Lanner Joy: Little Lovely bookshop พื้นที่เล็กๆ ในคลินิกรักษาสัตว์ใจกลางลำปาง ที่อยากแบ่งปันพื้นที่การอ่านให้เป็นที่รักของทุกคน

เรื่องและภาพ: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

ร้านหนังสือ ธุรกิจที่หลายคนยกให้เป็น ‘ธุรกิจกัดกินฝัน’  เพราะมันกลืนกินทั้งความฝัน และเงินทุนของหลายคนไป ถ้าอยากทำให้อยู่รอดได้ ก็ต้องมั่นใจว่ามีกลยุทธ์มัดใจ เพราะถ้าไม่ได้ทำด้วยใจรักจริงๆ หรือไม่มีรายได้ทางอื่นเข้ามาเสริมเลย คงไปต่อได้ยาก ร้านหนังสือเลยเป็นอีกธุรกิจที่ปราบเซียนไม่น้อยไปกว่าใคร

ด้วยการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เดี๋ยวนี้อะไรก็หาได้ง่ายในออนไลน์ การเข้ามาของ E-book เองก็เปลี่ยนชั้นวางหนังสือจากหน้าร้านไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ไหนจะต้นทุนในการตีพิมพ์หนังสือที่สูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว ร้านหนังสือหลายร้านทั้งเชนสโตร์และร้านหนังสือเล็กๆ เลยทยอยล้มหายตายจากกันไป เหลืออยู่แค่ไม่กี่ร้านเท่านั้นที่ยังอยู่ต่อไปได้

Little Lovely bookshop ร้านหนังสืออิสระแห่งเดียวในลำปางที่อยู่บนชั้นสองของคลินิกบ้านรักษาสัตว์ ในซอยเล็กๆ ย่านท่าคราวน้อย อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นอีกร้านที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ แม้จะเปิดให้บริการมาจนถึงปีที่ 11 แล้ว แต่ร้านก็ยังต้องปรับตัวอยู่เสมอ เพื่อต่อสู้กับการเป็นธุรกิจกัดกินฝัน ในความคิดของใครหลายคน แต่เปลี่ยนมาเป็นธุรกิจเล็กๆ ที่รัก รักที่จะทำ รักที่จะเป็น

เจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้คือ น.สพ.พงษ์ประสิทธิ์ พงษ์พิจิตร หรือที่คนลำปางหลายคนรู้จักว่า ‘หมอมิ้น’ สัตวแพทย์ผู้มีใจรักในการอ่านมาตั้งแต่เด็ก ยืนต้อนรับเราอยู่หน้าคลินิกในช่วงบ่ายวันจันทร์ ต้องบอกก่อนว่าเรามาถึงร้านแบบงงๆ  เพราะความไม่คุ้นชินกับเส้นทางในเมืองลำปาง พอมาถึงร้านหมอมิ้นก็ชวนเราไปที่ชั้นสองซึ่งเป็นร้านหนังสือ เรากับหมอนั่งลงที่เก้าอี้ไม้กลางห้องเล็กที่รายล้อมไปด้วยหนังสือเด็กและวรรณกรรมหลายร้อยเล่ม บรรยากาศเงียบสงบชวนผ่อนคลาย เราเริ่มพูดคุยกันเกี่ยวกับร้านหนังสือในมุมมองของหมอมิ้นในระหว่างที่หมอกำลังรอเวลารักษาสัตว์ป่วย

คิดยังไงกับประโยคที่ว่า “ร้านหนังสือเป็นอาชีพที่กัดกินความฝัน”

“มีคำพูดที่เคยจำมาตั้งแต่จบมหาลัยใหม่ๆ เป็นคำพูดของ พี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) ที่เขาบอกว่า ถ้าเขาหาเงินได้สองบาท บาทนึงเขาก็จะซื้อข้าวกิน อีกบาทนึงเขาก็จะซื้อดอกไม้ อย่างข้าวก็ทำให้อิ่มท้องจะได้มีแรงใช้ชีวิตต่อไปได้ ส่วนดอกไม้มันก็ช่วยชุบชูจิตใจ ผมมองว่าร้านหนังสือมันก็อาจจะเป็นอย่างหลัง เราชอบแบบนี้ เรายังมีพลังที่จะทำสิ่งนี้ได้ แต่ถ้าเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ที่เราทำอยู่ เม็ดเงินเดียวกัน ลงเงินเท่ากัน การคืนต้นทุนกลับมามันเทียบกันไม่ได้อยู่แล้ว” 

การได้นั่งคุยกับหมอมิ้นทำให้เราเห็นมุมมองเกี่ยวกับธุรกิจกินฝันในฐานะคนขายหนังสือว่าจริงๆ แล้วสำหรับหมอมิ้นการได้เปิดร้านหนังสือที่แม้ผลตอบรับจะไม่ได้มากมายเท่าอาชีพอื่น ก็ยังเป็นถือว่าคุ้มค่า เพราะในฐานะคนขายหนังสือ แค่ได้มีพื้นที่เล็กๆ สำหรับให้คนที่รักในการอ่านหนังสือเหมือนกัน ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนหรือแนะนำหนังสือที่ชอบให้กัน แค่นั้นก็ถือเป็นความพอใจของคนขายหนังสือแล้ว

จุดเริ่มต้นของ Little Lovely bookshop #ร้านหนังสือเล็กๆ ที่รัก

พอได้ยินคำว่าเล็กๆ ก็ทำให้เรานึกถึงชื่อร้านหนังสือแห่งนี้ที่ชื่อว่า Little Lovely bookshop #ร้านหนังสือเล็กๆ ที่รัก และเกิดเป็นความสงสัยในที่มาของชื่อร้านเราเลยถามหมอมิ้นเพื่อไขข้อข้องใจนี้

“ชื่อร้านผมได้แรงบันดาลใจมาจากร้านโปรดที่ชื่อร้านหนังสือเล็กๆ ที่ถนนพระอาทิตย์ครับ ใช้บริการตั้งแต่สมัยเรียนมหาลัยแล้วชอบในทุกองค์ประกอบ ทั้งอัธยาศัยของเจ้าของร้านและบรรยากาศ พอตัดสินใจทำร้านหนังสือ ก็เลยเลือกตั้งชื่อนี้ แต่ก็ไม่อยากให้ซ้ำจนทำให้คนอ่านสับสน เลยใช้เป็นภาษาอังกฤษ แล้วเติมคำว่า Lovely เข้าไปเสริม เพราะอยากจะเป็นที่รักของนักอ่านครับ”

หมอมิ้นเล่าที่มาของชื่อร้านพร้อมกับบรรยายความเป็นมาของร้านย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วว่าเป็นช่วงที่หมอมิ้นได้กลับมาเปิดคลินิกรักษาสัตว์ในจังหวัดบ้านเกิดอย่างลำปาง หลังทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ได้เกือบ 2 ปี เพราะเล็งเห็นว่าในอนาคต คลินิกรักษาสัตว์ในเชียงใหม่น่าจะผุดขึ้นมาเต็มไปหมด และด้วยความที่โตมาในบ้านที่แม่เปิดร้านหนังสือเช่า ทำให้ได้อ่านหนังสือหลากหลายประเภทสั่งสมมาตั้งแต่ตอนนั้น หมอมิ้นเล่าว่าตอนเด็กๆ เขาชอบอ่านหนังสือการ์ตูนมากกว่าหนังสือเรียน แต่พอโตขึ้นมาหน่อยก็ได้อ่านวรรณกรรมมากขึ้นจนกลายเป็นหนังสืออีกประเภทที่ชอบ ความหลงใหลในหนังสือและการได้พบกับนักแปลในดวงใจ กลายเป็นแรงบันดาลใจในการเปิดร้านหนังสือของหมอมิ้นในที่สุด

ทำไมต้องเป็นจังหวัดลำปาง

“เพราะว่ามันเป็นบ้าน เป็นภูมิลำเนาของเรา แล้วเราก็มีเพื่อนฝูงญาติพี่น้องอยู่ทางนี้ การเริ่มต้นธุรกิจมันน่าจะเอื้อต่อการเติบโตมากกว่า และเราก็มองว่าร้านหนังสือเป็นกิจกรรมทางสังคมที่ยังควรจะมีอยู่ เวลาเราไปเดินห้าง ก็ยังเห็นคนเข้าร้านหนังสือมีอยู่ มันก็ยังต้องยังมีอยู่ เพราะคนอ่านก็ยังมีอยู่ มันก็ยังมีการเรียนรู้กันอยู่ตลอด”

สำหรับหมอมิ้นร้านหนังสืออิสระมีเสน่ห์ยังไง?

“รู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่เงียบๆ สำหรับให้คนชอบอ่านหนังสือได้มาใช้เวลา ค่อยๆ ตามหาหนังสือที่เข้ากับตัวเขา ไม่ต้องอิงกระแส เพราะหนังสือเดี๋ยวนี้มักจะออกวันละหลายปก มาเร็วขายเร็ว แล้วพอหมดกระแสก็กลายเป็นหนังสือตกยุค แต่ที่ร้านเราไม่ใช่แบบนั้นเพราะส่วนใหญ่จะคัดสรรให้เหมาะกับร้านมากกว่า”

หมอมิ้นเสริมอีกว่าเสน่ห์อีกอย่างของร้านหนังสืออิสระคือการที่แต่ละร้านจะมีสไตล์เป็นของตัวเอง เราสามารถรู้จักตัวตนของเจ้าของร้านได้ผ่านหนังสือที่วางขายในร้านได้เลย อย่างร้านของหมอเองส่วนใหญ่ก็จะมีหนังสือของ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ เยอะมาก เพราะเป็นสำนักพิมพ์ที่ผูกพันมาตั้งแต่เด็ก และอีกสำนักพิมพ์ที่จะเห็นได้เยอะในร้านหนังสือแห่งนี้ก็คือ สำนักพิมพ์กำมะหยี่ ที่ซื้อลิขสิทธิ์ผลงานของ ฮารูกิ มูราคามิ ที่หมอชื่นชอบมาพิมพ์จนครบ ความประทับใจนี้ทำให้หมอมิ้นอยากสนับสนุน และได้ดีลหนังสือจากสำนักพิมพ์นี้เข้ามาขาย นอกจากนั้นหนังสือเล่มอื่นในร้านหมอมิ้นก็จะคัดสรรอีกทีแต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงเน้นเป็นวรรณกรรม วรรณกรรมเยาวชน หนังสือเด็ก ตามที่คุณหมอชื่นชอบ

การเดินทาง 11 ปี ของร้านหนังสือเล็กๆ ที่รัก 

“ช่วงแรกที่เปิดค่อนข้างคึกคัก เพราะว่าลูกผมก็ยังเล็ก หนังสือในร้านเกินครึ่งจะเป็นนิทานเด็ก เวลาจัดกิจกรรมมันก็จะเชื่อมโยงง่ายเพราะผู้ปกครองเองก็อยากจะพาเด็กๆ มาฟังนิทาน มานั่งอ่านหนังสือในร้าน เราก็จัดทั้งเสวนา เชิญนักเขียนมา ฉายหนังแล้วก็พูดคุยกัน แล้วมันก็ค่อยๆ เขยิบไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ยุคแรกหนังสือก็ขายดี ตอนนั้นคนก็ยังสะดวกเข้าร้านหนังสือ”

หมอมิ้นเล่าว่าในช่วงแรกของการเปิดร้านหนังสือ บรรยากาศของร้านเรียกได้ว่าคึกคักมากเลยทีเดียว ส่วนใหญ่แล้วผู้ปกครองมักพาเด็กๆ มาทำกิจกรรมกันที่ร้าน เพราะหนังสือในร้านส่วนใหญ่จะเป็นนิทานเด็ก และกิจกรรมที่ทางร้านจัดก็เป็นกิจกรรมที่เด็กๆ สามารถเข้าร่วมได้ง่าย ทำให้ในช่วงแรกกลุ่มลูกค้าหลักก็มักจะเป็นนักเรียนนักศึกษา และกลุ่มผู้ปกครองในลำปาง แต่ก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่นักท่องเที่ยวมาใช้บริการเยอะ เพราะโครงการ Book Passport

“แรกๆ ก็จะเป็นประชาชนในจังหวัด หลังๆ ก็เริ่มเป็นนักท่องเที่ยว เพราะช่วงนั้นมีโครงการ Book Passport ของกระทรวงวัฒนธรรมกับมูลนิธิวิชาหนังสือ มีการสะสมตรายาง มีรางวัลมาส่งเสริมการใช้บริการร้านหนังสือเพิ่มขึ้น มันเลยกระตุ้นให้คนมาเที่ยวร้านหนังสือมากขึ้น นักท่องเที่ยวก็จะเยอะมาก”

ฟังจากที่หมอเล่าก็รู้สึกว่าร้านดูจะไปได้ดี แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะในการทำธุรกิจก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าอุปสรรคมาเป็นบททดสอบกันอยู่บ้าง และอุปสรรคก้อนใหญ่ที่หมอมิ้นเจอก็คล้ายกันกับหลายคน นั่นคือ การระบาดของโควิด-19 ที่พาให้ธุรกิจร้านหนังสือเปลี่ยนรูปแบบไป Little Lovely bookshop ที่จากเดิมที่เปิดขายเฉพาะหน้าร้านก็ต้องใช้การขายบนช่องทางออนไลน์มาช่วย และต้องหากิจกรรมใหม่มาเสริมเพื่อไม่ให้ร้านเงียบเหงาจนเกินไป ซึ่งกิจกรรมที่หมอมิ้นได้เลือกมาเสริมนั่นคือ ‘การฉายหนัง’ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรุ่นพี่ในมหาลัยมาช่วยดึงดูดลูกค้า ส่วนใหญ่แล้วจะฉายเป็นหนังสารคดีสำหรับเด็กเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กที่มาร่วมกิจกรรม

“ในส่วนนี้เราพึ่งค่ายหนังของรุ่นพี่ที่จุฬาฯ อีกเหมือนเคยครับ เป็นหนังของค่าย Documentary Club ของพี่ธิดา (ธิดา ผลิตผลการพิมพ์) ก็จะเป็นหนังสารคดี 70-90% ส่วนอีก 10% ก็ขึ้นอยู่กับว่าทางค่ายซื้อแนวไหนมา แต่ว่าเราก็จะเลือกเรื่องที่มันเชื่อมโยงกับทางร้านเช่นเรื่องแรกที่ชื่อว่า โลกนี้ดีจังที่มีการ์ตูน เป็นเรื่องราวของเด็กออทิสติกที่ใช้ไดอะล็อกหรือบทสนทนาของการ์ตูน Walt Disney มาเป็นสื่อในการเรียนรู้ เพื่อการสื่อสารกับครอบครัวว่าตอนนี้เขารู้สึกแบบไหน และทาง Walt Disney ก็อนุญาตให้เอาไปใช้ได้โดยไม่เก็บค่าลิขสิทธิ์ เราก็เปิดให้จองทางออนไลน์ รอบนึงก็จะฉายได้ 4-8 ที่ เราก็ทำอยู่ 8 รอบ พอเราเริ่มเห็นว่ามันมีกลุ่มที่อยากดูแนวนี้เราก็ทำมาเรื่อยๆ”

พื้นที่การอ่านกับคนรุ่นใหม่

คนไทยมักโดนแซวอยู่บ่อยๆ ว่าอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัด แต่ในช่วงหลังๆ มานี้ เราจะเห็นว่าพฤติกรรมการอ่านของคนไทยนั้นเปลี่ยนไป เห็นได้จากผลสำรวจของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ที่ระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นและตลาดหนังสือมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เราเองก็ได้คุยกันกับหมอมิ้นในประเด็นนี้อยู่เหมือนกัน

“ก็อ่านเยอะจริงแหละครับ เพียงแต่ว่าพื้นที่การอ่านมันเปลี่ยนไป อย่างตอนนี้ในชุมชนคนอ่านหนังสือมันก็จะมีชุมชนย่อยเป็นชุมชนคนอ่าน E-book เขาก็จะใช้พวก E-reader ช่วยอ่านให้ฟัง สัดส่วนตรงนั้นก็เยอะนะ หนังสือแบบเล่มถ้าคนจะอ่านได้มันต้องหาซื้อมาอ่านง่าย จับต้องได้ ราคาเอื้อมถึง มันเป็นธรรมชาติของการซื้อ หนังสือหลังๆ มานี้ ด้วยกลไกธุรกิจมันทำให้ราคาสูงขึ้นนะ สมมติว่าเมื่อก่อนเรามีเงินอยู่ 500 ก็อาจจะซื้อหนังสือได้ 2 เล่ม แต่ตอนนี้ 500 เราอาจจะซื้อได้เล่มครึ่ง หรืออาจจะเล่มเดียวเลย คนรุ่นใหม่ๆ เขาก็จะเข้าถึงหนังสือยากขึ้น”

แล้วหมอมิ้นคิดว่ามีวิธีแก้ไขหรือส่งเสริมการอ่านให้คนรุ่นใหม่ได้ยังไงบ้าง

“ผมมองว่าทางออกที่ดีคือ ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย โรงเรียนต่างๆ มันก็ต้องเอื้อกัน เช่น ห้องสมุดต้องอัพเดตลงหนังสือใหม่เพื่อเป็นการสร้างฐานนักอ่าน มันก็จะช่วยทำให้จำนวนพิมพ์หนังสืออยู่ในสัดส่วนที่มากขึ้น ก็จะทำให้คนเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น อาจจะให้เขาได้ลองอ่านในห้องสมุดก่อน พอถูกใจและชอบก็ค่อยไปซื้อจากร้านหนังสือก็ได้ มันก็จะวนกัน เรารู้สึกว่า ทำยังไงก็ได้ให้การอ่านมันเป็นธรรมชาติที่สุด มีอยู่ทุกที่ ราคาจับต้องได้”

อย่างที่รู้กันดีว่า Little Lovely bookshop เป็นร้านหนังสืออิสระแห่งเดียวที่มีอยู่ในจังหวัดลำปาง แล้วแบบนี้คุณหมอมิ้นในฐานะเจ้าของร้านรู้สึกอย่างไรบ้าง

“มันก็รู้สึกว้าเหว่เหมือนกันนะ เพราะใจเราก็อยากจะให้มันมีความหลากหลาย ด้วยข้อจำกัดของร้านเราที่อยู่ในซอย อยู่บนชั้นลอย พื้นที่มันก็มีเท่านี้ มันก็ไม่สามารถลงหนังสือได้ครบทุกประเภทตามความต้องการของนักอ่าน อย่างเวลาไปเชียงใหม่แต่ละร้านเขาก็จะมีสไตล์ที่ต่างกัน เรามองว่าแต่ละจังหวัดมันควรจะมีหลายๆ ร้านเพื่อจะได้มาช่วยรองรับความต้องการของนักอ่านได้มากขึ้น ทำให้นักอ่านเขามีตัวเลือกมากขึ้น ผมว่ามันจะเอื้อต่อชุมชนด้วย”

พอได้คุยกันมาสักพัก เราก็ได้ขอให้คุณหมอแนะนำหนังสือเล่มที่ชอบเพื่อให้เราได้รู้จักหมอมิ้นมากขึ้นผ่านการบอกเล่าด้วยหนังสือเล่มที่ชอบอ่าน

แนะนำหนังสือที่ชอบมาสัก 3 เล่มได้ไหม

1. โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ เขียน, ผุสดี นาวาวิจิต แปล

“เล่มนี้ก็เป็นเล่มที่ชอบตั้งแต่เด็กแล้วครับ อ่านซ้ำบ่อยมาก ก็จะเป็นเรื่องของเด็กซนเด็กแก่น ที่โรงเรียนไม่เข้าใจเลยต้องย้ายโรงเรียนไปเรื่อยๆ พอได้ไปเจอโรงเรียนที่เข้าใจ ก็เลยได้เรียนตรงนั้น ความประทับใจอีกอย่างคือ ครั้งหนึ่งเราไปร้านเล่าที่เชียงใหม่แล้วเขาเชิญคนแปลเล่มนี้ (ผุสดี นาวาวิจิต) มาพอดี เราได้ไปเจอเขาแล้วเราก็ขอลายเซ็นเขา เคยเขียนจดหมายไปหาเขาแล้วก็ได้รับการตอบกลับมาด้วย ก็เป็นแรงบันดาลใจในการทำร้านหนังสือของเราส่วนหนึ่ง แล้วเราเป็นแฟนของสำนักพิมพ์ผีเสื้อด้วย ก็เป็นสำนักพิมพ์ที่เราผูกพันมาตั้งแต่เด็กจนเหมือนกับว่า ถ้าเป็นสำนักพิมพ์นี้นะ ไม่ว่าปกไหนเราจะก็มั่นใจได้เลยว่าอ่านแล้วมันจะต้องมีอะไรดีๆ สักอย่างแน่”

2. Journey of a Little Elephant การเดินทางของคชสาร คชสาร ตั้งยามอรุณ เขียน

“เซ็ตนี้เป็นเล่มที่เราชอบเพราะสำนวนภาษาเขาดีมาก แล้วยุคก่อนมันก็เป็นยุคของนิตยสารเนาะ มันก็จะมีคอลัมน์ 5 ชอบ 5 ไม่ชอบ ในนิตยสารสีสัน ตอนนั้นนักวิจารณ์ทุกคนเขาเทใจชอบเล่มนี้หมดเลย ผมก็เลยไปซื้อมาอ่านตามนักวิจารณ์ ผมชอบที่ในหนังสือมีวรรคตอนที่พูดเกี่ยวกับว่า นักเขียนเขาได้ไปเจอเพื่อนเขาเปิดร้านขายของเล่นที่ทำจากไม้ในสแกนดิเนเวีย แล้วเขาก็ไปถามเพื่อนว่า ทำของเล่นนี่มันอยู่ได้เหรอ เลี้ยงครอบครัวได้ไหม เลี้ยงชีพได้ไหม แล้วมันเป็นยังไง เพื่อนเขาก็บอกว่า คนเขียนถามเขาเหมือนเด็กเลย จริงๆ โลกนี้มันมีความเป็นไปได้หลายแบบที่รอเราอยู่ มันไม่จำเป็นว่าต้องทำเหมือนกันไปหมด ในเมื่อเขาค้นพบแล้วว่าจักรวาลของเขา การขายของเล่นไม้ตรงนี้มันมีความสุขแล้ว เขาก็คิดว่าความรักในงานที่เขาทำมันจะหล่อเลี้ยงเขาไปได้ มันก็เป็นแนวคิดที่เราชอบ เวลาเราทำอะไรแล้วรู้สึกว่าบางทีเราท้อหรือเบื่อ”

3. Bookstore Style เสน่ห์ของร้านหนังสือที่ซีกโลกใต้ หนุ่ม ร้านหนังสือเดินทาง เขียน

“เล่มนี้เป็นบันทึกการเดินทาง คนเขียนคือพี่หนุ่ม ร้านหนังสือเดินทาง (อำนาจ รัตนมณี) แต่ก่อนผมอ่านเป็นคอลัมน์ในนิตยสารสารคดี แล้วพี่หนุ่มเขาก็เอามารวมเล่ม นี่ก็เป็นเล่มแรกๆ ที่เราสั่งมาขายแล้วเขาก็เซ็นต์ลายเซ็นต์ให้ด้วย แต่ที่ชอบเล่มนี้เพราะช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่พี่หนุ่มพักร้านหนังสือไปเป็นปี แล้วก็ไปทำงานอยู่นิวซีแลนด์ พอวันหยุดเขาก็ตระเวนไปทั่วนิวซีแลนด์เพื่อไปเที่ยวร้านหนังสือ แล้วเราก็ได้เห็นว่าในต่างประเทศมันมีร้านหนังสือหลายๆ แบบ มันไม่ได้มีร้านหนังสือแบบเดียวกับที่เราคุ้นเคยในไทย เราก็จะเห็นว่าโลกมันไม่ได้มีแต่แบบนี้นะ พออ่านแล้วเราก็ชอบ อยากไปดู อยากไปเห็น อยากทำแบบนี้บ้าง”

ก่อนจะแยกย้ายกันไปเพื่อให้หมอมิ้นที่ในตอนนี้สวมบทบาทนักอ่านได้กลับไปทำหน้าที่สัตวแพทย์ในช่วงเย็นของวันจันทร์ เราก็ได้ถามคำถามสุดท้ายกับหมอมิ้นไปว่า ‘อยากเห็นวงการหนังสือไปในทิศทางไหน’ คุณหมอตอบมาว่า อยากเห็นปฏิสัมพันธ์ของวงการหนังสือที่มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น เพื่อที่วงการนี้จะได้เติบโตไปโดยไม่ต้องเงียบเหงา ให้เมืองได้มี #ร้านหนังสือเล็กๆ ที่เป็นจุดเชื่อมกลุ่มคนรักหนังสือเข้าด้วยกันต่อไป

“อยากเห็นการเชื่อมโยงของ นักเขียน หนังสือ ร้านหนังสือ แล้วก็นักอ่าน เพราะเหมือนสังคมตอนนี้ทุกอย่างมันค่อนข้างกระจัดกระจาย คนต่างคนต่างอยู่มากขึ้น ปฏิสัมพันธ์ของวงการหนังสือไม่ว่าจะเป็นนักเขียน หรือธุรกิจสิ่งพิมพ์ต่างๆ มันไม่ค่อยมีให้เห็น เหมือนต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองไป มันไม่ได้เอื้อกันขนาดนั้นในธรรมชาติของธุรกิจหนังสือเท่าไหร่ ก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงตรงนี้”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง