เวทีสาธารณะ “ปีแห่งความหวังกับก้าวใหม่ของขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนภาคเหนือ”

ภาพ: วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

28-29 มกราคม 2566 ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, คณะก่อการล้านนาใหม่ และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ได้จัดเวทีสาธารณะ “ปีแห่งความหวังกับก้าวใหม่ของขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนภาคเหนือ” เพื่อร่วมกันจุดพลังของการเคลื่อนไหวและการนำเสนอความหวังใหม่ต่อสังคม โดยแบ่งเป็น 2 วัน

โดยในวันที่ 28 มกราคม 2566 จะเป็นการเสนอรายงานการละเมิดสิทธิ 10 ปีที่ผ่านมา โดย สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ได้ให้ความเห็นต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอด 10 ปีที่ผ่านมาว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง อย่างกรณีการวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส ที่เป็นเยาวชนชาติพันธุ์และนักปกป้องสิทธิ ทั้งนี้การรัฐประหารในปี 2557 ยังละเมิดไปถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งการสกัดกั้นการรวมกลุ่มชุมนุม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็เป็นไปได้โดยง่าย ผ่านการออกกฎหมายและนโยบาย เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า ที่ส่งผลให้ประชาชนถูกตัดสินว่ารุกพื้นที่ป่าไม้ ไร้ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน แต่ในขณะเดียวกันรัฐก็ออกข้อยกเว้นให้กับเอกชนใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าได้

ทั้งนี้สุมิตรชัย ยังเสริมต่ออีกว่าท่ามกลางสถานการณ์ของการละเมิดสิทธินั้น ก็ยังคงมีผู้คนที่ออกมาเคลื่อนไหวอยู่อย่างต่อเนื่อง และยังคงมองเห็นถึง ‘ความหวัง’ อยู่ เพราะเป็นสิ่งที่ผลักดันคุณค่าและชีวิตของผู้คนและขบวนการเคลื่อนไหวให้ดำรงอยู่

จากนั้นเป็นการระดมปัญหาและข้อเสนอจากหลายกลุ่มประเด็นได้แก่ ที่ดินป่าไม้, โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ, สัญชาติ/แรงงาน/ผู้พิการ, นักเคลื่อนไหว, การศึกษา และกลุ่มประเด็นสิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศ โดยมุ่งไปที่การพัฒนาเป็นข้อเสนอต่อไป โดยมี ดร.กฤษณ์พชร โสมณวัตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม

ภาพ: วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

29  มกราคม ได้มีการสรุปปัญหาและข้อเสนอที่นำไปสู่ความหวังจากแต่ละประเด็นโดย ชาติชาย ธรรมโม เลขาธิการ กป.อพช. ภาคเหนือ โดยสรุปได้ว่าในประเด็นของการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ การที่รัฐเอื้อกลุ่มทุน รวมไปถึงกฎหมายต่าง ๆ ทำให้หลายชุมชนต้องเผชิญกับผลกระทบต่างๆ อย่างในกรณีของอุโมงค์ผันน้ำยวม และเหมืองแร่ฟลูออไรต์​ ที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรง ข้อเสนอต่อประเด็นนี้ก็คือ ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ เข้าถึงสาธารณูปโภคและเอกสารสิทธิ

ประเด็นสัญชาติ ผู้พิการ LGBTQ+ รวมทั้งประเด็นสิทธิเสรีภาพ นักเคลื่อนไหว ได้ให้แง่มุมที่น่าสนใจว่าความหวังคือการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ ยกเลิกการเอาผิดผู้เสพยาเสพติด รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน สังคมเคารพความแตกต่างหลากหลาย ประชาชนมีสิทธิกำหนดอนาคตและชีวิตของตนเอง สสร.ในการร่างรัฐธรรมนูญ ประชนชนมีอำนาจต่อรอง และพรรคการเมืองต้องสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน

ประเด็นที่ดินป่าไม้ เกษตรกรต้องได้รับการจัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรม ทุกคนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง หลักประกันความมั่นคงในชีวิต ประชาชนมีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากร เก็บภาษีที่ดินทำกินเพื่อการกระจายการถือครองที่ดิน 

และประเด็นการศึกษา ต้องจัดการศึกษาเชิงคิดวิพากษ์ ไม่ถูกครอบงำ ประชาชนเป็นผู้ออกแบบการศึกษา รวมไปถึงการพัฒนาร่างพรบ.การศึกษาฉบับประชาชน ที่รัฐต้องสนับสนุน

ความหวังและการเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย ในมิติสิ่งแวดล้อมและการเมืองโครงสร้าง

ภาพ: วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ปาฐกถาพิเศษ ความหวังและการเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย ในมิติสิ่งแวดล้อมและการเมืองโครงสร้าง

“สิ่งที่เราเรียกว่าธรรมชาติ เป็นพัฒนาการของทุนนิยม วิทยาศาสตร์ของทุนนิยม ถ้าสิ่งนั้นถูกเรียกว่าธรรมชาติ เราไม่สามารถประเมินราคาของธรรมชาติได้ ทุนนิยมจึงทำให้ธรรมชาติดูไร้ราคา ทุนนิยมถูกกำหนดโดยกฎของมูลค่า สิ่งใดมีมูลค่าเราต้องจ่าย สิ่งใดไม่มีมูลค่าเราไม่ต้องจ่าย กระบวนการแยกสิ่งเหล่านี้มีสามอย่าง คือ สิ่งที่คืองานและไม่ใช่งาน มันจะเป็นตัวชี้วัดในชีวิต มูลค่าทางเศรษฐกิจกลายเป็นสิ่งชี้วัดมูลค่าของตัวบุคคล เน้นคำว่าสิ่งที่ทำหรือกิจกรรมส่วนตัวจะไม่ถือว่าเป็นซึ่งเชื่อมไปถึงที่ว่าเราไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากเบื้องหลังหรืองานส่วนตัวได้”

“สิ่งที่ถูกทำให้ไร้ค่า 4 อย่าง  คือแรงงาน อาหาร พลังงาน ธรรมชาติ  เราอาศัยแรงงานของคนอื่นเพื่อผลิตชีวิตของเราแต่เราทำให้แรงงานนั้นไม่มีมูลค่า ทุนนิยมทำการตัดภาระการเลี้ยงดูเราให้เป็นเรื่องของปัจเจก ธรรมชาติเป็นสิ่งซื้อขายได้ ทุนนิยมทำให้เราปล่อยสารพิษได้เพียงจ่ายเงินให้รัฐ ระบบทุนนิยมทำลายหลังพิงของเรา เราไม่สามารถแยกออกจากหลังพิงของการดูแล อาหาร อากาศและสถาบันสังคมที่จำเป็น ฝ่ายเสรีเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ไม่ทำลายทุนนิยม วิกฤตสิ่งแวดล้อมและการทำลายหลังพิงจะอยู่ในเสรีนิยมประชาธิปไตย

ทั้งนี้ รศ.ดร.เก่งกิจ ยังให้ข้อเสนอต่อการเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายไว้ 4 ข้อเสนอด้วยกันคือ

1.วิกฤตสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจ ระบบทุนนิยมสังคมชนชั้น ไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้

2.การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คือ การปกป้องชีวิตองค์รวมทั้งหมด

3.ขบวนการฝ่ายซ้ายมีภารกิจคือต่อต้านและทำลายระบบทุนนิยม และสร้างประชาธิปไตย

4.ในระยะเฉพาะหน้า ต้องร่วมกันสร้าง “รัฐสวัสดิการ” ที่จะเป็น “หลังพิง” ให้กับประชาชนทุกคน

เวทีเสวนากระบวนการเคลื่อนไหว “จากแฮมทาโร่ถึงทรงอย่างแบด” เหลียวหลังแลหน้าขบวนการคนรุ่นใหม่

ภาพ: วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

วงเสวนานี้จะเป็นการทบทวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาต่าง ๆ พร้อมทั้ังร่วมกันมองหาความหวังที่จะเกิดขึ้น

“ผมออกมาเคลื่อนไหวเพราะที่บ้านผมได้รับกระทบจากนโยบายของรัฐ และความหยาบคายของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มองคนไม่เท่ากัน ที่ทำให้ผมเข้ามาร่วมต่อสู้ และเริ่มต่อสู้ด้วยข้อมูลพื้นที่ และเริ่มขยายเครือข่าย เกาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ร่วมต่อสู้ด้วยกัน”

ปราโมทย์ เวียงจอมทอง คนรุ่นใหม่ปกาเกอะญอบ้านแม่ปอคี อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก กล่าวถึง

ปัญหาที่ต้องเผชิญจากรัฐที่มองประชาชนไม่เท่ากัน จนนำมาซึ่งการออกมาเคลื่อนไหว และขยายฐานการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยปราโมทย์ ให้ความเห็นว่าทุกคนล้วนถูกรัฐกดขี่

สุริยา แสงแก้วฟั่น นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้พิการ ได้ให้ความเห็นไว้ว่าต้องทำงานทางความคิด เพื่อเชื่อมขบวนการต่อสู้ทั้งหมดให้เป็นขบวนขนาดใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกัน

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้เสนอว่า ต้องจริงจังต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และทำงานทางความคิด เชื่อมโยงแต่ละประเด็นที่หลากหลายเพื่อทลายชนชั้นผู้กดขี่ต่อไป

ด้าน คะติมะ หลี่จ๊ะ  ได้ให้ความเห็นถึงการหนุนเสริมกันว่า

“เราต่อสู้เพราะเราถูกกดขี่ เราจะต้องทำให้เราไม่ถูกกดขี่และเราต้องไม่ไปกดขี่ผู้อื่น ต้องหนุนเสริมซึ่งกันและกันเท่าที่เราสามารถได้ให้มากที่สุด”

วันไชย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ได้เสริมว่าการที่รัฐผลักดันโครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม โดยไม่ฟังเสียงชาวบ้านนั้น ในอีกมุมหนึ่งชุมชนได้สร้างพลังของชุมชนขึ้นมาเพื่อปกป้องทรัพยากร

เสวนาวิชาการ “ทิศทางขบวนการเคลื่อนไหวความหวังใหม่กับการเมืองเหลียวหลังแลหน้า”

ภาพ: วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ นักวิชาการอิสระ ได้ให้ความเห็นถึงทิศทางความหวังใหม่ไว้ว่า ตอนนี้มีความพยายามที่จะหลอมรวมประชาชนเข้าหากัน มีการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ และมีการทลายเส้นแบ่งของรัฐอย่างชัดเจน

ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์การจัดการภูมิวัฒนธรรม ได้พูดถึงพื้นที่กลางว่าถ้ามีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดกัน จะสร้างการรับรู้  และขยายความรับรู้ใหม่ ๆ ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ฉันทมติในการต่อสู้ร่วมกัน

ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงทิศทางความหวังใหม่ ในการเลือกตั้งในครั้งนี้ว่า “การเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้นอกจากเราใช้สิทธิในการเลือกตั้งแล้วเราต้องรักษาสิทธิด้วยการร่วมตรวจสอบผลการเลือกตั้งร่วมกัน คือเข้าเป็นอาสาสมัครจับตาการเลือกตั้ง 66 เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย รวมไปถึงการมองเห็นความหวังใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย”

ก่อนจบเวทีในเวลา 16.00 น.  คณะก่อการล้านนาใหม่ได้แถลงการณ์โดยตัวแทนคณะก่อการล้านนาใหม่ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ภาพ: วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

คำประกาศเจตนารมณ์

“พวกเราในนามคณะก่อการล้านนาใหม่ ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม และเครือข่ายประชาชนในภาคเหนือที่ขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน ป่าไม้ ที่ได้รับผลกระทบทางนโยบายกฎหมาย ประเด็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เหมืองแร่ อุโมงค์ผันน้ำยวม ที่จะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและการดำรงวิถีชีวิตตามประเพณีวัฒนธรรมของชุมชม และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมที่มีความหมายอย่างแท้จริง

รวมไปถึงเรื่องสิทธิสตรี สิทธิในการศึกษา สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ยังมีอคติทางสังคมและถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ตลอดจนผู้ที่ถูกผลักให้เป็นคนชายขอบอย่างคนไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ ผู้พิการ ก็ยังถูกละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

พวกเราเชื่อว่าการถูกละเมิดสิทธิเหล่านี้เกิดมาจากสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อำนาจยังไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ถูกกีดกันปิดกั้น หรือกระทั่งถูกจับกุมดำเนินคดีเพียงแค่การออกมาแสดงความคิดเห็น 

พวกเราจึงเชื่อมั่นว่า “สิทธิมนุษยชนจะสามารถบังเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตย และประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด” และพวกเราต่างมีความหวัง มีความฝัน ที่จะเห็นสังคมไทยจะมีสิทธิ เสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ไม่ว่าเพศสภาพใด ไม่ว่าจะมีความเชื่อศาสนาใด เพราะเราล้วนเกิดมาเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน 

ท้ายนี้ พวกเราขอส่งความหวังและความศรัทธาไปยังตะวัน แบมและเพื่อนเราทุกคนที่กำลังต่อสู้กับความอยุติธรรมนี้ รวมทั้งเพื่อนเราทุกคนที่อยู่ในกรงขัง เราขอสนับสนุนข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

  1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำและผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี
  2. ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง
  3. พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการยกเลิก ม.112 และ ม.116

ณ ที่แห่งนี้ ด้วยมือของเราที่ถือดอกทานตะวันอันเป็นสัญลักษณ์แทนความงดงามที่แข็งแกร่ง ขอแสดงเจตนารมณ์เรียกร้องให้ดอกไม้ทุกดอกในมือผู้คนในสังคมหันเข้าหาตะวัน ดุจดั่งดอกทานตะวันที่จะหันเข้าหาดวงอาทิตย์ และส่องแสงสว่างไปให้ทั่วสังคม ได้ลุกขึ้นจุดไฟในตะเกียงแห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ ที่ทรงคุณค่าที่สุดและความหมายร่วมกันของมนุษยชาติ เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่าให้จงได้

ด้วยความหวังและศรัทธาในอำนาจของประชาชน

ณ. โรงแรมกรีน นิมมาน

29 มกราคม 2566″

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง