เรื่อง : รัชชา สถิตทรงธรรม
“ทำไมเราต้องสื่อสาร แล้วถ้าเราไม่สื่อสาร คนข้างนอกจะรู้เรื่องราวและการมีอยู่ของเราได้อย่างไร”
หนึ่งในประโยคจับใจที่ ประสิทธิ์ ศิริ ชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ได้กล่าวแสดงความรู้สึกต่อผู้ชมที่มาร่วมเปิดงานนิทรรศการภาพถ่าย “คนกับป่า” เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ที่รวบรวมผลงานภาพถ่ายจากเหล่าช่างภาพหลังจากได้ไปเรียนรู้วิถีและวัฒนธรรมร่วมกับพี่น้องปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดในมาจัดแสดง ณ ที่นี้
“พี่น้องปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดในอาศัยและใช้สอยประโยชน์ร่วมกับพื้นที่ป่าในชุมชนมาช้านาน จนกระทั่งเมื่อช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเราเริ่มได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐ เช่น ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีการเกษตรดั้งเดิมของพวกเขาได้อย่างเต็มที่เหมือนแต่ก่อน หรือการไม่สามารถเผาไร่ในห้วงมาตรการห้ามเผาก็ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและความมั่นคงทางอาหารด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้เราได้พยายามทำความเข้าใจกับภาครัฐมาโดยตลอด” ประสิทธิ์พูดถึงตอนหนึ่งของสถานการณ์ปัจจุบันที่บ้านห้วยหินลาดใน
เมื่อนโยบายรัฐกำลังจะทำให้วิถีคนอยู่กับป่าของพี่น้องชาติพันธุ์ไม่เหมือนเดิม การพยายามสื่อสารทั้งพื้นที่กายภาพและบนโลกอินเตอร์เน็ตจึงเป็นสิ่งที่พี่น้องปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดในสามารถแสดงออกเพื่อปกป้องสิทธิของพวกเขาที่อาศัยอยู่มาก่อนมีกฎหมายประกาศใช้ได้อย่างสร้างสรรค์
“เราในฐานะองค์กรผู้ขับเคลื่อนประเด็นทางสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องก็ได้มองเห็นส่วนที่เราสามารถสนับสนุนให้เสียงของพี่น้องปกาเกอะญอดังขึ้น โดยใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือเชื่อมต่อให้คนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ได้มาเรียนรู้และออกแบบการสื่อสารด้วยกัน”
วิจิตรา ดวงดี ผู้จัดการโครงการให้กับ Pulitzer Center ในฐานะผู้สนับสนุนงานนิทรรศการดังกล่าว ได้อธิบายถึงกระบวนการจัดกิจกรรมตั้งแต่กิจกรรม Workshop ถ่ายภาพวิถีคนกับป่าที่บ้านห้วยหินลาดใน จนมาถึงวันแสดงงานนิทรรศการ ถือเป็นการสร้างพื้นที่และเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวบ้านที่เป็นผู้ถูกผลักให้กลายเป็นคนชายขอบและถูกตีตราว่าเป็นศัตรูของนโยบายป่าไม้ของรัฐ
ซึ่งโครงการนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรายงานเรื่อง “เจาะปัญหาป่าทับคน คนทับป่า” ของภัทชา ด้วงกลัด ผู้ที่ได้รับรับทุน Pulitzer Center Climate Crisis Reporting ด้วย โดยรายงานเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นผลกระทบในหลากหลายมิติของนโยบายที่เกี่ยวกับป่าไม้ของรัฐไทย โดยเฉพาะนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกิน การดำเนินคดีกับพี่น้องชาติพันธุ์ในข้อหา “บุกรุก” ป่าจิตวิญญาณ รวมไปถึงการถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่น PM2.5
“การที่ได้มาเห็นงานนิทรรศการภาพถ่ายคนกับป่าในวันนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนและสื่อกำลังพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า ประเด็นปัญหาคนกับป่าสำคัญต่อประเทศไทยอย่างไร ทำไมเราจึงต้องพยายามไม่ให้ประเด็นเหล่านี้หายไปจากพื้นที่สื่อสารสาธารณะ ซึ่งความหลากหลายทางรูปแบบการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย เรื่องเล่า ชุดข้อมูลเชิงลึก หรือคอนเทนต์ประเภทอื่น ๆ จะสามารถจุดประกายให้คนตื่นรู้และรับรู้การมีอยู่ของปัญหาคนกับป่าได้กว้างขึ้น แล้วก็จะเกิดคนใหม่ ๆ ที่พยายามเข้าไปนำเรื่องเล่าเหล่านี้ออกมาสื่อสารต่อไปเรื่อย ๆ” ภัทชา ด้วงกลัด ได้กล่าวต่อผู้ชมด้วยเช่นกัน
“เราอาจรู้จักพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในด้านความสวยงามทางธรรมชาติหรือวัฒนธรรม แต่ในความงามเหล่านั้นยังมีความเห็นอกเห็นใจต่อกันแฝงอยู่ เพราะพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่กำลังประสบปัญหาการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการขั้นพื้นฐาน และขาดการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม เราในฐานะผู้ถนัดการสื่อสารด้วยภาพเลยมีไอเดียที่อยากจะชวนคนจากหลากหลายสังคม หลากหลายอาชีพไปร่วมเรียนรู้ ฟังเสียงความต้องการที่แท้จริงจากชุมชน และถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวตามมุมมองของแต่ละคน”
ยศธร ไตรยศ สมาชิกกลุ่ม Realframe ช่างภาพสารคดีที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำในมิติทางสังคมต่าง ๆ ได้พูดถึงที่มาและแรงบันดาลใจของการจัดกิจกรรมร่วมกับ Pulitzer Center
“ตอนที่เราเข้าไปทำกิจกรรมที่ชุมชนฯ ร่วมกับคนที่เราคัดเลือกมา 13 คน ด้วยความที่เป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับหลายคนก็ทำให้เราคิดว่าจะเป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมนี้หรือไม่ ปรากฏว่าภาพรวมของกิจกรรมออกมาดีอย่างเกินความคาดหมาย คือทุกคนเตรียมใจมาพร้อมแล้วว่าการเรียนรู้ การถ่ายทอดเรื่องราวร่วมกันย่อมต้องมีทั้งความสนุกสนานและความเหน็ดเหนื่อยปะปนกันไป ทำให้ภาพถ่ายและเรื่องราวจากทุกคนเป็นออร์แกนิก หมายความว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามสภาพที่แท้จริง” ยศธรพูดถึงความรู้สึกที่ได้ทำงานร่วมกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 13 คนในช่วงลงพื้นที่ที่ผ่านมา
ภายในนิทรรศการมีช่างภาพทั้งหมด 13 คน ดังนี้ ก้องกนก นิ่มเจริญ, กานต์ ตันติวิทยาพิทักษ์, จิราภรณ์ ล้อมหามงคล, จีระภา มุลคำมี, ชนากานต์ เหล่าสารคาม, ชุติพนธ์ พิสิษฐ์ธนาดุล, ณัฐพล เมฆโสภณ, ทรงวุฒิ จุลละนันท์, บุญลีย์ ตันตินราวัฒน์, ประสิทธิ์ ศิริ, พัชร์สุรางค์ เดชาพุทธรังสี, ศศิธร มูลสาร, สมศักดิ์ เนตรทอง และรัชชา สถิตทรงธรรม
เพราะเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ได้เรียนรู้เป็นครั้งแรก ชุติพนธ์ พิสิษฐ์ธนาดุล หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้บอกเล่าประสบการณ์ของการได้มาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า เมื่อได้เข้าไปสัมผัสประสบการณ์ถึงในพื้นที่จริง และได้เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดโดยคนในพื้นที่จริง ๆ แล้วรู้สึกว่า การใช้ภาพถ่ายเป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชนต้องทำอย่างต่อเนื่อง แม้บางเรื่องเราอาจต้องอธิบายซ้ำ ๆ เราก็ต้องทำ เพราะวิถีคนอยู่กับป่าเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถเข้าใจได้อย่างทะลุปรุโปร่งจากการได้เข้ามาในพื้นที่เป็นครั้งแรก
“ผมตั้งคำถามให้กับภาพถ่ายของผมว่า จะสื่อสารให้รัฐและประชาชนเข้าใจได้อย่างไรว่า พวกเขามีวิถีชีวิตคนอยู่กับป่าแบบนี้ กำลังเผชิญกับปัญหานี้ อยากให้ทุกคนที่มาชมงานนิทรรศการภาพถ่ายในวันนี้ได้มาเรียนรู้และเข้าใจวิถีของพวกเขาไปด้วยกัน”
ชุดภาพถ่ายพร้อมเรื่องเล่าของแต่ละคนจะถูกนำไปคัดเลือกโดย Realframe และ Pulitzer Center ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อจัดแสดงในงานนิทรรศการภาพถ่าย “คนกับป่า” บอกเล่าเรื่องราว วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของพี่น้องกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินลาดในโดยมุมมองของคนที่เติบโตในสังคมเมืองและสนใจที่จะทำความรู้จักกับพี่น้องชาติพันธุ์อย่างลึกซึ้ง โดยงานนิทรรศการจะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...