เปิดเวทีระดมความเห็น ‘คนเหนือจะใดดีกับร่าง PDP2024’ แนะประชาชนต้องมีส่วนร่วมในทุกระดับให้แคร์และแฟร์

28 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 – 16.00 น. JustPow องค์กรสื่อสารประเด็นพลังงานและสิ่งแวดล้อม  ร่วมกับสำนักข่าว Lanner จัดเวที “คนเหนือจะใดดีกับร่าง PDP2024 เวทีระดมความคิดเห็นต่อร่าง PDP2024 ที่แฟร์และแคร์ประชาชน” เพื่อระดมความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP2024 ของประชาชนต่อการกำหนดทิศทางอนาคตพลังงาน เพื่อรวบรวมจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศและจัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐ ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

งานเริ่มต้นด้วย Workshop ฐานการเรียนรู้ “โครงสร้างพลังงานไทย ทำไมค่าไฟแพง?” ทั้งหมด 7 ฐานการเรียนรู้ ได้แก่ 1. ไฟฟ้าของไทยมาจากเชื้อเพลิงชนิดไหนบ้าง 2.ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้ามาจากไหนบ้าง 3.แผน PDP กับอนาคตพลังงานประเทศไทย 4.หลังคามีค่า แต่โซลาร์ภาคประชาชนไม่เกิด 5.ไทยจะไปถึงเป้าหมาย Net Zero ได้ทันเวลาไหน 6.ภาคเหนือกับโรงไฟฟ้า 7.ไฟไฟ้ล้นเกิน ค่าไฟจึงแพงเกิน

สิ่งที่เห็น กับสิ่งที่ควรจะเป็น คนเหนือเอายังไงกับร่างแผน PDP2024

ต่อมา เวทีเสวนา “แผนพีดีพี 2024: สิ่งที่เห็น กับสิ่งที่ควรจะเป็น” พูดคุยและปลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังไฟฟ้า หรือ PDP2024  ร่วมเสวนาโดย สุมิตรชัย หัตถสาร จากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น, มนัสวัฑฒก์ ชุติมา Old Chiangmai, ศราวุธ รักษาศิลป์ Green Power Solar Energy, ชนกนันทน์ นันตะวัน สม-ดุล เชียงใหม่ และ วัชราวลี คำบุญเรือง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ดำเนินรายการโดย ธัญญาภรณ์ สุรภักดี จาก JustPow

สุมิตรชัย หัตถสาร จากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น อธิบายความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่า “ความเป็นธรรมของชาวบ้านที่ต้องอยู่กับโรงไฟฟ้าขยะตอนนี้มันกลายเป็นเรื่องความเสี่ยง”

สุมิตรชัยเล่าถึงมุมองของการทำงานตลอดหลายปีที่ผ่านมากับคนในชุมชนว่า   ส่วนใหญ่แล้วไม่เข้าใจเกี่ยวกับแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า (Power Development Plan: PDP) ว่าแท้จริงแล้วคืออะไร แต่สิ่งที่พวกเขารับรู้ได้คือความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของโรงไฟฟ้าใกล้บ้าน เช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง  ที่คนในชุมชนต้องเผชิญความสูญเสียจากโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากโรงไฟฟ้า การถูกอพยพออกจากพื้นที่ ซึ่งภาพจำที่เป็นลบกับกิจการโรงไฟไฟ้า และเป็นผลต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

“วิธีคิดของการจัดการพลังงานของไทย คือมองว่าประชาชนพึ่งตัวเองไม่ได้ รัฐรู้ดีไปหมด ทำทุกอย่างให้เป็นแผนชาติ คนที่อยู่บนสุดของอำนาจเป็นคนคิด คนออกแบบ แล้วนำมาใช้กับประชาชน”

สุมิตรชัยมองว่าพลังงานทางเลือกหรือพลังงานหมุนเวียนเป็นเรื่องที่ดีที่จะมาช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิลได้ แต่พอไปตั้งโรงไฟฟ้าเหล่านี้ก็เกิดความขัดแย้งขึ้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่เดิมโรงไฟฟ้าขยะถูกจัดให้เป็นกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม แต่หลังจากปี 2553 รัฐบาลกลับเปลี่ยนให้กลายเป็นกิจการที่ไม่มีความรุนแรงและปลดล็อกคำสั่งกฎหมายผังเมือง กล่าวคือสามารถตั้งโรงไฟฟ้าขยะที่ใดก็ได้  ในแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ผ่านมาหลายจังหวัดในภาคเหนือมีการตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่เกษตรกรรม  เช่น เชียงราย และลำพูนซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าว, ข้าวโพด, ลำไย ดังนั้นแล้ว จึงเป็นเรื่องที่เราต้องกลับมาคิดทบทวนอีกครั้ง เพราะว่าแผน  PDP  ตอนนี้มันมองลงมาไม่ถึงคนข้างล่าง ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาพลังงานทางเลือกควรมีทิศทางอย่างไร และปัญหาของวิธีคิดในการจัดการพลังงานประเทศไทยนั้นมองว่า ประชาชนไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และกฝผ. คือผู้ผูกขาดไฟฟ้ามาเป็นเวลานานและผลักภาระให้กับประชาชน 

โดยสุมิตรชัยได้เสนอให้มีกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาที่มาจากระดับท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของคนในพื้นที่ เพราะแต่ละจังหวัดมีการใช้ไฟที่ต่างกันออกไป เพื่อหาแหล่งผลิตพลังงานที่เหมาะกับแต่ละท้องถิ่นได้และสุดท้ายสามารถนำไปประกอบรวมกับแผนชาติได้

ด้าน มนัสวัฑฒก์ ชุติมา จาก Old Chiangmai หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ ได้อธิบายในฐานะของผู้ประกอบการตัวแทนภาคธุรกิจที่ต้องยอมรับว่า น้อยคนที่จะรู้จักแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan: PDP)  แต่หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้สะท้อนกลับมาว่า  ผู้ประกอบการก็ต้องให้ความสำคัญกับแผนนี้ที่กำลังออกมาด้วยเช่นกัน และพบว่าประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าส่งเสริมการปล่อยคาร์บอนอยู่ นอกจากค่าไฟที่เพิ่มขึ้นเป็นผลทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าสูงขึ้นตามมาแล้วเหล่าผู้ประกอบการก็กำลังเผชิญกับโอกาสในการแข่งขันในตลาดที่ลดลง เป็นผลมาจากออกแบบแผนโดยไม่มีการพูดคุย รอบคอบ รัดกุม มนัสวัฑฒก์พูดถึงหลายประเทศในยุโรปที่มีการดำเนินการข้อตกลง European Green Deal  ร่วมกันในการนำเข้าสินค้าที่ต้องลดคาร์บอนและห่วงใยสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการสูญเสียโอกาสในการส่งออกสินค้าเนื่องจากต้องเสียค่าปรับ  

“สินค้าบ้านเราต่อให้ผลิตจากวัสดุรักษาสิ่งแวดล้อม แต่สุดท้ายแล้วองค์ประกอบก็ยังหนีไม่พ้นในเรื่องของไฟฟ้าเรายังเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนอยู่ ซึ่งถ้าเราเป็นผู้วางแผน PDP ตั้งแต่ต้น เราก็จะไม่ต้องเสียค่าปรับ ค่าปรับเหล่านั้นก็จะนำมาเป็นต้นทุน”

โดยมนัสวัฑฒก์เสนอให้ มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ผู้ประกอบการรายอื่นรับรู้ถึงแผนนี้มากขึ้น เพราะผู้ประกอบการต้องเจอกับค่าเสียโอกาสมากมาย จึงต้องทำให้เห็นว่าในอนาคตแผนพัฒนานี้จะมีการเสียผลประโยชน์อะไรบ้างและต้องการให้เปิดการแข่งขันเสรีเพื่อช่วยลดการผูกการของกลุ่มพลังงาน พร้อมกับมีมาตราการลดภาษีกับผู้ประกอบการ และ ภาคประชาชน  

อีกทั้งเสนอให้มีการตรวจสอบย้อนกลับการทำงานของรัฐได้เพราะขณะนี้การทำงานของรัฐขาดความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ และควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการตลาดมาช่วยแนะแนวผนวกกับการนำนโยบายการค้าในต่างประเทศมาร่วมวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า เพื่อที่สุดท้ายแล้วประเทศไทยจะมีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ประชาชนทุกกลุ่มและไม่ต้องแบกรับภาระหรือต้นทุนต่อไป 

ด้าน ศราวุธ รักษาศิลป์ ตัวแทนจาก Green Power Solar Energy ผู้ให้บริการออกแบบติดตั้งระบบไฟฟ้า ระบบโซลาร์อย่างครบวงจร เล่าถึงอุปสรรคของการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ชุมชนว่า ได้มีการให้คำแนะนำสินค้าโซลาร์เซลล์ให้กับกลุ่มชาวบ้าน แต่ชาวบ้านตั้งคำถามกลับมาว่า “มันถูกต้องไหม ไฟฟ้าจะทำอะไรฉันไหม”  ชาวบ้านไม่ได้มีข้อกังวลเรื่องเงินแต่กลับมีความกลัวต่อการไฟฟ้าว่าจะให้บริการอยู่หรือไม่ถ้าหากมีโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าเองได้

ศราวุธยกตัวอย่างถึงการที่ชุมชนสามารถสร้างรายได้ได้เอง เช่น การติดโซลาร์บนหลังคาวัด ศาลากลางหมู่บ้าน ประปาหมู่บ้าน ซึ่งในส่วนนี้จะสามมารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ แต่ปัจจุบันนี้คือการให้ส่วนกลางเข้ามาประมูลเข้ามาและสินค้าไม่มีคุณภาพทำให้ภาคประชาชนและภาคเกษตรกรรมไม่เปิดใจในการใช้โซลาร์เซลล์อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่ากันของภาคประชาชนและภาคเอกชน 

“ในฐานะคนใช้ไฟแล้ว เราออกแบบได้มากแค่ไหน การไฟฟ้าไม่เคยให้ข้อมูลเราเลยว่าเราใช้พลังงานไปกี่กิโลวัตต์ จนกว่าเราต้องติดตั้งโซลาร์ หรือซื้อมิเตอร์มาดู เพื่อที่จะออกแบบว่าควรลดหรือเพิ่มอย่างไร” 

นอกจากนี้ศราวุธได้เล่าถึงขั้นตอนการติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับผู้ประกอบการเอกชนในปัจจุบันที่ต้องดำเนินงานผ่าน 3 หน่วยงานหลัก คือ องค์กรปกครองส่วนตำบล การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และหากเกิน 200 กิโลวัตต์ ต้องทำเรื่องแจ้งเพื่อเป็นผู้ผลิตพิเศษ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้นับเป็นต้นทุน 15% ที่ต้องเสียทั้งหมดและใช้เวลาในการดำเนินการนานพอสมควร จึงมีข้อเสนอให้รัฐควรเข้ามาสนับสนุนและเอื้อต่อประชาชน เช่น การลดภาษี การติดโซลาร์เซลล์ เพื่อให้เราได้ใช้พลังงานที่สะอาดและผลิตไฟฟ้ากลับสู่ชุมชนได้มากขึ้น

ด้าน ชนกนันทน์ นันตะวัน จาก สม-ดุล เชียงใหม่ ระบุถึง มุมมองของผลกระทบที่ส่งผลกับประชาชน และ ธรรมชาติ และเป้าหมายของ Net zero ที่มีเป้าหมายมุ่งไปที่การลดคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจก และอื่น ๆ  แต่ไม่ได้มีการพูดถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นทรัพยากรและมีคุณค่าต่อชุมชนท้องถิ่น เช่น โครงการทำเหมือง โซลาร์ฟาร์ม การสร้างเขื่อน ซึ่งโครงการเหล่านี้จะไปเบียดบังและสร้างผลกระทบต่อพื้นที่ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้ถูกนำมาคำนวณแม้แต่น้อย

“ตอนนี้เราอ่อนแอมาก ๆ เราไม่สามารถอยู่ได้หากไม่มีเครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันคือต้นทุนที่รัฐผลักมาให้คนอย่างเราต้องซื้อ ต้องจ่าย ขณะนี้เราอยู่ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดลล้อมแต่เรากลับวิ่งไปข้างหน้า เพื่อหาอะไรมาทดแทนแต่กลับไม่ได้ลดใช้พลังงานลง ส่วนตัวมองว่าการหาโซลูชัน หรือ นวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยในการผลิตไฟฟ้าหรือการใช้พลังงานให้สะอาดมากขึ้น มันจะยิ่งเหมือนช่วยเราได้เหมือนสองเท่า”

ชนกนันทน์ กล่าวในมุมของนักสิ่งแวดล้อมว่า เราไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ได้ทันที ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตช้ามากขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น รายได้ที่น้อยลงแต่ต้องนำมาใช้จ่ายค่าพลังงานที่ไม่มีความจำเป็น

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือความสูญเสียในระดับปัจเจกที่เราต้องจ่ายค่าไฟโดยเปล่าประโยชน์ และในอนาคตมีการแข่งขันระดับนานาชาติที่มีกฎเกณฑ์บางอย่างที่ต้องทำให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมต้องทำตามเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไร  กระบวนการการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาเปรียบเสมือนเสียงที่ส่งไปไม่ถึงรัฐและท้ายที่สุดประชาชนก็คือผู้แบกรับภาระ

สุดท้ายชนกนันทน์เสนอให้ มีการปฏิรูปพลังงาน และ ปฏิรูปกฟผ.  การบริหารของรัฐที่การตัดสินใจอยู่ที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มที่ผูกขาดด้านพลังงาน ต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถเลือกแหล่งพลังงานของพวกเขาได้เอง และในฐานะประชาชนที่สามารถทำได้คือ การตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่าค่าที่เราต้องจ่าย คืออะไร มาจากไหน และผลกระทบของแผนพัฒนานี้มีอะไรบ้างดังนั้นแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเข้าถึงข้อมูลและการเข้าไปมีส่วนร่วม

และสุดท้ายตัวแทนจาก มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม  วัชราวลี คำบุญเรือง  ได้อธิบายถึงการศึกษาแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าทั้งฉบับปี2018 และร่างฉบับปี2024 พบว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจในแผนพัฒนาดังกล่าวได้เลยทันที  โดยส่วนตัวมีความสนใจในเรื่องของประเด็นพลังงานจึงได้ตั้งข้อสังเกตต่อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ว่าประชาชนอยู่ส่วนใดของการกำหนดแผนนี้ เพราะผู้กำหนดแผนคือกลุ่มพลังงานที่มาจากหน่วยงานรัฐและรัฐเองก็เห็นชอบ ดังนั้นแล้วต้นทาง กลางทาง ปลายทาง มาจากฝ่ายบริหารทั้งหมด

ถึงแม้จะมีกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นออนไซต์ของประชาชนที่มาจากรัฐวิสาหกิจและเอกชน แต่ในภูมิภาคอื่น ๆ นั้นเป็นเพียงระบบรับฟังความคิดเห็นแบบออนไลน์ กล่าวได้ว่ากระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนนี้มีใครบ้างที่เข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง ? และระบุถึงความแปลกของรัฐไทยกับรูปแบบการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและทำให้กระบวนการที่สำคัญเหล่านี้กลายเป็นเพียงพิธีกรรมส่วนนึงเท่านั้น 

“ไม่มีประชาชนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนส่วนเสียเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับการคิดแผน การรับฟังก็เป็นเพียงพิธีกรรมที่เรามีส่วนร่วมได้น้อยมาก สุดท้ายขั้นตอนเราอนุมัติเราก็แทบไม่มีอำนาจใด ๆ เลย และสิ่งที่ยากที่สุดคือภาษายากมาที่จะเข้าใจ”

วัชราวลีกล่าวว่า ตนไม่เห็นภาพและไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ภาครัฐกำลังทำอยู่คือทำเพื่อใคร หรือคนกลุ่มใด จึงตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่า การที่รัฐมีทรัพยากร มีเงินทุนมากมายในการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและทำให้ภาษาที่ระบุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้านี้เข้าใจได้ง่าย แต่รัฐเลือกที่จะไม่ทำและเปิดให้แสดงความคิดเห็นโดยการคอมเมนต์ใต้ภาพซึ่งบางข้อความก็ถูกจำกัดความคิดเห็น

สุดท้ายจึงเสนอให้มี แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP)  ที่มีเลือดเนื้อ มีจิตใจ และความเป็นธรรมต่อคนทุกกลุ่ม เพราะร่างแผน  PDP 2024 นี้ไม่สามารถบอกเราได้ว่าสัดส่วนของพลังงานที่เราใช้ไปนั้นได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน ป่าไม้ อย่างไรบ้าง ที่สำคัญคือไม่สามารถบอกได้ว่าได้สร้างความขัดแย้งต่อชุมชน อาชีพ วัฒนธรรม ได้อย่างไร ซึ่งต้นทุนต่าง ๆ เหล่านี้กลับไม่ปรากฏในแผน อีกทั้งเสนอให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างโดยรัฐดำเนินนโยบายจากด้านล่างขึ้นบนเพื่อออกแบบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าให้กับคนทุกกลุ่มในประเทศได้อย่างแท้จริง

ต่อมาในช่วงบ่าย กิจกรรม แผน PDP2024  ที่อยากเห็น ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยในหัวข้อโหวตต่าง ๆ ทั้งหมด 14 ข้อ  ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การซื้อไฟจากเขื่อนต่างประเทศเพิ่ม, การใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน, การกำหนดสัดส่วนโซลาร์บนหลังคา, โรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งคนภาคเหนือยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นที่ PDP 2024 จะยังคงสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงถ่นหินไว้ที่ 7% เพราะเป็นสัดส่วนที่น้อยจึงสามมารถใช้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาทดแทนส่วนนี้ได้ และเห็นด้วยว่าควรปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ในส่วนของประเด็นโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งคนภาคเหนือเห็นด้วยตรงกันอีกว่าไม่ต้องการ เพราะไม่เชื่อใจในกระบวนการผลิตและคุณภาพ รวมถึงโรงไฟฟ้าเหล่านี้ไม่ตอบโจทย์การนำวัสดุเหลือใช้จากเกษตรมาผลิตไฟฟ้า เพราะอย่างไรก็ตามต้องตัดไม้มาทำเป็นเชื้อเพลิงอยู่ดี พร้อมระบุถึงเรื่องกฎหมายผังเมืองที่ทำให้โรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 9.9 เมกะวัตต์ มาตั้งในชุมชนได้โดยไม่ต้องทำ EIA ซึ่งสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก

โดยสามารถร่วมโหวตความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP 2024 เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอไปยังภาครัฐออนไลน์ได้ที่ https://forms.gle/TSbYPrVWLQyRmG3L6

ในช่วงท้ายมีการระดมข้อเสนอเพื่อจัดทำแผน PDP ของประชาชนภาคเหนือ  โดยเห็นตรงกันว่าควรมีการจัดทำแผน PDP ที่มาจากระดับล่างขึ้นบน และต้องให้ประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ มีส่วนร่วมและเป็นผู้กำหนดเองว่าต้องต้องการให้แต่ละพื้นที่เป็นแบบไหน ต้องการอะไร และไม่ต้องการอะไร ภาครัฐไม่ควรเป็นผู้กำหนด ร่างแผน PDP ไม่ควรมาจากด้านบนสู่ด้านล่าง ยิ่งไปกว่านั้น การพิจารณาถึงผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ สุดท้ายจึงเสนอให้มีการเยียวยา ฟื้นฟู ชดเชย และรับผิดชอบต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากร่างแผน PDP อีกด้วย 

ทั้งนี้ข้อเสนอเหล่านี้จะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอต่อกระทรวงพลังงานและรัฐบาล เพื่อให้เกิดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ยึดเสียงของประชาชนเป็นที่สำคัญ และจะสรุปผลพร้อมกันกับความคิดเห็นและข้อเสนอที่ได้จากเวทีในภาคอื่น ๆ รวมทุกภูมิภาคของประเทศไทย ในเวทีระดมความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP2024 ที่จะจัดขึ้นที่ กรุงเทพฯ ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ณ หอศิลปกรุงเทพฯ

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง