ผลสะเทือนของขบวนการชาวนาชาวไร่หลัง 14 ตุลาคม 2516 และมรดกถึงปัจจุบัน

เรื่อง: ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ

จากซ้ายไปขวา ผศ. ดร. มาลินี คุ้มสุภา, ผศ. ดร. ชัยพงษ์ สำเนียง, ภาณุพงษ์ ไชยวรรณ, รศ. ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง ภาพจาก Pol-Sci Photo Club CMU

เขาเชื่อในตัวนักศึกษาเนื่องจากพวกเขาสามารถขับไล่สามทรราชย์ออกไป ความ

อยุติธรรมที่ชาวนาชาวไร่ได้รับอันเกิดจากปัญหาค่าเช่านาจึงต้องพึ่งเหล่านักศึกษา และผมก็มารู้ทีหลังจากเหล่านักศึกษาว่ามี พ.ร.บ. ค่าเช่านา 2517 พวกเราจึงช่วยกันเผยแพร่กฎหมายให้ชาวนาชาวไร่ได้รับรู้ถึงกฎหมายฉบับนี้ มองย้อนกลับไปในขบวนการเคลื่อนไหวครังนี้จะเห็นได้ว่าแม้การเรียกร้องของเราจะสำเร็จ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียกว่า 25 ศพภาณุพงษ์ ไชยวรรณ หนึ่งในผู้ผ่านประสบการณ์การเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ภาคเหนือเล่าปูมหลัง

การต่อสู้มันไม่มีใครยื่นมือมาให้แม้แต่รัฐหรือผู้มีอำนาจเองก็ไม่ช่วยเหลือให้ชาวนาชาวไร่หลุดพ้นออกจากความยากจน จนกระทั่งนักศึกษาที่มาช่วยหาแนวทางในการต่อสู้ แต่การต่อสู้นั้นก็เต็มไปด้วยขวากขนาม และความขมขื่นของขบวนการชาวนาชาวไร่ที่ประสบกับความไม่เป็นธรรมที่ผู้มีอำนาจหรือเจ้าที่ดินตอบแทนมาให้

หมายเหตุ เนื้อหาการบรรยายเวทีอภิปราย ขบการต่อสู้ของชาวนาชาวไร่ภาคเหนือหลัง 14 ตุลา  บทเรียนและผลสะเทือนของการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน วิทยากรคือ ผศ. ดร. ชัยพงษ์ สำเนียง รศ. ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง ภาณุพงษ์ ไชยวรรณ ดำเนิดรายการโดย ผศ. ดร. มาลินี คุ้มสุภา

ภาพ: ประชาคมมอชอ – Community of MorChor

ชัยพงษ์ สำเนียง ชี้ให้เห็นความสำคัญของขบวนการชาวนาชาวไร่ไว้สามประการ คือ ประการแรก การเมืองของความทรงจำ ช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังปี 2563 ที่เกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ ในกรณีของจังหวัดเชียงใหม่มีการถกเถียงว่าจะนำขบวนการชาวนาชาวไร่กลับมาพูดถึงในเวทีอีกครั้งดีไหม เนื่องจากขบวนการเหล่านี้มันจบไปแล้ว สุดท้ายก็นำการเคลื่อนไหวของเหล่าชาวนาชาวไร่มาปราศรัยบนเวทีดังนั้นจะเห็นว่าการเมืองความทรงจำมันเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน การพูดถึงพี่ ๆ ในขบวนการชาวนาชาวไร่ที่เคยต่อสู้มาก่อนจึงเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง

ภาพ: ประชาคมมอชอ – Community of MorChor

ประการที่สอง เศรษฐกิจสังคมของชาวนา คำถามคือ “ทำไมชาวนาถึงเคลื่อนไหว” ความเปลี่ยนแปลงอย่างสิ่งที่มีนัยยะสำคัญก็คือ การผลิตที่เข้มข้นมากขึ้น ช่วงทศวรรษที่ 2490-2500 พืชชนิดใหม่มีการเพาะปลูกมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือความขัดแย้งของสังคมชาวนามันแตกตัวมากขึ้น มันเกิดสิ่งที่เรียกว่าเจ้าของการผลิต ที่ไม่ใช่เจ้านาเป็นเจ้าของ พ.ร.บ. ค่าเช่านาปี 2497 ถูกยกเว้นในภาคเหนือ ทำให้มีการรวมตัวจัดตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่เพื่อหันมาเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง

ข้อถกเถียงเรื่องชาวนา มักมีข้อเสนออย่างหนึ่งว่า “ชาวนาไม่มีจิตสำนึกทางการเมือง” ชาวนาถูกชักจูง แต่ขบวนการเคลื่อนไหวของขบวนการชาวนาชาวไร่ แสดงให้เห็นว่า การต่อสู้เขาคิดถึงอนาคตของลูกหลาน พ้นไปจากการเรียกร้อง สิ่งที่ชาวนาชาวไร่ทำคือการส่งตัวแทนไปลงเลือกตั้ง และเกิดขบวนการใหม่ ๆ ที่เข้าสู่ทุกพื้นที่ของโครงสร้างทางการเมือง ดังนั้นข้อเสนอที่ว่าชาวนาไม่มีจิตสำนึกทางการเมือง จึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้

ประการสุดท้าย เราจะมองต่อไปยังไง? เนื่องจากปัญหาเรื่องที่ดินยังไม่ยุติ ที่ดินก็ยังอยู่ที่เจ้าที่ดินไม่กี่คน และทำไมขบวนการเคลื่อนไหวในปัจจุบันจึงอ่อนกำลังลง เพราะโครงสร้างระบบการผลิตมันเปลี่ยนรูปแบบไปหรือไม่ ประเด็นนี้ควรเป็นข้อถกเถียงกันต่อ โดยเฉพาะเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของชาวนาสมัยใหม่ อย่าง ชาวนารายได้ปานกลาง ชาวนาผู้ประกอบการ  ชาวนาผู้เป็นพลเมืองโลก 

ประภาส ปิ่นตบแต่ง ให้ภาพประวัติศาสตร์ของขบวนการชาวนาชาวไร่ต่อว่า ช่วงก่อน 14 ตุลาฯ ในทศวรรษที่ 2490 ชาวนาชาวไร่ในขบวนการปัญญาชนหัวก้าวหน้านั้นได้เข้าร่วมกับกบฏสันติภาพและคอมมิวนิสต์ลาดยาว ขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาจึงมีความสัมพันธ์เชื่อมต่อกับความคิดสังคมนิยม 

ย้อนไปก่อนหน้านี้ ขบวนการชาวนาชาวไร่เป็นการเชื่อมโยงกับแนวคิดพระศรีอารีย์ ช่วงต่อมา หากมองผ่านการขุดคลองหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง (พ.ศ.2398) จากบันทึกโจรชาวนาจากภาคกลางของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง สนทนากับผู้ร้ายปล้น  ก็จะพบโจรชาวนากว่า 1,600 คน 

ช่วงก่อน 14 ตุลาฯ นั้น สิ่งที่หล่อเลี้ยงกระแสความคิดแบบสังคมนิยมในขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่มาจนถึงช่วงเดือนตุลาคือวรรณกรรม เช่น ขอแรงหน่อยเถอะ เขียนโดยศรีบูรพา โทนเทวดา เขียนโดยรมย์ รติวัน เป็นต้น 

ภาพจาก http://www.bookeden.org/product/2061/%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%AD%E0%B8%B0. 

“เราเห็นมรดกอะไรบ้างในปัจจุบัน มรดกตกทอดของขบวนการชาวนาชาวไร่มีหลายมิติด้วยกัน มิติด้านการเคลื่อนไหวของชาวนา เช่นเรื่องป่าไม้และที่ดินในปัจจุบัน ผู้นำการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ มักเป็นกลุ่มคนที่ออกจากป่าในช่วงทศวรรษที่ 2520 กันทั้งนั้น แกนนำในการเคลื่อนไหวจึงมีความสืบเนื่องตลอดมา อย่างผู้นำการเคลื่อนไหว การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย การเรียกร้องถึงปัญหาป่าไม้และที่ดินในเขตป่า ส่วนมิติของรัฐก็มีท่าทีที่จะใช้กฎหมายกดปราบประชาชนชาวนาชาวไร่รวมถึงพี่น้องชาติพันธุ์ก็มีให้เห็นอยู่เนือง ๆ หากมองลึกลงไปกว่านั้น กฎหมายความมั่นคงที่ตีความได้กว้าง ก็น่าจะเป็นปัญหาให้กับพี่น้องชาวนาชาวไร่อยู่ ในแง่นี้จึงเป็นเป็นมรดกในแง่ลบของรัฐ”

ความสืบเนื่องของการเคลื่อนไหวของชาวนา ประภาส ปิ่นตบแต่ง เขียนบทความเรื่อง ขบวนการชาวนาชาวไร่ในสังคมไทย : จากอดีตสู่ปัจจุบััน ได้ชี้ให้เห็นว่า ในทศวรรษที่ 2520 เกิดสมัชชาเกษตรกรรายย่อยต่าง ๆ และก็ยังมีการรวมตัวกันสืบเนื่อง อย่างกรณีสมัชชาคนจนที่มีลักษณะของชุมชนท้องถิ่น ที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายย่อย ๆ เช่น เครือข่ายป่าไม้-ที่ดิน เครือข่ายเขื่อน เครือข่ายเขื่อน เครือข่ายเกษตรกรทางเลือก เครือข่ายสลัม ซึ่งรวมตัวกันในภายหลังเป็นสมัชชาคนจน 

จะเห็นได้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่นั้นไม่ได้จบลง “การมองชาวนาในฐานะที่โง่จนเจ็บ มายาคติเหล่านี้ส่งผลต่อตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองของชาวนาในสังคมไทยด้วย หากไม่ทำลายมายาคติของชาวนาเป็นคนโง่จนเจ็บ เราก็จะเกิดสถานการณ์แบบคนเสื้อแดง การกดปราบภาคประชาชนอย่างในอดีต ตำแหน่งแห่งที่ของชาวนาก็จะถูกลบเลือนไป ในแง่นี้อาจจะต้องเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ เพื่อถักทอตราข่ายของความทรงจำทางสังคมขึ้นใหม่ เพื่อทำให้ผู้คนในประวัติศาสตร์สามัญชนที่ประวัติศาสตร์เป็นของตนเองได้” ชัยพงษ์ สำเนียง กล่าว

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง