เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง
“จายสายมาว” ชื่อเสียงเรียงนามนี้คงเป็นที่คุ้นหูหรืออยู่ในความทรงจำของผองคนชนไทใหญ่ในฐานะศิลปินเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุด “จาย” หรือ “ชาย”นั้น เป็นคำนำหน้านามเรียกชื่อของ “พ่อชายคนไตย” เฉกเช่นเดียวกับคนว่า “นาง” ซึ่งเป็นคำนำหน้านามเรียกชื่อของ “แม่ญิงคนไตย” ดังนั้น จายสายมาวจึงเป็นนามเรียกขานของผู้ชายที่มีชื่อว่า “สายมาว” อันเป็นนามที่สัมพันธ์กับ “ลุ่มน้ำมาว” อันเป็นแผ่นดินถิ่นเกิดของเขา ทั้งนี้ ผลงานเพลงของเขาไม่ต่ำกว่า 50 อัลบั้มของจายสายมาวนั้น ก็น่าจะเป็นสิ่งยืนยันถึงการได้รับความนิยมชมชอบที่แฟนเพลงมีต่อตัวเขาได้ดีซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลงานการสร้างสรรค์จากตัวของเขาเอง เพื่อขับกล่อมทั่วถิ่นแผ่นดินรัฐฉานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 เพลง
ขณะเดียวกัน ผลงานเพลงนับได้ว่าโด่งดัง และสร้างชื่อเสียงให้เขามากที่สุดอย่างเพลง ลิกโหมหมายป๋างโหลง หรือที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “สัญญาปางโหลง” ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ของนายแพทย์ชาวไทใหญ่ที่มีนามว่า “จายคำเหล็ก” นั้น สร้างความโด่งดังและก่อให้เกิดกระแสความนิยมทางชาติพันธ์และการเมืองให้แผ่ขยายเป็นวงกว้าง เนื่องจากบทเพลงดังกล่าว มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการทวงสัญญา ซึ่งรัฐบาลพม่าเคย ให้ไว้กับชาวไทยใหญ่ เมื่อบทเพลงนี้ได้รับความนิยมและโด่งดังมากขึ้นเรื่อย ๆ ความดังของเพลงที่ว่านี้มีผลให้ “สายมาว” ถูกรัฐบาลทหารพม่าขณะนั้น จับตัวคุมขังเขาไว้ในเรือนจำและผลงานเพลงดังกล่าวก็ได้กลายเป็นเพลงต้องห้ามในประเทศเมียนมาอยู่ช่วงเวลาหนึ่งเลยทีเดียว
ก๊อนเก๊าเล่าล้านนาวาระนี้ ขอนำเสนอเรื่องราวของ “จายสายมาว” ศิลปินนักร้องชื่อดังชาวไทใหญ่ ผู้สร้างสรรค์ผลงานขับกล่อมผืนแผ่นดินถิ่นรัฐฉานมาหลายทศวรรษ รวมทั้งคอยปลุกเร้าอารมณ์เพื่อหลอมรวมจิตสำนึก “ความเป็นคนไต” ทั้งที่พำนักอาศัยในแผ่นดินแม่และแผ่นดินประเทศปลายทางที่คนไตยหลายคนต่างก็ได้อพยพย้ายเข้ามาไปแสดงหาโอกาสให้แก่ชีวิตของพวกเขาและครอบครัว ชีวิตของสายมาวจึงสัมพันธ์อยู่ท่ามกลางบริบทความเปลี่ยนเพลงทางสังคมการเมืองในประเทศเมียนมานับตั้งแต่ก่อนการเกิดขึ้นของสัญญาปางโหลง ขบวนการกอบกู้ชาติไทใหญ่และสถานการณ์การเมืองว่าด้วยเรื่องความขัดแย้งระหว่างเมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่รัฐฉานหรือไทใหญ่ โดยระยะหลัง ๆ ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วยอายุที่มากขึ้นทำให้เขามีสุขภาพร่างกายที่ย่ำแย่ต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน สายมาวเริ่มมีอาการทรุดโทรมลงจนต้องอาศัยการนั่งรถเข็นเพราะไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ลูกหลานได้นำพาเขาเข้ามารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลในย่านอินเส่ง กรุงย่างกุ้ง ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงในวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ บ้านพักใจกลางกรุงย่างกุ้งด้วยอายุวัย 76 ปี จากอาการป่วยด้วยโรคปอด
ผู้เขียนขอนำเสนอเพื่อปูพื้นบริบทเหตุการณ์ก่อนการถึงเรื่องราวชีวิตและผลงานเพลงอันโด่งดังของเขา โดยอยากพาผู้อ่านย้อนกลับไปในช่วง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2490 อังกฤษและสหรัฐอเมริกา สองประเทศหลักที่เป็นฝ่ายกุมชัยชนะในสงครามได้มีการจัดทำข้อตกลง “Atlantic Charter” ระบุถึงรายละเอียดคืนเอกราชให้กับประเทศต่าง ๆ ที่เป็นอาณานิคมเมื่อสงครามโลกยุติลงและพร้อมทั้งส่งเสริมให้ประเทศเหล่านั้นจัดตั้งรัฐบาลเพื่อปกครองตนเอง
ขณะที่เมียนมาซึ่งมีฐานะเป็นอาณานิคมของอังกฤษได้มีการจัดแบ่งการปกครองออกเป็น 2 คือส่วนพม่าแท้ (Burma) และส่วนภูเขาอันประกอบด้วยคนกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ ซึ่งทางอังกฤษมีความเห็นว่าถ้ามเมียนมาต้องการได้รับเอกราชจากอังกฤษ ก็ควรจะรวมการปกครองให้เป็นหนึ่งเดียวเสียก่อน เพื่อจะได้เจรจาขอเป็นเอกราชจากอังกฤษได้ เขตพม่าแท้จึงชักชวนเขตภูเขาให้มารวมตัวเป็นประเทศเดียวกันเป็นการชั่วคราว เพื่อประโยชน์ในการร่วมมือกับรัฐบาลพม่า โดยการประสานงานของนายพลออง ซาน ที่เรียกร้องและขอความร่วมมือจากเจ้าฟ้ารัฐฉาน ผู้นำของฉิ่น คะฉิ่นและคะยาห์ในการรวมตัวเพื่อความเป็นเอกภาพของสหภาพเมียนมา ที่จะประกาศตนเป็นอิสระจากการเป็นข้าอาณานิคมของอังกฤษตามข้อตกลงในการประชุมปางโหลง (Panglong Agreement) โดยได้ลงนามเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947 ระหว่างตัวแทนชาวพม่าแท้และสภาผู้นำร่วมสหพันธรัฐเทือกเขา (Supreme Council of the United Hill People: S.C.O.U.H.P.) ที่เมืองปางโหลง รัฐฉานซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐชาน รัฐกะฉิ่น และรัฐชิน จำนวน 23 คน ที่ตกลงจะร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษเท่านั้น ซึ่งเจ้าฟ้ารัฐฉานก็ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลย่างกุ้ง
ทั้งนี้ ข้อตกลงปางโหลงได้รับการบันทึกในรัฐธรรมนูญพม่าฉบับปี พ.ศ. 2490 ที่ให้สิทธิพิเศษแก่รัฐบาลชนกลุ่มน้อยที่เข้าร่วมประชุม คือ รัฐฉาน คะยาห์ รัฐคะฉิ่น และฉิ่น ให้สามารถแยกตัวเป็นอิสระหลังการรวมตัวอยู่ภายใต้สหภาพเมียนมาครบ 10 ปี เงื่อนไขนี้ได้รับการรับรองจากรัฐบาลพม่าและรัฐธรรมนูญการปกครองพม่า สำหรับรัฐอื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมลงนามในสัญญาปางโหลง เนื่องจากยังมีข้อกังขาเรื่องความจริงใจของรัฐบาลพม่าในการให้อิสระแก่รัฐในภายหลังโดยเฉพาะรัฐกะเหรี่ยง โดยมีสาระสำคัญของสัญญาปางโหลงได้ระบุข้อตกลงไว้ 9 ประการ อาทิ ตัวแทนของสภา S.C.O.U.H.P. สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ปรึกษาในคณะรัฐบาลพม่าได้ 1 ตำแหน่งโดยสหพันธรัฐเทือกเขามีสิทธิปกครองตนเองอย่างอิสระ และสหพันธรัฐเทือกเขาต้องมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับพม่าแท้ทุกประการ เป็นต้น
หลังจากเมียนมารวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวแล้ว เมียนมาได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2490 เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่า โดยได้บรรจุเรื่องสิทธิการแยกตัวของรัฐต่าง ๆ ที่ร่วมลงนามในข้อตกลงในสัญญาปางโหลงไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยผลการเลือกตั้งปรากฏว่านายอองซาน ผู้ก่อตั้งองค์กรสันนิบาตเสรีภาพต่อต้านฟาสซิสต์แห่งมวลชน (the Anti-Fascist People’s Freedom League: AFPFL) ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นและได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2490 ขณะที่นายอองซานและคณะรัฐมนตรีกำลังประชุมเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวอยู่ ได้มีคนร้ายลอบบุกเข้าสังหาร ส่งผลให้นายอองซานและรัฐมนตรีอีก 6 คน เสียชีวิต นายอูนุ สมาชิกในกลุ่ม AFPFL ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากนั้นด้วยการสนับสนุนของอังกฤษเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์และประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 24 กันยายนพ.ศ. 2490 อังกฤษจึงได้ให้เอกราชแก่เมียนมา
เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 ในช่วงสิบปีแรกของการอยู่ร่วมกันระหว่างรัฐฉานและรัฐบาลพม่านับตั้งแต่พม่าประกาศอิสรภาพจากอังกฤษในปี พ.ศ. 2491 เป็นต้นมา ผู้นำรัฐฉานต่างให้ความร่วมมืออันดีในการปกครองและบริหารประเทศร่วมกันกับรัฐบาลพม่า แม้ว่าในระยะเวลาเดียวกันนี้จะเกิดการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกลางของพม่าและพรรคคอมมิวนิสต์พม่า อีกทั้งองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองของกะเหรี่ยงและมอญ แต่ชาวไทใหญ่ก็ยังคงให้คงให้ความร่วมมือและมั่นคงอยู่กับรัฐบาลของพม่าอีกช่วงระยะหนึ่งนับจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ หลังจากนั้นจึงมีสิทธิแยกตัวออกมาปกครองตนเอง แต่เนื่องจากนายพลอองซานถูกลอบสังหารก่อนครบกำหนดสัญญา และผู้นำพม่าคนใหม่ได้ฉีกสัญญาดังกล่าวทิ้งไป ชาวไทยใหญ่จึงต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพพม่ามาจนถึงทุกวันนี้
เป็นเวลา 2 ปีภายหลังเหตุการณ์ฉีกทิ้งสนธิสัญญาสำคัญที่เหล่าบรรดาเจ้าฟ้า ร่วมทั้งตัวแทนประชาชนชาวไต ชาวเขา และตัวแทนรัฐบาลพม่า (นายพลอองซาน) ทำร่วมกันไว้ ก่อนที่จะได้รับเอกราชพร้อมกับพม่า ในปี 2490 ณ เมืองป๋างโหลงรัฐฉานใต้ ซึ่งเอกสารดังกล่าวนี้จะมีส่วนกำหนดอนาคตและความเป็นไปของการสร้างรัฐชาติของเหล่าบรรดาชาติพันธ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะชาติพันธ์ไตย หลังการละเมิดสัญญาดังกล่าว ชาวไทยใหญ่จึงเริ่มลุกขึ้นจับปืนสู้รบเรียกร้องเอกราชจากรัฐบาลกลางพม่า ท่ามกลางเสียงปืนดังก้องไปทั่วแผ่นดินรัฐฉาน
ขณะที่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ในเขตลุ่มน้ำมาว เมืองหมู่เจ๊หรือเวียงหมู่เจ้ทางรัฐฉานตอนเหนือใกล้ชายแดนติดต่อกับประเทศจีน ครอบครัวของพ่อลุงป้ะแข่งและป้านางเอ๊ขิ่นสองสามีภรรยาชนชั้นกลางชาวไตยได้ให้กำเนิดบุตรชายคนที่ 4 ของบ้านเมื่อวันอังคาร ที่ 18 กุมภาพันธ์ พศ. 2492 และนั่นคือจุดเริ่มต้นของชีวิตศิลปินดังที่ได้รับสมญานามจากเพื่อนของผู้เขียนหลาย ๆ คนว่า “พี่เบิร์ดเมืองไตย” ซึ่งจะว่าไปแล้ว “สายมาวก็คือสายมาว เป็นคนไตยโดยสายเลือดและเก่งกล้าสามารถโดยเลือดคนไตย หาใช่เบิร์ดหรือน้าแอ๊ดอะไรแต่อย่างใดไม่”
กลับมาที่ประเด็นความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยด้านคติชนวิทยาบ้าง ผู้เขียนอยากอธิบายนิดหนึ่งว่า สำหรับผู้คนในเขตพื้นที่ทางวัฒนธรรมไทย-ไตยมักตั้งชื่อลูกตามลำดับเลข ดังนั้น อ้ายไส่ (ที่แปลว่าลูกชายคนที่ 4) จึงเป็นชื่อเรียกเขาแรก ๆ จากครอบครัวหรือคนทั่วไปเรียกเขาว่า “จายสายมาว” ตามชื่อของ “ลำน้ำมาว” ซึ่งไหลพาดผ่านระหว่างชายแดนจีนและเมียนมาโดยมีเมืองสำคัญที่ตั้งอยู่ริมน้ำมาวอย่าง เมืองมาว (ซึ่งเป็นเขตปกครองหนึ่งของเมืองรุ่ยลี่ของประเทศจีน) หรือเวียงหมู่เจ๊ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมาอันเป็นบ้านเกิดของเขา โดยที่สายมาวมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันถึง 6 คน ได้แก่ คนแรกคือ จายหลาวใส (หรือดาวใส) ซึ่งเป็นนักแต่งเพลงและนักร้องเหมือนกัน คนที่สอง คือ จายเหลินคำ (หรือจายเดือนคำ ซึ่งเสียชีวิตแล้ว) คนที่สาม คือ จายอ้ายสาม (เสียชีวิตแล้ว) คนที่สี่ คือ จายสายมาว คนที่ห้า จายแลงใส (หรือจายแดงใส) และคนสุดท้องเป็นผู้หญิง คือ นางเต็งห่าน (ซึ่งเสียชีวิต) โดยที่ชีวิตส่วนตัวของเขามีมีภรรยาทั้งหมด 4 คน คนแรกเสียชีวิตไปแล้ว คนที่สองมีลูกด้วยกัน 3 คน คนที่สามมีบุตรด้วยกัน 1 คนและคนที่สี่มีบุตรด้วยกัน 1 คน
ทั้งนี้ สายมาว เริ่มเรียนหนังสือ ที่เวียงหมู่เจ้ รัฐฉาน (เมิงไต)ตอนเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2497 และเริ่มหัดเล่นกีต้าร์และร้องเพลงเมื่อเขาเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มน้อยที่มีอายุได้ 15 ปี ก็คือในปี พศ.2507 อันเป็นปีเดียวกันกับพระมหาเทวีเฮือนคำแห่งเจ้าส่วยแต๊ก เจ้าฟ้าเมืองหยองห้วยและประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่าหลังได้รับอิสรภาพจากอังกฤษได้มีการก่อตั้งกองทัพรัฐฉาน(Shan State Army : SSA) ขึ้นมา โดยช่วงเวลาแห่งโอกาสของสายมาวได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณปี พศ.2510 -2511 ปู่ของเขาซึ่งเป็นผู้นำชมรมวัฒนธรรมไทยใหญ่ ณ เมืองตองจี(ตองยี) เมืองหลวงของรัฐฉานได้ ได้ชักชวนนำพาเขาให้ไปเป็นคนคอยติดตามเวลาจะไปไหนมาไหน ทำให้หนุ่มน้อยสายมาวไดเมีโอกาสได้เดินทางจนไปถึงอำเภอท่าขี้เหล็กซึ่งขึ้นตรงกับจังหวัดเชียงตุงในอดีต (ปัจจุบันแยกตัวเป็นจังหวัดแล้ว) ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทำให้สายมาวมีโอกาสได้ร้องเพลง ที่สถานีวิทยุในจังหวัดเชียงรายหลายบทเพลง อย่างเช่นเพลง “น้ำคง”(แม่น้ำสาละวิน) และผลงานเพลง “ไทยใหญ่-ไทยน้อยเหมือนกัน” สะพานข้ามแม่น้ำสายและงานฤดูหนาวประจำอำเภอแม่สายซึ่งจัดขึ้นในมูลนิธิกวงเม้งเมื่อหลายทศวรรษก่อนก็จึงน่าจะเป็นประตูแห่งโอกาสบานแรก ๆ ที่เปิดโอกาสให้หนุ่มน้อยสายมาวเดินทางเข้ามาร้องเพลงในเชียงใหม่อีกด้วย
ในปี พศ. 2511 เป็นปีที่แจ้งเกิด “จายสายมาว” เพราะเขาได้นำผลงานเพลง “ลิกห่มหมายป๋างโหลง” (สัญญาป๋างโหลง) ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ของนายแพทย์จายคำเหล็ก ซึ่งเป็นทั้ง ครู แพทย์ และนักแต่งเพลงชื่อดังชาวไทใหญ่ บทเพลงของเขาได้ทำหน้าที่เป็นสื่อสะท้อนสังคมที่นำเสนอเนื้อหากล่าวทวงถามถึงสัญญาและความเป็นธรรมระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับผู้นำชาติพันธ์ที่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวไปร้องตามงานต่าง ๆ และนี่เป็นเนื้อความบางส่วนของบทเพลงนี้
“เมืองแห่งอิสรภาพของชาวไทยใหญ่
ตามข้อตกลงปางโหลงมอบให้
สัญญากันไว้เป็นมั่นเหมาะ
แล้วกลับคำกันได้หรือไร
ใครทรยศก็รู้แก่ใจ
ไม่ใช่เราชาวไทยใหญ่แน่นอน
ความจริงของเราย่อมประจักษ์
สัญญาปางโหลงที่ให้นั้น
จากไปพลันกับอองซานหรือไฉน”
ด้วยคุณภาพด้านเนื้อหาสาระของเพลง น้ำเสียงอันบาดลึกกินใจคนฟัง จึงทำให้บทเพลงดังกล่าวนี้กลายเป็นเพลงยอดนิยมที่แผ่ขยายไปอย่างรวดเร็วในเวลาไม่นาน เมื่อความนิยมในบทเพลงขยายตัวมากขึ้น เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของพม่าจึงอยู่เฉยไม่ได้อีกต่อไป สายมาวถูกจับกลางเวทีคอนเสิร์ตในปีเดียวกันนั้น ต้องไปนอนอยู่ในคุกเป็นเวลา 2 ปี 17 วันในฐานความผิดที่ร้องเพลงดังกล่าว เมื่อพ้นโทษออกมาทางการพม่าก็ห้ามมิให้ร้องเพลง “สัญญาป๋างโหลง”อีกต่อไป
ภายหลังจากที่สายมาวพ้นจากการจองจำเป็นระยะเวลาประมาณสองปีเศษ เขาจึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการกู้ชาติไทใหญ่ SSA เพื่อช่วยงานทางด้านวัฒนธรรม ภายใต้การได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากเจ้ามหาซาง ผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยของเขาในเวลานั้นเพื่อทำการบันทึกเทปอัลบั้ม “ลิกห่มหมายป๋างโหลง” ซึ่งนับเป็นอัลบั้มชุดแรกของเขา ขณะเดียวกัน เทปเพลงของเขาถูกส่งไปขายทั้งบริเวณชายแดนทั้งพื้นที่ของประเทศไทยและพื้นที่ของรัฐฉาน ตลอดจนมีคนแอบนำเข้าไปขายในลักษณะเทปใต้ดินอยู่เสมอซึ่งส่งผลให้บทเพลงนี้แพร่ขยายจนได้รับความนิยมจากมหาชนคนหนุ่มสาวชาวไตยและคนทั่วไปอย่างยิ่งยวด
แม้เป็นเวลากว่า 4 ที่สายมาวเข้าร่วมกับ กองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ SSA จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 สายมาวมอบตัวกับพม่าเพราะการไปร่วมกับกองกำลังกู้ชาตินั้นถูกทหารตำรวจพม่าหาเรื่องประชาชนฐานความผิดที่ครอบครองเทปหรือเผยแพร่เพลงของจายสายมาวไม่ว่าจะเป็นเพลงปลุกใจหรือไม่ก็ตามว่ามีความผิดหรือถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนพวกกบฎแต่แล้วไม่กี่ปีต่อมาเขาเปลี่ยนใจได้กลับมาร่วมงานกับกองกำลังไทยใหญ่อีกครั้ง ซึ่งช่วงเวลานั้นกองกำลัง ไทยใหญ่มีชื่อว่า Muang Tai Army (MTA) ที่นำโดยขุนส่าแต่ต่อมาเข้าก็ได้ตัดสินใจเข้ามอบตัวกับรัฐบาลทหารพม่าอีกครั้งในปี พ.ศ.2537 ก่อนขุนส่าประกาศมอบตัวและวางอาวุธ การมอบตัวของสายมาวกับรัฐบาลทหารพม่าในครั้งนี้เขาเองไม่ได้ถูกจับไปขังคุกอีก เพราะนี่ถือเป็นการยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข
แม้ในอัลบั้มกว่า 50 ชุดของสายมาวมีเพียงชุด “สัญญาปางโหลง” เพียงชุดเดียวที่เกี่ยวข้องกับเพลง การเมือง แต่ทว่าอัลบั้มเพลงที่เหลือเป็นเพลงรักและเพลงเพื่อชีวิตอย่างเช่น เพลง “หมากโหใจ๋หม๋อ ลาดกวาม” (หัวใจพูดได้) เพลง “ก่ามจ่าหม่าไตบ้านนอก” ชะตากรรม ไทยใหญ่บ้านนอก) และ “หมอกไม้ สักไห้ฮิมฝั่งน้ำคง” (ดอกไม้สักร้องไห้ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน) เพลงเหล่านี้ต่างก็ได้รับความนิยมเป็นวงกว้างถือเป็นสะท้อนการเข้าสู่ห้วงวัฒนธรรมสมัยนิยม (Pop Culture) ของคนหนุ่มสาวชาวไตยได้เป็นอย่างดี ขณะที่บทเพลงซึ่งจายสายมาวแต่งคำร้องหรือร้องเองนั้นก็มีทั้งภาษาไทใหญ่ ภาษาพม่า ตลอดจนมีภาษาจีนกลางมาแทรกบ้างไม่กี่เพลง ร้าน “นิวบราเดอร์” ที่หน้าตลาดต้นลำไย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และสาขาที่ อ.พาน จ.เชียงราย (ปัจจุบัน ร้านนี้ไม่มีแล้ว) เป็นผู้บันทึกเสียงของจายสายมาวลงเทปคาสเซตเป็นแห่งแรกและเป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงผู้เดียว หลังจากนั้นก็ถูก copy ขายต่อ ๆ กันไปทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้องนี่คือข้อเขียนเกี่ยวกับสายมาวที่เล่าสืบ ๆ กันมา
อย่างไรก็ดีสาเหตุที่ผลงานเพลงของสายมาวได้รับความนิยมเป็นวงกว้างอย่างมากที่สุดก็เป็นเพราะว่าบทเพลงของเขาฟังง่ายและบวกกับน้ำเสียงอันนุ่มนวลรื่นหู จายสายมาวจึงเป็นศิลปินที่ไต่ระดับการได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเมื่อเขาไปเล่นคอนเสิร์ตที่ไหน ก็จะมีกลุ่มแฟนเพลงตามไปให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ ทว่าเมื่อใดก็ตามที่มีคนขอให้เขาร้องเพลง “ต้องห้าม” เขาจะปฏิเสธทุกครั้งไป แม้ว่าเขาจะเล่นคอนเสิร์ตอยู่ในเมืองไทยก็ตาม เพราะเขากลัวสายลับพม่าอาจกำลังยืนฟังปะปนอยู่กับแฟนเพลงและคอยสอดส่องจ้องจับผิดเขา
ขณะเดียวกันสิ่งที่สายมาวได้พยายามทำ ควบคู่ไปกับ การร้องเพลงก็คือ การปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่อนุรักษ์ ภาษาและวัฒนธรรม ไทยใหญ่ ซึ่งหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้น สายมาวและคณะวงดนตรีของเขาได้พยายามพัฒนาวัฒนธรรมดนตรีสมัยใหม่ให้มีความก้าวหน้าอยู่เสมอ ถือว่าเป็นต้นแบบให้แก่ศิลปินนักร้องเพลงไตยในรุ่นหลัง ๆ ที่ผลิตผลงานผ่านรูปแบบซีดีคาราโอเกะ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สร้างการเผยแพร่ภาษาไทยใหญ่มาก ๆ ให้เกิดการฟื้นตัวและแพร่หลายมากขึ้น นี่จึงอาจเป็นการใช้เพลงภาษาไทใหญ่เป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการสร้างการทำงานด้านการเมืองวัฒนธรรมควบคู่กันกับช่วงเวลาของทศวรรษหลัง ๆ มานี้ ในทั่วทุกภาคของรัฐฉานก็ได้มีการรณรงค์ให้ศึกษาภาษาไทใหญ่ ขึ้นในกลุ่มชุมชนและองค์กรสงฆ์
คอนเสิร์ตของสายมาวจึงเป็นพื้นที่เพื่อการรณรงค์และชักชวนให้ชาวไทใหญ่ ไม่ละทิ้งขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมของพวกเขา ตลอดจนการสื่อความให้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ตามกาละเทศะและโอกาสจะเอื้ออำนวย เรามีความรู้ความสามารถความพยายาม แค่ไหนก็ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ต่อส่วนรวม โดยเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้าจายสายมาวได้ยุติบทบาททางการเมืองและกลับมาทำงานตามความถนัดคือการร้องเพลงและแต่งเพลงจนถึงปัจจุบันร้องเพลงไปกี่เพลง แต่งเพลงไปกี่เพลงเจ้าตัวก็จำไม่ได้แน่นอน ผลงานใหม่ ๆ คงไม่มีแล้วเพราะสุ้มเสียงเริ่มเสื่อมไปตามอายุและกาลเวลา เพลงที่จายสายมาวเคยขับร้องก็มีนักร้องรุ่นใหม่มาร้องแทน แต่จายสายมาวก็ยังได้รับเชิญไปออกคอนเสิร์ตตามที่ต่างๆอยู่เสมอจนกระทั่งล้มป่วยลงในวาระสุดท้ายของชีวิต
ร่างอันไร้วิญญาณของศิลปินนักร้องและนักต่อสู้ทางการเมืองวัฒนธรรมผู้ยิ่งใหญ่ถูกคลุมด้วยธงชาติไทใหญ่ อย่างสมเกียรติ บทเพลงที่สะท้อนชื่อเสียงการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของคนไตยยังคงทำหน้าที่ของมัน เสียงเพลงของสายมาวก็คงจะยังแว่วหวานสร้างแรงใจในป่าเขา เสียงเพลงปลุกใจเร้าร้อน ในยามที่เรายังต่อสู้เพื่อเสรีภาพของคนไตยในการปลดแอกต่อไป
ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า