฐยังไปไม่ถึงในทุกอณู เขาจึงพัฒนาว่าอนาคิสต์มันมีอยู่ในทุกที่ เนื่องจากการมีรัฐกับการไร้รัฐมันมิได้แยกขาดจากกันแต่มันสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา

เจมส์ ซี สก็อต มองการแหกกฎแบบใด

ในมุมมองของผู้แปลอย่าง นพรุจ ศรีรัตน์สริกุล มองว่า เจมส์ ซี สก็อต มิได้เห็นด้วยกับการแหกกฎที่ไม่สมเหตุสมผล การแหกกฎจะต้องมีเงื่อนไขบางอย่างอยู่เสมอ และการแหกกฎต้องดูบริบทแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่การแหกกฎในทุกเรื่อง การแหกกฎในมุมมองของเขาหมายถึง หากประเทศที่ไปสู่ทางตัน การแหกกฎบางอย่างควรจะทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น นัยยะของการแหกกฎคือควรจะให้สังคมมีความปรารถนามากขึ้น ซึ่งเขาเห็นด้วยกับข้อนี้

กรพินธุ์ ยังชี้ให้เห็นว่าหากพิจารณาบนกรอบของ เจมส์ ซี สก็อต ค่อนข้างมีประโยชน์กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยภาษาทางการเมืองระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นล่างห่างกันอย่างสิ้นเชิง ภาษาไทยเรามีทั้งภาษาราชการ ภาษาพิธีการ และอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งบ่งบอกถึงระดับชั้นทางสังคม ภาษาไทยจึงเป็นเสมือนพื้นที่ที่ชนชั้นล่างจะต่อสู้ ผ่านทั้งการใช้คำศัพท์ล้อเลียนหรือการคิดคำใหม่ ๆ ขึ้นเพื่อลดระดับความห่างชั้นกันระหว่างชนชั้น เราอาจพบเห็นการใช้ภาษาเพื่อต่อสู้ของชนชั้นล่างทั้งบนเวทีหมอรำ ที่เราจะพบเห็นการใช้ภาษาเพื่อล้อเลียนความห่างชั้นระหว่างคนเมืองกับคนชนบท หรือการแสดงหนังตะลุง เราจะได้ยินการนินทาหยอกล้อชนชั้นสูง ภาษาจึงเป็นเสมือนพื้นที่แห่งการต่อสู้ระหว่างชนชั้นต่าง

ยุกติ เสนอเพิ่มเติมอีกว่า หนังสือเล่มนี้สอดคล้องกับแนวคิดด้านวัฒนธรรมศึกษา ซึ่งการศึกษาแนววัฒนธรรม กล่าวคือคือการชี้ให้เห็นถึงวัฒนธรรมของชนชั้นล่าง อาทิ การใส่กางเกงยีนต์ การดื่มเบียร์ ฯลฯ ที่แพร่หลายสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการ่ให้ความหมายถึงการต่อต้านวัฒนธรรมหลัก

ความคิดของสก็อตมีความคล้ายกัน การต่อต้านวัฒนธรรมสำหรับสก็อตแล้วคือการหาทางเลือกใหม่ ๆ ของการเป็นมนุษย์ ที่มิได้อยู่ภายใต้กรอบบางอย่างเพียงเท่านั้น นำไปสู่ความคิดเรื่องอนาคิสต์ เนื่องจากการสร้างกรอบบางอย่างที่มากล้นเกินไป จะทำให้ความเป็นมนุษย์ค่อย ๆ จางหายไป ความคิดเรื่องอนาคิสต์ในความหมายของเขาจึงมีความเป็นมนุษย์นิยมสูงมาก

ข้อดีของอนาคิสต์ในมุมมองของสก็อตคือ การไม่มีโครงสร้างลำดับชั้น ซึ่งการไม่มีโครงสร้างของลำดับชั้นสวนทางกับวิธีคิดของรัฐ รัฐมักคิดว่าทุกองค์กรจะต้องมีคนคอยชักนำ อนาคิสต์จึงเป็นเหมือนพลังทางสังคมที่รัฐมุ่งกดปราบให้ราบคาบ แต่ท้ายที่สุดรัฐกลับมิสามารถกำจัดได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะพลังเหล่านั้นยังคงดำรงอยู่ในทุกสังคมและมิเคยเลื่อนหายไปหากยังมีมนุษย์ดำรงอยู่

เจมส์ ซี สก็อต ให้ความหมายต่อประชาธิปไตยว่าอย่างไร

กรพินธุ์ พาไปสำรวจความหมายของประชาธิปไตยในความคิดของสก็อต สก็อตมิได้ตีความประชาธิปไตยเพียงการเลือกตั้งหรือสถาบันทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ประชาธิปไตยแบบ เจมส์ ซี สก็อต คือการมุ่งไปสู่การปลอดปล่อยความเป็นการเมืองในพื้นอื่น ๆ ที่มิใช่เพียงสถาบันของรัฐหรือสิ่งที่รัฐกำหนดว่าคือการเมือง สก็อตมุ่งปลดปล่อยความเป็นการเมืองในพื้นที่ต่าง ๆ ผ่านการชี้ให้เห็นว่ารัฐรุกคืบเข้าไปในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างไรบ้าง ผ่านการวิพากษ์กฎหมายที่ออกโดยสถาบันของรัฐ ที่ต่างมุ่งเข้าควบคุมผู้คนในทุกมิติ โดยที่ผู้คนในรัฐกลับมาไม่เห็นการรุกคืบเข้ามาควบชีวิตของพวกเขา ด้วยเหตุนี้การจะให้รัฐฟังผู้คนของพวกเขาบ้าง การแหกกฎจึงอาจเป็นคำตอบ กล่าวคือการแหกกฎคือการพูดรูปแบบหนึ่ง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ยุกติ ยังชี้ให้เห็นว่าความคิดเห็นเรื่องอนาคิสต์จะไปต่ออย่างไรบนระบอบประชาธิปไตย โดยต้องย้อนกลับไปแนวคิดเรื่องการเมืองที่ไม่เป็นของสก็อตสถาบัน ซึ่งวิเคราะห์การเมืองที่พ้นไปจากสถาบันของรัฐที่นักรัฐศาสตร์สนใจ สก็อตพยายามชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่หลุดออกไปจากการเมือง โดยตัวของมันเองก็คือการเมืองแต่เป็นการเมืองคนละแบบ อนาคิสต์จึงอาจไปต่อบนระบอบประชาธิปไตยได้ ผ่านการเปิดพื้นที่ทางการเมืองอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปกว่าที่เราเคยเข้าใจ ซึ่งหมายความว่าอนาคิสต์จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเติบเต็มความเป็นประชาธิปไตย

ในหนังสือ The Art of Not Being Governed สก็อตพยายามสืบหาความล้มเหลวของรัฐที่พยายามจะสถาปนาตนเองให้ได้ครอบครองทุกพื้นที่ของสังคมและครอบคลุมทุกมิติของความเป็นมนุษย์ อนาคิสต์เป็นเหมือนพลังทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่คงอยู่มาตลอด เป็นผลให้รัฐไม่สามารถควบคุมสังคมและมนุษย์ได้เบ็ดเสร็จเสีย ความเป็นอนาคิสต์ดำรงอยู่ในหลายพื้นที่และหลากรูปแบบ อาจเป็นในพื้นที่ของภาษา ที่ความรู้บางอย่างมิสามารถอธิบายเป็นภาษาไม่ได้ เป็นสิ่งที่รัฐควบคุมไม่ได้ ถึงที่สุดแล้วอำนาจจักประสบกับอุปสรรคเสมอ ความพยายามของรัฐในการควบคุมผู้คนจึงไม่เคยสำเร็จ อนาคิสต์สำหรับสก็อตจึงเปรียบเสมือนพลังที่ผู้คนใช้ต่อต้านการครอบงำ สอดคล้องไปกับความคิดของ มิเชล ฟูโกต์ นักสังคมศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่กล่าวไว้ว่า

“ที่ใดมีอำนาจ ที่นั้นย่อมมีการต่อต้าน”

เด็กหนุ่มผู้เกิดในชนบทนครสวรรค์ เติบโตในโรงเรียนประจำ และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแถวหนองอ้อ สนใจประวัติศาสตร์ชาวบ้านและชนบทศึกษา ปัจจุบันใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในภูมิภาคที่ไม่รู้ว่าเป็นภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง