เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 เครือข่ายภาคประชาสังคมเมียนมาได้ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องความช่วยเหลือเร่งด่วนสำหรับผู้ประสบภัยและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ โดยย้ำว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต้องไม่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือแสวงประโยชน์ของเผด็จการทหารเมียนมา โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ระบุดังนี้
เราทั้งหลาย ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมเมียนมา ภูมิภาค และนานาชาติ ที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอแสดงความเสียใจสุดซึ้งต่อชุมชนทั้งในประเทศไทยและประเทศเมียนมา ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม 2568
เมื่อเมียนมาต้องเผชิญกับอีกหนึ่งวิกฤติมนุษยธรรม ขณะที่วิกฤตการเข่นฆ่าทำร้ายประชาชนโดยเผด็จการทหารก็ยังดำเนินอยู่ ประชาคมนานาชาติจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องช่วยเร่งระดมทรัพยากร และส่งมอบความช่วยเหลือให้ถึงมือผู้ประสบภัยและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งในการนี้ จะต้องกระทำผ่านกลุ่มชุมชนท้องถิ่นและคนทำงานแนวหน้า ด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) หรือ NUG องค์การปฏิวัติชาติพันธุ์ต่าง ๆ และภาคประชาสังคมเมียนมาเท่านั้น เราขอเน้นย้ำว่า ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติ ไม่ว่าจะดำเนินการผ่านผู้ใด จะต้องไม่ถูกนำไปแสวงประโยชน์ บิดเบือน หรือตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองและการทหารของเผด็จการทหารเมียนมาอย่างเด็ดขาด
แผ่นดินไหวความรุนแรง 7.7 แม็กนิจูดเมื่อ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 7 ทศวรรษ คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 2,500 คน ทำลายชุมชน บ้านเรือน สถานที่สำคัญทางศาสนาพังพินาศ โดยอีกกว่าหมื่นชีวิตยังคงตกอยู่ในความเสี่ยงและอันตราย เมื่อโรงพยาบาลเต็มล้นไปด้วยผู้บาดเจ็บ ถนนและสะพานพังถล่ม และอาฟเตอร์ช็อกก็ยังอาจก่อความเสียหายต่อเนื่อง ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่ทันท่วงทีจึงมีความสำคัญยิ่ง พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบซึ่งประกอบไปด้วย รัฐฉานตอนใต้และตะวันออก มณฑลสะกาย มัณฑะเลย์ มากวี พะโค รวมถึงกรุงเนปิดอว์ ส่วนใหญ่แล้วอยู่ภายใต้การควบคุมและบริหารจัดการของรัฐบาล NUG องค์การปฏิวัติชาติพันธุ์ต่าง ๆ และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Forces – PDF) ทว่าเผด็จการทหารเมียนมา ก็จะพยายามใช้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเป็นไพ่ใบที่เหนือกว่า หรือเป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายต่อต้าน ประวัติศาสตร์ของเมียนมาที่ผ่านมา คือบทเรียนอันชัดเจนถึงอันตรายของการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมผ่านเผด็จการทหารเมียนมา
ในช่วงเวลาที่เมียนมาประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนาร์กิสเมื่อปี พ.ศ. 2561 เผด็จการทหารได้ใช้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เป็นเครื่องมือควบคุมผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญ ความช่วยเหลือนานาชาติถูกกีดกันไม่ให้เข้าประเทศและถึงมือผู้ประสบภัยเพื่อกดดันให้พวกเขาลงคะแนนเสียงสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ ซึ่งกำหนดให้กองทัพสามารถควบคุมและแทรกแซงทางการเมืองต่อไปได้ นอกจากนี้ อาสาสมัครท้องถิ่นจากกลุ่มประชาธิปไตยถูกจับกุมคุมขังเมื่อพยายามส่งมอบความช่วยเหลือด้วยตนเอง ทั้งหมดนี้ส่งผลให้การดำเนินการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอันสำคัญเป็นไปอย่างล่าช้า และก่อให้เกิดความสูญเสียมหาศาล กระทั่งเมื่อความช่วยเหลือจากภายนอกได้รับการอนุญาตให้เข้าไปยังเมียนมาได้ในที่สุดนั้น ก็ยังถูก เผด็จการทหารและเจ้าหน้าที่รัฐนำไปแสวงหาประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ทางการเมือง ตลอดจนเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับตน นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการใช้ความทุกข์ทรมานของมนุษย์เป็นเครื่องมือหาประโยชน์และรวบอำนาจทางการเมืองอย่างน่าสะพรึงกลัวที่สุด
รูปแบบการแสวงประโยชน์จากความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเช่นนี้ยังดำเนินต่อมาถึงปัจจุบัน ดังที่ปรากฏให้เห็นในการกีดกั้นและบิดเบือนความช่วยเหลือต่อผู้ประสบภัยพิบัติในระยะหลัง เช่นพายุไซโคลนโมคาในปี 2566 และพายุไต้ฝุ่นยางิในปี 2567 อีกทั้งการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พลเรือนทั่วประเทศอย่างไม่หยุดยั้ง แม้กระทั่งหลังการเกิดแผ่นดินไหวในวันที่ 28 มีนาคม ก็ยังมีการทิ้งระเบิดลงพื้นที่พลเรือนในอำเภอฉ่องอู มณฑลสะกาย, อำเภอผิ่ว ในมณฑลพะโค และอำเภอนองโฉ่ ในรัฐฉานเหนือ ซึ่งล้วนถูกประกาศภาวะฉุกเฉินสำหรับภัยพิบัติ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เผด็จการทหารเมียนมาได้สั่งปิดโรงพยาบาลเอกชนในมัณฑะเลย์ไป 7 แห่ง หลังจากที่มีข้อกล่าวหาว่าบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเป็นผู้ร่วมขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement) ส่งผลให้ศักยภาพทางการแพทย์ในมัณฑะเลย์ซึ่งพังพินาศจากแผ่นดินไหวมีอยู่จำกัดมาก นอกจากนี้ การสั่งปิดระบบอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์นานเป็นปี ควบคู่ไปกับการปราบปรามการใช้เครือข่ายเสมือนเพื่อความปลอดภัยทางอินเตอร์เนต (Virtual Private Network – VPN) ยังจำกัดการเดินทางของข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเสียหายภายในประเทศ และเป็นอุปสรรคต่อการส่งความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน การหมิ่นหยามชีวิตมนุษย์อย่างเลือดเย็นของเผด็จการทหารแม้ในขณะเผชิญกับความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้ ตอกย้ำถึงทั้งความไม่สามารถในการจัดการความช่วยเหลือ และความจงใจที่จะบิดเบือนความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเพื่อประโยชน์ของตน
ในเวลาแห่งวิกฤตนี้ เรายินดีอย่างยิ่งที่รัฐบาล NUG ประกาศระงับปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี เผด็จการทหารเมียนมา ก็ยังคงทิ้งระเบิดลงแม้พื้นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ดังเช่นการโจมตีอำเภอป็อก มณฑลมากวี ในเช้าวันนี้ (30 มีนาคม) เราคาดหวังให้สหประชาชาติและอาเซียน จะช่วยทำให้มั่นใจว่า เผด็จการทหารเมียนมาจะยุติปฏิบัติการทางทหารทั้งหมด โดยเฉพาะการโจมตีทางอากาศที่กำลังดำเนินอยู่ ในทันที
ขณะที่ชุมชนต่างๆ ในเมียนมากำลังระดมกำลังช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่ท่ามกลางความหายนะ เราขอเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (ศูนย์ AHA) ประเทศเพื่อนบ้าน องค์การระหว่างประเทศ และประชาคมนานาชาติ ประสานงาน โดยตรง กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความชอบธรรม กล่าวคือ รัฐบาล NUG องค์การปฏิวัติชาติพันธุ์ต่างๆ และภาคประชาสังคม เพื่อให้มั่นใจว่า ความช่วยเหลือจะไม่ถูกขัดขวาง บิดเบือน หรือตกเป็นอาวุธของเผด็จการทหาร ความช่วยเหลือจะต้องสามารถเข้าถึงผู้ประสบภัยและชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยไม่ล่าช้า ผ่านช่องทางชายแดนซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด การที่รัฐบาล NUG ประกาศใช้งานคณะกรรมการประสานงานปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว สะท้อนถึงความพร้อม และความสามารถในการเป็นผู้นำในการบรรเทาทุกข์ร่วมกับพันธมิตรชาติพันธุ์และชุมชนต่างๆ เราขอชื่นชมการตอบสนองอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อภัยพิบัติ และความพยายามระดมทุนจากมวลชน โดยรัฐบาล NUG และหน่วยประสานงานแผ่นดินไหวเมียนมา (Myanmar Earthquake Coordination Unit) ซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้ส่งมอบความช่วยเหลือที่จำเป็นถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว
เราขอย้ำเตือนประชาคมนานาชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานบรรเทาทุกข์ทั้งหลายอีกครั้งหนึ่งว่า ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะต้องสอดคล้องกับหลักมนุษยธรรม หลักความเป็นกลาง หลักความเที่ยงธรรม หลักการไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย และการปฏิบัติงานอย่างเป็นอิสระ ทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศจะต้องยึดถือหลักการดังกล่าวนี้อย่างเต็มที่ โดยระลึกถึงบทเรียนจากการร่วมงานกับเผด็จการทหารและระบอบทหารในการส่งมอบความช่วยเหลือในอดีตที่ผ่านมา การส่งมอบความช่วยเหลือในกรณีภัยพิบัติครั้งล่าสุดนี้ จะต้องให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับผู้ที่แสดงให้เห็นชัดว่ามีความตระหนักในคุณค่าของชีวิต ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนชาวเมียนมา ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาล NUG องค์การปฏิวัติชาติพันธุ์ต่าง ๆ และภาคประชาสังคม ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องป้องกันไม่ให้เผด็จการทหารขัดขวาง หรือแสวงหาประโยชน์จากการส่งมอบความช่วยเหลือ มิเช่นนั้นแล้ว ก็จะเป็นการซ้ำเติมวิกฤตมนุษยธรรมให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิม ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิโดยหน่วยงานผิดกฎหมาย ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการทำลายชีวิตมนุษย์ เพิ่มขึ้นไปอีก
เราขอเรียกร้องให้สหประชาชาติ ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา รวมถึงประชาคมนานาชาติ คำนึงถึงประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดของประเทศเมียนมาที่ต้องเผชิญกับการฉกฉวยผลประโยชน์จากความช่วยเหลือต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ผ่านมา และขอให้ท่านมีความเด็ดขาดในการปกป้องคุ้มครองชฺมชนที่เปราะบางและได้รับผลกระทบ มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบและซ้ำเติมความทุกข์ยากมากขึ้นไปอีก ประชาชนเมียนมาสมควรจะได้รับความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ มิใช่ความช่วยเหลือที่จะกลายเป็นอาวุธย้อนกลับมาทำร้ายพวกเขา
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...