เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนและแนวทางการต่อสู้เขื่อนแก่งเสื้อเต้น

29 ตุลาคม 2565

หาญณรงค์ เยาวเลิศ – ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการแห่งประเทศไทย เริ่มการเสวนาด้วยการบอกเล่าถึงช่วงเวลาร่วม 30 ปีแล้วที่ชาวบ้านแก่งเสือเต้น ต่อสู้และส่งต่อเจตนารมณ์ปกป้องผืนป่าสักทองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และความหลากหลายด้านสิ่งแวดล้อมในผืนป่าแห่งลุ่มแม่น้ำยม ซึ่งเป็นเขื่อนแห่งเดียวในปัจจุบันที่ปราศจากเขื่อน ซึ่งทุกคนต่างได้รับบทเรียน และผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน ชาวบ้านหลายคนต้องอพยพออกจากบ้านเกิดตัวเอง ระหกระเหินไปพื้นที่ที่รัฐจัดสรรไว้ให้ ราวกับว่า เหมือนทุกอย่างจะจัดแจง จัดสรรด้วยดี แต่หมู่บ้านหลายหมู่บ้าน ต้องอยู่ในอาศัยในพื้นที่ ที่สภาพไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก บางกรณีเลวร้ายถึงขั้นที่ว่า ไม่มีไฟฟ้า สาธารณูปโภคใช้กว่า 20 ปี เพียงเพราะเหตุผลที่ว่า หน่วยงานรัฐลืม จัดสรรให้

หาญณรงค์ เล่าต่อการต่อสู้ช่วงหนึ่งของพี่น้องชาวบ้านแก่งเสือเต้น ที่ยื่นคำขาด ไม่ยินยอมให้บริษัทภายนอกเข้ามาในพื้นที่อีก หลังจากมีการว่าจ้างบริษัทจากประเทศอังกฤษ เพื่อศึกษาผลกระทบทางสังคม

หาญณรงค์ เล่าต่อถึงช่วงเวลาที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2537 โดยชาวบ้านจัดสินใจที่จะไม่ออกไปทำการชุมนุม แต่ตนถูกเชิญชวนให้ไปร่วมแถลงข่าวโดยสื่อ เนื่องจากที่ ณ ตอนนั้นมีเพียงแค่ความคิดเห็นจากนักการเมืองที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนเท่านั้น โดยตนตัดสินใจใช้การแถลงข่าวเป็นวิธีการต่อสู้หลักกับกลุ่มนักการเมือง

ต่อมา หาญณรงค์ บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของตนในพื้นที่บ้านแก่งเสือเต้น ที่มารวบรวมข้อมูล พูดคุยกับชาวบ้านถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อน โดยชาวบ้านจากทุกหมู่บ้านต่างรู้เห็นว่าตนมาเพราะว่าไม่ต้องการให้เขื่อนถูกสร้างและสูญเสียพื้นที่ป่าไป แต่ในขณะเดียวกัน หาญณรงค์ เล่าต่อในมุมมองของชาวบ้านที่เกิดคำถามว่า “เขื่อนคืออะไร ?” ตนจึงได้พาชาวบ้านไปที่เขื่อนศิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนในภาคเหนืออีกหลายแห่งเพื่อศึกษาผลกระทบของเขื่อน นำไปสู่การตั้งกลุ่ม “ลูกแม่ยม” และเปลี่ยนเป็นกลุ่ม “ตะกอนยม” ในภายหลัง

หาญณรงค์ บอกเล่าถึงอีกปัจจัยสำคัญในการต่อสู้เรื่องเขื่อนอย่าง “เพื่อน” ที่ หาญณรงค์ เล่าต่อถึงการมีเพื่อนเป็นนักข่าว ที่สามารถติดต่อแกนนำได้โดยตรง ช่วยให้การประสานงานสะดวกสบายมากขึ้น สอบถามข้อมูลจากแกนนำได้โดยตรงเมื่อเกิดข้อสงสัย เข้ามาทำข่าวได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ต่อมา หาญณรงค์ ยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2538 อย่างการประชุมสมัชชาเขื่อนภาคเหนือ และสมัชชาคนจน โดยมีเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็น 1 ในข้อเรียกร้องของเขื่อนที่ยังไม่ถูกสร้างอยู่ในสมัชชาด้วย หาญณรงค์ ยังเล่าต่อถึงเหตุการณ์การยึดทำเนียบฯในปี 2539 ที่เป็นการเคลื่อนไหวสืบต่อกัน

“สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นวิบากกรรมก็คือ เวลาน้ำท่วม เขาก็บอกสร้างเขื่อน เวลาน้ำแล้ง เขาก็บอกสร้างเขื่อน” หาญณรงค์กล่าว

หาญณรงค์ กล่าวต่อถึงในฐานะที่ตนเป็นเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง จำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลจากส่วนกลาง เป็นข้อตกลงร่วมกันกับชาวบ้านว่าจะต้องนำข้อมูลเข้ามาชี้แจงชาวบ้านด้วย เพื่อตั้งหลักต่อสู้ หรือเพื่อรู้ว่าพวกตนสู้ไปเพื่ออะไร ซึ่งนี่เป็นวิธีที่ชาวบ้านและ หาญณรงค์ ใช้ต่อสู้มาโดยตลอด

“การต่อสู้เรื่องเขื่อน ต้องต่อสู้แบบ ให้ทันเค้า ไม่ก็นำไปข้างหน้า 1 ก้าว ห้ามตามหลัง ตามหลังเราแพ้” หาญณรงค์กล่าวหลังบอกเล่าถึงวิธีที่ตนใช้ต่อสู้ร่วมกับชาวบ้าน พร้อมทั้งกล่าวเสริมถึงวิธีการต่อสู้ในช่วงเวลานั้น ที่การส่งต่อข้อมูลมีความสำคัญ ถ้ามีการประชุมเกิดขึ้นภายนอกหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านก็จำเป็นต้องส่งตัวแทนเพื่อเข้าร่วมการประชุมร่วมกับ หาญณรงค์ ด้วย เพื่อการกระจายข้อมูลที่ทั่วถึง เพราะในตอนนั้นยังเป็นช่วงที่การสื่อสารยังทำได้ไม่ง่ายเท่าปัจจุบัน

อีกวิธีที่ชาวบ้านแก่งเสือเต้นใช้ต่อสู้มา คือการปฏิเสธให้ความร่วมมือกับบริษัทผู้ทำรายงานเศรษฐกิจและสังคม โดยในช่วงปีพ.ศ. 2534 – 2546 นั้น ไม่มีการทำแบบสอบถามเกิดขึ้นในหมู่บ้านเลย เป็นผลมาจากการต่อสู้ด้วยวิธีดังกล่าว นอกจากนั้นยังมีการร่วมมือร่วมใจกันของพี่น้องชาวบ้านแก่งเสือเต้น ไม่ทำธุรกิจการค้ากับบริษัทภายนอกที่เข้ามาสนับสนุนให้ปลูกยูคาลิปตัส , มีการคว่ำบาตร และใช้กฏหมู่บ้าน กรอบสังคม ควบคุมหมู่บ้าน เช่น จะคว่ำบาตร ไม่คบค้าสมาคม (ไม่ร่วมงานศพ , งานแต่งงาน) ของผู้ที่สนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อน เป็นต้น

นอกจากนี้ หาญณรงค์ ยังกล่าวถึงการทำงานร่วมกับภาครัฐ ว่าจะเป็นไปได้ด้วยดี ถ้าเกิดเข้ามาทำงานร่วมกันโดยไม่สนในเรื่องการสร้างเขื่อน พร้อมยกตัวอย่างการทำงานร่วมกันของชาวบ้านและอุทยานแห่งชาติ ที่มีจุดร่วมเดียวกันคือ ไม่ต้องการเขื่อน และต้องการรักษาผืนป่าไว้ อีกทั้งยังร่วมมือกันจัดการปัญหาตัดไม้ทำลายป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะชาวบ้านช่วยสอดส่องดูแลป่าที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าเจ้าหน้าที่อุทยานจะดูแลได้หมด ผ่านการใช้ชีวิตประจำวันที่มีความเกี่ยวข้องกับป่า

สุดท้าย หาญณรงค์ สรุปสิ่งสำคัญที่จำเป็นต่อชุมชนในการต่อสู้ระยะยาว ได้แก่

1. ข้อมูล

2. เพื่อน เครือข่าย

3. สร้างคนรุ่นต่อรุ่นให้ได้

พร้อมทั้งกล่าวเสริมถึงการชนะมติค.ร.ม. ว่ายังไม่ใช่การชนะที่เด็ดขาด แต่เป็นการสะสมชัยชนะไว้ เพราะนโยบายการสร้างเขื่อนยังไม่เปลี่ยน และยังไม่เคยเปลี่ยนเลย จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างคนรุ่นต่อรุ่น ส่งต่อความรู้ให้กับเยาวชนรุ่นถัดไป

“แก่งเสือเต้นเป็นเหมือนมหาลัยอันนึงนะ คนมาเรียนรู้ คนมาแลกเปลี่ยน คนมาจากรัฐฉาน มาจากไทใหญ่ มาจากสาละวิน มาเรียนรู้การต่อสู้ทีนี่” หาญณรงค์กล่าว

ช่วงถัดมา เป็นการเสวนาของ Peter Rosset กับการสะท้อนบทเรียนการต่อสู้ด้าน Global movement ผ่านการทำงานของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตร์นิเวศ Rural Social Movement

Peter Rosset เปิดการเสวนาในส่วนนี้ด้วยการบอกเล่าถึงการต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาในทวีปอเมริกาใต้ ไม่ว่าจะเป็นบราซิล หรือ เม็กซิโก ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นที่แก่งเสื้อเต้น อย่างการต่อต้านเขื่อน รวมไปถึงโปรเจ็คการพัฒนาขนาดใหญ่อื่นๆ อีกทั้งยังมีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายที่คล้ายกันทั้งในระดับท้องถิ่นและสากล อย่างการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการต่อต้านและเคลื่อนไหว โดย Peter ได้สรุปประเด็นของการต่อสู้นี้ไว้ 4 ข้อดังนี้

1. อย่าเชื่อในกระบวนการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

2. รวมเยาวชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหว สร้างแหล่งข้อมูลที่ทันสมัย เข้าถึงได้ตลอดเวลา

3. ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการสร้างชุมชน

4. เชื่อในจิตวิญญาณของป่าไม้ว่าเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชน

“บทเรียนที่ต้องเก็บไว้ในใจตลอดเวลาก็คือ การต่อสู้จะไม่สิ้นสุด” Peter กล่าว

ต่อมา Peter บอกเล่าการถอดบทเรียนจากการเคลื่อนไหวต่อต้านการสร้างเขื่อนในประเทศ เม็กซิโก และ บราซิล ที่ละ 2 บทเรียน

บทเรียนแรก เป็นบทเรียนจากการทำงานในเม็กซิโก คือการเข้าใจความหลากหลายของป่าและชุมชนที่อาศัยอยู่กับป่า ที่ต่างฝ่ายต่างพึ่งพากัน จำเป็นต่อการมีอยู่ของกันและกัน ซึ่งการที่ความรู้ความเข้าใจเหล่าถูกส่งต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น จะทำให้คนพึ่งพาป่าต่อไปได้ และป่าก็จะได้รับการปกป้องที่ยาวนานมากขึ้น

อีกบทเรียนจากการทำงานในเม็กซิโก คืออย่าเชื่อในการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะรายงานดังกล่าวจะไม่มีทางรายงานผลกระทบด้านลบออกมาอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้ผู้ที่ทำรายงานไม่ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาล

นอกจากนี้ Peter ยังเล่าถึงการทำประชามติในประเทศเม็กซิโก ที่จะมีการติดสินบนคนที่ทำประชามติ ทำให้เมื่อผู้คนลงมติคัดค้านรัฐบาล ก็จะส่งผลให้ผู้คนไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล

บทเรียนถัดมา มาจากประเทศบราซิล Peter ยกบทเรียนในกรณีที่รัฐบาลให้สัญญาว่าจะมอบค่าชดเชยให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของเงิน หรือการช่วยโยกย้ายผู้อยู่อาศัย แต่การชดเชยที่ถูกสัญญาไว้ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้น มิหนำซ้ำยังสร้างปัญหาให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมากขึ้นด้วย

อีกบทเรียนจากบราซิลคือความสอดคล้องของเครือข่ายการเคลื่อนไหวในท้องถิ่น ที่จะต้องประสานไปกับการเคลื่อนไหวระดับชาติเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปในทางเดียวกัน เพราะปัญหาก็คือระบบทุนนิยมที่แอบแฝงอยู่ไม่ใช่แค่เขื่อน 1 แห่ง แต่แฝงอยู่ในเขื่อนทุกแห่งที่ถูกสร้างขึ้นในหลายหมู่บ้านและส่งผลกระทบต่อหลายชุมชน โดยเขื่อนในบราซิลนั้นมีหลายเขื่อน ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในหลายจุดประสงค์ เช่นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า แต่กระแสไฟฟ้าเหล่านั้นกลับไม่ถูกนำไปให้คนยากจนหรือคนระดับรากหญ้าใช้เลย นอกจากนี้ยังมีเขื่อนบางประเภทที่สร้างขึ้นไว้สนับสนุนการมีอยู่ของเหมือง กล่าวคือ สร้างเขื่อนเพื่อไว้กักเก็บแหล่งน้ำเสียจากสารปนเปื้อน สารเคมีจากการทำเหมือง เขื่อนประเภทนี้มีความเสี่ยงอย่างมากที่สารปนเปื้อนจะหลุดลอยไปสู่ชุมชน

Peter สรุปไว้ว่า การเคลื่อนไหวของชุมชนต้องสอดประสาน และเป็น 1 เดียวกับระดับที่ใหญ่ขึ้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่แค่โปรเจ็ค 1 โปรเจ็คเท่านั้น แต่เป็นระบบโครงสร้างอย่างประชาธิปไตย การต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าชุมชนจะเดินหน้าไปได้ จะต้องมีการเคลื่อนไหวที่ใหญ่ขึ้นด้วย

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง