ครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหาย-องค์กรสิทธิจัดรำลึกวันผู้สูญหาย สะท้อนปัญหาหลัง พ.ร.บ.อุ้มหาย ไร้ความคืบหน้าในหลายคดีแม้บังคับใช้ปีกว่า

ครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนจัดแถลงข่าวเนื่องในวันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล สะท้อนปัญหาหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปรามปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายปีกว่าแล้วแต่หลายคดีกลับไม่คืบ  “อังคณา” ระบุยังไม่เห็นความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตามหาตัว “ทนายสมชาย” อีกทั้ง กรรมการตาม พ.ร.บ. ที่ตั้งขึ้นก็ไม่เคยรับฟังครอบครัวทั้งที่กฎหมายระบุให้สืบสวนจนทราบที่อยู่และชะตากรรม และรู้ตัวผู้กระทำผิด ในขณะที่ครอบครัวคนหายต่างถูกคุกคามมาโดยตลอด  พร้อมระบุ “อุ๊งอิ๊ง”ลูกสาวทักษิณได้เป็นนายกแล้วจะคืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัวผู้ถูกอุ้มหายอย่างไร  ขณะที่ “มึนอ” ระบุการสูญหายของ “บิลลี่”คดียังอยู่ในศาลอุทธรณ์ ขอกฎหมายอุ้มหายอย่าใช้เงื่อนเวลามาจำกัดในการเข้ามาสอบสวน ด้าน “สีละ”นักปกป้องสิทธิฯลาหู่ เผยในพื้นที่โดนอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน 20 คน วอนรัฐเยียวยาครอบครัวเหยื่อเป็นรูปธรรม  พร้อมร่วมกันชง  7 ข้อเรียกร้องให้นายกคนใหม่ เปิดเผยความจริงคืนความเป็นธรรมและชดใช้เยียวยาให้แก่ครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

ที่ห้องประชุมสำนักงานกลางคริสเตียน ราชเทวี วันนี้ (30 ส.ค. 67) ครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายร่วมกับมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ องค์กร Protection International และมูลนิธิ forum Asia จัดงานแถลงข่าวเนื่องในวันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล โดยปีนี้ จัดภายใต้ชื่อ “Faces of the Victims: A Long Way to Justice” ใบหน้าของเหยื่อ: เส้นทางที่ยาวไกลสู่ความยุติธรรม เพื่อทวงถามความคืบหน้าและยื่นข้อเรียกร้องต่อการแก้ปัญหาคนหายของรัฐไทย หลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เป็นเวลาปีกว่า โดยมีอังคณา นีละไพจิตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อดีตสมาชิกคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับ (WGEID) วุฒิสมาชิก และภรรยาของทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับสูญหาย สมชาย นีละไพจิตร Shui Meng ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและภรรยาของสมบัด สมพอน ผู้นำภาคประชาสังคมลาวที่ถูกบังคับสูญหายในปี 2012 พิณนภา พฤกษาพรรณ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสตรี และภรรยาของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง พอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ  สีละ จะแฮ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชนเผ่าลาหู่ และญาติของเหยื่อจากการบังคับสูญหายชาติพันธ์ลาหู่ เข้าร่วมในการแถลงข่าวครั้งนี้

“มึนอ” ต้องการให้คดีของ “บิลลี่” เข้าสู่การสอบสวนหาความจริงตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย ฯ โดยไม่มีเงื่อนไขของเวลาเกิดเหตุมาเป็นข้อจำกัดในการสอบสวน

พิณนภา กล่าวว่า แม้จะผ่านมาปีกว่าแล้วหลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายบิลลี่ก็ยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรม ภายหลังที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. นี้ ตนได้เข้าประชุมร่วมกับหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งและได้สอบถามว่าคดีของบิลลี่สามารถใช้ พ.ร.บ. นี้มาสืบสวนหาผู้กระทำความผิดได้ด้วยหรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ตอบว่าไม่ได้เพราะคดีของบิลลี่เกิดก่อนที่จะมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ และหากจะให้คดีของบิลลี่เข้าสู่การสอบสวนของ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะต้องมีหลักฐานใหม่ขึ้นมาพิสูจน์ ซึ่งที่ผ่านมาครอบครัวก็ได้ดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดแล้ว ไม่รู้จะหาหลักฐานใหม่อะไรมาให้เจ้าหน้าที่อีก ทั้งที่ในความเป็นจริงบิลลี่ยังเป็นบุคคลสูญหายและคดียังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์อยู่เลย คดีของบิลลี่ยังไม่สิ้นสุด พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงควรที่จะทำหน้าที่ให้กับครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายโดยไม่มีเงื่อนไขของเวลาเข้ามาเป็นข้อจำกัดให้ครอบครัวเข้าถึงความยุติธรรม

นักปกป้องสิทธิชาติพันธ์ลาหู่เปิดข้อมูล 20 ครอบครัวที่ถูกอุ้มหายยังไม่ได้รับความยุติธรรมหรือการเยียวยา พร้อมสะท้อนผ่านมาปีกว่าคณะกรรมการตาม พ.ร.บ. ป้องกันการอุ้มหายยังไม่ได้ทำงานสืบสวนเชิงลึกในการแก้ไขปัญหาหรือเยียวยาเหยื่อ

ด้านสีละ กล่าวว่า  พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฉบับนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยหนึ่งในหน้าที่ของคณะกรรรมการชุดนี้คือจะต้องตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทรมาน การทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งรับและติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียนต่างๆ ด้วย แต่ตนยังไม่เคยเห็นคณะกรรมการชุดนี้มาลงพื้นที่หรือเข้ามาสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับครอบครัวผู้สูญหายหรือติดตามแก้ไขปัญหาเลยแม้แต่ครั้งเดียว ตนอยากให้คณะกรรมการชุดนี้ทำงานเชิงรุกลงพื้นที่สอบสวนข้อเท็จจริงให้ความเป็นธรรมกับครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

สีละยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ในอดีตที่ผ่านมามีพี่น้องชาติพันธ์ลาหู่ถูกอุ้มหายและถูกซ้อมทรมานเป็นจำนวนมาก และที่ตนเรียกร้องความเป็นธรรมมาโดยตลอดคือกรณีของพี่น้องชาติพันธ์ลาหู่ไม่ต่ำกว่า   20 คนที่ถูกทำให้สูญหาย และมากว่า 50 คนที่ถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งหนึ่งในนั้นมี จะฟะ จะแฮ หลานชายของตนที่มีอายุเพียงแค่ 14 ปี ด้วย

“ ผมเรียกร้องเรื่องนี้มาตลอดตั้งแต่ยังไม่มีการประกาศใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผมเคยทำหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่ง กสม.ได้มีหนังสือส่งต่อไปที่รัฐสภา และรัฐสภาได้มีหนังสือไปถึงกระทรวงกลาโหม กองทัพบก ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเยียวยาเหยื่อ แต่ก็ยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรม  ผมมีความหวังว่าหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้พี่น้องชาติพันธ์ลาหู่ที่ถูกบังคับให้สูญหายจะได้รับความเป็นธรรมแต่ก็ยังไม่เกิดอะไรขึ้น จึงอยากเรียกร้องให้คณะกรรมการตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ทำความจริงให้ปรากฎด้วย“  นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชนเผ่าลาหู่ และญาติของเหยื่อจากการบังคับสูญหายชาติพันธ์ลาหู่กล่าว

ภรรยา “สมบัด สมพอน” นักพัฒนาชาวลาวที่ถูกบังคับให้สูญหาย ยังไม่ยอมแพ้หรือสิ้นหวังในการหาความจริงต่อการหายตัวไปของสามีแม้เวลาจะผ่านมานาน 10 ปีแล้ว

ขณะที่ Shui Meng  กล่าวว่า ผ่านมาแล้วกว่า 10 ปีที่สมบัดถูกบังคับให้สูญหายที่หน้าป้อมตำรวจที่เวียงจันทน์  โดยไม่มีข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสมบัดเลย ความหวังที่จะได้พบเขาอีกครั้งยิ่งห่างไกลออกไป และความกลัวที่จะไม่มีวันได้รู้ความจริงและความยุติธรรมเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ในฐานะภรรยาและเหยื่อ ตนจะไม่ยอมแพ้ต่อความสิ้นหวัง ไม่ว่าสถานการณ์จะดูสิ้นหวังเพียงใด ตนจะต้องค้นหาความจริงต่อไปจนถึงลมหายใจสุดท้าย ตนเป็นหนี้ความยุติธรรมให้กับคุณสมบัด และต่อเหยื่ออื่นๆ ของการบังคับให้สูญหาย อาชญากรรมและความอยุติธรรมเช่นนี้ต้องยุติลง

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ฉันไม่ได้มองตัวเองเพียงว่าเป็นเหยื่อของการบังคับให้สูญหายเท่านั้น ใช่ ฉันเป็นเหยื่อและยังคงเผชิญกับความสูญเสียและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสมบัด  แต่ฉันได้เรียนรู้ว่าการทนทุกข์อย่างเงียบๆ ไม่ใช่ทางเลือก ฉันต้องบอกเล่าเรื่องราวของสมบัดให้โลกได้รับรู้ และต้องพูดออกมาต่ออาชญากรรมและความอยุติธรรมของการบังคับให้สูญหาย การรักษาความเงียบจะไม่ช่วยหยุดการบังคับให้สูญหาย แต่มันจะทำให้ผู้กระทำผิดกล้าทำอาชญากรรมเหล่านี้ต่อไป”ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและภรรยาสมบัด สมพอน นักพัฒนาชาวลาวที่ถูกบังคับสูญหายในปี 2012 กล่าว

“อังคณา” ชี้ทนายสมชายสูญหายในรัฐบาลทักษิณและผ่านมา 20 ปีแล้วแต่คดีกลับไม่มีความก้าวหน้า พร้อมถาม “อุ๊งอิ๊ง”ลูกสาวทักษิณได้เป็นนายกแล้วจะคืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัวผู้ถูกอุ้มหายอย่างไร  ชำแหละคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย ไม่เคยรับฟังและช่วยตามหาบุคคคลสูญหายให้กลับคืนสู่ครอบครัวทั้งที่ กม.ให้อำนาจไว้ว่าสามารถทำได้

ขณะที่อังคณาระบุว่า คดีสมชายผ่านมากว่า 20 ปี โดยไม่มีความก้าวหน้า เพราะรัฐไม่มีเจตจำนงทางการเมืองในการเปิดเผยความจริง และนำคนผิดมาลงโทษ  แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย รวมถึงการให้สัตยาบันอนุสัญญา แต่ยังไม่เห็นความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตามหาตัวสมชาย กรรมการตาม พ.ร.บ. ที่ตั้งขึ้นก็ไม่เคยรับฟังครอบครัวทั้งที่กฎหมายระบุให้สืบสวนจนทราบที่อยู่และชะตากรรม และรู้ตัวผู้กระทำผิด ในขณะที่ครอบครัวคนหายต่างถูกคุกคามมาโดยตลอด ไม่นานนี้ขณะจัดงานรำลึก 20 ปี สมชาย นีละไพจิตร ยังมีคนอ้างเป็นเจ้าหน้าที่มาสอดแนม ตามถ่ายภาพครอบครัว ยังไม่นับรวมการด้อยค่า และคุกคามทางออนไลน์

“สมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้มหายในรัฐบาลทักษิณ ปีนี้ลูกสาวคุณทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยคุณทักษิณเองก็ยังมีบทบาททางการเมือง ก็อยากทราบว่าลูกสาวคุณทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรี จะคืนความเป็นธรรมให้ครอบครัวคนถูกอุ้มหายอย่างไร อย่างน้อยบอกความจริง และนำคนผิดมาลงโทษก็ยังดี อุ๊งอิ๊งรักพ่อแค่ไหน ลูกๆคนหายก็รักพ่อไม่ต่างกัน ดังนั้นคืนความยุติธรรมและการเปิดเผยความจริงจึงจะเป็นการเยียวยาที่ดีที่สุดให้แก่ครอบครัว” ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อดีตสมาชิกคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับ (WGEID) วุฒิสมาชิก และภรรยาของทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับสูญหาย สมชาย นีละไพจิตรกล่าว

 นอกจากนี้ในงานยังมีการกล่าวถึงกรณีนายอี ควิน เบดั๊บ เป็นสมาชิกของชุมชนชาวพื้นเมืองมอนตาญาร์ดในเวียดนาม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับการกดขี่และการประหัตประหารมาอย่างยาวนาน หลบหนีออกจากเวียดนามซึ่งชีวิตของเขาอยู่ภายใต้การคุกคามอย่างต่อเนื่อง เขาได้ขอลี้ภัยในประเทศไทยในปี 2018 โดยหวังว่าจะหาสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับตัวเขาและครอบครัว เขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR”

“เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2024 เขาถูกตำรวจไทยจับกุม รัฐบาลเวียดนามกำลังขอให้ไทยส่งตัวเขากลับไปยังเวียดนาม และการพิจารณาคดีของเขายังคงดำเนินอยู่ โดยคาดว่าจะสิ้นสุดในวันจันทร์หน้า — วันที่ 2 กันยายน เราไม่สามารถจินตนาการถึงผลกระทบที่รุนแรงที่เขาและครอบครัวต้องเผชิญหากถูกส่งกลับไปยังเวียดนาม”

“องค์สิทธิมนุษยชนขอให้รัฐบาลไทยไม่ส่งตัวนายอี ควิน เบดั๊บกลับ เนื่องจากจะเป็นการขัดแย้งอย่างชัดเจนต่อพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหายของประเทศไทย”

ด้านปรานม สมวงศ์ จาก Protection International เปิดเผยข้อมูลว่าตามข้อมูลของคณะทำงานว่าด้วยการบังคับหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ (WGEID) ตามรายงานล่าสุด ประเทศไทยมีกรณีการบังคับสูญหายที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้หลายกรณี อย่างไรก็ตาม จำนวนที่แน่นอนของกรณีการบังคับสูญหายในประเทศไทยอาจแตกต่างกันไปตามแหล่งข้อมูลและช่วงเวลาที่พิจารณา

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา WGEID ได้บันทึกกรณีการบังคับสูญหายในประเทศไทยประมาณ 80 ถึง 90 กรณี จำนวนนี้สะท้อนถึงกรณีที่ได้รับการรายงานและยอมรับโดยสหประชาชาติเพื่อทำการสอบสวน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้อาจไม่ครอบคลุมปัญหาทั้งหมด เนื่องจากบางกรณีอาจไม่ได้รับการรายงานหรือถูกจัดประเภทต่างออกไป

ในวันที่เรารำลึกถึงเหยื่อของการบังคับสูญหายสากล ข้ออ้างเรื่องงบประมาณหรือการขาดแคลนบุคลากรไม่ควรถูกนำมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ความเงียบและการเพิกเฉยไม่สามารถยอมรับได้อีกต่อไป รัฐมีหน้าที่ไม่เพียงแต่ต้องผ่านกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของผู้ถูกบังคับสูญหาย แต่ยังต้องทำให้กฎหมายเหล่านี้มีผลบังคับใช้อย่างแท้จริง เพื่อคืนศักดิ์ศรีและความยุติธรรมให้กับเหยื่อและครอบครัวของพวกเขา เราจะไม่หยุดเรียกร้องจนกว่าความจริงจะถูกเปิดเผย และผู้ถูกบังคับสูญหายจะกลับคืนสู่อ้อมอกของครอบครัว พร้อมกับการปรากฏของความยุติธรรมที่แท้จริง

ทั้งนี้ภายในงานยังได้มีการเปิดคลิปวีดีโอความรู้สึกของแวรอกีเย๊าะ บาเน็ง น้องสาวของ  แวอับดุลวาเหม บาเน็ง ผู้ถูกบังคับให้สูญหายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย  โดยขณะที่หายตัวไปแวอับดุลวาเหมเป็นเพียงเยาวชนจากโรงเรียนสอนศาสนาธรรมวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนชื่อดังของจังหวัดยะลา แวอับดุลวาเหมถูกทำให้สูญหายในวันที่ 17 ตุลาคม 2548 จากสุสานมัสยิดแห่งหนึ่งที่จังหวัดปัตตานี ในช่วงที่รัฐบาลในยุคนั้นมีนโยบายการปราบปรามความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งตลอดการหายตัวไปครอบครัวความยุติธรรมให้กับลูกชายมาโดยตลอด แม้จะโดนข่มขู่คุกคามในการเรียกร้องความยุติธรรมในการตามหาตัวของแวอับดุลวาเหม แม้จะผ่านมานานแล้วถึง 18 ปีแต่ครอบครัวก็ไม่ละความพยายามในการตามหาความจริงและความยุติธรรม

ครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายยื่น 7 ข้อเรียกร้องให้นายกคนใหม่เปิดเผยความจริงคืนความเป็นธรรมและชดใช้เยียวยาให้แก่ครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

ต่อมาครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายได้ร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการยื่นข้อเรียกร้องผ่านการส่งจดหมายฉบับใหญ่เพื่อติดตามความยุติธรรมให้กับผู้สูญหายและครอบครัวให้กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยมีการติดแสตมป์หน้าซองเป็นรูปของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย พร้อมทั้งร่วมกันอ่านข้อเรียกร้องโดยรายละเอียดดังนี้ 

ในท่ามกลางความยินดีกับการที่ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ทำให้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ สหประชาชาติมีผลบังคับใช้

ในโอกาสวันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล 2567 เราขอเรียกร้องรัฐบาลไทย เปิดเผยความจริงและคืนความเป็นธรรมให้ผู้สูญหายทุกคน เราเน้นย้ำความกังวลและห่วงใยในการดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำให้บุคคลสูญหาย การยุติการงดเว้นโทษ และคืนความยุติธรรมครอบครัว ดังนี้

1.          เราเน้นย้ำสิทธิที่จะทราบความจริง เนื่องจากการบังคับบุคคลสูญหาย เป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง รัฐมีหน้าที่ต้องสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ 

2.          รัฐบาลต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี และมีผลบังคับใช้ ต้องมีความจริงใจในการตามหาตัวผู้สูญหาย และคืนพวกเขาสู่ครอบครัว ในการ  การค้นหาตัวผู้สูญหายต้องเป็นไปตามหลักการชี้แนะในการค้นหาผู้สูญหาย ของคณะกรรมการสหประชาชาติ คือการหาตัวบุคคล ไม่ใช่การหาศพ หรือเพราะการค้นหาตัวบุคคล จะทำให้เราทราบเรื่องราวของผู้ถูกบังคับสูญหาย และรู้ตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริง 

3.          เราขอเน้นย้ำสิ่งที่รัฐไม่อาจละเลยได้ คือ การรับประกันความปลอดภัยของครอบครัว ในกระบวนการร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรม เพราะเมื่อการบังคับสูญหายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล และมีอำนาจในหน้าที่การงาน การคุกคามต่อครอบครัวจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบ รัฐต้องประเมินความเสี่ยง และออกแบบการดูแลความปลอดภัยร่วมกับครอบครัว และข้อจำกัดเรื่องงบประมาณต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการยุติการคุ้มครองอีกต่อไป

4.          รัฐบาลต้องให้ครอบครัวมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยในกระบวนการหาตัวผู้สูญหาย เพื่อความโปร่งใส และยุติธรรม การตัดสิทธิของครอบครัวในการมีส่วนร่วมทำให้การค้นหาตัวผู้สูญหายไม่รอบด้าน อีกทั้งยังอาจมีการปกปิดความจริงที่เกิดขึ้น

5.          ข้อเรียกร้องต่อมาตรา 13: เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยบังคับใช้มาตรา 13 อย่างเข้มงวด ป้องกันการส่งกลับ (non-refoulement) ซึ่งระบุว่าห้ามมิให้มีการส่งกลับบุคคลไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกบังคับให้สูญหายหรือถูกทรมาน

6.          ที่สำคัญที่สุด คือ การขจัดทัศนคติเชิงลบต่อครอบครัว การสร้างภาพให้ผู้สูญหายเป็นคนไม่ดีทำให้ครอบครัวต้องเผชิญกับการตีตราจากสังคม ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กให้มีชีวิตอย่างหวาดกลัว และไม่มีความมั่นใจในความปลอดภัย

7.     เราขอเน้นย้ำว่า เราจะไม่หยุดส่งเสียงจนกว่าความจริง และความยุติธรรมจะปรากฏ และผู้สูญหายจะกลับคืนสู่ครอบครัว

ในโอกาสวันรำลึกเหยื่อการบังคับสูญหายสากล เราขอแสดงความยินดีอย่างจริงใจในโอกาสที่ประเทศไทยมี พรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และอนุสัญญาการบังคับสูญหาย สหประชาชาติมีผลบังคับใช้ เรายืนยันการให้ความร่วมมือกับรัฐในการค้นหาความจริงและความยุติธรรม เราอยากบอกกับรัฐว่าในฐานะครอบครัวซึ่งส่วนมากคือผู้หญิงและเด็ก เราถูกทำให้อยู่กับความหวาดกลัว ถูกทำให้สูญเสียอัตตลักษณ์ ถูกตีตรา และเพศยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีของเรา เจ้าหน้าที่รัฐอาจไม่รู้ว่า ในแต่ละปี แม่ ๆหลายคนตายจากไปโดยไม่ทราบความจริงว่าลูก ๆ ของพวกเธอหายไปไหน ในฐานะครอบครัว เราขอบคุณมิตรภาพและกำลังใจจากผู้คนร่วมสังคม เราเชื่อมั่นว่าการต่อสู้ของผู้หญิง จะสร้างความตระหนักแก่สังคมถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่อาจมีผู้ใดพรากไปได้ และเราอยากบอกกับรัฐว่าแม้จะล้มเหลว สิ้นหวัง หวาดกลัว และเจ็บปวด แต่ผู้หญิงในฐานะครอบครัวก็ไม่เคยสูญสิ้นความหวัง เรายังคงความเชื่อมั่นว่ากฎหมายจะคืนความเป็นธรรมให้ผู้ถูกบังคับสูญหายทุกคน และสักวันความจริงจะปรากฏ และผู้สูญหายจะกลับคืนสู่ครอบครัวซึ่งเป็นที่รักของพวกเขา

ครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย

30 สิงหาคม 2567

ผู้สื่อข่าวรายงานช่วงท้ายงานครอบครัวของผู้สูญหายได้ร่วมกันอ่านบทกวีเพื่อรำลึกถึงคนในครอบครัวที่ถูกบังคับให้สูญหายนอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานทุกคนยังได้นำดอกไม้ที่แสดงถึงการต่อสู้ไปวางไว้หน้ารูปของผู้ถูกบังคบให้สูญหายทุกคนอีกด้วย

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง