เรื่อง: รัตนาภรณ์ น้อยวงศ์/ The Isaan Record
หากใครมีประสบการณ์ต้องยืนเบียดเสียดบนรถสาธารณะเป็นเวลานานขณะเดินทางข้ามจังหวัด จะเข้าใจหัวอก อัยรินทร์ มะลิวรรณ์ นิสิตปี 1 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ต้องเสียเวลาเดินทางจาก จ.มหาสารคามเพื่อกลับบ้านเกิด จ.สระแก้ว กว่า 12 ชั่วโมง ทั้งที่มีระยะทางเพียง 360 กิโลเมตรเท่านั้น
การเดินทางครั้งนี้ไม่เพียงแต่ใช้เวลานานเท่านั้น แต่ระบบการขนส่งสาธารณะที่ห่วยแตกในพื้นที่ห่างไกลยังทำให้เธอไม่อยากเดินทางไปไหนด้วยซ้ำ
“เวลาเจอคนแออัด บางครั้งก็อยากลงจากรถ แต่ตั๋วรถก็ซื้อไปแล้ว สุดท้ายก็ต้องจำใจทนต่อเพื่อให้ถึงบ้านให้เร็วที่สุด” เธอพรั่งพรูสิ่งที่อัดอั้นตันใจออกมา พร้อมความเหนื่อยล้าในการเดินทางจากจังหวัดมหาสารคามกลับบ้านเกิดที่จังหวัดสระแก้วด้วยระบบการรถโดยสารสาธารณะอันแสนห่วย
การเดินทางกลับบ้านเกิดที่ยากลำบาก
ระหว่างเดินทางบนรถบัสคันนั้น เธอเห็นเพื่อนร่วมทางบ่นอุบถึงพฤติกรรมของคนขับรถบัสที่จอดรถรับผู้คนจนล้น ส่วนกระเป๋ารถบัสหรือคนเก็บตั๋วก็ทำหน้าที่เสริมกัน ด้วยการแจ้งให้ผู้โดยสารขยับเข้าไปด้านในสุดเพื่อจะรับผู้โดยสารให้ได้จนแทบจะไม่มีที่ยืน ทั้งๆ ที่เป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
ระยะทางกว่า 100 กิโลเมตรจากมหาสารคามถึงบุรีรัมย์ต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง จากความเมื่อยล้าผู้โดยสารบางคนจึงนั่งบนทางเดิน บริเวณทางขึ้นลงรถโดยสาร
“รถคันที่ขึ้นไป เขายัดคนเข้าไปอย่างเดียว คนจะเต็มแค่ไหนก็ยัดเข้า ทางผ่านที่มีคนรอตามจุดต่างๆ เขาก็จอดรับ แค่คนที่อยู่ในรถก็เยอะแล้ว พอรับคนมาเรื่อยๆ จนล้นทุกคนที่เกินที่นั่งมาก็ต้องยืนสลับฟันปลา จนขยับไม่ได้
“การกลับบ้านเกิดแต่ละครั้ง เราต้องเดินทางจาก บขส.มหาสารคาม แล้วลงรถที่ บขส.บุรีรัมย์ เพื่อซื้อตั๋วรถทัวร์ต่อรถจาก บขส.จังหวัดบุรีรัมย์ไปสระแก้ว ถือเป็นการเดินทางที่ยาวนานมาก และขึ้นรถหลายต่อ จนรู้สึกอยากนั่งรถต่อเดียวให้ถึงบ้านเลย”
การบริการสาธารณะที่ไม่ทั่วถึงก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น จึงทำให้การเดินทางกลับบ้านแต่ละครั้ง อัยรินทร์ ต้องเสียเวลาไปเกือบทั้งวัน
“นอกจากปัญหาความแออัดจากการจัดการระบบขนส่งที่ไม่ดีแล้ว ประเทศไทยเรายังคงมีปัญหาในเรื่องของการขนส่งที่ไม่ทั่วถึง ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ตีคู่กันมากับปัญหานี้อยู่เสมอ”
อัยรินทร์ ได้แต่หวังว่าในอนาคตจะมีการจัดการระบบขนส่งที่เหมาะสม เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหานี้ซ้ำๆ และถูกทำให้เป็นเรื่องปกติอีก เฉกเช่นที่เป็นอยู่
หลังจากที่ต้องเผชิญกับความแออัดขณะตอนเดินทางกลับบ้านเกิดแล้ว ขากลับจากจังหวัดสระแก้ว อัยรินทร์ยังต้องเจอกับความแออัดบนรถสองแถวขณะเดินกลับหอพักอีกครั้ง
“รถสองแถวเราก็เจอนะ ขึ้นรถสองแถวกลับหอพักที่มหาสารคามนี่แหละ เราต้องยืน คนในรถก็ยืนกันแน่น ยืนจนหน้าลอย ต้องแหงนหน้า เพราะยืนประชิดกันเกินไป” เธอเล่าพลางหัวเราะ แม้ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องตลก แต่เธอกลับรู้สึกว่า มันคือตลกร้าย
ปัญหาความแออัดที่เกิดขึ้น ทั้งขณะเดินทางไปและกลับเพียง 360 กิโลเมตร ถ้าใช้รถส่วนตัวจะใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมง 13 นาที แต่เธอใช้ต้องเวลาไปกว่า 12 ชั่วโมงและใช้พลังมหาศาลในการเดินทาง
ความแออัดที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่พนักงานของบริษัทขนส่งแห่งหนึ่งในจังหวัดมหาสารคามรับรู้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง
สมชาย (ขอสงวนนามสกุล) คนขับรถบัสวัย 45 ปี แสดงความเห็นว่า ความแออัดมักเกิดช่วงเทศกาล แต่บริษัทฯ ไม่เคยชี้แจงผ่านสื่อว่า จะแก้ไขปัญหาอย่างไรและมีมาตรการในการรับมืออย่างไรบ้าง
“เราจอดรับตามจุดนัดรับต่างๆ ตามสถานี ถ้าเป็นรถสายยาวจะมีการจอดรับเรื่อยๆ ตามสถานีต่างๆ ซึ่งจะมีจุดรับส่งตามที่บริษัทกำหนด” สมชายกล่าว พร้อมกับชี้ให้ดูตัวอย่างของรถสายยาว ซึ่งเป็นรถที่วิ่งระยะไกลที่กล่าวถึง
เขาเล่าอีกว่า ช่วงวันหยุดเทศกาลมีหลายครั้งที่คนรอกลับบ้านเป็นจำนวนมาก แต่รถมีไม่เพียงพอ คนขับก็เห็นใจและสงสารจึงตัดสินใจรับผู้โดยสารเพื่อให้ทุกคนได้กลับบ้าน
“บางคนที่ไม่มีรถกลับเขาต้องนอนรออยู่ บขส.เลย พวกเขาคงหวังว่า จะมีคันที่พอเหลือที่นั่งให้กลับบ้านได้ จะดึกจะค่ำแค่ไหนก็หวังว่าจะมีที่ยืน”
เขากล่าวขณะมองดูผู้โดยสารบางคนที่ผล็อยหลับขณะกำลังรอรถ ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงเวลาเพียงบ่ายสอง
การจัดการของผู้ประกอบการ
แม้จะทราบดีว่า การรับผู้โดยสารที่หนาแน่นเกินไปมีข้อเสีย แต่ด้วยน้ำใจของคนไทยด้วยกันก็ทำให้เขาไม่สามารถปฏิเสธผู้โดยสารได้
“บริษัทฯ ได้รับแจ้งจากผู้โดยสารกรณีพนักงานขับรถรับคนเกินจำนวนที่นั่งจนเกิดปัญหาการอัดแน่น ต่อมาพนักงานขับรถคนนั้นก็ถูกลงโทษด้วยการปรับตามกฎของบริษัท แต่ไม่ได้เป็นข่าว เป็นการลงโทษภายในบริษัท ตามนโยบายของบริษัทนั้นๆ ซึ่งรายละเอียดผมก็ไม่ทราบ” คนขับรถเล่าเหตุการลงโทษที่เกิดขึ้นระหว่างพนักงานขับรถที่กระทำความผิด
เขายังกล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาการรับผู้โดยสารเกินขึ้นอยู่กับบริษัทด้วย บางบริษัทติดกล้องวงจรปิดไว้บนรถเพื่อป้องกันการกระทำไม่บริสุทธิ์ของพนักงาน อีกทั้งยังเป็นการรักษาความปลอดภัยบนขนส่งอย่าง รถตู้ รถทัวร์ เป็นต้น
สมชาย ยังกล่าวอีกว่า บางกรณีบริษัทขนส่งไม่ติดตั้งกล้องไว้ก็ไม่ทราบปัญหานี้ นอกจากผู้โดยสารแจ้งมาเท่านั้น
ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 107 ระบุว่า การขนส่งประจําทางหรือการขนส่งไม่ประจําทางระหว่างจังหวัด ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถรับบรรทุกผู้โดยสารเกินจํานวน (นั่งผู้โดยสารที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต) ในกฎหมายก็มีบทลงโทษว่า หากผ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ผู้โดยสารต่างยืนรอสาธารณะที่ บขส.
การแก้ไขปัญหารถสาธารณะถูกถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน แต่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการขนส่ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อธิบายถึงปัญหาระบบขนส่งมวลชนสาธารณในข้อ ‘ทิศทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยเป็นธรรมระดับประเทศและภูมิภาค’ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ว่า ระบบขนส่งสาธารณะควรมีพื้นฐานที่เหมาะสม คือ 1. มีเส้นทางเดินรถและเที่ยววิ่งที่เหมาะสม 2. เข้าถึงได้ง่าย และ 3. ราคาที่เหมาะสม ซึ่งรัฐจะต้องเป็นผู้อุดหนุน
“TDRI พบว่า สัดส่วนคนกรุงเทพฯ ที่ไม่มีการครอบครองรถส่วนบุคคลอยู่ที่ร้อยละ 30 ขณะที่สัดส่วนของคนขอนแก่นที่ไม่มีรถส่วนบุคคลอยู่ที่ร้อยละ 6 และอีกร้อยละ 94 มีรถส่วนบุคคล อย่างน้อย คือ รถจักรยานยนต์ 1 คัน แสดงว่าในต่างจังหวัดไม่มีทางเลือกสำหรับบริการขนส่งสาธารณะจึงจำเป็นต้องมีรถส่วนบุคคล หากไม่มีก็เดินทางไม่ได้” นักวิชาการ TDRI กล่าว
ขณะที่ พัชรางศุ์ ประพฤติธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการขนส่งผู้โดยสาร กรมการขนส่งทางบก อธิบายว่า ขณะนี้ได้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายขององค์กรสหประชาชาติมาปรับใช้เป็นแผนปฏิบัติตั้งแต่ปี 2566 – 2570 เพื่อให้บริการขนส่งสาธารณะครอบคลุม ปลอดภัย และยั่งยืน
“เราพยายามพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารเพื่อรองรับผู้คนด้วยการผลักดันเชิงนโยบายส่งไปที่แต่ละภูมิภาค ให้กำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานีขนส่งผู้โดยสาร และขับเคลื่อนระบบขนส่งรถโดยสารสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับประเทศ กทม.และภูมิภาค อีกทั้งจะพัฒนามาตรฐานการประกอบการขนส่ง และจะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการขนส่งมวลชน โดยพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน” พัชรางศุ์ กล่าวในเวทีเสวนา
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริการขนส่งสาธารณะสามารถทำได้หลายช่องทาง ทาง Facebook: “1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ” LINE: @1584DLT เว็บไซต์ www.dlt.go.th หรือทางอีเมล e-mail : dlt_1584complain@hotmail.com และโทรศัพท์: 1584
เมื่อร้องเรียนแล้วกรมการขนส่งทางบกจะสืบข้อเท็จจริงตามที่มีผู้แจ้ง โดยเรียกตัวผู้ถูกร้องเรียนมารายงานตัวและสอบสวนจนได้ข้อยุติ จากนั้นผู้ร้องเรียนจะได้รับเงินส่วนแบ่ง ภายหลังจากที่ผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบปรับแล้ว จะมีข้อความ SMS ส่งให้ผู้แจ้งทราบผลการดำเนินการและจะดำเนินการโอนเงินส่วนแบ่งค่าปรับภายใน 15 วันทำการ