คนเฒ่าที่แพร่ ก็ต้องดูแลตัวเอง

เรื่องและภาพ: ลักษณารีย์ ดวงตาดำ

(จากซ้ายไปขวา ยายแอ๊ด รองประธานชมรม และยายวันนา เกียรติภัทราภรณ์ ประธานชมรมผู้สูงอายุ ตำบลร่องกาศ จังหวัดแพร่)

“ประเทศไทย ‘กำลังเข้าสู่’ สังคมผู้สูงวัย” เป็นคำกล่าวที่ได้ยินมาตลอดระยะเวลาหลายปี แต่ไม่ใช่สำหรับจังหวัดเล็กๆ แห่งนี้ จังหวัดแพร่ อยู่ในสังคมผู้สูงอายุ อย่างเต็มรูปแบบแล้ว

ข้อมูลจากรายงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จังหวัดแพร่ ปี พ.ศ. 2565 โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแพร่ พบว่า ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป มีถึง 100,865 คน คิดเป็นร้อยละ 32.77 ผู้สูงอายุมากขึ้นจากปี 2564 จำนวน 4,575 คน ซึ่งจังหวัดแพร่ มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 117,687 ครัวเรือน มีประชากร จำนวน 307,835 คน

ยายวันนา เกียรติภัทราภรณ์ หรือ ยายนา วัย 76 ปี ประธานชมรมผู้สูงอายุ ตำบลร่องกาศ จังหวัดแพร่ พร้อมด้วยยายแอ๊ด รองประธานชมรม เล่าว่านับตั้งแต่ประธานคนก่อนเสียชีวิต เนื่องจากไม่มีกำหนดวาระการเลือกตั้งประธานใหม่ คุณยายทั้งสองจึงดำรงตำแหน่งกรรมการชมรม ประสานงานดูแลกิจกรรมของผู้สูงอายุในหมู่บ้านมามากกว่า 10 ปี

เมื่อคัดกรองผู้สูงอายุตามความสามารถในการทํากิจวัตรประจําวัน เป็นกลุ่มเข้าสังคม(ช่วยเหลือตนเองได้ดีและช่วยเหลือคนอื่นได้) ติดบ้าน(ช่วยเหลือตนเองได้) และกลุ่มติดเตียง(ช่วยเหลือตนเองไม่ได้) ชมรมผู้สูงอายุจัดเป็นกลุ่มเข้าสังคมที่ช่วยโอบอุ้มเอาใจใส่และพัฒนาให้สังคมผู้สูงวัยสามารถดำเนินไปได้อย่างดี

(วันนา เกียรติภัทราภรณ์ หรือ ยายนา ประธานชมรมผู้สูงอายุ ตำบลร่องกาศ จังหวัดแพร่)

ชมรมผู้สูงอายุ เป็นโครงการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างสุขภาวะของผู้สูงวัย โดยกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันไปตามความถนัดและสนใจของสมาชิกผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ สำหรับบาบาทหน้าที่ของยายนา และยายแอ๊ด คือการสำรวจและรวบรวมข้อมูลสุขภาพ รวมไปถึงทักษะอาชีพ งานอดิเรกและความสนใจของสมาชิกผู้สูงอายุในหมู่บ้าน เพื่อประสานงานในการจัดกิจกรรมร่วมกัน เช่น การแลกเปลี่ยนทักษะอาชีพ การเป็นศูนย์พื้นที่แลกเปลี่ยนข่าวสาร และพื้นที่พบปะสังสรรค์ของผู้สูงอายุในชุมชน ตลอดจนถึงเยี่ยมเยียนดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย และช่วยเป็นธุระดำเนินการงานกุศลเมื่อมีผู้สูงอายุในชุมชนเสียชีวิตจากไป

“ผู้สูงอายุอยู่บ้านไม่มีลูกหลาน ไม่มีงานทำ ก็อาจจะง่อมเหงาเศร้าใจ เมื่อเป็นทุกข์ทางใจ ขาดเป้าหมายของชีวิตแล้วก็อาจจะมีโรคทางกายตามมาทำให้ทรุดโทรมโรยรา ในหมู่บ้านที่มีคนแก่อยู่ในทุกหลังคาอย่างนี้ ถ้าไม่คบหารวมตัวกันไว้ หากมีใครป่วยตายในบ้านไม่มีใครรู้ ก็เป็นที่น่าสงสาร ถ้ายังมีกำลังดูแลใส่ใจคนอื่น ทำแล้วมีความสุขก็ทำไปพอให้ใจไม่เหงา สุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นภาระให้ลูกหลานต้องทำงานหาค่าหมอค่ายา” 

ยายนา กล่าวว่าผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง อาจเกิดปัญหาด้านสภาพจิตใจและร่างกายได้ หากขาดการเอาใจใส่จากลูกหลานคอยดูแลในช่วงบั้นปลายของชีวิต เมื่อมีปัญหาสุขภาพ ก็อยากลดภาระของวัยทำงานแล้วพึ่งพาตนเองได้ด้วยทักษะอาชีพที่มี

แพร่ เป็นจังหวัดทางผ่านที่ผู้คนมักจะผ่านเข้ามาอำเภอเด่นชัยไปสู่จังหวัดท่องเที่ยวอื่นในภาคเหนือมากกว่าเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดแพร่ ประกอบกับการคมนาคม ขนส่งธารณะที่ถดถอย ภูมิประเทศที่มีข้อจำกัด ทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดเติบโตได้ช้า ผนวกกับค่านิยมเดิมที่ครอบครัวมักส่งบุตรหลานให้ออกจากจังหวัดไปเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาชั้นนำ และทำงานประจำในเมืองใหญ่ ส่งผลให้ผู้คนรุ่นใหม่เลือกที่จะเริ่มต้นครอบครัวในพื้นที่ใหม่ไม่กลับบ้าน จังหวัดแพร่จึงเหลือเพียงแต่ผู้สูงอายุยังคงอยู่เฝ้าประตูสู่ล้านนาโดยแทบไร้การเหลียวแล

“ผู้สูงอายุแบ่งกลุ่มงานตามความสนใจ เช่น กลุ่มมัดย้อม ลีลาศ กายภาพ เย็บปัก จักสาน ซึ่งนัดพบกันตามวาระต่างๆ แต่อีกหน้างานหลักของชมรมผู้สูงอายุ คือการดูแลคนเจ็บ และคนตาย เมื่อมีข่าวใครเจ็บป่วยก็ไปเยี่ยมเยือนเพื่อดูว่ามีหน่วยงานเข้ามาดูแลไหม ได้รับสิทธิ์ครบไหม ต้องการอุปกรณ์ช่วยเหลือ หรือคนดูแลอย่างไร  เมื่อมีข่าวใครตาย อีกหน้างานหนึ่งของยายคือการฝึกสอนกลุ่มทำตุง และดอกไม้สำหรับงานศพ แต่ก่อนสามีของยายช่วยเหลาไม้ แต่เดี๋ยวนี้แกช่วยไม่ได้อีกแล้ว แกล้มจนอัมพาตติดเตียง ต้องจ้างคนมาดูแล”

ยายนาเล่าถึงสถานการณ์ที่ผู้สูงอายุในหมู่บ้านซึ่งเคยไปมาหาสู่ทำกิจกรรมร่วมกัน วันหนึ่งก็ถึงคราวเจ็บป่วย และจากไปทีละคนสองคนไม่เว้นในแต่ละสัปดาห์ และไม่เว้นแม้แต่คนใกล้ชิดที่สุดของยาย แม้จะมีโรงพยาบาลในพื้นที่ อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยมาเยี่ยมดูแลในบางครั้ง แต่ผู้สูงอายุต้องการการหนุนเสริมกำลังใจจากความผูกพันและยังต้องการสังคม

“ยายมีลูกๆ หลายคน และมีหลานอีกหลายคน แต่มีลูกที่ลงหลักปักฐานที่บ้านเดิม 1 คนเท่านั้น ส่วนหลานๆ เมื่อถึงเวลาเข้ามหา’ลัย จบแล้วก็ไปอยู่ที่อื่น เพราะเมืองแพร่ไม่มีงานอย่างที่เขาเรียนมา อย่างที่เขาอยากจะทำ ไปไหนมาไหนก็ลำบากหากไม่มีรถใช้ แม่ค้าพ่อค้าที่จะเข้าเมืองก็ต้องรอรถสองแถวตอนเช้า และรอกลับตอนเย็นเท่านั้น คนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตรวดเร็วเมื่อกลับมาอยู่ในเมืองที่เงียบเหงามีแต่คนเฒ่าคนแก่ให้ต้องเป็นภาระดูแล ก็ยากที่จะอยู่ร่วมกันและอยู่ให้รอด”

ยายนาสะท้อนมุมโดดเดี่ยวของเมืองแพร่ ที่ไม่ตอบโจทย์สำหรับการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตจากเมืองใหญ่จนไม่สามารถกลับเข้ามาหลักในจังหวัดที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดในการพัฒนาแห่งนี้ได้ 

“งานในจังหวัดมีน้อย คนรุ่นใหม่ที่กลับมาหากไม่รับราชการก็ทำเกษตร ค้าขายหรือเป็นลูกจ้างทั่วไป เมื่อเห็นลูกหลานใครเริ่มต้นเปิดกิจการอะไรไม่นานก็หยุดไป เพราะสภาพแวดล้อมไม่ได้เอื้อให้เติบโต  แต่อาชีพหนึ่งที่ขาดแคลนมาก หาคนเชี่ยวชาญได้ยากและไม่มีใครอยากทำ คือผู้ดูแลคนป่วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุป่วยติดเตียง ควรมีจัดอบรมหลักสูตรจัดการการดูแลผู้สูงอายุ มีสวัสดิการให้อาชีพนี้ ครอบครัวผู้ป่วยให้ค่าจ้างส่วนหนึ่ง รัฐช่วยสนับสนุนด้วยอีกส่วนหนึ่ง เพราะการดูแลผู้ป่วยเป็นงานหนักต่อทั้งร่างกายและจิตใจ หากไม่มีคนหนุ่มสาวกลับบ้านมาดูแลคนเฒ่าคนแก่ อย่างน้อยก็มีคนช่วยดูแลให้ใช้ชีวิตที่เหลือได้อย่างราบรื่น คนเจ็บคนตายก็อาจจะชะลอลง ให้ได้ริเริ่มทำกิจกรรมร่วมกันอย่างอื่นๆ นอกเหนือจากตุงและดอกไม้งานศพ” 

สุดท้ายยายนาได้ส่งต่อโจทย์สำคัญที่ต้องการผลักดันให้จังหวัดแพร่สามารถรองรับความหวัง ความฝันของคนรุ่นใหม่ มากพอที่จะสามารถกลับมาอยู่ร่วมกับผู้สูงวัยในจังหวัดแพร่ ไม่ให้เป็นเพียงเมืองทางผ่านที่ทอดทิ้งให้คนแก่ต้องดูแลกันเอง

อ้างอิง

รายงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จังหวัดแพร่ ปี พ.ศ. 2565 


คอลัมน์ แม่สีเวยเผยแพร่ โดย ลักษณารีย์ ดวงตาดำ ที่จะมาเผย 'แพร่' เรื่องราวชีวิตผู้คนในเมืองแพร่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง