Lanner joy คุยกับศิลปะ เดชากุล ถึง ‘Crackers Books’ สำนักพิมพ์กรุบกรอบในพิษณุโลก ที่จะขอทำให้วิชาการไม่ต้องปีนบันไดอ่าน

เรื่องและภาพ : ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ

Crackers Books เป็นสำนักพิมพ์เปิดใหม่และใกล้หนึ่งขวบปี เน้นการนำเสนอประเด็นสังคมการเมือง ปรัชญาการเมืองเบื้องต้นลามไปจนถึงแนวคิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ และที่มากไปกว่านั้นคือนำเสนอความรู้ความคิดหลากหลายรูปแบบทั้งพอดแคสต์ หรือบทความที่เปิดพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาเข้ามานำเสนอนานาทัศนะ ที่สำคัญเลยคือสำนักพิมพ์อิสระแห่งนี้ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก! เลยเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าทำไมถึงมีความกล้าหาญในการก่อร่างสร้างมันขึ้นมา และทำไมต้องเป็นสำนักพิมพ์? ในยุคสมัยที่หลายคนบอกว่าหนังสือกำลังจะตาย? กับอีกมุมที่บอกว่าหนังสือและวัฒนธรรมการอ่านกำลังจะกลับมา?

เราเลยนัด ศิลปะ เดชากุล ผู้จัดการของสำนักพิมพ์ Crackers Books ในบ่ายของวันที่ร้อนระอุ เพื่อมาทำความรู้จักสำนักพิมพ์แห่งนี้ให้มากขึ้น ทั้งประสบการณ์ ความคิด  เป้าหมาย การทำหนังสือและอื่น ๆ ให้พอได้รู้จักกัน

เรารู้จักศิลปะครั้งแรกในฐานะที่เป็นนักเรียนรัฐศาสตร์ที่สนใจปรัชญาการเมือง มีอะไรเป็นจุดเปลี่ยนอะไรในชีวิตที่ทำให้สนใจเรื่องพวกนี้

มันเริ่มต้นตั้งแต่สมัยมัธยมปลายที่เป็นเรื่องปกติที่ต้องเลือกเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ในขณะนั่นเรารู้เรื่องเกี่ยวกับรัฐศาสตร์น้อยมาก แต่สนใจประเด็นทางสังคมการเมืองเป็นระยะอยู่แล้ว เลยสนใจและเลือกที่จะเข้ามาเรียนทางนี้ดีกว่า พอเข้ามาเรียนมันก็ต้องเรียนวิชาปรัชญาการเมือง อาจารย์ในรายวิชาแนะนำให้เรามาอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง หลายคนรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้มันอาจจะยากไปไหม แต่สำหรับเรารู้สึกว่ามันท้าทายดีคือ ความคิดทางการเมืองจากเพลโตถึงปัจจุบัน เอ็ม. เจ.ฮาร์มอน เขียน แปลโดย เสน่ห์ จามริก มันพูดถึงภาพรวมของนักคิดต่าง ๆ ทั้งเพลโต อริสโตเติล แนวคิดทางการปกครอง ปรัชญาในยุคกลาง มาจนถึงยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ปรัชญาสมัยใหม่และจนถึงปัจจุบัน

แต่เหตุที่ทำให้สนใจปรัชญาการเมืองมันไม่ใช่แค่เรื่องหนังสืออย่างเดียวนะ มันมีหลายองค์ประกอบ เช่น ผู้สอน เนื้อหาวิชา เราคิดว่าหลาย ๆ อย่างที่พูดมามันมาประจบกันในตัวเรา ก็เลยสนใจ ถามว่าเชี่ยวชาญไหม เราคิดว่าเราเป็นเพียงคน ๆหนึ่งที่สนใจจะศึกษามากกว่า เพราะเราตามเรียนเกี่ยวข้องกับวิชาปรัชญาเกือบทั้งหมดในตอนนั้น

อีกเล่มที่เรารู้สึกว่ามันสร้างแรงบันดาลใจ และทำให้เราหันมาสนใจประเด็นเกี่ยวกับความคิดทางการเมือง รวมไปถึงแนวคิดทางปรัชญาเลย คือ บทสำรวจความคิดทางการเมืองของอันโตนีโอ กรัมชี เขียนโดยวัชรพล พุทธรักษา ถ้าจำไม่ผิดน่าจะพิมพ์ครั้งแรกตอน 2557 เรามาเรียนช่วง 2560 ช่วงเวลาที่เราได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เราเห็นเสน่ห์ที่ผู้เขียนรังสรรค์มันออกมา และความน่าสนใจทางวิชาการที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ แถมช่วงนั้นอาจารย์วัชรพลแกได้มาบรรยายที่มหาวิทยาลัย เราเลยรู้สึกชอบมาก หากจะบรรยายลักษณะสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ อาจารย์วัชรพลพยายามจะปูพรมแดนความคิดทางการเมืองของกรัมชี่ให้เราเห็น

ทั้งสองเล่มที่เราพูดถึงไปมีส่วนสำคัญมาก ๆ มันทำให้เราหันมาสนใจปรัชญาการเมือง และทำให้เราเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยนเรศวรด้วย แต่ไม่ใช่ว่าเราอ่านแค่สองเล่มนี้นะ คนอื่น ๆ เราก็อ่าน (ฮา) ถ้าเปรียบเป็นคำนิยามเรารู้สึกว่าการอ่านหนังสือที่เราสนใจและชื่นชอบ มันเหมือนอ่านแล้วเรากำลังเดินทาง มันเหมือนเราขับรถแล้วไปเจอตรอกซอกซอยใหม่ ๆ ไปเจอถนนหนทาง เจอวิวที่เราไม่เคยเห็น รถคันนั้นมันไม่ได้เป็นรถโฟวิลหรือเป็นจักรยาน แต่มันมีองค์ประกอบภายในรถทุกอย่างแล้วพาเราผ่านเส้นทางนี้ไปพร้อมกัน

แล้ว Crackers Books มันเกิดมาได้ยังไง

เอาจริงก็อาจารย์วัชรพลนี่แหละเป็นคนคิดและสร้างมันขึ้นมา ด้วยความที่เราเป็นลูกศิษย์ของแก และก็เห็นว่าทำสำนักพิมพ์มันมีความท้าทายพอสมควรนะ น่าลอง เราเลยรู้สึกสนใจมาทำตรงนี้และอาจารย์แกเลยให้โอกาศเราเข้าไปเรียนรู้การทำงาน

ที่มาของชื่อ “แครกเกอร์” (Crackers) เมื่อครั้งที่ก่อตั้งมีสองความหมายความหมายแรกสื่อถึงขนมกรุบกรอบ ที่รับประทานง่ายและเหมาะกับการทานในบรรยากาศผ่อนคลาย เช่น ระหว่างพักดื่มกาแฟ แต่ยังคงความอร่อยและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ในอีกความหมายหนึ่ง “แครกเกอร์” หมายถึงการเปิดเผยความรู้หรือแง่มุมใหม่ๆ โดยช่วยกะเทาะเปลือกของความไม่รู้ ทำให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อนจนเกินไป และนำเสนอข้อมูลที่หลากหลาย

การก่อตั้งสำนักพิมพ์นอกจากอาจารย์วัชรพลเป็นคนคิดและวางโครงสร้างทั้งหมดแล้วก็มีหลายคนที่ร่วมกันก่อตั้ง เช่น ดร.วีรชน เกษสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ดร.สันทราย วงษ์สุวรรณ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, ดร.ศิริโสภา สันติทฤษฎีกร อาจารย์วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อาจารย์ทั้งหมดที่กล่าวถึงและไม่ได้กล่าวถึงก็ร่วมกันก่อตั้งมา

เรามอง Crackers Books เป็นสองมุมมอง คืออย่างแรกเป็นสถานที่ที่สร้างองค์ความรู้ อย่างที่สองทำให้เกิดข้อถกเถียงในเชิงวิชาการ เราคิดว่ามันมีคุณูปการต่อสังคมทางใดทางหนึ่ง รู้สึกว่าการสร้างองค์ความรู้มีหลายแบบ มันนอกเหนือจากห้องเรียน นอกเหนือจากการนำเสนอหนังสือ มันเลยเกิดรายการพอตแคสต์ ซึ่งมีสองรายการ รายการแรกเป็น Crackers Basics เป็นการนำเสนอแนวคิดที่เบสิกมาก ๆ ในสังคมไทย ฉบับที่เราฟังและเราเข้าใจง่าย ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีการเมือง สองรายการ คน/Crack/ความรู้ รายการนี้คือการเปิดพื้นที่ให้คนที่มีองค์ความรู้ทั้งในทางวิชาการ หรือความรู้ด้านสิ่งที่ตนเองทำ เราไม่ได้ปิดกั้น แค่อยากมีพื้นที่ให้คนได้มาเล่าความรู้ให้กับผู้ฟังในสังคมฟัง

แพลตฟอร์มอีกรูปแบบหนึ่งคือ Crackers Blogs เป็นพื้นที่ที่ให้คนมาเขียนบล็อก ทั้งนิสิตนักศึกษา อาจารย์ มาเขียนในสิ่งที่ตนเองสนใจทั้งด้านการเมือง นโยบายสาธารณะ วัฒนธรรมร่วมสมัย ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบของความเป็น “บ้าน” บ้านในทัศนะของพวกเราคือการสร้างองค์ความรู้ มันเลยเกิดสิ่งพวกนี้รวมทั้งการแนะนำในการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา เป็นแนวคิดของอาจารย์วัชรพลที่อยากให้เห็นภาพของสังคมศาสตร์ว่าเขาเรียนและใช้ชีวิตกันยังไง ทั้งหมดนี้สำนักพิมพ์จึงมีหน้าตาที่หลากหลาย

คิดว่าการทำสำนักพิมพ์มันมีคุณค่ากับสังคมยังไง และคุณค่ากับตัวเองแบบไหน และอยากเห็นสังคมไปในทิศทางใด

อย่างน้อยที่สุดคือการสร้างความเข้าใจต่อความรู้ในบางประเด็น สำหรับเราเองมันสร้างคุณค่าต่อเรามากๆ เพราะว่ามันได้เพิ่มพูนทักษะของตนเอง ทั้งวิธีการทำงาน การพบปะผู้คน และความรู้เชิงวิชาการ รวมไปถึงเรื่องอื่นๆที่เราไม่ได้กล่าวถึง เราได้ประโยชน์จากพื้นที่ตรงนี้มากๆ เรามีภาพฝันอยากเห็นสังคมรักการอ่านมากขึ้น เราคิดว่าสำนักพิมพ์ไม่ได้ทำเพียงประเด็นความรู้เชิงวิชาการอย่างเดียว แต่เราคิดว่าสำนักพิมพ์พยายามสร้างความรู้ที่มันสอดแทรกความคิดไปด้วย

อีกเรื่องที่อยากถามคือ ศิลปะเคยเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองสมัยเป็นนักศึกษา แล้วกับการมาทำงานตรงนี้มันแตกต่างกันไหม

ด้วยกระบวนการเราคิดว่ามันไม่เหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราคิดว่ามันอาจจะคล้าย ๆ กันก็คือการสร้างองค์ความรู้ให้สังคม ในโลกของการทำสำนักพิมพ์มันเป็นพื้นที่การสร้างองค์ความรู้อยู่แล้ว ส่วนโลกแบบนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมันก็เป็นการสร้างองค์ความรู้อีกแบบหนึ่งเหมือนกัน แต่เราคิดว่าเราไม่ใช่นักเคลื่อนไหวนะ เราเป็นเพียงแค่คนตัวเล็ก ๆ ที่สนใจประเด็นทางการเมืองมากกว่า แต่ในโลกทั้งสองมันเป็นการสร้างองค์ความรู้ผ่านวิธีการและกระบวนการไม่เหมือนกัน ทั้งสองอย่างนี้มันเพิ่มมุมมองให้กับสังคมเพิ่มขึ้นและสร้างการมองโลกทั่งคู่ ถ้าสำหรับเรานะเปรียบเป็นคำนิยามก็คงเหมือนคนใส่หมวกคนละใบแต่มองเหมือนกัน

เขาว่ากันว่างานหนังสือเป็นงานที่โดดเดี่ยวจริงไหม

เราคิดว่างานหนังสือมันไม่ได้โดดเดี่ยวขนาดนั้น เราใช้แพสชันนำ ผลตอบรับที่ตั้งไว้มันก็จะตามมาไม่ได้ให้ความสนใจว่ามันจะโดดเดี่ยว เช่น เราพยายามนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลาย เราคิดว่าผู้คนก็จะหันมาสนใจไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งที่สำนักพิมพ์ได้นำเสนอไป ถ้ามีผู้คนจำนวนหนึ่งมาสนใจเราก็เพียงพอแล้ว

ถ้าผลตอบรับมันไม่เป็นไปตามเป้าที่วางเอาไว้มันทำลายแพสชันเราหรือเปล่า?

เราคิดว่ามนุษย์โดยส่วนใหญ่ถ้าจะทำอะไรมักจะมีกระบวนการอยู่พอสมควร ยิ่งในภาพขององค์กรที่มีมนุษย์มาอยู่ร่วมกันหลาย ๆ คน ยิ่งต้องมีแบบแผนที่เป็นรูปธรรม สำนักพิมพ์ของพวกเราก็เช่นกัน พวกเราต้องประเมินสถานการณ์กันก่อน อย่างไรก็ตามเราก็ยังให้แพสชันเป็นตัวนำ เอามันเป็นช้างเท้าหน้า ส่วนอะไรต่าง ๆ  ที่ตามมามันเป็นช้างเท้าหลัง อย่างที่บอกไปถ้ามันไม่เป็นไปตามเป้า พวกเราก็ยังมีแบบแผนไว้อยู่เสมอ ด้วยสิ่งนี้เราจึงรู้สึกว่ามันไม่ได้ทำลายแพสชันของเรา และเราก็จะลุยกับมันไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นบางคนก็อาจจะไม่ได้คิดแบบเรา เช่น คนทำธุรกิจบางทีมันมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ไม่จำเป็นต้องใช้แพสชันนำ ส่วนของเราผลลัพธ์มันจะออกมายังไงมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และไม่ได้ทำให้แพสชันมันลดลงไป

ยุ่งยากไหมสำหรับการทำสำนักพิมพ์ เช่น ติดต่อประสานงานของเลขเล่มหนังสือ ติดต่อร้าน ติดต่อปกออกแบบกราฟิก ติดต่อร้านขายหนังสือ การวางขายหนังสือ รวมถึงการขายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของสำนักพิมพ์

มันไม่ยุ่งยากเลย เราคิดว่าการทำองค์กร มันมีการวางระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน มีกระบวนการทำการมันถูกกรองมาตั้งแต่แรก ทุกกระบวนการมันอยู่ในห้องประชุม มันเลยไม่ยุ่งยาก หากเจออุบัติเหตุบางอย่างมันก็จะมีการประเมินวางแผนหนึ่งแผนสองอยู่โดยตลอด ทำให้การทำงานมันมีแบบแผนชัดเจน อาจารย์วัชรพลเป็นคนที่วางแผนมาดีอยู่แล้ว แบบแผนมันจึงชัดเจนในการทำงาน การทำงานจึงไม่ยุ่งยาก ต้นน้ำดีปลายน้ำจึงตามมาดี

สำนักพิมพ์ที่ “พิดโลก” มันมีข้อจำกัดแบบไหน หรือสำนักพิมพ์มันไม่จำเป็นต้องกระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ

เราไม่รู้ว่ามุมมองของคนอื่นที่ทำสำนักพิมพ์เขาคิดยังไง แต่มุมของเราคือ ณ เวลานี้มันไม่ได้เชื่อมอยู่ที่ถนนอย่างเดียวแล้ว มันถูกเชื่อมด้วยอินเทอร์เน็ตและหลาย ๆ อย่าง ถ้าถามเราสำนักพิมพ์มันไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ที่เป็นศูนย์กระจุกที่ใดที่หนึ่ง ขอแค่เรามีระบบแบบแผนที่มันชัด เราอยู่ที่ไหนก็ได้

แล้วเห็นข้อดีในการทำสำนักพิมพ์ที่พิษณุโลกในเชิงกิจกรรมทางปัญญาเป็นแบบไหน และมันยังขาดอะไรบ้างในการทำงาน

เราไม่กล้าที่จะพูดจริง ๆ ว่าเราสร้างกิจกรรมทางปัญญายังไง ประเด็นนี้เราคิดว่าต้องให้คนภายนอกเล่าดีกว่า สำหรับเรา Crackers Books เป็นสถานที่ของการสร้างองค์ความรู้ เป็นสถาบันที่จะทำให้คนได้ความรู้ แม้ในพื้นที่ที่เราอยู่เราตั้งอยู่ในพิษณุโลกก็จริง แต่อย่างที่เราบอกพอโลกมันไปไกลมาก การผสานอะไรต่าง ๆ ที่เชื่อมโดยอินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็สร้างกิจกรรมทางปัญญาได้

ถามอีกเรื่องหากในต่างจังหวัดมีสำนักพิมพ์แบบเราแล้ว ร้านหนังสือในต่างจังหวัดมันจำเป็นด้วยไหม ที่จะช่วยให้คนในต่างจังหวัดมีทางเลือก หรือกระจายอำนาจทางปัญญาและบทสนาทนาใหม่ ๆ

ธุรกิจร้านหนังสือมันเป็นอีกแบบหนึ่งไปเลย เราไม่แน่ใจว่ามันมีข้อจำกัดขนาดไหน แต่สำหรับเราการทำงานแบบสำนักพิมพ์ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม เราคิดว่ามันควรจะมีพื้นที่ที่ทำให้คนเอาเนื้อหาในหนังสือมาพูดคุยกันมากกว่า ถ้าจังหวัด ๆ หนึ่ง มีสำนักพิมพ์และร้านหนังสือมันมีควบคู่กันไปเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว เราก็อยากเห็นภาพแบบนั้น แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างเราเลยรู้สึกว่า แค่มีพื้นที่ให้ลองพูดคุยสื่อสารกัน มันน่าจะมีการกระจายข้อแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น

เราไม่ได้มองว่าพื้นที่จังหวัดนั้นมีสำนักพิมพ์แล้วมันจะทำให้คนหันมาสนใจ เราไม่มีตัวชี้วัดด้านนี้ การเปิดพื้นที่ให้คนคุยกัน สำนักพิมพ์เราตั้งอยู่ในพิษณุโลกก็จริงแต่มันมีการสั่งซื้อและกระจายไปยังที่อื่น เราเลยสนใจตรงที่ว่ามันมีพื้นที่ให้คุยกัน สำหรับเรามันไม่ได้เป็นประโยชน์แค่สำนักพิมพ์เรา มันเป็นประโยชน์กับสำนักพิมพ์ที่อื่น ๆ และผู้คนในท้องที่อื่น ๆ ด้วย

เนื้อหาที่สำนักพิมพ์ทำ มันพูดประเด็นที่เรื่องซีเรียสมาก ๆ ทั้งแนวคิดทฤษฎีแบบซ้าย ๆ เรื่องการเมืองแบบหนัก ๆ เรามองยังไงหากคนจะเบื้อนหน้าหนี

ไม่ได้ซีเรียสเลยถ้าคนจะเบือนหน้าหนี เราคิดว่าเราต้องทำงานหนักด้วยซ้ำว่าจะทำอย่างไรให้คนสนใจมากกว่า         เราต้องการสร้างพื้นที่องค์ความรู้ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่หนังสือทุกเล่มมันมีเนื้อหาเหมือนกัน หนังสือทุกเล่มเราก็จะนำผ่านกองบรรณาธิการ เราจัดหมวดหมู่เป็นล็อก ๆ หรือให้เรียกอีกแบบหนึ่งก็คือแบ่งเป็นซีรีย์ไว้ เราคิดว่าความพยายามเหล่านี้น่าจะเป็นที่สนใจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

แล้วเราก็ไม่ได้นำเสนอในรูปแบบของหนังสืออย่างเดียว การนำเสนอมีรูปแบบทั้ง Crackers Blogs Crackers Basic มันจะมีอยู่ส่วนหนึ่งที่เรียกว่า เปเปอร์ครั้น (Paper Crunch) มันคือการนำเอาบทความทางวิชาการหนักๆหน้าที่ของพวกเราคือเอามาครั้น เอามาขมวดให้ง่ายขึ้น พอที่จะเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายจนไม่ต้องไปอ่านบทความทางวิชาการที่มันหนัก ๆ สำหรับบางคนจริตไม่เหมือนกัน บางคนก็ชอบที่จะอ่านงานที่มันหนักบางคนที่ชอบจะอ่านที่มันเบา มันก็เลยเกิดคอนเทนต์เปเปอร์ครั้นขึ้นมา ดังนั้นเราจึงไม่ซีเรียสที่ว่าคนจะเบือนหน้าหนี เรามองในเชิงเรื่องการสร้างพื้นที่ทางความรู้ เรามองแบบนี้ตลอด มันจะควบเส้นไปกับแพสชันของเรา ทำให้เราไม่วิตกกังวลกับเรื่องพวกนี้เลย กระบวนการมันเดินไปเรื่อย ๆ หน้าที่ของเราคือการนำเสนอประเด็นใหม่ ๆ ให้มากขึ้น

มีวิธีการเลือกคอนเทนต์มานำเสนอยังไง

วิธีการเลือกคอนเทนต์มานำเสนอ บางทีอาจมีล้อไปกับสังคมบ้างนิดหน่อยในตอนนี้ก็มีเรื่องน้ำท่วม เราก็นำเสนอเปเปอร์เกี่ยวกับน้ำท่วมออกไป เราคิดว่าเราทำสำนักพิมพ์แต่เราไม่ได้ทำงานในฐานะสื่อ ซึ่งไม่ได้ล้อไปกับสถานการณ์ทางสังคมมากขนาดนั้น พอเป็นแบบนั้นมันจะกลายเป็นการโฟกัสผิดจุด หากทำแบบนั้นมันจะทำให้เราลืมตัวตนและสถานะของตัวเราไปจริง ๆ

มันทำให้ผมนึกถึงพวกสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ หรือวารสารต่าง ๆ เช่น วารสารฟ้าเดียวกัน วารสารอ่าน เมื่อก่อน เราอยากเป็นแบบนั้นหรือป่าว

เราชื่นชอบทุกวารสารที่พูดถึงมาทั้งหมดเลยนะ อย่างที่ว่าเราชื่นชอบการเปิดพื้นที่ให้คนสนทนากัน แต่ถ้าย้อนมามองสำนักพิมพ์ของเรา ในมุมมองเรามันคือการสร้างองค์ความรู้และข้อถกเถียงมากกว่า ถ้าไปดูใน Crackers Blogs ก็จะเห็นว่ามีนิสิตนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย เราเปิดพื้นที่ตรงนี้ให้มาแสดงมุมมอง ซึ่งบางบทความก็ไม่ได้เป็นความทางวิชาการที่หนัก ๆ อย่างบทความที่นักศึกษาไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศ เราก็จะเห็นว่ามันเป็นการถอดประสบการณ์ เรารู้สึกว่ามันเปิดพื้นที่แบบนั้น พื้นที่ที่เราทำอยู่มันทำให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ มากขึ้น เรื่องนี้สำคัญนะ เพราะทุกคนมีองค์ความรู้ในสิ่งที่ตนเองเชี่ยวชาญ และสนใจ การได้มีพื้นที่มาแลกเปลี่ยนกัน อย่างน้อยๆเราก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับสังคมไม่มากก็น้อย

มองสำนักพิมพ์ในการอยู่รอดในปัจจุบันยังไง เนื่องจากความไม่แน่นอนของการทำหนังสือมีสูงมาก

ทุกการทำธุรกิจย่อมต้องนึกถึงผลกำไร ถ้าเรามองเรื่องนี้เป็นการแบ่งระยะของการทำงาน ในบางองค์กรก็อยากได้ในระยะแรก บางองค์กรอยากได้ในระยะสอง สำนักพิมพ์ก็เหมือนกัน เราก็มองว่าอยากได้กำไร แต่มันขึ้นอยู่กับระยะของการทำงานที่วางไว้มากกว่ามากกว่า ตอนนี้ที่เราคุยกันอยู่สำนักพิมพ์มันกำลังจะหนึ่งขวบปี ตอนนี้มันคือการก่อร่างสร้างตัว ถ้าเปรียบเทียบกับการสร้างบ้านก็คือเราก็อยากจะให้สำนักพิมพ์สมบูรณ์ที่สุด เราใช้แพสชันเป็นตัวนำแล้วเราค่อย ๆ ทำทีละระยะไปป ถ้ามองในเชิงธุรกิจมันของเรามันเป็นเพียงแค่ SME นะ พอเป็นอย่างนี้มันต้องค่อย ๆ ดำเนินการไปเรื่อย ๆ ในเวลาเป็นตัวตอบดีกว่า แล้วก็คิดว่าดำเนินการไปทีละขั้นแล้วมันจะอยู่รอดได้โดยไม่ต้องกดดันตัวเองจนเกินไป

เริ่มชอบในสิ่งที่ทำหรือยัง หรือมีเรื่องดี ๆ ที่อยากเล่าให้ฟังไหม เฟลๆ ก็ได้ เพราะเท่าที่คุยกันทั้งหมดดูมีแพสชั่นมาก ๆ

โอเคตั้งแต่แรกเลยและคิดว่าคนอื่นที่มาทำสำนักพิมพ์เขาก็โอเคเหมือนกัน เพราะมันใช้อารมณ์ความรู้สึกนำ มันจะไม่รู้สึกว่าเฟลเลยสักอย่าง

งั้นลองแนะนำหนังสือของสำนักพิมพ์ให้หน่อย มีเล่มไหนน่าสนใจบ้าง

ถ้าอยากให้เราแนะนำหนังสือของสำนักพิมพ์ตอนนี้เราคงขอแนะนำหนังสือวิชาการสามเล่มแรกของสำนักพิมพ์เรา โดยเล่มแรกเป็นหนังสือชื่อว่า CRACK/MARXISM/101 หรือในอีกชื่อหนึ่ง Crack/ลัทธิมาร์กซ์/101 เขียนโดยวัชรพล พุทธรักษา หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือวิชาการเล่มแรกของสำนักพิมพ์ที่จัดอยู่ในหมวดหมู่ (The Basic Series) หนังสือเล่มดังกล่าวเป็นคู่มือเบื้องต้นสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาลัทธิมาร์กซิสต์ และแนวทางการวิพากษ์สังคมทุนนิยมในมุมมองของคาร์ล มาร์กซ์ หนังสือเล่มนี้เน้นการทำความเข้าใจแนวคิดที่ซับซ้อนของมาร์กซ์ อาทิ สภาวะแปลกแยก (Alienation) ประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยม ชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้น ศาสนา อุดมการณ์ รวมถึงการวิพากษ์เศรษฐกิจการเมือง โดยถ่ายทอดในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับทั้งนักศึกษาและผู้อ่านทั่วไปที่เริ่มต้นศึกษาแนวคิดของมาร์กซ์ นอกเหนือจากนี้หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เพียงแต่แนะนำแนวคิดมาร์กซิสต์เท่านั้น แต่ยังตั้งคำถามและชวนให้ผู้อ่านพิจารณาโครงสร้างสังคมทุนนิยมที่เราดำรงอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการวิพากษ์เพื่อปลดแอกความคิดที่ครอบงำ และพัฒนาแนวทางสู่สังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น

สำหรับเล่มที่สองเราอยากแนะนำหนังสือที่มีชื่อว่า เมื่อ “สหรัฐอเมริกา” ส่งออก “ประชาธิปไตย”: การเผยแพร่ประชาธิปไตย NED และไทย เขียนโดย ชุติเดช เมธีชุติกุล หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือวิชาการเล่มที่สองของสำนักพิมพ์ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ (Crackers Briefs) หนังสือเล่มดังกล่าวเป็นหนังสือที่เจาะลึกถึงบทบาทของสหรัฐอเมริกาในการส่งเสริมประชาธิปไตยไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยในช่วงปี 2001-2008 ผ่านองค์การ NED (National Endowment for Democracy) ซึ่งเป็นตัวแทนรูปธรรมของนโยบายการเผยแพร่ประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ขณะเดียวกันหนังสือเล่มนี้เริ่มต้นจากการอธิบายบริบททางการเมืองระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อน ทั้งช่วงสงครามเย็นและเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการสนับสนุนพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ไทย  ผ่านการสนับสนุนทางการทหาร และการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นต้น การศึกษาในหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงผลกระทบต่อการเมืองภายในของไทยเมื่อถูกกดดันจากทั้งสหรัฐฯ และความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเน้นบทบาทของ NED ในการสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศ

ในส่วนสุดท้ายหนังสือเล่มที่สาม เป็นหนังสือวิชาการเล่มล่าสุดของสำนักพิมพ์ Crackers Books ชื่อว่า จากพระคุณที่สามถึง ค.ศ.3 พลวัตรวิชาชีพครู ว่าด้วยอำนาจ และสถานภาพทางสังคมไทย เขียนโดย         ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ หนังสือเล่มล่าสุดเล่มนี้จัดอยู่ในหมวดหมู่ (Critical Sciences Series) นำเสนอการเปลี่ยนแปลงของวิชาชีพครูในประเทศไทยผ่านบริบทของการเมือง สังคม และเศรษฐกิจในแต่ละยุคสมัย โดยเริ่มจากการผลิตครูในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้พาผู้อ่านไปสำรวจถึงบทบาทและอำนาจของครูในสังคมไทย รวมถึงความซับซ้อนทางสังคมและการต่อรองสิทธิประโยชน์ที่ครูไทยต้องเผชิญ ทั้งด้านสภาพการจ้างงาน ภาระหนี้สิน และการรวมตัวของครู เพื่อสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อวิชาชีพครูในแง่มุมที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก

นอกเหนือจากหนังสือวิชาการทั้งสามเล่มที่เราได้แนะนำไปเราอยากเชิญชวนให้ทุกคนติดตามหนังสือเด็กในหมวดหมู่ (Crackers Books/Kids) หนังสือภาพสำหรับเด็กแบบ 2 ภาษา มุ่งเปิดจินตนาการผ่านหนังสือภาพ เหมาะสำหรับเด็กวัย 0-7 ปี ซึ่งปัจจุบันทางสำนักพิมพ์ได้ปล่อยหนังสือออกมาเป็นจำนวนทั้งหมดสองเล่ม คือ การผจญภัยของมะลิเจ้าเหมียวส้ม (The Adventures of Mali, the Ginger Cat) และ บิตคอยน์สำหรับเด็ก (Bitcoin For Kids) เป็นหมวดหมู่หนังสือเด็กที่เราขายในทาง E-Book เป็นหลัก อาทิ Bookcaze, Meb, Pinto เป็นต้น

สุดท้ายนี้เราอยากเชิญชวนให้เหล่า Crackers Fellows คอยติดตามหนังสือทุกเล่มที่ปัจจุบันสำนักพิมพ์ได้วางขายไปแล้ว รวมไปถึงหนังสือที่กำลังจะออกมาในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้นทุกคอนเทนต์ที่เราพยายามนำเสนอออกไป เพราะพวกเราเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า “หนังสือ” เป็นมากกว่าหน้ากระดาษ แต่มันคือ “หน้าต่าง” สู่โลกใบ​ใหม่ ความคิด และความเป็นไปได้ใหม่ ๆ

เด็กหนุ่มผู้เกิดในชนบทนครสวรรค์ เติบโตในโรงเรียนประจำ และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแถวหนองอ้อ สนใจประวัติศาสตร์ชาวบ้านและชนบทศึกษา ปัจจุบันใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในภูมิภาคที่ไม่รู้ว่าเป็นภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง