เรื่อง: ธวัชชัย ดวงนภา
1.
28 มีนาคม 2568 เข็มนาฬิกาเดินไปถึงราวเที่ยงวัน ใต้แผ่นเปลือกโลกใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เริ่มเคลื่อนไหว เสียงสั่นสะเทือนขนาด 7.7 แมกนิจูดไม่ใช่เพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่กลายเป็นแรงกระเพื่อมที่กระทบไกลกว่าพรมแดน และลึกกว่าผิวดินที่แตกร้าว
สะพานเก่าแก่พังทลาย อาคารโรงพยาบาลถล่ม ผู้คนหลายพันถูกกลบฝังใต้ซากปรักหักพัง รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตในเมียนมา จากรายงานของไทพีบีเอส วันที่ 31 มีนาคม เวลา 10.00 น. ยอดผู้เสียชีวิตประมาณ 1,700 คนแล้ว บาดเจ็บกว่า 3,400 คนและยังมีผู้สูญหายอีกราว 300 คน
แต่ในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่ห่างออกมาหลายร้อยกิโลเมตร บางคนอาจรู้สึก มึนหัวกังวลว่าตัวเองจะมีอาการบ้านหมุ่น ผ่านไปในเวลาไม่กี่นาที..หลังจากที่ใครสักคนที่อาศัยอยู่ในตึก ตะโกนบอกว่าแผ่นดินไหว เสียงนี้ทำหน้าที่ เสียงสัญญาณเตือนจากมือถือ ที่ยังไร้วี่แวว ทุกคนวิ่งลงจากตึกได้พักหายใจ ยกเว้นตรงมุมหนึ่งของเขตจตุจักร
อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างสูง 33 ชั้น พังลงมาในเวลาไม่ถึงนาที เสียงเหมือนบางสิ่งระเบิดเงียบๆ ก่อนฝุ่นขาวจะฟุ้งกระจายเต็มถนน ผู้คนหนีตายอลหม่าน แต่หลายคนก็หนีออกมาไม่ทัน ใต้ซากตึก รายงาน จากศูนย์เอราวัณ เมื่อเวลา 16.30 น. ของวันที่ 30 มีนาคม พบผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 10 ราย เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย บาดเจ็บ 18 ราย และสูญหาย 78 ราย
ตึกหลังนี้ไม่ได้เป็นแค่โครงสร้างปูนและเหล็ก มันคือที่ตั้งใหม่ของหน่วยงานตรวจสอบการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ชื่อ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะ “ผู้เฝ้ามองความโปร่งใสของประเทศ”
สิ่งที่ถล่มลงมาพร้อมอาคาร จึงไม่ใช่แค่แผ่นพื้นคอนกรีต แต่คือความไว้ใจของประชาชนที่เฝ้ารอจะเห็นความมั่นคงของรัฐเป็นรูปธรรม หลังเหตุการณ์ คำถามเริ่มหลั่งไหล
ทำไมถึงเป็นตึกนี้?
ทำไมอาคารที่เพิ่งใกล้เสร็จสมบูรณ์ถึงพังราบลงมาก่อนเปิดใช้งาน?
ทำไมอาคารอื่นๆ ในบริเวณเดียวกันจึงยังอยู่ดี…?
ชื่อของบริษัทก่อสร้างถูกกล่าวถึงในแทบทุกสื่อ — CHINA RAILWAY NO.10 ENGINEERING GROUP CO., LTD. หรือที่รู้จักในภาษาจีนว่า 中铁十局 บริษัทนี้ถือหุ้น 49% ในกิจการร่วมค้า กับพันธมิตรสัญชาติไทยคือ อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ตัวเลข 49% อาจดูเป็นเรื่องทางธุรกิจตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริง มันหมายถึงการมีบทบาทระดับสูงในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐไทย
ข้อมูลเบื้องหลังเริ่มเผยให้เห็นมากกว่าที่ตาเห็น บริษัทจีนแห่งนี้มีโปรเจกต์กระจายอยู่ในหลายทวีป ทั้งทางรถไฟ สะพาน สนามบิน โรงงาน และแม้แต่ “หอพักเหมืองทองในโคลอมเบีย” ซึ่งอาจดูห่างไกลจากกรุงเทพฯ แต่ในบริบทของการก่อสร้างตึกไทย กลับไม่ไกลนัก
สิ่งที่หลายคนตั้งคำถามไม่ใช่แค่ “ใครเป็นคนสร้าง?” แต่เป็น
“ใครเป็นคนตรวจ?”
“ใครกำกับดูแล?”
และใครคือคนที่รู้แต่ไม่พูด…?”
รายงานบางชิ้นเปิดเผยว่า บริษัทแม่ของผู้รับเหมารายนี้มีผลขาดทุนสะสมในปีที่ผ่านมาหลายร้อยล้านบาท การก่อสร้างที่ติดขัด ทำให้โครงการคืบหน้าไปเพียง 30% โดยเหตุผลที่ผู้ก่อสร้างใช้ เนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย (ACT) ออกมาให้ข้อมูลว่า พวกเขาถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ใน “ข้อตกลงคุณธรรมที่เริ่มต้นในปี 2558” ของโครงการ แม้โครงการจะมีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท สิ่งนี้ไม่ใช่แค่ความแปลกใจ แต่คือจุดเริ่มต้นของความคลางแคลง
และเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางไปยังพื้นที่ถล่ม พร้อมคำพูดที่ไม่จำเป็นต้องพูดดัง แต่สะเทือนแรงกว่าเสียงระเบิดของอาคาร
“แค่เห็น…ผมก็อึ้งแล้วครับ”
เขาบอกไว้ในขณะที่ยืนอยู่ท่ามกลางเศษซากของตึกที่ควรจะกลายเป็นสำนักงานใหม่ของหน่วยงานรัฐ
รมว.อุตสาหกรรมรายนี้ไม่ได้มาแค่ดู แต่ขอเก็บ ตัวอย่างเหล็ก 6 ประเภท จากจุดถล่มเพื่อส่งตรวจสอบคุณภาพ ณ สถาบันเหล็ก โดยย้ำว่า “จะใช้เป็นหลักฐาน หากพบการกระทำผิดกฎหมาย จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด”
เรื่องของเหล็กเป็นเพียงจุดเริ่ม เพราะจากคำพูดของนายเอกนัฏเอง เขารู้ดีว่าปัญหามักไม่ใช่แค่ที่หน้าไซต์งาน แต่มันฝังอยู่ใน “ระบบอนุมัติ”
ใน “ความไว้ใจแบบมองผ่านๆ” และในคำว่า “ของดีราคาถูก” ที่ไม่มีอยู่จริงในโลกวิศวกรรม
“เขาหากินหากำไรจากความเดือดร้อนของคน เขาได้ตังค์ เขาก็เอาไปใช้ในคุกเท่านั้นเอง”
ประโยคนี้ไม่ใช่แค่คำขู่ แต่เป็นการตัดสินใจของรัฐมนตรีคนหนึ่ง ที่พร้อมจะเดินไปจนสุดทางหากพบการทุจริต
ก่อนที่รัฐมนตรีอุตสาหกรรมจะลงพื้นที่ ก่อนที่เหล็กหกประเภทจะถูกส่งตรวจ และก่อนที่ซากปรักหักพังจะถูกขนย้ายออกไปทีละกอง
ในวันที่ 29 มีนาคม — หนึ่งวันหลังเหตุการณ์ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวประโยคหนึ่งไว้
“แน่นอนว่าไม่ปล่อย”
เธอพูดสั้นๆ แต่แน่วแน่ ก่อนอธิบายว่าได้มีการ สั่งการให้กรมโยธาธิการและผังเมืองตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ไม่ใช่เพื่อลงโทษทันที แต่เพื่อตามให้รู้ว่า
“มันเกิดขึ้นได้อย่างไร”
ตึกที่พังไม่ใช่ตึกแรกของประเทศ วิธีการก่อสร้างก็ไม่ใช่ของใหม่
แต่คำถามคือ—ทำไมตึกนี้ถึงพัง? แบบผ่านได้อย่างไร? ใครเป็นผู้อนุมัติ? มีการตรวจแบบ? ใครอนุมัติแบบ? แล้วกระบวนการนั้นมีจุดรั่วตรงไหน?
“ขอคณะกรรมการที่มีผู้รู้อยู่ในนั้น และสามารถให้ความเห็นเพื่อจะได้หาสาเหตุได้ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร… เดี๋ยวตามดู”
อาคารหนึ่งถล่มลงมาเพราะแรงแผ่นดินไหว… นั่นคือคำอธิบายเบื้องต้น แต่คำถามที่อยู่ลึกกว่านั้นคือ—ถ้าโครงสร้างออกแบบมาให้ทนไหวได้ ทำไมถึงพัง?
หรือสิ่งที่เปราะบางกว่าคอนกรีต ก็คือความถูกต้องที่ควรอยู่ในทุกเสา ทุกชั้น ทุกฝ้าเพดาน
บางทีเหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่ “ภัยธรรมชาติ” แต่คือการเปิดโปง “รอยร้าวของระบบ”
ที่ถึงเวลาแล้ว…ต้องมีคนเข้าไปมองให้ลึกกว่าฝุ่นที่ฟุ้งอยู่ตรงหน้า และ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตึกต่อไป…จะไม่ใช่ของเรา?
2.
วันอาทิตย์ที่ควรเป็นวันเงียบสงบของคนกรุงเทพฯ กลับเริ่มต้นด้วยความรู้สึกติดค้างจากข่าวถล่มของอาคาร สตง. ที่ยังคงเป็นประเด็นบนหน้าฟีด
ท่ามกลางเสียงแจ้งเตือนบนโทรศัพท์มือถือ และการไถหน้าจออย่างไม่มีจุดจบ เพจหนึ่งชื่อ China Story โพสต์ข้อความสั้นๆ ที่เหมือนกระตุกให้ใจสะดุ้งอีกครั้ง
“บริษัทที่เกี่ยวข้องกับตึก สตง. ถล่ม ยังมีชื่อปรากฏในโครงการหอพักบุคลากรทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง…”
ถ้อยคำแค่นั้น ทำให้ผมเริ่มค้นหาอะไรบางอย่าง และในเช้านั้น ผมพบโครงการหนึ่งที่กำลังดำเนินอยู่ใกล้บ้าน ใจกลางจังหวัดเชียงราย

โครงการก่อสร้าง “หอพักบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมระบบสาธารณูปการ” ราคากลาง 468 ล้านบาท ผู้ชนะการประมูล: กิจการร่วมค้า ทีพีซี
ชื่อบริษัทที่ไม่คุ้นหูนัก แต่เมื่อค้นลึกลงไปในรายละเอียด กลับพบเส้นสายที่ลากไปยังที่คุ้นเคยมากอย่างน่าประหลาด
บนเว็บไซต์รับสมัครงานวันหนึ่งในเดือนสิงหาคม 2565 กิจการร่วมค้า ทีพีซี ได้ลงประกาศหาวิศวกรโครงการเพื่อประจำ “โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง” ที่อยู่ในประกาศ คือ เลขที่ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 ถนนพุทธบูชา แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ
ใช่แล้ว
มันคือที่อยู่เดียวกับบริษัท China Railway No.10 (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัทที่ถือหุ้นในกิจการก่อสร้างอาคาร สตง. ที่เพิ่งถล่มลงมา
ประกาศหางานธรรมดา กลายเป็นกุญแจไขไปสู่ข้อสงสัยใหม่ ว่าเบื้องหลังโครงการในภาคเหนือ อาจมีเงาผู้เล่นจากจีนเข้ามาเกี่ยวข้องอีกครั้ง
ในพื้นที่ก่อสร้างของโครงการดังกล่าว มีรายงานการประชุมประจำสัปดาห์ มีรายชื่อบริษัทควบคุมงาน มีการดำเนินงานตามแผน ดูปกติทุกอย่าง แต่เมื่อเจาะลึกถึงผู้ขายวัสดุ หนึ่งในดีเทลที่เหมือนจะ “ไม่สำคัญ” กลับเผยให้เห็นภาษาอีกชุดหนึ่งที่ไม่ใช่ไทย
ในเอกสารการซื้ออิฐมอญจำนวนกว่า 3.9 ล้านก้อนจากจังหวัดลำปาง ใบเสร็จระบุว่า บริษัทที่ทำสัญญาซื้ออิฐคือ กิจการร่วมค้า ทีพีซี พร้อมทั้งยังระบุ “กิจการร่วมค้า ทีพีซี (สำหรับโครงการอาคารหอพักบุคลากรทางการแพทย์ ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย) สำนักงานตั้งอยู่ในความดูแลของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ หมายเลข 10 (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 ถนนพุทธบูชา แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ 10140 ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคา”
ทำไมบริษัทไทย ต้องใช้ภาษาจีนในเอกสารภายในของตนเอง? ใครอยู่เบื้องหลัง?
อาจไม่มีคำตอบตรงๆ แต่สิ่งที่เห็นคือ ความคลับคล้ายคลับคลาว่าบริษัทนี้ มีโครงสร้างองค์กรซ้อนกันอยู่มากกว่าชั้นเดียว
แบบอาคารที่กำลังสร้าง ดูสวยงาม ถูกออกแบบโดย architects110 เป็นงานสถาปัตย์ที่มีเส้นสายงดงามอย่างมืออาชีพ
ยิ่งดูยิ่งน่าหวังว่า “หอพักแห่งนี้” จะกลายเป็นที่พักพิงของแพทย์ พยาบาล ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าในพื้นที่
ขณะเดียวกัน ก้อนอิฐที่กำลังวางซ้อนกันขึ้นชั้นต่อชั้นอยู่นั้น…อาจมีเรื่องราวมากกว่าที่ตาเห็น หากเราย้อนมองกลับไปที่ตึก สตง. มันคือโครงการร่วมทุนที่มีบริษัทจีนถือหุ้นเกือบครึ่ง และเพียงแผ่นดินไหวครั้งเดียว อาคารก็พังทลายลงมาทั้งแถบ
หาก “กิจการร่วมค้า ทีพีซี ” คือชื่อใหม่หรือหน้ากากของโครงสร้างเดิม แล้ว โครงการที่เชียงรายนั้น ปลอดภัยหรือไม่
หากวัสดุก่อสร้างต้องใช้ใบเสร็จภาษาจีน การออกแบบที่งดงามภายนอก จะยังมั่นคงเพียงพอหรือเปล่า หากโครงสร้างภายใน ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น?
มันมีคำถามล่องลอยอยู่ในอากาศมากมายยิ่งกว่าฝุ่นปูน
3.
อาคารที่ถล่มกลางเมืองหลวงไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น ที่สำคัญ เราจะไว้ใจระบบที่ปล่อยให้มันเกิดขึ้นได้อีกหรือเปล่า?
หลังเหตุการณ์ตึกถล่ม เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในแวดวงวิศวกรรมโยธาก็เริ่มดังขึ้น
ปรีชาพร สุวัฒโนดม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กรมทางหลวง ซึ่งจบการศึกษาวิศวกรรมโยธาทั้งตรี-โท-เอกจาก UCLA โพสต์ข้อความวิเคราะห์ว่า:
“การ fail ตึก สตง ครั้งนี้ไม่น่าจะเกิดจาก เสา column buckling ที่เป็นต้นเหตุ ตั้งแต่กระดุมเม็ดที่หนึ่ง แต่อาการ column buckling นี้อาจเกิดตามมาได้ซึ่ง เป็นกระดุมเม็ดหลัง ต่อไป จากการ fail ของแกนกลางก่อน ซึ่งน่าจะเป็นการ fail อันดับแรก จึงเกิดการถล่มแนวดิง อย่างที่เห็นจากวิดีโอในภาพ”
เขาย้ำว่า Tower crane ต้องมีระบบความปลอดภัยเฉพาะ เช่น ตัวบ่งชี้โอเวอร์โหลด และเครื่องวัดความเร็วลม ซึ่ง “ในประเทศไทย แรงลมเกิดบ่อยกว่าแผ่นดินไหวแน่นอน” แต่กลับไม่มีข้อมูลยืนยันว่าอาคารนี้มีการควบคุมความเสี่ยงตรงจุดนี้เพียงพอหรือไม่
ขณะเดียวกัน รศ.ดร.เฉลิมเกียรติ วงศ์วนิชทวี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ก็ออกมาให้ข้อมูลว่า
“อาคาร สตง. (ส่วนบนเหมือนจะไปก่อน…ฝุ่นตรงนี้มาก่อน นอกจากแรงเฉือน (Base Shear) ที่เกิดขึ้นที่เสาชั้นล่าง เกิด Moment เกิด P-Delta effect ยิ่งทวีค่า Moment เสา Crushing (ระเบิด) …ที่เสาล่างก็ระเบิดที่ Slenderness ratio of Column สูง…สุดท้ายก็ Domino ทั้งหลัง”
เขาระบุว่า แรงเฉือนนี้มักเกิดจาก moment และ P-Delta effect จนเสาเกิด crushing และพังแบบ domino ทั้งหลังโดยเฉพาะในอาคารที่ออกแบบรับแรงด้านข้างไม่ดีพอ หรือไม่ได้เสริมเหล็กในตำแหน่งวิกฤตอย่างเหมาะสม
ข้อสังเกตของเขา ยังเชื่อมโยงกับคำอธิบายจาก ประกิต สิริวัฒนเกตุ นักวิเคราะห์ด้านการลงทุน ที่ชี้ให้เห็นถึง “Core Wall” หรือผนังรับแรงเฉือนในอาคารสูง ซึ่งในกรณีนี้ “ไม่ได้อยู่ตรงกลางอาคาร” ทำให้เมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้น อาคารเกิดการสั่นแบบบิด (torsion) และเสาด้านตรงข้ามที่ไม่มีผนังรับแรงเฉือนรองรับก็พังลงมา
“แบบที่ไม่สมมาตร Core Wall อยู่อีกฝั่งหนึ่ง อีกฝั่งมีแต่เสาอยู่ไม่กี่ต้น เมื่อเกิดแผ่นดินไหว เกิดแรงบิด เสาที่อยู่ตรงข้าม Core Wall เกิดแรงเฉือน (ไม่มี Core Wall ช่วยรับ) เสาก็ขาด ”
คำอธิบายเหล่านี้ ไม่ได้ชี้ตรงไปยังบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่มันชี้ไปที่ “ความไม่ชัดเจนของมาตรฐาน” และ “ความหละหลวมในการควบคุมคุณภาพ” ของระบบก่อสร้างระดับชาติ
เมื่อพิจารณาว่า อาคารอื่นๆ รอบบริเวณไม่ได้พังและแม้แต่ตึกเก่าหลายแห่งเพียงแค่ร้าว แต่ตึกที่ถล่มคืออาคารใหม่ กำลังก่อสร้าง และถูกว่าจ้างโดยกิจการร่วมค้าต่างชาติที่ควรมีความเชี่ยวชาญระดับโลก
คำถามจึงไม่ควรหยุดอยู่ที่ “พังเพราะแผ่นดินไหวหรือเปล่า?” แต่ควรถามต่อว่า
“ทำไมอาคารที่ออกแบบให้ต้านแผ่นดินไหว กลับพังลงเพียงครั้งเดียว?”
“ทำไมไม่มีข้อมูลเปิดเผยว่าเสา โครงสร้าง หรือระบบความปลอดภัยมีอะไรบ้าง?”
“และทำไมการสอบสวนถึงต้องรอหลังมีผู้เสียชีวิตแล้ว?”
หากเรายอมรับว่าการพังทลายแบบนี้ “เป็นเรื่องปกติ” เรากำลังถอยหลัง ถ้าเรายังเชื่อว่า “ทุกอย่างเป็นไปตามแบบแปลน” ทั้งที่แบบแปลนนั้น
อาจไม่เคยเปิดให้ประชาชนตรวจสอบ เรากำลังฝากชีวิตไว้กับโครงสร้างที่มองไม่เห็น
4.
ผมพยายามค้นหาคำอธิบาย ว่ากิจการร่วมค้า ทีพีซี คือใคร
หลังจากตามรอยชื่อบริษัทที่ปรากฏในประกาศรับสมัครงาน ข่าวการประชุมควบคุมงานก่อสร้าง และเอกสารการซื้อวัสดุ พบเพียงสิ่งเดียวที่เชื่อมโยงชัดเจนที่สุด—คือ “ที่ตั้งสำนักงาน”
เลขที่ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ ที่อยู่เดียวกับบริษัท China Railway No.10 (ประเทศไทย) จำกัด
มันไม่ใช่หลักฐานตายตัว ไม่ใช่คำพิพากษา แต่ความบังเอิญแบบนี้…ก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนักในโลกของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
ผมไม่พบรายชื่อผู้ถือหุ้น ไม่พบคำว่า “ร่วมทุน” ที่ชัดเจนในเอกสารราชการ ไม่มีการเปิดเผยในตลาดหลักทรัพย์ ไม่มีการแถลงจากหน่วยงานกำกับดูแล
มันเป็นกิจการร่วมค้า ที่เงียบเกินไปและในบางมุม เงียบเกินกว่าจะไม่ตั้งคำถาม ถ้ามีความเกี่ยวข้องอย่างแท้จริงระหว่าง “ทีพีซี” กับ “CHINA RAILWAY NO.10” มันหมายความว่าอะไรต่อมาตรฐานความปลอดภัยในโครงการก่อสร้างอื่น?
หรือถ้ากิจการร่วมค้า ทีพีซี ไม่มีความเกี่ยวข้องเลยจริงๆ ทำไมถึงตั้งสำนักงานอยู่ในที่เดียวกันกับบริษัทจีนที่เพิ่งมีข่าวอาคารถล่มเมื่อไม่กี่วันก่อน?
ระหว่างที่ผมกำลังเรียบเรียงประโยคท้ายๆ ของรายงานนี้ แสงยามเย็นลอดผ่านม่านหน้าต่าง และข้อความหนึ่งก็เด้งขึ้นบนหน้าจอ
โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ออกแถลงการณ์เรื่องความปลอดภัยของอาคาร การตรวจสอบโครงสร้างหลักของอาคารเสร็จสิ้นแล้ว และยืนยันว่า “ปลอดภัย”
ผมอ่านข้อความนั้นซ้ำสองรอบ แล้วก็มองออกไปนอกหน้าต่าง ยอดไม้ไหวเบาๆ ตามแรงลม
แถลงการณ์ครั้งนี้ บอกเราว่า “ปลอดภัย” แต่ไม่ได้พูดถึง “หอพักบุคลากรทางการแพทย์” ที่กำลังก่อสร้างอยู่ไม่ไกลจากตึกหลักนั้นเลย
อาคารที่ยังไม่เปิดใช้งาน ยังไม่มีใครเข้าไปอยู่ และยังไม่มีใครกล้าพูดเต็มปากว่ามัน “ปลอดภัยแน่นอน”
ผมหวังเพียงอย่างเดียว ว่าอาคารนั้นจะได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ไม่ใช่เพียงเพราะมันเป็นโครงการระดับร้อยล้าน แต่เพราะมันจะกลายเป็น “บ้าน” ของคนที่รักษาชีวิตผู้อื่นเป็นงานประจำ
และเรา…ไม่ควรเสี่ยงให้ชีวิตพวกเขา ต้องขึ้นอยู่กับความคลุมเครือที่ยังไม่มีคำตอบ

ธวัชชัย ดวงนภา
หลงรักในการเป็นนักสำรวจเรื่อง และสนุกที่ได้เล่าต่อ ผ่านการสื่อสาร สารพัดรูปแบบ