เรื่อง: สิริธารย์ อินทร์น้อย
นับแต่ปี 2557 ที่ประเทศไทยเกิดรัฐประการครั้งที่ 13 ในช่วงเวลาแห่งความมืดมนอลหม่าน คสช. ได้ผลักดันให้นโยบาย ‘การจัดการขยะ’ เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ควบคู่กับการจัดทำ Roadmap ว่าด้วยเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย รวมถึงแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 – 2564 โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่กำกับดูแล พร้อมกำหนดการแปรรูปขยะและวัสดุเหลือใช้ให้เป็นพลังงาน ให้ความสำคัญกับการสร้าง ‘โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ’ ซึ่งจะนำขยะมาแปรสภาพเป็นพลังงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นการส่งเสริมพลังงานทดแทนและแก้ปัญหาขยะล้นเมืองอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ความไม่ชอบมาพากลเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อคสช. ออกคำสั่ง 3/2559 และ 4/2559 ที่สนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎระเบียบผังเมืองและชุมชนใกล้เคียง ประกาศจากกระทรวงทรัพยากรฯ ยังเอื้อให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะทุกขนาดไม่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งส่งผลให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับผลประโยชน์ซ่อนเร้น และอาจเอื้อให้เอกชนบางรายมีสิทธิโกยกำไรได้ แม้ในหลายพื้นที่ของประเทศจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแล้ว แต่ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะยังถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึงที่ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
‘โรงไฟฟ้าขยะ’ คืออะไร ทำไมจึงถูกคัดค้าน?
โรงไฟฟ้าขยะ หรือ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ (Waste-to-energy Power Plant) เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะในการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยใช้ขยะมูลฝอยชุมชนเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางจัดการปัญหาขยะล้นเมืองในปัจจุบัน ข้อดีของโรงไฟฟ้าขยะคือการเป็นแหล่งพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่ช่วยลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานอื่นที่มีอยู่อย่างจำกัด พร้อมกับตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าขยะก็มีข้อเสียสำคัญซึ่งต้องพิจารณา เนื่องจากกระบวนการเผาขยะทำให้เกิดสารพิษที่เป็นอันตรายหลายประการ อาทิ ไดออกซิน สารหนู แบริลเลียม แคดเมียม โครเมียม ตะกั่ว ปรอท ฝุ่นละอองขนาดเล็ก และก๊าซที่มีฤทธิ์เป็นกรด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘สารไดออกซิน’ ซึ่งเป็นสารอันตรายสูงสุดที่เกิดจากการเผาขยะเพื่อนำความร้อนไปผลิตไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้
สารไดออกซิน เป็นผลผลิตทางเคมีจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้เกิดสารพิษที่เป็นปัจจัยในการก่อโรคมะเร็ง ความเป็นพิษต่อระบบประสาท และความผิดปกติในร่างกายของสิ่งมีชีวิต เช่น ทารก อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมและชุมชน แม้ว่าสารนี้จะไม่ทำให้เกิดอาการเป็นพิษเฉียบพลันหรือนำไปสู่การเสียชีวิตในทันที แต่สารพิษจะค่อยๆ สะสมและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ในที่สุด
แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้มีสารพิษเช่นนี้อยู่ใกล้บ้านของตนเอง ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลที่โรงไฟฟ้าขยะมักถูกคัดค้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีชุมชนตั้งอยู่ใกล้เคียง เนื่องจากประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าขยะ
ปัจจุบันในหลายพื้นที่ของประเทศไทยได้มีการดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าขยะแล้ว แต่ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าขยะเหล่านั้นยังถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ในบางกรณีการคัดค้านถึงขั้นทำให้โครงการไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ จนต้องระงับโครงการไว้ชั่วคราว
จุดเริ่มต้นการคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะป่าหุ่ง
โครงการโรงไฟฟ้าขยะในตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มีการลงทุนประมาณ 1,800 ล้านบาท สามารถรองรับขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงรายได้ถึง 400-500 ตันต่อวัน และจะใช้เทคโนโลยีระบบปิดเพื่อผลิตไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์
เรื่องราวของการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าขยะป่าหุ่ง เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2564 เมื่อชาวบ้านทราบถึงแผนการสร้างโรงไฟฟ้าขยะใกล้พื้นที่ชุมชน โดยมีการกว้านซื้อที่ดินบริเวณบ้านห้วยประสิทธิ์เพื่อดำเนินการก่อสร้าง โครงการนี้ทำให้ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงหมู่บ้านใกล้เคียง 3 แห่ง ได้แก่ บ้านห้วยประสิทธิ์ บ้านป่างิ้ว และบ้านป่าแขม เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชน
ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันเพื่อคัดค้านโครงการนี้ เนื่องจากพวกเขาหวั่นเกรงว่าสถานที่ตั้งของโรงไฟฟ้าขยะจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของชุมชน
รุ่งนภา ก๋าวิน ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวถึงปัญหาที่พวกเขาเผชิญว่า “ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เราได้รับผลกระทบโดยตรงเลยคือ ‘น้ำ’ ในการทำคลอง ทำบ่อปลา การเลี้ยงสัตว์ การทำการเกษตร มลภาสวะทางอากาศ และสำคัญที่สุดคือในเรื่องของ ‘ขยะ’ ที่เข้ามา เราไม่รู้ว่าขยะที่จะนำมามาจากที่ใดบ้าง ทราบเพียงว่าขยะจากภายนอกคาดว่าทุกที่ในจังหวัดเชียงรายจะมารวมที่นี่กันหมด เพราะไม่มีการคัดแยกขยะ ทางชาวบ้านก็กังวลเรื่องสารพิษที่จะต้องลงสู่ธรรมชาติ ลำพังผลกระทบจาก PM2.5 ก็หนักแล้ว แต่นั่นเกิดเพียง 2-3 เดือน แต่นี่เราไม่รู้ว่าต้องอยู่กับมันนานเท่าไหร่..”
ความกังวลนี้เกิดขึ้นจากวิถีชีวิตของชุมชนที่พึ่งพาธรรมชาติในการทำเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านทั้ง 3 ชุมชนมีความกังวลว่า โครงการดังกล่าวจะทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมและส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่ ชาวบ้านทั้ง 3 ชุมชนมีความกังวลถึงมลพิษที่อาจเกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต การเกษตร การเลี้ยงสัตว์ การปลูกข้าว และแหล่งน้ำในชุมชน นอกจากนี้ รุ่งนภาและชาวบ้านยังทราบว่า โรงไฟฟ้าขยะนี้อาจนำขยะจากภายนอกชุมชนมารวมไว้เพื่อกำจัดในโรงไฟฟ้าแห่งนี้ด้วย ซึ่งนี่นับว่าเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน รวมถึงวิถีชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างยิ่ง
เรื่องราวการต่อสู้ เพื่อที่อยู่ ‘ไร้มลพิษ’
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2566 ชาวบ้านห้วยประสิทธิ์ หมู่ 12 ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ประมาณ 300 คน ได้มารวมตัวกันที่สนามโรงเรียนเก่าของหมู่บ้าน เพื่อจัดทำประชาคมเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ซึ่งมีเอกชนขออนุญาตก่อสร้างในพื้นที่ของหมู่บ้าน ผู้เข้าร่วมได้ถือป้ายข้อความต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว โดยผลการประชาคมแสดงให้เห็นว่า ‘ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ’ เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในชุมชน
ในวันนั้นชาวบ้านหลายคนได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีการคัดค้านอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการทำประชาคมครั้งแรกที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เห็นด้วยของชุมชน ในช่วงก่อนหน้านี้ (22 พฤษภาคม 2566) ชาวบ้านได้เคยรวมตัวกันมากกว่า 500 คนเพื่อยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือกับ วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ว่าที่ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับโครงการนี้ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้สถานที่สำคัญต่างๆ อาทิ วัด โรงเรียน และแหล่งน้ำ โดยชาวบ้านยืนยันว่า โครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม การทำประชาคมในครั้งนี้ไม่พบผู้นำจากฝ่ายปกครองในพื้นที่เข้าร่วม ส่งผลให้การลงมติของชาวบ้านไม่เป็นทางการ สุบิน เป็งเฟย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยประสิทธิ์ กล่าวว่า ชาวบ้านยังคงยืนยันการคัดค้านโครงการ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับมลพิษและการนำขยะจากนอกพื้นที่เข้ามาในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
13 กันยายน 2566 กลุ่มชาวบ้านกว่า 150 คน จาก 10 หมู่บ้าน ในพื้นที่ตำบลป่าหุ่ง เมืองพาน และม่วงคำ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ได้เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย เพื่อเรียกร้องให้ทางจังหวัดระงับและยุติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ป่าหุ่ง มีแผนดำเนินการก่อสร้างขึ้นในพื้นที่ ซึ่งพวกเขาได้ชูป้ายข้อความและตะโกนขอความเป็นธรรม โดยไม่พอใจกับการไม่แจ้งข่าวสารอย่างทั่วถึงเกี่ยวกับการทำประชาคม
จากนั้น ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมคณะ ได้เดินทางมาติดตามปัญหาเรื่องปัญหาขยะในจังหวัดเชียงราย โดยมี ภัทราวดี สุทธิธนกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นำส่วนงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูล นอกจากนี้ ยังมีการเชิญตัวแทนจากอำเภอพาน อบต.ป่าหุ่ง และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมเพื่อให้ข้อมูลและหาทางออกร่วมกัน
อบต.ป่าหุ่ง ได้ยอมรับว่า มีการเสนอสร้างโรงไฟฟ้าขยะ เนื่องจากปริมาณขยะในพื้นที่อำเภอพานและตำบลป่าหุ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาขยะล้นในอนาคต จึงพยายามหาแนวทางในการจัดการกับปัญหานี้ โดยมองว่า ‘การเผาขยะเป็นวิธีที่ดีที่สุด’ หากดำเนินการอย่างถูกต้องจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษ อีกทั้งยังสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่งดีกว่าการเคลื่อนย้ายขยะออกจากชุมชนเพียงอย่างเดียว ขณะนี้มีการทดลองใช้เตาเผาขยะขนาดเล็ก แต่พบว่า ไม่เพียงพอและยังทำให้เกิดมลพิษด้วย
การหารือใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง แต่ชาวบ้านยังคงยืนยันขอให้จังหวัดมีคำสั่งยุติโครงการดังกล่าว หลังจากการประชุม ศยามล พร้อมตัวแทนจังหวัดเชียงราย ได้รับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มผู้ชุมนุม และอธิบายถึงหลักการและขั้นตอนการยื่นขอทำโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งต้องมีหลายขั้นตอน ตอนนี้เรื่องอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจาก อบต. และได้ส่งถึงคณะกรรมการสิ่งปฏิกูลขยะมูลฝอยของจังหวัดเชียงรายแล้ว
หากโครงการผ่านการพิจารณา จะต้องมีการประมูลจัดซื้อจ้างและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายเกี่ยวกับโรงงานจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งจะเป็นขั้นตอนต่อไปในการดำเนินการก่อสร้าง ทั้งนี้ ทางอำเภอจะมีการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้กลุ่มชาวบ้านยอมสลายตัว แต่ยังคงยืนยันที่จะคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะจนถึงที่สุด
20 กุมภาพันธ์ 2567 อภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะของ อบต.ป่าหุ่ง หมู่ที่ 12 ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดย ประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และ วุฒิกร คำมา นายอำเภอพาน ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพ สุขอนามัย และวิถีชีวิตของชุมชนที่อาจเปลี่ยนไปในอนาคต รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ร่วมชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าวกว่า 300 คน และส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการนี้
19 มีนาคม 2567 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น พร้อมด้วย วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และ วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย เขต 4 มอบนโยบายกระทรวงมหาดไทย พร้อมพบกับกลุ่มชาวบ้านกว่า 200 คนที่มารวมตัวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าขยะป่าหุ่ง โดยชาวบ้านแสดงความกังวลเกี่ยวกับความใกล้ชิดของโครงการต่อชุมชน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายระยะยาว รวมถึงการที่โครงการนี้ไม่ได้มีการสื่อสารหรือรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนอย่างเพียงพอ
ชาดา ได้ให้ความเห็นว่า ทั้งวิสารและวิสาระดีต่างไม่ต้องการให้เกิดปัญหาขึ้น แต่โครงการจะต้องดำเนินการตามหลักการ ซึ่งรวมถึงการทำ EIA เเพื่อพิจารณาความใกล้ชิดกับชุมชน โดยยอมรับว่าการคัดค้านของชาวบ้านนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และย้ำว่ากระบวนการ EIA มีความสำคัญและจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด
หลังจากได้รับฟังคำชี้แจง กลุ่มชาวบ้านตัดสินใจแยกย้ายกันกลับ ในขณะเดียวกัน ชาดาได้เข้าไปมอบนโยบายรัฐบาลในห้องประชุมที่ว่าการอำเภอพาน โดยมีวุฒิกร กล่าวรายงานและให้การต้อนรับ ซึ่งจะมีการดำเนินการตามแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจและได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อประเด็นที่เกิดขึ้น..
การต่อสู้ที่ยังไม่รู้จุดจบ
รุ่งนภากล่าวต่อว่า แม้ชาวบ้านในพื้นที่จะคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าขยะและยื่นเรื่องไปยังหน่วยงานราชการในพื้นที่ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในการดำเนินการ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้พยายามขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานเอกชนในพื้นที่ ทว่าก็ไม่ได้รับความสนใจเช่นกัน ทำให้ต้องหันไปขอความช่วยเหลือจากองค์กรนอกพื้นที่ เช่น มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
ขณะเดียวกันเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ชาวบ้านพบเอกสารฉบับหนึ่งที่ระบุว่า โครงการโรงไฟฟ้าขยะจะถูกย้ายจากอำเภอพานไปยังอำเภอแม่สรวย เนื่องจากพบว่า พื้นที่อำเภอพานไม่เหมาะสมสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้า เอกสารดังกล่าวถูกส่งโดยองค์การบริหารส่วนตำบลป่าหุ่งถึงนายอำเภอพาน
“ทางชาวบ้านในตำบลป่าหุ่งได้ขอยื่นตรวจสอบเอกสารฉบับดังกล่าวต่อองค์การบริหารส่วนตำบลป่าหุ่งไปแล้ว แต่เขาปฏิเสธว่าเอกสารฉบับนี้ไม่ได้ออกโดยองค์การบริหารส่วนตำบล และไม่มีเอกสารฉบับดังกล่าวจริง” รุ่งนภากล่าวเสริม
สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ชาวบ้านยังคงไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าโครงการนี้จะถูก ‘ดำเนินการต่อ’ หรือจะ ‘ยุติลง’ จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองว่าความขัดแย้งนี้จะหาทางออกได้อย่างไร..
‘โรงไฟฟ้าขยะป่าหุ่ง’ กับ ‘การละเมิดสิทธิมนุษยชน’
19 กันยายน 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบโครงการจัดการขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ อบต.ป่าหุ่ง จังหวัดเชียงราย โดยสรุปว่า ‘โครงการนี้ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน และสถานที่ตั้งโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิในการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดีของชุมชน’
การร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวถูกยื่นเข้ามายัง กสม. ในเดือนมิถุนายน 2566 โดยมีข้อกังวลว่า โครงการไม่ได้ฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ และไม่ได้ให้ข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต ซึ่งรวมถึงปัญหามลพิษและการใช้น้ำในพื้นที่
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย รวมถึงหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง และเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 ได้รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน นอกจากนี้ ชุมชนยังมีสิทธิเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการใดที่เป็นประโยชน์หรืองดเว้นการดำเนินการที่อาจกระทบต่อความเป็นอยู่ที่สงบสุขของประชาชนหรือชุมชน
มาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญยังได้รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะที่อยู่ในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ โดยกำหนดให้รัฐต้องจัดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ได้โดยสะดวก
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า โครงการฯ ของ อบต.ป่าหุ่ง ซึ่งเป็นผู้ถูกร้องนั้น เป็นการมอบหมายให้เอกชนดำเนินการหรือร่วมดำเนินการกําจัดมูลฝอย โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 9.9 เมกะวัตต์ในพื้นที่หมู่ที่ 12 บ้านห้วยประสิทธิ์ ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2556
พื้นที่นี้เป็นที่ราบที่ชาวบ้านใช้ทำการเกษตรและล้อมรอบด้วยชุมชน อีกทั้งมีคลองชลประทานขนาดใหญ่ไหลผ่าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์ต้นน้ำห้วยทรายงาม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนในพื้นที่บ้านห้วยประสิทธิ์มีน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตรตลอดทั้งปี นอกจากนี้ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ยังได้ตรวจสอบพบโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีเก่าแก่ 3 แห่งในบริเวณหมู่บ้านห้วยประสิทธิ์ ตำบลป่าหุ่ง และบ้านท่าดีหมี ตำบลเมืองพาน
กสม. เห็นว่า การเลือกพื้นที่ตั้งโครงการในบริเวณดังกล่าว มีผลกระทบต่อสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสิทธิในการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อแหล่งโบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นการ ‘ละเมิดสิทธิมนุษยชน’
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในโครงการฯ พบว่า อบต.ป่าหุ่ง ซึ่งเป็นผู้ถูกร้อง ได้จัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชน พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ณ ศาลาอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลป่าหุ่ง แต่ไม่ได้นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ตั้งโครงการและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนในพื้นที่หรือบริเวณใกล้เคียง
กสม. เห็นว่า การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิทธิเชิงกระบวนการอย่างหนึ่ง ซึ่งช่วยส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิเชิงเนื้อหา หากข้อมูลที่ผู้ถูกร้องจัดให้มีความไม่ครบถ้วน จะส่งผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลและชุมชนในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสิทธิในการได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานรัฐก่อนการดำเนินการที่อาจกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียที่สำคัญของประชาชนหรือชุมชน ประเด็นนี้จึงถือได้ว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบว่า ผู้ร้องและกลุ่มผู้คัดค้านโครงการฯ ได้รับการข่มขู่และคุกคามเพื่อให้หยุดเคลื่อนไหว พร้อมทั้งมีการเสนอผลประโยชน์แก่แกนนำผู้คัดค้าน กรณีนี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในการประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 จึงมีมติให้ข้อเสนอแนะไปยัง อบต. ป่าหุ่ง ผู้ถูกร้อง จังหวัดเชียงราย และกระทรวงมหาดไทย สรุปได้ดังนี้
1.มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ อบต.ป่าหุ่ง จังหวัดเชียงราย และกระทรวงมหาดไทย ทบทวนการเลือกพื้นที่หมู่ที่ 12 บ้านห้วยประสิทธิ์ ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เป็นสถานที่ตั้งโครงการฯ ทั้งนี้ ให้ศึกษาความเหมาะสมในการเลือกพื้นที่ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในจังหวัดเชียงราย โดยให้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแหล่งโบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบดังกล่าว ทั้งนี้ ให้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับโครงการและผลกระทบอย่างรอบด้าน รวมทั้งจัดให้กลุ่มเป้าหมายที่มีทะเบียนบ้านทุกครัวเรือนในรัศมี 3 กิโลเมตร รอบโครงการฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
2.มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงมหาดไทยศึกษาแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2556 ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยและเชื้อเพลิงชีวมวลบนที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม และให้จังหวัดเชียงรายกำหนดมาตรการเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงและการข่มขู่คุกคามต่อกลุ่มผู้คัดค้านโครงการด้วย
“เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ” จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน , ป๋วย อึ้งภากรณ์
ผลงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้ โครงการศึกษาวิจัยและจัดตั้งคลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อมฯ ในรายวิชา การศึกษากฎหมายสิ่งแวดล้อมเชิงคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ้างอิง
- bangkokbiznews.com
- jorportoday.com
- journalismbridges.com
- prachatai.com
- prt.parliament.go.th
- seub.or.th
- thaipbs.or.th
- radiochiangrai.prd.go.th
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...