อนาคิสต์คืออะไร วุ่ยวายมากมั้ง? รู้จักเพื่อนใหม่ฝ่ายซ้าย กับแนวคิด “อนาธิปไตย”

เรื่อง : รากัล

“บ่อยครั้งเมื่อพูดถึงแนวคิด “อนาธิปไตย” (Anarchy) หลายคนมักนึกถึงความรุนแรง ความโกลาหล ความวุ่นวายและความไร้ระเบียบ “เอะอะเผา เอะอะทำลายข้าวของ” จนทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วสังคมจะอยู่อย่างไร หากสังคมวุ่นวายเช่นนี้?

อันที่จริงแนวคิดอนาธิปไตยเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด และทั้งหมดเป็นคำที่รัฐผลิตซ้ำมาเพื่อโจมตีแนวคิดอนาธิปไตย ด้วยเหตุผลที่แนวคิดนี้เป็นอุปสรรค์ต่อการดำรงอยู่ของรัฐและสร้างความปั่นป่วน (Disrupt) ต่อระบบระเบียบ (System) ของรัฐอยู่เสมอ

ชาวอนาธิปไตยเชื่อเรื่องการต่อต้านทุกอำนาจเป็นสำคัญ ทั้งอำนาจรัฐ อำนาจทุนนิยม ไปจนถึงอำนาจที่เกิดจากการสั่งการแบบลำดับชั้น (Hierarchy) ไม่จำเป็นต้องมีใครมาปกครองหรืออุปถัมภ์ ดั่งคำว่า “Anarchy” ที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก แยกออกเป็น 2 คำคือ “Arkhos” ที่แปลว่าผู้นำหรือผู้ปกครอง และคำว่า “an” ที่แปลว่า ไม่ (with out) เมื่อนำมารวมกันจึงเป็น “Anarchy” ที่แปลว่า “ปราศจากผู้ปกครอง”

ดังนั้นพวกเขาจึงจำเป็นต้องท้าทายและจัดวางอำนาจให้อยู่ในลักษณะแนวระนาบ (Horizontal) เสมอ เพราะเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมและมีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดการปกครองตนเองผ่านการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน (Mutual aid) โดยไม่มีใครมาสั่งการหรือบังคับ และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอำนาจใดๆ ในการควบคุมและบงการชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง เพราะพวกเขาเชื่อว่า “เสรีภาพและอำนาจไม่ได้เกิดจากการอ้อนวอน หากแต่เป็นการสร้างอำนาจด้วยตัวเอง”

โดยแนวคิดอนาธิปไตยสามารถแบ่งคร่าวๆออกเป็น 2 สายหลักๆ

1. สาย Socialist

– Anarcho-Primitivism

– Anarcho-communism

– Anarcho-collectivism

– Anarcho-syndicalism

2.สาย Individualist 

– Anarcho-mutualism

– Geo-anarchism

– Anarcho-capitalism

– Anarcho egoist

ไร้รัฐ ไร้ทุน มีแต่คุณเท่านั้น!

ไม่มีรัฐ ไม่มีทุน ไม่มีกฎหมาย แล้วจะอยู่กันยังไงละ? ชาวอนาธิปไตยเชื่อว่าการมีอยู่ของรัฐคือการรวมศูนย์อำนาจ ทรัพยากร และผูกขาดการใช้ความรุนแรง เช่นเดียวกับกฎหมายที่ออกมาจากรัฐในลักษณะบนลงล่าง (Top-Down) โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังออกกฎหมายมาเพื่อควบคุมพฤติกรรมประชาชนให้อยู่ในระบบระเบียบของรัฐมากกว่าที่จะปกป้องประชาชน และออกกฎหมายมากเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนรวยมากกว่าประชาชนผู้ยากไร้

คำถามต่อมาคือ หากไร้รัฐไร้ทุนไร้กฏหมายแล้วสังคมจะอยู่กันอย่างไร? สังคมไร้รัฐของชาวอนาธิปไตยเชื่อในเรื่องการวางข้อตกลงร่วมกัน (Consensus) ของคนในชุมชนซึ่งเป็นหน่วยการปกครองขนาดเล็ก ทุกคนมีส่วนร่วมในการออกความเห็นโดยตรงได้ไม่ถ่ายโอนอำนาจของตัวเองไปให้คนอื่น (Direct Democracy) มากกว่าที่จะทำตามคำสั่งของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือคนบางกลุ่มเท่านั้น เพราะถึงที่สุดพวกเขาเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาจากหน่วยย่อยของสังคมจะมีศักยภาพมากที่สุดและมีส่วนร่วมมากที่สุดของคนในชุมชน 

ยกตัวอย่างเช่น ข้อตกลงเรื่องห้ามดื่มสุราในชุมชนซาปาติสตา ที่เกิดจากผู้หญิงในชุมชนเสนอผ่านที่ประชุม โดยมีหลายฝ่ายยอมรับและเห็นด้วยในข้อตกลงนี้ จึงนำมายึดถือร่วมกันในชุมชน 

เมื่อเกิดชุมชนขนาดเล็กได้เกิดขึ้นทั่วสังคมแล้ว อำนาจอยู่ในมือของคนในชุมชนแล้ว ท้ายที่สุดชุมชนต่างๆ จะเชื่อมต่อกันในลักษณะเครือข่าย (Network) และยึดโยงกันเป็นเครือข่ายใหญ่ในสังคม มากกว่าที่จะเชื่อมต่อกันแบบแนวดิ่ง (Top-Down) หรือรวมศูนย์อำนาจในลักษณะการปกครองแบบรัฐ (Centralized)

ทั้งนี้การเกิดขึ้นของรัฐเพิ่งมีมาเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมาในโลกมนุษย์ เดวิดเกรเบอร์ (David Graeber) นักมานุษยวิทยาอนาธิปไตยชาวนิวยอร์กเคยกล่าวไว้ว่า “…สังคมที่ปราศจากรัฐเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เพราะมีสังคมแบบนั้นดำรงอยู่จำนวนมาก” เพราะมนุษย์อยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยกันมาโดยตลอด และผู้เขียนมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนในสังคมปัจจุบันยากที่จะจินตนาการถึง “สังคมไร้รัฐ” เพราะวินาทีที่คุณลืมตามาดูโลกก็อยู่ในสังคมที่มีรัฐแล้ว

ปล. คำว่า “คุณ” ในความหมายของ “ไร้รัฐ ไร้ทุน มีแต่คุณเท่านั้น” หมายถึงพวกเราทุกคน มากกว่าที่จะหมายถึงเธอเพียงคนเดียว

นี่มันเสรีนิยมใหม่ชัดๆ

หากมองแบบผิวเผินหลายคนคงมองว่าอนาคิสต์ไม่ต่างจากเสรีนิยม เพราะมีความเป็นปักเจกชนสูง แต่ไม่เลย 2 แนวคิดนี้ต่างกันอย่างสุดขั้ว ลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo liberalism) เขาเชื่อว่ารัฐไม่ควรมายุ่งกับธุรกิจของเอกชน หรือมายุ่งให้น้อยที่สุด เพื่อให้ตลาดเติบโตและแข่งขันกันอย่างเสรี แต่ในความย้อนแย้งของพวกเขาคือ พวกเขากลับเรียกร้องให้รัฐปกป้องกรรมสิทธิส่วนบุคคลของคน 1% (คนรวย)

ในขณะที่แนวคิดแบบอนาธิปไตยนั้นต่อต้านระบบตลาดเสรี ต่อต้านระบบกรรมสิทธิส่วนบุคคล และต่อต้านอำนาจรัฐ เพราะมองว่า 3 ระบบดังกล่าวนำมาซึ่งการแข่งขัน แก่งแย่งกันเพื่อสะสมทุน ซึ่งจะทำลายระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลและแบ่งปันกันในสังคม และมากไปกว่านั้นชาวอนาธิปไตยเชื่อในเรื่องการรวมกลุ่ม (Solidarity) ที่เป็นลักษณะแนวระนาบมากกว่าที่จะอยู่แบบปัจเจกชน และต้องการให้มนุษย์ทุกคนหลุดพ้นจากการครอบงำจากทุกอำนาจ 

นี่จึงเป็นความแตกต่างระหว่างเสรีนิยมกับอนาธิปไตยซึ่งเป็นคนละเรื่องกันเลย

อนาธิปไตย Vs คณะราษฎร 2475

การปรากฏคำว่า “อนาธิปไตย” ในประเทศไทย เกิดขึ้นครั้งแรกๆ อย่างเป็นทางการในยุคคณะราษฎร ปี 2489 สมัยที่ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวปราศรัยในการปิดประชุมสภาวันที่ 7 พ.ค. 2489 (ก่อนเกิดเหตุสวรรคตในหลวงอานันทมหิดล 1 เดือน)

โดยปรีดีได้พูดถึงแนวคิด “อนาธิปไตย” ในลักษณะกล่าวเตือนให้กับ ส.ส.ในสภาฟังว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย และเป็นแนวคิดที่ “[จะทำ]ให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่สงบเรียบร้อย ความเสื่อมศีลธรรม… ขอให้ระวัง อย่าปนประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย”

ทั้งนี้ปรีดียังกล่าวอีกว่า

“ข้าพเจ้าไม่พึงประสงค์ที่จะให้มีระบอบเผด็จการในประเทศไทย ในการนี้ก็จำเป็นต้องป้องกันหรือขัดขวางมิให้มีอนาธิปไตย อันเป็นทางที่ระบอบเผด็จการจะอ้างได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าถ้าเราช่วยกันประคองใช้ให้ระบอบประชาธิปไตยนี้ได้เป็นไปตามระเบียบเรียบร้อย …. ระบอบเผด็จการย่อมมีขึ้นไม่ได้”

ก่อนจะปิดท้ายการะประชุมสภาด้วยการฝากฝัง ส.ส. ในสภาว่า

“ข้าพเจ้าหวังว่าท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลาย คงจะใช้สิทธิของท่านด้วยความบริสุทธิ์ใจ และอาศัยกฏหมายและศีลธรรมความสุจริตเป็นหลัก ไม่ช่วยกันส่งเสริมให้มีระบอบอนาธิปไตย

ข้าพเจ้าขอฝากความคิดไว้ต่อท่านผู้แทนราษฎรทั้งหลาย โดยเป็นห่วงถึงอนาคตของชาติ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะได้เห็นประเทศชาติปลอดจากระบอบเผด็จการ และปลอดจากระบอบอนาธิปไตย คงมีแต่ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรม

ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมด้วยสามัคคีธรรมนี้เป็นวัตถุประสงค์ของคณะราษฎร ที่ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ และเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานรัฐธรรมนูญ”

ทั้งนี้หากพิจารณาจากคำพูดของปรีดี จะพบว่าประชาธิปไตยในความหมายของเขาเป็นลักษณะที่ผูกติดอยู่กับ “ศีลธรรม” ที่ “พรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคี” และที่สำคัญคือ เป็นประชาธิปไตยที่ “ซื่อสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์” ดังที่กล่าวไว้ว่า

  “โดยมีอุดมคติซื่อสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าเคารพในความซื่อสัตย์ ซึ่งมีตัวอย่างอยู่มากหลายที่ผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ได้ร่วมกิจการรับใช้ชาติกับข้าพเจ้า…” ปรีดี พนมยงค์ (2489)

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสมัยคณะราษฎร (2489) หรือแม้แต่การชุมนุมเสื้อแดงปี 2553 (เผาบ้านเผาเมือง-Riot) จนมาถึงการชุมนุมของกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ซ’ ปี 2563  จะเห็นได้ว่าสังคมไทยยังไม่คุ้นชินกับแนวคิดและวิถีทางแบบอนาธิปไตยมากนัก ไปจนถึงไม่ถูกนับว่าเป็นประชาธิปไตย ยังคงมองคำว่า “อนาธิปไตย” เป็นเพียงแนวคิดที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ไร้ระเบียบ และต้องการความรุนแรงเพียงอย่างเดียว มากกว่าที่จะพยายามเข้าใจถึงหลักการที่แท้จริงของมัน นั้นคือ “การปฏิเสธอำนาจรัฐ และทุนนิยม”

(ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊กเพจ: อนาร์โควท Anarquote )

อนาคิสต์ไปเลือกตั้งบ่?

แนวคิดแบบอนาธิปไตยมองระบบการเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรมหนึ่งของระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดในการนำไปสู่สังคมประชาธิปไตย ‘อลาน แม็กซิมอล’ (Alan MacSimoin) นักประวัติศาสตร์อนาธิปไตยชาวไอร์แลนด์ กล่าวว่า แนวคิดอนาธิปไตยคือประชาธิปไตยแบบทางตรงและเป็นระบบที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีระบบผู้รับมอบหมาย (Delegation) มากกว่าที่จะเป็นระบบตัวแทน (Representation) ซึ่งผู้ที่ได้รับมอบหมายจะไม่มีสิทธิพิเศษอะไรเลย มีเพียงสิทธิตัดสินใจเฉพาะบางเรื่องที่ตกลงกันไว้เท่านั้น จะขัดคำสั่งผู้ที่เลือกไม่ได้ หากไม่เชื่อฟังคำสั่งของผู้ที่เลือกก็พร้อมถูกเพิกถอนได้ตลอดเวลา ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าเป็นแนวคิดที่ตรงข้ามกับระบบตัวแทนแบบรัฐสภา (Parliamentary) อย่างสิ้นเชิง

เขายังกล่าวอีกว่า แม้พรรคการเมืองจะมีนโยบายซ้าย (Socialism) แค่ไหน ก็ต้องถูกลดความความสำคัญลง เพราะจำเป็นต้องแคร์ฐานเสียงของตัวเองในการเลือกตั้ง และหากคุณใช้ภาษาแบบสังคมนิยม, การต่อสู้ทางชนชั้น หรือภาษาการปฏิวัติ คุณอาจจะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหวาดกลัวได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า “พรรคต้องมีลักษณะที่สมจริงและใช้งานได้จริง”

นักอนาธิปไตยชาวไอร์แลนด์ผู้นี้ยังเสนอแนวทางแบบ ‘Direct action’ (ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า) กล่าวคือ เราสามารถบังคับให้นักการเมืองเคารพความปรารถนาของประชาชนได้โดยการขัดคำสั่งของพวก ตัวอย่างเช่น หากรัฐบาลพยายามจำกัดเสรีภาพในการพูด ประชาชนก็จะพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพในการพูดอย่างเสรี เพื่อทำลายกฎหมายดังกล่าว จนกว่ากฎหมายเหล่านั้นจะถูกเพิกถอน หรือหากเป็นเรื่องของสิทธิแรงงาน ก็รวมตัวกันนัดกันหยุดงานกัน 

อลาน ยังเชื่ออีกว่าเราจำเป็นต้องสร้างอำนาจในตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจจากใครหรือสถาบันใด ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับ “ความไม่แยแสและการเพิกเฉย หรือการไม่ทำอะไรเลยในการเปลี่ยนแปลงสังคม

“เราไม่แสวงหาผู้นำเพียงไม่กี่คน…เพื่อจัดการกับความยุ่งเหยิงของระบบทุนนิยม แท้จริงแล้วเราโต้แย้งอย่างต่อเนื่องกับแนวคิดใด ๆ ที่ทำให้ดูเหมือนว่าชนชั้นสูงมีความจำเป็น” อลาน แม็กซิมอล

(ป้ายหาเสียงเบอร์ 0 ของพรรคอนาธิปไตย ในงานจับตาเลือกตั้ง 19 มี.ค. 66 ที่ จ.เชียงใหม่)

ไม่เอารัฐแล้วรัฐสวัสดิการเอาไง? 

‘รูดอล์ฟ ร็อกเกอร์’ (Rudolf Rocker) นักอนาธิปไตยชาวเยอรมัน มองว่ารัฐสวัสดิการเป็นระบบที่มีปัญหา โดยเป็นการเพิ่มอำนาจให้รัฐในการจัดการทรัพยากร ส่งผลให้ประชาชนหรือสังคมอยู่ในสภาวะต้องพึ่งพารัฐตลอดเวลา “ตั้งแต่กำเนิดจนถึงหลุมศพ” ทำให้สังคมไม่เกิดสภาวะพึ่งพากันเองแบบ “Mutual Aid” ต้องพึ่งพาอาศัยการจัดการจากรัฐตลอดเวลา หนำซ้ำสวัสดิการโดยรัฐมีแนวโน้มที่จะสามารถควบคุมทิศทางของสังคมได้ผ่านการกำหนดนโยบายรัฐสวัสดิการ

ดังนั้นข้อเสนอของของคือ การเรียกคืนการควบคุมจากรัฐและเสริมอำนาจการมีส่วนร่วมของประชาชน กรรมาชีพและแรงงานให้มากที่สุดจากหน่วยที่เล็กที่สุด เช่นชุมชนสวัสดิการ ท้องถิ่นสวัสดิการ ฯลฯ และลดสวัสดิการจากรัฐลงให้มากที่สุด อีกทั้งยังตั้งคำถามต่อสวัสดิการโดยรัฐว่า มันจะครอบคลุมไปถึงผู้ไร้สัญชาติหรือไม่ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้เป็นพลเมืองของรัฐ

อย่างไรก็ตามการมีอยู่ของรัฐสวัสดิการ ก็ยังคงสภาพความเป็นลำดับขั้น (Hierarchy) ที่ยังคงเป็น การบริหารองค์กรในลักษณะบนลงล่าง โดยอาศัยความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ลำดับขั้น และความรุนแรงของสถาบัน

“เป็นความล้มเหลวของฝ่ายซ้ายในการขจัดทุนนิยม ในขณะเดียวกันก็นำไปสู่การเติบโตของรัฐ และการเสริมอำนาจให้รัฐ ซึ่งไม่ได้เกิดจากปลายปากกาของระบบของรัฐราชการ…ตราบใดที่สวัสดิการยังเป็นสมบัติของรัฐ สวัสดิการนั้นจะถูกใช้เป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมทางสังคม”

“อำนาจที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของระบบรัฐราชการที่ไร้วิญญาณ ซึ่งดูแลและปกป้องชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่กำเนิดจนถึงหลุมฝังศพ กำลังสร้างอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เคยเป็นมาในแนวทางของการร่วมมือกันอย่างปึกแผ่นของมนุษย์ และทำลายความเป็นไปได้ทุกอย่างของการพัฒนาสิ่งใหม่” รูดอล์ฟ ร็อกเกอร์ (Rudolf Rocker- 1873-1958) นักอนาธิปไตยชาวเยอรมัน

(ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊กเพจ: อนาร์โควท Anarquote )

อย่างไรก็ตามดูเหมือนแนวคิดแบบอนาธิปไตยยากที่จะเกิดขึ้นในโลกมนุษย์ใบนี้เหลือเกินด้วยข้อจำกัดและ “ความกลัว” ของคนในสังคมหลายอย่าง มันดู “เพ้อฝัน” และ “โรแมนติก” เกินกว่าที่จะเกิดขึ้นได้จริง แต่มันได้เกินขึ้นแล้วบนโลกใบนี้ เช่น Commune de Paris (18 มี.ค. – 28 พ.ค. 1817), Zapatista, Rojava, CNT-FAI ฯลฯ และปัจจุบันยังคงมีกลุ่มที่เคลื่อนไหวแนวคิดอนาธิปไตยอยู่ในหลายประเทศ เช่น กลุ่ม Antifa ที่สหรัฐอเมริกา, IWA AID ออสเตเลีย ลิเวอร์พูล, Foot not boms ในหลายประเทศและ จ.เชียงใหม่, ฯลฯ รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของ ‘อัลเฟรโด’ ที่ถูกคุมขังอยู่ในคุก และกำลังอดอาหารประท้วงกฎหมายปราบมาเฟีย (41 Bis) ในอิตาลี

(ภาพการประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชทูตอิตาลี ประจำกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา (ที่มา : เพจ Anti-Imperialist Front )

__________________________________________

อ้างอิง

– เพจอนาร์โควท Anarqoute: https://www.facebook.com/Anarquote

https://www.the101.world/stateless-society/

https://c4ss.org/content/43206

https://dindeng.com/อนาธิปไตยคืออะไร-บทนำ/

https://www.the101.world/david-graeber/

http://www.wsm.ie/c/anarchism-elections-your-questions-answered?fbclid=IwAR33uGE26SmFeEIaGZ5pwOz8101KwbEJVGP1RtbHO3x6hyFwEx3bS3pSGUc

https://www.historyandpolicy.org/policy-papers/papers/anarchism-and-the-welfare-state-the-peckham-health-centre
https://libcom.org/article/neither-state-nor-market-anarchist-perspective-social-welfare?fbclid=IwAR1Yh7FJrD0Jv7AtDGvTSY6Q3teQaqfK8HoQ7ZBbTsL5x8-yvlciBhoCcpc

https://www.panarchy.org/rocker/anarchy.html?fbclid=IwAR15jrKdXxErLfwobRqrVXCaMVXkmoHl9Izgp9lhFaL8dWFXKpeVZwZPto8

– ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: “อนาธิปไตย กับประชาธิปไตย โดยปรีดี พนมยงค์” : https://prachatai.com/journal/2008/08/17877

– จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย: https://www.the101.world/thai-constitutional-monarchy-2/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง