วันที่ 30 สิงหาคม 2565
วันผู้สูญหายสากล เป็นการรำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย ในทุกวันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี เพื่อกระตุ้นให้ทุกประเทศทั่วโลก เกิดการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง การบังคับให้สูญหายหรือการ “อุ้มหาย” มักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดปากประชาชนอยู่บ่อยครั้ง นอกจากที่จะทำให้คนหนึ่งคนหายไปแล้ว ผลข้างเคียงของการบังคับให้สูญหาย ยังเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้สังคม ในความหมายที่ว่า ถ้าคุณกระทำการในลักษณะนี้ คุณจะมีโอกาสถูกทำให้หายไปได้เหมือนกัน
การบังคับบุคคลให้สูญหายคือ การจับ ควบคุมตัว ลักพาตัวหรือการทำให้บุคคลสูญเสียเสรีภาพไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดหรือด้วยเหตุผลใดซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มคนที่กระทำ โดยการได้รับคำสั่ง การสนับสนุน หรือการยินยอมจากรัฐ การไม่เปิดเผยข้อมูลหรือการปฏิเสธ ที่จะรับรู้ถึงการสูญเสียเสรีภาพหรือการสูญหายของบุคคล รวมทั้งปิดบังข้อเท็จจริงหรือสถานที่ของบุคคลผู้สูญหาย การบังคับบุคคลให้สูญหายถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ และมักมีสาเหตุมาจากเหตุผลทางการเมือง อาชญากรรมหรือการก่อการร้าย
ในภาคเหนือเองก็มีการอุ้มหายประชาชน ที่เป็นนักต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน รวมไปถึงพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ โดยทุกการบังคับให้สูญหายไม่สามารถระบุผู้ก่อเหตุว่าเป็นใคร เพราะไร้ซึ่งพยานหลักฐาน และไม่ทราบชะตากรรมว่าผู้ที่ถูกบังคับสูญหายอยู่ไหน …ไม่มีใครทราบได้ นอกจากคนลงมือและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และนี่รายชื่อประชาชนที่ถูกบังคับให้สูญหายในพื้นที่ภาคเหนือ
1.นายมี สวนพลู
2.นายตา แก้วประเสริฐ
3.นายตา อินต๊ะคำ
ทั้ง 3 คนเป็นสมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518
4.นายวงศ์ มูลอ้าย
5.นายพุฒ บัววงศ์
6.นายทรง กาวิโล
สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 มีรายงานจากศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือว่า เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2519
7.จะวะ จะโล ถูกเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือจับ ในปี พ.ศ. 2546 ขณะเจ้าหน้าที่ตรวจค้นสวนลิ้นจี่ที่จังหวัดชายแดนทางภาคเหนือของประเทศไทยตามนโยบายปราบปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลในขณะนั้น ในวันที่จะวะถูกจับตัวไปมีชาวบ้านระบุว่าเห็นเหตุการณ์การจับตัวและการซ้อมทรมานจะวะและเจ้าหน้าที่ที่จับตัวเขาไปได้รายงานผู้บังคับบัญชาว่าไม่พบยาเสพติดที่จะวะ แต่ก็ตัดสินใจพาเขาไปควบคุมตัวที่ห้องขังในค่ายทหารพรานไม่กี่วันต่อมาลูกสาวของจะวะเดินทางไปที่ค่ายทหารพรานสองครั้งเพื่อตามหาพ่อ ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่บอกว่าได้ปล่อยตัวจะวะแล้วและไม่ทราบเรื่องที่จะวะหายไปเป็นครั้งที่สอง ครั้งที่สองเจ้าหน้าที่บอกว่าจะวะถูกพาไปที่เชียงใหม่ และจนถึงปัจจุบันนี้จะวะ จะโล ยังคงหายสาบสูญ
8.ชนเผ่าลาหู่กว่า 20 คน ถูกบังคับสูญหาย จากฝีมือทหารพรานหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายใต้นโยบาย “สงครามยาเสพติด” ในปี 2546 ชาวลาหู่ที่อาศัยอยู่ตะเข็บชายแดนระหว่างประเทศเมียนมาร์กับจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ ต่างตกอยู่ในความหวาดกลัว เจ้าหน้าที่รัฐเชื่อว่า อำเภอตะเข็บชายแดนเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการลักลอบขนยาเสพติด จากรัฐว้า ในประเทศเมียนมาร์ และ “ชาวเขา” บางส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด
…
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งส่วนเดียวเท่านั้น การบังคับให้สูญหายยังคงอบอวลอยู่ในสังคมไทย แม้ในปัจจุบันจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ …. ที่วุฒิสภาส่งกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎร โดยลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 287 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบทั้ง 2 สภาแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือการนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป เมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
อ้างอิงจาก
https://www.facebook.com/AmnestyThailand/photos/a.172916699402097/6121179564575751
https://prachatai.com/journal/2015/12/63153
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...