“แม้ภายในจิตใจฉันจะเศร้าเสียใจถึงขนาดไม่อยากทำอะไรอีกแล้ว แต่ก็ยังจำเป็นเดินหน้าต่อไปเพื่อลูกชาย ทุกครั้งที่ไปบิลลี่ก็ไม่ได้กลับมาบ้านด้วยสักครั้งทำให้ฉันหมดหวังและเสียใจมาก”
หากมองด้วยสายตาของนักเดินทาง การเดินทางแต่ครั้งอาจมอบประสบการณ์น่าจดจำไม่รู้ลืมหลายรสชาติ แต่ในการเดินทางของโพเราะจี รักจงเจริญ แม่ของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กลับต่างออกไป มันเป็นการเดินทางเพื่อทวงถามความยุติธรรมให้ลูกชาย ที่ถูกทำให้หายไปตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว ก่อนที่ในปี 2562 จะมีการพบกระดูกบิลลี่ โดยดีเอ็นเอยืนยันว่าตรงกับแม่ของบิลลี่
ด้วยร่างกายที่ไม่สู้ดีนัก บวกกับกำแพงภาษาในการสื่อสาร ทำให้การเดินทางไปยังสถานที่ราชการค่อนข้างเป็นเรื่องน่าอึดอัดใจอยู่ไม่น้อย แต่เพื่อการคืนใบหน้าของความยุติธรรมคืนสู่บิลลี่ ผู้เป็นแม่คนนี้ก็พร้อม แม้รู้ว่าจะไม่สามารถช่วยให้เลือดเนื้อของบิลลี่คืนกลับมาได้ก็ตาม
เส้นทาง ความหวัง ความยุติธรรม 9 ปี บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ยังไม่ได้กลับบ้าน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ภาคีSaveบางกลอย กลุ่มดินสอสี และเพื่อนเครือข่ายได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “เส้นทาง ความหวัง ความยุติธรรม 9 ปี บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ยังไม่ได้กลับบ้าน” เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2566 ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในโอกาสครบรอบ 9 ปีที่บิลลี่จากไป รวมไปถึงการเฝ้าติดตามการเริ่มพิจารณาคดีอุ้มฆ่าบิลลี่ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 เมษายน 2566
ในเสวนา “เส้นทาง ความหวัง ความยุติธรรม 9 ปี บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ยังไม่ได้กลับบ้าน” พชร คำชำนาญ จากภาคีSaveบางกลอย ได้บอกเล่าประวัติศาสตร์ของบางกลอย รากฐานของปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนับตั้งแต่การประกาศเขตอุทยานฯ ตลอดจนสะท้อนถึงภาพรวมปรากฏการณ์ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดในลักษณะเดียวกันกับพี่น้องชาติพันธุ์ในประเทศ
“9 ปีที่ผ่านมาคนที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐหรือผู้ที่อยู่เหนือรัฐ ถูกอุ้มหายไม่ได้มีแค่หนึ่งคน เพราะฉะนั้นเราต้องติดตามและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ต่อไป และส่วนที่สองคือเราต้องการสืบเจตนารมณ์ของบิลลี่ ชาวบ้านบางกลอยกลุ่มหนึ่งตั้งใจที่จะกลับขึ้นไปที่ใจแผ่นดินในปี 2564 ทำให้เกิดภาคี Save บางกลอยขึ้น เราไม่ได้เรียกร้องแค่คนที่เสียชีวิตไปแล้วแต่เราต้องการที่จะสืบทอดอุดมการณ์เบื้องหลังความตายของบิลลี่เช่นกัน”
“ย้ำว่าการต่อสู้และชัยชนะของชาวบางกลอยในอนาคต จะเป็นชัยชนะของประชาชนคนอยู่กับป่าทั่วประเทศทั้งกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นเรามาทำตามเส้นทางและความหวังของบิลลี่กัน”
“ถ้าคดีบิลลี่ยังไม่มีคลี่คลาย ก็ยังไม่อยากให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก”
มึนอ-พิณนภา พฤกษาพรรณ ตัวแทนครอบครัวบิลลี่ พูดด้วยน้ำเสียงแสนเศร้า จากประสบการณ์ที่ต้องเผชิญนับตั้งแต่การหายตัวไปของบิลลี่และความหวังว่าอยากเห็นความยุติธรรมให้แก่คนทุกคนอย่างเท่าเทียม
“เรารู้สึกว่าเกิดมาผิดที่รึป่าว เราหวังว่าคนที่ไม่เข้าใจเราอยากให้พยายามทำความเข้าใจคนชาติพันธุ์ให้มากขึ้น อนาคตอยากเห็นผู้ที่กระทำความผิดได้รับโทษตามที่ควรจะได้รับและอยากเห็นญาติพี่น้องที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ว่าที่ไหนก็แล้วแต่ ได้รับความเป็นธรรมและเท่าเทียม”
ด้าน ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ผู้ซึ่งเป็นทนายในคดีที่ชาวบ้านบางกลอย 28 คนถูกดำเนินคดี หลังชาวบ้านบางกลอยกว่า 80 คน ตัดสินใจเดินทางกลับใจแผ่นดินเมื่อปี 2564 ในช่วงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ที่กำลังระบาดรุนแรง
“ในปี 2564 ชาวบ้านต้องตัดสินใจกลับไปที่บางกลอยบนอีกครั้งเนื่องจาก พี่น้องได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 พี่น้องบางกลอยไม่สามารถอยู่ได้ในพื้นที่บางกลอยล่าง ซึ่งโดยส่วนใหญ่อยู่ได้เพราะลูกหลานเข้ามาทำงานรับจ้างในเมือง ซึ่งพอเจอสถานการณ์โควิด-19 ลูกหลานก็ต้องกลับไปอยู่ในพื้นที่เนื่องจากไม่มีคนจ้างงาน และอีกปัญหาก็คือพี่น้องบางกลอยไม่รู้ว่าโควิด-19 จะเข้าไปสู่หมู่บ้านเมื่อไหร่ และถ้าเข้ามาจริง ๆ จะรับมือยังไง ซึ่งพี่น้องบางกลอยเชื่อว่าหากได้กลับไปอยู่ใจแผ่นดินก็จะสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ ก็เลยมีการตัดสินใจกลับไปที่ใจแผ่นดินอีกครั้ง”
“แต่แล้วในวันที่ 5 มีนาคม 2564 มีการเข้าไปจับกุมชาวบ้านลงมาจากบางกลอยบนโดยเฮลิคอปเตอร์ประมาณ 80 กว่าคน ซึ่งคนที่ถูกจับกุมและส่งตัวไปยังเรือนจำมีทั้งหมด 21 ราย ปัญหาแรกคือมีการสอบสวนคนที่ถูกจับกุม ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีทนายความและล่ามในการสื่อสาร แต่ชาวบ้านเล่าว่าล่ามและทนายความที่อยู่ในขึ้นตอนสอบสวนนั้นเจ้าหน้าที่เป็นคนจัดหามาทั้งสิ้น ปัญหาที่สองคือชาวบ้านบางกลอยส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ได้ กลายเป็นว่าผลที่เกิดขึ้นก็คือชั้นสอบสวนกลายเป็นว่าชาวบ้านรับสารภาพทั้งหมด”
“ซึ่งปัจจุบันคดีมีผู้หญิง 7 คน ที่ถูกดำเนินคดี ผู้ชาย 21 คน และเยาวชนอีก 2 คน เราในฐานะทนายได้ยื่นคำร้องข้อแก้ไขคำให้การในชั้นสอบสวนทั้งหมด บรรยายถึงเหตุผลว่าทำไมชาวบ้านถึงขึ้นไปบนใจแผ่นดิน ซึ่งหลังจากนั้นหลากหลายส่วนทั้งภาคประชาชนก็มีความพยายามในการช่วยกันผลักดันประเด็นนี้ จึงเกิดคณะกรรมการในการแก้ไขปัญหา ซึ่งตอนนี้คดีทั้งหมดยังอยู่ในชั้นศาล”
อภินันท์ ธรรมเสนา จากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้เล่าย้อนไปถึงกระบวนการการทำงานของอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการแก้ไขปัญหาบางกลอย ที่ศึกษาถึงเอกสารประวัติศาสตร์ชุมชน เอกสารสำรวจประชากร เอกสารประจักษ์พยานบนพื้นที่ และหลักฐานอื่น ๆ อาทิ เหรียญชาวเขา คำสั่งรื้อถอนของชุมชน ซึ่งสรุปได้ว่าชุมชนบางกลอยอยู่มาก่อนที่อุทยานจะเกิดขึ้น และอัพเดทการทำงานชองคณะกรรมการชุดปัจจุบัน
“มีการยื่นข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระขึ้นไปถึงนายกรัฐมนตรี รายงานผลว่าข้อเท็จจริงที่ชุมชนนั้นอยู่มาก่อนอุทยาน รวมไปถึงร่องรอยหลักฐานในการทำไร่หมุนเวียนยังปรากฎอยู่ และมีพี่น้องบางกลอยต้องการที่จะกลับไปอยู่บนใจแผ่นดิน”
“ในปีที่ผ่านมามีการสำรวจชาวบ้านบางกลอยทั้งหมดพบว่ามีชาวบ้านที่ต้องการจะกลับไปที่บางกลอยบนทันทีทั้งหมด 150 คน และอีก 732 คนยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ยังไม่ต้องการขึ้นไปบนบางกลอยบนได้ในปัจจุบัน แต่ว่าความต้องการพื้นฐานคือกลับไปบางกลอยบน”
“คณะกรรมการฯก็ได้เสนอแผนไปถึงนายกรัฐมนตรีถึงสองแผน แผนแรกก็คือกลุ่มคนที่อยากกลับไปที่ใจแผ่นดินแต่ยังไม่สะดวก กลุ่มนี้เผชิญกับความยากลำบากมากรัฐต้องมีแนวทางในการส่งเสริมให้พร้อมกับความต้องการของประชาชน รวมไปถึงให้ชุมชนสามารถประกอบอาชีพที่ใช้ฐานทรัพยากรตามมาตรา 65 ที่อนุญาตให้ใช้ทรัพยากรในพื้นที่ได้ ส่วนแผนที่สองสำหรับต้องมีการทำแผนในการแบงโซนบนบางกลอยบน ซึ่งทางชุมชนมีการทำแผนแล้ว ได้สำรวจพื้นที่ประมาณ 8,000 ไร่ มีการแบ่งแยกโซนในการจัดการอย่างชัดเจน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเพิ่งเซ็นเห็นชอบเมื่อ 19 เมษายนที่ผ่านมา”
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ทนายในคดีอุ้มฆ่าบิลลี่ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกรณีจากประเด็นปัญหาที่ยังคงรอความยุติธรรม คดีดังกล่าวใช้เวลากว่า 9 ปี กว่าจะสามารถนำจำเลยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ พรเพ็ญย้ำว่าคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดเช่นนี้จะต้องมีการนำเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ได้รับโทษตามสมควร ยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล และไม่ให้เกิดกรณีเช่นบิลลี่กับใครได้อีกต่อไป
“เราจะต้องอยู่ร่วมกันในสังคมที่ไม่มีใครถูกบังคับให้สูญหายไปได้อีกและสิ่งที่พวกเราจะต้องยืนยันและช่วยกันผลักดันคือเรื่องสิทธิวัฒนธรรม”
“เรายังยึดมั่นในหลักการอันหนึ่งก็คือ สิทธิที่จะสันนิฐานไว้ก่อนว่าจำเลยทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสิน เพียงแต่ว่าสิ่งที่มันมีความยากลำบากในกระบวนการยุติธรรมของไทยก็คือหลักการนี้ไม่ได้ใช้กับทุกคน หลักการนี้ถูกใช้อย่างจริงจังและถูกต้องตามหลักการเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ในที่นี่เรากำลังพูดถึงจำเลยทั้งสี่ หนึ่งในนั้นคือ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร”
“ที่ผ่านมากลไกยุติธรรมเอื้อให้เจ้าหน้าที่รัฐลอยนวลพ้นผิด และการลอยนวลพ้นผิดของคนไม่กี่คนในปัจจุบันก็ยังดำเนินไปอยู่ บุคคลที่ตกเป็นจำเลยในคดีฆาตกรรมบิลลี่ ณ ปัจจุบันหน่วยงานต้นสังกัดยังเมินเฉยและยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ หรืออาจจะกลายเป็นอธิบดีกรมอุทยานในอนาคต ถ้าสังคมและหน่วยงานราชการยังปล่อยให้ผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐยังลอยนวลอยู่”
“ทุกครั้งที่ชาวบ้านบางกลอยเดินทางลงมา โดยเฉพาะครอบครัวหรือคนใกล้ตัวของบิลลี่ จะต้องผ่านด่านมะเร็ว เค้าจะต้องผ่านความรู้สึกว่าจะถูกอุ้มไหม จะถูกทำร้ายไหม และคนที่เค้ารักเคยถูกอุ้มไปจากตรงนั้น”
กิจกรรมในวันนี้จบลงด้วยคอนเสิร์ต “จะขอเป็นนกพิราบขาว” เตหน่าบรรเลง ครอบครัวดนตรี บทเพลงจากใจถึงใจ ชื่อคอนเสิร์ตก็มาจากเพลงเพื่อมวลชนที่บิลลี่มักร้องขับกล่อมลูก ๆ คอนเสิร์ตนี้เป็นการระดมทุนเพื่อสานภารกิจให้ชาวบ้านบางกลอยที่ต้องการกลับบ้านเกิดใจแผ่นดินและเรียกร้องวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียนตามภูมิปัญญาของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ
ดนตรีจากหัวใจเริ่มบรรเลง ครอบครัวดนตรีคีตาญชลี, โฮปแฟมิลี่ ต่างเปล่งสำเนียงเพลงสังคม พร้อมส่งไม้ต่อให้ ชิ สุวิชาน & เจนนี่ ,Klee Bho และ Stoondio ส่งต่อหวังและฝันจากใจถึงใจ ให้เสียงเพลงล่องลอยไป ถึงความยุติธรรม
สืบหา-ยุติธรรม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 เวลา 09.00 น. ณ ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง หลังจากครบรอบ 9 ปี กับการถูกบังคับให้สูญหายของบิลลี่ ศาลอาญาทุจริตฯ ได้นัดสืบพยานคดีนี้ครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ อท.166/2565 ซึ่งเป็นคดีที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกรวม 4 คน ตกเป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และข้อหาอื่น ๆ
การสืบพยานในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากองค์กรการต่างประเทศและสถานทูตจากหลายประเทศ อาทิเช่น สถานทูตสวีเดน สถานทูตเยอรมัน สถานทูตสวิสเซอร์แลนด์ และสื่อหลายสำนักที่มาเข้าร่วมสังเกตการณ์สืบพยานนัดนี้อีกด้วย โดยศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ 2 ปากในช่วงเช้า อาทิ นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของนายบิลลี่ ขึ้นเบิกความเป็นปากแรกถึงสาเหตุแรงจูงใจที่ทำให้บิลลี่ถูกประทุษร้ายจนเสียชีวิตและรายละเอียดวันเกิดเหตุ ต่อมานางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของนายบิลลี่ เบิกความรายละเอียดถึงวันเกิดเหตุและสาแหรกหรือรายละเอียดเครือญาติสืบสายโลหิตของมารดานายพอละจีฯ ด้วยภาษากะเหรี่ยงผ่านล่ามแปลภาษาไทยที่โจทก์ร่วมจัดหามา ต่อมาในช่วงบ่าย เวลา 13.30 น. พนักงานสอบสวนในคดีขึ้นเบิกความยืนยันถึงการสืบสวนสอบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐานในพื้นที่เกิดเหตุ จนเสร็จสิ้นในเวลา 17.30 น.
คดีนี้ศาลได้กำหนดนัดไต่สวนพยานทั้งสิ้น 28 ปาก โดยกำหนดนัดไต่สวนพยานโจทก์และจำเลยในคดีทั้งหมด 10 นัด แบ่งเป็น นัดไต่สวนพยานโจทก์ 7 นัด จำนวน 23 ปาก ในวันที่ 24 เมษายน 2566, 22 พฤษภาคม 2566, 17 และ 24-27 กรกฎาคม 2566 นัดไต่สวนพยานจำเลย 3 นัด จำนวน 9 ปาก ในวันที่ 28 และ 30-31 สิงหาคม 2566 และหากต่อมาศาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องสืบพยานเพิ่มเติมจะก็จะเรียกให้มาเป็นพยานภายหลัง การสืบพยานนัดที่ 2 จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00 น. ศาลนัดไต่สวนพยานจำนวน 3 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 2 ปาก และนักศึกษาฝึกงานในขณะเกิดเหตุ 1 ปาก
“ฉันต้องเหนื่อยกับการเดินทางบ่อยครั้งมากในคดีของบิลลี่ กับความหวังว่าบิลลี่ยังคงมีชีวิตอยู่ แม้ฉันจะเดินไม่ค่อยไหวต้องมีคอยพยุงไหล่ทั้งสองข้าง แต่ก็ยังจำเป็นต้องเดินทาง ฉันเหน็ดเหนื่อยมาก ๆ และซึมเศร้ามาโดยตลอด แม้ภายในจิตใจฉันจะเศร้าเสียใจถึงขนาดไม่อยากทำอะไรอีกแล้ว แต่ก็ยังจำเป็นเดินหน้าต่อไปเพื่อลูกชาย ทุกครั้งที่ไปบิลลี่ก็ไม่ได้กลับมาบ้านด้วยสักครั้งทำให้ฉันหมดหวังและเสียใจมาก” แม่โพเราะจี รักจงเจริญ ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา 9 ปี
วันที่ 21 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ให้สัมภาษณ์ว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ในการแก้ไขปัญหาชุมชนบางกลอย แต่คำถามต่อมาคือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำไมประยุทธ์ไม่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเลย
ต้องเดินทางอีกกี่กิโล กี่วงปี กว่าใบหน้าความยุติธรรมจะแจ่มชัด การเดินทางตามหาความยุติธรรมที่หายไปของครอบครัวบิลลี่ตลอด 9 ปี ที่แม้จะก้าวไม่ถึง แต่การเดินทางไปใช้ชีวิตที่ใจแผ่นดินของบิลลี่และชาวบางกลอยยังเดินต่อ
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...